bloggang.com mainmenu search
โดย 'อมยิ้ม'


     ก่อนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการเดินรถไฟเชื่อมประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในวันพฤหัสบดี (5 มี.ค.) ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เชิญ ‘เดลินิวส์ออนไลน์’ พร้อมคณะสื่อมวลชนไทย เดินทางไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง ที่ฝั่งลาว เพื่อทดสอบความพร้อมก่อนพิธีเปิดการเดินรถไฟด้วยขบวนปฐมฤกษ์ในวันดังกล่าว เพื่อกระชับสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้า-การลงทุน และการท่องเที่ยว

คณะสื่อมวลชน ออกเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ด้วยขบวนรถด่วนที่ 69 ล้อรถไฟเริ่มเคลื่อนตัวออกจากชานชะลาเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค.

     ระหว่างที่ม้าเหล็กมุ่งไปข้างหน้าตามเส้นทางของรางรถไฟ หลายร้อยชีวิตก็ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละโบกี้ บางคนรับประทานอาหารค่ำที่ปรุงสุกใหม่ ๆ จากตู้เสบียงของขบวน (สามารถเดินไปนั่งรับประทานที่ตู้เสบียง หรือสั่งมารับประทานบริเวณที่นั่ง ซึ่งพนักงานรถไฟ จะบริการตั้งโต๊ะให้ถึงที่) บางคนนั่งอ่านหนังสือ หยิบเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาเสียบหูฟัง ขณะที่บางคนพกพาเกมสนุก ๆ ชวนเพื่อน ๆ ล้อมวงเล่น



     ตกดึกเมื่อถึงเวลาเข้านอน พนักงานรถไฟจะมาปูที่นอนให้สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการแบบตู้นอนชั้น 2 โดยปรับแยกจากเก้าอี้กางให้เป็นเตียงนอนชั้นล่าง เปิดบ้านพับกางที่นอนชั้นบน (ถ้าเป็นแบบชั้น 1 จะมีลักษณะเป็นห้องส่วนตัว ส่วนชั้น 3 จะเป็นเพียงที่นั่ง)

ผ่านพ้นยามวิการณ์ที่ได้หลับใหล เช้าตรู่ก่อนรับประทานอาหารเช้าบนรถไฟ บางคนจะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่ห้องน้ำตามความสะดวก



     แม้การเดินทางถึงสถานีรถไฟหนองคายอาจจะล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากปัญหาหัวรถจักรที่ทำหน้าที่จูงโบกี้ต่าง ๆ ของขบวนชำรุดจึงต้องรอการแก้ไข แต่ในที่สุดคณะสื่อมวลชนก็เดินทางไปถึงเพื่อรอขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ ที่จะพาขึ้นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง ถึงสถานีรถไฟท่านาแล้งของฝั่งลาว ด้วยระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (ตั้งแต่สถานีรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง)



     ที่ฝั่งแผ่นดินลาว คณะสื่อมวลชนได้รับร้อยยิ้ม พร้อมคำกล่าวทักทาย ‘สบายดี’ (หมายถึง สวัสดี) จากพี่น้องชาวลาว ก่อนที่ไกด์สาวท้องถิ่นจะนำพวกเรานั่งรถบัสปรับอากาศแอร์เย็นฉ่ำชมทัศนียภาพ สภาพการจราจร ระหว่างทางก่อนถึงสถานที่สำคัญของลาวในเมืองเวียงจันทน์ นั่นคือ ‘ประตูชัย’ (หรือรันเวย์แนวตั้ง ที่เรียกเช่นนั้นเพราะการก่อสร้างได้ใช้ปูนที่อเมริกาซื้อไว้รอการก่อสร้างสนามบินใหม่ในเวียงจันทน์ แต่ไม่ทันได้สร้าง อเมริกาก็แพ้สงครามอินโดจีนเสียก่อน) อนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์



     ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของประตูชัย ได้รับอิทธิพลจากประตูชัยของกรุงปารีส ผสมผสานกับศิลปะลาวที่ปรากฏให้เห็นชัดเจน อาทิ พระพุทธรูปศิลปะลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้ง รวมทั้งบันไดวนขึ้นไปชมทิวทัศน์ที่ด้านบน



     กระทั่งเวลาราว 18.00 น. คณะสื่อมวลชนเดินทางโดยรถบัสกลับมายังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อขึ้นรถไฟเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร.


สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน

ขอขอบคุณ
ที่มา :
เดลินิวส์ออนไลน์ 17 มีนาคม 2552


H O M E
Create Date :17 มีนาคม 2552 Last Update :17 มีนาคม 2552 22:03:19 น. Counter : Pageviews. Comments :1