bloggang.com mainmenu search
เร็วๆ นี้ ดร.ผาสุกกำลังจะมีผลงานหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ"ป็อปปูลิซึ่ม อิน เอเชีย" เป็นการรวมบทความเอเชียตะวันออก ละติน อเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์การเมืองประชานิยมในประเทศต่างๆ และประชานิยมในประเทศไทย โดยมีนักวิชาการชั้นนำ ร่วมเขียนหลายคน

     อีกเล่มคือ หนังสือแปลสุภาษิตวรรณกรรม "ขุนช้างขุนแผน" เป็นภาษาอังกฤษ แปลร่วมกับคริส เบเกอร์ ซึ่ง ดร.ผาสุกบอกว่า ขณะนี้แปลเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดพิมพ์ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้เช่นกัน

     ดร.ผาสุกเล่าว่า ภายในเล่มขุนช้างขุนแผนฉบับภาษาอังกฤษ จะมีคำอธิบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำต่างๆ ว่ามีความหมายอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ เรื่องผ้า เรื่องประเพณี เรื่องยันต์ หรือกระทั่งเรื่องความเชื่อ

     ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้จะสะท้อนเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย เพราะในเรื่องขุนช้างขุนแผนมีแง่มุมในเรื่องการเมืองเยอะ ซึ่งยังไม่เคยมีคน วิเคราะห์มาก่อน คือเราเขียนเป็นภาษาไทยวิเคราะห์แง่มุมบางประการของเสภาขุนช้างขุนแผน ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นบทความ 5 ชิ้น ซึ่งมีบางส่วนเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ดังนั้นในการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้จะเรียกว่าเปิดตัวหนังสือเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมกับหนังสืออธิบาย

"กำลังคิดอยู่เหมือนกันว่า หลังจากนี้จะทำเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อจะให้คนรุ่นใหม่ที่อ่านก็จะได้รู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับขุนช้างขุนแผน เพราะถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่แล้วอ่านอย่างละเอียด คุณจะมีคำหลายคำที่คุณไม่เข้าใจ แต่เราจะอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ติดว่าถ้าแปลเป็นภาษาไทย จะยาวมากกว่าอังกฤษอีก สำนักพิมพ์ ก็ต้นทุนสูง ก็เลยคิดว่าให้จบภาษาอังกฤษก่อนดีกว่า"

     อาจารย์ผาสุกกล่าวว่า ตอนที่กรมพระยาดำรงฯท่านรวบรวมเสภา ขุนช้างขุนแผนนี้มาอยู่ในเล่มเดียวกัน ได้มีเสภาขุนช้างขุนแผนหลายสำนวน ซึ่งเขียนโดยนักขับเสภาหลายคน ท่านก็ได้ไปรวบรวมมา แล้วท่านได้ตัดบางส่วนออกไป ท่านได้ให้กวีใน ราชสำนักที่มีชื่อเสียงบางคนมาเขียนเพิ่มเติม บางส่วน

     ส่วนที่ท่านตัดออกไป ท่านอธิบายว่า สำนวนอาจจะไม่ไพเราะ หรืออาจจะหยาบไม่เหมาะที่ผู้หญิงจะได้อ่าน หรือว่าทำให้เรื่องยืดเยื้อ บางทีท่านตัดออกไป ถึงแม้ว่าสำนวนจะน่าสนใจ แต่ว่าทำให้เรื่องยาวเกินไป ท่านก็ตัดไป ตอนที่เราแปล เราก็ได้ไปพบ สำนวนอื่นๆ ที่ท่านได้เอามาเลือก แต่ตัดออกไปแล้วเราก็พบว่าสำนวนอื่นๆ บางตอนน่าสนใจ เราก็เลยเอาสิ่งที่ท่านตัดไป แต่น่าสนใจมาแปลด้วย

     ใช้เวลาแปลหนังสือเล่มนี้ประมาณ 2 ปีกว่า (ค่ะ) เรียกว่าเป็นงานที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น คล้ายกับว่าตอนที่เราอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนสมัยที่เราต้องอ่านสมัยเด็กๆ เราก็ไม่ได้ลงลึก ครูบอกให้เราท่องจำส่วนนี้เพราะว่าเป็นส่วนที่มีสำนวนสละสลวย แต่เราไม่เคยอ่านจบทั้งเรื่อง ไม่ได้อ่านแบบละเอียด

"...การที่มาแปลก็ทำให้ต้องอ่านละเอียดมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจคำใดคำหนึ่ง เราก็แปลไม่ได้ ฉะนั้นในกระบวนการแปลทำให้เราต้องไปแสวงหาความรู้ ก็เลยทำให้ได้รับ ความรู้เพิ่มขึ้น" ดร.ผาสุกกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ประชาชาติธุรกิจ 10 พฤศจิกายน 2551 หน้า 48

H O M E
Create Date :12 พฤศจิกายน 2551 Last Update :12 พฤศจิกายน 2551 22:17:18 น. Counter : Pageviews. Comments :0