bloggang.com mainmenu search
ภูมิบ้านภูมิเมือง

บูรพา โชติช่วง




     ดินแดนอีสาน ตั้งแต่แอ่งโคราชไปจนถึงแอ่งสกลนคร ด้านหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว มีขนบธรรมประเพณีมาแต่โบราณกาล ที่เรียกกันว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ตลอดสิบสองเดือน ซึ่งมีความผูกพันทางด้านตำนาน คติความเชื่อ และพิธีกรรม รวมทั้งประเพณีผูกโยงกับพุทธศาสนา นอกจากนี้แล้วยังเป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ เห็นได้แหล่งโบราณคดีพิธีกรรมฝังศพ ภาพเขียนผนังถ้ำ

     ไม่เพียงเท่านั้นในยุคสมัยประวัติศาสตร์ก็ยังอุดมไปด้วยวัดวาอาราม มี “สิม” หรืออุโบสถหลังย่อม อันเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้ดูขลังยิ่งนัก และในวัดแต่ละวัดย่อมมีพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพศรัทธา ทว่าข่าวโจรใจบาปขโมยพระพุทธรูปมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปส่วนน้อยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับได้คาหนังคาเขา หรือเป็นส่วนน้อยที่จะได้พระพุทธรูปองค์นั้นกลับคืนมา ส่วนใหญ่แล้วโจรใจบาปจะลอยนวลเสียมากกว่า

     พระพุทธรูปเก่าที่มีอายุราว 100 ปีขึ้น ส่วนหนึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุไว้ แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ อย่างไรก็ดีการขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นไว้นั้นก็ดูเหมือนโจรใจบาปไม่ได้ใส่ใจในตัวบทกฎหมายลงโทษเท่าใดนัก อีกทั้งไม่เกรงกลัวต่อบาป เพราะพุทธศิลป์บางรูปเมื่อตีมูลค่าเงินแล้วองค์หนึ่งตกร่วมหนึ่งล้านบาท หรือมากกว่านั้น โดยมีนักค้าขายนักสะสมศิลปวัตถุของเก่ารับซื้อ

แทบไม่น่าเชื่อว่า “ถิ่นอีสานมีการขโมยพระพุทธรูปมากกว่าในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ” ทั้งนี้จากการเปิดเผย นายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร ดูแลงานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณสถานและศิลปวัตถุ ได้รวบรวมสถิติพระพุทธรูปที่ถูกโจรกรรมตามวัดหลวงและราษฎร์ รวมไปถึงโบราณสถานที่ต่างๆ

     จากสถิติในช่วง11 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2551 มี 21 วัด 1 และ 2 แห่งในและนอกเขตโบราณสถาน อาทิ พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร วัดท่าเลียบ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ฉัตรพระประธาน วัดราศรีไฉล อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด แท่นทองเหลืองรอยพระพุทธบาท วัดชัยมงคลมุนีวาส อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พระพุทธรูปแกะสลักไม้ จำนวน 80 องค์ วัดโพธิ์ชัย อ.นาแห้ว จ.เลย สัตภัณฑ์ อ.เชียงคาน จ.เลย พระพุทธรูปยืนปางประ ทานอภัย ขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุ วัดทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ หินทรายแกะ สลัก ลายกลีบขนุน วัดสระกำแพงใหญ่ ในพื้นที่อำเภอจังหวัดเดียวกัน พระพุทธรูปทองคำ-ทองสัมฤทธิ์ 70 องค์ ถ้ำวังคำ ภูเขาภูสีฐาน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ใบเสมา ทั้งในและนอกเขตโบราณสถานบ้านเสมา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร วัดกู่คันธนาม อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด

บานประตู วัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอน แก่น บานประตู้พระธรรม ขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุ วัดโคกพระ อ.จักราช จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะคันทวย 6 ชิ้น ขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุ วัดศรีฐาน อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด คิดเป็นมูลค่าแล้ว 7 แสนบาท คิดเป็นศิลปวัตถุที่ถูกโจรกรรมจำนวน 382 ชิ้น

     เขมชาติ กล่าวว่า “ดูเหมือนในปี 2544 เกิดการโจรกรรมพระพุทธรูปในอีสานเป็นจำนวนมาก เหมือนสมัยหนึ่งพระพุทธรูปในจังหวัดนนทบุรีถูกขโมยเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะวัดที่อยู่แถวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและลึกจากชายฝั่งเข้าไป” และตั้งข้อสังเกต พระพุทธรูปที่หายไปนั้นเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ข้อสังเกตต่อมาวัดบางแห่งมีการจำลองพระพุทธรูปขึ้นมา พอไปวางที่องค์พระประธานด้านหน้าได้ไม่นานนักองค์จริงก็หายไป เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการเตรียมการกัน ตรงนี้เราเองก็ไม่อยากจะกล่าวถึงผู้ดูแลวัด ที่ไม่มีเวลามาดูแลศิลปวัตถุ

ข้อสังเกตต่อมา เป็นไปได้มีใบสั่งของกลุ่มนักค้าศิลปวัตถุของเก่าที่มีอยู่หลายกลุ่มในพื้นที่อีสานค่อนข้างจะทำกันมานานและมีอิทธิพลจนสร้างเป็นเครือข่าย ที่สำคัญเมื่อขโมยไปแล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจับมือ ขโมยได้ เพราะนักนิยมศิลปวัตถุไม่น้อยเป็นคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองและท้องถิ่นเสียเอง

     นอกจากนี้แล้ววันดีคืนดี ศิลปวัตถุก็ไปโผล่ห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ในยุโรปและอเมริกาจำนวนหลายชิ้น แล้วทางไทยพยายามเจรจาขอคืน อย่างกรณีพระมาลาทองคำ ที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อสามปีก่อน มีเพียงบางชิ้นเท่านั้นที่ได้คืน เช่น ทับหลังนารายบรรทมสินธุ์ ปราสาทหินพนมรุ้ง และล่าสุดร้อนๆ ที่เพิ่งได้คืนมาอีกชิ้นหนึ่ง เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่อยู่ในวัดศรีโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี

เส้นทางการเคลื่อนย้ายศิลปวัตถุไปต่างประเทศ รองอธิบดีกรมศิลป์มอง “แน่นอน ไม่เรือก็เครื่องบินทางใดทางหนึ่ง และแน่นอน คนในบ้านเรานี่แหละที่รู้เห็นเป็นใจด้วย ไม่อย่างนั้นขนออกไปไม่ได้ อย่างข้อมูลพระพุทธรูปทวารวดีองค์นี้ ที่ชาวต่างชาติกลับใจส่งคืนมาให้ในภายหลัง ก็บอกกับเราเสียค่าขนส่ง 222,000 เหรียญยูเอส เอา 35 บาทเวลานั้นคูณ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 ล้านบาท แต่ขนถ่ายออกไปอย่างไรนั้นไม่ยอมบอก จะใช้กลยุทธ์อย่างไรนี่สิน่าศึกษา”

     ที่น่าเป็นห่วงการซื้อขายศิลปวัตถุในระดับสากล มีการพัฒนาโดยผ่านทางเว็บไซต์ www.ebay.com เป็นต้น ผิดกับแต่เดิมที่ศิลปวัตถุชิ้นนั้นจะซื้อขายโดยการประมูลราคากันในห้องประมูล ทั้งนี้การซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์นั้นบางทียังไม่มีสินค้า มีเพียงรูปภาพปรากฏ หากคนที่สนใจก็จะทำการสั่งจองสินค้าวัตถุชิ้นนั้นๆ นั่นหมายถึงศิลปวัตถุชิ้นนั้นที่ตั้งอยู่ในวัดหรือโบราณสถานไม่นานนักก็ถูกขโมยไป

อย่างไรก็ดีคนที่ซื้อนั้นจะต้องรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ และต้องเป็นศิลปวัตถุที่หายากบ่งบอกความเก่าแก่ของอายุสมัย อีกทั้งบุคคลที่มีรสนิยมศิลปวัตถุขอมก็ต่างไปจากคนที่มีรสนิยมพุทธศิลป์ และเท่าที่ทราบจากข้อมูล คนซื้อพระพุทธรูปเก่านั้นหลากหลาย แต่ก็จัดว่าเป็นระดับมีฐานะการเงินอย่างแน่นอน และถ้าเป็นพระไม้ก็อาจจะมีฐานะระดับปานกลาง

     การเลียนแบบหรือจำลองศิลปวัตถุยอดนิยม รองฯ อธิบาย “ทำได้ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ศิลปวัตถุ 9 รายการที่กรมศิลปากรกำหนดไว้1.ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง 2.ธรรมจักร 3.พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร4.พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 5.พระอิศวร 6.ตู้พระธรรม 7.ช้างทรงเครื่องพระคชาธาร 8.พระเต้าทองคำ(สุวรรณภิงคาร) และ 9.พระแสงขรรค์ มีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่ง ชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ระบุโทษทั้งจำและปรับ ครอบคลุมถึงการออกนอกราชอาณาจักรด้วย”

     รองฯ เสริมภาพร้านขายศิลปวัตถุว่า เท่าที่ทราบข้อมูลแหล่งค้าขายวัตถุโบราณ นอกจากในกรุง เทพฯ แล้ว ในอีสานก็มีที่อุบลราชธานี ภาคใต้ที่ภูเก็ต แล้วก็มีปัญหาบ้างเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบ เพราะร้านมักจะอ้างสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบเนื้อศิลปวัตถุชิ้นนั้นแล้วก็จะรู้ว่าใช่ของจริงหรือไม่

     สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนกรมศิลปากรจะตกเป็นที่ครหาอยู่เสมอ ศิลปวัตถุที่หายไปนั้นใครจะรู้ดีกว่าคนกรมศิลปากร “ปลาอยู่ในข้องเดียวกัน ก็มีปลาเน่าอยู่บ้าง ในอดีตเคยมีขโมยพระรอดไปขาย แต่ถูกจับได้ ส่วนปัจจุบันนี้ไม่น่าจะมี และถ้ามีกรมศิลปากรก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่สำคัญการทำงานทางด้านนี้ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ” รองฯ กล่าว และขยายความมาตรการเบื้องต้น

อย่างแรก ต้องดูแลรักษาศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้ดีก่อน ไม่ให้เกิดการสูญหายขึ้น อย่างที่สอง วัดวาอารามเมื่อเกิดการขโมยพระพุทธรูป เจ้าอาวาสต้องรีบแจ้งความ และประสานกรมศิลปากรในพื้นที่ให้ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีมาร่วมตรวจสอบดู อย่างที่สามศิลปวัตถุที่ขึ้นทะเบียนไว้ควรถ่ายภาพให้ กับกองบังคับการตำรวจภูธร จะได้ตรวจสอบรูปพรรณสัณฐานพระพุทธรูปองค์นั้นตรงกับที่หายไปหรือไม่

     ที่สำคัญเจ้าอาวาส ต้องไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า ที่ทำทีเข้ามาตรวจสอบพระพุทธรูป ต้องถามหาบัตรติดตัวก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ เพราะมักจะมีการแอบอ้างอยู่เสมอๆ เคยมีกรณีที่กรมศิลปากรทำขึ้นทะเบียนไว้ ไม่นานนักก็มีคนมาสวมลอยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วพระพุทธรูปองค์นั้นก็ถูกขโมยไป

"จากสถิติข้อมูลพระพุทธรูปเก่าในอีสานถูกขโมยมากที่สุด จะได้ให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรในพื้นที่รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งจะได้ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนของราชการ กองบังคับการตำรวจภูธรในพื้นที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เจ้าคณะภาค และภาคประชาชนเครือข่ายอาสาสมัครปก ป้องโบราณสถาน รวมทั้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดของกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย" รองอธิบดีกรมศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย

แม้จะแก้ปัญหาการขโมยศิลปวัตถุได้ไม่สิ้นซาก แต่ก็น่าทุเลาลงได้บ้าง


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
สยามรัฐ 8 มกราคม 2552

H O M E

Create Date :14 มกราคม 2552 Last Update :14 มกราคม 2552 0:49:48 น. Counter : Pageviews. Comments :3