Group Blog
All Blog
### อยากจะไปพระนิพพานต้องไม่กลัวตาย ###








“อยากจะไปพระนิพพาน

 ต้องไม่กลัวตาย”

การบริจาคทรัพย์ บริจาคความสุขทางร่างกาย

แบ่งปันให้แก่ผู้อื่น เรามีพอเพียงแล้วเราก็ควรจะพอแล้ว

 ไม่ต้องกังวลเรื่องวันข้างหน้ามากจนเกินไป

 ดูสิงสาราสัตว์ดูนกดูอะไร เขาไม่ค่อยกังวล

 กับเรื่องทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง เขาก็อยู่ของเขาได้

 เขาก็หากินของเขาได้อยู่ทุกวัน

เราเป็นมนุษย์ที่มีความรู้ ความฉลาด

มีความสามารถมากกว่าสิงสาราสัตว์ตั้งเยอะแยะไป

 เราจะไปกลัวอดตายทำไม ไม่มีวันอดตาย

ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วถ้าไม่เกียจคร้าน

เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

ที่จะอดกันจริงๆก็เป็นพวกที่งอมืองอเท้า

พวกที่ไม่มีอัตตาหิ อัตโน นาโถ

พวกที่ไม่รู้จักพึ่งตนเองเท่านั้นเอง

ถ้ารู้จักพึ่งตนเองถ้าไม่มีความเกียจคร้าน

 แม้แต่คนที่พิกลพิการเขาก็ไม่อดตายกัน

เขาก็มีความสามารถที่จะเลี้ยงดูอัตภาพ

ร่างกายของเขาไปได้ ดังนั้นอย่าไปวิตกมากจนเกินไป

 ถ้าเราอยากจะบำเพ็ญเต็มรูปแบบ

เราก็ไปอยู่ตามสถานที่ที่มีการเลี้ยงดูเรา

เป็นผู้ชายก็ไปบวชอยู่ตามวัดต่างๆ

เป็นผู้หญิงก็ไปบวชชีอยู่ตามวัดต่างๆ

ตามสำนักต่างๆ ก็มีการดูแลกันไป ไม่มีวันอดตาย

ไม่งั้นจะมีแม่ชีเหลืออยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร

อันนี้คือการเสียสละทางร่างกาย ความสุขทางร่างกาย

 เสียสละทรัพย์ เสียสละอวัยวะ

 เช่นเวลานั่งแล้วรู้สึกเจ็บ ก็ไม่ต้องไปกลัวว่า

เดี๋ยวจะพิกลพิการไป มันจะพิกลพิการก็ให้มันรู้ไป

เวลานั่งดูหนัง นั่งเล่นไพ่กันทั้งคืน

ไม่รู้สึกกลัวว่ามันจะพิกลพิการ

พอมานั่งสมาธินั่งต่อสู้กับทุกขเวทนา

ก็เกิดความกลัวจะพิกลพิการขึ้นมา

หรือเวลาที่จะต้องอดอาหารเพื่อเร่งความเพียร

ก็กลัวจะเป็นโรคกระเพาะบ้าง หรือแม้แต่เพียงแต่มาถือศีล ๘

 แค่นี้ก็กลัวจะเป็นโรคกระเพาะกันแล้ว

ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารตอนค่ำนี้

เดี๋ยวร่างกายจะต้องเป็นโรคกระเพาะ ขึ้นมา

 อันนี้อย่าไปกลัวมัน เสียสละไป ถ้ามันจะเป็นก็ให้มันรู้ไป

 ทำไมคนอื่นเขาปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

จนถึงสมัยนี้ไม่เห็นเขาเป็นกัน

พอเราจะมาปฏิบัติคนเดียว

มันดันจะเป็นขึ้นมาได้ก็ให้มันรู้ไป

 เราต้องมีความกล้าหาญ

ถ้าเราอยากจะได้มรรคผลนิพพาน อยากจะได้ธรรมะ

 เราก็ต้องกล้าที่จะสละอวัยวะ

 สมัยพระพุทธกาลนี้ท่านเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก

ท่านเดินจงกรม ท่านภาวนาจนตาเสีย

บรรลุธรรม ในขณะที่ตาเสีย

บางองค์ท่านบรรลุธรรมในขณะที่ถูกเสือคาบ เสือกัด

นี่แหละคือทางที่จะนำพาเรา

ไปสู่ความสุขความเจริญในทางธรรม

ทางที่จะพาเราไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน

 จะต้องมีการผ่านด่านของความเจ็บของความตายไปกัน

 ถ้าตราบใดเราไม่กล้าไม่ยอมที่จะสละอวัยวะ

ไม่ยอม ที่จะสละชีวิตเราก็อย่าไปหวัง

ความสุขความเจริญทางมรรคผลนิพพานเลย

 อย่างหลวงปู่ขาวท่านก็เคยพูดไว้ว่า

 “นิพพานอยู่ฟากตายนะ”

ถ้ายังกลัวตายอยู่ก็ไม่มีวันที่จะไปถึงพระนิพพานได้

ถ้าอยากจะไปพระนิพพาน ก็ต้องยอมตายไม่ต้องกลัวตาย

แล้วรับรองได้ว่าไม่ตาย สิ่งที่ตายก็คือความกลัวตาย

แต่ร่างกายมันไม่ตาย ความกลัวตายก็คือกิเลสนี่เอง

กิเลสก็คือความรักตัวกลัวตาย

ตัวนี้แลที่จะทำให้การปฏิบัติไม่คืบหน้าไม่ก้าวหน้า

เพราะกลัวกันสารพัดสารเพ

กลัวกันจนกระทั่งไม่กล้าที่จะปฏิบัติกัน

 อันนี้แหละเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่

 ที่ขวางกั้นผู้ที่ปฏิบัติกันส่วนใหญ่

มักจะไม่สามารถข้ามอุปสรรคอันนี้ไปกันได้

เพราะไม่มองดูสรณะที่พึ่งของตน

 ไม่ดูพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ไม่ดูธัมมัง สรณัง

 ไม่ดูสังฆัง สรณัง คัจฉามิกัน

มัวแต่ดูร่างกายของตน

 ตอนดูแลคอยรักษาไม่ให้มันเจ็บไม่ให้มันปวด

ไม่ให้มันพิกลพิการไม่ให้มันตาย

ก็เลยไม่ต้องมาปฏิบัติกัน

 เพราะจะต้องวิตกกังวลอยู่กับเรื่องของสังขารร่างกาย

 เจ็บนิดเจ็บหน่อยก็ไม่ไหวแล้วทนไม่ได้แล้ว

 กลับดีกว่า กลับไปสู่ความสุขแบบเดิมดีกว่า

 กลับไปสู่ห้องปรับอากาศ

กลับไปสู่การรับประทานอาหารวันละ ๓ มื้อ ๔ มื้อดีกว่า

 ไม่เอาแล้วความสุขแบบพระพุทธเจ้า

ชาตินี้คงจะไม่มีวาสนาแล้วขอผัดเอาไว้ก่อน

ขอรอชาติหน้าก่อน พอถึงชาติหน้าก็เจอแบบเดียวกันอีก

 ปัญหาแบบเดิมก็จะได้คำตอบแบบเดิม

 ก็คือขอผัดไปอีก มันก็จะผัดไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะมายอมรับความจริงว่าต้องสละทรัพย์

ต้องสละอวัยวะ ต้องสละชีวิตเท่านั้นถึงจะได้ธรรม

ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไปต่อไป

 อย่างไม่มีวันหมดสิ้น

นี่เป็นความจริง ไม่เชื่อลองพิจารณาดู

 ลองผัดดูเรามีหน้าที่จะต้องทำอะไรแล้วเราผัดมันดู

 มันก็จะผัดไปเรื่อย ถ้าไม่อยากจะทำแล้วมันก็หาเหตุผัดไปเรื่อย

 ร้อนบ้าง ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หิวเกินไป อิ่มเกินไป

 ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีอะไรที่มันพอดีสักที

 พอจะพอดีขึ้นมาก็ง่วงนอนเสียแล้วอยากจะนอนอีก

 นี่คือลักษณะของผู้ที่ไม่มีความเสียสละอยู่ภายในใจ

 ถ้ามีการเสียสละแล้วจะไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรค

ตื่นขึ้นมาก็ลุยเลย ลุยตั้งแต่ยังไม่ลุกขึ้นจากเตียง

 ตื่นขึ้นมาก็ตั้งสติไว้ก่อนแล้ว พุทโธๆไว้ก่อน

ดึงใจไว้ ให้อยู่กับร่างกายไว้ก่อน

ไม่ให้ลอยไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ให้ไปอดีตที่ผ่านมาแล้ว

ไม่ให้ไปหาอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ให้ใจอยู่กับร่างกาย

ให้อยู่กับพุทโธให้อยู่กับปัจจุบัน

 เพราะปัจจุบันเท่านั้นที่จะทำให้ใจนิ่ง ให้ใจสงบให้ใจว่างได้

 คอยดึงใจเอาไว้อยู่กับพุทโธก็ได้

 อยู่กับเคลื่อนไหวกับการกระทำของร่างกายก็ได้

ในขณะที่ต้องทำภารกิจ ที่จำเป็นในแต่ละวัน

 พอเวลาว่างจากภารกิจของการดูแลรักษาอัตภาพ

ก็มาดูแลรักษาจิตใจกันต่อไป

ด้วยการเดินจงกรมบ้าง ด้วยการนั่งสมาธิบ้าง

ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะบ้างสลับกันไป

 ทำมันอย่างนี้ไปอย่าไปทำอย่างอื่น

ถ้าอยากจะเจริญทางธรรมก็ทำเฉพาะแค่นี้เท่านั้น

 ถ้าไม่พิจารณาธรรม ก็ให้ทำใจให้สงบ

ถ้าไม่ได้ทำใจให้สงบก็ให้เจริญสติอยู่เรื่อยๆ สลับกันไป

 เดินจงกรม นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะ

แล้วใจก็จะเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ

แล้วก็จะออกมรรคออกผลขึ้นมา เหมือนกับการปลูกต้นไม้

ถ้าเราหมั่นพรวนดินหมั่นเติมน้ำรดน้ำอยู่เรื่อยๆ

 คอยกำจัดวัชพืชต่างๆ ที่จะมาคอยแย่งอาหารของต้นไม้ไป

 ต้นไม้ก็จะมีแต่จะโตวันโตคืน

แล้วไม่นานมันก็จะออกดอกออกผลมา

 นี่ก็เล่มเดียวกัน การบำเพ็ญของเรา

ถ้าเราบำรุงด้วยสติ บำรุงด้วยสมาธิ

บำรุงด้วยปัญญาอย่างต่อเนื่อง

 ผลต่างๆ ก็จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน

 สมาธิระดับต่างๆ ปัญญาระดับต่างๆ การหลุดพ้นระดับต่างๆ

 ก็จะเป็นผลที่ตามมาตามลำดับ

ไม่มีอะไรที่จะมาขัดขวางการเจริญของธรรมเหล่านี้ได้

 ถ้ามีความเพียร มีความเสียสละที่จะบำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง

ทุกครั้งที่มีภารกิจทางร่างกายหรือทางโลกมาคอยดึงไป

 ก็ต้องตัดไปต้องสละไป

ภารกิจเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้ ก็ให้ถือว่าเป็นการเสียสละ

เสียสละความสุขทางโลก

เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลา

เพื่อที่เราจะได้ มีเวลามาบำเพ็ญทางธรรมกัน

 ต้องสละหมด เรื่องของสามี เรื่องของภรรยา

เรื่องของบุตรของธิดา ของญาติสนิทมิตรสหาย

 ใครจะแต่งงาน ใครจะมีงานวันเกิด ใครจะตาย

 ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่ต้องไป

ใครจะด่าใครจะว่าก็ยอมรับเพียงอย่างเดียวไม่ปฏิเสธ

 เขาว่าเราไม่ดีก็ยอมรับว่าเราไม่ดีในสายตาเขา

 แต่ในสายตาของเรา ในสายตาของพระพุทธเจ้า

เรารู้ว่า เราดีก็แล้วกัน เพราะเราดีแบบพระพุทธเจ้า

เราไม่ได้ดีแบบคนนั้นคนนี้เราดีแบบพระรัตนตรัย

 ดีตามพระพุทธเจ้า ดีตามพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 ถ้าเราจะมาทางนี้เราต้องพยายามคำนึงถึง

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นหลัก

 อย่าไปคำนึงถึงคนนั้นคนนี้ เพราะเขาไม่รู้เรื่อง

เรื่องที่เขารู้เป็นเรื่องของยาพิษทั้งนั้น

เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น

เขาไม่รู้เรื่องของการหลุดพ้นจากความทุกข์ว่าเป็นอย่างไร

ถ้าเรามากังวลกับความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้าน

เราก็จะไม่มีวันที่จะเล็ดลอดออกจากบ่วงของมารไปได้

 เราก็จะถูกบ่วงของมารดึงเอาไว้ให้ติดอยู่กับ

การเวียนว่าย ตายเกิดอย่างไม่มีวันจบ

ผู้ที่ต้องการจะหลุดพ้นจากวัฏฏะ

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ ที่จะอยู่คนเดียวได้

ที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร พึ่งพาเพียงอย่างเดียว

คืออัตตาหิ อัตโน นาโถ พึ่งพาอาศัยพระรัตนตรัย

คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ดูว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ท่านบำเพ็ญอย่างไร

 ท่านเกาะติดอยู่กับคนนั้นคนนี้เกาะติดอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้

หรือว่าท่านสลัดทิ้งไปหมด

ท่านอยู่ในบ้านในเมืองอยู่กับสังคม

อยู่กับภารกิจการงานต่างๆ

หรือท่านอยู่กับการปลีกวิเวก

 อยู่กับการอยู่ตามลำพังอยู่กับการบำเพ็ญ

อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรที่จะยึดเป็นแบบเป็นฉบับเป็นที่พึ่งของเรา

 ทุกครั้งที่เราคิดถึงโลก ก็ขอให้เราคิดถึง

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมาเวลาแก่ เวลาเจ็บ เวลาตาย

 เวลาเราแก่ เวลาเราเจ็บ เวลาเราตาย

ความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้าน

เขามาดับความทุกข์ภายในใจของเราได้หรือเปล่า

 เขาช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้หรือเปล่า

 แต่ถ้าเวลาเราแก่ เราเจ็บ เราตาย

ถ้าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ภายในใจของเรา

 เราจะดับความทุกข์ภายในใจของเราได้

เราจะไม่ทุกข์กับความแก่ จะไม่ทุกข์กับความเจ็บ

จะไม่ทุกข์กับความตาย ดังนั้นเราต้องตัดให้หมด

สละให้หมด อย่าไปหวงไปแหน อะไรไว้เลย

 เพราะมันเป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจของเราทั้งนั้น

 ลาภยศ สรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ที่เราได้รับจากบุคคลนั้นบุคคลนี้ จากบิดาจากมารดา

 จากสามีจากภรรยา จากบุตรจากธิดา

ขอให้คิดว่าเราได้ตายจากเขาไปก็แล้วกัน

เหมือนกับเราไปประสบอุบัติเหตุรถคว่ำตายไป

 พอเราตายแล้ว เขากับเราก็ไม่มีวันที่จะติดต่อกันได้อีกแล้ว

 เขาก็ต้องอยู่ตามสภาพของเขาไป

เราก็ต้องอยู่ตามสภาพของเราไป

ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็จะตัดได้

ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้เราก็จะไม่มีวันที่จะตัดได้

เพราะมันก็จะมีเรื่องที่จะมาคอยอ้าง

 ตัดพ่อตัดแม่อย่างนี้ก็แสดงว่าไม่มีความกตัญญูกตเวที

 ไม่มีความรักพ่อรักแม่ เวลาอยู่มันเคยรักพ่อรักแม่ที่ไหน

 มันเคยสนใจพ่อแม่มันที่ไหน มันก็ห่วงแต่ลูกห่วงแต่เมียมัน

 ห่วงแต่เรื่องกินเรื่องเที่ยวเรื่องอยู่ของมันเสียมากกว่า

 พอจะมาตัดเสียหน่อยก็มาอ้างว่า ไม่กตัญญู

ไม่รักพ่อไม่รักแม่ขึ้นมา

 แต่เวลาอยู่มันเคยสนใจพ่อสนใจแม่ไหม

มันจะสนใจก็ตอนที่ไม่มีเงินเท่านั้น

 เวลาเดือดร้อนก็มาหาพ่อหาแม่ มาขอความช่วยเหลือ

แต่เวลาไม่เดือดร้อนก็บ๊ายบาย

ความจริงมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

นี่พูดไว้เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาที่จะตามมา

เวลาที่เราอยากจะออกบำเพ็ญ อยากจะออกปฏิบัติกัน

จะได้ไม่ต้องมาติดอยู่กับกับดักของกิเลส

ที่มันจะคอยสกัดคอยกั้น ไม่ให้เราได้ออกบำเพ็ญกัน

 เวลาทำอย่างอื่นไม่เคยมาคิดถึงพ่อถึงแม่

ไม่เคยคิดถึงสามีถึงภรรยาถึงลูก

เวลาเพื่อนมาชวนไปงานโน้นงานนี้ไปคนเดียวไปได้

 ลูกเมียสามีภรรยาทิ้งไว้ที่บ้านได้

พ่อแม่ทิ้งไว้ที่บ้านได้ เรื่องไปเที่ยวนี้ไปได้

แต่พอเรื่องไปบำเพ็ญนี้ไปไม่ได้ต้องเอาไปทั้งครอบครัว

 อันนี้แหละคือเรื่องของกิเลสตัณหา

ที่มันจะคอยสกัดคอยกั้นไม่ให้เราได้ออกบำเพ็ญกัน

 คนที่ฉลาดรู้ทันกิเลสเท่านั้น

ถึงจะเล็ดลอด ออกจากบ่วงของมารของกิเลสได้

แต่ก็มีน้อยดูจำนวนของคนที่ออกบวชกับคนที่ไม่ได้ออกบวช

 ก็เป็นคนเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน

มีสติปัญญาความรู้ความสามารถใกล้ๆกันพอกัน

 เรียนหนังสือก็จบปริญญาได้เหมือนกัน

 แต่ทำไมเวลาออกบวชทำไมออกไม่ได้เหมือนกัน

 ก็เพราะมาแพ้บ่วงของมารตัวนี้

แพ้เพราะว่าไม่กล้าที่จะเสียสละ

 อาจจะเป็นเพราะว่าไม่รู้คุณค่าของการเสียสละ

ไม่รู้คุณค่าของการบำเพ็ญไม่รู้ว่า คุณค่าของผลที่จะได้รับ

จากการบำเพ็ญคือมรรคผลนิพพานนี้ยิ่งใหญ่มโหฬาร

กว่าลาภยศ สรรเสริญ สุขทางโลก

อีกกี่หลายร้อยกี่หลายพันเท่า

เพราะไม่เคยได้สัมผัสกับผลที่ได้รับ จากการบำเพ็ญนั่นเอง

 ไม่เคยได้สัมผัสกับความเจริญกับความสุขของทางจิตใจ

 จึงไม่เห็นคุณค่า ถ้าลองได้สัมผัสรับรู้

กับผลที่จะเกิดจากการได้บำเพ็ญได้ปฏิบัติได้ทำใจให้สงบ

ก็จะเห็นคุณค่าแล้วก็จะมีความกล้าหาญ

ที่จะเสียสละความสุขทุกรูปแบบไปให้หมด

เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ต่อต้านกัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗

“วิถีแห่งการเสียสละเพื่อให้ได้ธรรม”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 มิถุนายน 2559
Last Update : 30 มิถุนายน 2559 14:42:11 น.
Counter : 1047 Pageviews.

0 comment
### ลดความวุ่นวายของชีวิตลงบ้าง ###








 

ลดความวุ่นวายของชีวิตลงบ้าง


มองให้ดีจะพบว่าความวุ่นมักเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง

 ทั้งโดยการหากิจกรรมหรือสิ่งเสพต่าง ๆ

มาทำให้วุ่น และโดยการเร่งรีบทำสิ่งต่าง ๆ

 จนเกิดความรู้สึกวุ่นขึ้นมา

ประการหลังนี้ถูกตอกย้ำให้เป็นหนักขึ้นเมื่อมีทัศนคติว่า

 “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” หรือ “เวลาเป็นของมีค่า”

คนมีเงินจะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทัศนคติดังกล่าว

 ดังนั้นจึงคอยไม่เป็นและเร่งรีบจนเป็นนิสัย

 หนักกว่านั้นก็คือจะไม่ยอมเสียเวลา

ไปกับสิ่งที่ไม่ “เป็นเงินเป็นทอง”

จึงทนไม่ได้กับการนั่งเล่น เดินเล่น ปลูกต้นไม้

 บางคนแม้แต่จะพูดคุยกับลูกเมีย ก็ไม่มีเวลาให้

เพราะกลัวว่าจะเสียเวลาทำมาหากิน

(แม้แต่เด็ก ๆ ก็ติดทัศนคติแบบนี้มากขึ้นทุกที

 เด็กคนหนึ่งเมื่อถูกถามว่าทำไมไม่คุยกับพ่อบ้าง

 คำตอบก็คือ “คุยแล้วไม่ได้คะแนน ก็เลยไม่รู้จะคุยทำไม)

คนที่คิดแบบนี้จึงชอบหมกมุ่นกับงาน

 หรือไม่ก็หางานมาทำตลอดเวลา

 หรือทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน

ถ้าหยุดหรือมีเวลาว่างเมื่อไรก็จะไม่สบายใจหรือรู้สึกผิด

 เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตจะไม่วุ่นได้อย่างไร

ชีวิตจะหายวุ่นและมีเวลาว่างมากขึ้น

จึงอยู่ที่ตัวเราเป็นสำคัญ

ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ผู้คนแวดล้อม

หรือแม้แต่อาชีพการงาน

(การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า

คนอเมริกันในปัจจุบันใช้เวลากับการทำมาหากินน้อยลง

เมื่อเทียบกับ ๔ ทศวรรษที่แล้ว แต่กลับรู้สึกวุ่นมากกว่า)

ดังนั้นถ้าอยากให้ชีวิตวุ่นน้อยลง

 อย่างแรกที่ทำได้เลยคือลืมไปเสียบ้างว่า

 “เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

 ถึงแม้สิ่งที่ทำจะไม่ให้ผลงอกเงยเป็นเงินทอง

 ก็ควรทำด้วยความใส่ใจ ไม่เร่งรีบ

พึงตระหนักว่า “ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด”

 คือทำทุกอย่างในปัจจุบันให้ดีที่สุด

 แม้จะเป็นแค่การล้างมือ อาบน้ำ หรือถูฟัน

เงินทองนั้นสำคัญก็จริงอยู่ แต่ที่สำคัญกว่านั้น

คือความสุขใจอันเกิดจากจิตที่ผ่อนคลาย เป็นสมาธิ

อย่าลืมว่ามีเงินมากเท่าไรก็ซื้อความสุขใจไม่ได้

การมีเวลาให้ใจได้อยู่นิ่ง ๆ และผ่อนคลาย

 เช่น ทำสวน เดินเล่น ทำโยคะ หรือนั่งสมาธิ

 เป็นการทำให้เวลามีค่ายิ่งกว่าเงินทองเสียอีก

ควบคู่กันไปก็คือการทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ

การทำหลายอย่างพร้อมกัน

นอกจากจะทำไม่ได้ดีสักอย่างแล้ว

ยังทำให้จิตเป็นสมาธิได้ยาก

การแบ่งความใส่ใจให้แก่หลายสิ่งในเวลาเดียวกัน

ทำให้เกิดความรู้สึกเครียดและวุ่นได้ง่าย

ถึงเวลาจะพักจิตให้สงบก็ทำไม่ได้

 จึงกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ.

พระไพศาล วิสาโล








ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 มิถุนายน 2559
Last Update : 30 มิถุนายน 2559 11:27:18 น.
Counter : 724 Pageviews.

0 comment
### มักน้อย สันโดษ ###









“มักน้อย สันโดษ”

การที่จะแก้ปัญหาของความโลภ

ของความอยากของความโกรธนั้น

ต้องแก้ที่ต้นของความโลภ ของความโกรธ ของความอยาก

ก็คือความหลง ความหลงคืออะไร คือเห็นผิดเป็นชอบ

 เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง

 เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ของเราว่าเป็นของเรา

 เห็นสิ่งที่ว่าไม่ใช่ตัวเรา ว่าเป็นตัวเรา

เห็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ใต้ควบคุมบังคับของเรา

ว่าอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา

ก็เลยทำให้เกิดความอยากต่างๆ ขึ้นมา

อยากได้สิ่งต่างๆ ที่หลงคิดว่าจะให้ความสุขกับตน

 แต่พอได้มาแล้ว ถึงจะรู้ว่า

มันไม่ได้เป็นความสุขเพียงอย่างเดียว

 มันเป็นความทุกข์ด้วย เพราะมันไม่เที่ยง

มันไม่ถาวร มันไม่เหมือนเดิม มันมีการเปลี่ยนแปลง

มีการเสื่อม และมีการหมดไป

มันไม่อยู่ภายใต้คำสั่งคือความอยาก

ที่จะให้มันอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ให้ความสุขตลอดเวลา

นี่แหละคือสิ่งที่จะต้องมาแก้กันก็คือมาแก้ความหลง

 มาสอนให้ใจเห็นความจริงว่าสิ่งที่ใจหลง

คิดว่า เป็นความสุขนั้นเป็นความทุกข์

เพราะไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง

 เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมบังคับได้

 อะไรล่ะ ที่เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ไม่เที่ยง

และไม่สามารถอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของใจได้

ก็คือลาภยศ สรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี่เอง

 ที่วุ่นวายกันก็วุ่นวายกับเรื่องลาภยศ สรรเสริญ

วุ่นวายกับความสุขทาง ตาหูจมูกลิ้นกาย

เเก่งเเย่งชิงดีกันทำสงครามฆ่าฟันก็เพื่อได้ลาภยศ สรรเสริญ

 ได้ความสุขทาง ตาหูจมูกลิ้นกายนี่เอง

แล้วเมื่อได้มาแล้วก็ไม่ได้มีความสุขอยู่ดี

เพราะเมื่อได้มาแล้วก็ต้องพบกับความเสื่อม

 ของลาภยศ สรรเสริญ

ของความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ดี

 แล้วเมื่อพบความเสื่อมก็ต้องหาใหม่

หาใหม่ก็ต้องเกิดการแข่งขันกันแก่งเเย่งชิงดีกัน

 ก็เกิดความรบราฆ่าฟันกันอีกรอบ

ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ บ้านเมืองทุกยุคทุกสมัย

ตั้งแต่อดีตอันยาวนานมาจนปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

ที่ไม่มีวันหมดไม่มีวันสิ้น

ก็จะมีความวุ่นวายอย่างนี้ไปอยู่เรื่อยๆ

 มีความวุ่นวายสลับกับความสงบ

สงบแล้วก็วุ่นวาย วุ่นวายแล้วก็สงบ

ดังนั้นการที่เราจะไปวุ่นวายกับเขา

ก็จะไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงความวุ่นวาย

เพราะว่าความวุ่นวายเขามีเหตุมีปัจจัย

ที่ทำให้เขาต้องวุ่นวายกันและเมื่อถึงขีดหนึ่ง

มันก็จะถึงขีดที่มันสงบลงไปเอง

 เหมือนกับพายุฝน เวลาพายุฝนมา

ก็จะไม่มีใครที่จะไปหยุดยั้งได้

แต่พายุฝนก็ไม่ได้พัดอยู่ตลอดเวลา

 เดี๋ยวก็อ่อนกำลังลงไปแล้วก็หมดกำลังลงไป

แล้วความสงบก็กลับคืนมาใหม่แล้วอีกไม่นาน

ก็มีพายุฝนลูกใหม่เกิดขึ้นมาใหม่ เกิดความวุ่นวายอลหม่าน

โกลาหลกันขึ้นมาใหม่ แล้วก็สงบตัวลงไปใหม่

นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ที่เรียกว่าอนิจจัง

 ก็คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ

 เป็นอนัตตาก็คือไม่สามารถที่จะไปควบคุม

บังคับไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

 ไม่สามารถที่จะให้ความสุขได้ตลอดเวลา

จะต้องมีการสลับกันไป สุขบ้างทุกข์บ้างอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 แต่มีความสุขที่ไม่มีวันเสื่อม

มีความสุขที่สามารถอยู่ภายใต้การควบคุม บังคับของใจได้

 แต่ไม่รู้กันเพราะความหลง

ไม่มีใครสอนหรือมีคนสอนก็ไม่มีคนสนใจที่จะศึกษากัน

 ถ้ามีความสนใจศึกษาเข้าหาผู้รู้ความจริง

ของความสุขที่แท้จริงของความสุขที่ไม่มีวันเสื่อม

 ไม่มีวันหมดไป ของความสุขที่สามารถควบคุมบังคับ

ให้อยู่กับใจได้ไปตลอด

 ก็คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจนี่เอง

 เกิดจากการระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง

ถ้าใจปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว

 ใจก็จะตั้งอยู่ในความสงบ เมื่อใจสงบใจก็จะได้ความสุข

ที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้

ที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นเพราะว่า เป็นความสุขที่ไม่เสื่อม

 เป็นความสุข ที่ไม่เปลี่ยนแปลง

 ไม่มีความทุกข์เข้ามาผสมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 เป็นความสุขล้วนๆเป็นความสุขที่บริสุทธิ์

เหมือนทองคำที่บริสุทธิ์

แล้วก็เป็นความสุขที่สามารถรักษาไว้ได้

ให้อยู่กับตนได้ไปตลอด

 อันนี้เป็นสิ่งที่ ต้องศึกษากัน

 แล้วต้องปฏิบัติให้เข้าถึงความสุขอันนี้ให้ได้

 ถ้าเข้าถึงความสุขอันนี้ได้ทุกคนแล้ว

บ้านเมืองก็จะอยู่กันอย่างสันติสุขไปไม่มีวันสิ้นสุด

 แต่ถ้าไม่เข้าถึงความสุขอันนี้บ้านเมืองก็จะวุ่นวายไป

 ไม่มีวันสิ้นสุดไปเช่นเดียวกัน

 วุ่นวายแล้วก็สงบ สงบแล้วก็วุ่นวายใหม่

 วุ่นวายเพราะต้องต่อสู้กัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ไป

ความสงบก็กลับมาชั่วคราว

พออีกฝ่ายหนึ่งมีกำลังมากขึ้นก็กลับมาต่อสู้กันใหม่

และเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดกำลังแพ้ไป

ความสงบก็กลับมาใหม่

แล้วก็พออีกฝ่ายหนึ่งมีกำลังเพิ่มมากขึ้น

ก็กลับมาต่อสู้กันใหม่ ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ไม่มีวันที่จะจบไม่มีวันที่จะสิ้น

 ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ถึงธรรมชาติของโลกนี้

จึงไม่ไปเดือดร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ

 ที่ปรากฏขึ้นอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเจริญก็ดี

หรือความเสื่อมก็ดี ไม่ว่าจะเป็นความสงบหรือความวุ่นวายก็ดี

มันเป็นของคู่กัน มันเป็นของที่มาด้วยกัน

ผลัดกัน แสดงเท่านั้นเอง

 ถ้าไปติดอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ

อาศัยเหตุการณ์ต่างๆ อาศัยสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

ให้ความสุขกับตน เช่นอาศัยลาภ ยศ สรรเสริญ

อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไว้ให้ความสุขกับตน

ก็จะต้องพบกับความเจริญ

และพบกับความเสื่อมของสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ก็จะต้องสัมผัสกับความสุข เวลาที่เจริญ

และสัมผัสกับความทุกข์ เวลาที่เสื่อมลงไป

ถ้าตราบใดยังมีความผูกพันอยู่กับลาภยศ สรรเสริญ

 ผูกพันกับความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กายอยู่

ตราบนั้นก็ยังจะต้องพบกับความทุกข์

ที่เกิดจากการเสื่อมของลาภยศ สรรเสริญ ของความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุดไม่มีวันจบ

นักปราชญ์หรือผู้ฉลาด ผู้ที่เห็นความเสื่อม

ของลาภ ยศ สรรเสริญสุข จึงไม่ไปยึดติด

กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จึงเข้าหาความสุขที่แท้จริง

ก็คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

 ที่เกิดจากการระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไป

ด้วยการเจริญธรรมะที่จะมาเป็นคู่ต่อสู้หรือเครื่องมือ

 ที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ ให้หมดสิ้นไป

ธรรมะพื้นฐานที่ควรจะมีคือ ความมักน้อย สันโดษ

ถ้ามีความมักน้อย สันโดษแล้ว

จะสามารถควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่ไม่ไปสร้างความวุ่นวาย

 สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นได้

แต่ยังต้องอาศัยธรรมะอย่างอื่นเข้ามาช่วยมาเสริม

มาเพื่อที่จะได้ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจ

แต่ในขณะที่ปฏิบัตินี้จำเป็นจะต้องถือหลักมักน้อยสันโดษไว้

 เป็นพื้นฐาน แล้วจะทำให้การปฏิบัติเพื่อกำจัด

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ นี้

เป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาความสงบ ความสุขอันยิ่งใหญ่ของใจ

จึงเป็นจะต้องยึดหลักมักน้อย สันโดษ

คำว่ามักน้อย ก็คือไม่ต้องการมากจนเกินไป

ต้องการเพียงแต่เท่าที่จำเป็น

ต่อการดำรงชีพของร่างกายเท่านั้นปัจจัย ๔ ก็พอให้อยู่ได้

 พอให้ไม่ตาย ไม่ต้องมีมากจนเกินไป

ไม่ต้องวิเศษหรูหราแบบที่ไม่มีเหตุไม่มีผล

นี่คือความมักน้อย ความสันโดษ

ก็แปลว่า ยินดีตามมีตามเกิด

ถ้าไม่สามารถได้ตามความต้องการ

ตามความจำเป็นของร่างกาย

ได้น้อยกว่าที่ควรจะได้ก็ขอให้ทำใจให้พอใจ

กับสถานภาพนั้นไป ก็จะสามารถควบคุมใจ

ไม่ให้ไป ก่อเรื่องวุ่นวายต่างๆให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้

 ที่ออกมาวุ่นวายกัน ออกมาสร้างความวุ่นวาย

สร้างความเดือดร้อน ให้แก่ผู้อื่น

ก็เพราะความไม่มีความมักน้อย สันโดษนั่นเอง

 มีแต่ความอยากได้มากๆ มีความอยาก

ไม่ว่า จะได้เท่าไหร่ ก็ไม่มีคำว่า “พอ”

อันนี้แหละเป็นสิ่งที่แรกที่ ควรจะเจริญกัน

คือความมักน้อย สันโดษ พอมีพอกิน

สมมุติว่าต้องกินวันละ ๓ มื้อ ถ้าหาได้เพียง ๒ มื้อก็กิน ๒ มื้อไป

 ถ้าไม่ตายก็ถือว่าก็ใช้ได้ ถ้าตายก็คิดว่าถึงเวลา

 ที่จะต้องตายไป เพราะว่าไม่ว่าจะกิน ๓ มื้อหรือ ๕ มื้อ

 หรือ ๑๐ มื้อ ถึงวเลาที่จะต้องตายก็ตายเหมือนกัน

 กินมื้อเดียวถึงเวลาที่จะต้องตายก็ตาย

 กิน ๕ มื้อ ถึงเวลาจะต้องตายก็ตายเหมือนกัน

ดังนั้นความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่จะต้องมาเป็นเหตุ

ที่จะทำให้เราต้องไปทำความโลภ ความโกรธ ความหลง

ทำตามความโลภ ทำตามความโกรธ ทำตามความหลง

 ไปทำผิดศีลธรรม ทำผิดกฎกติกาของบ้านเมือง

ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาต่อไป

พอเรามีความมักน้อย สันโดษแล้วเราก็จะได้ปฏิบัติ

ตาม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนได้คือ ทำทาน

แบ่งปันทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

ที่เรามีเกินความจำเป็นไปได้

 ถ้าไม่มีความมักน้อยก็จะหวงแล้วก็อยากจะได้มากๆ

 มีพอแล้วก็ยังไม่พอ มีพอเพียงต่อการดำรงชีพแล้ว

 แต่ก็จะไม่พอ ก็อยากจะได้มากขึ้นไปอีก

เมื่อมีความอยากจะได้มากขึ้นไปอีก

ก็ต้องไปแก่งแย่งชิงดีไปแข่งขันกัน ไปมีปัญหาต่อกัน

 แต่ถ้ามีความมักน้อยสันโดษ ถ้ามีมากเกินความจำเป็น

ก็จะเอาไปแบ่งปันกัน แทนที่จะไปแก่งแย่งกัน

กลับเอาไปแบ่งให้แก่ผู้อื่น

 แทนที่จะเกิดปัญหากลับทำให้ผู้อื่นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข

 ให้แก่ผู้ที่เขาขาดแคลนผู้ที่เขาเดือดร้อน

เมื่อผู้ที่ขาดแคลนเดือดร้อนได้รับการดูแล

ได้รับการช่วยเหลือ เขาก็จะไม่ออกมาสร้างความวุ่นวาย

ให้แก่บ้านแก่เมือง แต่ถ้าไม่มีความมักน้อย สันโดษ

ต่างคนต่างอยากจะได้มาก ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ

คนที่มีแล้วก็ออกมาสร้างความวุ่นวาย

 คนที่มีแล้วไม่พอก็ออกมาสร้างความวุ่นวาย

เพราะทุกคนมีความต้องการสิ่งเดียวกัน

ก็มีการแก่งแย่งชิงดีมีการต่อสู้กัน

 ถ้าไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพศีลธรรม

ก็จะกลายเป็นสงครามขึ้นมาเป็นสังคมของเดรัจฉานไป

 ใครมีกำลังมากกว่าก็จะมีโอกาส

ที่จะได้มากกว่าคนที่มีกำลังน้อยกว่าก็ต้องอดไป

อันนี้เป็นสิ่งที่จะตามมาต่อไป

ถ้าสังคมไม่เข้าหาธรรมะ

ไม่ปฏิบัติ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ความโลภ ความโกรธ ความอยากต่างๆ

จะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 เพราะความหลงไม่ได้รับการเยียวยาไม่ได้รับการแก้ไข

 ไม่ได้รับการกำจัดนั่นเอง

 คือไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนี้ อยู่ที่ความสงบของใจ

 อยู่ที่การละความโลภ ความอยาก ความโกรธต่างๆ

ด้วยการอยู่แบบมักน้อย สันโดษ ด้วยการทำทาน

 ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา

 ถ้าไม่ได้รับข้อมูลอันนี้ก็จะหลง

กับการไปหาลาภยศ สรรเสริญ

หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอย่างไม่มีขอบไม่มีเขต

 เพราะความอยากนี้ไม่มีขอบไม่มีเขตนั่นเอง

 ไม่ว่าจะได้มามากน้อยเพียงไร

ภายในใจก็จะมีความรู้สึกว่าไม่พออยู่ดี

ได้ล้านหนึ่งก็ไม่พอ ได้สิบล้านก็ไม่พอ ได้ร้อยล้านก็ไม่พอ

 ได้พันล้านหมื่นล้านก็ไม่พอ จะไม่มีวันพอ

 เพราะความอยากโดยธรรมชาติของเขา เป็นอย่างนั้น

ความอยากไม่มีขอบไม่มีฝั่งไม่เหมือนกับน้ำทะเลมหาสมุทร

ถึงแม้ว่าจะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนก็ตาม

ก็ยังมีขอบมีฝั่งแต่ความโลภ ความอยากนี้ไม่มีขอบไม่มีฝั่ง

 ยิ่งได้ยิ่งทำให้อยากได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

คนบางคนจึงมีเงินมากกว่าที่เขาจะสามารถใช้ได้อีก ๑๐๐ ชาติ

 ๑,๐๐๐ ชาติ แต่เขาก็ยังหยุดความอยากได้เพิ่มขึ้นไม่ได้

 เพราะอำนาจของความอยากนี้มันรุนแรง

มันครอบงำจิตใจแล้วความอยากนี่แหละ

เป็นตัวที่ผลิตความเครียดผลิตความวุ่นวายใจ

 ผลิตความกระสับกระส่ายกระวนกระวาย

ให้เกิดขึ้นอยู่ภายในใจ อยู่ตลอดเวลา

 แทนที่จะมีความสุขจากมีสมบัติ

ข้าวของเงินทองกองเท่าภูเขา

กลับมีความทุกข์กองเท่าภูเขา

กดดันจิตใจอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้สึกตัว

 และไม่รู้จักวิธีแก้ ไม่รู้ว่าเหตุที่ทำให้ตนเองนั้น

มีแต่ความเครียด มีแต่ความวุ่นวายนั้น

ก็คือความอยากได้มากๆนี่เอง

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมนี้

ให้เจริญความมักน้อย สันโดษไว้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ

 ให้ต้องการในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“มักน้อย สันโดษ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 มิถุนายน 2559
Last Update : 29 มิถุนายน 2559 10:20:12 น.
Counter : 811 Pageviews.

0 comment
### มรดกอันเลิศจากพ่อแม่ ###










“มรดกอันเลิศจากพ่อแม่”

บุญและกุศลเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญ

 ต่อการอยู่อย่างร่มเย็น เป็นสุขต่อความเจริญก้าวหน้า

 ต่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ความวุ่นวายใจทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พุทธศาสนิกชน

หมั่น สร้างบุญสร้างกุศลอยู่เสมอ

“บุญและกุศลนี้เป็นคำพูดที่ใช้คู่กัน

 แต่มีความหมายที่ต่างกัน

 บุญนี้แปลว่าความสุขใจ

กุศลนี้แปลว่าความฉลาดแปลว่าปัญญา”

ดังนั้นเวลาเราทำอะไรเราต้องเข้าใจว่า

เรากำลังทำอะไรอยู่ทำบุญหรือสร้างกุศล

 ถ้าบุญนี้ก็หมายถึง การสร้างความสุขให้กับใจของเรา

 การที่ใจของเราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อ

เราได้ให้ความสุขแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น

 สงเคราะห์ผู้อื่นถึงจะทำให้ใจของเรามีความสุข

 เช่นการดูแลบิดามารดา ผู้มีพระคุณ

 เลี้ยงดูลูกหลาน ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส

ผู้ที่มีวัยสูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้

 การช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น

โดยที่เราไม่ได้เรียกร้องสิ่งตอบแทนเลย

ถึงจะเรียกว่าเป็นบุญ เป็นความสุขใจ

 แต่ถ้าเราทำแล้วเราหวังผลตอบแทน

 เช่นเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะอยากจะได้มรดกอย่างนี้

ถ้าเกิดพ่อแม่ ไม่ให้มรดกก็จะเสียใจ

 หรือพ่อแม่จะเอาเงินไปทำบุญก็ไม่อนุโมทนา

 ดีอกดีใจมีความสุขใจไปด้วย เพราะเสียดายเงิน

 เพราะคิดว่าเงินของพ่อแม่นั้นเป็นของตนเอง

 อยากจะให้พ่อแม่เก็บเอาไว้

พอพ่อแม่ตายไปจะได้เป็นของตน

ถ้าดูแลพ่อแม่ในลักษณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทำบุญ

ยังไม่ถือว่าเป็นความกตัญญูกตเวที
ถ้าจะให้เป็นบุญเป็นความกตัญญูกตเวที

 ต้องทำโดยไม่หวังผลตอบแทนจากพ่อจากแม่เลย

เพราะคิดว่าพ่อแม่ก็ให้มามากแล้ว

ให้ชีวิตเรามานี้ ก็เหลือเฟือแล้ว

เลี้ยงดูเรามาจนเจริญเติบโต เป็นรูปเป็นร่างเป็นคน

 มีความสุขอยู่อย่างปัจจุบันนี้ ก็ถือว่า

ให้มามากเกินความปรารถนาแล้ว

ดังนั้นไม่ควรที่จะคิดไปถึงเรื่องมรดกที่พ่อแม่มีอยู่

ถ้าพ่อแม่มีความยินดีที่จะยกมรดกให้กับการทำบุญ

 ก็ควรจะอนุโมทนาด้วย เพราะเราจะได้บุญไปกับท่านด้วย

 แต่ถ้าเราไม่ยินดีเรามีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ

เสียอกเสียใจที่อุตส่าห์เลี้ยงดูพ่อแม่อย่างดี

แต่พ่อแม่กลับไม่ให้เงินให้ทองกับตนเลย

อย่างนี้ก็ไม่เป็นบุญเป็นความทุกข์ขึ้นมา

ดังนั้นเวลาเราทำบุญขอให้เราทำด้วยการเสียสละจริงๆ

 ทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่หวังผลตอบแทนจากผู้หนึ่งผู้ใด

 ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม

แม้กระทั่งคำว่าขอบคุณก็ไม่ปรารถนา

แต่ก็ไม่ปฏิเสธถ้าผู้อื่นเขา มีจิตเมตตากรุณา

 เขาอยากจะให้อะไรเป็นสิ่งตอบแทน

เราก็รับไว้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาท

ถ้าเราไม่ต้องการจริงๆ เราก็เอาไปทำบุญทำทานต่อก็ได้

แต่ไม่ควรปฏิเสธความปรารถนาดี

ความเมตตากรุณาของผู้อื่น เพราะจะทำให้เขาไม่ได้บุญ

และทำให้เขาเสียใจและจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ดังนั้นถึงแม้เราจะทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เราไม่ต้องการผลตอบแทน

แต่เมื่อได้รับ เมื่อมีผู้ให้ก็ขอรับไว้

 เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาของผู้ให้

เช่นพระภิกษุที่ญาติโยมนำข้าวของกับข้าวกับปลาต่างๆ

มาถวายพระ ความจริงรับไว้แล้วก็ฉันเองใช้เองไม่ได้หมด

 แต่ก็ต้องรับไว้เพื่อเป็นการอนุโมทนาบุญของศรัทธาญาติโยม

 เป็นการฉลองศรัทธาเพื่อให้ญาติโยมได้มีบุญ

ได้มีความสุขส่วนสิ่งที่ได้รับมานั้น

ก็เอาไปทำประโยชน์ต่อได้ เอาไปทำบุญอีกต่อหนึ่ง

ก็ได้มีคนอื่นเดือดร้อนก็สงเคราะห์กันไปช่วยเหลือกันไป

นี่คือลักษณะของการทำบุญ ทำเพื่อความสุขใจ

ไม่ได้ทำเพื่อผลตอบแทนจากผู้อื่น

ถ้าเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ไม่ต้องการหวังสิ่งตอบแทนเลย

 เช่นเราเลี้ยงดูพ่อแม่เราอย่างเต็มที่

โดยไม่หวังรับมรดกเลย

ถ้าพ่อแม่อยากจะให้มรดกกับพี่กับน้องคนอื่น

 ก็จะไม่เสียใจเลย จะอนุโมทนายินดีด้วยจะมีความสุขใจด้วย

เพราะทำเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ท่านให้ชีวิตเรามา

 ไม่มีอะไรจะมีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิต

 ถ้าไม่มีชีวิตแล้ว ต่อให้มีสมบัติกองเท่าภูเขา

ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นขอให้เราคิดว่า

เราได้รับมรดกอันเลิศแล้ว จากพ่อจากแม่มา

ก็คือการมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้

ดังนั้นเราไม่ควรที่จะหวังอะไรจากพ่อจากแม่อีก

 ในการที่เราจะตอบแทนบุญคุณของท่าน

ขอให้เราถือว่าการตอบแทนบุญคุณของท่านนั้น

เป็นการสร้างบุญสร้างกุศล ให้กับเรา

เป็นการพัฒนาตัวเราให้สูงขึ้นให้ดีขึ้น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะในศาลา

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

“สร้างบุญ สร้างกุศล”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มิถุนายน 2559
Last Update : 28 มิถุนายน 2559 9:27:25 น.
Counter : 600 Pageviews.

1 comment
### พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ###








“พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก”

ถาม : วันก่อนเพื่อนเล่าให้ฟังว่า

ท่านอาจารย์ได้เมตตาอธิบายเรื่อง

พ่อแม่เปรียบเหมือนกับพระอรหันต์

แต่จิตพ่อแม่ต่างกันกับพระอรหันต์อย่างไร

 และเราต้องนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่อย่างไร

พระอาจารย์ : ที่พูดตอนนั้นมันสด

ตอนนี้เอามาพูดจะเป็นสัญญา จะไม่เหมือนกัน

เขาถามว่า ทำไมพ่อแม่ถึงเป็นเหมือนพระอรหันต์สำหรับลูกๆ

 เพราะพระอรหันต์เช่นพระพุทธเจ้า

 มีคุณประโยชน์กับเรามาก ท่านช่วยให้เราหลุดพ้น

จากความทุกข์ได้ ไม่มีใครจะช่วยเราได้

 นอกจากพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์

 พ่อแม่ก็เป็นเหมือนพระอรหันต์ มีคุณประโยชน์กับเรามาก

 ท่านให้กำเนิดเรา จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ต้องมีพ่อมีแม่

การได้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นคุณอย่างยิ่ง

 เพราะมีโอกาสหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์ก็ยากที่จะหลุดพ้นได้

 เช่นเกิดเป็นสุนัข ก็จะไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย

 พระคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ชีวิตเรา

 ก็มากเท่ากับพระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์

 ท่านเป็นพระอรหันต์ในทางโลก

 ส่วนพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์ในทางธรรม

 ในทางจิตใจ ท่านให้พระนิพพานเรา

ให้เราอยู่ในพระนิพพานได้

พ่อแม่ก็ให้ร่างกายเรามา

 การมีร่างกายมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่เลิศที่สุดแล้ว

ไม่มีภพไหนจะมีคุณค่าเท่ากับภพของมนุษย์

พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ พูดภาษามนุษย์

ถ้าอยากจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์

 ถ้าไปเกิดเป็นช้างเป็นลิง ที่ไปอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ก็จะไม่สามารถรับธรรมะที่ละเอียดได้

 ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

 ถ้าได้เป็นมนุษย์ได้ไปอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๓ เดือน

 ถ้ามีบารมีพอที่จะรับธรรมได้ ก็จะหลุดพ้นได้

 เช่นพระที่ได้ไปศึกษากับพระพุทธเจ้า

ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก

 ในสมัยปัจจุบันนี้ พระที่ได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์

 ที่เป็นพระอรหันต์ ได้ศึกษาได้เรียนรู้จากท่าน

 ก็จะหลุดพ้นได้

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ก็จะไม่มีทางหลุดพ้นได้

 ปฏิบัติไปจนวันตายก็ไม่มีทาง

 เพราะกิเลสมันเหนือกว่าปัญญาของเรามาก

จึงต้องอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์

 ถึงจะช่วยเราได้ นอกจากเป็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น

ที่จะชนะกิเลสได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยตนเอง

 นอกจากนั้นแล้วไม่มีใครจะทำได้

ผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ก็มีน้อยมาก

ถ้าเปรียบกับปุถุชนคนธรรมดาอย่างพวกเรานี้

 ก็เหมือนเขาวัวกับขนวัว วัวตัวหนึ่งมีเขาวัวอยู่คู่เดียว

แต่มีขนเป็นร้อย คนที่เป็นโพธิสัตว์ก็เป็นเหมือนเขาวัว

สุดยอดของมนุษย์มีแค่คน ๒ คนเท่านั้นเอง

ในจำนวนหลายๆล้านคน

ทีนี้กลับมาตรงที่พระคุณของคุณพ่อคุณแม่

ถ้าไม่มีคุณพ่อคุณแม่ เราจะเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร

ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์เราก็จะไม่ได้พบพระพุทธศาสนา

ไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา

 ไม่มีทางหลุดพ้นได้

ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นพระอรหันต์

 พระพุทธเจ้าก็มีพ่อแม่เหมือนกัน

 ทรงเห็นพระคุณของพ่อแม่ จึงพยายามโปรดท่าน

 ให้บรรลุเป็นพระอริยะกัน

พระพุทธมารดาก็ได้เป็นพระโสดาบัน

ทั้งๆที่ท่านตายไปแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานะที่จะรับธรรมได้

 ท่านเป็นเทพ ทรงอุตส่าห์โปรดสอนผ่านทางกระแสจิต

 ทางสมาธิอยู่ ๑ พรรษา จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

ส่วนพระพุทธบิดาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 ๗ วันก่อนจะสวรรคต

พระคุณของคุณพ่อคุณแม่จึงยิ่งใหญ่มาก

ไม่มีท่านแล้วจะมีเราได้อย่างไร

ถ้าดูแลท่านก็เท่ากับได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

หรือพระอรหันต์เลย

เราจึงไม่ควรมองข้ามการดูแลคุณพ่อคุณแม่

 ถึงแม้จะยากจะลำบากอย่างไรก็ต้องอดทน

 ท่านอาจจะจู้จี้จุกจิก บ่นเรื่องนั้นบ่นเรื่องนี้

หรือไม่ทำตามที่เราบอกให้ท่านทำ ก็อย่าไปถือสา

บางทีเราห่วงท่านมากจนเกินไป จนกลายเป็นลูกบังเกิดเกล้าไป

บังคับพ่อแม่ให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ทำก็ไม่เป็นไร

ให้ท่านกินยา ท่านไม่ยอมกิน ก็ไม่เป็นไร

ให้เดินออกกำลังกาย ท่านไม่เดิน ก็ไม่เป็นไร

ถ้าท่านอยากจะเดิน เราก็ช่วยประคับประคองท่าน

 เราต้องคอยสนับสนุน อย่าไปเป็นเจ้านายท่าน

 บางคนเวลาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ทำเหมือนกับเลี้ยงลูก

 ทำให้พ่อแม่อึดอัดใจ จนทนอยู่ด้วยไม่ได้

ไปอยู่บ้านคนชราสบายใจกว่า

เพราะรักเกินไป แต่ไม่รู้จักวิธีปรนนิบัติพ่อแม่

 ต้องดูพระที่ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง

 ต้องเทิดทูนเคารพท่านอยู่เสมอ

ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฟังธรรม ก็จะทำไปตามอารมณ์

พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ แล้วก็พาลปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลเลย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๓๓๕ วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 (จุลธรรมนำใจ ๙)

“งานภายใน”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มิถุนายน 2559
Last Update : 28 มิถุนายน 2559 9:11:18 น.
Counter : 756 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ