Group Blog
All Blog
### ศึกษาแผนที่ ###









“ศึกษาแผนที่”

ปริยัติธรรมนี้ เปรียบเหมือนกับการศึกษาแผนที่

 อย่างเวลาที่จะเดินทางไปที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่เราไม่รู้จัก

 เราก็ต้องถามคนที่เขาเคยไปมาแล้ว

 หรือหาแผนที่ ที่บอกทางที่จะไป

ว่าที่นั้นอยู่ตรงไหน และจะไปได้อย่างไร

เมื่อศึกษาแผนที่แล้ว อ่านแผนที่แล้ว

 ก็จะรู้ว่าจะไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างไร

แต่ถ้าไม่ออกเดินทาง

ก็จะไม่สามารถไปถึงยังจุดหมายปลายทางได้

 เมื่อได้ศึกษาทิศทางแล้ว รู้ว่าสถานที่

ที่จะต้องไปนั้น อยู่ตรงไหน ไปอย่างไร

ขั้นต่อไป ต้องดำเนินการ ก็คือขั้นปฏิบัติ

 เราจะต้องออกเดินทาง ไปด้วยรถไฟก็ดี

หรือขึ้นรถยนตร์ก็ดี ก็ต้องไป ถ้าไม่ไปก็ไปไม่ถึง

 ถ้าไปแล้วไม่หยุด ในที่สุดก็จะถึงจุดหมายปลายทาง

เมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

ก็จะรู้ว่าที่ ที่ต้องการไปนั้นเป็นอย่างไร

นี่ก็คือการบรรลุธรรม

สิ่งวิเศษต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้

 ได้ทรงเห็น เช่น มรรค ผล นิพพาน นรกชั้นต่างๆ

 พรหมโลก และสวรรค์

 พระพุทธองค์ทรงได้สัมผัสผ่านมาแล้ว

 ได้ทรงเห็นมาแล้ว พระพุทธองค์จึงนำมาสอนพวกเรา

 บอกวิถีทางที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

 ถ้าพวกเราศึกษาแล้ว นำเอาไปประพฤติปฏิบัติตาม

 เราก็จะถึงจุดหมายปลายทาง

 ที่พระพุทธองค์ได้ทรงรู้ ทรงเห็น

แล้วก็เอามาบอกพวกเรา คือ มรรค ผล นิพพาน

พระนิพพานคือ แดนแห่งความสุขสันต์

เป็นที่สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ไม่มีความทุกข์ เป็นสถานที่ที่มีแต่บรมสุขอย่างเดียว

 เป็นสิ่งที่ประเสริฐ

เป็นความสุขที่ไม่มีความสุขอื่นใดในโลกนี้ เสมอเหมือน

 เป็นสุขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการสิ้นสุด

เป็นสุขที่เรียกว่า…บรมสุข

ตามหลักของความเป็นจริง ใครได้ไปอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว

 ถือว่าได้ประสบกับความสุขอย่างแท้จริง

ถ้าปรารถนาที่จะไปยังจุดหมายปลายทางนี้

 จะต้องศึกษาและต้องปฏิบัติ

แล้วก็จะบรรลุถึงธรรมอันนั้นได้

ถ้าศึกษาอย่างเดียว แล้วไม่ปฏิบัติ ก็จะไม่รู้ ไม่เห็น

เพราะว่าการเรียนรู้อย่างเดียวนั้น มันไม่พอเพียง

เพราะว่าสิ่งที่จะไปนั้น คือ ใจของเรา

แต่ในขณะนี้จิตใจของเรา ยังมองไม่เห็น

 เพราะจิตใจของเรามันมืดบอด ยังต้องชำระด้วยธรรมะ

คือแสงสว่าง ที่ใดมีแสงสว่าง ที่นั่นก็จะไม่มีความมืด

 ถ้าเราไม่มีแสงสว่าง เราก็ต้องอยู่ในความมืด

ความมืดกับแสงสว่างไม่สามารถอยู่ในที่เดียวกันได้

 ถ้ามีกลางวันก็ไม่มีกลางคืน ถ้ามีกลางคืนก็ไม่มีกลางวัน

ถ้ามีแสงสว่างก็ไม่มีความมืด ฉันใด

 จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่ชำระความมืดให้ออกไปจากจิตใจ

 ความสว่างภายในใจก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน

ถ้าไม่ปฏิบัติ ก็จะไม่เห็น

อย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงรู้ทรงเห็น ถ้าปฏิบัติ ก็จะเห็น

 นี่คือหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกัน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ

และ ปฏิเวธ เมื่อได้รู้ ได้เห็น อย่างไม่สงสัย

 ตามหลักความเป็นจริงแล้ว จึงควรก้าวไปสู่ขั้นที่ ๔

 คือ เผยแผ่ สอนบอกผู้อื่นต่อไป

เหมือนกับที่พระพุทธองค์ พระสาวก

พระอรหันต์ทั้งหลายได้นำมาสั่งสอน

แต่ถ้ายังไม่รู้จริงเห็นจริง จะไม่สามารถสอน

บอกได้ตามความเป็นจริง

ถ้าญาติโยมทั้งหลายยังไม่เคยมาที่วัดนี้

 ก็จะไม่สามารถบอกได้ว่า วัดนี้มีลักษณะอย่างไร

 มีพระกี่รูป มีศาลากี่หลัง มีโบสถ์แบบใด มีเจดีย์ทรงอะไร

มีเจดีย์อยู่กี่องค์ ถ้าไม่ได้มาถึงที่ก็จะไม่รู้ ต้องมาดูก่อน

เมื่อมาเห็นแล้ว ถึงจะบอกผู้อื่นได้

 และบอกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่ผิดพลาด

แต่ถ้ายังไม่เคยมา แล้วไปบอกผู้อื่น

ก็จะบอกแบบผิดๆ ถูกๆ ทำให้ผู้รับฟังหลงได้ ฉันใด

ตามหลักศาสนาก็เหมือนกัน

ก่อนที่จะไปสอนบอกผู้อื่นนั้น ต้องศึกษา

ต้องประพฤติปฏิบัติจนบรรลุแล้ว

จึงจะไปสอนบอกผู้อื่นได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว

ก็จะสอนบอกแบบผิดๆ ถูกๆ

ทำให้คำสอนแบบผิดๆนั้น เผยแผ่ต่อไปเรื่อยๆ

 ต่อไปศาสนาก็จะหดหายไป

เพราะสิ่งที่สอนอยู่นั้นไม่ใช่ศาสนา

 ไม่ใช่พระธรรมคำสอน แต่เป็นการด้นเดา

ของผู้ ที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ยังไม่บรรลุธรรมนั่นเอง

ดังนั้น พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย

 ผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส ผู้เห็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่

ของพระพุทธศาสนา ขอให้เรายึดแนวทาง

ที่พระพุทธองค์ได้ทรงให้กับพวกเราไว้ ให้สืบทอด

ถ่ายทอดมรดกอันล้ำค่าอันนี้ ด้วยการศึกษา ปฏิบัติ

บรรลุธรรม แล้วจึงค่อยนำไปเผยแผ่

 ถ้าเราสามารถประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ได้แล้ว

 พระพุทธศาสนาก็จะอยู่กับโลกของเราไปอีกยาวนาน

 แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติตาม

ศาสนาของเราก็จะค่อยหดหายไป

 ในที่สุดก็จะไม่มีศาสนาเหลืออยู่ในโลกนี้อีกต่อไป

จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

พยายามขวนขวายศึกษาและประพฤติปฏิบัติ

เพื่อให้บรรลุธรรม แล้วจึงนำไปเผยแผ่

 เพื่อความสุข ความเจริญ แก่สังคมโลกต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๑๕ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๓

 (กำลังใจ ๒)

“การสืบทอดพระพุทธศาสนา”






ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 กรกฎาคม 2559
Last Update : 18 กรกฎาคม 2559 9:35:52 น.
Counter : 624 Pageviews.

0 comment
### อย่าไปหวังผลกับการนั่ง ###







"อย่าไปหวังผลจากการนั่ง"

ถาม : ท่านอาจารย์คะ บางครั้งที่เรานั่งสมาธิ

 บางครั้งก็สงบ บางครั้งก็ไม่ค่อยสงบ

ก็มานั่งคิดว่า คราวที่แล้วที่มันสงบนี่

ทำอย่างไรหนอถึงสงบแบบนั้น ก็นึกไม่ออก

ทำอย่างไรถึงจะสงบได้อีก

พระอาจารย์ : ท่านก็สอนว่า
เวลาสงบแล้วออกจากสมาธิ

 เวลาที่เลิกนั่งเราควรทบทวนว่า

วันนี้เรานั่งอย่างไรจึงสงบ พยายามจำไว้

 แต่ถ้าจำไม่ได้ก็ต้องมาทบทวนใหม่ มานั่งคิดใหม่

 แต่ความจริงก็อยู่ที่ใจเราเป็นหลัก

 ว่าอย่าไปหวังผลจากการนั่ง

 อย่าไปคาดว่าวันนี้จะนั่งให้สงบให้ได้

 เป็นการสร้างความกดดันให้กับเรา

 เราก็จะคอยนั่งคิดว่าเมื่อไรจะสงบสักที

เมื่อไรจะสงบสักที นี่ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้สงบ

 จิตสงบได้ก็ต่อเมื่อลืมเรื่องราวต่างๆทั้งหมด

ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก

 หรืออยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆอย่างเดียวเท่านั้น

ถึงจะสงบได้ สงบยากหรือไม่ยาก

บางทีก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในวันนั้นด้วย

 บางทีวันนั้นเราไปมีเรื่องมีราวกับคนนั้นคนนี้

มีอารมณ์ค้างๆอยู่เยอะ ก็จะเคลียร์ยากหน่อย

ทำให้สงบยากหน่อย

แต่อีกวันหนึ่งไม่มีเรื่องไม่มีราวอะไรเลย

 ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการ

 ไม่มีอารมณ์กับอะไร เวลามานั่งแล้วใจไม่ไปยึดไปติด

ไปคิดเรื่องราวต่างๆที่ผ่านไปแล้ว

และก็ไม่ได้ไปหวังว่าจะต้องสงบ

 เพียงแต่ทำใจให้อยู่กับพุทโธๆๆไปเท่านั้น

 ก็จะสงบได้ง่าย หลักอยู่ที่สติกับพุทโธ

หรือสติกับลมหายใจ จึงเรียกว่าอานาปานสติ

มีสติรู้อยู่กับลมเข้าลมออก

 หรือพุทธานุสติ มีสติรู้อยู่กับพุทโธ

นี่คือหลักของการทำจิตให้สงบ ให้อยู่ในปัจจุบัน

 ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่

 จะเป็นการบริกรรมก็บริกรรมไป

จะเป็นการสวดมนต์ก็สวดไป

แต่อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆที่ผ่านไปแล้ว

 หรือคาดคะเนถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการสวดมนต์

 หรือจากการบริกรรมพุทโธ

 ว่าวันนี้บริกรรมดีเดี๋ยวจะต้องสงบแน่ๆ

 แบบนี้ก็คิดไม่ได้ ไม่ต้องคิดทั้งสิ้น

 วันนี้จะต้องเป็นเหมือนเมื่อวันก่อนแน่นอน

 ถ้าคิดอย่างนี้มันไม่สงบ แล้วจะเริ่มเกิดความกังวล

 เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ก็จะกลายเป็นนิวรณ์ขึ้นมา

อย่าไปคิดถึงอดีต อย่าไปคาดอนาคต

ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้มีสติรู้อยู่กับงาน

ที่เรากำหนดให้จิตทำอยู่

 ถ้าพุทโธก็พุทโธอย่างเดียว

อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

ถ้าจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออก

โดยไม่ใช้การบริกรรม ก็ให้ดูแต่ลมอย่างเดียว

 ลมหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้

ถ้าสังเกตดูว่าลมสัมผัสตรงไหนเด่นชัด

ก็ให้เกาะอยู่ตรงจุดนั้นก็ได้

เช่นแถวปลายจมูก หรือบริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา

 ลมจะสัมผัสตรงนั้นเวลาเข้าเวลาออก

 ไม่ต้องตามลมเข้าไป ไม่ต้องตามลมออกมา

 ให้อยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว อันนี้แล้วแต่ความถนัด

บางคนก็ไม่ถนัดลมแต่ถนัดพุทโธ

 บางคนก็ถนัดทั้ง ๒ อย่าง

หายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ

 หรือหายใจเข้าก็ว่าพุทโธ หายใจออกก็ว่าพุทโธ

 แล้วแต่จริต จะไปทำเหมือนคนอื่นไม่ได้

แต่ละคนมีความแตกต่างกัน

พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดกรรมฐานไว้

ถึง ๔๐ ชนิดด้วยกัน ไม่ได้มีแต่พุทโธอย่างเดียว

หรืออานาปานสติอย่างเดียว

จะกำหนดดูโครงกระดูกก็ได้

 หลับตาแล้วนึกเพ่งให้เห็นโครงกระดูกขึ้นมา

 แล้วก็เกาะติดอยู่กับโครงกระดูก

 หรือจะพิจารณาความตายก็ได้

พิจารณาดูซากศพของคนนั้นคนนี้ไว้เป็นอารมณ์

 แล้วแต่จะถนัด หรือจะกำหนดเพ่งดูสีต่างๆก็ได้

 เช่นหลับตาแล้วกำหนดให้เห็นสีแดง

ปรากฏอยู่ในจอภาพของใจเรา

รักษาสีแดงให้ปรากฏอยู่เรื่อยๆ

 ก็แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคนที่เคยฝึกมาในอดีต

 เมื่อมาเกิดในชาตินี้ก็มาทำต่อ

ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลย

 แต่ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำไป

เพราะจริตก็มีอยู่ถึง ๖ ชนิดด้วยกัน

 คือ ๑. สัทธาจริต ๒.โทสจริต ๓. โมหจริต

 ๔. ราคจริต ๕. พุทธิจริต ๖. วิตกจริต

พุทธิจริตหมายถึงพวกปัญญา

 ชอบพิจารณาความตาย

 พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย

หรืออาการใดอาการหนึ่งของร่างกาย

พวกโมหจริตชอบอานาปานสติ

 พวกสัทธาจริตชอบพุทธานุสติ

เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 ชอบการเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ

 พวกโทสจริตควรจะเจริญเมตตา

เพื่อระงับดับความโกรธ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๒๓๕ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙

(จุลธรรมนำมาใช้ ๔)

"ยารักษาใจ"







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 กรกฎาคม 2559
Last Update : 17 กรกฎาคม 2559 9:43:44 น.
Counter : 625 Pageviews.

0 comment
### เราก็สามารถเป็นหมอของตัวเราเองได้ระดับหนึ่ง ###








"เราก็สามารถเป็นหมอ

ของตัวเราเองได้ระดับหนึ่ง"

คนเรานี่สามารถเป็นหมอของตัวเราเองได้

ถ้าสนใจศึกษา หมอก็เป็นคนเหมือนเรานี่แหละ

 เพียงแต่หมอเขาได้ศึกษาเล่าเรียนมา

 ศึกษาอาการต่างๆของโรคภัยไข้เจ็บ

ศึกษาว่ามีอะไรเป็นเหตุที่ทำให้มันเป็นอย่างนี้

 แล้วก็ศึกษาวิธีที่จะรักษามัน

 เราก็สามารถเป็นหมอของตัวเราเองได้ในระดับหนึ่ง

 ถ้าสังเกตดูพฤติกรรมของเรา

 เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยส่วนหนึ่ง

 ก็เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง การกินการอยู่

 การกระทำอะไรต่างๆ ถูกสุขลักษณะหรือไม่

ถ้ากินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ กินตามความชอบ

ความอยาก ความต้องการ

ก็อาจจะกินอาหารที่ให้โทษกับร่างกายเข้าไปก็ได้

 เช่นน้ำตาลเป็นตัวอย่าง

ตอนบวชใหม่ๆนี่จะฉันน้ำตาลเยอะ เพราะฉันมื้อเดียว

 ตอนบ่ายจะรู้สึกหิว ก็จะฉันพวกโกโก้

 ใส่น้ำตาลเป็นช้อนๆลงไป ก็ไม่เห็นเป็นอะไร

 แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นๆ สังเกตดูว่าจะเริ่มแพ้น้ำตาล

 ฉันอะไรหวานๆแล้วจะเกิดอาการร้อนในขึ้นมา

 จะมีแผลในปาก ตอนต้นก็ไม่ทราบว่า

แผลในปากนี้เกิดเพราะเหตุใด

คนส่วนใหญ่เวลาเป็นแผลในปากก็จะไปหายามาทา

หายามารับประทาน โดยไม่คิดถึงเหตุของอาการ

 ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

อาตมาก็พยายามสังเกตดูอยู่เรื่อยๆ

ลองลดสิ่งนั้นลดสิ่งนี้ลงไป จนในที่สุด

ก็มาเจอคำตอบที่ตัวน้ำตาลว่าต้องลดลง

 พอลดลงเพียง ๒ - ๓ วันมันก็หายไป

ถ้าวันไหนฉันน้ำตาลมากกว่าปกติที่ร่างกายจะรับได้

 มันก็จะเป็นขึ้นมา ก็รู้ว่าน้ำตาลนี่เป็นเหตุ

ที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย

 รู้ว่าร่างกายจะมีสัญญาณคอยเตือน

 เช่นอาการร้อนในมีแผลในปาก

 เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้วแผลในปาก

 เพราะคอยควบคุมปริมาณน้ำตาล

ไม่ให้มากเกินกว่าร่างกายจะรับได้

พออายุมากขึ้นรู้สึกว่า ความต้องการน้ำตาล

จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

เคยฉันของหวานๆได้ เดี๋ยวนี้ต้องลด

 เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้ฉันของหวานเลย

ฉันเท่าที่จะฉันได้ มันอยู่ที่ตัวเรา

 การออกกำลังกายก็ดี การหลับนอนก็ดี

มันก็บอกเรา วันไหนถ้านอนไม่พอนี่

ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการไม่ปกติขึ้นมา

 จะรู้สึกไม่มีกำลัง ง่วงเหงาหาวนอน

เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า

 เรากำลังไม่ได้ดูแลรักษาร่างกายให้ถูกต้อง

การออกกำลังกายก็มีส่วน

 ถ้านั่งๆนอนๆอยู่เรื่อยๆ เวลาลุกขึ้นมาเดินมาทำอะไร

จะรู้สึกไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง

แต่ถ้าได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 ได้เดินได้ทำอะไร จะมีกำลังวังชาดี

ถ้าสังเกตดูตัวเองแล้วจะรู้ทุกขณะเลยว่า

 ร่างกายมีปัญหาในส่วนไหนบ้าง

เวลาเป็นอะไรขึ้นมาก็สังเกตดู

 เช่นเวลาถ่ายท้องก็มีหลายสาเหตุ

 ของอาตมาส่วนใหญ่จะเป็นเพราะฉันนม

 ถ้าฉันทุกวันจะไม่เป็น แต่ถ้าวันไหนหยุดไป

แล้วกลับมาฉันใหม่ ก็จะถ่าย

 ก็คอยสังเกตดูอาการต่างๆมาตลอด

สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านตาด

ก็เคยเป็นไข้ทอนซิลอักเสบอยู่เรื่อย

ตอนต้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด

ต่อมาก็ทราบว่าเพราะอยู่ในสถานที่ที่ชื้นมาก

 อยู่ในป่ามีต้นไม้ปกคลุมกุฏิที่พัก

 ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ

ก็เลยทำให้เกิดอาการป่วยขึ้นมา

 ไปหาหมอฉีดยาเท่าไรก็ไม่หาย

แต่พอย้ายมาอยู่กุฏิที่โล่งๆ ไม่มีต้นไม้คลุม

เพียงคืนสองคืนอาการก็ดีขึ้น

แสดงว่าอากาศชื้นก็เป็นเหตุ

 ที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้เหมือนกัน

ถ้าไม่สบายก็ขอให้สังเกตดูว่า

 ได้ไปทำอะไรผิดปกติมาหรือเปล่า

ไปรับประทานอาหารอะไรมา ไปรับเชื้ออะไรมา

เราพอจะวิเคราะห์ได้

 มีโรคบางอย่างที่รักษาได้ทันที เช่นโรคติดเชื้อ

ได้ยาปฏิชีวนะมารับประทานสัก ๒ - ๓ วันก็หาย

 แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับความชราภาพ

ก็ต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟู

แต่จะให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม

อย่างที่สมัยเป็นหนุ่มเป็นสาวก็คงจะเป็นไปได้ยาก

 ก็ต้องยอมรับกับสภาพของมัน

ที่ต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา

แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว

เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้จะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 ไม่ได้ไปฝากความหวังอะไรไว้กับร่างกายนี้

มากไปกว่าที่จำเป็น ถ้ายังปฏิบัติธรรมอยู่

ก็ยังต้องอาศัยร่างกายปฏิบัติไป

ถ้าสามารถปฏิบัติได้ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพใด

 เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังปฏิบัติได้

บางคนบรรลุเป็นพระอรหันต์ตอนใกล้ตายก็มี

 เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า

 พระเจ้าสุทโธทนะ

เข้าใจว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์

 ๗ วันก่อนจะเสด็จสวรรคต

พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรด

 ทรงสอนเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องการปล่อยวาง

ขันธ์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เรื่องของจิตที่ไปยึดไปติดกับขันธ์ ๕ เป็นต้น

ถ้าพิจารณาแล้วปล่อยวางได้ ใจก็หลุดพ้น

จิตกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน

 ถ้าจิตอยู่ในขั้นที่สามารถปฏิบัติ

ในอิริยาบถใดก็ได้แล้ว

 ก็ไม่สำคัญว่าจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรง

 ที่จะต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ

 ถ้าจิตก้าวไปสู่ระดับปัญญาที่หมุนไปเองแล้ว

ก็สามารถปฏิบัติได้ในทุกอิริยาบถ

อยู่ในอิริยาบถไหนก็พิจารณาได้

เพราะจะพิจารณาเพื่อตัดอุปาทาน

 ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ผลของอุปาทานก็คือ

ความไม่สบายอกไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ

เวลามีความไม่สบายอกไม่สบายใจ

ก็พิจารณาหาสาเหตุว่า

ไม่สบายอกไม่สบายใจเพราะอะไร

เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือ

กลัวว่าอาการจะแย่กว่าเดิมหรือ

 กลัวว่าจะไม่หายหรือ

อย่างนี้ก็จะทำให้ใจมีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ

 ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ช้าก็เร็ว

 ก็จะต้องหยุดทำงาน ไม่สามารถทำงานไปได้ตลอด

 จะหยุดเวลาไหนก็ไม่มีใครไปกำหนดบังคับได้

ขึ้นอยู่กับเหตุกับปัจจัย ถ้าไปโดนพิษโดนเชื้อโรค

ชนิดที่ไม่มียารักษาได้ ก็ไม่มีทางที่จะหายได้

 มีแต่จะรอวันตายอย่างเดียว

แต่ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็ปล่อยวางร่างกายได้

จิตใจเป็นปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 ไม่ได้ทุกข์กับความเป็นความตายของร่างกาย

นี่เป็นปัญญาที่วิเศษ คือยารักษาใจ

ที่เรียกว่าธรรมโอสถ

ธรรมะรักษาใจของเราได้ แต่รักษาอย่างอื่นไม่ได้

 โรคต่างๆทางร่างกายก็ต้องอาศัยหยูกอาศัยยา

 อาศัยการกำจัดเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นมา

บางโรคไม่ต้องอาศัยยาก็ได้

เพียงแต่แก้เหตุที่ทำให้มันเป็น

 เช่นถ้าขาดอาหาร

ก็รับประทานอาหารให้พร้อมบริบูรณ์

 โรคขาดอาหารก็หายไปได้

หรือไม่สบายเพราะขาดการพักผ่อนหลับนอน

 ก็นอนให้เยอะๆหน่อย พักให้เยอะๆหน่อย

เดี๋ยวร่างกายก็ฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้

แต่เรื่องจิตใจนี้ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว

พอร่างกายเป็นอะไรนิดอะไรหน่อย

ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา วิ่งกันวุ่นไปหมด

หาหมอหาหยูกหายากัน โดยไม่หายาที่จะรักษาตัว

ที่กำลังวุ่นวายอยู่นั้น ตรงนี้สำคัญกว่า คือใจของเรา

 เพราะความทุกข์ทางร่างกายนี้

 เมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทางจิตใจแล้ว

 มันห่างกันมาก ถ้าหากมีร้อยนี่ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์

จะเป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ

ความทุกข์ทางร่างกายเพียงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๒๓๕ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำมาใช้ ๔)

"ยารักษาใจ"







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 กรกฎาคม 2559
Last Update : 17 กรกฎาคม 2559 9:22:27 น.
Counter : 626 Pageviews.

0 comment
### ศาสนนาสอนให้เห็นความจริง ###









“ศาสนาสอนให้เห็นความจริง”

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโปรดสัตว์โลก

เช่นสติปัฏฐาน ๔ ขันธ์ ๕ สมุทัย

 เป็นธรรมที่เชื่อมโยงกัน เกี่ยวเนื่องกัน

 อยู่ในพระอริยสัจ ๔ อย่างขันธ์ ๕ ก็คือกายกับใจ

 รูปก็คือร่างกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็เป็นอาการของใจ

เมื่อมีอวิชชาจิตก็เข้าไปยึดติดกับขันธ์ ๕

ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่

มันไม่ได้เป็นของใคร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้

มาแต่ดั้งเดิม มีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้

 เหมือนกับโลกนี้ มีอยู่อย่างนี้มาแต่ดั้งเดิม

 แต่พอเรามาเกิดในโลกนี้ เราก็มาครอบครองมายึด

 ว่าโลกนี้เป็นของๆเรา

 ต่างคนต่างแบกเอาที่ดินกันคนละผืน

แล้วก็ต้องมาดูแลรักษา มาแก่งแย่ง

 มาทำสงครามกัน ก็เพราะความหลง

ที่ทำให้ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้

ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะ

อวิชชาเป็นตัวทำให้เกิด

อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร

สังขารคือความคิดปรุง

 พอคิดปรุงไปแล้วก็เกิดวิญญาณมารับทราบ

 แล้วก็ทำให้เกิดนามกับรูป นามกับรูปก็คือขันธ์ ๕

 แล้วก็มีการสัมผัสของอายตนะ

ตาได้เห็นรูปต่างๆ หูได้ฟังเสียงต่างๆ

 ก็เกิดเวทนาขึ้นมา

 เวลาเห็นรูปสวยก็มีความสุข

 เวลาเห็นรูปไม่สวยก็มีความทุกข์

แล้วก็เกิดตัณหาขึ้นมา

 รูปสวยงามก็อยากจะได้ เป็นกามตัณหา

ไม่สวยงามก็เกิดความรังเกียจ เป็นวิภวตัณหา

 เป็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์

ทำให้เกิดอุปาทาน ทำให้เกิดภพเกิดชาติ

 เกิดแก่เจ็บตาย นี่คือวัฎจักร

ของการเวียนว่ายตายเกิด

 เริ่มต้นที่อวิชชาในจิตของเรา

ที่พวกเรามาศึกษากันนี้ ก็เพื่อศึกษา

ให้เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริง

 ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่อวิชชาคิด

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า

เป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ไม่มีตัว ไม่มีตน เหมือนกับต้นไม้ ต้นเสา

 ศาลาหลังนี้ไม่มีตัวตน

แต่พอเราสร้างเสร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

 จิตของเราก็มาครอบครองว่านี่ศาลาของฉัน

 ถ้ามีใครมารื้อเราก็จะเกิดความเสียใจ

เพราะมีอุปาทานยึดติดอยู่กับศาลาหลังนี้

ชอบศาลาหลังนี้ ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ

 ถ้าใครมาทำลายก็เกิดความทุกข์

เกิดความโกรธขึ้นมา เกิดการทะเลาะวิวาท

ก่อกรรมก่อเวรกันไป แล้วก็ตายจากกันไป

 ไปเกิดชาติหน้าต่อ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้

 นี่คือเรื่องของขันธ์ ๕

เราต้องศึกษาขันธ์ ๕ ให้เห็นว่า เป็นอนัตตา

 ไม่ใช่เรา เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ

 ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าเราดูตัวเราตอนที่เราเป็นเด็กกับตอนนี้

เราจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน

ทั้งๆที่เป็นคนๆเดียวกัน ร่างกายเดียวกัน

แต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกาลตามเวลา

ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ

เสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ เดี๋ยวก็เก่า

 ใช้ไปนานๆเข้าก็ขาด นี่คือความไม่เที่ยง

เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 เจริญเต็มที่แล้วก็จะเริ่มเสื่อม

ในที่สุดก็สลายไปหมด

ร่างกายเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่

ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่

กลายเป็นคนแก่ แล้วในที่สุดก็ตายไป

นี่คือเรื่องอนิจจัง

นอกจากเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแล้ว

 ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนด้วย

 แต่เราหลงไปยึดไปติดว่าเป็นตัวตน

 เมื่อเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี

เราก็เสียใจ เราก็ทุกข์

เพราะไม่อยากจะให้เป็นไปในทางนั้น

 เราอยากจะให้ร่างกายแข็งแรง

สวยงาม สดชื่น อยู่ตลอดเวลา

 แต่ร่างกายก็ต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา

 เดี๋ยวอีกหน่อยผมก็ขาว ผมก็ร่วง หนังก็เหี่ยว

 ไม่มีกำลังวังชาที่จะทำอะไร

เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องนอนบนเตียง

แล้วในที่สุดก็ไม่หายใจ

เวลาเอาไปฝัง ก็สลายกลับไปสู่ดิน

น้ำในร่างกายก็ซึมลงไปในดิน

ร่างกายนี้เมื่อพิจารณา

ก็จะเห็นว่าเป็นธาตุ ๔ นั่นเอง

 ดิน น้ำ ลม ไฟ มาทางอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

 แล้วก็เปลี่ยนเป็น อาการ ๓๒

เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นต้น

ศาสนาสอนให้เราเห็นความจริงของกายและใจ

 ไม่ให้ไปฝืนความจริง ถ้าฝืนแล้วจะทุกข์

คนที่ยังต้องไปเสริมอะไรต่างๆ

 เช่นไปดึงหนังดึงหน้าให้ตึง ไปย้อมผม

 เป็นการพยายามฝืนความจริง

ไม่ยอมรับความจริงว่า

 จะเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ตลอด

เพราะต้องเปลี่ยนไป แต่เขาไม่ยอม

ยังอยากจะสาว ยังอยากจะหล่ออยู่

 จึงต้องพยายามหาอะไรต่างๆ

มารักษาร่างกายไว้ ไม่ให้เสื่อม

แต่จะรักษาอย่างไร ก็สู้กับความจริงไม่ได้

เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องตายไปด้วยกันทุกคน

 แต่ถ้าเรายอมรับได้ ใจเราก็จะสบาย

 ใจเราก็จะเฉยๆ ไม่ทุกข์ เพราะระงับดับตัณหา

 ต้นเหตุของความทุกข์ได้

กำจัดความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

ไม่ให้มีอยู่ในใจได้

ยอมรับความจริงของร่างกาย ใจก็จะไม่มีอุปาทาน

ในอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยสรุปว่า

 ทุกข์เกิดจากอุปาทาน

การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้เอง

 อยากจะให้เป็นไปตามความต้องการของเรา

ตามความชอบของเรา

อยากจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

อยากให้มีแต่สุขเวทนา ไม่ให้มีทุกขเวทนา

 วันไหนมีสุขเวทนา เราจะรู้สึกมีความสุขมาก

แต่ถ้าวันไหนไม่มีสุขเวทนา

เช่นต้องไปทำงานทำการ

หรือไปทำอะไรที่ลำบากยากเย็น

ก็มีทุกขเวทนาขึ้นมา ก็จะไม่ชอบ

 พอไม่ชอบ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

แต่ถ้าได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่าเวทนามีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน

มีสุขบ้าง ไม่สุขบ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตามเรื่องของเขา

บางทีอยู่ๆก็สุขขึ้นมาในใจ ในกายของเรา

 พอไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ทุกข์ขึ้นมา

แต่ใจไม่ต้องไปทุกข์ตามถ้ามีสติมีปัญญา

 เรารู้ว่าขณะนี้เวทนาเป็นอย่างไร

ก็อย่าไปต่อต้านเวทนานั้น

 ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อย่าไปต่อต้าน อย่าไปปฏิเสธ

 เป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย

ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด

 แต่เราไม่ค่อยจะรอกัน เราใจร้อน

พอเกิดทุกขเวทนาปั๊บ

จะต้องรีบแก้ทันที ให้หายไป

 โดนแมลงสัตว์กัดต่อยนิดหน่อยก็รีบหายาหม่อง

 หาอะไรมาทา ทั้งๆที่ปล่อยไว้สักระยะหนึ่ง

ก็จะหายไปเอง ถ้าไปอยู่ที่ไม่มียาจะทำอย่างไร

 โดนแมลงกัด ก็ต้องเจ็บต้องปวดเป็นธรรมดา

 เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าอยู่เฉยๆ รับรู้เฉยๆ

 ไม่ไปอยากให้มันหาย ใจก็จะไม่ทุรนทุราย

 แต่ถ้าอยากให้มันหาย ก็ต้องวิ่งหาหมอ

 วิ่งหายามาแก้กันวุ่นไปหมด

นี่ก็คือเรื่องของขันธ์ ๕

 โดยยกรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์มาเป็นตัวอย่าง

ไม่ได้กล่าวถึงสัญญา สังขาร วิญญาณเลย

 แต่ความจริงแล้วนามขันธ์ทั้ง ๔ นี้

จะทำงานไปพร้อมๆกัน

เช่นพอตาเห็นรูป วิญญาณก็รับทราบ

ว่ารูปมาแล้ว สัญญาก็แปลความหมาย

ของรูปว่าเป็นใครน่าชื่นชมยินดีหรือไม่

 เห็นรูปนี้ปั๊บ จำได้ว่าคนนี้เคยให้เงิน

 มาทีไรเอาเงินมาให้ทุกที ก็เกิดสุขเวทนา

สังขารก็ปรุงว่าต้องไปต้อนรับเขาหน่อย

 ไปทักทายเขา เชิญชวนให้เขานั่ง

แต่ถ้าสัญญาแปลว่าคนนี้เป็นเจ้าหนี้ จะมาทวงหนี้

 ทุกขเวทนาก็จะเกิดขึ้นมา

 เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ สังขารก็จะคิดว่า

ทำอย่างไรดี จะหลบหน้าดีหรือไม่

นี่คือการทำงานของนามขันธ์ทั้ง ๔

ถ้าเรามีสติคอยดูการทำงานของนามขันธ์

 เราก็จะสามารถควบคุมสังขารได้

พอเห็นคนนี้แล้ว เห็นว่าเป็นเจ้าหนี้

 เราก็ไม่อยากจะเจอเขา แต่จำเป็นต้องเจอ

เพราะมีความผูกพันกัน เป็นคู่เวรคู่กรรมกัน

 เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ

ถึงแม้ไม่อยากจะเจอหน้า ก็ต้องทำใจดีสู้เสือไว้

 ทำใจให้นิ่งไว้ แล้วก็เจอกัน คุยกัน

 เขาจะเอาอะไร ก็พูดไปตามความจริง

เรามีเท่าไร ก็ให้เขาไปเท่านั้น

ถ้าเขาไม่พอใจ เขาโกรธ เขาจะด่าเรา

ก็ให้เขาทำไป เป็นเรื่องของเขา

ไม่ใช่เรื่องของเรา เราคอยรักษาใจให้เป็นอุเบกขา

 เป็นปกติ ไม่วิ่งเข้าหา ไม่วิ่งหนี ตั้งรับด้วยปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๒๓๐ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ศาสนาสอนให้เห็นความจริง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 กรกฎาคม 2559
Last Update : 16 กรกฎาคม 2559 7:06:36 น.
Counter : 706 Pageviews.

0 comment
### อยู่ที่ตัวเรา ###










“อยู่ที่ตัวเรา”

ถาม : อย่างนี้เราก็พยายามสร้างเหตุใหม่ที่ดีๆ

ขึ้นไว้ตลอดเวลาโดยไม่พยายามไปเปลี่ยนผลเก่า

พระอาจารย์ : เปลี่ยนไม่ได้

ผลเก่าทั้งบุญทั้งบาปนี้เปลี่ยนไม่ได้

เพียงแต่ว่ามันจะปรากฏขึ้นมาเมื่อไรเท่านั้นเอง

 หน้าที่ของเราคือทำบุญละบาปชำระจิตใจ

 นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

 ที่เป็นพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชา

 การกระทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม

 ละเว้นการกระทำบาปทั้งหลาย

แล้วก็ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด

นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

จึงไม่ต้องไปรอพระศรีอารยเมตไตรยมาตรัสรู้

 แล้วทำให้เราบรรลุในตอนนั้น

 เพราะพระศรีอารยเมตไตรย ก็จะทรงสอน

แบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าของเราสอนอยู่ในขณะนี้

 ถ้ายังปฏิบัติไม่ได้

ต่อให้เจอพระศรีอารยเมตไตรยอีกร้อยองค์

เราก็ยังปฏิบัติไม่ได้อยู่นั่นแหละ มันอยู่ที่ตัวเรา

 ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์ท่านทำหน้าที่ของท่านพร้อมบริบูรณ์แล้ว

อยู่ที่เราว่าได้ทำพร้อมหรือไม่เท่านั้นเอง

 เราจึงต้องพยายามตะเกียกตะกายมาทางนี้ให้ได้

พยายามปล่อยวางความสุขทางโลกเสีย

มีอะไรพอที่จะลดจะละได้ ก็ลดไปเสีย ตัดได้ก็ตัดไป

ต้องละด้วย ต้องปฏิบัติ ต้องบำเพ็ญด้วย

 ละในสิ่งที่ไร้สาระ ละในสิ่งที่เป็นโทษ

 แล้วก็บำเพ็ญในสิ่งที่มีสาระ

 บำเพ็ญในสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ ต้องทำทั้ง ๒ อย่าง

 แล้วมันก็จะค่อยพาเราไปเอง

ไม่ได้อยู่ที่เพศอยู่ที่วัย อยู่ที่การกระทำต่างหาก

 ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย

 ไม่อย่างนั้นจะมีภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ได้หรือ

 จะมีแม่ชีที่เป็นอรหันต์ขึ้นมาได้อย่างไร

อยู่ที่การปฏิบัติของเรา จึงขอให้มีความแน่วแน่

 มีความมั่นใจ ว่ามาถูกทางแล้ว

ขอให้พยายามตะเกียกตะกายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 แล้วผลที่ดีก็จะเป็นสิ่งที่จะตามมาต่อไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

กัณฑ์ที่ ๒๒๙ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ความผิดหวัง”








ขอยคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 กรกฎาคม 2559
Last Update : 15 กรกฎาคม 2559 9:34:34 น.
Counter : 603 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ