bloggang.com mainmenu search

สำหรับคุณที่มีปัญหาบ้านมีเนื้อที่จำกัดแต่ต้องการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลองมาดูกันว่าจะมีเทคนิคหรือข้อคิดอะไรบ้างที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้

เฟอร์นิเจอร์แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินติดตาย (Built-in Furniture) และเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว (Loose Furniture) ซึ่งแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน อยู่ที่ว่าจะเหมาะกับบ้านเราแค่ไหน เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินนั้นมีข้อดีคือสามารถกำหนดขนาดได้ตามต้องการจริงๆ ไม่ว่าพื้นที่ในบ้านจะเป็นแบบไหน ก็สามารถออกแบบให้พอดีกับความต้องการได้อย่างใจ กว้างยาวสูงลึกได้ทุกรูปแบบ

หากบ้านคุณมีนักออกแบบมาจัดการให้ตั้งแต่ต้นก็สามารถบอกความต้องการได้เต็มที่ ทั้งลักษณะการใช้งาน ว่าจะใช้ทำอะไร ชอบวัสดุใดก็สุดแล้วแต่ เช่น ตู้เก็บของจะใช้เก็บอะไร แบ่งชั้นแบบใด จะมีช่องเก็บของซ่อนเป็นช่องลับก็ยังได้ แถมบางครั้งยังช่วยแก้ไขมุมมอง สเปซ หรือรูปร่างแปลกๆ ที่ไม่ชอบอีกด้วย เช่น ห้องห้องมีมุมแหลมหรือเป็นติ่งแปลกๆ อาจสร้างบิวท์อินสวมทับไป แล้วกลายเป็นผนังเรียบๆ ที่มองเผินๆ เห็นแต่บานเปิดเสมอผนังก็ย่อมได้ สำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อย เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินนับเป็นทางเลือกที่ดีเพราะสามารถเป็นตัวช่วยให้เราใช้สเปซได้อย่างเต็มที่ ไม่เกิดซอกหลืบที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เราใช้ที่เก็บของได้คุ้มค่า

แต่ข้อเสียก็พอมี เช่น อาจดูยุ่งยากและกินเวลา สำหรับบางคนที่ต้องจัดการออกแบบหรือหาช่างมาทำเอง อาจรู้สึกว่าหาซื้อเครื่องเรือนลอยตัวเองตามร้านน่าจะง่ายกว่ามาก ส่วนเครื่องเรือนลอยตัวนั้นมีอยู่มากมายให้เลือกช้อปในท้องตลาดไม่ว่าจะเป็นสไตล์รูปแบบใด มีหลายประเภท หลายสไตล์และหลายระดับราคาด้วย การจะเลือกซื้อเครื่องเรือนลอยตัวคงต้องวางแผนก่อนว่าเราต้องการอะไรบ้าง อย่างน้อยก็น่าจะต้องรู้ว่าเรามีพื้นที่ในห้องแค่ไหน กว้างยาวเท่าไร เวลาพาเครื่องเรือนกลับบ้านแล้วจะได้ดูไม่คับห้องหรือหลวมเกินไป

ขอแนะนำสักนิดถึงวิธีการเลือกใช้เครื่องเรือนในพื้นที่ขนาดเล็ก

● เครื่องเรือนทั้งบิวท์อินและลอยตัวพยายามเลือกที่มีรูปทรง เส้นสายเรียบๆ จะทำให้ดูแล้วไม่รกตา

● เลือกเครื่องเรือน โต๊ะ เก้าอี้ที่มีขาโปร่ง หากเลือกแบบมีชายระบายระพื้นหรือขาตันจะดูมีน้ำหนัก ให้ความรู้สึกทึบตัน

● เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินใช้พื้นที่แนวตั้งจะดีกว่าแนวนอน จะได้ไม่กินบริเวณเข้ามาในพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ

● ตู้แบบติดผนังลอยจากพื้นช่วยให้ดูโล่งกว่าแบบวางบนพื้นโดยตรง (แต่ต้องระวังด้านโครงสร้างรับน้ำหนักให้ดี)

● เลือกเครื่องเรือนที่ใช้งานได้หลายหน้าที่ในตัวเอง เพื่อประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่าย

● ลดการใช้พื้นที่ในการวางเครื่องเรือนโดยไม่จำเป็น เช่น ไม่ใช้โคมตั้งโต๊ะบนโต๊ะข้างหรือไฟตั้งพื้น แต่หันมาใช้ไฟกิ่งติดผนังแทน

● เครื่องเรือนบางอย่างสามารถปรับเปลี่ยนพับเก็บได้ยามไม่ได้ใช้งาน

● เครื่องเรือนที่ทำด้วยวัสดุที่ดูใส โปร่งแสง เช่น อะครีลิคใส กระจกใส ช่วยให้สเปซดูโปร่งขึ้น

● อย่าวางเครื่องเรือนขวางเส้นทางเดิน

● เครื่องเรือนเรียบๆ ดูสบายตากว่าแบบที่มีลวดลายมาก แพทเทิร์นเล็กๆ ย่อมไม่เตะตาเท่าลายขนาดใหญ่

● ใช้เครื่องเรือนขนาดใหญ่แต่น้อยชิ้นดีกว่าขนาดเล็กๆ แต่จำนวนมาก เช่นเดียวกับของตกแต่งที่น้อยชิ้นใหญ่ดีกว่ามากชิ้นเล็ก

● ไม่ใช้เครื่องเรือนแบบที่มีความสูงมากๆ โดยเฉพาะห้องที่มีเพดานต่ำ ถ้าห้องเล็กจริงๆ สไตล์เครื่องเรือนที่อาจไม่เหมาะน่าจะเป็นแบบยุโรปเพราะมักมีขนาดใหญ่ ถ้าอยากได้จริงๆ อาจใช้น้อยชิ้นไม่ใช่ทั้งชุด

● ตู้ที่มีหน้าบานกระจกเงาช่วยลวงตาให้ห้องดูใหญ่ขึ้นได้ เพราะจะสะท้อนทั้งภาพและแสง

และข้อสุดท้าย...อย่ามีเครื่องเรือนมากเกินความจำเป็น

ย้ำถามตัวเองอีกครั้งก่อนจะซื้อเครื่องเรือนใหม่ว่า จำเป็นต้องซื้อจริงๆ หรือแค่อยากได้เฉยๆ

ขอบคุณ : Smart Living by Modernform

Credit : www.home.co.th

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :22 มกราคม 2554 Last Update :22 มกราคม 2554 15:51:09 น. Counter : Pageviews. Comments :0