bloggang.com mainmenu search
คอลัมน์ บทความธรรมดา

โดย หลวงเมือง

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ข้าพเจ้าได้อพยพไปอยู่ต่างจังหวัดในตำบลชนบทเพื่อสะเดาะ เคราะห์ ได้คุยกับชาวนาชาวไร่บ่อยๆ คำพูดที่ข้าพเจ้าได้ยินเสมอคือ O.K. และ WORRY ข้าพเจ้าถามว่าอึ่งที่นั่นเหมือนอึ่งที่กรุงเทพฯหรือไม่ เขาก็ว่าไม่เหมือน ครั้นเขาให้ดูอึ่งที่ไปจับมาหลังจากฝนตกใหญ่เมื่อตอนกลางคืนก็เห็นว่าเหมือน อึ่งอ่างบ้านเราดีๆ นี่เอง แต่ตัวเล็กกว่า เขาก็ว่า

"โอ.เค.เดี๋ยวจะไปทำให้กิน ข้อยไม่วอรี่ว่าลุงเคยกินอึ่งกรุงเทพฯหรือเปล่า"

ที่ เล่ามานี้มิได้ดัดจริตดีดดิ้นอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เป็นความจริง คนพูดเขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะพูดแบบไทยคำหนึ่ง อังกฤษคำหนึ่ง แต่เป็นธรรมดาไปแล้ว และไม่เห็นเป็นการทำลายภาษาไทยแต่ประการใด

     ข้าพเจ้า ชอบอ่านนวนิยายฝรั่งที่ท่านผู้รู้แปลเป็นไทย บางเล่มก็ยังอ่านอยู่เพราะชอบ แต่บางเล่มผู้แปลไม่ยอมลงชื่อผู้ประพันธ์เป็นภาษาอังกฤษเลย และคำอ่านภาษาอังกฤษนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเด็กๆ ข้าพเจ้าได้ยินคำว่า "แอลคาโปน" เมื่อโตขึ้น ท่านออกเสียงเป็น "อัลคาโปน" ตอนที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูข้าพเจ้าได้ยินชื่อหมู่เกาะแห่งหนึ่งว่า "ทีเนียน" ต่อมาอีก 50 ปีพูดคำนี้กับเพื่อนก็ถูกดุให้อ่านว่า "ไทเนียน" เมื่อดาวหางสำคัญดวงหนึ่งโคจรกลับมา ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ซึ่งมีชื่อเสียงคนหนึ่งอ่านว่า "ฮัลเลย์" มีผู้บ่นให้ข้าพเจ้าฟังว่าต้องออกเสียงว่า "ฮัลลีย์" และคงจะมีการต่อว่าผู้ประกาศด้วย ทั้งๆ ที่นักดาราศาสตร์รุ่นพ่อยังเรียก "ฮัลเลย์" อยู่

ได้ยินนักจัดรายการที่ได้รับความนิยมสูงและซื่อตรง ต่อวิชาชีพบ่นว่าเขาจำเป็นต้องพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เท่าที่ได้ยินรู้สึกว่าไม่เต็มใจทำเช่นนั้น ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นว่าเขาไม่น่าวิตกเพราะเป็นคำพูดติดปาก แบบเมื่อก่อนนี้ก็ได้ยินบ่อยๆ ว่า "บ๊ะยังงี้มันไม่แฟร์นี่หว่า" "ไอ้แฉ่งมันกำลัง BROKE เจอใครพ่อไถคะ"

ในนวนิยายแปลเรื่อง "ความพยาบาท" ตัวละครพูดทับศัพท์หลายคำก็อ่านเข้าใจกันเป็นอันดี ข้าพเจ้าขอเสนอว่าการพูดทับศัพท์มิใช่การออกเสียงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ มีบางคำที่เรายังบัญญัติศัพท์ให้เหมาะไม่ได้ เช่น เราเรียกความถี่คลื่นวิทยุว่า "กิโลเฮิร์ตซ์" ถ้าเราจะเรียกให้เป็นไทยว่า "ความถี่คลื่น 250 เส้น 3 วา 2 ศอก" จะเหมาะหรือ

คนสมัยก่อนท่านออกเสียงว่า "สายตะแล็บแก๊บ" "สยามกัมมาจล" และ "ไอยคุปต์" ส่วน "รถกุดัง" และ "กุดังผี" ก็มาจาก GODOWN รวมถึงกะละแมและกะละมัง น้อยหน่า ก็ทับศัพท์ทั้งนั้น พูดไปเถิด คนอ่อนภาษาอังกฤษอย่างข้าพเจ้าก็ได้รับความรู้ด้วย อย่า WORRY ไปเลย

Credit : มติชนรายวัน วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
Pic : www.exceedingreading.com

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :12 มีนาคม 2553 Last Update :12 มีนาคม 2553 20:37:28 น. Counter : Pageviews. Comments :0