เว็บเพื่อการเลี้ยงลูก,เว็บท่องเที่ยววังน้ำเขียว,สื่อสุขภาพ,ครอบครัวการเลี้ยงลูก,ทิปคอมพิวเตอร์
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
26 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
ทำอย่างไรลูกจึงจะแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย

ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งเกิดมานั้น แม้จะดูแข็งแรง และเติบโตเร็ว แต่ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการได้รับเชื้อโรคต่างๆ ถึงแม้ว่าคุณจะทนุถนอมเขาอย่างมากก็ตาม เขาก็ยังจะมีการเจ็บป่วยได้บ้าง ดังที่คุณพ่อคุณแม่จะเคยได้ยินคุณหมอของลูกพูดอยู่เสมอๆว่า การที่เด็กจะป่วยด้วยอาการหวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หูชั้นกลางอักเสบ ฯลฯ โดยประมาณ 6-8 ครั้ง ต่อปีนั้น เป็นสิ่งปกติของเด็กในวัย 0-3 ขวบปีแรก โดยที่การเจ็บป่วยแต่ละครั้ง ถ้าไม่ใช่เป็นการติดเชื้อที่ร้ายแรงจนเป็นอันตรายต่อลูก ก็จะช่วยฝึกฝนให้ระบบภูมิคุ้มกันของลูกนั้นแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะวิตกกังวล เกี่ยวกับเรื่องของโรคระบาดต่างๆ ที่มีปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี ให้เห็นกันแทบทุกวัน ทำให้เป็นห่วงว่าลูกจะเจ็บป่วยบ่อย จากการที่มีเชื้อโรคต่างๆ เต็มไปหมด จึงอยากทราบว่าจะมีวิธีทำอย่างไรให้ลูกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อยๆ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้คือ

*
ควรเลือกการเลี้ยงนมแม่ในช่วงเวลาที่ลูกยังเป็นทารก ให้ได้นานที่สุดเท่าที่คุณทำได้ (อย่างน้อย 6 เดือน) ส่วนประกอบของน้ำนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก จะมีน้ำนมเข้มข้นสีเหลืองๆ ที่เรียกว่า “โคลอสตรุม” ที่เป็นน้ำนมพิเศษ อันประกอบด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนและยังมีแอนติบอดีย์ซึ่งเป็นภูม
ิคุ้มกันสำหรับโรคทั่วๆไป ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเล็กนั้นเจ็บป่วยได้ง่ายนัก แม้ว่าหลังจากโคลอสตรุมจะหมดไปหลังจากนั้น น้ำนมแม่ก็ยังมีคุณสมบัติครบถ้วน และมีข้อดีที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เกิดปัญหาการแพ้นมวัวหรือแพ้นมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยพอควรในทารกที่ดื่มนมผสม สำหรับรายที่คุณแม่มีน้ำนมไม่พอ หรือเลือกที่จะใช้นมผสมเสริม ก็ควรพิจารณาเรื่องปัญหาการแพ้นมวัวด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติแพ้สิ่งต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะพิจารณาเลือกใช้นมวัวพิเศษสำหรับทารก ที่ทำสำหรับทารกที่แพ้นมวัว ที่เรียกว่า Hypoallergenic,( HA) เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาการแพ้นมวัว



*
เลิกสูบบุหรี่!!! พยายามอย่าให้มีควันบุหรี่ในบริเวณที่ลูกอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ หรือคนใกล้ชิด เพราะควันบุหรี่จะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมและปอด ของลูกได้มากเท่าๆกับของผู้ที่สูบ ซึ่งทำให้ลูกมีโอกาสเกิดโรคทางเดินหายใจต่างๆได้ง่าย เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ



*
พยายามรักษาสุขอนามัยในบ้านให้มีมาตรฐานสูง เช่น การหมั่นล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ และใช้กระดาษสะอาดในการเช็ดมือ ทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังการสั่งน้ำมูก หรือการเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือออกไปเล่นนอกบ้าน สอนลูกให้ไม่เอามือเข้าปาก หรืออมสิ่งของต่างๆ ที่ไม่สะอาด เมื่อออกไปธุระข้างนอกบ้าน ก็ควรจะเอาผ้าหรือกระดาษเช็ดมือชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (disposable) หรือใช้แอลกอฮอเจลสำหรับทำความสะอาดมือ เพื่อลดการสัมผัสเชื้อ ในการฝึกให้ลูกร่วมมือได้ง่ายขึ้นในการล้างมือ คุณอาจจะหาสบู่ก้อนแปลกๆเป็นรูปสัตว์ การ์ตูน ต่างๆ และหาผ้าหรือกระดาษเช็ดมือที่เด็กๆจะชอบ ก็จะทำให้ลูกๆ ยอมล้างมือกันได้ง่ายขึ้น



*
พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือมีคนหมู่มาก บางบ้านจะชอบพาลูกไปเดินชอบปิ้งตามศูนย์การค้า หรือไปเล่นในเพลย์กรุ๊ป ตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ ทำให้เด็กเล็กมีโอกาสรับเชื้อโรคต่างๆจากคนรอบข้างได้ง่าย ก็จะทำให้เด็กป่วยได้บ่อยๆ ที่จริงแล้วเด็กสามารถออกจากบ้านมาออกกำลังกายมารับอากาศบริสุทธิ์ ที่มีการถ่ายเทดี เช่น เดินในสวนของหมู่บ้าน หรือ สวนสาธารณะ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะถือโอกาสออกกำลังกายกลางแจ้งไปด้วย ทำให้ทุกคนมีสุขภาพดี



*
เอาใจใส่กับอาหารที่ทาน นอกจากความอร่อยน่ารับประทานแล้ว ต้องดูถึงความสะอาดปราศจากเชื้อ และปลอดสารพิษด้วย อย่าได้เข้าใจว่าจะมีอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่พิเศษมาก ที่จะทำให้คุณและลูกแข็งแรงไม่เจ็บป่วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันของคนเรานั้นมีความซับซ้อนและพิเศษอย่างมาก การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และได้สมดุลทางโภชนาการเท่านั้น ที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงสามารถรับมือกับเชื้อโรคต่างๆ ได้ ควรสอนให้ลูกทานผักและผลไม้สดด้วย เช่น แครอท มะเขือเทศ ผักใบเขียวต่างๆ ถั่วนานาชนิด ฯลฯ นอกจากจะได้ไวตามิน ซี และคาโรทีนอยด์ (carotenoids) และยังมีสาร phytonutreints ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา และยังพบว่า phytonutreints นี้ยังอาจจะมีส่วนในการป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย



*
พยายามให้ลูกมีเวลานอนที่เพียงพอ อย่างที่ทุกคนทราบกันว่า การอดนอน นอกจากจะทำให้คนเราอ่อนเพลียแล้ว ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันนั้นอ่อนแอลง โดยทำให้การทำงานของ เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น natural killer cells ที่จะคอยทำลายเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็ง มีจำนวนลดลง โดยปกติร่างกายคนเราต้องการการนอนหลับพักผ่อน เพื่อทำการซ่อมบำรุงร่างกายและทำให้การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายได้เตรียมตัวสะสมพลังในช่วงนอน เพื่อจะออกมารับมือกับสิ่งต่างๆ ต่อไปในแต่ละวัน แต่จะพบว่าเด็กไทย หลายคนจะได้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะปัญหาการจราจรติดขัด และการเรียนที่ค่อนข้างหนัก รวมทั้งการเรียนพิเศษอย่างไม่มีวันหยุด และแม้แต่เด็กเตรียมอนุบาลหลายโรงเรียน ที่มีกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนมาก ก็ทำให้เด็กเพลิดเพลินจนไม่ยอมนอนกัน ในตอนกลางวัน และหลายคนก็เข้านอนยากในตอนกลางคืนด้วย ดังนั้นคุณจึงควรฝึกลูกให้เข้านอนแต่หัวค่ำ และได้มีการนอนที่พอเพียงตั้งแต่เล็ก จะทำให้ลูกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และไม่ค่อยเจ็บป่วย



*
พยายามให้ลูกได้รับวัคซีนต่างๆ ตามเกณฑ์อายุ อาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้กับเชื้อโรคที่ร่างกายใช้ คือ ภูมิต้านทาน แต่ภูมิต้านทานต่างๆ ของลูกนั้นไม่ใช่อยู่ๆ จะมีขึ้นมาได้เอง แต่จะต้องเกิดจากการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และร่างกายพยายามสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ ถ้าร่างกายแพ้ ก็จะเจ็บป่วยหนัก ต้องการช่วยเหลือโดยการรักษาด้วยยาต่างๆ เช่น ยาปฎิชีวนะ ฯลฯ แต่หลายต่อหลายครั้งที่เชื้อโรคจะสามารถลุกลามในร่างกายได้อย่าง
รวดเร็ว หรือ ไม่มียาที่จะใช้รักษาเชื้อร้ายชนิดนั้นๆ จึงจะต้องพึ่งการให้วัคซีน (ถ้ามีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโรคนั้นๆ) ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของคนๆ นั้น มีความสามารถในการต่อสู้และขจัดการติดเชื้อนั้นออกไปจากร่างกาย ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กในปัจจุบันจะไม่เป็นโรคโปลิโอ หรือ โรคคอตีบ เพราะปัจจุบันนี้เด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ตามมาตรฐาน
ขององค์การอนามัยโลก

วัคซีนพิเศษบางชนิด แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์วัคซีนภาคบังคับของกระทรวงสาธารณสุข เพราะที่กระทรวงประกาศไว้นั้นเป็นแค่วัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควร
ได้รับ เช่นวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ เอ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ฯลฯ ก็เป็นวัคซีนที่ดี และสามารถป้องกันลูกจากโรคต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงควรพิจารณาให้ลูกได้รับวัคซีนเหล่านี้ด้วย โดยการปรึกษากับแพทย์ประจำของลูก



*
อย่าพยายามรักษาลูกเอง ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในบางครั้งถ้าดูแลไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาการเจ็บป่วยที่ลุกลามได้ และอย่าพยายามกดดันแพทย์ประจำของคุณ ในการใช้ หรือไม่ใช้ยาบางอย่าง เช่น การตัดสินใจใช้ยาปฎิชีวนะ ควรให้การพิจารณาเลือกวิธีการรักษา เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ มากกว่าความรู้สึก อยากหรือไม่อยากใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการดูแลผู้ป่วยนั้นต้องใช้การคิดคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ หลายด้าน เช่น ชนิดของเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุ โอกาสที่เชื้อดื้อยา โอกาสที่เชื้อจะมีการลุกลามเร็ว การแพ้ยา หรือการมีปฎิกริยาไม่พึงประสงค์อื่นๆ รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องนำมาใช้ประกอบในการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับสภาวะการเจ็บป่วยที่ลูกเป็นอยู่



นอกจากนี้ คุณควรจะหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองและโรคต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงอาการ อาการแสดง และแนวทางการรักษา อาจโดยการสอบถามจากแพทย์ผู้ดูแลและหาอ่านเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณและลูกมีสุขภาพที่ดีและไม่ค่อยเจ็บป่วยได้เช่นกัน


Create Date : 26 มิถุนายน 2551
Last Update : 26 มิถุนายน 2551 13:14:50 น. 1 comments
Counter : 911 Pageviews.

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: radakorn IP: 58.64.101.26 วันที่: 11 มกราคม 2554 เวลา:19:29:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

fnhero125
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add fnhero125's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.