Group Blog
All Blog
### เสริมพลังใจด้วยศรัทธา ###


















“เสริมพลังใจด้วยศรัทธา”

การที่จิตใจของพวกเราจะมีกำลังมีพลังที่จะปฏิบัติ

จะบำเพ็ญภารกิจต่างๆ ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้

อย่างสำเร็จลุล่วงไม่ว่าจะเป็นจุดหมายปลายทาง

ของทางโลกหรือของทางธรรมก็ดี

จิตใจจำเป็นที่จะต้อง มีเชื้อเพลิงมีน้ำมัน

 จิตใจก็เหมือนกับรถยนต์

รถยนต์จะเดินทางไปไหนมาไหนได้

ก็ต้องมีน้ำมันมีเชื้อเพลิง

 รถยนต์จึงต้องจอดแวะตามสถานีบริการอยู่เรื่อยๆ

เพื่อเติมน้ำมัน เพื่อที่จะได้วิ่งไปไหนมาไหน

วิ่งไป ถึงจุดหมายปลายทางได้

จิตใจของพวกเราก็ต้องเติมน้ำมันเหมือนกัน

 เติมพลังเติมเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงหรือพลังของใจนี้

ก็คือธรรมะที่ผลักดันจิตใจ ให้พุ่งไปสู่ข้างหน้าได้

ธรรมที่เป็นพลังหรือเป็นน้ำมัน ของใจนี้

ก็มีอยู่ ๕ ประการด้วยกันคือ

 ๑. ศรัทธา ความเชื่อ

 ๒.วิริยะ ความพากเพียร

๓. สติ ความระลึกรู้

 ๔. สมาธิ ความตั้งมั่น

 และ ๕.ปัญญา ความรู้ความฉลาด

นี่คือน้ำมันของจิตใจที่ผู้ปฏิบัติธรรมพึงเติมอยู่เรื่อยๆ

เจริญอยู่เรื่อยๆ เจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา

 ถ้าจิตใจมีศรัทธามีสติมีวิริยะมีสมาธิมีปัญญา

 จิตใจก็จะเจริญก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

 จนไปถึงจุดหมายปลายทาง

ทางธรรมก็คือมรรคผลนิพพาน

คือการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป

จนถึงพระอรหันต์ จะไปได้จะต้องมีน้ำมันของจิตใจ

ต้องมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิและมีปัญญา

ผู้บำเพ็ญจึงควรที่จะเติม ธรรมเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ

การที่จะเติมศรัทธาความเชื่อก็ต้องระลึกถึง

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เรื่อยๆ

 ระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

 ระลึกถึงการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า

ระลึกถึงการต่อสู้ของพระพุทธเจ้า

 ระลึกถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า

ระลึกถึงการต่อสู้ของพระอรหันตสาวก

 ระลึกถึงผลที่ท่านได้บรรลุ บรรลุถึงชัยชนะ

 ถ้าเราระลึกแล้วก็จะทำให้เราเกิดมีศรัทธาความเชื่อ

ที่จะทำให้เรานั้นมีกำลังใจที่จะปฏิบัติตาม

 ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อได้ปฏิบัติแล้ว

 ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว

 ผลต่างๆ ก็จะต้องปรากฏขึ้นมานั่นเอง

ผลก็คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

นี่คือเรื่องการเสริมสร้างศรัทธาให้แก่ใจ

 เพราะถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว มันก็จะไม่มีกำลังใจที่จะปฏิบัติ

 เพราะไม่รู้ว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้ผลหรือไม่

 แต่ถ้าเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระอรหันตสาวก

 ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะเกิดศรัทธา

เกิดความเชื่อขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติท่านได้ผล

 พระอรหันตสาวก ท่านปฏิบัติ ท่านก็ได้ผล

เราถ้าปฏิบัติเราก็ต้องได้ผล เช่นเดียวกัน

ผลไม่ได้เกิดจากฟ้าลงมาเหมือนฝนตก

 ผลนี้จะต้องเกิดจากการบำเพ็ญก็คือความพากเพียร

พอเราได้ระลึกถึงเหตุและผลก็จะทำให้เรานั้นมีกำลังใจ

ที่จะเจริญเหตุ เพราะถ้าไม่มีเหตุ ผลก็จะไม่มี

 ถ้าไม่มีความพากเพียรที่จะเจริญเหตุที่จะทำให้เกิดผล

คือสติ สมาธิ และปัญญา ผลก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา

มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา

 ดังนั้นเมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าระลึกถึงพระอรหันตสาวก

 เราก็จะได้กำลังใจว่าพระพุทธเจ้า

หรือพระอรหันตสาวกนั้น ท่านก็ต้องปฏิบัติ

ท่านก็ต้องบำเพ็ญ ท่านต้องพากเพียร เจริญสติ

สมาธิและปัญญา จึงทำให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า

 ได้เป็นพระอรหันตสาวก

ความเป็นพระพุทธเจ้ากับความเป็นพระอรหันตสาวกนี้

 มีส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่ไม่เหมือนกัน

 ส่วนที่เหมือนกันก็คือ

การได้บรรลุถึงพระนิพพานเหมือนกัน

ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่าย ตายเกิดเหมือนกัน

 ได้กำจัดกิเลสตัณหาต่างๆ ภายในใจ

ให้หมดไปได้เหมือนกัน

 ต่างกันตรงที่การบำเพ็ญ ที่จะให้ได้ผลนั้นเท่านั้นเอง

 การบำเพ็ญของพระพุทธเจ้านี้ บำเพ็ญโดยไม่มีครูบาอาจารย์

 ไม่มีผู้สั่งผู้สอน ต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

หาทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ด้วยตนเอง

 พระองค์จึงเรียก พระองค์เองว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 เป็นผู้หลุดพ้น เป็นผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 เป็นผู้มีจิตที่สะอาดบริสุทธิ์

ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงด้วยตนเอง

ส่วนพระอรหันตสาวกนี้ท่านบำเพ็ญ

 ด้วยการสนับสนุนของพระพุทธเจ้า

คือมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทาง เป็นผู้สั่งสอน

 จึงไม่ได้เรียกตนเอง อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 แต่เรียกตนว่า อรหันตสาวก

สาวกนี้แปลว่าผู้ฟัง ผู้เรียนรู้ เป็นนักเรียน

 พระพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์ของพระอรหันตสาวก

 แต่ใจของพระพุทธเจ้ากับใจของพระอรหันตสาวกนี้

หลุดพ้นเหมือนกัน สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน

ปราศจากความโลภ โกรธ หลงเหมือนกัน

ปราศจากตัณหาความอยากต่างๆ เหมือนกัน

ไม่ต้องกลับมาเวียนว่าย ตายเกิดเหมือนกัน

ได้ไปถึงพระนิพพานเหมือนกัน

ต่างกันตรงที่วิธีไปถึงพระนิพพานนี้ เท่านั้น

พระพุทธเจ้าต้องคลำทางไปเองไม่มีใครบอกทาง

ส่วนพระอรหันตสาวกนี้มีผู้บอกทางคือพระพุทธเจ้า

 พระอรหันตสาวกนี้จึงสบายกว่าพระพุทธเจ้ามาก

 ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

แล้วมาประกาศพระธรรมคำสอน

ก็จะไม่มีพระอรหันตสาวกแม้แต่รูปเดียว

 เพราะว่าไม่มีใครที่จะมีบารมีหรือมีความรู้ความสามารถ

 ที่จะเดินไปถึงพระนิพพานได้ด้วยตนเอง

 นอกจากพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว

ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงตรัสรู้

ตอนที่พระองค์ยังทรงบำเพ็ญอยู่นั้น

ไม่มีอรหันตสาวกเลยแม้แต่รูปเดียว

 แต่พอหลังจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ด้วยตนเองแล้ว

แล้วนำเอาความรู้นี้มาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้อื่นต่อไป

 ผู้ที่มีศรัทธามีความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ก็นำเอาไปปฏิบัติด้วยความพากเพียร

พากเพียรเจริญสติ พากเพียรเจริญสมาธิ

 พากเพียรเจริญปัญญา

 พอได้สร้างเหตุที่จะทำให้เกิดมรรคผลนิพพาน

เกิดการหลุดพ้นขึ้นมา พอเหตุสมบูรณ์ ผลก็ปรากฏขึ้นมา

 หลังจากที่ได้บำเพ็ญได้เพียรสร้างสติ

 สร้างสมาธิ สร้างปัญญาขึ้นมา

ผู้บำเพ็ญก็หลุดพ้นกันบรรลุธรรมกัน

บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกกัน

 นี่คือสิ่งที่เราควรที่จะรำลึกอยู่เรื่อยๆ

รำลึกถึงพระพุทธเจ้า รำลึกถึงพระอรหันตสาวก

 และรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่เป็นเหตุ ที่จะทำให้เราได้บรรลุถึงผล

คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

ถ้าเรารำลึกอยู่เรื่อยๆ หรือเราฟังเทศน์ฟังธรรม

เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก็ดี เกี่ยวกับพระอรหันตสาวกก็ดี

 เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี

เราก็จะเติมศรัทธาให้มีอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้บกพร่อง

 เหมือนกับการคอยเติมน้ำมันรถยนต์อยู่เรื่อยๆ

ศรัทธานี้เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง

 เพราะถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว ก็จะไม่มีความพากเพียร

ที่จะบำเพ็ญที่จะปฏิบัติที่จะสร้างสติ สร้างสมาธิ

สร้างปัญญาขึ้นมานั่นเอง

เมื่อไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา

การบรรลุมรรคผล นิพพานก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาเช่นเดียวกัน

ดังนั้นเวลาใดที่เรามีความรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่ายเสื่อมศรัทธา

 เราต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระอรหันตสาวก

 พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบต่างๆ เช่นในสมัยยุคปัจจุบันนี้

ก็ระลึกถึงหลวงปู่มั่น ระลึกถึงลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นต่างๆ

 ด้วยการอ่านหนังสือประวัติของหลวงปู่มั่น

 อ่านหนังสือเกี่ยวกับ การปฏิบัติของหลวงปู่มั่น

และของลูกศิษย์ต่างๆของหลวงปู่มั่น

ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันขึ้นมา

 เมื่อเราได้รำลึกถึงบุคคลเหล่านี้

รำลึกถึงการต่อสู้และความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้

มันก็จะทำให้เรา ไม่ท้อแท้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ

จะทำให้เรานี้มีศรัทธาอย่างแน่วแน่ที่จะทุ่มเท

ชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติ อย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ

 เมื่อเราได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำอย่างเสมอ

 ผลก็ย่อมปรากฏขึ้นมา ตามลำดับอย่างแน่นอน

นี่คือเรื่องของการเจริญศรัทธา

ควรที่จะฟังเทศน์ฟังธรรม อยู่เรื่อยๆ

การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ

เป็นการดูแผนที่ด้วยและเป็นการเติมศรัทธาความเชื่อ

ในการปฏิบัติ ในผลที่จะเกิดจากการปฏิบัติว่าเป็นของจริง

 ของอยู่ใกล้แค่เอื้อมมือ รอให้เรายื่นมือออกไปรับเท่านั้นเอง

 เรามาถึงจุดใกล้ที่จะได้รับผลเเล้ว

 เราได้มาพบกับพระพุทธศาสนาแล้ว

เรามีโอกาสที่จะได้หลุดพ้นแล้ว

ไม่เหมือนกับคนที่ไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา

จะไม่มีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้

เป็นเหมือนกับคนที่อยู่ในยุค ที่ไม่มีพระพุทธศาสนา

 เช่นพระพุทธเจ้าในยุคที่ทรงบำเพ็ญ ในยุคนั้น

ไม่มีพระพุทธศาสนาจึงไม่มีใคร บรรลุหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย

แต่พอหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศ

พระพุทธศาสนาขึ้นมา ประกาศพระธรรมคำสอนขึ้นมา

ก็มีผู้ที่บรรลุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดกัน

เป็นจำนวนมากเลย เหมือนกับพระพุทธเจ้านี้

เอามรรคผลนิพพานมาตั้งไว้อยู่ที่ข้างหน้า

แล้วก็บอกว่าเอาไปเลย หยิบไปเลยผลต่างๆ

พระพุทธเจ้าทรงเอาต้นมรรคผลนิพพาน

มาให้พวกเราไปเด็ดเอาผลต่างๆ

 เพียงแต่ไปเด็ดเท่านั้นเอง ไม่ยากเย็นตรงไหนเลย

ให้พวกเรามาเจริญสติ มาเจริญสมาธิ มาเจริญปัญญากัน

 พอเราได้เจริญสติ สมาธิ ปัญญาแล้ว

ผลต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ

ถ้าเราไม่มีพระพุทธศาสนา เราไม่ได้เข้าหาพระพุทธศาสนา

 เราก็จะไม่มีโอกาสที่จะบรรลุได้ที่จะหลุดพ้นได้เลย

 ดังนั้นเวลาที่จิตใจเรารู้สึกห่างไกลจากพระพุทธศาสนา

 ห่างไกลจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ห่างไกลจากพระพุทธเจ้า

ห่างไกลจากพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

เราก็ต้องระลึกถึงท่านอยู่เรื่อยๆ ระลึกถึงบ่อยๆ

เพราะว่าพอเราระลึกถึงแล้ว

เราก็จะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า

 ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระอรหันตสาวก

แล้วก็จะทำให้เราได้อยู่ใกล้ชิดกับมรรคผลนิพพาน

และได้มรรคผลนิพพานตามลำดับต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙

“เสริมพลังใจด้วยศรัทธา”





ขอบคุณที่มา  fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 เมษายน 2559
Last Update : 10 เมษายน 2559 11:55:55 น.
Counter : 488 Pageviews.

0 comment
### ได้ของฟรีก็ยังทุกข์หากมีการเปรียบเทียบ ###
















ความสุขเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเราเห็น

และชื่นชมสิ่งที่เรามี ไม่มองสิ่งที่เราขาด

คำว่า สันโดษ แปลว่า พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้

ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้วัดอาตมา

 แทงหวย ๑๕ บาท โชคดีแทงถูก ได้เงิน ๖๐๐ บาท

 เขาดีใจมาก แต่พอเจอเพื่อนในหมู่บ้าน

ซึ่งซื้อหวยตัวเดียวกัน

 แต่แทง ๕๐ บาท ได้เงินมา ๒๐๐๐ บาท

 พอรู้ว่าเพื่อนได้มา ๒๐๐๐ บาท

 ความดีใจก็เปลี่ยนเป็นความเสียใจเลย

รู้สึกโมโหตัวเองที่แทงน้อยไป

นี้เรียกว่าทุกข์ เพราะการเปรียบเทียบ

ถ้าเรามัวแต่เปรียบเทียบกับคนอื่น

เราจะไม่มีความสุขเลยทั้งชีวิต

เพราะเราจะเห็นคนอื่นมีมากกว่าเสมอ ไม่ว่าเราได้อะไร

ก็จะไม่มีความสุขเมื่อเห็นคนอื่นได้มากกว่าหรีอดีกว่า

ครั้งหนึ่งอาตมาไปบรรยายธรรม

พอบรรยายจบก็แจกหนังสือเล่มเล็กๆ

แต่หนังสือมีจำนวนจำกัด คนที่ได้รับต่างดีใจ

พอหนังสือเล่มเล็กหมด

อาตมาก็หยิบหนังสืออีกปึกหนึ่งขึ้นมา

 คราวนี้เป็นหนังสือเล่มใหญ่

คนที่ได้เล่มเล็กไปแล้ว เมื่อสักครู่ยังดีใจที่ได้หนังสือ

 แต่พอรู้ว่ามีแจกหนังสือเล่มใหญ่ด้วย ก็รู้สึกเสียใจ

เมื่อเห็นคนอื่นได้เล่มใหญ่

บางคนถึงกับเอาหนังสือเล่มเล็กมาคืน

เพื่อแลกกับเล่มใหญ่

 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้อ่านเล่มเล็กเลย

 เล่มใหญ่ดีกว่าเล่มเล็กหรือเปล่า เขาก็ไม่รู้

เพราะยังไม่ได้อ่าน แต่เป็นทุกข์ที่ได้เล่มเล็ก

ทั้ง ๆ ที่เมื่อกี้ยังดีใจอยู่เลย

ที่จริงหากเขาวางใจถูก แม้ได้เล่มเล็กก็น่าจะดีใจ

เพราะดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

แต่พอเปรียบเทียบกับคนที่ได้เล่มใหญ่

ก็เลยเป็นทุกข์ทันที

เห็นไหม ขนาดได้ของฟรีก็ยังทุกข์เลย

หากมีการเปรียบเทียบขึ้นมา

 

 

........................



พระไพศาล วิสาโล










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 เมษายน 2559
Last Update : 10 เมษายน 2559 11:23:02 น.
Counter : 779 Pageviews.

0 comment
### สิ่งที่ผู้ดวงตาเห็นธรรมมองเห็น ###















“สิ่งที่ผู้ดวงตาเห็นธรรมมองเห็น”

สิ่งที่ผู้มีดวงตาเห็นธรรมจะเห็นกัน

ขั้นแรกจะเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของร่างกาย

 ทุกข์เพราะอยาก ไม่ให้มันเป็นอนิจจัง

 ไม่อยากให้มันเป็นอนัตตา

อยากจะให้มันเป็นนิจจัง เป็นอัตตา

 นิจจังก็คืออยาก จะให้มันหนุ่มสาวไปตลอด

ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

อัตตาก็คืออยากจะให้มันอยู่ภายใต้ คำสั่ง

ให้มันเป็นหนุ่มเป็นสาว ไปตลอดไม่ให้มันแก่ ไม่ให้มันเจ็บ

 แต่มันฝืนความจริงฝืนธรรมชาติของร่างกาย

ที่จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย

ท่านจึงสอนให้เราหมั่นพิจารณาร่างกายอยู่เรื่อยๆว่า

ร่างกายนี้เกิดมาแล้ว ต้องแก่เป็นธรรมดา

ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ต้องตายไปเป็นธรรมดา

 เพราะถ้าเราไม่สอนนี้ความหลง มันจะมาสอนอีกทางหนึ่ง

ความหลงมันจะสอนว่ามันไม่แก่หรอก

 มันจะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

มันไม่มีวันที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยหรอก

 มันไม่มีวันจะตายหรอก มันจะคิดอย่างนี้

หรืออย่างน้อยมันก็จะหลงคิดว่า

มันจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะลืมคิดไปนั่นเอง

คนหนุ่มคนสาวนี้เวลาทำมาหากินนี้เขาไม่มีเวลา

 มาคิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายกัน

เขาก็เลยคิดว่าเขาไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายกัน

แต่พอความจริงมาปรากฏนี้ก็ตกใจกัน

 พอดูกระจกทำไมผมมันเริ่มมีหงอก

ทำไมหนังมันเริ่มเหี่ยวแล้ว

ทำไมมันเริ่มรู้สึกเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้แล้ว

อันนี้มันก็จะทำให้มันตกใจทันที

เพราะว่าไม่ได้คอยสอนใจ

คอยเตือนใจไว้ล่วงหน้าก่อน

ว่าต่อไปร่างกายจะต้องเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าคอยสอนใจไว้ล่วงหน้าก่อน

พอเวลาร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ

หรือร่างกายจะต้องตายไปนี้ มันจะทำใจได้

 มันจะทำใจยอมรับความจริงได้

ทำใจให้สงบเป็นอุเบกขาได้

เพราะรู้ว่าต่อต้านไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้

คนที่ระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย

จนยอมรับได้แล้วนี้เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วหมอบอกว่า

 เป็นมะเร็งรักษาไม่ได้ขั้นสุดท้าย จะทำใจได้

จะไม่เดือดร้อนจะไม่ทุกข์กับความตายเพราะว่ามีปัญญา

 มีปัญญาก็คือรู้ว่าร่างกายนี้เป็นอนิจจังไม่เที่ยง

มีเกิดแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายเป็นอนัตตา

ห้ามมันไม่ได้สั่งมันไม่ได้ แต่จะไม่ต้องทุกข์กับมันได้

ถ้ายอมรับความจริงแล้วก็ทำใจให้เป็นอุเบกขา

 ปล่อยวาง การทำสมาธิจึงสำคัญ

 เพราะว่าถ้าไม่มีอุเบกขาก็ปล่อยไม่ได้

ถึงแม้รู้ว่าจะต้องตายและอยากจะปล่อย

แต่ก็ไม่รู้จักวิธีปล่อย ความอยากมันจะคอยดิ้นอยู่เรื่อยๆ

 คอยอยากอยู่เรื่อยๆ อยากไม่ตายอยู่เรื่อยๆ

 มันก็จะทุกข์ทรมาน แต่ถ้าเราเจริญมรรคกัน

ฝึกทำสมาธิกัน  ทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้กัน

แล้วก็หมั่นสอนใจว่า ร่างกายจะต้องแก่

จะต้องเจ็บ จะต้องตายกัน

พอถึงเวลาที่เราจะต้องเผชิญกับความตาย

เราก็จะได้ไม่ต้องทุกข์ กับมันเราจะทำใจให้เป็นอุเบกขา

และเราจะไม่สร้างความอยากต่างๆ ขึ้นมา

เพราะความอยากนี้ จะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

นี่คือการมีดวงตาเห็นธรรม เห็นจากการปฏิบัติ

ไม่ใช่เห็นจากการฟังเช่นตอนนี้หรือการนำเอาไปคิดเฉยๆ

 คิดเฉยๆ ฟังเฉยๆนี้ ยังทำใจไม่ได้เพราะยังไม่มีสมาธิ

 แต่ถ้ามีสมาธิแล้วฟังธรรมตอนนี้แล้วจะทำใจได้เลย

อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ

ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอริยสัจสี่ให้ฟัง

 พระอัญญาโกณฑัญญะ มีสมาธิแล้ว

ท่านได้ฝึกจิตจนเข้าฌานได้แล้วมีอุเบกขาแล้ว

พอพระพุทธเจ้าแสดงเรื่องอริยสัจสี่ให้ฟัง ท่านก็ทำใจได้

 ยอมรับความแก่ ยอมรับความเจ็บ ยอมรับความตายได้

ใจของท่านก็ไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ

ความตายของร่างกายอีกต่อไป

พระพุทธเจ้าจึงบอกอัญญาโกณฑัญญะเธอรู้แล้วหรอ

เธอเข้าใจแล้วหนอ เธอทำใจได้แล้ว

เธอไม่กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตายแล้ว

 เธอเห็นแล้วว่าความกลัวเกิดจากความหลง

 เกิดจากความอยากให้ร่างกายที่ต้องแก่ ต้องเจ็บ

 ต้องตายนี้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เธอยอมรับความจริงของร่างกาย

ยอมให้มันแก่ ให้มันเจ็บ ให้มันตายไป

 การฟังธรรมที่ไม่บรรลุกันทุกวันนี้ก็เพราะจิตไม่มีสมาธิกัน

 ถ้ามีสมาธิแล้วรับรองได้ว่าถ้าเป็นธรรมแท้นี้

แล้วแสดงออกไปนี้ แล้วผู้ฟังนี้มีปัญญาที่จะพิจารณา

ตามเหตุตามผล ของธรรมที่แสดงไว้ได้นี้จะบรรลุได้

ในขณะที่ฟังธรรมเลย จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจ

ในสมัยพระพุทธกาล ที่ในแต่ละครั้ง

ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนี้มีผู้บรรลุธรรม

เป็นจำนวนมากๆ พร้อมๆกันเลย

เพราะในแต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนี้

 ท่านมักจะเลือกคนฟังท่านมักจะไปแสดง

ให้กับคน ที่มีสมาธิก่อน คนที่ยังไม่มีสมาธินี้

ท่านบอกว่าเอาไว้ก่อน พวกนี้พวกหัวทื่อ

หัวต้องใช้เวลามาก ตอนนี้เวลาน้อย

ไปเอาพวกที่หัวแหลมหัวฉลาดพวกที่มีภูมิมีสมาธิ

พร้อมที่จะรับธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสรู้

ทรงได้เห็นคือพระอริยสัจสี่

พอแสดงกับพวกที่มีสมาธินี้ก็หลุดพ้นกันเป็นทั้งฝูงเลย

มีไปแสดงธรรมที่สำนักแห่งหนึ่ง มีนักบวชอยู่ ๕๐๐ รูป

 พวกนี้มีฌานมีสมาธิกันทั้งนั้น

พอทรงแสดงอริยสัจสี่ให้เขาฟัง เขาเข้าใจ

เขาก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูปพร้อมๆกันไปเลย

นี่คือเรื่องของการมีครูบาอาจารย์

มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งเป็นที่นำทาง

พาให้เราไปสู่การหลุดพ้นจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเราสามารถน้อมเอา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้ามาสู่ใจของเราได้

ก็คือการปฏิบัติมรรคคือศีล สมาธิ ปัญญา

หรือทาน ศีล ภาวนา ถ้าเรามีครบองค์ประกอบ

มีทาน มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาพอฟังธรรมปั๊บ

ก็จะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาทันที

แล้วธรรมนี้แหละจะอยู่ติดไปกับใจจะไม่มีวันหลง

ไม่มีวันลืม เรื่องอะไรเหตุการณ์ต่างๆ

 ชื่อคนนั้นชื่อคนนี้การไปอยู่สถานที่นั่นสถานที่นี้

เราลืมได้เพราะมันเป็นสัญญา แต่อริยสัจสี่นี้ไม่เป็นสัญญา

 เรียกว่า เป็นสัจจธรรมเป็นความจริงเป็นปัญญา

ปัญญานี้จะไม่มีวันเสื่อมไม่มีวันหายไปจากใจ

ถ้าลองเข้าไปตั้งอยู่ในใจแล้วจะอยู่กับใจไปตลอด

ถึงแม้ว่าร่างกายนี้ จะตายไป แล้วไปเกิดใหม่

จะไม่ลืมอริยสัจสี่ แต่จะลืมว่าชาติก่อนชื่ออะไร

อยู่กับพ่อแม่ มีพ่อแม่ชื่ออะไร มีฐานะอะไร

พูดภาษาอะไรนี้ลืมได้ แต่อริยสัจสี่นี้ไม่ลืม

พอไปเกิดใหม่นี้ก็จะปฏิบัติต่อ

พอมีความทุกข์ใจ ก็จะพิจารณาว่า

มันเกิดจากความอยากอะไร ถ้าเป็นขั้นสกิทาคามี

 อนาคามีมันก็จะไปทุกข์กับกามารมณ์ นั่นแหละ

 กามราคะเพราะมันอยากจะเสพกามอยู่

ยังเห็นร่างกายของผู้อื่นว่าสวยงามน่ารักน่าชม

 น่าร่วมหลับนอนด้วยก็ต้องใช้การพิจารณาอสุภะ

ถ้าเป็นคนตายแล้วยังน่ารักน่าชมอยู่หรือเปล่า

ถ้าเขาไม่หายใจแล้วยังอยากจะนอนกับเขาหรือเปล่า

 ถ้าเรามองเห็นตับไตไส้พุงเห็นหัวใจเห็นปอดเห็นลำไส้

เห็นโครงกระดูกของเขานี้

เรายังอยากจะร่วมหลับนอนกับเขาอยู่หรือเปล่า

ผู้ที่จะกำจัดกามราคะกับปฏิฆะนี้ ก็ต้องเจริญอสุภะ

แล้วต้องไม่มีใครสอนพวกนี้ถึงจะเป็นคนแปลกว่าคนอื่นไง

คนพวกนี้มักจะเป็นคนที่เเปลก กว่าคนทั่วไป

 เพราะเขาเป็นพระอริยเจ้า เขาไม่ได้เป็นปุถุชน

ปุถุชนนี้จะมองตรงกันข้ามกัน

ปุถุชนนี้ อยากจะมองแต่ภาพสวยๆ งามๆ

ดูหนังสือนิตยสารที่เขาพิมพ์ออกมาจำหน่ายกันนี้

 มีพิมพ์ภาพของซากศพ มาจำหน่ายกันบ้างไหม

ถ้าพิมพ์ก็ไม่มีใครซื้อเจ๊งแน่ๆ

มีแต่หานางงามนางแบบมาติดหน้าปกกัน

 เสริมความงาม เสริมด้วยเครื่องสำอาง

 เสริมด้วยการทำเผ้าทำผม

เสริมด้วยการแต่งกายหรือเปลือยกาย

 อันนี้เป็นสิ่งที่ปุถุชนชอบกันรักกัน

ชอบดูภาพเหล่านี้หนังสือพวกนี้ถึงขายแบบเทน้ำเทท่า

พิมพ์เท่าไรก็ไม่พอขาย แต่ถ้ามาพิมพ์อสุภะมา

พิมพ์ศพคนตายมาติดอยู่ที่หน้าหนึ่งนี้

รับรองได้ว่าเจ๊งไม่มีใครซื้อ

พระอริยเจ้าท่านจึงเป็นคนที่แปลกกว่าคนธรรมดา

ท่านมักจะไปชอบดูความตายกัน มักจะชอบไปดูอสุภะกัน

 มักชอบไปอยู่ที่เงียบๆ ไม่ชอบยุ่งกับใคร

ถ้าเป็นคนอย่างนี้แสดงว่าเป็นอริยเจ้า

มาตั้งแต่ชาติก่อนแล้วก็ได้

หรืออย่างน้อยก็เป็นคนที่ชอบทำใจให้สงบชอบนั่งสมาธิ

ชอบรักษาศีล ชอบอยู่คนเดียว

นิสัยเหล่านี้มันจะติด ไปกับใจ มันจะไม่ลืม

เหมือนกับนิสัยชั่วมันก็จะติดไปกับใจ

 ถ้าชอบกินเหล้ามันไปเกิดใหม่ มันก็จะไปหาเหล้ากิน

 ถ้าชอบเที่ยวกลางคืน มันก็จะไปเที่ยวกลางคืน

ชอบเล่นการพนันมันก็จะไปเล่นการพนัน

 ชอบกินเหล้าเมายา ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ชอบโกหกหลอกหลวงชอบประพฤติผิดประเวณีนี้

มันก็จะติดไปกับใจ มันเป็นนิสัย เป็นสันดาน

แต่พระอริยเจ้านี้ท่านจะมีนิสัยที่ชอบทำทาน

 รักษาศีล ภาวนา ท่านจะชอบพิจารณาธรรมต่างๆ

 ชอบพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ชอบพิจารณาอสุภะ ความน่าเกลียดน่ากลัวของร่างกาย

ความไม่สวยไม่งามของร่างกาย

สิ่งเหล่านี้มันจะติดไปกับใจของผู้ปฏิบัติ

ดังนั้นพอผู้ใดมีดวงตาเห็นธรรม เห็นอริยสัจสี่แล้ว

ก็ถือว่ามีครูบาอาจารย์อยู่ภายในใจแล้ว

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ อยู่นอกใจมาช่วย

ก็สามารถที่จะบำเพ็ญเดินไปถึงจุดหมายปลายทาง

ได้ด้วยตนเอง อาจจะช้าหน่อย

แทนที่จะเป็นชาตินี้ก็อาจจะเป็นสัก ๗ ชาติ

ถ้าเป็นพระโสดาบัน ถ้าเป็นพระสกิทาคามีก็ชาติเดียว

 ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องกลับมาเกิด

มาบำเพ็ญในสภาพของการเป็นมนุษย์

 แต่ไปเกิดเป็นพรหม และบำเพ็ญในระดับของพรหม

 เพื่อเข้าสู่พระนิพพานได้เลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นขั้นไหนก็จะต้องมีอริยสัจสี่ทุกขั้น

 เพราะมันจะต้องมีความทุกข์ที่เกิดจากความอยาก

 แล้วมันก็ต้องมีปัญญาที่จะมาละตัณหาความอยาก

 เพื่อที่จะดับความทุกข์ของใจ

ถึงจะก้าวขึ้นสู่ขั้นที่สูงขึ้นไปได้ตามลำดับ

ทุกขั้นจะต้องมีความทุกข์ ทุกขั้นจะมีตัณหาความอยาก

 ขั้นสกิทาคามี อนาคามีก็มีกามราคะ

ความอยากในกาม ก็ต้องละให้ได้

จะละกามราคะได้ก็ต้องการพิจารณาอสุภะ

 พิจารณาดูส่วนที่ไม่สวยไม่งามของร่างกาย

เช่นเวลาร่างกายแก่ เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย

 เวลาร่างกายตายนี้คนที่ทำงานโรงพยาบาลนี้

 เห็นคนไข้แล้ว เกิดกามารมณ์ไหม ไม่ค่อยเกิดกันหรอก

 เพราะหน้าตาก็ไม่น่าดูอยู่แล้ว หน้าตาบึ้งตึง

 ผมเผ้าก็ไม่ได้หวี หน้าตาก็ไม่ได้แต่ง

มีแต่บ่นมีแต่ร้องโอดครวญคราง

เห็นแล้วเกิดกามารมณ์ได้ไหม

นั่นแหละให้เรานึกถึง ภาพเหล่านั้น

หรือเวลาคนไข้ตายแล้วเป็นอย่างไรมีกามารมณ์ไหม

นี่คืออสุภะให้มองภาพ ที่มันทำให้เราดับกามารมณ์ได้

แล้วเราก็จะได้ไม่ต้องมาทุกข์

มาหงุดหงิดกับเวลามีกามารมณ์ 

เวลามีกามารมณ์นี้ถ้าไม่ได้เสพมันหงุดหงิดมันรำคาญ

 มันจะพาลไปหมด มันจะด่าคนนั้นว่าคนนี้

 เพราะว่ามันหงุดหงิดมันมีความอยากจะเสพกาม

แล้วยังไม่ได้เสพ แต่พอมันได้เสพแล้ว

ความหงุดหงิดนั้น ก็หายไปชั่วคราว

แต่มันไม่หายไปอย่างถาวร

เดี๋ยวความอยากจะเสพกามก็กลับขึ้นมาใหม่

วิธีที่จะทำให้ไม่เสพกามก็ต้องใช้อสุภะไปเรื่อยๆ

ทุกครั้งที่อยากจะเสพกามก็นึกถึงอสุภะ

ไม่ว่าจะเป็น ร่างกายของคนแก่ คนเจ็บ คนตาย

หรือดูเข้าไปข้างในของร่างกาย

 ดูส่วนที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง เช่นเนื้อ เอ็น กระดูก

ม้าม ลำไส้ ตับ ปอด อะไรอย่างนี้

โครงกระดูกอย่างนี้ดูมันเข้าไป ระลึกถึงมันอยู่เรื่อยๆ

แล้วรับรองได้ว่า ความอยากจะเสพกามนี้มันจะหายไป

 แล้วความหงุดหงิดใจก็จะหายไป

แล้วความอยากจะเสพกาม มันก็จะเบาลงไปเรื่อยๆ

ทุกครั้งที่เราต้านมันเราไม่ทำตามความอยากได้

 ความอยากนั้นก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ

 จนในที่สุดมันก็จะหายไปหมดเลย แล้วก็จะอยู่อย่างสบาย

ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป

การที่ยังต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาเป็นเทวดา

เพราะยังมีกามนี่เอง ถ้าเป็นเทวดา

ก็เสพรูปเสียงกลิ่นรสทิพย์กัน

ถ้าเป็นมนุษย์ก็เสพรูปเสียงกลิ่นรสหยาบของมนุษย์กัน

 แต่ถ้าไม่มีกามารมณ์แล้วก็ไม่ต้องเสพ

ใจสงบอยู่ในสมาธิ อยู่ในความสงบ

อยู่กับความสุขที่เหนือกว่าความสุข

ที่ได้จากการเสพกามนั่นเอง

 แต่ความสงบสำหรับพระอนาคามีนี้

ก็ยังมีตัณหาความอยาก อยากจะให้มันสงบ

แต่ความสงบของสมาธินี้ ก็ยังเป็นความสงบที่ไม่ถาวร

 มีการเสื่อมได้เวลาเสื่อมถ้าอยากจะให้มันไม่เสื่อม

ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ท่านเรียกว่า รูปราคะ

 ติดในฌานในรูปฌาน อรูปราคะ ติดในอรูปฌาน

 อยากจะให้ฌานคือความสงบนี้ สงบไปเรื่อยๆ

ไม่มีวันเสื่อม แต่มันยังเป็นไตรลักษณ์

อยู่เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ห้ามมันไม่ได้

ห้ามมันไม่ให้เสื่อมไม่ได้ พอมันเสื่อมก็อยากจะให้มันสงบ

ก็ต้องเพิ่งกำหนดจิตให้มันนิ่งอีก

 จิตมันก็ยังต้องทำงานเพื่อให้มันสงบ

ก็ยังเป็นความสุขที่ไม่ใช่ความสุขที่เป็นธรรมชาติที่แท้จริง

เป็นความสุข ที่เกิดจากการสร้างขึ้นมาด้วยสติ

 อันนี้ก็ต้องรู้จักวิธีกำจัดก็คืออย่าไปอยากให้มันไม่สงบ

เวลามันจะเสื่อม ก็รู้ว่ามันเสื่อม

เวลามันไม่เสื่อม เวลามันเจริญก็รู้ว่ามันเจริญ

แต่ต้องรู้ว่ามันเป็นไตรลักษณ์

แล้วอย่าไปอยากให้มันเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา

ปล่อยวางมันไปตามเรื่องของมันไม่ต้องไปยุ่งกับมัน

 ไม่ต้องไปสนใจมันแล้วต่อไปจิตก็สงบ

โดยที่ไม่ต้องมีฌานเป็นตัวทำให้สงบ

สงบเพราะไม่มีความอยาก

ความสงบที่ไม่มีความอยากนี่แหละเป็นความสงบที่แท้จริง

 จิตที่ไม่สงบก็เพราะเกิดความอยากขึ้นมา

จึงต้องทำสมาธิกันเพื่อทำให้จิตสงบ กดความอยากเอาไว้

 แต่ความอยากก็ไม่ได้ตายด้วยการกดด้วยสมาธิ

พอกำลังของสติอ่อนลงมันก็จะมีความอยาก

ก็จะโผล่ขึ้นมาใหม่มันก็จะมาทำลายความสงบให้หายไป

แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาว่าความสงบที่ถูกทำลายไปนี้

 ถูกทำลายไปด้วยตัณหาความอยากก็อย่าไปอยากมัน

ถ้าจิตไม่สงบก็รู้ว่ามันไม่สงบให้สักแต่ว่ารู้ไป

 “จิตสงบก็รู้ว่าสงบ มันไม่สงบก็รู้ว่ามันไม่สงบ

 รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติของจิตที่จะต้องขึ้นๆ ลงๆ

 อย่างนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

พอเข้าใจหลักนี้ แล้วต่อไปเวลาจิตจะสงบหรือไม่สงบ

ก็ไม่วุ่นวายไปกับมันก็สักแต่ว่ารู้ไป

พอไม่วุ่นวายไปกับมันจิตก็สงบ ใจก็สงบอย่างแท้จริง

 เพราะไม่มีความอยากให้มันสงบหรือไม่สงบ

“พอไม่มีความอยากมันกลับสงบของมันเอง

 แต่พอมีความอยากมันกลับไปทำให้มันไม่สงบ”

อันนี้ปริศนาลองไปปฏิบัติดูแล้วจะเข้าใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙

“ที่พึ่ง ๒ ส่วน”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 เมษายน 2559
Last Update : 8 เมษายน 2559 11:37:10 น.
Counter : 830 Pageviews.

0 comment
### ความมักน้อยสันโดษ ###


















“ความมักน้อยสันโดษ”

มีธรรมอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนทรงบัญญัติ

ให้ผู้ปฏิบัติธรรมควรที่จะเจริญให้มาก

 และเวลาที่พบปะกัน

ก็ควรที่จะสนทนาธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้

ธรรม ๑๐ ประการนี้มีชื่อว่า “สัลเลขธรรม”

จะเรียกว่าเป็นบัญญัติ ๑๐ ประการของผู้ปฏิบัติธรรม

 เพื่อมรรคผลนิพพานก็ได้

เพราะธรรมเหล่านี้แหล่ะจะเป็นธรรม

ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกัน

 ข้อที่ ๑ ก็คือความมักน้อย

ข้อที่ ๒ ความสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด

 ข้อที่ ๓ การไม่คลุกคลีกัน

 ข้อที่ ๔ การปลีกวิเวก

ข้อที่ ๕ การทำความเพียร

ข้อที่ ๖ การเจริญศีล การรักษาศีลต่างๆ

ข้อที่ ๗ คือสมาธิ ขั้นต่างๆ

ข้อที่ ๘ ปัญญา

 ข้อที่ ๙ วิมุตติ การหลุดพ้น

 และข้อที่ ๑๐ วิมุตติญาณทัสสนะ

การมีญาณหยั่งทราบ ถึงการหลุดพ้นของใจของตน

 นี่คือธรรม ๑๐ ประการด้วยกัน

ที่ควรจะเป็นหัวข้อของการสนทนากัน

 ระหว่างผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะได้เสริมการปฏิบัติ

ให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองขึ้นไปตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุดได้

ธรรมข้อที่ ๑ คือความมักน้อยนี้ก็หมายความว่า

ให้ยินดีกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

สิ่งที่จำเป็นต่อนักปฏิบัติก็คือปัจจัย ๔

ที่มีความจำเป็นจะต้องมีเพื่อดูแลรักษาร่างกาย

ที่เป็นเครื่องมือของการปฏิบัติไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม

 ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีเท่าที่จำเป็น

หรือเท่าที่ร่างกายต้องการก็พอ

เช่นอาหารก็รับประทานวันละ ๑ ครั้ง

ก็พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย เ

ครื่องนุ่งห่มก็มีไว้ ๒-๓ ชุดก็พอ

ชุดหนึ่งไว้ใส่ ชุดหนึ่งไว้ซัก และอีกชุดหนึ่งไว้สำรอง

ในกรณีที่ฝนตกแล้วตากไม่แห้ง

แล้วมีชุดสำรองอย่างของพระนี้ก็มีผ้าไตรจีวร

 ผ้า ๓ ผืน ผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าห่ม ๑ ผืน

แล้วผ้าห่มกันหนาวอีก ๑ ผืนเท่านี้ก็พอเพียง

สำหรับเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องนุ่งห่ม

ที่อยู่อาศัยก็มีพอหลบแดดหลบฝนได้

หลบภัยต่างๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น ที่อยู่อาศัยที่มีรสนิยม

มีเครื่องใช้ไม้สอยอะไรเต็มไปหมด

 ที่ปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติก็คือเรือนร้าง

 หรือโคนไม้ เงื้อมผาหรือในถ้ำ

นี่คือที่อยู่อาศัยของผู้มักน้อย

 ยารักษาโรคก็รักษาไปตามมีตามเกิด

 รักษาไปตามที่ได้มาหรือไม่มีก็รักษาด้วยน้ำมูตร

 ยาดองน้ำมูตรก็พอที่จะประคับประคอง

สังขารร่างกาย ให้อยู่ไปได้

เพราะร่างกายนี้ก็มีโรคอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน

โรคชนิดหนึ่งก็คือเป็นแล้วก็จะหายเองได้

ใช้เวลาพักผ่อนหลับนอนสักระยะหนึ่ง

ร่างกายก็ฟื้นฟูขึ้นมาเองได้

 โรคชนิดที่ ๒ ก็เป็นโรคที่ต้องรักษา ต้องมียาถึงจะหาย

และโรคที่ชนิดที่ ๓ ก็คือโรคที่เป็นแล้วรักษาก็ไม่หาย

 ไม่รักษาก็ไม่หาย ก็มีอยู่เพียง ๓ โรคนี้เท่านั้น

 แล้วในที่สุดร่างกายนี้มันก็จะตาย

จะต้องหมดสภาพไป มันก็จะต้องตายไป

ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรที่จะมาวุ่นวายมากมายเกินไป

กับเรื่องของร่างกาย เอาพอให้ร่างกายนี้อยู่ได้

เพราะการมีน้อยนี้ มันทำให้มีความทุกข์น้อย

การมีมากทำให้มีความทุกข์มาก

เพราะสิ่งต่างๆ ที่มันนั้นมันเป็นทุกข์

ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ถาวร

 ทุกข์เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะอยู่กับเราไปได้ตลอด

 เวลามีอะไรมากๆ ก็ต้องคอยดูแลรักษา

คอยเปลี่ยนเวลามันเสีย

ก็ต้องวุ่นวายกับการรักษากับการ

หาสิ่งใหม่มาทดแทน เวลาที่สิ่งเก่าเสียไป

เวลาที่จะได้มาใช้กับการปฏิบัติก็จะถูกแย่งไป

กับการที่จะต้องไปดูแลรักษา

หรือไปหาสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งเก่า

เวลาที่สิ่งเก่านั้นเสียหรือชำรุดใช้ไม่ได้

หัดพยายามอยู่แบบไม่ต้องใช้อะไรมาก

หรือจะใช้อะไรก็ใช้มันได้ หลายอย่างด้วยกัน

เช่นผ้านี้อาจจะใช้เช็ดเท้าเช็ดพื้นเช็ดอะไร

ไม่จำเป็นจะต้องมีผ้า ๓ - ๔ ชนิดด้วยกัน

ไว้สำหรับเช็ดอย่างนั้นอย่างนี้อย่างหนึ่ง

พยายามใช้น้อยๆ ในสิ่งต่างๆ

แล้วเวลาจะได้ไม่หมดกับการดูแลรักษา

นี่คือประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีความมักน้อย

 ไม่ต้องพะรุงพะรัง ไม่ต้องขนอะไรไปไหนมากมาย

 เวลาจะเปลี่ยนสถานที่เวลาจะไปทำอะไรที่จำเป็น

จะต้องโยกย้าย ก็จะไปได้อย่างง่ายดาย

ท่านบอกให้อยู่เหมือนกับนก

 นกนี้เขาเวลาเขาบินไปตัวเปล่าๆ

เขาไม่มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองติดตัวไป

เขาบินไปแล้วก็ไปหากินข้าวหน้า

 นี่คือเรื่องของความมักน้อย

ข้อที่ ๒ คือความสันโดษ สันโดษก็คือยินดีตามมีตามเกิด

 ถ้าไม่ได้ตามความที่ต้องการขาดแคลนบ้าง

 ต้องอดยาก ขาดแคลนบ้างก็ให้ยินดีอย่าไปกังวล

อย่าไปวุ่นวายกับการที่จะต้องหามาให้ได้

ตามความต้องการของร่างกาย

เช่นอาหาร บางทีก็อาจจะขาดแคลนบ้างอดมื้อกินมื้อ

ไม่ได้กินทุกวัน สำหรับนักปฏิบัติแล้วไม่ควรที่จะกังวล

 เพราะการรับประทานอาหารนี้

รับประทานมากกลับเป็นโทษ

มากกว่าเป็นคุณต่อการบำเพ็ญ

ผู้ที่บำเพ็ญส่วนใหญ่นี้จะอดอาหารเป็นประจำ

 เพราะการอดอาหารจะเป็นเครื่องเสริมความเพียรนั่นเอง

เวลาที่เรารับประทานอาหารตามปกติ

ร่างกายสุขสบายก็จะเกิดความเกียจคร้าน

จะไม่อยากปฏิบัติ

 ไม่อยากเดินจงกรมไม่อยากนั่งสมาธิ

อยากจะนอนมากกว่า

แต่เวลาที่ไม่ได้รับประทานอาหาร

ร่างกายจะหิว แล้วก็จะทำให้จิตใจทุกข์

เพราะจิตก็จะปรุงเเต่งคิดถึงแต่เรื่องของอาหาร

ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา

ถ้าไม่อยากจะทุกข์ทรมานใจก็ต้องภาวนา

ต้องเจริญสติ ควบคุมความคิดปรุงเเต่ง

ไม่ให้คิดไปถึงเรื่องของอาหาร

หรือถ้าคิดก็ต้องคิดในทางตรงกันข้าม

คือไม่คิดถึงอาหารที่อยู่ในจาน

ที่เขาเพิ่งทำเสร็จมาใหม่ๆ ออกมาจากครัว สดๆ ร้อนๆ

 ให้คิดถึงอาหารเก่าที่ออกมาจากทวารหนักสดๆ ร้อนๆ

 เหมือนกันว่ามันก็เป็นอาหารเหมือนกัน

ถ้าคิดถึงอาหารเก่าอย่าไปคิดถึงอาหารใหม่

มันก็จะทำให้ความอยากอาหารนั้นมันหายไปได้

 แล้วก็จะไม่มีปัญหา กับเรื่องของการรับประทานอาหาร

เวลายังไม่ถึงเวลารับประทาน

หรือเวลาที่ไม่มีอาหารจะรับประทาน

 ก็จะไม่ทุกข์ทรมานใจ

เพราะใจจะไม่มีความอยากรับประทานอาหาร

เพราะทุกครั้งที่อยากรับประทานอาหาร

ก็ให้พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา

 ให้นึกถึงอาหารเก่าที่ออกมาจากทวารหนักเป็นต้น

 ให้พิจารณาอย่างนี้ หรือทำจิตให้สงบด้วยการเจริญสติ

 บริกรรมพุทโธๆ พอนั่งสมาธิจิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ

 ความคิดปรุงเเต่งถึงอาหารต่างๆ นั้นก็จะหายไป ยุติไป

 ความหิวความทรมานใจที่เกิดจากความคิดปรุงเเต่ง

 ถึงเรื่องอาหารก็จะหายไป

ที่มาทดแทนก็คือความอิ่มใจสุขใจ ความสบายใจ

นี่คือการอดอาหารในยามที่อดอยากขาดแคลน

ไม่ได้รับประทานอาหารตามใจอยาก

ไม่ได้รับประทานอาหารตามชนิดที่ชอบ

จะรับประทานก็เลยรับประทานน้อย

หรือไม่รับประทานเลยคือไม่บ่นไม่โวยวาย

ยินดีตามมีตามเกิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารก็ดี

เครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี ยารักษาโรคก็ดี

ได้มาอย่างไรก็พอใจกับสิ่งที่ได้มา ไม่บ่นว่าน้อยไป

ไม่บ่นว่าไม่ถูกใจ ใครให้อะไรมาหรือหาอะไรมาได้

ก็ให้พอใจกับสิ่งที่ได้มาใจจะได้ไม่วุ่นวาย ไม่ต้องดิ้นรน

 ไปเสียเวลากับการหาปัจจัยสี่ที่เป็นสิ่งที่จำเป็น

เฉพาะสำหรับร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใจ

 นี่คือเรื่องของความสันโดษให้ยินดีตามมีตามเกิด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

“สัลเลขธรรม”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 เมษายน 2559
Last Update : 6 เมษายน 2559 10:09:47 น.
Counter : 1421 Pageviews.

0 comment
### การเยี่ยมป่าช้าแบบพระ ###
















“การเยี่ยมป่าช้าแบบพระ ”

เทศกาลเชงเม้งอยู่ช่วงนี้ เสาร์ -อาทิตย์

ญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมสุสาน ไปเยี่ยมป่าช้า

การเยี่ยมป่าช้านี้ก็มีการเยี่ยมหลายแบบ

 เยี่ยมแบบญาติโยมก็เยี่ยมแบบหนึ่ง

เยี่ยมแบบพระก็เยี่ยมอีกแบบหนึ่ง

 เยี่ยมแบบญาติโยมก็ไประลึกถึงอดีตของผู้มีพระคุณ

 เช่น บิดามารดา ปู่ย่าตายาย

ถ้าเยี่ยมแบบพระ ก็ไประลึกถึงอนาคต

คือร่างกายของเรา

 ต่อไปร่างกายของเราก็ต้องไปอยู่ที่สุสาน

ถ้าไม่เอาไปเผา ถ้าเอาไปฝังก็ต้องไปที่สุสานกัน

 การไปเยี่ยมป่าช้าก็เพื่อที่จะเตือนสติ

ให้เราเห็นอนาคตของเรา

ที่จะต้อง เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ก็คือเรื่องของร่างกายของเราที่จะต้องหมดสภาพไป

 เพราะเป็นกฎของธรรมชาติ

ร่างกายนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ทำมาจากดินน้ำลมไฟ ดินน้ำลมไฟก็เป็นธรรมชาติ

ที่ไม่นิ่ง ที่มีการรวมตัวและมีการแยกตัวอยู่เรื่อยๆ

 เช่น น้ำ น้ำนี้มันก็จะรวมตัวกันแล้วก็ตกลงมาเป็นฝน

 แล้วมันก็ระเหยขึ้นไปใหม่ แล้วก็รวมตัวกันเป็นเมฆ

แล้วก็ตกลงมาเป็นฝน เวลามารวมกับดินน้ำลมไฟ

 ก็ปรากฎเป็นร่างกายของสัตว์ ของมนุษย์ขึ้นมา

 สัตว์เดรัจฉานก็มีดินน้ำลมไฟ

ร่างกายของมนุษย์ก็มีดินน้ำลมไฟ

น้ำ เราดื่มตลอดเวลา ลม เราก็หายใจอยู่ตลอดเวลา

 ดิน เราก็รับประทานกันอยู่ทั้งวัน วันละสามสี่มื้อ

 เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เราก็รับประทานอาหาร

 รับประทานขนมนมเนย ของพวกนี้

ก็ทำมาจากดินเป็นส่วนใหญ่ ข้าวก็มาจากดิน

ขนมที่ทำจากข้าวก็มาจากดินเหมือนกัน

 เราเติมดิน เติมน้ำ เติมลม เติมไฟให้กับร่างกาย

 ที่เป็นเหมือนตัวที่รวมของดินน้ำลมไฟ

 การรวมตัวของดินน้ำลมไฟนี้ก็จะอ่อนกำลังไปเรื่อยๆ

ระยะใหม่ๆ จะมีกำลังดึงดูดเข้าหากัน

ทำให้ร่างกายนี้เจริญเติบโต แต่พอถึงขีดสูงสุดแล้ว

กำลังของการดึงดูด การรวมตัวกันของธาตุสี่

ก็จะอ่อนกำลังลง กำลังที่จะแยกธาตุสี่ก็จะมีมากขึ้น

 ร่างกายก็แทนที่จะเจริญเติบโตให้ใหญ่ขึ้น ให้แข็งแรงขึ้น

 ก็เริ่มชราภาพลง เริ่มมีการอ่อนกำลังลงไปตามลำดับ

จนในที่สุด ก็ไม่สามารถรวมตัวอยู่ด้วยกันได้

ธาตุทั้งสี่ ก็ต้องแยกทางกันไป

เวลาคนตายใหม่ๆ นี้ ธาตุที่ไปก่อนก็คือธาตุไฟ

ถ้าไปจับตัวของคนตายนี้ ร่างจะเย็นเฉียบ

แล้วลมก็จะออกไปเรื่อยๆ ลมก็คือกลิ่น

ที่ระเหยออกมาจากร่างกาย

ต่อมาก็น้ำ ก็จะไหลออกมา ถ้าทิ้งไปนานๆ เข้า

 ร่างกายก็จะแห้งกรอบ แล้วก็กลายเป็นดินไป

กลายเป็นฝุ่นไป

นี่คือการไปเยี่ยมป่าช้าของพระ

ซึ่งต่างกับการไปเยี่ยมป่าช้าของญาติโยม

 ของญาติโยมไปจะไม่เห็นร่างกายที่ตายไปแล้ว

แต่พระนี้ จะไปดูร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว

ซึ่งในสมัยพระพุทธกาลนี้ เขาไม่ฝังศพกัน

 เขาเอาศพไปไว้ในป่าช้า ปล่อยให้เสื่อมไป

 ให้ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ถูกสุนัข ถูกสัตว์ต่างๆ มากัดมากินไป

การไปดูป่าช้าแบบนี้นั้น เรียกว่า เป็นการเสริมสร้างปัญญา

 ปัญญาทางพระพุทธศาสนานี้ มีไว้เพื่อตัดกิเลส

 ตัดความหลง ตัดอุปทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดความอยาก

ความหลงก็คือ หลงคิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา

จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น ยึดติดกับร่างกาย

ทำให้เกิดความอยากให้ร่างกายนี้อยู่ไปนานๆ

แต่พอเราไปดูไปเยี่ยมป่าช้า ไปเห็นศพ

เราก็จะเห็นว่าร่างกายนี้ ในที่สุดก็จะต้องตายไป

จะต้องเปื่อย ต้องแยกออกจากกันไป

 ธาตุสี่จะต้องแยกจากกันไป เหลือแต่ธาตุดิน

ธาตุน้ำก็ซึมเข้าไปในดิน ไหลออกมา ซึมเข้าไปในดิน

 ธาตุลมก็ระเหยเข้าไปในอากาศ ธาตุไฟก็หายไป

เหลือแต่ดินให้เราเห็น ก็คือซาก เช่น โครงกระดูก

ถ้าดูอย่างนี้บ่อยๆ มันก็จะทำให้เราติดตาติดใจ

 ทำให้เราเห็นความจริง ทำให้เราปล่อยวางอุปทานได้

เพราะเห็นว่ามันเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

ถ้าเราปล่อยวางได้แล้ว เราก็จะไม่มีความอยากในร่างกาย

 เช่น ไม่มีความอยากไม่ให้เเก่ อยากไม่ให้เจ็บ

อยากไม่ให้ตาย เพราะว่ามันไม่สามารถ

ที่จะเป็นไปตามความอยากได้

อยากไปก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ

เพราะความอยากนี้ เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก็คือ เหตุของความทุกข์ใจนี่เอง

 ว่ามนุษย์เราหรือสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้

ที่มีความทุกข์กันนี้ ไม่ได้ทุกข์จากอะไร

ทุกข์จากความอยากของตนเอง

เวลาเกิดความอยากแล้ว ใจก็จะไม่สบาย ใจจะหงุดหงิด

 ใจจะวุ่นวาย เช่น เวลาเราคิดถึงร่างกายแล้ว

 เห็นความชรา เห็นความเจ็บไข้ได้ป่วย

เห็นความตายที่ติดมากับร่างกาย

ถ้าเรายังมีความอยากอยู่ เราจะไม่สบายใจทันที

 ที่เวลาคิดว่า ร่างกายเราสักวันหนึ่งนี้ จะต้องแก่

 จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย และจะต้องตายไป

นั่นก็เป็นเพราะว่า เรามีความอยาก อยากไม่ให้แก่

อยากไม่เจ็บ อยากไม่ให้ตายนั่นเอง

ก็ที่มีความอยากก็เพราะมีความยึดติด

ยึดติดว่า ร่างกายนี้ เป็นตัวเราเป็นของเรา

 แล้วเหตุที่ทำให้เรายึดติด

 ก็เพราะว่าเราไม่มีปัญญานั่นเอง

 เราไม่เห็นความจริง ไม่เห็นว่าร่างกายนี้

 เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เราได้มาจากพ่อแม่

 แล้วเราก็ใช้ตุ๊กตาตัวนี้ ทำอะไรต่างๆ

พาเราไปตามสถานที่ต่างๆ

 เช่น วันนี้เราก็ให้ร่างกายพาเรามาที่วัด

นี่คือเรื่องของร่างกาย เป็นเหมือนพาหนะ

 เป็นเหมือนเครื่องมือของใจ ใจนี้ ไม่ได้เป็นร่างกาย

 ใจเป็นนาย ร่างกายนี้เป็นบ่าว

ใจก็คือตัวเรานี้เอง เรานี้แหละ เป็นตัวใจ

 เป็นผู้รู้ เป็นตัวสั่งการ สั่งการให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ

 สั่งด้วยความคิด เเต่เนื่องจากเราไม่เข้าใจธรรมชาติของใจ

ว่าความสุข ความทุกข์ของใจนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

 เราก็มักจะผลิตแต่ความทุกข์ออกมา

เนื่องจากเราไปหลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ว่าเป็นสุข

 คิดว่ามีร่างกายแล้ว จะมีความสุข

จะสามารถทำอะไรต่างๆ ได้ ก็เลยไปคิดว่า

 ร่างกายนี้ เป็นตัวเราของเรา

 ก็อยากจะให้ร่างกายนี้อยู่ไปนานๆ

ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย

แต่ธรรมชาติของร่างกายนี้ เขามีวัฏจักรของเขา

เขามีการเกิด มีการแก่ มีการเจ็บ มีการตายเป็นธรรมดา

 ถ้ามองไม่เห็นความจริงอันนี้ หรือไม่ยอมมอง

ก็จะเกิดความกลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย

แต่ถ้ามองอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่บ่อยๆ

 เห็นว่า เป็นยังไงก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างแน่นอน

 ไม่มีทางเลือก ไม่มีทางอื่น แล้วใจก็จะยอมรับความจริง

 พอยอมรับความจริงได้แล้ว ก็จะไม่กลัวความแก่

 กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ปล่อยวางร่างกายได้

ไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

อันนี้คือ อานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะได้รับ

จากการไปเยือนสุสาน ไปเยี่ยมป่าช้า

แบบของพระพุทธศาสนา ไปแล้วต้องไปเห็นคนตาย

เพื่อเราจะได้โอปนยิโก น้อมเอาคนตายนั้น เข้าสู่ร่างกายเรา

 สอนใจเราให้รู้ว่า ต่อไปร่างกายเรา ก็ต้องไปอยู่ที่สุสาน

 ต่อไปร่างกายเรา ก็จะต้องเป็นซากศพ

 เหมือนกับซากศพที่เราเห็นอยู่นี้

ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ใจก็จะสงบ แล้วใจก็จะปล่อยวางได้

 พอปล่อยวางได้แล้ว ที่นี้ก็จะอยู่อย่างสุข อย่างสบาย

 จะไม่ทุกข์ จะไม่หวาดกลัวกับความเป็นไปของร่างกาย

 จะไม่กลัวร่างกายจะตายเมื่อไร จะตายที่ไหน เวลาใด

จะไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย

 จะไม่กลัวความแก่ของร่างกาย

เพราะรู้ว่าใจไม่ได้เป็นร่างกาย

ใจเป็นเพียงผู้ดูแลร่างกายเท่านั้น

เวลาร่างกายแก่ ใจก็ไม่ได้แก่ไปกับร่างกาย

เวลาร่างกายเจ็บ ใจก็ไม่ได้เจ็บไปกับร่างกาย

ใจจะเจ็บก็ต่อเมื่อมีความอยาก

 เช่น เวลาที่ร่างกายเกิดความเจ็บขึ้นมา

ใจเกิดความอยากให้ความเจ็บหายไป

ถ้าเกิดความเจ็บขึ้นมา

ก็จะเกิดความเจ็บที่ใจอีกชั้นหนึ่ง

 เป็นเจ็บสองชั้น เจ็บที่ร่างกายแล้ว

ก็ต้องมาเจ็บที่ใจต่ออีกชั้นหนึ่ง

แต่ถ้าได้รับการฝึกฝนอบรมให้ปล่อยวาง

ความเจ็บของร่างกาย ให้รู้เฉยๆ ว่า ร่างกายเจ็บ

 แต่ใจไม่เจ็บ ให้รู้ว่าความเจ็บของร่างกายนี้

ไม่สามารถถ่ายทอดเข้าสู่ความเจ็บของใจได้

ให้รู้ว่าความเจ็บของใจเกิดจากความอยากของใจเอง

 คือ ความอยากให้ความเจ็บหายไป

 หรือความอยากที่จะหนีจากความเจ็บไป

 ถ้าเกิดความอยากแบบนี้แล้ว

ก็จะสร้างความเจ็บขึ้นมาอีกชั้นภายในใจ

ซึ่งเป็นความเจ็บที่รุนแรง

มีน้ำหนักมากกว่าความเจ็บของร่างกาย

ผู้ที่รู้ความจริงนี้ ก็จะสามารถยับยั้งความเจ็บของใจได้

 แล้วก็จะอยู่กับความเจ็บของร่างกายได้

อย่างไม่สะทกสะท้าน อย่างไม่หวั่นไหว

อย่างไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นความเจ็บส่วนย่อย

ความเจ็บของร่างกายนี้ เป็นความเจ็บส่วนย่อย

แต่ความเจ็บของใจนี้ เป็นความเจ็บส่วนใหญ่

ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้

ด้วยการควบคุมใจให้นิ่งสงบ ไม่ให้เกิดความอยากขึ้นมา

 ด้วยอำนาจของสติ ของสมาธิ และของปัญญา

 ถ้ามีการเจริญสติอยู่เรื่อยๆ มีการนั่งสมาธิอยู่เรื่อยๆ

มีการพิจารณาทางปัญญาอยู่เรื่อยๆ

ว่า ความเจ็บนี้ เป็นอนัตตา คือไม่สามารถไปสั่งเขาได้

 ไม่สามารถไปห้ามไม่ให้ร่างกายเจ็บได้

 ร่างกายจะเจ็บก็ต้องปล่อยเขาเจ็บไป

เหมือนกับเสียงที่ได้ยินตอนนี้ เราไม่สามารถไปสั่งเขา

 ห้ามเขาไม่ให้ส่งเสียงดังได้

 เวลาเขาจะส่งเสียงดังก็ปล่อยเขาส่งเสียงดังไป

 ถ้าใจเราไม่ไปอยากให้เขาหยุด ใจของเราจะไม่วุ่นวาย

ใจของเราจะไม่เดือดร้อน

แต่ถ้าเราอยากให้เขาหยุดแล้วใจของเราก็จะวุ่นวายขึ้นมา

จะทุกข์ขึ้นมาทันที เหมือนกับความเจ็บของร่างกาย

 เวลาร่างกายเจ็บ ถ้าเราอยากจะให้ความเจ็บหายไป

ใจของเราก็จะเกิดความวุ่นวาย เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 ซึ่งเป็นความทุกข์ที่รุนแรงกว่า

 ความเจ็บของร่างกายหลายเท่าด้วยกัน

ดังนั้น ถ้าเราได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 และได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว

 เราก็จะสามารถทำใจของเราให้เป็นอุเบกขาได้

 ทำใจของเราให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้.

 

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖

(ธรรมะบนเขา เล่ม ๑)

“การเยี่ยมป่าช้าแบบพระ ”









ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 04 เมษายน 2559
Last Update : 4 เมษายน 2559 10:42:20 น.
Counter : 511 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ