bloggang.com mainmenu search

จุดกำเนิดของเว็บไซต์สารานุกรมเสรีออนไลน์หมายเลข 1 ของโลก "วิกิพีเดีย" นั้น พอมองย้อนกลับไปดูที่มาเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้

ใครจะไปเชื่อว่า เริ่มต้นด้วยประโยคเชิญชวนแค่ 4 ประโยคบนหน้าเว็บวิกิพีเดีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2554 ที่เขียนโดยสองหนุ่มอเมริกัน "จิมมี่ เวลส์" กับ "ลาร์รี่ แซงเจอร์" ผู้ก่อตั้ง นั่นคือ

"สวัสดีชาวโลก.

"ทำให้ผมมีความสุขหน่อยสิครับ.

"เข้ามาตรงนี้แล้วก็เขียนบทความ.

"ใช้เวลาไม่นานหรอกอย่างมากก็แค่ 5 หรือ 10 นาทีเท่านั้นเอง."

หลังจากนั้น 10 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก วิกิพีเดีย กลายเป็นเว็บเปลี่ยนโลก ที่มีอัตราผู้เข้าชมและใช้งานสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มีสถิติผู้ใช้งานเป็นประจำเดือนละ 450 ล้านคน

ทำหน้าที่เป็น "คลังความรู้" รวบรวมข่าวสารบทความต่างๆ กว่า 17 ล้านบทความใน 270 ภาษา ในจำนวนนี้เป็นภาษาอังกฤษ 3.5 ล้านบทความ และภาษาไทยเกือบ 1 แสนบทความ

ประสิทธิภาพของวิกิพีเดียนั้น ได้รับการรับประกันจากการศึกษาโดยกองบ.ก.นิตยสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำอย่าง "เนเจอร์" ว่า มีคุณสมบัติเทียบเท่า "บริทานิกา" สารานุกรมที่ดีที่สุดในโลก

ต่างกันตรงที่วิกิฯ นั้นเป็นของฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนบริทานิกาต้องเสียเงินซื้อหาความรู้มาประดับสมองกันเอง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวของวิกิฯ จะมีเฉพาะชื่อเสียงทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเด่นในการ "เปิดกว้าง" ให้ "ใครก็ได้ในโลกนี้" เข้าไปเขียน-ปรับปรุง-แก้ไขบทความในเว็บ เพื่อสร้างสังคมภูมิปัญญาออนไลน์ร่วมกัน

เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง "จุดอ่อน" ของวิกิฯ ก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะแนวคิด "เปิดกว้าง" มากเกินไปจนบางครั้งมีพวก "ประสงค์ร้าย-เพี้ยน" เข้าไปฉวยโอกาสนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือเต็มไปด้วยอคติ ขาดรูปแบบ "การอ้างอิง" ตามหลักวิชาการ

บ่อยครั้งเราอาจได้ยินว่า วิกิพีเดีย ทำให้นักเรียน-นักศึกษาเกิดความ "ขี้เกียจ" เข้ามาคอยลอกข้อมูลไปส่งอาจารย์เป็นประจำ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ตัวนายลาร์รี่ แซงเจอร์ แม้จะเป็น 1 ในผู้ก่อตั้ง ก็ต้องระเห็จตัวเองออกไปจากโปรเจ็กต์วิกิพีเดีย ภายหลังจากเกิดอาการ "ของขึ้น" เนื่องจากไม่ค่อยพอใจที่นายเวลส์แสดงบทบาทในฐานะ "ผู้ให้กำเนิดวิกิพีเดีย" มากจนเกินไป

แต่ในภาพรวม ต้องยอมรับว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้ วิกิพีเดียได้สร้างคุณูปการสูงยิ่งสำหรับสังคมโลก โดยเข้ามาเป็น "สื่อกลาง" ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ของมนุษยชาติ ทั้งที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของข่าวสาร และตำราประวัติ ศาสตร์ให้กว้างไกลออกไปทั่วทุกพรมแดนที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึง

ทุกวันนี้เรามีอาสาสมัครถึง 100,000 รายที่คอยทำงานให้วิกีพีเดียฟรีๆ เป็นประจำ คุณคิดว่ามันน่าอัศจรรย์ไหมล่ะคะ?" ซู การ์ดเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของวิกิพีเดีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์

การ์ดเนอร์ ยืนยันด้วยว่า อนาคตต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะอีก 10 ปี หรือกี่ปีต่อจากนี้ วิกิพีเดียจะยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ดั้งเดิม คือ...

เป็นสารานุกรมออนไลน์ฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์

แม้จะมีฐานสมาชิกมากเพียงใดก็ไม่คิดจะนำมาใช้เพื่อสร้างรายได้เข้าองค์กรโดยเด็ดขาด

แต่แน่นอนว่า ของฟรีย่อมไม่มีในโลก การ์ดเนอร์เผยด้วยว่า ในการ "รัน" หรือดูแลเว็บวิกิพีเดียนั้น ต้องใช้งบประมาณถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบัน ที่มาของรายได้มาจาก "เงินบริจาค" ล้วนๆ และผู้บริหารวิกิฯ ได้กำหนดแผนสำ หรับปีนี้แล้วว่า จะขยายฐานผู้ใช้งานเข้าไปในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงๆ ได้แก่ "อินเดีย" กับ "บราซิล"

ส่วน "ประเทศจีน" ยังตอบไม่ได้ว่า วิกิฯ จะสามารถย้าย "เซิร์ฟเวอร์" ฐานข้อมูลเข้าไปในจีนได้เมื่อไหร่

เพราะทุกวันนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลจีนและวิกิฯ ยังหา "ทางออก" ร่วมกันไม่ได้ว่า จะดูแล-จำกัด "เนื้อหา" ที่นำเสนอในเว็บอย่างไร ไม่ให้กระทบความมั่นคงของรัฐบาลจีน

นายจิมมี่ เวลส์ วัย 44 ปี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิวิกิมีเดีย ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส เนื่องในโอกาสครบ 10 ปีวิกิพีเดีย ว่า จะพยายามผลักดันให้ยอดผู้ใช้งานวิกิฯ เพิ่มขึ้นถึงระดับ 1 พันล้านคนต่อเดือนให้ได้ภายในปีพ.ศ.2558

"การสร้างสารานุกรมฟรีสำหรับคนทุกคนบนพื้นโลก และเป็นสารานุกรมที่เขียนในภาษาของพวกเขาเอง คือ อุดมการณ์ของเราตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นวิกิพีเดีย และจะยังเป็นเช่นนั้นตลอดไป"

เวลส์ กล่าวด้วยว่า ในการระดมเงินบริจาคครั้งล่าสุดเมื่อเดือนก่อน 480 ล้านบาทนั้น จะนำไปใช้ปรับปรุงระบบการเข้าถึงข้อมูลของเว็บวิกิฯ ให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ไม่ชอบรออะไรนานๆ รวมถึงออกแบบวิกิฯ ให้สอดคล้องกับกระแสนิยมใช้งานอินเตอร์เน็ตบน "สมาร์ทโฟน" และ "แท็บเล็ตพีซี"

เวลส์ ยอมรับว่า ล่าสุดวิกิฯ มีปัญหาตรงที่เริ่มออกอาการ "ตื้อ" หลังจากสถิติอาสาสมัครเขียนบทความภาษาอังกฤษแบบ "ฝีมือดีๆ" ในวิกิฯ ดูจะหยุดนิ่งไป ไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อตั้งปีแรกๆ

ด้าน "แอนดรูว์ ลินห์" ผู้ทุ่มเทเกาะติดความก้าวหน้าของวิกีพีเดีย และเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มดัง "เดอะ วิกิพีเดีย เรฟโวลูชั่น" (วิกิพีเดียปฏิวัติ) บอกกับเว็บไซต์ข่าวไอที "ซีเน็ต" ว่า พัฒนาการ 10 ปีจากนี้ของวิกีฯ สิ่งที่จะช่วยให้วิกิฯ กระฉับกระเฉง-ประสบความเร็จมากขึ้น คือ การประสานนำเอาข้อมูลใหม่ๆ จากภาครัฐ ห้องสมุด หอสมุด พิพิธภัณฑ์ มานำเสนอในเว็บ

นอกจากนี้ ในอนาคตข้อมูลประเภท "ตัวอักษร" อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องปรับนำข้อมูลประเภท "ไฟล์มัลติมีเดีย" มานำเสนอได้ด้วย ซึ่งก็ต้องอาศัยการออกแบบ "โปรแกรม" ที่เปิดให้คนทั่วทุกมุมโลกเข้ามาร่วมกันตัดต่อ-ปรับปรุงไฟล์นั้นๆ ได้ด้วย

"ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม 10 ปีที่ผ่านมาผมถือว่าวิกิพีเดียได้สร้างแบบแผนภูมิปัญญาเอาไว้อย่างชัดเจน มีคำพูดคำอมตะที่บอกว่า 'ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์' แต่นั่นมันไม่จริงอีกต่อไปแล้ว เพราะบัดนี้ประชาชนต่างหากที่ลุกขึ้นมาเขียนตำราประวัติศาสตร์ร่วมกัน" ลินห์ กล่าว

เปิดปูม'วิกิพีเดีย'

"วิกิพีเดีย" (Wikipedia) คือ สารานุกรมออนไลน์หลายภาษาที่แจกจ่ายในลักษณะเนื้อหาเสรี บริหารงานโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย

คำว่า "วิกิพีเดีย" มีที่มาของชื่อการผสมคำของคำว่า "วิกิ" (wiki) ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างเว็บไซต์ที่ร่วมกันปรับปรุง และคำว่า "เอ็นไซโคลพีเดีย" (encyclopedia) ที่แปลว่าสารานุกรม

เว็บไซต์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 โดย จิมมี่ เวลส์ และ ลาร์รี่ แซงเจอร์ โดยในปัจจุบันวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์ สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก

ปัจจุบัน วิกิพีเดียมีเนื้อหากว่า 9 ล้านบทความ ใน 686 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย ประกอบด้วย ข้อความกว่า 17,400 ล้านคำ เฉพาะในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ มีเนื้อหามากกว่า 3,000,000 เรื่อง เนื้อหาในวิกิพีเดียเกิดขึ้นโดยการร่วมเขียนจากอาสาสมัครจากทั่วโลก โดยเว็บไซต์เปิดให้ทุกคนสามารถร่วมแก้ไขได้อย่างอิสระ ซึ่งในปัจจุบันวิกิพีเดียได้รับความนิยมเป็น 1 ใน 10 เว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก

วิกิพีเดีย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความน่าเชื่อถือและความถูกต้องอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นชุมชนอินเตอร์เน็ตที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแก้ไขข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องล็อกอิน ซึ่งส่งผลให้วิกิพีเดียถูกก่อกวนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าการใส่คำหยาบสอดแทรก การใส่ข้อความที่คลาดเคลื่อน การลบข้อมูลสำคัญออกไป รวมถึงการใส่ความเห็นลงในตัวบทความ

อคติและความโอนเอียงในระบบของวิกิพีเดีย เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเรื่องราวบางเรื่องมีข้อมูลลงลึกมากกว่าเรื่องอื่นๆ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ แม้กระทั่งผู้เสนอโครงการวิกิพีเดียเองก็ยอมรับและจะเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป

นอกเหนือจากการเป็นข้อมูลอ้างอิงในด้านสารานุกรมแล้ว วิกิพีเดียได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เมื่อปี 2549 นิตยสารไทม์ได้มีการกล่าวถึง "บุคคลสำคัญประจำปี" ซึ่งกล่าวออกมาว่าคือ "ตัวคุณเอง" (You) โดยอ้างถึงเว็บไซต์วิกิพีเดีย ยูทูบ และมายสเปซ ในลักษณะของการสร้าง "เว็บ 2.0" ซึ่งสำเร็จขึ้นได้จากการร่วมมือของบุคคลหลายล้านคนทั่วโลก

วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อ "มีเดียวิกิ" และจัดเก็บในเซิร์ฟ เวอร์สามแห่งทั่วโลก โดยมีเซิร์ฟเวอร์ใหญ่อยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และเซิร์ฟเวอร์ย่อยตั้งอยู่ที่อัมสเตอร์ ดัมในเนเธอร์แลนด์ และโซลในเกาหลีใต้ ในขณะที่มูลนิธิสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

Credit : ข่าวสดรายวัน 18 มกราคม 2554 หน้า 21

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :28 มกราคม 2554 Last Update :28 มกราคม 2554 13:38:34 น. Counter : Pageviews. Comments :0