bloggang.com mainmenu search
คอลัมน์ THE WAY OUT

โดย Coppinocchio


"การอ่านทำให้มนุษย์สมบูรณ์ขึ้น" (Reading makes a full man) ประโยคอมตะของเซอร์ โรเจอร์ เบคอน (ค.ศ.1214-1294) นักคิดชาวอังกฤษ ที่ปัจจุบันประโยคนี้ถูกประทับไว้ที่หน้าห้องสมุดแห่งรัฐสภาอเมริกา และหน้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็น 2 ดินแดนที่คนในประเทศคงจะหาหนังสืออ่านได้อย่างไม่ยากนัก

ไกลจาก 2 ดินแดนนี้หลายพันกิโลเมตร ณ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีโรงเรียนขยายโอกาสเล็กๆ โรงเรียนหนึ่งชื่อ โรงเรียนบ้านห้วยกุ้ง ที่มีนักเรียนไล่ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3 รวมแล้วประมาณ 153 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโปว์

แม้ว่าการมีสถานศึกษาไว้รองรับนักเรียนที่จะเข้ามาเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามีหนังสือที่ดีให้เด็กๆ ได้อ่านกัน ก็น่าจะประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอนาคตของชาติ

     แต่ปัจจุบัน สถิติที่น่าเก็บไปคิดก็คือ คนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 2 เล่ม เมื่อเทียบกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเวียดนาม ที่คนในประเทศเขาอ่านหนังสือกันถึงปีละ 60 เล่มเลยทีเดียว

บอกได้คำเดียวว่า น่าห่วง...

     การที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก สาเหตุหนึ่งเพราะในบ้านเรายังมีพื้นที่อีกมากมายที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงหนังสือที่ดี สอดคล้องกับผลวิจัยเอแบค ปี 2549 พบว่า สาเหตุที่เด็กไทยอ่านหนังสือน้อย เนื่องจากว่าหนังสือมีราคาแพง คิดเป็นร้อยละ 25.2 และสาเหตุจากการหายืมหนังสืออ่านได้ยาก คิดเป็นร้อยละ 16.4 จะว่าไปมันก็จริง ขนาดเราเจอหนังสือดีๆ ที่อยากอ่าน แต่ก็ต้องวางลงบนแผงแล้วกลืนน้ำลายด้วยความอยากได้ เพราะราคาแพงเกินไป แล้วคนที่ต้องทำมาหากินวันต่อวัน เขาจะลำบากขนาดไหน ?

ย้อนกลับมาที่โรงเรียนบ้านห้วยกุ้ง ถือว่าเป็นโชคดีอย่างมากที่โรงเรียนนี้เป็นหนึ่งในโรงเรียนในโครงการ "One by One : เปิดโลกกว้างทางปัญญา" ซึ่งเป็นโครงการสร้างห้องสมุดของมูลนิธิแอมเวย์ ที่จะจัดสร้างห้องสมุดให้แก่ 10 โรงเรียนห่างไกลทั่วประเทศ

     การสร้างห้องสมุดนั้น มิใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วจะเอาหนังสืออะไรก็ได้มาใส่ให้เต็มตู้ เหมือนดังที่เราพบเห็นว่ามักจะมีแมกาซีนซุบซิบดาราถูกแทรกไว้ให้เด็กอ่าน แต่ที่นี่เขาคัดหนังสือดีๆ มีสาระมาเติมเต็มในห้องสมุด อย่างที่สำรวจคร่าวๆ เรามองเห็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ สามก๊ก และชุดทดลองวิทยาศาสตร์

อันที่จริงงานการกุศลขององค์กรต่างๆ ไม่ได้มีแต่แอมเวย์เพียงที่เดียวที่เข้ามาช่วยพัฒนาเด็กในเรื่องการอ่าน อย่างที่มติชนก็มีโครงการช่วยเหลือโรงเรียนด้อยโอกาสทางการศึกษาในโครงการ "โรงเรียน I See You มติชน 30 ปี" หรือโครงการ "ตู้อักษรซ่อนปัญญา" ที่ระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อจัดตู้หนังสือ 100 ตู้ สู่ 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ส่วนมูลนิธิซิเมนต์ไทยก็รณรงค์ส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนอยู่เป็นประจำ

น่าชื่นใจที่องค์กรทางธุรกิจเขาสนใจในเรื่องการพัฒนาเด็กในด้านนี้

     เด็กเหล่านี้จะได้เติบโตกับหนังสือที่มีคุณภาพ อันจะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป :D (หน้าพิเศษ D-Life)



สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ประชาชาติธุรกิจ 9 กุมภาพันธ์ 2552 หน้า 23


H O M E
Create Date :16 กุมภาพันธ์ 2552 Last Update :16 กุมภาพันธ์ 2552 22:17:16 น. Counter : Pageviews. Comments :2