bloggang.com mainmenu search

คำแนะนำน่าสนใจเพื่อคุณผู้หญิงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังที่ว่ากันด้วยอันตรายจากยาทาเล็บ!

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

     โปรดทราบๆ คุณผู้หญิงทั้งหลายอย่าเพิ่งวางใจกับยาทาเล็บที่คุณใช้อยู่ทุกวี่ทุกวันว่าปลอดภัยหายห่วง เพราะของที่คุณใช้อยู่นั้นอาจมีสารอันตราย หรือสีห้ามใช้หรือโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอทปนเปื้อน เมื่อใช้ทาเล็บมือแล้วไปหยิบจับบริโภคอาหาร อาจสัมผัสกับปากเกิดการดูดซึมปนเปื้อนเข้าไปในร่างกายเป็นอันตราย หรือหากได้รับในปริมาณมากอาจไตวาย รวมทั้งทำลายเนื้อเยื่อสมองได้ และเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจปรามปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้เข้าจับกุมยาทาเล็บและผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บปลอมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

รู้แล้วหนาวแทนคุณผู้หญิงที่รักสวยรักงามจังเลย แต่อย่าเพิ่งกังวลใจมากไป เพราะเราเชิญ พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจากโรงพยาบาลผิวหนังอโศก มาแนะนำเกี่ยวกับยาทาเล็บอย่างคลุมเพื่อความปลอดภัย

ส่วนประกอบในยาทาเล็บ

พญ.ฐิตาภรณ์ กล่าวว่า ยาทาเล็บทั่วไปที่ใช้กันอยู่มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ไนโตรเซลลูโลส (Nitrocellulose) ฟอร์มาลดีไฮด์ เรซินโทลูอีน ไดบิวทิล พทาเลต โดยส่วนผสมในยาทาเล็บที่ควรระวังและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ได้แก่ ไดบิวทิล พทาเลต (Dibutyl Phthalate) เป็นสารที่ใช้ในยาทาเล็บเพื่อให้ทาได้ง่าย เรียบ มีความยืดหยุ่นดี ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็งและทำให้มีความผิดปกติในการคลอดพิการแต่กำเนิด จึงไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร (เนื่องจากทำให้มีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ในเพศชายได้)

ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารกันเสียที่ใช้ในน้ำยาเคลือบเงาเล็บ ทำให้ยาเคลือบเงาเล็บแข็งและเกาะกับเล็บได้ดีและนาน แต่ฟอร์มาลดีไฮด์ทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสได้ และโทลูอีน (Toluene) เป็นตัวทำละลายที่ผสมในน้ำยาเคลือบเงาเล็บเพื่อให้ทาได้ง่าย แต่ทำให้เกิดผื่นแพ้ได้และทำให้เกิดอาการบวมแดงเมื่อขยี้ตา การใช้นานๆ ติดต่อกันอาจทำให้เกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโต การทำงานของระบบประสาท ระบบอิมมูน และเป็นสารก่อมะเร็ง

“ยาล้างเล็บส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบสำคัญ คือ อะซีโตน (Acetone) เป็นตัวทำละลาย ทำให้เวลาเปิดแล้วเราได้กลิ่นฉุนๆ และเมื่อสูดดมติดต่อกันนานๆ จะทำให้เวียนศีรษะและเกิดอาการทางระบบประสาทได้ เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้เล็บเปราะบาง เนื้อเล็บขุ่นและขาดความเงางาม” คุณหมอผู้เชี่ยวชาญบอกส่วนประกอบยาทาเล็บที่ผู้ใช้ต้องรู้

การเก็บรักษาและวิธีใช้

คุณหมอแนะนำว่า ยาทาเล็บควรปิดฝาให้สนิทและเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อยืดอายุการใช้งานและเก็บในที่ๆ ปลอดภัยจากมือเด็ก เวลาก่อนจะใช้ให้นำออกมาวางทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนการใช้น้ำยาเคลือบเงาเล็บแบบใสทาทับยาทาเล็บเพื่อเคลือบให้เล็บเป็นเงา สวยงาม ลดการกร่อนและหักของเล็บ เมื่อทาแล้วต้องทิ้งไว้ให้แห้งนาน 15 นาที เนื่องจากถ้าเล็บยังไม่แห้งแล้วไปถูกผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายอาจเกิดการระคายเคืองได้ เมื่อยาทาเล็บแห้งสนิทแล้วมักจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ เพราะส่วนใหญ่จะแพ้สารที่ใช้เคลือบเล็บ ไม่ควรทาเล็บสีเข้มติดต่อกันนานๆ ควรสลับสีอ่อนบ้าง และหยุดพักการทาเล็บบ้าง

คุณหมอแนะนำอีกว่า เด็กอนุบาลหรือเด็กประถมไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาทาเล็บ เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้และระคายเคือง เมื่อเด็กๆ ใช้อาจนำมือไปขยี้ตาจะทำให้เคืองตา เปลือกตาแดงและบวมได้ ถ้าใช้ควรใช้น้ำยาทาเล็บในเด็กๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้บ้างเป็นครั้งคราว เลือกผลิตภัณฑ์ที่รับรองแล้วว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่มีกลิ่นฉุนเกินไป ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีในกลุ่มฟอร์มาลดีไฮด์ อะซีโตน พทาเลต และโทลูอีน

เคล็ดลับการเลือกซื้อ

พญ.ฐิตาภรณ์ แนะนำว่า การเลือกยาทาเล็บต้องอ่านฉลากด้านข้างขวด บอกส่วนประกอบที่ใช้ สถานที่ที่ผลิต และวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ยาทาเล็บปลอมหรือยาทาเล็บที่ไม่ได้มาตรฐานที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุผู้ผลิต อาจมีส่วนผสมของสีห้ามใช้ สารแปลกปลอมอันตราย เช่น สารตะกั่วที่ปนเปื้อนในยาทาเล็บ ซึ่งเมื่อใช้มือที่ทาเล็บไปรับประทานอาหารจะทำให้มีพิษของสารตะกั่วปนเปื้อนในร่างกาย เมื่อสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งในเด็กเล็กๆ ที่ชอบทายาทาเล็บ หากได้รับพิษตะกั่วจะมีอาการเบื่ออาหาร ซึมลง กระสับกระส่าย ถ้าได้รับพิษในปริมาณมากทำให้มีอาการทางระบบประสาท ชัก และหมดสติได้

นอกจากนี้ สีในยาทาเล็บส่วนใหญ่เป็นสีจากสารสังเคราะห์ ควรเลือกใช้สีที่ผลิตจากสารในธรรมชาติ การใช้น้ำยาล้างเล็บควรระวังอย่าให้โดนผิวหนังรอบๆ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ หลังทาแล้วควรล้างออก ไม่ควรทิ้งไว้นาน

“ก่อนจะตัดสินใจเลือกเครื่องสำอางที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาเล็บต้องเข้าใจถึงวิธีใช้ให้ละเอียด รวมถึงผลเสียที่ตามมาด้วยนะคะ สำหรับผู้ที่จะใช้การติดเล็บปลอมแทน หรือติดเพชรหรือเครื่องประดับที่ทำให้เล็บสวยขึ้นก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะมีสารเคมีจากกาวและผงอะครีลิกที่นอกจากจะดูดซึมเข้าไปในเนื้อเล็บทำให้เนื้อเล็บบางลง ยังทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน” แพทย์ผิวหนังเด็ก เน้นย้ำก่อนตัดสินใจซื้อ

การทำเล็บให้ถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม คุณหมอฐิตาภรณ์ยังได้แนะนำเกี่ยวกับการทำเล็บด้วยว่า ก่อนอื่นให้แช่มือแช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเป็นเวลา 2-3 นาที ซับให้แห้งและทาครีมบำรุงให้ความชุ่มชื้น เพื่อให้ผิวหนังบริเวณโคนเล็บไม่แห้ง แล้วจึงทำความสะอาดหนังหุ้มโคนเล็บ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือแข็งๆ ทำความสะอาดบริเวณหนังหุ้มโคนเล็บ เพราะอาจทำให้เล็บได้รับบาดเจ็บเกิดเป็นร่อง หรือสันนูนขึ้นได้

การตัดเล็บไม่ถูกวิธี คือ ตัดเล็บโค้งมากเกินไป เมื่อเล็บงอกใหม่จะงอกเข้าไปในหนังหุ้มเล็บข้างๆ ทำให้เกิดเล็บขบได้ ควรตัดเล็บเท้าให้ปลายเรียบเสมอกัน หรือไม่ต้องโค้งงอมากเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าที่หัวแหลมเกินไป และหลีกเลี่ยงรองเท้าที่ส้นสูงมากๆ เนื่องจากจะทิ้งน้ำหนักตัวมาด้านหน้าทำให้เล็บรับน้ำหนักมากขึ้น

การตะไบเล็บ ใช้ตะไบเล็บด้านที่เป็นเม็ดละเอียด ตะไบจากด้านข้างเข้าสู่ตรงกลางเล็บ ลักษณะโค้งไปกับนิ้ว อย่าตะไบจากตรงกลางออกไป การตะไบเล็บลึกไปจะทำให้เล็บฉีกขาดได้

การใช้ยาทาเล็บบ่อยๆ หรือสาวๆ ที่เปลี่ยนสีเล็บบ่อยๆ จะทำให้เล็บแห้งเปราะและแตกง่าย การดูแลรักษาทำได้ง่ายๆ คือรับประทานอาหารผัก ผลไม้ให้ครบ 5 หมู่ ก่อนนอนให้แช่มือลงในน้ำอุ่นสัก 50 นาที ซับน้ำให้แห้งหมาดๆ แล้วทาครีมบำรุงที่มือและเล็บ การสวมถุงมือขณะล้างจาน ซักผ้า หรือทำสวนจะช่วยลดอันตรายที่เกิดกับเล็บได้

การทายาทาเล็บ ให้ทายารองพื้นก่อน รอให้แห้งสนิท และทายาทาเล็บทับลงไป ไม่ควรทาซับกับหลายรอบเพราะจะทำให้เล็บหนา เหลืองง่ายขึ้นและล้างออกยาก ก่อนที่จะใช้ยาทาเล็บกลิ้งขวดบนฝ่ามือ จะทำให้สีเข้ากันและไม่เป็นฟองเหมือนการเขย่า

Credit : โพสต์ทูเดย์ 16 สิงหาคม 2554

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :29 สิงหาคม 2554 Last Update :29 สิงหาคม 2554 18:31:40 น. Counter : Pageviews. Comments :2