เว็บเพื่อการเลี้ยงลูก,เว็บท่องเที่ยววังน้ำเขียว,สื่อสุขภาพ,ครอบครัวการเลี้ยงลูก,ทิปคอมพิวเตอร์
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
13 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
การดูแลคุณแม่ลูกอ่อน

นับแต่วินาทีแรกที่สมาชิกใหม่ของครอบครัวออกมาสู่โลกภายนอกคุณแม่ลูกอ่อนก็ได้เริ่มบทบาทของการเป็นแม่อีกขั้นหนึ่งแล้ว แต่อย่าห่วงลูกจนละเลยตัวเองเพราะสุขภาพของคุณแม่ก็สำคัญไม่แพ้สุขภาพลูก การคลอดมีผลต่อผู้เป็นแม่หลายอย่าง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจด้านร่างกายเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับไปสู่สภาวะเดิมก่อนตั้งครรภ์ส่วน

ด้านจิตใจก็นับว่าเป็นเรื่องท้าทายความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต หากเข้าใจและใส่ใจดูแลจะช่วยลดปัญหาต่างๆ และสามารถต้อนรับสมาชิกใหม่ได้เต็มที่เพื่อชีวิตครอบครัวที่มีความสุข

เมื่อไรประจำเดือนจะมา

ส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนในระยะ 7 เดือนหลังคลอดแต่บางคน 2 เดือนครึ่ง ก็เริ่มมีแล้วผู้ที่ให้นมลูก
ประจำเดือนจะมาช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้ให้นมลูกหรือผู้ที่ลูกหย่านมเร็ว

มดลูก

การเปลี่ยนแปลง: หลังคลอดใหม่ๆ กล้ามเนื้อมดลูกจะยังไม่หดตัวลงทันทีและยังมีเศษของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งหนาตัวระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งเลือดด้วย แต่จะค่อยๆ ลดลงซึ่งจะกินเวลาประมาณ 10-12 วันจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือที่เรียกกันว่ามดลูกเข้าอู่และหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ก็จะมีขนาดปกติเท่ากับช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์

การดูแล: อย่าเพิ่งยกของหนักในช่วงเดือนแรก เริ่มบริหารร่างกายเบาๆ ได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกหลังคลอดเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระบังลม และผนังช่องคลอดแข็งแรงจะได้พยุงมดลูกกลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น

ช่องคลอดและฝีเย็บ

การเปลี่ยนแปลง: ตอนคลอดช่องคลอดจะขยายเพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาได้โดยมีการฉีกขาดบ้างเล็กน้อยสูติแพทย์มักจะตัดฝีเย็บเพื่อป้องกันการฉีกขาดมาก เมื่อลูกออกมาแล้วจะเย็บซ่อมแซมให้ เรียบร้อยด้วยไหมสีดำหรือ สีขาว จากนั้น 5-6 วันจึงตัดไหมให้เว้นแต่จะใช้ไหมละลาย

การดูแล: แผลในช่องคลอดอาจจะบวมเล็กน้อยทำให้นั่งลำบาก หมอจะให้ยาแก้ปวด อาการจะทุเลาใน 3-4 วัน

จริงหรือไม่ หลังคลอดใหม่ๆ ห้ามลุกขึ้นยืนเดินมาก

เพราะจะทำให้มดลูกเคลื่อนต่ำแก่ตัวไปจะปวดศีรษะปวดหลังเป็นภูมิปัญญาไทยที่ฉลาดให้คุณแม่หลังคลอดได้ดูแลสุขภาพตัวเอง เนื่องจากสมัยก่อนหมอตำแยไม่ได้เย็บช่องคลอดที่ฉีกขาดเพราะการคลอด จึงให้คุณแม่ต้องอยู่ไฟประมาณ 10 วันโดยให้นอนบนกระดานแผ่นเดียวจะได้หนีบขาสองข้างไว้เพื่อให้แผลติดกันได้พร้อมผิงไฟให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นแต่ปัจจุบันแพทย์ตัดและเย็บแผลช่องคลอดให้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนอนนิ่งๆ นานๆ เพราะจะทำให้น้ำคาวปลาไหลไม่สะดวกทำให้มีโอกาสติดเชื้ออักเสบในโพรงมดลูก

ระบบขับถ่าย

การเปลี่ยนแปลง: คุณแม่ที่เพิ่งคลอดมักจะไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่กล้าเบ่งอุจจาระ ไม่อยากปัสสาวะเพราะกลัวเจ็บแผลหลายคนจึงท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวาร การกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และมดลูกลอยตัวสูงไม่หดตัว อันเป็นสาเหตุของการตกเลือดหลังคลอดได้มาก

การดูแล: พยายามกินอาหารที่มีกากนิ่มเช่น ข้าวกล้อง ส้ม กล้วย มะละกอและ ดื่มน้ำมากๆ ถ้าให้นมลูกไม่ควรกินยาระบายหากเป็นริดสีดวงควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะให้ยาลดการบวมอักเสบโดยให้ยาทา หรือยาเหน็บเวลานั่งให้นมลูกควรหาเบาะรองนั่งนุ่มๆ หรือจะใช้ห่วงยางเล่นน้ำเป่าลมให้เต็มแล้วรองนั่งในขณะให้นมลูกจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้

น้ำหนักตัวและรูปร่าง

การเปลี่ยนแปลง: หลังคลอดวันแรกน้ำหนักตัวคุณแม่จะลดลงประมาณ 6 กก. แต่รูปร่างนั้นยังคงดูตุ้ยนุ้ยเหมือนยังตั้งครรภ์อยู่ ผนังหน้าท้องยังหย่อนยานความเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลหายไป ผิวหนังบริเวณหน้าท้องมีรอยเหี่ยวย่น
และลายน้ำหนักจะลดลงเรื่อยๆ จนถึง6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่แพทย์นัดให้ไปตรวจร่างกาย ในตอนนั้นคุณแม่ควรมีน้ำหนักเท่าตอนก่อนตั้งครรภ์หรืออาจเกินได้2-3 กิโลกรัม

การดูแล: ควรควบคุมอาหารให้เหมาะสม เลือกกินแต่อาหารที่มีคุณค่าและหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงรูปร่างและผิวพรรณก็จะกลับคืนมาดีได้ดังเดิมแต่ไม่ควรยกของหนักหรือทำงานหนักๆ ในช่วงเดือนแรก
หลังคลอดการทาครีมบำรุงผิวช่วยแก้ปัญหาท้องลายได้บ้าง

ปัสสาวะไม่ออก ทำอย่างไร

ช่วง 1-2 วันแรกคุณแม่มักจะมีปัญหาการถ่ายปัสสาวะ เพราะเวลาคลอดท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะถูกศีรษะเด็กกดอยู่ ทำให้บวม อย่างไรก็ดีควรพยายามถ่ายออกมาให้ได้เพื่อไม่ให้ปัสสาวะค้างอยู่มาก จะทำให้มดลูกลอยตัวสูงไม่หดตัวพลอยให้เกิดอาการตกเลือดหลังคลอดได้การดื่มน้ำมากๆ อาจช่วยได้

ตกเลือดหรือน้ำคาวปลา

การเปลี่ยนแปลง: จะมีเนื้อเยื่อและเลือดขับออกมาหลังคลอดในระยะแรกมีสีแดงสดจำนวนค่อนข้างมาก แล้วจะลดปริมาณลงเรื่อยๆ สีจะจางลงจนเป็นสีน้ำล้างเนื้อ เรียกว่าน้ำคาวปลาและกลายเป็นมูกเหลืองๆในที่สุดซึ่งจะกินเวลา 2-3 อาทิตย์ บางคนอาจนานถึงเดือนได้

การดูแล: 2-3 วันแรกควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ รักษาความสะอาด ตามปกติแพทย์อาจฉีดยาให้มดลูกหดตัวทำให้เสียเลือดน้อยลง ถ้าหลังคลอดมากกว่า 24 ชั่วโมง ไปจนถึง 6 สัปดาห์ ยังมีเลือดออกพร้อมกับมีไข้ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น และมีอาการปวดท้องน้อยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจมีการอักเสบหรือตกเลือดมากผิดปกติ

ออกจากห้องคลอดแล้ว รู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ ตัวรุมๆ และหนาว

ช่วง 1 ชั่วโมงหลังคลอด คุณแม่อาจมีอาการดังกล่าวได้ เป็นเรื่องธรรมดาเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิตระหว่างคลอด แต่หากในวันต่อมายังมีอาการเช่นนั้นอยู่อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น เป็นหวัด
ทางเดินปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ หรือแผลที่เย็บไว้อักเสบให้ปรึกษาคุณหมอค่ะ

อารมณ์แปรปรวน

การเปลี่ยนแปลง: คลอดลูกเสร็จแล้วแทนที่จะโล่งอก กลับรู้สึกอยากร้องไห้หงุดหงิดนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เหล่านี้เป็นอาการซึมเศร้าเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่วันที่ 3 หลังคลอดไปจนถึง 2 สัปดาห์แรก อาจจะเกิดจากความเหนื่อยความวิตกกังวลและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

การดูแล: ควรทำใจให้สบาย พยายามลดความเครียดอย่ากังวลอาการเหล่านั้นจะหายได้เองควรแบ่งภาระต่างๆ
ให้คนรอบข้างช่วยบ้างจะได้มีเวลาทำกิจกรรมส่วนตัวและพักผ่อนได้เต็มที่ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน หรือญาติสนิทที่มีประสบการณ์การคลอดบุตรมาแล้วอาจช่วยให้คุณผ่อนคลายได้


การบริหารร่างกาย

การบริหารร่างกายหลังคลอด

ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องที่ถูกยืดออกมาหลายเดือนระหว่างตั้งครรภ์และกล้ามเนื้อรอบผนังช่องคลอดซึ่งถูกยืดออกมาตอนคลอดหดตัวกลับสู่สภาพปกติมากที่สุด จะป้องกันไม่ให้ช่องคลอดหย่อน กระบังลมเคลื่อนช่วยลดไขมันที่สะสมตามโคนขาสะโพกและหน้าท้อง และแก้ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่รวมทั้งอาการปวดหลังได้

ข้อควรปฏิบัติ

1. บริหารร่างกายเป็นประจำ ช่วงเช้า 15 นาที ช่วงเย็น 15นาที อย่างน้อย 3 เดือน
2. ผู้ที่คลอดเองตามธรรมชาติ บริหารร่างกายได้เลยหลังคลอด 2-3 วัน
3. ผู้ที่ผ่าตัดคลอดควรรอให้ครบเดือนก่อน
4. ขมิบช่องคลอดหรือทวารหนัก (เหมือนกำลังถ่ายปัสสาวะเสร็จ) บ่อยๆ เป็นการบริหารช่องคลอดที่ทำได้ใน
ทุกอิริยาบถโดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรก
5. ขณะฝึกให้ผ่อนลมหายใจยาวๆ

ข้อควรระวัง

1. บริหารร่างกายด้วยท่านั่งนานๆ ท่ายืน ท่ากระโดดในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด
2. ยกของหนัก
3. หักโหม เร่งรัดเกินไป
4. ใช้ท่ายากเกิน จะทำให้เจ็บกล้ามเนื้อและไม่อยากทำอีก
5. กลัวว่าแผลฝีเย็บจะปริแตก

ตัวอย่างท่าบริหารง่ายๆ

1. นอนยกก้น

ประโยชน์: บริหารกล้ามเนื้อขา ต้นขา หน้าท้อง สะโพกและช่วยให้กล้ามเนื้อช่องคลอดบริเวณฝีเย็บหดตัวดีขึ้น
วิธีปฏิบัติ: นอนหงาย แขนแนบลำตัว ชันเข่าทั้งสองเป็นมุมฉากชิดกัน เท้าวางราบและห่างก้นพอสมควร ยกสะโพกขึ้นโดยใช้ไหล่ยัน พยายามหนีบกล้ามเนื้อสะโพก

2. แตะเข่า

ประโยชน์: บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง และเชิงกราน
วิธีปฏิบัติ: นอนหงาย ชันเข่าขวาขึ้น เอื้อมมือซ้ายไปแตะเข่าขวา โดยยกไหล่ และศีรษะขึ้นด้วย ค้างสักครู่จึงกลับสู่ท่าเริ่มแล้วสลับข้างทำ ทำ 5 ครั้ง วันละ 2 รอบ ค่อยๆ เพิ่มจนถึงรอบละ 20 ครั้ง

เมื่อเจ้าตัวเล็กป่วยไข้

เด็กตัวน้อยออกมาเผชิญกับโลกภายนอกต้องปรับตัวมากมายหลายอย่าง ทั้งการกิน การนอน การเรียนรู้
และพัฒนาต่างๆ นานา แล้วยังต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บอีก ความที่เด็กยังบอกเล่าเกี่ยวกับตัวเองด้วยการสื่อภาษาคำพูดไม่ได้ คุณแม่จึงต้องคอยสังเกตอากัปกิริยาและการแสดงออกซึ่งบางครั้งก็สื่อไม่ตรงกันยิ่งทำให้คุณแม่กังวลเข้าไปใหญ่ บางครั้งคิดไปเลยเถิดทั้งที่เป็นอาการปกติ

ความจริงเด็กเล็กยังไม่เจ็บไข้อะไรมาก เพราะธรรมชาติดูแลให้ลูกได้รับการถ่ายทอดภูมิคุ้มกันจากแม่ตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งคลอดออกมาก็ยังติดตัวอยู่ โดยเฉพาะถ้าลูกกินนมแม่ด้วยแล้วปัญหาหลายอย่างจะหมดไป
เช่น ท้องเสีย ท้องผูก เพราะการให้นมขวดหากไม่ระวังเรื่องความสะอาดก็ทำให้ท้องเสียถ้านมเข้มข้นไปจะทำให้ท้องผูก

ตัวร้อน
ถ้าลูกตัวอุ่นๆ อาจจะหายเองได้แค่วันสองวันก็กลับมาสดใสร่าเริงเหมือนเดิมโดยไม่ต้องกินยาลดไข้แต่ถ้าไข้
เริ่มสูงขึ้นเด็กจะหงุดหงิด ขาดน้ำ และกระสับกระส่าย โยเย มีน้อยรายที่ถึงขั้นชัก โดยทั่วไปเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนจะไม่เกิดอาการชักจากตัวร้อน

วิธีดูแลลูกเวลาตัวร้อน
อย่าใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่อหุ้มตัวเด็กมากเกินไป ความร้อนจากตัวจะระบายออกได้ยาก ให้ดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และเป็นการระบายความร้อนออกทางไต เช็ดตัวเพื่อลดไข้ด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำประปา ถ้าไข้ยังไม่ลด
ให้ยาลดไข้สำหรับเด็กตามคำแนะนำของแพทย์

ถ้าให้ยาลดไข้ไปแล้วควรรอ 1 ชั่วโมงจึงค่อยเช็ดตัว เพราะถ้าเช็ดตัวเด็กจะมีอาการสั่น และไข้จะกลับสูงมากขึ้นเมื่อหยุดเช็ดตัว ถ้าเด็กหลับอย่าปลุกขึ้นมาวัดไข้ หรือให้ยา การนอนพักสำคัญกว่า

เป็นหวัด
มีอาการไอ และน้ำมูกไหล เด็กเล็กอาจจะไอหรือเป็นหวัดเฉลี่ยปีละประมาณ 6 ครั้ง ควรให้กินน้ำ
และนอนพักมากๆ ถ้าตัวร้อน เจ็บคอ หรือปวดหัวให้กินยาลดไข้สำหรับเด็ก เด็กที่ไอและน้ำมูกไหลบ่อยมาก
อาจจะเป็นโรคภูมิแพ้

ท้องผูก
เด็กอาจจะไม่ต้องถ่ายทุกวัน แต่ถ้าอุจจาระแข็งและแห้งเจ็บเวลาถ่าย และถ่ายยากแสดงว่าลูกท้องผูก ควรให้กินน้ำมากๆ ถ้าลูกเริ่มรับประทานอาหารเสริมแล้วให้จัดอาหารที่มีกากใยเพียงพอ เพิ่มปริมาณน้ำส้มคั้น หรือน้ำลูกพรุนให้ลูกทีละ 2 ช้อนชาทุกวัน อย่าให้ยาระบายเองควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ถ่ายเหลว
การถ่ายเหลวหรือท้องเสียอาจเกิดจากการติดเชื้อการแพ้อาหารบางชนิด (เช่นอาหารเสริม) ร่างกายไม่สามารถ
ดูดซึมน้ำตาลจากอาหารหรือแม้กระทั่งมีความเครียด ถ้าลูกกินนมแม่ให้ระวังอาหารที่คุณแม่ทานอาหารรสจัดใส่พริกไทยหัวหอม และมะเขือเทศมากไปจะทำให้เด็กท้องเสีย ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน มีอาการท้องร่วงติดต่อกันนานเกินครึ่งวัน ควรพาไปพบแพทย์

อาหารไม่ย่อย
เด็กเล็กบางคนมีปัญหาเรื่องการย่อย อาจเป็นเพราะระบบย่อยอาหารยังปรับตัวไม่ได้ ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง
แหวะนมบ่อย ถ่ายเหลวลองอุ้มลูกนั่งตรงลูบหลังเบาๆ ให้เรอหรือผายลมออกมาเด็กจะเรอหรือแหวะเมือกนมออกมาด้วย ถ้าเด็กดูปวดท้องมากให้นอนพัก ดื่มแต่น้ำ (หยุดให้อาหาร) หากเป็นนานเกิน 4 ชั่วโมงควรพบแพทย์

อาเจียน
เด็กอาจจะเรอหรือแหวะนมออกมาถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าอาเจียนออกมาไม่มากนักแต่ตลอดทั้งวัน อาจเกิดจากการบีบเกร็งของหลอดอาหารส่วนล่าง ให้ลูกนั่งเก้าอี้เข็นสำหรับเด็กอ่อนหลังกินนมและ ไม่ควรไล่ลมแรงเกินไป
ถ้าอาเจียนออกมาเป็นน้ำสีเขียว อาเจียนพุ่ง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่นท้องเสียมีไข้และแสดงความเจ็บปวดควรพาไปพบแพทย์

ปื้นขาวในปาก
ปื้นขาวตามกระพุ้งแก้มและลิ้นเกาะติดแน่นอยู่เกิดจากเชื้อรา เพราะหัวนมไม่สะอาดแพทย์จะให้ยาหยดใส่ปาก หรือยาป้ายปาก หลังดูดนมแล้วคุณแม่ควรให้ดูดน้ำต้มสุกช่วยชำระล้างคราบนมป้องกันเชื้อรา มาเกาะเจริญเติบโตและให้ดูแลความสะอาดของหัวนมด้วย

ตาแฉะ
เด็กแรกเกิดอาจจะมีขี้ตาขาวๆ ดูเหมือนตาแฉะเกิดจากปฏิกิริยาต่อสารที่ใช้หยอดตา ตอนแรกเกิดเพื่อป้องกันโรคหนองในและเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ตาเด็ก แต่ถ้าตาบวม ขี้ตาสีเหลือง ตาขาวเริ่มอักเสบแดง แสดงว่าติดเชื้อและอักเสบ ต้องรีบพาไปพบแพทย์

ร้องโคลิก
เด็กบางคนร้องไห้หนักเป็นเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุและปลอบเท่าไรก็ไม่หยุด บางคนร้องจ้าแขนขาเกร็งหรืองอเข้าหาลำตัว อาการเช่นนี้เรียกว่า โคลิก ซึ่งไม่ใช่อาการเจ็บป่วยหรือเสียดท้องเนื่องจากระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่ดีปกติอาการนี้จะหายไปเมื่อทารกอายุขึ้น 3 เดือนแต่บางคนเป็นถึง 6 เดือน

คุณแม่ช่วยลูกได้โดยเอาลูกอุ้มซบบ่าพาเดินเล่นอ้อมกอดที่กระชับและเสียงปลอบโยนของคุณแม่จะผ่อนคลายให้ลูกได้บ้าง ถ้าอาการเกิดหลังจากให้อาหารเสริมควรหยุดอาหารเสริมก่อนเพราะลูกอาจแพ้อาหารนั้น

วิธีนี้อาจช่วยเด็กร้องโคลิกได้
เด็กที่ร้องโคลิกอาจช่วยได้ด้วยการนอนคว่ำ คุณแม่อาจจะลองให้ลูกนอนคว่ำทับกระเป๋าน้ำอุ่น แล้วคุณแม่เอามือลูบหลังเบาๆ อย่าลืมตรวจกระเป๋าน้ำอุ่นก่อนว่าไม่ร้อนจัด ใช้ผ้าขนหนูพันรอบ กันไม่ให้ผิวเด็กโดนความร้อนจัดปิดจุกกระเป๋าให้แน่นด้วย

ผื่นที่แก้ม
ผิวเด็กอ่อนใสเป็นผื่นที่แก้มง่ายมากถ้าลักษณะเป็นตุ่มขาวเล็กๆ ไม่มีรอยแดงรอบๆ สีคล้ายไข่มุกขนาดจิ๋ว
เมื่ออายุมากขึ้นผื่นนี้จะหายไปเองไม่ต้องทำอะไรใช้ยาก็ไม่ได้ผลแต่ถ้ามีลักษณะแดงและแห้งมักจะเป็นในหน้าหนาวไม่ควรให้อาบน้ำร้อนผิวจะยิ่งแห้งแตก

ถ้าเป็นหน้าร้อน ผดผื่นจะลามไปตามไหล่ หน้าอก ใบหน้าและลำตัว คุณแม่ควรอาบน้ำให้บ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กอ้วนมีเหงื่อท่วมตัวตลอดเวลาให้อาบน้ำแล้วปะแป้งใช้ดินสอพอง แก้ผดผื่นได้ดีหรือใช้แป้งเด็กที่ไม่ฟุ้งกระจายเพราะจะทำให้เป็นฝุ่นผงเข้าในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดภูมิแพ้ได้ จึงแนะนำให้ใช้แป้งที่มีเนื้อหนัก
และช่วยลดอาการผดผื่นโดยตรงแล้วใส่เสื้อผ้าป่านบางๆ หรือไม่ต้องใส่ก็ได้ ถ้าคันมากใช้คาลาไมน์ขององค์การเภสัชกรรมทาแก้คัน

นอกจากนี้บางคนยังแพ้นมวัวเป็น "ขี้กลากน้ำนม" ผื่นแดงเยิ้มทั้งสองแก้ม บางครั้งมีน้ำเหลืองด้วยเป็นเรื้อรังไม่หายสักทีแพทย์จะให้ยาแก้แพ้ถ้าอักเสบจะให้ยาแก้อักเสบด้วย หรือ เปลี่ยนนมเป็นชนิด HA สักระยะก่อนซึ่งอาการนี้พบมากในครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ต่อไปจะหายเองได้

ตาเข
เวลามองของที่อยู่ใกล้ตาเด็กอ่อนโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกอาจมีตาดำเขเข้าข้างในหรือออกข้างนอกได้เพราะกล้ามเนื้อตายังทำงานไม่ดีคุณแม่ไม่ต้องกังวลเมื่ออายุมากขึ้นตาสองข้างจะมองตรงเป็นปกติเองได้แต่ถ้าลูกตาเขตลอดเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์แม้ว่าเด็กจะอายุเพียง 1 เดือน ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนโตจะมีผลเสีย เด็กจะมองเห็นของเป็น 2 สิ่งทำให้สับสนมาก สมองจะสั่งการให้ลืมภาพจากตาข้างหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพเดียว
นานเข้าตาข้างนั้นจะเกรับภาพได้ แต่สมองไม่รับเลยกลายเป็นตาบอดทั้งที่ไม่ได้บอดจริง

จักษุแพทย์อาจจะแก้ไขโดยปิดตาข้างที่ดีก่อนปล่อยให้ข้างที่ไม่ค่อยยอมทำงานได้ทำงานหรือให้เด็กใส่แว่นตาปิดมุมตาด้านใน ถ้าตาเขเข้าใน เพื่อบังคับให้ตาดึงตาดำกลับมามองตรงๆ แพทย์จะพยายามแก้ไขหลายวิธีก่อนจะตัดสินใจผ่าตัด คุณแม่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อตาของลูกให้ทำงานดีขึ้นได้ด้วยการกระตุ้นตาข้างที่ไม่ปกติให้ทำงานมากขึ้น เช่น เอามือปิดตาข้างที่ใช้งานได้ดีแล้วเขย่าของเล่นหรือทำให้เกิดเสียงด้านที่ต้องการให้มอง

นอกจากนี้ไม่ควรแขวนของเล่นบนเตียงตรงกลางจมูกเด็กจะจ้องของเล่นจนตาเข ควรแขวนเลยไปข้างหน้าระยะไกลพอจะที่เด็กเอื้อมถึง

ยาลดไข้ที่หมอให้มาเขียนไว้ว่ารับประทานทุก 6 ชั่วโมง

แต่ลูกกินแล้วไข้ยังไม่ลดเสียที จะให้ซ้ำก่อนเวลาได้หรือไม่
ยาจะออกฤทธิ์หลังรับประทานไปครึ่งชั่วโมงถ้าไข้สูงมากอาจให้ทุก 4 ชั่วโมงได้และหลังจากให้ยาแล้ว 1 ชั่วโมงไข้ยังไม่ลดให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเมื่อไข้ลดแล้วไม่จำเป็นต้องให้อีก เพราะเด็กอาจจะได้รับยาเกินขนาด ถ้าเป็นยาพวกแอสไพรินอาการของการได้รับยาเกินและเป็นพิษคือ กระสับกระส่าย อาเจียน ซึม หายใจเร็ว หายใจขัดไข้กลับสูง จนถึงชักหมดสติ ส่วนยาประเภทพาราเซตามอลจะเกิดช้ากว่า มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก ตัวเหลือง ตับวายหมดสติ และชัก ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์

เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูก

ถึงแม้เด็กเล็กจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่ แต่ก็ยังต้องได้รับวัคซีนหลายอย่างเพื่อป้องกันโรคร้ายแรง เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งกุมารแพทย์ที่ดูแลเด็กแรกคลอดจะย้ำเตือนคุณแม่เสมอให้พาลูกมารับวัคซีนตามกำหนด

กำหนดการให้วัคซีน

อายุ วัคซีน
แรกเกิด บีซีจี (ป้องกันวัณโรค) ตับอักเสบ บี ครั้งที่ 1
2 เดือน ไวรัสตับอักเสบครั้งที่ 2, โปลิโอ คอตีบ ไอกรน และ บาดทะยัก ครั้งที่ 1, ไข้สมองฮิบ ครั้งที่ 1
4 เดือน โปลิโอ คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ครั้งที่ 2, ไข้สมองฮิบ
ครั้งที่ 2
6 เดือน โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบ ครั้งที่ 3
1 ปี หัด หัดเยอรมัน คางทูม ครั้งที่ 1, ไข้สมองฮิบ ครั้งที่ 3
1 ปี 1 เดือน ไข้สมองอักเสบ ครั้งที่ 1
1 ปี 1/2 เดือน ไข้สมองอักเสบ ครั้งที่ 2
1 ปี 2 เดือน ตับอักเสบ เอ ครั้งที่ 1
1 ปี 3 เดือน ตับอักเสบ เอ ครั้งที่ 2
1 ปี 6 เดือน โปลิโอ คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ครั้งที่ 4
1 ปี 8 เดือน ตับอักเสบ เอ ครั้งที่ 3
2 ปี 1 เดือน ไข้สมองอักเสบ ครั้งที่ 3
4 ปี หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ครั้งที่ 2
5 ปี โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ครั้งที่ 5

หมายเหตุ วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ เอ และวัคซีนป้องกันไขสมองฮิบ ไม่บังคับให้ฉีดทุกคน
หลังการฉีดวัคซีนลูกอาจจะมีไข้ไม่สบาย ฉะนั้น ถ้าลูกตัวร้อนไม่สบายเป็นหวัดยังไม่ควรพารับวัคซีน และวัคซีนป้องกันโรคคอตีบไอกรน บาดทะยัก มักทำให้บริเวณที่ฉีดเป็นไตแข็ง ลูกจะปวด และร้องกวนมากกว่าปกติ แพทย์จะให้ยามารับประทานอาการปวด และเป็นไข้จะดีขึ้นภายใน 2 วัน บริเวณที่เป็นไตแข็ง ก็ค่อยๆ ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องประคบ

คุณพ่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยได้

ทารกในครรภ์มีวงจรการหลับและการตื่น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่นอนหลับสนิท
ระยะที่ 2 กึ่งหลับกึ่งตื่น
ระยะที่ 3 ทารกเริ่มรู้สึกตัว
ระยะสุดท้าย ทารกตื่นเต็มที่ซึ่งพ่อแม่สามารถกระตุ้นด้วยการสัมผัสลูกผ่านการลูบไล้หน้าท้องแม่ได้

ลูกตอบรับสัมผัส ของคุณพ่อคุณแม่ได้

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยด้วยเทคโนโลยีอัลตราซาวด์พบว่าทารกในครรภ์จะนอนหลับและตื่นขึ้นทุกๆ 20-40 นาที กุมารแพทย์ผู้สนใจศึกษาการเรียนรู้ของทารกในครรภ์ได้ทำการวิจัยต่อเนื่องมากกว่า 6 ปี พบว่าทารกในครรภ์รู้จักเสียงของแม่และรับรู้สัมผัสต่างๆ ที่แม่มีต่อลูกได้ไม่ว่าจะลูบคลำหน้าท้อง แตะเบาๆ หรือนวด ซึ่งสังเกตได้จากการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์

ในช่วงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 13-27 สัปดาห์นั้น คุณแม่สามารถนวดหน้าท้องตัวเองเบาๆ เริ่มจากด้านล่างขึ้นไปที่สะดือ โดยให้พูดกับลูกทุกครั้งว่าแม่กำลังทำอะไรอยู่ เช่น "แม่กำลังลูบตัวหนูอยู่นะจ๊ะ" นอกจากจะทำให้
คุณแม่รู้จักส่วนต่างๆ ว่าศรีษะเท้า นิ้วเท้าของลูกอยู่ตรงไหนแล้วยังช่วยให้ระบบประสาทของลูกเกิดการพัฒนา
และยังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อเซลล์สมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้วย

บางครั้งขณะนวดเบาๆ คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์ดิ้นตอบรับ นั่นแสดงว่า ทารกกำลังเกิดการเรียนรู้ต่อสิ่งเร้าแต่มีข้อควรระวังคือ เมื่อใดที่คุณแม่ลูบไล้หน้าท้อง แล้วมดลูกเกิดหดรัดตัวให้หยุดทันทีแล้วไปพบ
แพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้โดยเร็ว

Dr. F. Rene Vande Carr ได้วิจัยโดยให้แม่ตั้งครรภ์กว่า 3,000 คน สื่อสารกับทารกในครรภ์ด้วยการสัมผัส พูดคุย เปิดดนตรีให้ฟัง พบว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแนบแน่น ลูกน้อยสงบ มีความสุข
อีกทั้งยังสามารถเดินและพูดได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นอีกด้วย

การทำความสะอาดให้ลูกน้อย

อาบน้ำให้ลูก

คุณแม่มือใหม่มักจะรู้สึกลำบากใจเวลาจะอาบน้ำให้ลูกน้อยตัวกระจ้อยกลัวลูกลื่นหลุดมือบ้าง กลัวพลาดทำน้ำสบู่เข้าตา เข้าจมูกบ้าง ลองศึกษาวิธีการต่อไปนี้จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากเลย ทำใจให้สบายและสนุก
ไปพร้อมกับลูก เด็กส่วนใหญ่ชอบเล่นน้ำอยู่แล้ว

เช็ดตัว

ถ้าลูกยังเล็กนักและคุณแม่ก็ไม่เคยอุ้มเด็กอาบน้ำมาก่อนช่วง 2-3 วันแรกจนถึงวัยที่สะดือลูกแห้งแล้ว คุณแม่เพียงเช็ดตัวให้ลูกก็ใช้ได้แล้ว เริ่มจากวางลูกบนตักคุณแม่หรือบนโต๊ะ (ชิดฝาด้านหนึ่งกันลูกตก) ควรมีผ้ายางสักผืน
รองตัวลูกใช้น้ำอุ่น เช็ดหน้า ศีรษะส่วนลำตัวก็ใช้ฟองน้ำชุบน้ำอุ่นเช็ดเบาๆ ให้ทั่วตัวโดยเฉพาะทวารหนัก ง่ามเนื้อสะโพกบริเวณข้อพับ ซอกรักแร้ ซอกคอและ ขาหนีบล้างให้สะอาดด้วยสบู่อ่อนๆ แล้วเอาฟองน้ำชุบน้ำชุ่มๆ
เช็ดสบู่ออก 2-3 ครั้งระหว่างเช็ดตัวหรืออาบน้ำให้ลูกให้พูดคุยสนุกสนาน กับลูกหรือร้องเพลงให้ลูกเพลินๆ คุณแม่ก็จะได้คลายกังวล

ถ้าหน้าหนาวอย่าเพิ่งรีบถอดเสื้อผ้าให้เช็ดหน้าลูกให้เสร็จก่อนจึงถอดเสื้อ เพื่อทำความสะอาดร่างกายส่วนบน
สวมเสื้อให้เรียบร้อยก่อนค่อยถอดผ้าอ้อมออกทำความสะอาดส่วนล่างเสร็จแล้วให้รีบใส่ผ้าอ้อมสะอาด ส่วนสะดือให้ใช้ไม้พันสำลีชุบยาทาสะดือ (โรงพยาบาลให้มา) เช็ดรอบๆ สะดือ เมื่อสายสะดือหลุดแล้วใช้น้ำต้มสุกเช็ดแทนและเช็ดให้แห้งอีกครั้ง

ข้อควรระวัง
1. สำลีที่ใช้เช็ดควรเปลี่ยนก้อนใหม่บ่อยๆ
2. การเช็ดก้นให้เช็ดจากหน้าไปหลัง
3. ใช้น้ำอุ่นเช็ดแล้วตามด้วยสำลีแห้งเช็ดซอกต่างๆ ให้แห้ง
ถ้าเช็ดไม่แห้งบริเวณเหล่านั้นอาจเกิดแผลและอักเสบ
4. ไม่ควรใช้อะไรล้วงเข้าไปในรูหู ใช้สำลีซับแต่ภายนอกก็พอ

หนูจะลงอ่าง

เตรียมข้าวของ: อ่างอาบน้ำ ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ และผ้าขนหนูเล็กสำหรับเช็ดตัว แชมพูอ่อนโยนสำหรับทารก
สบู่หรือครีมอาบน้ำสำหรับทารก เหยือกน้ำ สำลีก้อน น้ำมันมะกอก ครีมทาผิวอ่อนละมุน

ขั้นตอนการอาบน้ำ
1. เตรียมตัว: วางอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ไว้ใกล้มือ พับครึ่งผ้าเช็ดตัวปูอ่างสำหรับรองตัวและหลังไม่ให้ผิวลูกเสียดสีกับอ่าง และช่วยกันลื่นด้วยเทน้ำอุ่นลงอ่างอุณหภูมิประมาณ 36 - 38 องศา
2. อุ้มลูกลงอ่าง: ช้อนไหล่และคอลูกด้วยวงแขนข้างที่ถนัดโดยใช้ง่ามนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือช้อนผ่านใต้รักแร้
กุมหัวไหล่ลูกเอาไว้ส่วนท่อนแขนล่าง และข้อมือรองรับอยู่ใต้คอลูกพอดี มืออีกข้างช่วยประคองก้นอุ้มลูก
วางลงอ่างแล้วจึงเอามือออกจากก้นได้
3. เช็ดหน้า: หยิบก้อนสำลีชุบน้ำอุ่นหมาดๆ เช็ดดวงตาจากหัวตาไปหางตาทั้งสองข้างเปลี่ยนสำลีหรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดบริเวณจมูกปากและบริเวณโดยรอบโดยเปลี่ยนสำลีหรือมุมผ้าขนหนูทุกครั้ง

สะดือของลูกจะแห้งเมื่อใด และควรดูแลอย่างไร

ตอนคลอดแพทย์จะตัดสายสะดือเหลือขนาดไม่เกิน 1 นิ้วส่วนมากจะค่อยๆ เหี่ยวลงและหลุดในเวลา 1 อาทิตย์
แต่บางคนอาจจะนานถึง 3 อาทิตย์ คุณแม่ไม่ควรเอาผ้าปิดรัดสะดือหรือโรยแป้ง เพราะทำให้แห้งช้า หากมีปัสสาวะไปขังเฉอะแฉะ ทำให้ติดเชื้อ ดั้งนั้น เวลานุ่งผ้าอ้อมให้นุ่งต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย

4 ลำตัว: วักน้ำล้างคอ หน้าอก ลำตัวส่วนบน และหลัง
5 แขนขา: ใช้ปลายผ้าขนหนูปาดเนื้อสบู่เล็กน้อยถูตามขา และเท้า อย่างเบามือล้างน้ำให้สะอาด
6 ศีรษะ: เลื่อนตัวลูกเอนนอนเพื่อสระผมโดยมือข้างหนึ่งยังประคองอยู่ เช่นเดิมค่อยๆ เทน้ำลงบนศีรษะลูก
เทแชมพูเล็กน้อยเท่านั้น ถูศีรษะให้เป็นฟอง ถ้าลูกมีขี้หัวหรือสะเก็ดหนังศีรษะให้ใช้น้ำมันมะกอกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นทานวดเบาๆ ให้น้ำมันซึมผ่านหนังศีรษะทิ้งไว้ 15 นาที ใช้หวีแปรงขนนุ่มๆ หวีขี้หัวออก ล้างตามด้วยน้ำ
7 อุ้มขึ้น: ใช้แขนสองข้างอุ้มช้อนตัวลูกขึ้นจากอ่างวางบนผ้าเช็ดตัว แล้วห่อหุ้มตัวลูกให้อบอุ่น พร้อมกับซับตัวให้แห้ง

ก้นลูกเป็นผื่นแดงเพราะผ้าอ้อมกัด จะทำอย่างไรดี

ถ้าก้นลูกเริ่มเเดงคล้ายจะเกิดผดควรทาครีมป้องกันไว้ก่อน ถ้าเป็นแผลผ้าอ้อมกัดให้เปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่แผลสกปรกและใช้ครีมทำความสะอาดผิวเท่านั้น ห้ามใช้ครีมอื่นทาไว้เพราะอากาศจะเข้าไปในผิวหนังของทารก
ไม่ได้เพียงใส่ผ้าอ้อมสะอาดไว้เท่านั้นก็พอ หากจะใช้แป้งเด็กต้องเลือกชนิดที่ไม่ฟุ้งกระจาย ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังเด็ก และช่วยดูดซับความชุ่มชื้นเพราะถ้าผิวหนังของเด็กไม่แห้งดีการใส่แป้ง อาจทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลได้


Create Date : 13 มิถุนายน 2551
Last Update : 13 มิถุนายน 2551 11:47:17 น. 0 comments
Counter : 1102 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

fnhero125
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add fnhero125's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.