bloggang.com mainmenu search
เป็นปีที่ 3 แล้วสำหรับ เวทีการประกวด S.B.Young Designers Award ที่เปิดกว้างให้นักออกแบบรุ่นใหม่แสดงความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งปีนี้โจทย์ก็คือ Green Living Design For Future Lifestyle โดยแบ่งการประกวดเป็นประเภทตกแต่งภายในโดยให้ออกแบบ จัดวางวินโดว์ดิสเพลย์สำหรับการโชว์ชุดห้องนอน และประเภทออกแบบผลิตภัณฑ์โดยให้ออกแบบ sofa-bed

     โดยผู้ชนะเลิศคว้ารางวัลแพ็กเกจชมงานมิลาน เฟอร์นิเจอร์ แฟร์ 2009 ประเทศอิตาลี และเข้าร่วมสัมมนากับนักออกแบบ ระดับโลก พร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาท ประเภทออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ นายสมชัย ธรรมธรานุกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงาน ZIZZ ส่วนผู้ชนะเลิศประเภทตกแต่งภายใน ได้แก่ นางสาวอนันตภา ทองธวัช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงาน Reflect of the Future

     สมชัย ธรรมธรานุกุล เจ้าของผลงาน ZIZZ เล่าว่า ผลงานของเขาได้แนวคิดจากการเปิดหนังสือ ซึ่งหน้าหนังสือที่ต่างกันย่อมมีเนื้อหาที่ต่างกัน เป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า difference page,difference idea sofa bed ที่มีการใช้งานที่หลากหลายปรับเปลี่ยนตามการใช้งานที่ต่างกันไปสามารถเป็นได้ทั้งโซฟาสำหรับนั่งพักผ่อนคือเป็นทั้งอาร์มแชร์และโต๊ะข้างเพื่อใช้ทานของว่างหรือดูทีวี


ฟังก์ชันที่สองเป็นเตียงนอน สุดท้ายจะเป็นที่เก็บของซึ่งวิธีเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานจะใช้วิธีพลิกเหมือนกับหน้าหนังสือ สำหรับรูปฟอร์มของโซฟาจะเป็นสไตล์โมเดิร์น คอนเทมโพรารี่ ผสมผสานกับโทนสีขาว และลายไม้ ในรูปแบบของอิตาเลียนวอลนัต เพื่อเพิ่มกลิ่นอายของธรรมชาติ ซึ่งผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่

"ส่วนแนวคิดที่ตอบโจทย์เรื่องการลดโลกร้อนอยู่ที่วัสดุและกระบวนการผลิตที่ปิดผิวด้วย MDF ด้วยวิธี short cycle press ที่ช่วยลดขั้นตอนในการผลิตจึงช่วยประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกันการใช้ลามิเนตหรือเมลามีนลายไม้ ก็จะช่วยลดการตัดไม้และคำนึงถึงการตัดไม้อย่างประหยัด ให้เหลือเศษน้อยที่สุด"

     ส่วนอนันตภา ทองธวัช เจ้าของผลงาน Reflect of the Future เล่าว่า ผลงานชิ้นนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า ในอนาคตจะเป็นยุคที่ ผู้คนเชื่อมั่นในเทคโนโลยี แต่ถึงแม้ว่าโลกจะเจริญไปสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยเหล็ก กระจกแวววาวและตึกสูง แต่ในเงาสะท้อนของสิ่งซึ่งแสดงความทันสมัยเหล่านั้นก็ยังมีเงาของต้นไม้พืชพรรณสีเขียวอยู่ ผลงานชิ้นนี้จึงสื่อถึงแนวคิดนี้และกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นของลูกค้าด้วย เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรงนอกจากชมผ่านทางกระจกเงาของห้องในกระจก ซึ่งได้จัดตำแหน่งและมุมให้พอดีกับการมองผ่านทางช่องระหว่างผนังที่จัดเตรียมไว้ สร้างความตื่นตาตื่นใจกับที่มาของสีเขียวซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากด้านนอก ซึ่งสื่อว่าในเมืองที่แห้งแล้ง หากเราเข้าไปมองใกล้ๆ จะเห็นเงาสะท้อนของธรรมชาติในแววตาของทุกคน

     ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำภาค วิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักออกแบบผู้สร้างแบรนด์ Osisu 1 ในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวเสริมว่า ผลงานส่วนใหญ่ออกแบบ มาน่าสนใจดี แต่ยังขาดการตีความเรื่อง green concept หลายคนตีความคำว่า green หมายถึงต้นไม้หรือสีเขียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เราสามารถนำเสนอความคิดที่ลึกซึ้งกว่านั้นได้ สามารถใช้สีแดงก็ได้ ถ้าสีแดงนั้นเกิดจากการผลิตที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษ หรืออาจจะมองไปถึงเรื่องวัสดุหรือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ได้

"การออกแบบในคอนเซ็ปต์ green มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ฮือฮาขึ้นมากในปีที่แล้ว เพราะได้อิทธิพลจากกระแสโลกร้อน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคือ ต้องเข้าใจว่างานออกแบบแบบนี้อาจจะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่างานออกแบบทั่วไป เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตและกระบวนการผลิตจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับทิศทางการออกแบบในอนาคตนั้นสามารถมองได้หลายมุม อาจจะเป็นไปได้ที่นักออกแบบจะมุ่งเน้นในการศึกษาหาวัสดุชนิดใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อให้งานมีความหลากหลายมากขึ้น หรืออาจจะเป็นในรูปของการใช้วัสดุชนิดเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่นำกระบวนการหรือเทคนิคใหม่ๆ มาใช้" ดร.สิงห์กล่าว


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ประชาชาติธุรกิจ 17 พฤศจิกายน 2551 หน้า 52

H O M E
Create Date :18 พฤศจิกายน 2551 Last Update :18 พฤศจิกายน 2551 2:15:00 น. Counter : Pageviews. Comments :0