Group Blog
All Blog
### วิธีที่จะทำใจให้เป็นปรมัง สุญญัง ###











“วิธีที่จะทำใจให้เป็นปรมัง สุญญัง”

ตัวที่ทำให้มันคันก็คือความอยากนี่เอง

หยุดความอยากได้แล้วความคันต่างๆ มันก็จะหายไป

 ไม่ต้องไปเกา ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งนั้น

สิ่งต่างๆในโลกนี้ เขาก็เป็นอยู่อย่างนี้มา

ตั้งแต่ก่อนที่เราจะมาเกิดอยู่แล้ว

 เขาก็เป็นอย่างนี้อยู่ในขณะที่เราอยู่ในขณะนี้

แล้วเขาก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป

หลังจากที่เราตายไปแล้วจากโลกนี้

ไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นอย่างนี้ขึ้นๆ ลงๆ

 เกิด แก่ เจ็บ ตาย เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ

 เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

บางยุคก็เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองด้วยคนดี

 บางยุคก็เจริญรุ่งเรืองด้วยคนชั่ว

 มันเป็นเรื่องของอนิจจัง เรื่องของอนัตตา

 มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน

มีเหตุมันให้เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้

พอเหตุที่ทำให้มันเป็นอย่างนี้มันเสื่อมไป

 มันก็จะมีเหตุอย่างอื่นทำให้เป็นอย่างอื่นต่อมา

 มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเรื่อยๆ

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยงแท้แน่นอนมันไม่นิ่ง

เหตุปัจจัยต่างๆมันไม่นิ่ง

มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าไปมัวไปปรับไปแก้มัน มันก็จะเหนื่อย

แล้วก็จะปวดหัวไปเปล่าๆ

ไม่สามารถที่จะมาทำให้ใจของเรา

มีความสุขมีความสบายได้เลย

แต่ถ้าเรามาแก้ที่ใจของเรา

แก้ที่ตัณหาความอยากของเรานี้เพียงตัวเดียวเท่านั้น

ตัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ห้มันหมดไปจากใจได้เท่านั้น

 เวลาเห็นอะไรก็ไม่เกิดกามตัณหา

ไม่เกิดภวตัณหา ไม่เกิดวิภวตัณหา

ให้สักแต่ว่ารู้ไปอย่างเดียว

มันจะดีขนาดไหนก็เรื่องของมัน

 ต่อให้ได้มันมาเป็นสมบัติ

มันก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้นแต่อย่างใด

 แต่กลับทำให้ใจของเราต้องทุกข์มากขึ้น

 เพราะจะเกิดความอยากมากขึ้น

ได้อะไรมาถ้ามันดีก็อยากจะให้มันอยู่ไปนานๆ

 พอมันมีปัญหามันจะไม่อยู่

ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แต่ถ้าไม่ได้มาเลยก็ไม่มีเรื่องราว ที่จะต้องยุ่งกับมันเลย

นี่เรามองไม่เห็นประเด็นนี้กัน เห็นแต่ว่ามันดี

ได้มาแล้วจะให้ความสุขกับเรา

แต่ไม่เห็นประเด็นที่ว่ามันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนแปลงได้

 ห้ามมันไม่ได้ เวลามันจะเสื่อมห้ามมันไม่ให้เสื่อมไม่ได้

เเต่ยังอยากจะให้มันไม่เสื่อมอยู่

 พอความเกิดอยากไม่ให้มันไม่เสื่อมมันก็เกิดความทุกข์

เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา นี่แหละเพราะว่าไม่รู้จักทำใจให้ว่าง

 ไม่รู้จักทำใจให้เป็นปรมัง สุญญัง

วิธีที่จะทำใจให้เป็นปรมัง สุญญัง

ก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา

ต้องพิจารณาทุกอย่างว่าเป็นไตรลักษณ์

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วมันก็จะสักแต่ว่ารู้ได้

 ถ้ายังไม่สามารถที่จะทำให้สักแต่ว่ารู้ได้ด้วยปัญญา

ก็ต้องมาทำให้มันสักแต่ว่ารู้ด้วยการนั่งสมาธิ

เจริญสติไปก่อน เวลาเจริญสติ ทำใจให้สงบใจรวมเป็นหนึ่ง

 เป็นอัปปนาสมาธิขึ้นมา ใจก็จะสักแต่ว่ารู้ได้

อันนี้เป็นวิธีที่ง่ายกว่าแต่เป็นวิธีชั่วคราว

จะสักแต่ว่ารู้ได้ในขณะที่ อยู่ในสมาธิเท่านั้น

พอออกจากสมาธิมามันก็จะเกิดความคิดปรุงเเต่ง

 เกิดความอยากตามมาทันที

เวลาที่ไปสัมผัสรับรู้อะไรก็ตาม ถึงเวลานั้นก็ต้องสอนใจ

ให้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ว่าเขาเป็นอนิจจัง เขาเป็นอนัตตา

อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้นะ

อย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยวางเขาแล้วจะไม่เสียใจ

จะไม่ทุกข์ใจจะไม่วุ่นวายใจจะไม่ต้องมาคอยแก้อยู่เรื่อยๆ

ถ้ามีอะไรก็ต้องคอยแก้อยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่มีมันก็ไม่ต้องแก้

คนที่ไม่มีรถยนต์นี้เขาไม่ต้องมาคอยซ่อมรถยนต์

 เขาอยู่อย่างสบาย ใจเขาไม่ต้องมาวุ่นวาย

กับการดูแล รักษารถยนต์ คอยเติมน้ำมันให้กับรถยนต์

 คอยเช็ดคอยล้างให้รถยนต์ คอยเอารถยนต์เข้าอู่

 คอยเปลี่ยนยาง มีปัญหาสารพัดตามมา

เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นมา เวลาที่ได้อะไรมา

เพราะมันจะต้องมีการเสื่อมมีการชำรุด ทรุดโทรม

ก็ต้องมีการแก้ไขกันไป มันก็มีแต่เรื่องให้ทำไปเรื่อยๆ

 ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่มีรถได้นี้ยิ่งกลับสบาย เดินไปก็ได้

 ขึ้นรถเมล์ไปก็ได้ ขึ้นเเท็กซี่ก็ได้

สบายกว่ามีคนขับรถให้ตลอดเวลา

นี่แหละปัญหาของมนุษย์ ที่ไม่รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ไม่รู้จักคำว่าสักแต่ว่ารู้

 รู้จักแต่ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอยากให้มันเป็นอย่างนี้

อยากได้สิ่งนั้นอยากมีสิ่งนี้ เพราะคิดว่าได้มาแล้ว

มีแล้วจะมีความสุขกัน แต่พอได้มาแล้วก็ไม่เคยใช้ปัญญา

พิจารณาดูว่ามันดีกว่าตอนที่ไม่ได้หรือเปล่า

อันไหนมันดีกว่ากัน อันไหนสบายกว่ากัน

มีกับไม่มี อย่างไหนสบายใจกว่า

 นี่ไม่มองกันตรงนี้ไม่มองกันที่ใจ

 ใจก็เลยปล่อยให้ใจสร้างปัญหาขึ้นมา

มาแก้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ปัญหาก็ใจเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง

สร้างแล้วก็ต้องมาแก้ปัญหาของตนเอง

 และวิธีแก้ปัญหาก็แก้ไม่ถูกวิธี

แทนที่จะแก้ให้ปัญหาให้มันหมดไป

กลับไปแก้ให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีก

นี่แหละเป็นเพราะว่าไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ไม่รู้จักความสุขที่ได้จากการสักแต่ว่ารู้

ไม่เคยทำจิตให้รวม เป็นอัปปนาสมาธิ

ก็เลยไม่เห็นความจริงอันนี้กัน

ดังนั้นถ้าอยากจะเห็นความจริง

ขั้นต้นก็ต้องเข้าสู่สมาธิ ให้ได้ก่อน

 เพราะการเข้าสู่สมาธิมันง่ายกว่า

การที่จะเข้าด้วยปัญญานั่นเอง

 ยกเว้นบุคคลที่มีความฉลาด เป็นคนที่มีปัญญาจริต

 เป็นคนที่คิดไปในทางปัญญาเป็น

ก็สามารถที่จะดึงใจให้เข้าสู่สมาธิ ให้สักแต่ว่ารู้ได้

 ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา

แต่ถ้าสำหรับบุคคลทั่วไปนี้ก็ต้องอาศัยการเจริญสติ

 ให้จิตตั้งอยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งตลอดเวลา

ไม่ให้คิดปรุงเเต่งถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

เพราะการคิดปรุงเเต่งนี้

จะทำให้เกิดความอยากต่างๆ ขึ้นมานั่นเอง

 ถ้าเกิดความอยากแล้วใจก็จะไม่มีวันที่จะสงบได้

 ถ้าอยากจะให้ใจสงบนี้ต้องไม่มีความอยาก

การที่จะไม่มีความอยาก

ก็ต้องไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิคดวามอยากขึ้นมา

ก็ต้องคิดอยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งที่เป็นกลางๆ

 เช่นพุทโธ หรือดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย

หรือดูลมหายใจเข้าออก เวลาที่นั่งอยู่เฉยๆ

 อันนี้จะเป็นตัวที่จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบเข้าสู่สักแต่ว่ารู้

พอรู้แล้วว่าการสักแต่ว่ารู้นี้มันแสนจะสบาย

 แสนที่จะมีความสุข พอออกจากสมาธิมา

ก็พยายามรักษาสักแต่ว่ารู้นี้ไว้

ด้วยการใช้ปัญญาคอยสอนใจ

ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เพื่อที่จะได้ไม่ไปสร้างความอยาก ให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา

 เพื่อตัดความอยากละความอยาก

ป้องกันไม่ให้ความอยากเกิดขึ้นมา

ถ้ามีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอดเวลา

อยู่ภายในหัวใจแล้ว มันจะไม่อยากได้อะไร

ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร

มันก็จะสามารถสักแต่ว่ารู้ได้ มันก็จะมีแต่

ปรมัง สุญญัง ปรมัง สุขังไปตลอดเวลา

นี่คือสิ่งที่พวกเรามาสร้างกัน

ในวันนั้นมาสร้างความสุขทางใจ

สร้างไปตามกำลังตามฐานะตามขั้นของเรา

ถ้าเรายังเข้าสู่ขั้นปัญญาไม่ได้เราก็ต้องเข้าสู่ขั้นสมาธิก่อน

 เข้าสมาธิยังไม่ได้ก็ต้องฝึกเจริญสติไปก่อน

ให้ใจนี้ มีสติอยู่กับอารมณ์เดียวไปตลอด

 ถ้ายังสร้างสติไม่ได้ก็ต้องเจริญศีลก่อน ปลีกวิเวก

 รักษาศีล ๘ ให้ได้ก่อน

 ถ้ายังรักษาศีล ๘ไม่ได้ก็ต้องรักษาศีล ๕ ให้ได้ก่อน

 ถ้ารักษาศีล ๕ ยังไม่ได้ก็ต้องทำทานก่อน

 ทำทานเพื่อ ที่จะได้ทำให้ใจนั้นมีความเมตตา

มีความปรารถนาดี ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น

 ก็จะทำให้รักษาศีล ๕ ได้

รักษาศีล ๕ได้ก็ขยับขึ้นไปรักษาศีล ๘

รักษาศีล ๘ ได้ก็ไปปลีกวิเวกอยู่วัดได้

อยู่สถานที่สงบสงัดห่างไกลจากสิ่งรบกวนใจ

 ทั้งหลายก็สามารถเจริญสติอย่างต่อเนื่องได้

 เจริญสติได้ก็จะนั่งสมาธิทำใจให้รวมเป็นหนึ่งได้

ห้สักแต่ว่ารู้ได้ พอได้สักแต่ว่ารู้แล้วก็ออกจากสมาธิมา

ก็ใช้ปัญญาคอยรักษาไม่ให้ใจไปวุ่นวายกับสิ่งต่างๆ

ที่ได้พบได้เห็น เห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ไป

เพราะทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ไปเปลี่ยนมันไม่ได้ ของต่างๆ มันมีของมันอยู่อย่างนี้

มันมีเจริญมันมีเสื่อม มันมีเกิดมันมีดับ

มันมีสุขมันมีทุกข์สลับกันไป

จะไปทำให้มันมีแต่ความสุขอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้

ถ้าเกิดความอยากแล้วสักแต่ว่ารู้ก็จะหายไป

ความทุกข์ความวุ่นวายใจก็จะเข้ามาแทนที่

แต่ถ้าเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยมันได้

 ใจก็จะสักแต่ว่ารู้ไปตลอด ใจก็จะเป็นปรมัง สุญญัง

เป็นปรมัง สุขัง เป็นใจของพระพุทธเจ้า

 และใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 เป็นอย่างนี้ได้ทุกดวงถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะได้เหมือนกันหมด

เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา

 ผลมันก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด

 ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าเป็นครูสอนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม

 จะมีพระอรหันต์สอนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม

ถ้ามีพระธรรมคำสอนมันก็เป็นองค์แทนกันได้

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า

 เป็นตัวแทนพระอรหันตสาวกได้

ถ้าพูดถึงในกรณีที่ไม่มีจริงๆ

ถ้ามีก็ควรจะไปอยู่กับผู้ที่เป็นพระอรหันต์จริงๆ

มีชีวิตอยู่จริงๆ เพราะจะได้รับการสั่งสอนที่ใกล้ชิด

และตรงต่อเหตุการณ์ทันต่อเหตุการณ์

ถ้าอาศัยหนังสือธรรมะ ซีดี อ่านหรือฟังนี้

อาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา

จะมัวไปค้นหาตำรานี้บางทีไม่รู้ว่าอยู่หน้าไหน

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์มีปัญหาไปกราบเรียนท่านปั๊บ

ท่านก็จะชี้บอกวิธีแก้ให้ได้เลย

ดังนั้นขอให้พวกเรายึดติดอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พยายามศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่เรื่อยๆ

 ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆเพื่อที่เราจะได้ไม่หลงไม่ลืม

วิธีที่การที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้จิตใจของเรานั้น

มีแต่ความสุขไปตลอดเวลา ปราศจากความทุกข์

ถ้าไม่ศึกษาเราก็จะปฏิบัติแบบไม่ถูก

ปฏิบัติไม่ถูกผลก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา

แทนที่จะเกิดความสุขกลับจะเกิดความทุกข์เพิ่มมากขึ้นมา

จึงขอให้พวกเราจงพยายามศึกษากัน และปฏิบัติกันให้มาก

 เพราะเวลาของพวกเรานี้มันจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

 ถ้าเราไม่รีบขวนขวายเสียแต่บัดนี้

ถ้าเราทำไม่ทันกับเวลามันก็จะเสียโอกาสไปได้

 ถ้าเราเกิดต้องตายไปก่อน

ที่เราได้ไปถึงขั้นของพระอริยบุคคล

เราตายไปเราก็จะไปได้รับผลของระดับโลกียะ

 แล้วพอธรรมเหล่านั้น เสื่อมลงไปเราก็ต้องกลับมาเกิดใหม่

 กลับมาตรงจุดนี้ใหม่ กลับมาเริ่มต้นใหม่

แต่อาจจะเป็นการเริ่มต้น ที่ไม่มีครูไม่มีอาจารย์

 ไม่มีพระพุทธศาสนาก็ได้

 ถ้ากลับมาคราวหน้าไม่มีพระพุทธศาสนา

ไม่มีครูบาอาจารย์มาสอนก็จะไม่รู้จักวิธีนี้กัน

ก็จะทำไปตามความอยากเหมือนอย่างที่เคยกระทำมา

แล้วก็จะต้องกลับมาไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะกลับมาเกิดมาเจอจุดนี้อีก เจอแบบนี้อีก

 คือได้มาเจอพระพุทธศาสนา

และมีคนคอยสอนให้เจริญวิปัสสนาภาวนา

 ให้เจริญอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถึงจะสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงสุดได้

 สามารถที่จะยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้

ดังนั้นจุดนี้จุดที่พวกเรายืนอยู่ในขณะนี้นั้น

เป็นจุดที่เลิศที่สุดแล้ว เป็นโอกาสที่งามที่สุดแล้ว

เพราะเป็นจุดที่เรา สามารถที่จะปฏิบัติใจของเรา

ให้เข้าสู่ขั้นปรมัง สุขังได้ ให้เข้าสู่ปรมัง สุญญังได้

 ถ้าเราไม่ทำโอกาสนี้ มันก็จะต้องหมดไปไม่ช้าก็เร็ว

 เพราะชีวิตของพวกเราทุกคนนั้น

มันต้องมีวันดับไปอย่างแน่นอน

และจะดับไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครไปกำหนดได้

ไม่มีใครไปบอกว่า คนแก่ต้องไปก่อน

คนหนุ่มคนสาวไปทีหลัง มันไม่แน่นอน

บางทีคนหนุ่มคนสาวไปก่อนคนแก่ก็มี

งั้นเราต้องคิดว่าเรากับคนแก่นี้เหมือนกัน

อาจจะไปพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะไปก่อนเขาหลังเขาก็ได้

 หรืออาจจะไปพร้อมกันก็ได้

ขอให้พวกเราอย่าประมาท อย่าพลัดวันประกันพรุ่ง

 รีบมาทำกิจอันเลิศอันวิเศษนี้มาสร้างความสุขทางใจ

 มาสร้างปรมัง สุขัง ปรมัง สุญญัง เสียแต่บัดนี้

อย่าไปเสียดายกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เลย

เพราะไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสียมันอยู่ดี

มีอยู่มันก็ไม่สามารถ ที่จะมาสร้าง

ปรมัง สุขัง ปรมัง สุญญังให้แก่เราได้

นอกจากการที่มาปฏิบัติ

ตามพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้านี้เท่านั้น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

“สักแต่ว่า”








ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 19 มิถุนายน 2559
Last Update : 19 มิถุนายน 2559 9:34:09 น.
Counter : 1591 Pageviews.

0 comment
### สักแต่ว่ารู้ ###











“สักแต่ว่ารู้”

ความว่างนี่แหละพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า

ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง

 ความสุขระดับของ พระนิพพานนี้ก็เกิดจากการมีจิตที่ว่าง

จากทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยึดไม่ติดไม่พึ่งพาอะไรต่างๆ

 มาเป็นเครื่องมือ ให้ความสุข ไม่ยึดไม่ติด

กับลาภยศ สรรเสริญ กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่ยึดไม่ติดกับ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ไม่ยึดไม่ติดกับธรรมารมณ์ต่างๆที่มีอยู่ภายในจิต

คือปล่อยวางหมด สลัดทิ้งไปหมด

 จึงทำให้ใจนี้ว่างเต็มร้อยเป็นปรมัง สุญญัง

พอใจว่างเต็มร้อยเป็นปรมัง สุญญัง

ใจก็จะเป็นปรมัง สุขัง เป็นบรมสุขขึ้นมา

การปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนานี้

จึงปฏิบัติเพื่อลด เพื่อละ เพื่อตัด เพื่อปล่อย เพื่อวาง

 ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อที่จะสั่งสมสร้างสมสิ่งต่างๆ

 เช่นลาภยศ สรรเสริญ

หรือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ให้มีอยู่ไปเรื่อยๆ ให้มีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

มีแต่จะสลัดทิ้งไปปล่อยวางไป เพราะว่าเห็นว่า

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง

อนิจจังก็คือเป็นความสุขชั่วคราว

 อนัตตาก็คือไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา

ถ้าเราไปอยากให้เขา ไม่เสื่อม

อยากให้เขาอยู่กับเราไปตลอด

 เราก็จะต้องเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แต่ถ้าเราปล่อยเขาไป ไม่ต้องการเขา

เขาจะอยู่ก็ปล่อยเขาอยู่ไป เขาจะไปก็ปล่อยเขาไป

 ต่างฝ่ายต่างอยู่กัน ถ้ายังอยู่ด้วยกัน

ก็อยู่ด้วยกันไปแบบไม่มี ความอยาก

ให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ใจก็จะว่างจากเขาไป

 ใจว่างใจก็จะเกิดความสุขขึ้นมา

 จะไม่ทุกข์กับการเจริญกับการเสื่อมของเขา

เขาจะเจริญก็สักแต่ว่ารู้ไป เขาจะเสื่อมก็สักแต่ว่ารู้ไป

ขอให้สักแต่ว่ารู้กับทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้น

ใจก็จะว่างจากเขาไป ถึงแม้ว่าจะอยู่ด้วยกัน

เช่นร่างกายกับใจ ขันธ์กับใจยังอยู่ร่วมกัน

อยู่แต่ถ้าใจรู้ทันว่าขันธ์

 ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ก็จะปล่อยวางจะสักแต่ว่ารู้

ร่างกายตอนนี้เป็นอย่างไรก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น

แก่ก็รู้ว่าแก่ จะไม่มีความอยากให้ไม่แก่เกิดขึ้นมาในใจ

เจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหน

ก็จะไม่มีความอยากให้มันไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

 ถึงเวลาจะตายก็จะไม่มีความอยาก ที่จะให้มันไม่ตาย

จะรู้สักแต่ว่ารู้ไปทุกวินาที ทุกลมหายใจเข้าออกเลย

ขอให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้นเอง รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้

ไม่ต้องไปถามว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้

ถามไปทำไมแล้วมันได้ประโยชน์อะไร

มันจะเป็นอย่างไรมันจะมาอย่างไร

 มันจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่าเราปล่อยวาง มันได้หรือเปล่า

ถ้าเรายังถามว่ามันเป็นอย่างไร

แสดงว่าเรายังอยากจะไปแก้มันอยู่ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 เพื่อเราจะรู้เราจะได้ไปแก้มันไม่ให้เกิด

มันเสื่อมได้อย่างไร ถ้าเรารู้ว่ามันเสื่อมได้อย่างไร

 เราจะได้ไปแก้ ไม่ให้มันเสื่อม

อย่างนี้ก็แสดงว่าเรายังไม่ปล่อย เรายังอยากมันอยู่

 แล้วของเหล่านี้ก็แก้ไม่ได้

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า มันเป็นอนัตตา

 ของมันจะเสื่อมจะไปห้ามไม่ให้มันเสื่อม มันห้ามไม่ได้

ของมันจะเกิด มันก็ไปห้ามมันไม่ได้ มันจะเกิด

 งั้นมันจะเกิดหรือจะเสื่อมหรือจะดับ

ก็ให้รู้ตามความจริงของมัน

 ตราบใด ถ้ามันไม่ได้เกิด มันไม่ได้ดับ

ด้วยการกระทำของเราก็แล้วกัน

 เช่นอย่าไปดับร่างกายในขณะที่มันยังไม่ดับ

 ถ้าเราไปทำให้มันดับนี้

ก็ถือว่าไม่ปล่อยมันอีกเหมือนกัน

 ถือว่าเรายังไปผูกติดกับมันอยู่

ยังมีความอยากกับมันอยู่

ใจก็ยังจะไม่ว่างอยู่นั่นเอง

เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เป็นอัมพาต

ไม่สามารถ รับใช้ตัณหาของใจได้

ไม่สามารถทำตามความอยากของใจได้

ก็เลยฆ่ามันเสียเลยฆ่าตัวตาย ฆ่าร่างกาย

อย่างนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นพระนิพพาน

ไม่ถือว่าเป็นสักแต่ว่ารู้ ไม่ถือว่าได้ปล่อยวาง

ถ้าปล่อยวางแล้วก็ปล่อยมันซิ

 มันจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของมัน

 ถ้ายังอยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูมันได้ก็เลี้ยงดูมันไป

อยู่ในวิสัยที่รักษาได้ก็รักษามันไป ก็ทำได้เท่านั้น

ทำแบบปล่อยวาง คือทำแบบไม่ได้มีความอยาก

ทำแล้วมันจะหายก็หายไม่หายก็ไม่หาย

 ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ถึงจะเรียกว่าใจว่าง

ปรมัง สุญญัง ต้องสักแต่ว่ารู้เท่านั้น

รู้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่า จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา

 หรือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา มันจะเป็นแบบไหน

ก็ให้รู้มันไปอย่างนั้นก็แล้วกัน

 ไม่ว่าธรรมารมณ์แบบไหน ธรรมารมณ์แบบสุข

 ธรรมารมณ์แบบทุกข์ ธรรมมารมณ์แบบไม่สุขไม่ทุกข์

 ก็ให้รู้กับมันไปตามความจริงของมัน

ถ้ายังต้องอยู่ด้วยกันอยู่

ถ้ายังมีร่างกายยังมีขันธ์อยู่มันก็จะมีสิ่งเหล่านี้อยู่กับใจ

 มันจะหมดไปก็ต่อเมื่อไม่มีขันธ์แล้วไม่มีร่างกายแล้ว

ทุกอย่างมันก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ เพราะใจรู้ทัน

รู้ด้วยปัญญา รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ถ้าไม่อยาก จะให้เกิดความทุกข์ใจก็ต้องสักแต่ว่ารู้

รู้ว่าเป็นอนิจจัง รู้ว่าเป็นอนัตตา

แล้วจะได้ไม่เกิดตัณหาความอยาก

ให้มันเป็นนิจจังหรือให้มันเป็นอัตตาขึ้นมา

 นี่คือปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงตรัสรู้

ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ ความจริงอันนี้ได้ด้วยตนเอง

มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถรู้ได้

 แต่พอพระองค์ทรงรู้แล้ว

 แล้วทรงนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้ที่ไม่รู้

ก็ทำให้ผู้ที่ไม่รู้เหล่านี้หลากหลายบุคคล

หลากหลายชาติชั้นวรรณะ เพศ

สามารถรับรู้ได้อย่างง่ายดาย

สามารถสอนใจให้สักแต่ว่ารู้ได้ เพียงแต่สอนสั้นๆ

คนที่ฉลาดฟังแล้ว ก็จะเข้าใจทันที

อย่างที่มีชายได้พยายามขอกราบทูล

ให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม

ในขณะที่ทรงบิณฑบาตอยู่

 พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิเสธไปบอกว่า

ไม่ใช่เวลาที่จะแสดงธรรม

 แต่ชายคนนั้น ก็ยังยืนยันของเพียงสั้นๆก็ได้

 พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสอย่างสั้นๆว่าให้ สักแต่ว่ารู้

ไม่ว่าจะได้ยินอะไรก็ให้สักแต่ว่า ได้ยิน

ไม่ว่าจะเห็นอะไร ก็สักแต่ว่าเห็น

คือสักแต่ว่ารู้ รู้ว่าเห็นอย่างนั้น รู้ว่าได้ยินอย่างนี้พอ

ไม่ได้ต้องทำอะไรทั้งนั้น พอตรัสเท่านั้นเขาก็เข้าใจ

ใจเขาก็บรรลุก็ขออนุญาตไปเตรียมของบริขาร

เพื่อที่จะบวชเป็นพระภิกษุต่อไป

นี่ก็คือคำสอนที่สรุปที่สั้นๆ แต่เป็นคำสอนที่ลึกซึ้ง

ที่สามารถทะลุโมหะอวิชชา ทำให้ใจนี้สว่างไสวขึ้นมา

ทำให้ใจ สามารถหลุดพ้นจากอำนาจของโมหะอวิชชา

ที่หลอกให้ใจต้องไปเวียนว่ายตายเกิด

ด้วยความอยากให้สิ่งต่างๆ

เป็นไปตามความอยากของตน

 ผู้ที่มีปัญญาที่ฉลาดพอได้ยินได้ฟังก็จะเข้าใจ

และสามารถทำใจให้หลุดพ้น

 จากความหลงความไม่รู้ต่างๆได้

 เพียงแต่ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น สักแต่ว่ารู้ก็คือให้ใจว่าง

ไม่มีการคิดปรุงเเต่ง ไม่มีความอยาก

ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ซึ่งปกติใจของปุถุชนนี้

ใจของผู้ที่ยังไม่ได้เข้าถึงธรรมขั้นสูงสุดนี้

เวลาสัมผัสรับรู้อะไรแล้วมักจะเกิดความอยากตามมา

 เห็นอะไรแล้วก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ได้ยินอะไรก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

พอเกิดความอยากแล้วก็ต้องดิ้นรนแก้

เพราะเกิดความ ไม่สบายใจขึ้นมา

 พอเห็นอะไรไม่เป็นไปตามความอยาก

ก็ต้องไปแก้สิ่งนั้นให้มันเป็นไปตามความอยากให้ได้

นี่แหละเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว

แต่ถ้าเพียงเห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็นไป

มันจะดี มันจะชั่วก็เรื่องของมัน

 เราเป็นผู้ดูก็ให้มันดูไปเฉยๆ

ให้รู้ไปเฉยๆเท่านั้นมันก็หมดเรื่อง

 แต่เรามันดูเฉยๆไม่ได้ ดูแล้วมือไม้มันคันขึ้นมา

 มันต้องไปเกาต้องไปแตะพอไปเกาไปแตะมัน

ก็เลยเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา เป็นลูกโซ่

ต่อเนื่องกันไปไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น

พออยากได้ให้มันเป็นอย่างนี้

พอทำให้มันเป็นอย่างนี้ ได้สักพักหนึ่ง

 เดี๋ยวมันเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่าง

ก็ต้องกลับมาทำใหม่อีก

 หรือพอมันเปลี่ยนไปแล้วก็ไม่ชอบมันอีก

 อยากจะให้มันเป็นไปอีกอย่าง

 ก็ต้องกลับมาเปลี่ยนมันอีก

 เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนั้นน่ะ

เปลี่ยนยังไงมัน ก็ไม่หายคัน

เปลี่ยนยังไงมันก็ยิ่งคันขึ้นไปเรื่อยๆ

 ท่านถึงบอกว่าเกาไม่ถูกที่คัน

ปุถุชนอย่างพวกเรานี้ เกาไม่ถูกที่คันกัน

แทนที่จะเกาที่ใจเราไปเกาที่ลาภยศ สรรเสริญ

ไปเกาที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไปเกาที่ขันธ์ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

มันจึงกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา

 ถ้าเกาที่ใจจุดเดียวนั้นจบ ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น

ให้หยุดความอยากทั้งหลาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

“สักแต่ว่า”







ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 มิถุนายน 2559
Last Update : 18 มิถุนายน 2559 10:46:49 น.
Counter : 772 Pageviews.

0 comment
### ความสุขกับใจก็คือความว่าง ###









“ความสุขกับใจก็คือความว่าง”

การที่พวกเรามาฟังเทศน์ฟังธรรมกันมาปฏิบัติธรรมกัน

 มารักษาศีลกัน มาทำบุญให้ทานกันนั้น

 เป็นการสร้างความสุขทางใจ ที่เป็นความสุขที่มีความสำคัญ

มากกว่าความสุขทางร่างกาย เพราะความสุขทางใจนี้

เป็นความสุขที่ถาวร ความสุขทางร่างกายเป็นความสุขชั่วคราว

 ชั่วอายุขัยของร่างกายเป็นอย่างมาก และเป็นความสุขสั้นๆ

 ที่ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ ส่วนความสุขทางใจนี้

เป็นความสุขที่ถาวร เป็นความสุขที่จะอยู่ติดไปกับใจ

เพราะใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย

ความสุขที่อยู่กับใจก็จะอยู่กับใจไปเรื่อยๆ

 ความสุขที่ติดกับร่างกายก็จะหายไปหมด

 เวลาที่ร่างกายตายไป

ความสุขของใจมีน้ำหนักมากกว่า ความสุขของร่างกาย

 เวลาที่ร่างกายไม่มีความสุข มีความทุกข์

เช่นเวลาที่แก่ เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาที่ตายไป

ใจจะไม่ได้เดือดร้อนกับความทุกข์ของร่างกาย

เพราะความสุขของใจนี้มีน้ำหนักกว่ามากความทุกข์

ของร่างกายนั่นเอง

ความสุขใจถ้าได้ปฏิบัติจนได้ครบถ้วนบริบูรณ์

ก็จะเป็นความสุขระดับปรมัง สุขัง บรมสุข

เป็นความสุขของพระพุทธเจ้า

เป็นความสุขของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

เวลาที่ร่างกายของพระพุทธเจ้า

ของพระอรหันตสาวกนั้นแก่ลงไป

 เจ็บไข้ได้ป่วย และตายไปในที่สุด

แต่ใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันตสาวกนี้

ยังมีความสุขเต็มเปี่ยมอยู่ภายในหัวใจ

ที่มีน้ำหนักมากกว่า ความทุกข์ของร่างกาย

ที่ความสุขของใจสามารถกลบไว้หมด คลุมไว้หมด

ทำให้ไม่รู้สึกทุกข์ไปกับความทุกข์ ของร่างกายเลย

นี่คือความสุขทางใจที่พวกเรามาให้ความสำคัญ

มาสร้างกันให้เกิดขึ้นมา เพราะจะเป็นที่พึ่ง ของเราได้

ในยามที่เกิดความทุกข์ทางร่างกาย

ในยามที่ร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายไป

 ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ จากบุคคลต่างๆ ไป

ถ้าใจมีความสุขแล้วใจจะไม่เดือดร้อน

กับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้แต่อย่างใด

แต่ถ้าไม่มีความสุขใจเลย เวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้

ใจจะมีแต่ความทุกข์มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ

พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีพระเนตรอันยาวไกล

 มีพระปัญญาที่ฉลาดรอบคอบ

ที่ทรงเห็นอนาคตของความสุข ของทางร่างกาย

ว่าจะต้องเสื่อมหมดไปตามวัยของร่างกาย

และการเสื่อมของความสุขของทางร่างกาย

ก็เป็น การเจริญของความทุกข์ทางร่างกาย

ร่างกายของพวกเราทุกคนจะมีความสุขน้อยลงไปเรื่อยๆ

 แล้วก็จะมีความทุกข์เพิ่มขึ้นมามากขึ้นไปเรื่อยๆ

 ถ้าพวกเราไม่มีความสุขทางใจเลย

 เราจะไม่มีอะไรมาต่อต้าน กับความทุกข์ของร่างกายได้เลย

 เราก็จะต้องรับความทุกข์ไปอย่างเดียว

แต่ถ้าเราหมั่นมาสร้างความสุขทางใจกัน

 เพิ่มความสุขทางใจของเราให้มีมากขึ้น

เวลาที่ความสุขของทางร่างกาย เสื่อมลงไป

ความทุกข์ของทางร่างกาย มีเพิ่มขึ้น

ใจของเราจะได้มีความสุขทางใจ ไว้เป็นเครื่องมือต่อสู้

หรือรองรับกับความทุกข์ของทางร่างกาย

 ถ้าความสุขของใจนั้นมีน้ำหนักมากกว่า

ความทุกข์ของทางร่างกาย

ความทุกข์ของทางร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา อะไรกับใจ

 นี่คือความสำคัญของความสุขใจ

ที่เราควรจะให้ความสำคัญสร้างกันขึ้นมาให้มากที่สุด

เท่าที่จะมากได้ เพราะไม่มีใครที่จะมาสร้างให้เราได้

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสร้างความสุขใจให้กับเราได้

 ไม่ว่าจะเป็นลาภยศ สรรเสริญ

หรือความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ไม่สามารถที่จะมาสร้างความสุขทางใจนี้ได้

สิ่งที่จะสร้างความสุขทางใจนี้ได้ก็คือการปฏิบัติ

ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ผู้ทรงได้ปฏิบัติธรรมเหล่านี้มาแล้ว

แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่สัตว์โลก

อย่างพวกเราทั้งหลายให้ได้รู้จักวิธีสร้างความสุขทางใจกัน

 ถ้าเราน้อมนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างสมำเสมอ

และเพิ่มมากขึ้นไป ตามลำดับ จนปฏิบัติได้ครบถ้วนบริบูรณ์

 เราก็จะมีความสุขระดับเต็มร้อยเต็มเปี่ยม

อยู่ภายในหัวใจของเรา จะไม่มีที่ให้ความทุกข์

ของทางร่างกายนั้นเข้ามาแทรกเข้ามาอยู่ในใจของเราได้เลย

ใจของเราก็จะมีแต่ความสุขตลอดเวลา

ไม่ว่าจะมีร่างกายนี้หรือไม่มี

ไม่ว่าร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตาย

หรือจะสุญเสียพลัดพรากจากสิ่งต่างๆจากบุคคลต่างๆไป

จะไม่เป็นปัญหากับใจที่มีความสุขเต็มเปี่ยม

 อยู่ภายในหัวใจเลย ก็คือความสุขระดับบรมสุข

ที่เรียกว่า ปรมัง สุขังนี่เอง

และเป็นความสุขที่จะอยู่ติดไปกับใจไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด

 เพราะใจนี้ไม่มีวันสิ้นสุดไม่มีวันดับ

ความสุขที่อยู่กับใจก็จะอยู่ไปตลอด

เช่นความสุข และใจของพระพุทธเจ้า

และใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 ในขณะนี้ก็ยังมีอยู่เหมือนกับในขณะที่ท่านมีร่างกายอยู่

ในยุคที่ท่านอยู่กับพวกเราเช่นครูบาอาจารย์

ใจของท่านก็มีความสุขเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา

เวลาที่ร่างกายของท่านตายไป ใจของท่านก็ยังอยู่เหมือนเดิม

 ที่อยู่ของใจนี้เราเรียกว่า โลกทิพย์

ที่อยู่ที่ของใจของทุกๆคนของสัตว์ทุกๆ ตัวทุกร่าง

ทุกชนิดอยู่ในโลกทิพย์ทั้งหมด ต่างตรงที่ว่าอยู่แบบสุข

 หรืออยู่แบบทุกข์กัน ถ้าใจมีความทุกข์มากกว่ามีความสุข

ก็เรียกว่าอยู่ในส่วนของอบาย

ถ้าใจมีความสุขมากกว่า ความทุกข์

ก็อยู่ในส่วนของสุคติหรือสวรรค์

ถ้าใจมีความสุขล้วนๆ ไม่มีความทุกข์เลย

 ใจก็อยู่ที่พระนิพพาน

หรือเรียกว่าใจอยู่ในระดับพระนิพพาน

 อยู่ในโลกทิพย์เหมือนกันแต่อยู่ต่างระดับกัน

ถ้าจะเปรียบเทียบก็ระดับของพระนิพพานนี้

ก็เป็นเหมือนระดับที่สูงสุด

ถ้าเป็นตึกชั้นสูงสุดรองลงมาก็เป็นชั้นของพระอริยบุคคล

 เช่นพระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน

ท่านก็จะอยู่ชั้นต่ำรองลงมา

 ท่านกำลังอยู่ ในขั้นของการพัฒนา

ของการก้าวขึ้นสู่สวรรค์หรือที่อยู่ที่สูงขึ้นไปต่อไป

 พระโสดาบันก็จะไต่เต้าขึ้นไปสู่ชั้น พระสกิทาคามี

พระสกิทาคามีก็จะไต่เต้าขึ้นไปสู่ชั้นของพระอนาคามี

 พระอนาคามีก็จะไต่เต้าขึ้นไปสู่ชั้นของ พระอรหันต์

ชั้นของพระพุทธเจ้าก็จะเข้าไปสู่ชั้น

พระนิพพานเป็นชั้นสูงสุด

 เป็นชั้นที่มีความสุขเต็มร้อย ไม่มีความทุกข์เลย

ชั้นอื่นๆนี้ยังมีความทุกข์ผสมอยู่

ชั้นพระอนาคามีก็ยังไม่เต็มร้อย ความสุขยังไม่เต็มร้อย

 ยังมีความทุกข์อยู่บางส่วน

ชั้นของพระสกิทาคามีก็มีความสุขน้อยลง

มากกว่าของพระอนาคามี

และมีความทุกข์ มากกว่าของพระอนาคามี

ชั้นของพระโสดาบันก็เช่นเดียวกัน

จะมีความสุขน้อยกว่าชั้นของพระสกิทาคามี

 และจะมีความทุกข์มากกว่าชั้นของพระสกิทาคามี

แต่ความสุขของพระอริยเจ้านี้เป็นความสุขที่ไม่เสื่อมไม่หมด

 ไม่เหมือนกับความสุขที่ของชั้นปุถุชน

คือชั้นโลกียะที่มีการเสื่อมและมีการหมดไปได้

เช่นถ้าได้ความสุข ระดับของพรหม

ที่เกิดจากการได้สมาธิได้ฌาน

ความสุขนี้ก็จะอยู่ได้ในระยะหนึ่ง

พอกำลังของสมาธิของฌาน เสื่อมลงไป

ความสุขของใจในระดับพรหมก็จะจางหายไป

ใจก็จะเลื่อนลงมาสู่ระดับความสุขของชั้นเทวโลก ของเทวดา

เทวดาก็คือผู้ที่ได้ทำบุญทำทาน ได้รักษาศีล ๕

 ผู้นี้ก็จะได้ความสุขระดับของเทวดา

ที่มีความสุขน้อยกว่าความสุข ของระดับพรหม

และหลังจากที่กำลังของบุญที่ได้สร้างให้จิต

ให้อยู่ในระดับของเทวดานี้เสื่อมหมดไป

ใจของเทวดาก็จะเลื่อนลงมาสู่ในระดับของมนุษย์

ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

แล้วก็กลับมา สร้างความสุขทางใจกันใหม่

ก็จะลอยขึ้นไปก็จะขึ้นไปใหม่ เวลาที่ร่างกายตายไปแล้ว

 ความสุขทางใจถ้ามีมากกว่า ความทุกข์ทางใจ

 ก็จะอยู่ในระดับสวรรค์อยู่ในระดับสุคติ

ถ้าความสุขทางใจมีน้อยกว่าความทุกข์ทางใจ

ใจก็จะอยู่ในระดับอบาย นี่คือเรื่องของใจ

คือกายทิพย์นี้ไม่ได้อยู่ในร่างกายอันนี้

เพียงแต่ใช้ร่างกายอันนี้ เป็นเครื่องมือ

ไว้ในการหาความสุขต่างๆ

 แต่เวลาที่ร่างกายเป็นอะไร

จนี้ไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย

เพราะไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน

 ร่างกายตายไป ใจก็ยังอยู่เหมือนเดิม

 ถ้าใจยังไม่ได้ไปถึงความสุขชั้นบรมสุข

ใจก็ยังต้องไปหาร่างกายอันใหม่ ไปเกิดใหม่

เพื่อไปหาความสุขใหม่ ถ้าได้ความสุขเพียงระดับโลกียะ

 คือระดับพรหมโล ใจก็ยังจะต้องเสื่อมลงมาเกิดใหม่

แล้วก็ตายใหม่แล้วก็กลับไปเกิดใหม่

วนไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 แต่ถ้าได้ความสุขของระดับพระอริยเจ้า

ที่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ได้มาได้ยินได้ฟังคำสอน ของพระพุทธเจ้า

ที่ไม่มีคำสอนของใครมีอยู่ในโลกนี้

ไม่มีเหมือนคำสอนเหมือนใครในโลกนี้

 ก็คือคำสอนที่ให้เจริญวิปัสสนา

 ต่อจากการได้สมาธิได้ฌาน

 ถ้าอยากจะขึ้นไปสู่สวรรค์ที่ไม่มีวันเสื่อม

 มีจะมีแต่เจริญเพิ่มขึ้นไป มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 ก็ต้องเจริญการปฏิบัติขั้นวิปัสสนาภาวนาหรือขั้นปัญญา

ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

จะไม่มีใครรู้วิธีการปฏิบัติระดับขั้นวิปัสสนาขั้นปัญญาเลย

 ก็จะไม่มีใครที่จะสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ความสุข

ในระดับที่ไม่เสื่อม ความสุขที่ระดับเต็มเปี่ยมเต็มร้อย

 และความสุขที่จะทำให้ไม่ต้องกลับมา

เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ต้องมีพระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้า

มาตรัสรู้วิธีการปฏิบัติขั้นนี้ได้

ขั้นนี้เรียกว่าวิปัสสนา หรือปัญญา

 คือจะต้องสอนจิตให้เห็นสภาพ ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ

 ที่จิตไปหลงยึดติดไปหลงพึ่งให้ความสุข

ว่าเป็นความสุขชั่วคราว

เป็นความสุข ที่ไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับ

ให้อยู่กับจิตไปได้ตลอด

จะต้องมีวันที่จะต้องเสื่อมและหมดไป

อย่างความสุข ที่ได้จากการได้เป็นพรหม

ก็ต้องเสื่อมลงหมดไปแล้วก็เสื่อมลงมา

เป็นความสุขระดับของเทพของเทวดา

แล้วจากนั้นก็ต้องเสื่อมลงมาสู่ความสุขของมนุษย์

 อันนี้เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้สั่งไม่ได้

สั่งให้ไม่เสื่อมสั่งให้อยู่ เป็นพรหมไปตลอดไม่ได้

สั่งให้อยู่เป็นเทพไปตลอดไม่ได้

สั่งให้อยู่เป็นมนุษย์ไปตลอดไม่ได้

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ที่อยู่ในโลกนี้เป็นอนิจจังนั่นเอง

 ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไม่ถาวร

 มีการเจริญแล้วก็ต้องมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา

 ถ้าพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนี้ใจจะได้ปล่อยวาง

ไม่ไปแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาให้ความสุขแก่ใจ

 ใจก็จะได้พบกับความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง

ที่ไม่ต้องมีอะไรมาให้ความสุขกับใจก็คือความว่าง

 ความสงบนี่เอง จะเป็นความสุขที่ถาวร.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

“สักแต่ว่า”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 มิถุนายน 2559
Last Update : 17 มิถุนายน 2559 12:09:46 น.
Counter : 732 Pageviews.

0 comment
### อวกาศของจิตก็คือความว่าง ###








“อวกาศของจิตก็คือความว่าง”

การเจริญสติด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

อันนี้ก็เรียกว่าพุทธานุสสติ จะพุทโธๆไปก็ได้

หรือจะเจริญบทพระพุทธคุณไปก็ได้

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจรณสัมปันโน

ท่องไปภายในใจไม่ต้องส่งเสียงดัง เพราะจะไปรบกวนผู้อื่น

แล้วจะทำให้ผู้อื่นเขาคิดว่าเราแปลก เราเป็นอะไรไปหรือเปล่า

 แต่ให้เราท่องอยู่ไปภายในใจเวลาที่เราอยู่คนเดียว

เวลาที่เราต้องการที่จะควบคุมใจให้สงบ

ถ้าเราสามารถเกาะติดอยู่กับการเจริญบทพุทธคุณได้

 ไม่นานใจก็จะหยุดคิดปรุงเเต่ง แล้วใจก็จะเข้าสู่ความสงบ

 แล้วก็จะมีความสุขจะไม่รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อย หงอยเหงา

 จะไม่รู้สึกอึดอัดรำคาญใจที่จะต้องอยู่คนเดียว

 จะไม่มีความอยากจะออกไปที่นั่นที่นี่ เพราะใจสงบแล้ว

 แต่ถ้าเราไม่สามารถควบคุมความคิด

ปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อย

 พอคิดถึงคนนั้นก็อยากจะไป หาคนนั้น

 พอคิดถึงสิ่งนั้นก็อยากจะไปหาสิ่งนั้น

พอคิดถึงเรื่องนั้นก็อยากจะไปหาเรื่องนั้น

ความคิดจะพาให้เรา เกิดความอยาก

พอเกิดความอยากแล้วก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ทุกข์ใจเช่นว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา

 วุ่นวายใจวิตกกังวลอะไรต่างๆเหล่านี้

เป็นผลที่เกิดจากความอยากทั้งนั้น

 เป็นผลที่เกิดจากความคิดปรุงเเต่ง

 วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ

ดังนั้นเราต้องหัดทำใจให้สงบให้ได้ ด้วยการหัดเจริญสติ

 ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างก็คือพุทธานุสสติ จะใช้พุทโธก็ได้

 บริกรรมพุทโธไปทั้งวันเลย ไม่ว่าทำอะไรก็พุทโธๆไป

ถ้าไม่ต้องใช้ความคิดกับงานที่เราทำเราก็พุทโธไป

 ถ้าต้องใช้ความคิดเราก็หยุดพุทโธไว้ชั่วคราว

 แล้วก็คิดอยู่กับงาน ถ้าเราไม่อยากจะคิดเราก็อย่าไปทำงาน

 ก็จะไม่ต้องคิดเช่นอยู่บ้าน เราก็ไม่ต้องคิดมาก

 เราก็จะได้พุทโธได้มากทำใจให้ว่างได้ง่าย

 แต่ถ้าเราต้องไปทำงาน งานมันจะบังคับให้เราคิด

 พอเราคิดเราก็ไม่ได้พุทโธ พอเราเผลอมันก็จะไปคิด

เรื่องที่ทำให้เกิดความอยาก เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ดังนั้นถ้าอยากจะควบคุมใจให้สงบได้จริงๆนี้

จำเป็นจะต้องไม่ไปทำงานจะดีกว่า

ไปปลีกวิเวกอยู่คนเดียวตามสถานที่สงบต่างๆ

 ตามวัดก็ได้ ตามป่าตามเขาก็ได้ ตามที่พักของเราก็ได้

บนคอนโดก็ได้ ในห้องพักก็ได้ ที่ไหนก็ได้ที่เราอยู่คนเดียว

 ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใคร เราก็คอยควบคุมใจเรา

ไม่ให้ไปคิดปรุงเเต่ง ทำหน้าที่ที่จำเป็นเท่านั้นก็คือ

 ตื่นขึ้นมาก็อาบน้ำอาบท่า ล้างหน้าล้างตา รับประทานอาหาร

 เสร็จแล้วทีนี้ก็ควบคุมความคิดไปทั้งวัน

จะเดินจงกรมไปก็ได้ เดินไปควบคุมความคิดไปพุทโธๆไป

 หรือจะมานั่งสมาธิก็ได้สลับกันไป

 นั่งแล้วเมื่อยก็ลุกขึ้นไปเดิน

 เดินแล้วเมื่อยก็กลับมานั่งใหม่

จนกว่าเราจะต้องทำภารกิจอย่างอื่น

เช่นกวาดบ้านถูบ้าน อาบน้ำอาบท่า อะไรต่างๆก็ทำไป

 ขณะที่ทำก็พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์

 อย่าไปคิดเรื่องราวต่างๆ แล้วความอยากจะไม่เกิด

พอไม่เกิดความอยากแล้ว จะเพลิน

 จะไม่รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงาจะไม่รู้สึกอึดอัด

 เหมือนกับถูกขังอยู่ในคุกแต่อย่างใด

แต่ถ้าไม่พุทโธแล้วไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

แล้วอยากจะออกไป ตอนนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า

 ถูกขังอยู่ในคุกเลย เราสร้างความรู้สึกขึ้นมาขังตัวเราเอง

 ความจริงเราสามารถปลดตัวเราเองออกจากคุกได้

ทำลายความอยากได้อย่างถาวร

 ความอยากนี้จะไม่ถูกทำลายอย่างถาวร

ถ้าใช้สมาธิเป็นตัวทำลาย จะหยุดชั่วคราว

ในขณะที่อยู่ในสมาธิ แต่พอออกจากสมาธิมา

พอเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็จะเกิดความอยากตามมาทันที

 ถ้าตอนนั้นมีปัญญา ของพระพุทธเจ้ามาสอน

ก็จะสอนว่าอย่าไปอยากเลย สิ่งที่อยากมันก็ไม่เที่ยง

ได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องมาทุกข์อยู่ดี

 ได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องสูญเสียมันอยู่ดี

มันไม่ได้เป็นคำตอบ

มันไม่ได้ทำให้เราพบกับความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การไม่ทำตามความอยาก

 อยู่ที่การหยุดความอยากนี้เอง

 พอเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า มาสอน มันก็ถอน

มันก็หยุดความอยากเลย

เพราะไม่มีใครอยากจะไปหาความทุกข์กัน

ที่ไปทำตามความอยาก เพราะเขาคิดว่า

จะไปได้พบกับความสุข แต่พอรู้ว่ามันไม่ได้เป็นความสุข

 มันเป็นความทุกข์มากกว่า ก็จะไม่กล้าอยาก

 เช่นจะดื่มน้ำถ้ารู้ว่าน้ำนั้น เป็นยาพิษจะมีใครกล้าดื่มไหม

เราไม่รู้ว่ามันเป็นยาพิษ เรามารู้ตอนที่ดื่มเข้าไปแล้ว

มันออกฤทธิ์แล้ว ตอนนั้นมันสายไปเสียแล้ว

เราอยากทำอะไร พอเราไปทำแล้ว เราจึงมารู้ทีหลัง

ว่าทำแล้วก็เท่านั้น แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา

เพราะอยากจะทำอีก พอไม่ได้ทำ ทีนี้ก็หงุดหงิดแล้วซิ

นี่แหละคือการใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า

มาทำลายความทุกข์ทำลายความอยากต่างๆให้หมดไป

 แต่ก่อนจะใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าได้

เราต้องมีสมาธิก่อน เราต้องมีกำลัง

หยุดความอยากไว้ชั่วคราวก่อน

 หยุดความคิดปรุงแต่งไว้ชั่วคราวก่อน

 ถ้าเรามีแล้วทีนี้เราก็จะสามารถ

เอาคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ มาใช้ด้วยการพิจารณา

ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เราไม่สามารถควบคุมบังคับสั่งการเขาได้

พอเราเห็นว่าเขาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เราก็จะไม่อยากได้ มีใครอยากจะได้ความทุกข์บ้าง

แต่เรายังหยุดไม่ได้ ยังทำตามไม่ได้

 ก็เพราะว่าเรายังหยุดความอยากไม่ได้

หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทำใจให้สงบไม่ได้นั่นเอง

การปฏิบัติเบื้องต้นจึงต้องปฏิบัติที่การเจริญสติ

เพื่อมาหยุดความอยาก หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

 เพื่อทำให้ใจได้สงบตัวชั่วคราว

เพื่อที่เราจะได้มีกำลังเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 มาต่อสู้กับความอยากอีกครั้งหนึ่ง

 มาทำลายความอยากอย่างถาวรจริงๆ

 ไม่มีใครจะสามารถรู้ความจริงได้ นอกจากพระพุทธเจ้า

ว่าต้นเหตุของความทุกข์ก็คือความอยากนี่เอง

 ก่อนหน้านั้นทุกคนก็ทำสมาธิได้ ทำใจให้สงบได้

มีความสุขได้ในขณะที่อยู่ในสมาธิ

แต่พอออกจากสมาธิมาแล้วไม่สามารถ ที่จะป้องกัน

ไม่ให้ใจเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ เพราะไม่รู้ว่า

ความทุกข์เกิดจากความอยาก

หรือถ้ารู้ก็ไม่รู้ว่าจะหยุดความอยากได้อย่างไร

เพราะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง

 มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่ทรงรู้

ทรงเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

แล้วนำเอามาสั่งสอนให้แก่ผู้อื่น

 พอผู้อื่นที่มีสมาธิแล้วรับรู้ปั๊บ เขาก็บรรลุได้

 เขาก็หยุดความอยากได้อย่างถาวร

บรรลุเป็นพระอรหันต์ บรรลุพระนิพพานได้

ในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นเลย เพราะเขามีสมาธิอยู่แล้ว

เขามีกำลังที่จะหยุด ความอยากอยู่แล้ว

 เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าความอยากนี้เป็นตัวปัญหา

เป็นตัวเชื้อโรคของความทุกข์ใจนี้เอง

เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ พอรู้จากพระพุทธเจ้า

เขาก็หยุดความอยาก พอหยุดความอยากปั๊บ

ความทุกข์ภายในใจก็หายไปหมดเลย

นี่แหละคือเรื่องของการที่เรามาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

เพื่อที่เราจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง

ทั้งในส่วนของที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

 และในส่วนที่พวกเราจะต้องสร้างกันขึ้นมาให้ได้

ก็คือเราต้องสร้างสติ ขึ้นมาให้ได้ก่อน

 เมื่อมีสติแล้วเราก็จะหยุดการวิพากษ์วิจารณ์

หยุดความอยากได้ ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

พอใจสงบแล้วก็จะมีกำลังไว้หยุดความอยาก

 เวลาที่เกิดความอยาก พอเราเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า

มาใช้ว่า อย่าไปอยาก อยากแล้วทุกข์

เพราะว่าสิ่งที่อยากได้นั้น มันจะต้องเปลี่ยนไป จะต้องหมดไป

แล้วเราก็ไปห้ามเขาไม่ได้เวลาเขาหมดไป

 เวลาเขาเปลี่ยนไป เวลาเขาเปลี่ยนไปหมดไป

เราก็จะเสียอกเสียใจทุกข์ใจ

นี่คือเรื่องของสติ สมาธิ และปัญญา

 ที่พวกเรายังไม่ค่อยมีกันมากพอ

 ใจของพวกเราจึงยังไม่สามารถต่อสู้

กับความอยากในรูปแบบต่างๆได้

เราจึงต้องพยายามพากเพียรสร้างสติ สร้างสมาธิ

และสร้างปัญญา ขึ้นมาให้ได้ ด้วยการปลีกวิเวกอยู่คนเดียว

ด้วยการหยุดการหาเงินใช้เงิน หยุดหาความสุขทางโลก

 ทางตาหูจมูกลิ้นกาย หยุดการทำบาปทำกรรม

แล้วก็มาทุ่มเทกับการเจริญสติสมาธิปัญญานี้

รับรองได้ว่าภายในชาตินี้ จะได้เห็นผลอย่างแน่นอน

 เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงรับประกันไว้แล้วว่าไม่เกิน ๗ ปี

ถ้าปฏิบัติเต็มที่ ปฏิบัติแบบมืออาชีพรับรองได้ว่าไม่เกิน ๗ ปี

ถ้าเป็นมือสมัครเล่นนี้ไม่รับรอง เพราะว่ามันไม่พอ

ไม่สามารถไปชิงเหรียญทองได้

ถ้าอยากจะชิงเหรียญทอง เหรียญโอลิมปิกนี้

ต้องลาออกจากงาน แล้วก็ไปฝึกซ้อมกีฬาอย่างเดียว

อย่างนี้รับรองได้ว่าไปแข่งโอลิมปิกได้เหรียญทองได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖

“รู้เฉยๆ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 มิถุนายน 2559
Last Update : 16 มิถุนายน 2559 10:47:46 น.
Counter : 706 Pageviews.

0 comment
### ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข ###








ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข

การช่วยเหลือผู้อื่นนั้น

ช่วยขัดเกลาและปรับปรุงจิตใจ

ของเราโดยไม่รู้ตัว

 ทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลง

และมีจิตใจอ่อนโยนมากขึ้น

ที่สำคัญอีกประการก็คือ

ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

 หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า

 ทีแรกคิดจะไปให้ความสุขแก่เขา

 กลับกลายเป็นว่า เขาให้ความสุขแก่เรา

 สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า

 “ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”

พระไพศาล วิสาโล






ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 มิถุนายน 2559
Last Update : 15 มิถุนายน 2559 10:48:12 น.
Counter : 1497 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ