bloggang.com mainmenu search



"ผิวหนัง" เป็นอีกหนึ่งอวัยวะมหัศจรรย์ของมนุษย์

มีหน้าที่ที่สำคัญคือ 1.ห่อหุ้มร่างกายให้คงรูปร่างอยู่ได้ 2.ป้องกันอันตรายต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ความแห้ง-ชื้น เชื้อโรคต่าง ๆ 3.ควบคุมอุณหภูมิ โดยการทำงานของต่อมเหงื่อและขุมขน 4.รับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความเจ็บปวด ร้อน-หนาว รับน้ำหนักกดทับ 5.รับรู้และต่อต้านสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ด้วยระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิวหนัง" ...เป็นการระบุถึง "ความสำคัญของผิวหนัง" โดย นพ.จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

แต่ก็มีสารพัน "โรคทางผิวหนัง" ที่ประมาทไม่ได้ !!

ในบรรดาโรคทางผิวหนังที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น ที่คนไทยเป็นกันมากในปี 2550 ที่ผ่านมา อันดับต้น ๆ 10 ชนิด ก็ได้แก่... ผิวหนังอักเสบ, สิว, ความผิดปกติของสีผิวอื่น ๆ, ผิวหนังอักเสบชนิดมีไขมัน, กลาก, ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง, ผื่นภูมิแพ้สัมผัส, ลมพิษ, ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ และ "โรคสะเก็ดเงิน"

จากสถิติเฉพาะในส่วนของสถาบันโรคผิวหนัง เฉพาะที่เป็นผู้ป่วยนอก ในปี 2550 มีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 2,291 ราย เป็นลำดับ 6 ของโรคทางผิวหนังที่พบมาก 10 ชนิด รองจากผิวหนังอักเสบ, สิว, ความผิดปกติของสีผิวอื่น ๆ, ผิวหนังอักเสบชนิดมีไขมัน, กลาก ตามลำดับจากมากหาน้อย ดังที่ได้ระบุแต่ต้น

ขณะที่ในปี 2549 สถาบันโรคผิวหนังพบผู้ป่วยนอก 2,751 ราย เป็นลำดับ 4 จากจำนวนผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 74,681 ราย, ปี 2548 พบผู้ป่วย 3,024 ราย เป็นลำดับ 4 รองจากผิวหนังอักเสบ, สิว, ผิวหนังอักเสบชนิดมีไขมัน และปี 2547 พบ 3,400 ราย เป็นลำดับ 3 รองจากผิวหนังอักเสบ, สิว

ในแต่ละปีคนไทยเป็น "โรคสะเก็ดเงิน" กันไม่น้อย

และนี่ก็เป็นหนึ่งใน "โรคเรื้อรัง" ที่ไม่อาจมองข้าม !!

ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 29 ต.ค. 2551 นี้ทางสถาบันโรคผิวหนัง ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ จะมีการจัดกิจกรรม "วันสะเก็ดเงินโลก" ที่บริเวณลานชั้น 1 งานผู้ป่วยนอก และห้องประชุมเรณู โคตรจรัส ชั้น 6 โดยจะมีการสัมมนาเรื่องโรคสะเก็ดเงิน, นิทรรศการความรู้เรื่องโรคสะเก็ดเงิน ให้คำปรึกษาเรื่องโรคนี้, การรักษา, การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค, ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยารักษา รวมถึงวัดสภาพผิวฟรี, ตรวจวัดความดันฟรี และอื่น ๆ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าโรคสะเก็ดเงินมิใช่แค่โรคผิวหนังพื้น ๆ ที่ประชาชนคนไทยไม่ต้องใส่ใจก็ได้

"โรคสะเก็ดเงิน" หรือบางคนเรียก "โรคเกล็ดเงิน" "โรคเรื้อนกวาง" หรือในภาษาอังกฤษเรียกโรค "โซริอาซิส (Psoriasis)" นั้น ข้อมูลจากสถาบันโรคผิวหนังคือ... "โรคผิวหนังเรื้อรัง" พบได้ทุกเพศทุกวัย (ประมาณร้อยละ 1-3 ของคนทั่วไป) และพบว่าเป็นในคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก โดยสาเหตุอาจจะเป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้) หรือเกิดจากการที่ผิวหนังมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังยังไม่สมบูรณ์

อาการของโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่... เป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดเงินปกคลุม เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็ก ๆ ใต้ผิวหนัง จุดที่เป็น เช่น ข้อศอก หัวเข่า ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ กระจายทั่วร่างกาย ที่ศีรษะมีขุยขาว อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเล็บร่วมด้วย เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อนลอกเป็นขุยขาว หรือเป็นหลุมเล็ก ๆ บริเวณผิวเล็บ หรืออาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกำเริบของ โรค และผลข้างเคียงจากยา ซึ่งถ้าเป็นผื่นไม่มาก แพทย์อาจรักษาโดยการให้ยาทาบางกลุ่ม, วิตามินดี หรืออาจใช้ยาร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียง จึงไม่ควรซื้อมาทาหรือรับประทานเอง

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำทุกวันเพื่อลดอาการผิวแห้ง, ใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนังซึ่งจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ มากขึ้น, ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด เพราะโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ, อาหารไม่มีผลใด ๆ ต่อโรคนี้ อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ จะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่า ราวร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีการอักเสบของข้อหรือ "ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน" ร่วมด้วย อาจเป็นที่ข้อนิ้วมือ-นิ้วเท้า หรือข้อเท้า ข้อเข่า ซึ่งอาการทางผิวหนังจะยิ่งรุนแรงกว่าปกติ และการอักเสบของข้อก็อาจนำสู่โรคอื่นอย่าง "โรครูมาตอยน์" โรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง

และไม่เท่านั้น บางแหล่งข้อมูลระบุว่า ผู้เป็นโรคสะเก็ดเงินยังอาจเป็น "โรคเอสแอลอี" โรคที่เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเนื้อเยื่อของตนเอง เกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงผิวหนัง, ข้อ ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 50 จะมีอาการไตอักเสบร่วมด้วย อาจเกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตได้ อย่างรายของอดีตราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ จนมีการเรียกชื่อโรคเอสแอลอีว่า "โรคพุ่มพวง" ดังที่คนไทยคุ้น ๆ กัน

"สะเก็ดเงิน" เป็นอีกหนึ่งโรคที่ "รู้ไว้ใช่ว่า...อย่าประมาท"

ถ้ามันไม่ร้าย...ก็คงจะไม่มีการจัดงาน "วันสะเก็ดเงินโลก".


Credit : เดลินิวส์ออนไลน์
Pic : www.thaismartheart.blogspot.com

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :25 มิถุนายน 2553 Last Update :25 มิถุนายน 2553 17:27:40 น. Counter : Pageviews. Comments :0