bloggang.com mainmenu search
โดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว


จากแม่อาย....

     เกือบ7 ปี ที่แล้ว ชาวแม่อาย 1,243 คน ต้องเผชิญกับ "โศกนาฏกรรม" ครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อถูกอำเภอแม่อายถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร (ท.ร.14) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 โดยให้เหตุผลว่า คนเหล่านี้เป็นคนต่างด้าว และมีการ"คนสัญชาติไทย" สู่ "คนต่างด้าว" และสิ่งที่ตามมาจากนั้นคือความยากลำบากต่างๆที่ประเดประดังเข้ามาสู่เงื่อนไขของแต่ละชีวิต

8 กันยายน พ.ศ.2548 เสียงเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมี ดังกระหึ่มก้อง เมื่อศาลปกครองสุงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศอำเภอแม่อาย นั่นคือให้เพิ่มชื่อของทั้งหมดกลับเข้าสู่ ท.ร.14 คือเป็นผู้มีสัญชาติไทยจนกว่าอำเภอแม่อายจะสามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น แต่หนทางกลับคืนสู่ความเป็นไทยนั้นก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิดและควรจะเป็น เพราะทางอำเภอได้ผลักภาระการพิสูจน์สัญชาติไปให้ชาวบ้านที่ต้องทุกข์จากการเสียสิทธิในสัญชาติไทยไปแล้วกว่า 3 ปี ต้องทุกข์เพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะการทวงถามถึงสิทธิที่หล่นหายไป ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาและต้องออกแรงกันอีกครั้ง ไปจนถึงกระบวนการเยียวยาต่างๆที่เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากัน

     ปี 2551การต่อสู้ครั้งใหม่ของชาวบ้านแม่อายจึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในรูปแบบ "ห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย" เพื่อหว่านกล้าเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้มแข็งให้กับเยาวชนที่เป็นผู้มีปัญหา ไปสู่ผู้รู้ปัญหา และใช้สองมือน้อยๆนั้นพยุงตนเองและคนรอบข้างสู่ทางออก

และเพื่อสร้างต้นแบบในการแก้ไขปัญหาที่ใช้ชุมชนแม่อายเป็นต้นแบบ เรียกสั้นๆ ว่า "ห้าคูณหก" (5 x 6) โดย ห้า นั้นหมายถึง การจำแนกประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม โดยใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้เพื่อที่จะคูณ หก อันหมายถึง 6 แนวคิดในการจัดการปัญหาให้คลี่คลาย กล่าวคือ คิดวิธีการที่จะทำให้ "คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล" เป็น "คนไม่มีปัญหาสถานะบุคคล" หรือ วิธีการที่ทำให้ "คนไร้รัฐ" เป็น "คนมีรัฐ" หรือวิธีการที่ทำให้ "คนไร้สัญชาติ" เป็น "คนมีสัญชาติ" หรือวิธีการที่ทำให้ "คนที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง" เป็น "คนที่ถูกกฎหมายคนเข้าเมือง"

...ถึงอันดามัน

     ห่างลงไปร่วม 1,500 กิโลเมตร การพลิกฟื้นชุมชน และจิตใจของผู้คนในแถบอันดามัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยครั้งยิ่งใหญ่ในนาม "สึนามิ" เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น ร่อยรอยหนึ่งที่ปรากฎขึ้นและยังรอการเยียวยาแก้ไขคือ การปรากฏตัวขึ้นของ "คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ" ซึ่งพบว่ามีทั้ง คนสัญชาติไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร คนเชื้อสายไทยจากประเทศพม่าคนเล (มอแกน มอเกล็น อุลักลาโว้ย) คนกะเหรี่ยง คนต่างด้าว (พม่า ลาว มอญ) ไปจนถึงคนที่สืบค้นรากเหง้าตัวเองไม่ได้ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้มีมาก่อนเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เพียงแต่เหตุการณ์นี้ได้ทำให้พวกเขาถูกมองเห็น

อย่างไรก็ตามความพยายามในการแก้ไขปัญหา คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามันนั้น ก็มีมาโดยตลอด ทั้งจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ไปจนถึงเจ้าของปัญหาเอง และเครือข่ายของผู้ประสบปัญหาเอง แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลายไปเท่าที่ควร

ในขณะเดียวกันคณะทำงาน ซึ่งได้รับรู้สภาพปัญหาพื้นที่อันดามันจากการลงพื้นที่และการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ จึงเห็นว่า "ต้นแบบ" ที่ถักทอขึ้นที่แม่อายนั้น ควรเดินทางมา สู่อันดามัน เพื่อเป็นบททดสอบของต้นแบบและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป ก่อเกิด "โครงการขยายองค์ความรู้แม่อายสู่อันดามันเพื่อการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่อันดามัน"

     อันประกอบไปด้วยกิจกรรม หนึ่ง - "การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ : การจำแนกบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล" สอง- "การติดตามความคืบหน้ากรณีศึกษาตัวอย่างจากโครงการวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์และศึกษาความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ" สาม- "การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรกับเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ (อันดามัน)" สี่- "เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการปัญหา (Forum for Cases Solution)" และสุดท้าย- "การจัดทำหนังสือ (Pocket Book)" และ "การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน (Manual)"

"ถึงเวลาเริ่มนับหนึ่ง กับ กฎหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น"

"คนที่มีความสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย เช่น คนไทยพลัดถิ่น จะมีความรู้สึกเจ็บปวดใจมาก เมื่อถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนจากการไม่มีสถานะบุคคลในประเทศไทย เพราะรู้สึกเหมือนลูกที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ และต้องตกระกำลำบากไร้ที่พึ่ง" สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง ข้อ 5 เกี่ยวกับสถานะและสิทธิของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ที่สังคมควรรับรู้

     "คนไทยพลัดถิ่น" หรือ "คนไทยถิ่นพลัด" หรือที่ทางราชการเรียกว่า "ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย" คือกลุ่มคนเชื้อสายไทยที่ติดไปกับดินแดนที่เสียให้กับอังกฤษ ได้แก่ พื้นที่เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี หรือกลุ่มคนไทยที่เข้าไปทำมาหากินในพม่าและได้หลบหนีกลับเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเวลาต่างๆ นับตั้งแต่ยุคการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลพม่า เรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา ในปัจจุบัน

     การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของคนไทยพลัดถิ่นที่ผ่านมา คือให้แปลงสัญชาติไทยแก่ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้ว จำนวน 7,849 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เป็นกรณีพิเศษ ตามมติครม. 27 พฤษภาคม 2540 แม้ว่าจะมีคนไทยพลัดถิ่นในหลายพื้นที่ยินยอมในแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขันจาก "โครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์" เนื่องจาก การแปลงสัญชาตินั้นเท่ากับเป็นการยอมรับว่าตนมีสัญชาติพม่าหรือไม่มีสัญชาติไทยมาก่อน และยังถูกจำกัดสิทธิหลายประการ นอกจากนี้ยังมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาอาศัยและได้สร้างครอบครัวมีลูกหลานมากมายในประเทศไทยภายหลังจากการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ จนมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความมีสัญชาติไทยแต่บรรพบุรุษ โดยการขอ "คืนสัญชาติไทย"

     ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลสำหรับคนไทยพลัดถิ่นโดยพัฒนาจากองค์ความรู้เก่าที่หลายๆ ฝ่ายได้ทำการศึกษาวิจัยมาตลอด ประกอบกับยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 เองก็ให้ความสำคัญกับคนเชื้อสายไทยกลุ่มนี้ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เห็นควรมีการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อคืนสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่น

     โครงการขยายองค์ความรู้แม่อายสู่อันดามันฯ ภายใต้กิจกรรม "เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการปัญหา (Forum for Cases Solution)" จึงกำหนดจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเพื่อการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาการ ภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อเป็นจุดเริ่มอันจะนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาของ "คนไทยถิ่นพลัด" ต่อไป

ในหัวข้อ "ถึงเวลาเริ่มนับหนึ่ง กับ กฎหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น"

ในวันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2552 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
ThaiNGO.org 26 มกราคม 2552

H O M E
Create Date :27 มกราคม 2552 Last Update :27 มกราคม 2552 23:10:43 น. Counter : Pageviews. Comments :0