bloggang.com mainmenu search

บทความโดย ศ.ดร.นพ.ทองปลิว เปรมปรี ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งและพันธุกรรมบำบัด โรงพยาบาลปิยะเวท

โรคมะเร็งเป็นโรคที่นับวันจะมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ และวิธีบำบัดรักษาให้หายขาดก็ยาก แต่ความก้าวหน้าทางโมเลกุลชีวภาพที่ผสมผสานกับจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้มนุษย์ไม่ย่อท้อที่จะค้นคว้า และวิจัยงานทางด้านพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุพื้นฐานการเกิดของโรคมะเร็ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า มีความผิดปกติของสารพันธุกรรมหรือมีการกลายพันธุ์ของยีน (Gene Mutation) ในคนที่เป็นโรคมะเร็ง จึงเกิดแนวคิดในการรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเหล่านี้โดย การรักษาที่เรียกว่า "พันธุกรรมบำบัด" (Gene therapy หรือ Targeted Therapy) ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่ต้นเหตุของโรค แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาที่จะใช้ "Targeted Therapy หรือ Gene therapy" ในการพิชิตโรคมะเร็ง

ปี 2367 นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรองซัวส์ แวงซองต์ ราสปายส์ (Francois Vincent Raspail) กล่าวไว้ว่า "เซลล์ของร่างกายมนุษย์ นอกจากจะเป็นรากฐานของการมีชีวิตและสุขภาพแล้ว เซลล์ยังเป็นรากฐานของโรคภัยไข้เจ็บและความตายด้วย" นั่นคือการเกิดมะเร็งก็จะมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์เช่นกัน โดยจะเกิดความพิการหรือผิดปกติที่สารพันธุกรรม (gene) ที่อยู่ภายในนิวเคลียส (Nucleus) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดนิวคลีอิก และเป็นรหัสชีวิตที่จะควบคุมลักษณะและหน้าที่การทำงานของเซลล์และการถ่ายทอด ลักษณะทางกรรมพันธุ์ มะเร็งทุกชนิดก็เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม เนื่องจากยีนบกพร่องบางตัวในเซลล์ ตัวอย่างประมาณร้อยละ 25 ของโรคมะเร็งเต้านมทุกชนิด จะมีความแปรปรวนเกิดขึ้นกับยีนบางตัวหลังเซลล์แบ่งตัวซ้ำกันหลายครั้ง

Gene therapy หรือ พันธุกรรมบำบัดคือ การรักษามะเร็งที่มุ่งเน้นไปยังต้นเหตุของมะเร็งคือ ยีนที่มีความผิดปกติ โดยจะต้องวิเคราะห์หาความผิดปกติของยีนในเซลล์มะเร็งก่อน แล้วให้การรักษาด้วยยาที่มีความจำเพาะต่อยีนที่มีความผิดปกตินั้นๆ

วิธีการรักษาของการบำบัดด้วย Gene Therapy

คนไข้ที่มาต้องผ่านการตรวจพิสูจน์แล้วว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะใด และมีชิ้นเนื้อที่ได้จากก้อนมะเร็ง เพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติของยีนในโรคมะเร็งนั้นๆ โดยวิธีการที่เราจะตรวจหาความผิดปกติของยีนมี 2 ขั้นตอนคือ

1.การตรวจหาโปรตีนที่ยีนผลิตออกมา

2. การตรวจในระดับ DNA เพื่อดูลักษณะความผิดปกติของยีนในรายละเอียดว่ายีนส่วนไหนมีการกลายพันธุ์ และมีลักษณะของการกลายพันธุ์แบบใด เพราะเมื่อมะเร็งแต่ละชนิดมีความผิดปกติของยีนที่ไม่เหมือนกัน หรือถึงแม้ว่าเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันบางครั้งในผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีความ ผิดปกติของยีนที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อคนไข้ได้รับการตรวจยีนจากโปรตีนและดีเอ็นเอแล้ว เราก็มาพิจารณากันว่าจะใช้การรักษาวิธีแบบใด ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบว่ายีน A ผิดปกติก็จะใช้ยาแอนติยีน A รักษา

การรักษาแบบพันธุกรรมบำบัดนี้ แตกต่างจากการรักษาแบบวิธีเดิมคือ การใช้เคมีบำบัด หรือการทำคีโม ซึ่งเป็นการให้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งทั้งร่างกายไม่จำเพาะเจาะจง เซลล์ปกติในร่างกายจึงถูกทำลายไปด้วย การรักษาในรูปแบบของ Gene therapy หรือ Targeted Therapy เป็นการให้ยารักษาเพื่อควบคุม และขัดขวางการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยที่ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงโดยไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติ หรือเซลล์อื่นๆ

กุญแจสำคัญของการรักษาด้วยวิธีพันธุกรรมบำบัด หรือ Targeted Therapy นี้ว่าจะได้ผลหรือไม่ อยู่ที่เราจะต้องทราบถึงความผิดปกติของยีนในเซลล์มะเร็งก่อนที่จะรักษา เพราะยาเหล่านี้มีความจำเพาะเจาะจง ถ้าเราให้ยาโดยที่ไม่ได้ทราบว่าผู้ป่วยมะเร็งมีความผิดปกติของยีนอะไร การรักษาอาจจะไม่ได้ผล เปรียบเสมือนการเกาไม่ถูกที่คัน หรือรักษาไม่ตรงจุดนั่นเอง (กรอบบ่าย)

Credit : มติชนรายวัน 21 ตุลาคม 2551 หน้า 10

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :24 กรกฎาคม 2553 Last Update :24 กรกฎาคม 2553 13:48:31 น. Counter : Pageviews. Comments :1