bloggang.com mainmenu search
สธ.ชี้หญิงไทยวัย 35 ปีขึ้นไป กว่า 8 ล้านคน เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกเพราะอายหมอ ไม่กล้าไปตรวจ รณรงค์ตรวจแป็ปสเมียร์ฟรีทั่วประเทศ พร้อมจี้อย.เร่งแก้ชื่อวัคซีนใหม่ จากวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี แก้ไขเข้าใจผิด

     วันนี้(9 ธ.ค.) ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กทม. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี โดยในปีนี้กำหนดคำขวัญการรณรงค์ ว่า "ตรวจแป๊ปสเมียร์ไม่น่ากลัว ไม่น่าอาย ไม่ตายจากมะเร็งปากมดลูก" (Have no fear, Take a Pap smear) เพื่อสร้างกระแสให้หญิงไทยตระหนักถึงอันตรายของโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิง แต่รักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

     นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถานบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ปีละกว่า 3,000 ราย โดยในปี 2551 คาดว่าจะมีผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 8,000 ราย ส่วนใหญ่ 90% พบมากในช่วงอายุ 35-50 ปี โดยที่ประมาณ 80% จะเสียชีวิตเพราะโรคลุกลาม ทั้งๆ ที่มะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม

"ปัจจุบันประเทศไทยมีหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป มีประมาณ 10 ล้านคน แต่มีหญิงที่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพียง 25% หรือประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย โดยสธ.ตั้งเป้าใน 5 ปี คัดกรองเพิ่มเป็น 80% ของหญิงวัย 35-60 ปี ซึ่งจากผลการวิจัยยืนยันว่าหากสามารถตรวจหามะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุม 80% ของหญิงไทยทุกปี จะลดอัตราการตายจากมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 61% และภายใน 5 ปี คาดว่าจะลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกลงได้ 50%"นพ.ธีรวุฒิ กล่าว

     นพ.ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่หญิงไทยประมาณ 8 ล้าน ไม่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะไม่กล้าและอายหมอ ทำให้ไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่าเกิดความผิดปกติที่ปากมดลูก เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกใช้เวลาก่อตัวนาน 5-10 ปี โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด หรือส่งสัญญาณผิดปกติ แต่หากอยู่ในระยะลุกลามโดยจะมีอาการตกขาวมีกลิ่น มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือตกขาวมีลักษณะคล้ายน้ำคาวปลา หากเป็นมากอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะลำบาก ซึ่งอาจต้องเสียเงินค่ารักษาซึ่งอย่างต่ำรายละประมาณ 20,000 บาท โดยไม่ได้อะไร เพราะไม่สามารถรักษาหายขาดและต้องเสียชีวิตในที่สุด

"ส่วนการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการฉีดวัคซีนนั้น สามารถป้องกันได้เพียง 70% ดังนั้นก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนควรได้รับคำปรึกษาให้เข้าใจก่อน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี สามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ โดยได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนชื่อวัคซีนใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด นอกจากนี้ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของวัคซีนป้องกันเชื้อเอชไอวี ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ในทางป้องกันถือว่าไม่คุ้มค่า หากจะนำวัคซีนดังกล่าวเข้าบรรจุในบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ เนื่องจากมีราคาแพงและไม่สามารถป้องกันได้ 100% อีกทั้งวิธีการตรวจแป็ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งมีราคาไม่แพงแต่มีประสิทธิภาพดีกว่าในการป้องกันโรค"นพ.ธีรวุฒิกล่าว

     นพ.ธีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ในการรณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เชิงรุกสถานบริการทุกจังหวัดทั่วปะเทศร่วมกันรณรงค์ให้หญิงไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป เข้ารับบริการตรวจเซลล์ปากมดลูกฟรี ด้วยวิธี แป็ปสเมียร์โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที และรู้ผลตรวจภายใน15 วัน ซึ่งผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ทั้งที่แต่งงานแล้วและยังโสด ควรตรวจทุกปี หรืออย่างน้อย 5 ปี/ครั้ง ทั้งนี้ ในปี 2551 สธ.ได้จัดรณรงค์ตรวจมะเร็งปากมดลูกเฉลิมพระเกียรติ 116 วันแม่ถึงวันพ่อ มีผู้รับการตรวจทั้งหมด 82,705 ราย พบความผิดปกติ 175 ราย ได้ส่งตัวรักษาทันที


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 ธันวาคม 2551

H O M E
Create Date :11 ธันวาคม 2551 Last Update :11 ธันวาคม 2551 22:37:04 น. Counter : Pageviews. Comments :2