bloggang.com mainmenu search

นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๖ :: มิถุนายน ๕๔ ปีที่ ๒๗

คอลัมน์รับอรุณ

พระไพศาล วิสาโล


เคยสังเกตไหมว่าป้ายโฆษณาริมถนนในกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะข้างทางด่วนเกือบร้อยทั้งร้อยล้วนเป็นภาพของหญิงชายที่กำลังยิ้มแย้มและมีความสุข เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีความสุขก็เพราะได้บริโภคหรือได้ครอบครองสินค้าบางอย่าง ซึ่งทำให้เขาสัมผัสได้ถึงรสชาติอันเอร็ดอร่อย หาไม่ก็ได้รับความสนุกสนาน หรือประสบความสำเร็จ รวมทั้งดึงดูดผู้คนให้เข้าหาคน ซึ่งมักหนีไม่พ้นเพศตรงข้าม และโดยที่ไม่ต้องใช้ความสังเกตมาก ก็จะพบว่าหญิงชายที่กำลังมีความสุขเหล่านั้นมักอยู่ในวัยหนุ่มสาว

นอกจากเชิญชวนให้เราซื้อสินค้าของเขาแล้ว ใช่หรือไม่ว่าป้ายเหล่านี้กำลังบอกเราด้วยว่า วัตถุ(หรือเงิน) ความสนุกสนาน ความสำเร็จ เซ็กส์ และความเป็นหนุ่มสาว คือที่มาแห่งความสุข

แต่มองให้ลึกลงไป ป้ายโฆษณาเหล่านี้มิเพียงส่ง “สาร” มาให้ผู้คนซึมซับเข้าไปสู่จิต(ไร้)สำนึกเท่านั้น หากมันยังเป็นกระจกสะท้อนค่านิยมของผู้คนในสังคมปัจจุบันด้วย เป็นเพราะคนส่วนใหญ่(โดยเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของป้ายโฆษณาเหล่านี้) มีความเชื่อเช่นนั้นอยู่แล้ว สื่อโฆษณาทั้งหลายจึงใช้ความเชื่อเหล่านั้นเป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกดีต่อสินค้าที่ต้องการเสนอขาย

แต่จริงหรือว่า ทรัพย์สมบัติ ความสนุกสนาน ความสำเร็จ เซ็กส์ และความเป็นหนุ่มสาว เป็นปัจจัยแห่งความสุข ทุกวันนี้รายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นเกือบ ๕๐ เท่าเมื่อเทียบกับ ๕๐ ปีที่แล้ว ขณะที่สิ่งอำนวยความสนุกและสถานบันเทิงเริงรมย์มีทุกหนแห่ง แต่ความสุขของผู้คนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย กลับจะลดลงด้วยซ้ำ หากดูจากสถิติคนเป็นโรคจิตโรคประสาทและอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมทั้งการใช้ยาระงับความเครียดที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด การวิจัยเมื่อไม่กี่ปีมานี้พบว่าตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ มีการสั่งยาคลายเครียดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทถึง ๑ ใน ๔ ของใบสั่งยาทั้งหมด ส่วนในกรุงเทพมหานครและภาคกลางก็พบว่ามีการใช้ยาคลายเครียดเพิ่มสูงขึ้นมาก

นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา รายได้ของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แต่สัดส่วนของคนอเมริกันที่บอกว่า “มีความสุข” ไม่ได้เขยิบเพิ่มขึ้นเลย คืออยู่ที่ ๖๐ % มาตลอด ส่วนคนที่บอกว่า “มีความสุขมาก” ลดลงจาก ๗.๕% เป็น ๖% ในยุโรปและญี่ปุ่นความสุขก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ โรคจิต โรคประสาท และการฆ่าตัวตาย

เงินมีส่วนทำให้คนมีความสุขก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด จะว่าไปแล้วหากมีทรัพย์สมบัติถึงจุดหนึ่ง (เช่น เลยพ้นระดับความยากจนหรืออัตคัดขัดสน) เงินที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ช่วยให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นเลยก็ได้ การศึกษากลุ่มชนทั่วโลกที่มีวิถีชีวิตและมาตรฐานการครองชีพที่ต่างกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้พบว่า เศรษฐีพันล้านชาวอเมริกัน ชาวอามิช(ที่ยังชีพแบบเกษตรกรเมื่อร้อยปีก่อน)ในรัฐเพนซิลวาเนีย ชาวอินุยต์ในเกาะกรีนแลนด์ที่ปกคลุมด้วยหิมะ และชนเผ่ามาไซในอาฟริกา ล้วนมีความสุขในระดับใกล้เคียงกัน (คือ ๕.๘ หรือ ๕.๗ จากคะแนนเต็ม ๗)

การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศก็ให้ผลในทำนองเดียวกัน นั่นคือประเทศร่ำรวยไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือยากจน อาจกลับกันด้วยซ้ำ เช่น บราซิลมีความสุขมากกว่าปอร์ตุเกสและเยอรมนี การวิจัยล่าสุดของรุตต์ วีนโฮเฟน (Rutt Veenhofen) แห่งมหาวิทยาลัยรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเทอร์แลนด์พบว่า ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกคือ คอสตาริกา (คะแนน ๘.๕) รองลงมาคือเดนมาร์ค (๘.๓) และแคนาดากับสวิตเซอร์แลนด์ (๘.๐)

จริงอยู่เมื่อศึกษากลุ่มคนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน จะพบว่าคนรวยมักมีความสุขมากกว่าคนจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วกลับมาสอบถามความรู้สึกอีกครั้ง จะพบว่าคนรวยไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากกว่าคนจน กล่าวอีกนัยหนึ่งเงินกับความสุขไม่ได้ผูกติดกันเสมอไป

ความสุขนั้นอาศัยตัวแปรมากมาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับปริมาณตัวเลขใด ๆ อย่างไรก็ตามมีตัวเลขประเภทหนึ่งซึ่งสามารถเป็นตัวชี้วัดความสุขได้ดี ตัวเลขนี้คนมักนึกไม่ถึง นั่นคืออายุ พอพูดถึงอายุ ผู้คนมักคิดว่า วัยที่มีความสุขมากที่สุดคือ วัยรุ่นหรือหนุ่มสาว แต่การศึกษาล่าสุดจากหลายสำนักกลับพบว่า วัยชราต่างหากที่มีความสุขมากที่สุด

แอนดรูว์ ออสวอลด์ (Andrew Oswald) แห่งมหาวิทยาลัยวอริค ได้สอบถามความเห็นของประชาชนใน ๗๒ ประเทศ ข้อสรุปที่ได้ก็คือ อายุเฉลี่ยที่ผู้คนมีความทุกข์มากที่สุดคืออายุ ๔๖ ปี แต่หลังจากนั้นก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สอดคล้องกับการวิจัยของมหาวิทยาลัยพรินซตันนำโดยอาเทอร์ สโตน (Arthur Stone) ซึ่งแยกกลุ่มคนตามวัย และสอบถามความรู้สึกทั้งบวกและลบ เพื่อดูว่าอารมณ์เหล่านี้สัมพันธ์กับอายุมากน้อยเพียงใด สิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้พบก็คือ ความสุขและความเบิกบานจะต่ำสุดเมื่อถึงวัยกลางคนจากนั้นก็จะเพิ่มขึ้น ความกังวลเพิ่มถึงขีดสูงสุดเมื่ออยู่ในวัยกลางคนและตกลงอย่างฮวบฮาบหลังจากนั้น ความโกรธลดลงตามวัย ส่วนความเศร้าเพิ่มขึ้นนิดหน่อยในวัยกลางคนและลดลงหลังจากนั้น สรุปก็คือ ความสุขของผู้คนจะมีลักษณะคล้ายตัว U นั่นคือ มีความสุขมากเมื่อเป็นวัยรุ่น(ก่อนอายุ ๑๘) หลังจากนั้นก็จะลดต่ำลงเรื่อย ๆ จนถึงวัยกลางคน (คือปลาย ๔๐) แล้วก็จะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอายุ ๘๐ โดยระดับความสุขนั้นมากกว่าตอนก่อนอายุ ๑๘ เสียอีก ( คือ ๗.๐ เทียบกับ ๖.๘)

อะไรทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขมากกว่าคนวัยอื่น ( หรือ “ทำไมชีวิตจึงเริ่มต้นเมื่ออายุ ๔๖” อย่างที่นิตยสาร The Economist ฉบับรับปีใหม่ได้พาดปก) เป็นเพราะผู้สูงอายุมีรายได้ดีกว่า ประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า มีตำแหน่งสูงกระนั้นหรือ เมื่อผู้วิจัยได้ตัดตัวแปรอื่น ๆ เช่น รายได้ อาชีพการงาน สถานะทางสังคม ออกไป ก็ยังพบว่าผู้สูงอายุมีความสุขมากกว่าคนวัยอื่น แสดงให้เห็นว่าความสุขของผู้สูงอายุนั้นเป็นผลจากปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายในที่ว่านั้นได้แก่อะไร ที่สำคัญก็คือ วุฒิภาวะ ความเข้าใจในชีวิต และการจัดการกับอารมณ์ของตน อันเป็นผลมาจากประสบการณ์อันยาวนาน ผู้สูงอายุนั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จึงทำใจได้ดีกว่าเมื่อประสบกับความไม่สมหวัง อดกลั้นต่ออารมณ์ได้มากกว่าเมื่อถูกกระทบหรือประสบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ อาจจะเป็นเพราะตระหนักดีว่า มันเป็นธรรมดาของชีวิต หรือเพราะรู้ว่ามันมาแล้วก็ต้องผ่านไป ไม่มีอะไรจิรังยั่งยืน ความโกรธหรือความวิตกกังวลจึงครอบงำจิตใจได้น้อยกว่าวัยอื่น

มีการทดลองให้คนวัยต่าง ๆ ฟังเสียง(จากเครื่องบันทึก)ของคนที่พูดจาระรานเขา ทั้งผู้สูงวัยและคนหนุ่มรู้สึกไม่ดีพอ ๆ กัน แต่ผู้สูงวัยโกรธน้อยกว่าและปล่อยวางได้มากกว่า หลายคนให้เหตุผลว่า “เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ตลอดเวลา”

การผ่านโลกมามาก เห็นความผันผวนขึ้นลงของผู้คนมากมายรวมทั้งตัวเอง ย่อมมีส่วนทำให้ผู้สูงวัยตระหนักว่า ถึงที่สุดแล้วความสุขก็อยู่ที่ใจของเราเอง หาได้อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทองหรือของนอกตัวไม่ เพราะคนที่ร่ำรวยแต่เป็นทุกข์ มีฐานะสูงแต่ฆ่าตัวตายก็มากมาย ดังนั้นจึงเห็นความสำคัญของการทำใจ ขณะเดียวกันก็ดิ้นรนน้อยลงเพื่อครอบครองสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เคยทำในวัยหนุ่ม การยอมรับข้อจำกัดของตนเอง ก็มีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยยอมรับจุดที่ตัวเองเป็นอยู่ได้ แม้จะเคยมีความใฝ่ฝัน แต่เมื่อไปไม่ถึงดวงดาว ก็พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ในทางตรงข้ามวัยหนุ่มสาวหรือกลางคนคงทำใจเช่นนี้ได้ยากเป็นเพราะยังมีความหวังและความทะเยอทะยาน ที่สำคัญก็คือ ยังคิดว่าตัวเองยังมีโอกาสที่บรรลุความใฝ่ฝันเพราะมีเวลาเหลืออีกมากมาย

ประเด็นหลังเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุมองต่างจากคนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยชราย่อมรู้ดีว่าเวลาของตัวเองเหลือน้อยลงทุกที ดังนั้นจึงไม่หวังกับอนาคต รวมทั้งไม่รอความสุขจากสิ่งที่ยังอยู่อีกไกล แต่หันมาหาความสุขจากปัจจุบัน นั่นคือมีความพึงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ และใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลาที่มีอยู่ ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า

ความตายที่ใกล้เข้ามามักช่วยให้คนเราตระหนักว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต รวมทั้งใส่ใจกับสิ่งนั้นก่อนอื่นใด (ต่างจากคนหนุ่มสาวหรือคนที่ยังมีสุขภาพดี ที่แม้จะรู้ว่าอะไรสำคัญ แต่ก็มักจะผัดผ่อนไปก่อน เพราะมัวเถลไถลหรือหมกมุ่นกับสิ่งที่ไม่สำคัญ เช่น ความสนุกสนาน หรือการแสวงหาชื่อเสียง) ความตระหนักดังกล่าวทำให้คนชรามักจะใช้เวลาที่มีอยู่กับสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายต่อชีวิต เช่น ครอบครัว การบำเพ็ญประโยชน์ การทำบุญกุศลหรือเข้าหาศาสนา ซึ่งย่อมมีความสุขทางใจเป็นรางวัล

การรู้จักวางใจต่อชีวิตและเหตุการณ์รอบตัวนี้เองที่เป็นคำตอบว่าเหตุใดผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นสุขมากกว่าคนในวัยอื่น หาใช่ทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จ ความสนุกสนาน หรือ เซ็กส์ อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ จะว่าไปแล้วสองประการหลังนั้นเป็นสิ่งที่คนชรามีโอกาสสัมผัสน้อยกว่าคนหนุ่มสาวด้วยซ้ำ แต่นั่นก็มิใช่ปัจจัยสำคัญแห่งความสุข โดยเฉพาะความสุขที่ยั่งยืน

แม้ความชราจะนำความเปราะบางมาสู่ชีวิตมากขึ้น รวมทั้งบั่นทอนสิ่งดี ๆ ที่เคยมี เช่น กำลังวังชา สุขภาพอนามัย และความสนุกสนาน แต่อย่างน้อยก็ให้สิ่งหนึ่งมาทดแทน ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่ง นั่นคือประสบการณ์ชีวิตที่ช่วยพัฒนาวุฒิภาวะและทำให้มีความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น อันเป็นที่มาแห่งความสุขอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเราไม่จำเป็นต้องรอให้แก่ชราเสียก่อน จึงจะเกิดสิ่งดี ๆ เหล่านั้น แม้จะยังเป็นหนุ่มสาว ก็สามารถฝึกใจให้ฉลาดในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความไม่ประมาท ในขณะที่ยังมีเรี่ยวแรงและความมุ่งมั่นในการ “ทำกิจ” เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันนั้น ก็ไม่ละเลยที่จะ “ทำจิต” เพื่อพร้อมเผชิญกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในยามสำเร็จหรือรุ่งเรืองก็ไม่หลงระเริง เมื่อล้มเหลวหรือตกยาก ก็ไม่ทุกข์ระทม เพราะรู้ดีว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิต

ถึงที่สุดแล้วอะไรเกิดขึ้นแก่เรา ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างไร มีมากเท่าไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีต่อสิ่งที่มีอย่างไร แม้มีน้อยแต่พอใจ ความสุขก็พลันบังเกิด ถึงมีมากแต่ไม่พอใจที่เห็นคนอื่นมีมากกว่า ก็ย่อมทุกข์สถานเดียว ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ นี้คือความจริงที่ไม่ว่าคนชราหรือหนุ่มสาวก็สามารถประจักษ์แก่ใจได้

Credit : www.visalo.org

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :09 กรกฎาคม 2554 Last Update :9 กรกฎาคม 2554 10:45:26 น. Counter : Pageviews. Comments :0