Group Blog
All Blog
### ปัญญากับตัวรู้ ###
















“ปัญญากับตัวรู้”

ปัญญาเป็นตัวที่ชี้บอกว่าอะไรผิดอะไรถูกอะไรดีอะไรชั่ว

อะไรทำให้สุข อะไรทำให้ทุกข์ เรียกว่าปัญญา

 ตัวรู้ก็รู้เฉยๆ เป็นคนรับรู้เฉยๆ ถ้าไม่มีตัวรู้ก็เหมือนต้นไม้

พูดกับมันมันก็ไม่รู้เรื่อง ต้นไม้เสานี้มันไม่มีตัวรู้

ร่างกายนี้มีตัวรู้ เพราะว่าตัวรู้มันมาอาศัยร่างกายนี้อยู่

เวลาพูดกับคนเป็น จึงไม่เหมือนพูดกับคนตาย ใช่ไหม

พูดกับคนตายนี้ด่ามันยังไงมันก็ไม่เดือดร้อน

ชมมันอย่างไรมันก็ไม่ดีใจ เพราะตัวรู้ไม่มี

 แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้มีตัวรู้ เวลาชมมันก็ดีใจ เสียใจก็ได้

 หรือเฉยๆก็ได้ อยู่ที่ปัญญา

ถ้าไม่มีปัญญาเวลาชมก็จะดีใจ เวลาด่าก็จะเสียใจ

แต่ถ้ามีปัญญามันก็จะเฉยๆ เพราะมันรู้ว่าเขาจะชม

หรือเขาด่ามันก็เป็นเพียงลมปากของเขา

 เราไปบ้ากับลมปากเขาทำไม

 เราไม่ได้ดีหรือไม่ดีกับคำชม หรือคำด่าของเขา

แต่ถ้าคนไม่มีปัญญาจะหลงไหลกับคำชม

 จะเกลียดกับคำด่า พอใครชมแล้วก็จะดีใจ

 พอใครด่าก็จะเสียใจ แต่คนที่มีปัญญาจะแยกแยะว่า

 คนเขาพูดอย่างไรนี้มันไม่เกี่ยวกับเรา

 เราก็ยังเป็นเราอยู่นะ

เขาว่าเราเป็นควายเราก็ยังเป็นคนอยู่

 แต่พอเขาบอกว่าเราเป็นควายเราก็ไปโกรธเขา

ก็แสดงว่าเราโง่แล้ว ไม่มีปัญญา

คนที่มีปัญญาเขาก็บอกว่า เรื่องของเขา ปากของเขา

เขาจะพูดอะไรถูกหรือผิดมันเรื่องของเขา

 เราดูที่ตัวเราว่าเราผิดหรือถูกอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า

 ถ้าเขาว่าเราผิดแล้วเราผิดจริงเราก็ควรจะแก้ไข

ถ้าเขาว่าเราผิดแต่เราไม่ผิด

เราก็ไม่ต้องไปสนใจ ก็เท่านั้นเอง

 ถ้าเขามาชมเราว่าเราดีอย่างนั้นดีอย่างนี้

แต่เราไม่ดีจริงเราไปดีใจทำไม เราก็ควรที่จะแก้ไข

 แล้วเรายังไม่ได้ดีอย่างที่เขาพูด

นี่คือการมีปัญญากับไม่มีปัญญา

ถ้าไม่มีปัญญามันจะไปกับความหลง

ความหลงนี้มันจะชอบของดีชอบคำชมเชย

ชอบให้คนให้ของเรา

ชอบได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้เป็นความหลง

 แต่มันไม่รู้ว่าการชอบเหล่านี้

มันจะทำให้นำไปสู่ความเสียใจต่อไป

 เวลาไม่ได้ เข้าใจไหม เวลาเขาไม่ชมเรา เราก็จะเสียใจ

 เวลาเขาไม่ให้อะไรเรา เราก็จะเสียใจ

แต่ถ้าคนฉลาดจะรู้ว่าไม่ควรยินดีกับสิ่งที่เขาให้เรามา

 เพราะว่าถ้าเรายินดีเดี๋ยวเขาไม่ให้เรา เราก็จะเสียใจ

 หรือของที่เราได้มาด้วยความยินดี

 ถ้ามันหายไปเราก็จะเสียใจอีกแหละ

คนฉลาดเขามีปัญญาเขาจะรู้ว่า

ของต่างๆ เป็นของไม่เที่ยง

ได้มาแทนที่จะมีความสุขจะมีความทุกข์มากกว่า

 เพราะได้มาแล้วจะต้องมาวิตกกังวล มารักมาหวง

แล้วมาเสียใจเวลาต้องเสียเขาไป นี่คือคนมีปัญญา

จะคิดต่างจากคนไม่มีปัญญา

คนไม่มีปัญญาจะดีอกดีใจ

ใครให้อะไรมานี้ โอ๊ย..ดีใจ

 แต่พอวันไหนเขาไม่ให้นี้ก็เสียใจ

 แต่ถ้าคนไม่ยินดี เขาไม่ให้ก็ไม่เสียใจ

 ให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้

 ให้ก็รับไว้ตามมารยาทเท่านั้นเอง

 แต่ไม่เคยอยากได้อะไรจากใคร นี่คือคนฉลาด

 เพราะคนฉลาดเห็นว่าของที่ได้มาจะต้องเสียไป

ของในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มันเป็นของชั่วคราวเท่านั้น

 แต่คนไม่มีปัญญาจะมองไม่เห็นจะคิดว่าจะเป็นของเรา

 อยู่กับเราไปตลอด

แต่มันสักวันหนึ่งมันจะต้องจากเราไปไม่ช้าก็เร็ว

คนมีปัญญาจึงไม่อยากได้อะไรจากใคร

 จึงไม่มีความโลภ ไม่มีความอยาก

คนที่ไม่มีปัญญานี้จะอยากได้

เพราะคิดว่าได้มาแล้วจะมีความสุข

 แต่มองไม่เห็นว่า เวลาเสียไปจะเป็นอย่างไร

 คนมีปัญญาจะเห็นว่าได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องเสียไป

มีเกิดแล้วก็ต้องดับ มีขึ้นแล้วก็ต้องมีลง

ก็จะไม่ได้อยากได้อะไร

พอไม่อยากได้อะไรก็จะไม่ทุกข์

 สบาย อยู่เฉยๆ ก็มีความสุข นี่คือปัญญา

ปัญญาเป็นผู้สอนตัวรู้ที่ตอนนี้ถูกตัวหลงหลอกอยู่

 หลอกให้ดีใจเสียใจไปกับเหตุการณ์ต่างๆ

แล้วตัวรู้นี้เป็นตัวที่รับความทุกข์

 พระพุทธเจ้านี้เป็นคนฉลาด

 ท่านสามารถศึกษาดูวิธีที่จะรักษาใจ

รักษาตัวรู้นี้ไม่ให้ทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ

 ด้วยการไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ไม่มีใครในโลกนี้ มองเห็นกัน

เพราะถูกความหลงครอบงำอยู่

เหมือนคนที่มีตาแต่ถูกเอาผ้ามาปิดไว้

เลยมองอะไรไม่ให้เห็น เห็นกลับตาลปัตร

เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข

เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง

เห็นสิ่ง ที่ไม่ใช่ของเราว่าเป็นของเรา

มันก็เลยทุกข์เพราะไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยง

 เดี๋ยวมันก็หายไป ไปยึดกับของที่ไม่ใช่ของเรา

เดี๋ยวเขาก็กลับคืนไปสู่เจ้าของเดิม

 เจ้าของเดิมคืออะไรก็คือดิน น้ำ ลม ไฟ

ถ้าเราไม่มีปัญญาของพระพุทธเจ้ามา

พวกเราก็จะถูกความหลงหลอกให้เรา

ดีใจเสียใจกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

แล้วก็กลับมาดีใจเสียใจซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่นั่นแหละ

ตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ เพราะมีความอยากที่จะมา

ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ไม่เคยคิดว่า

ได้อะไรมาแล้วจะต้องเสียมันไป ถึงแม้ว่าจะเสียแล้วก็ลืม

 เสียแฟนไม่กี่วันเดี๋ยวก็หาแฟนใหม่แล้ว

แล้วคิดว่าเเฟนใหม่จะไม่เสียอีกหรอ มันก็เสียอีกแหละ

นี่คือเรื่องของความหลงกับปัญญาอยู่กันคนละฟากกัน

ถ้ามีปัญญาก็จะไม่มีความหลง

 ถ้าไม่มีปัญญาก็จะความหลง

 ถ้ามีความหลงก็จะมีแต่ความทุกข์

 ถ้ามีปัญญาก็จะมีแต่ความสุข

 ปัญญาเป็นเครื่องรักษาใจให้มีความสุข

 แต่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน

สมาธิจะมีได้ก็ต้องมีสติก่อน

 ที่เรามาปฏิบัติกันนี้ก็ กอไก่ ขอไข่ก่อน

สร้างสติขึ้นมาก่อน มีสติแล้วก็นั่งสมาธิทำใจให้สงบ

พอใจสงบแล้วทีนี้ใจก็จะสามารถมองความจริงได้

 มองเห็นความจริง พิจารณาความจริงได้

ว่ามีอะไรเที่ยงแท้ แน่นอนไหมในโลกนี้

มีอะไรที่อยู่เหมือนเดิมไปตลอดไหม ไม่มีหรอก

 แม้แต่โลกนี้สักวันหนึ่ง มันก็จะต้องหมดสภาพไป

แต่เราคิดไม่เป็นกัน เราคิดว่า

โลกนี้จะเป็นอย่างนี้ไปตลอด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

การปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา ให้เห็นไตรลักษณ์

 เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงเห็นทุกข์

ที่เกิดจากความอยากให้สิ่งต่างๆเที่ยง

 ถ้าไม่มีความอยากให้สิ่งต่างๆ เที่ยงก็จะไม่ทุกข์

เวลาสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยงก็จะไม่เดือดร้อน

 ที่เดือดร้อนเพราะไปอยากให้มันเที่ยง

อยากให้มันเป็นของเราไปตลอด

แต่มันเป็นของเราชั่วคราวเท่านั้นเอง

 เดี๋ยวสักวันหนึ่งก็ต้องเป็นของคนอื่นไป ไปอยู่กับที่อื่น

 ร่างกายนี้ต่อไปมันก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ

 ไปสู่เจ้าของเดิม ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

 ดังนั้นเราต้องพยายามมองทุกอย่างให้เห็นความไม่เที่ยง

 เห็นการดับของทุกสิ่งทุกอย่าง

เห็นการเสื่อมของทุกสิ่งทุกอย่างมันจะได้ไม่อยากได้

 เมื่อไม่อยากได้มันก็จะไม่ทุกข์

จะคิดอย่างนี้ได้ก็ต้องมีใจที่สงบ

ถ้าใจไม่สงบมันจะถูกความหลงหลอก

ให้ไปคิดทางตรงกันข้ามเสมอ

 เห็นใครก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ

 ดีกับเราไปนานๆ เป็นของเราไปนานๆ ไปตลอด

 แต่ถ้าใจสงบแล้วมันจะมองเห็นว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น

 เดี๋ยวก็ต้องเสื่อม เดี๋ยวก็ต้องหมด

เดี๋ยวก็ต้องตายจากกันไป ถึงต้องปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไปก่อน

 ถ้าเรายังไม่มีสมาธิ เราก็ต้องไปฝึกสติ

ถ้าเราไม่มีสติเราก็ต้องหาเวลามาสร้างสติ

ถ้าเรามัวแต่ไปทำงานทำการหาเงินหาทอง

เราก็จะไม่มีเวลามาฝึกสติมานั่งสมาธิกัน

ท่านถึงบอกว่าให้ทำมาหากิน

พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ก็พอแล้ว

 เอาเวลาที่เหลือนี้มาปฏิบัติธรรมดีกว่า

ดีกว่าไปหาเงินเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ เท่า ๑๐๐ เท่า

มันก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

แต่กลับจะมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไป

ทางจิตใจจะวิตกกังวลกับทรัพย์สมบัติมากขึ้นไป

หรือไปใช้เงินทองให้เสียเวลาไปเปล่าๆ

 ไปซื้อของที่เป็นเหมือนยาเสพติด

ซื้อแล้วก็ต้องซื้ออยู่เรื่อยๆ วันไหนไม่ได้ซื้อก็ทุกข์

เอาเวลามาอยู่วัดมาปฏิบัติธรรมดีกว่า

 มาเจริญสติเพื่อนั่งสมาธิให้ใจสงบ

เมื่อใจสงบแล้วจะได้ดึงใจมาพิจารณาไตรลักษณ์ได้

พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้

พอเห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ใจก็จะละความอยากได้

 ก็ปล่อยให้มันไม่เที่ยงไป ทำไงได้ห้ามมันไม่ได้

คนมันจะตายไปหยุดมันได้หรือเปล่า แต่หยุดใจได้

ใจเราอย่าไปทุกข์กับมัน มันจะตายก็ตายไป

ถ้าห้ามมันไม่ได้ แก้มันไม่ได้

ก็ต้องปล่อยมันตายไปเท่านั้นเอง

ใจก็จะไม่ทุกข์ ใจก็จะไม่เดือดร้อนกับความสูญเสีย

 กับการสิ้นสุดของสิ่งต่างๆ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา

เรื่องของธรรมชาติ เราก็จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์กัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 พฤษภาคม 2559
Last Update : 9 พฤษภาคม 2559 11:03:36 น.
Counter : 672 Pageviews.

0 comment
### รางวัลที่เราได้รับจากการรักษาศีล ###















“รางวัลที่เราจะได้รับจากการรักษาศีล”

ถาม : ผมอยากจะถามตรงที่พระให้พร ที่ว่า

 สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา

 สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตสัมา สีลัง วิโส ทะเย

พระอาจารย์ : ท่านก็บอกว่า

นี่คือรางวัลที่เราจะได้รับจากการรักษาศีล

 เวลาเราทำอะไรเราก็มักจะต้องการ ผลตอบแทนใช่ไหม

 ไปซื้อหุ้นเขาก็บอกว่าหุ้นตัวนี้จะปันผลเท่าไรเท่านั้นเท่านี้

แล้วก็มีมูลค่าเพิ่ม อีกเท่าไรเท่านั้นเท่านี้ ภายใน ๑ ปี

 อันนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า

เวลารักษาศีลแล้ว สีลเนะ สุคะติง ยันติ แปลว่าจะไปสู่สุคติ

 คือผู้ที่ไม่ทำบาปนี้จะไม่ไปอบาย

 พูดง่ายๆ สุคตินี้ก็คือภพของมนุษย์ เทวดาและพรหม

 และอริยเจ้า ผู้ที่จะไปสุคติได้ต้องรักษาศีล ๕ อย่างน้อยขึ้นไป

 ถ้ารักษาศีล ๕ ไม่ได้ก็ต้องไปอบาย ๔

ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกาย ไปตกนรนก

 เป็นเดรัจฉานเพราะทำบาปด้วยความไม่รู้ว่าเป็นบาป

 พวกเดรัจฉานนี้เขาไม่รู้ว่าบาป

เวลาเขากินสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอาหาร

 เขาคิดว่าเป็นการเลี้ยงชีพ

 เหมือนคนที่ทำอาชีพประมงฆ่าสัตว์

 เขาก็คิดว่าเป็นการเลี้ยงชีพ

 หรือคนที่เป็นเพชรฆาตตำรวจทหารนี้ ก็เหมือนกัน

เวลาไปฆ่าถึงแม้จะเป็นข้าศึกศัตรูก็ยังฆ่าอยู่

เขาก็คิดว่าเป็นอาชีพของเขา เขาไม่บาป

เขาทำเพื่อป้องกันประเทศเพื่อป้องกันครอบครัว

หรืออะไรต่างๆ มันก็ยังเป็นการฆ่าอยู่

เพียงแต่ว่าบาปมันมีบาปหนักหรือบาปไม่หนัก

 อยู่ที่เจตนาอยู่ที่บุคคลที่เราฆ่า

บุคคลที่เราฆ่าถ้ามีพระคุณมากก็บาปมาก

 ฆ่าคนธรรมดานี้บาปไม่มากเท่ากับฆ่าพ่อฆ่าแม่

นรกมันมีหลายขุม เหมือนโทษมีหลายระดับ

มีประหารชีวิตมีจำคุก ๒๐ ปี ตลอดชีวิต

แล้วแต่ความหนักเบาของบาปที่เราทำ ของโทษที่เราทำ

 ถ้าไม่ทำบาป ๕ ข้อคือไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์

 ประพฤติผิดประเวณี พูดปด เสพสุรายาเมาก็จะไม่ไปอบาย

 แต่ต้องรักษาให้ได้ ๕ ข้อทุกวันทุกเวลาไม่มีข้อยกเว้น

 คนที่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องเป็นพระโสดาบัน

 เพราะท่านจะมีปัญญามีสติที่จะคุมใจได้

คุมความคิดที่จะทำบาปได้

ถ้าต้องให้แลกระหว่างการตายกับการทำบาป

ท่านจะยอมตาย อย่างที่พระพุทธเจ้าบอก

 “ท่านจะสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

 สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แต่สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม”

 ศีลธรรม เพราะว่ารักษาศีลได้นี้ไม่ต้องไปอบาย

ตายไปก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ไม่ดีกว่าหรือ

 ดีกว่าตายแล้วไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

นี่คือเรื่องสีเลนะ สุคะติง ยันติ

สีเลนะ โภคะสัมปะทา ผู้ที่รักษาศีลนี้จะมีทรัพย์

ทรัพย์ที่หามาจะเป็นทรัพย์ที่สะอาดบริสุทธิ์

จะไม่สูญเสียไปง่ายๆ แบบทรัพย์ที่หามาแบบไม่บริสุทธิ์

ถ้าเราโกงมานี้เราก็จะได้มาง่ายก็จะใช้ง่าย

แล้วถ้าถูกจับเข้าคุกก็อาจจะถูกยึดทรัพย์

ท่านจึงให้หาทรัพย์มาด้วยวิธีที่สุจริต อย่าไปทำบาป

ทำผิดกฎหมาย แล้วทรัพย์ที่เราได้มานี้มันจะปลอดภัย

เพราะเราหามาด้วยความยากเย็น

เราก็จะไม่ใช้มันแบบสุรุ่ยสุร่าย

 แต่ถ้าหามาแบบง่ายๆ โกงเขามาอย่างนี้

หลอกเขาอย่างนี้มันก็ได้มาง่ายมันก็ใช้ไปง่าย

เดี๋ยวมันก็หมดเร็ว มันก็เลยไม่มีทรัพย์ก็ต้องโกงอยู่เรื่อยๆ

 แล้วในที่สุดก็ต้องถูกจับ ถูกจับก็ไปติดคุก

ติดคุกก็ไม่มีทรัพย์แล้ว ถูกเขายึดทรัพย์ไปแล้ว

สีลเนะ โภคะสัมปะทา

สีลเนะ นิพพุติง ยันติ การรักษาศีลระงับดับความทุกข์

ความวุ่นวายใจจากการทำบาปได้ ใจจะไม่เครียด

ไม่วิตกกังวลหวาดกลัวกับบาปที่เราทำ

 ถ้าเราไม่ทำบาปนี้เรานอนที่ไหนก็ได้

เป็นพระมานอนในป่านี้ได้

แต่คนที่ไปฆ่าคนหรือทำร้ายผู้อื่นนี้

จะไปไหนก็มีแต่ความหวาดระแวง

 เข้าใจไหม ๓ ข้ออานิสงส์ของศีล

สีละนะ สุคะติง ยันติ สำคัญที่สุด

ก็รักษาศีลแล้วไม่ต้องไปอบาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 พฤษภาคม 2559
Last Update : 8 พฤษภาคม 2559 12:29:08 น.
Counter : 807 Pageviews.

0 comment
### สมาธิ ###














“สมาธิ”

สมาธิก็มี ๒ ชนิด มิจฉา กับสัมมา

สัมมาสมาธิก็นี่แหละ “อัปปนาสมาธิ” จิตสงบ

 แล้วก็ขณิกะก็เป็นสัมมาสมาธิ

 แต่ขณิกะนี้เป็นความสงบเดี๋ยวเดียวชั่วขณะ

 ใหม่ๆ เวลาเจริญสมาธินี้จะได้ขณิกะก่อน

 จิตจะรวมลงปั๊บแล้ว ก็จะถอนออกมา

 เพราะกำลังสติมีไม่มาก แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ

เจริญสติไปเรื่อยๆ สติมีกำลังมาก

 ต่อไปจิตสงบก็จะตั้งอยู่ได้นาน

อัปปนานี้ไม่มีนิมิตไม่มีอะไรทั้งสิ้น

มีแต่ความว่างความสงบหยุดคิดปรุงเเต่ง

 แล้วก็สักแต่ว่ารู้ “อุเบกขา” ที่เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์”

 จิตรวมเป็นหนึ่ง เหลือแต่ตัวรู้ตัวเดียว สักแต่ว่ารู้ตัวเดียว

 ส่วนมิจฉาสมาธิก็อุปจารสมาธิ

เหมือนกับท่านแสดงไว้ในหนังสือ “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ว่า จิตแบบนี้คือพอเข้าไปในอัปปนาแล้วไม่ตั้งอยู่ในอัปปนา

ถอยออกมารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ นิมิตต่างๆ

 หรืออภิญญาความสามารถต่างๆ เห็นกายทิพย์

เห็นรูปทิพย์เสียงทิพย์ อ่านวาระจิตของผู้อื่นได้

 เหาะเหินเดินอากาศหรืออะไรต่างๆ

ที่เรียกอภินิหารเรียกอภิญญา อันนี้เกิดจากอุปจารสมาธิ

แต่มันไม่มีอุเบกขา มันไปเห็นอะไรเข้ามันก็เกิดความรัก

 ความชังขึ้นมาได้ แล้วก็ไม่มีกำลัง

พอออกจากสมาธิมา

 ก็เป็นเหมือนน้ำที่แช่ในตู้เย็นแล้วไม่เย็น

 ตู้เย็นที่ไม่ได้เสียบปลั๊ก

แช่ไปกี่ชั่วโมงถอยออกมาน้ำมันก็เหมือนเดิม

 ดีไม่ดีร้อนกว่าเดิมเสียอีก

พอออกมาก็เห็นรูปได้ยินเสียง

ดมกลิ่นก็จะเกิดอารมณ์ตามขึ้นมา

เกิดตัณหาตามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

แล้วก็จะไม่สามารถต้านมันได้

เกิดแล้วก็ต้องไปต่อสู้กับมัน

 ไปตอบสนองมันเพราะสู้ไม่มีที่สู้ไม่มีอุเบกขาสู้

ไม่มีปัญญา ปัญญาจะมีอาจจะรู้ว่าไม่ดี ไม่ควรไปเสพ

 อยากจะดื่มสุราก็ไม่ควรดื่ม อยากจะดูหนังก็ไม่ควรดู

อยากจะไปเที่ยวก็ไม่ควรเที่ยว แต่มันไม่มีกำลังที่จะต้านมัน

 แต่ถ้ามาจากอัปปนาสมาธิออกมานี้มันมีอุเบกขา

 ยังเหลืออยู่ยังพอมีกำลังสู้กับมัน

 แล้วถ้ารู้ว่าสู้ไม่ไหว ก็กลับเข้าไปในอุเบกขาต่อไป

เติมอุเบกขาได้ แต่ถ้าเป็นอุปจาระนี้มันไม่มีอุเบกขาให้เติม

มันก็กลับเข้าไปในสมาธิมันก็เหมือนกัน

มันก็ต้องทำตามความอยาก มันก็หยุดความอยากไม่ได้

ต่างกันตรงนี้ นี่เรื่องของสมาธิ

มีมิจฉากับสัมมา สัมมาก็คือสงบนิ่ง เป็นอุเบกขา

สักแต่ว่ารู้ สงบเดี๋ยวเดียวเขาเรียกว่า ขณิกสมาธิ

 สงบนานก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

ถ้าสงบแล้วถอยออกมารับรู้เรื่องราวต่างๆ

 ภายในไม่ใช่ภายนอก ไม่ใช่ทางร่างกายภายในจิต

 ผ่านทางจิตรู้วาระจิตรู้รูปทิพย์กายทิพย์เสียงทิพย์นี้

รู้นรก รู้สวรรค์ เห็นนรกเห็นสวรรค์

พวกนี้อยู่ในอุปจารสมาธิทั้งนั้น

ความรู้แบบนี้ไม่ใช่เป็นความรู้ที่จะมาดับกิเลสได้

 ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์สอนก็จะคิดว่าเป็นความรู้ที่วิเศษ

 คิดว่าได้บรรลุธรรมแล้ว ได้เห็นนรกได้เห็นสวรรค์แล้ว

คนที่ติดอย่างนี้ก็แก้ยาก หลวงตาก็เคยมีลูกศิษย์

คุณแม่ชีแก้วแกก็มักออกไปรู้เรื่องผีเรื่องคนตาย

 เรื่องสัตว์ตายทั้งหลาย เวลานั่งสมาธิทีไร

ก็จะไปรู้เรื่องราวเหล่านี้ แต่จิตไม่มีแรงออกทางปัญญา

 หลวงตาก็ต้องบังคับคอยเตือนคอยบอกว่าก็ไม่เชื่อ

 สุดท้ายก็ต้องใช้ไม้ตาย บอกว่า

“ถ้าไม่ฟังกันก็เลิกเป็นลูกศิษย์อาจารย์กัน

ต่อไปนี้ไม่สอนแล้ว ถ้ายังไปเล่นกับของพวกนี้อยู่”

เป็นเหมือนเดรจฉานวิชามันไม่ใช่โลกุตตระวิชา

 ไม่ได้ทำให้จิตหลุดพ้น เป็นโลกียวิชา

เป็นวิชาที่ทำให้จิตติดอยู่ในโลกแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

พอใช้คำขาดแบบนี้แกก็เลยยอม บังคับตัวเองไม่ให้ออกไป

 พอจิตสงบแล้วก็ใช้ “สติ” ดึงเอาไว้ให้อยู่ในสมาธิ

ให้อยู่ในอุเบกขา แล้วพอออกจากอุเบกขามาก็เจริญปัญญา

พิจารณาทางปัญญา พิจารณาร่างกาย

พิจารณาขันธ์ ๕ ก่อน ร่างกาย เวทนานี้อยู่ในขันธ์ ๕

พิจารณาว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา

สั่งมันไม่ได้ห้ามมันไม่ได้

สั่งให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายไม่ได้

สั่งให้เวทนาให้มันไม่ทุกข์ไม่ได้

มันจะทุกข์ก็ต้องปล่อยมันทุกข์ มันจะสุขก็ปล่อยมันสุข

ใจมีหน้าที่สักแต่ว่ารู้ อย่าไปเกิดความอยากขึ้นมา

ถ้าเกิดความอยากให้เวทนาหายไป

เกิดความอยากไม่ให้ร่างกายตาย ก็จะเกิดความทุกข์ใจ

ความอยากนี้คือ “สมุทัย” ใน “อริยสัจสี่”

ความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

 และการจะหยุดความอยากได้ ก็ต้องเห็นว่า

สิ่งที่เราอยากนั้นมันเป็นไตรลักษณ์

อยากให้ร่างกายไม่ตายแต่มันต้องตาย

 มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถ้าเห็นแล้วก็รู้ว่าอยากไปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

อยากก็ตาย ไม่อยากก็ตาย แต่อยากแล้วทุกข์

ไม่อยากแล้วไม่ทุกข์ สู้ไม่อยากดีกว่า

ตายแบบไม่ทุกข์ดีกว่า ดีกว่าตายแล้วทุกข์

 หรืออยู่ก็ทุกข์ ถ้าไม่มีความอยากแล้ว

ก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย มันก็จะไม่ทุกข์กับทุกขเวทนา

ความเจ็บของร่างกาย ร่างกายเจ็บก็ต้องอยู่กับมันไป

 ไปอยากให้มันหายมันก็ไม่หาย

 เวลาคุณไม่สบายอยากให้มันหายมันหายไหม

มันก็ถึงเวลาเดี๋ยวมันก็หายเอง มันเป็นอนิจจัง

 ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องหาย

หายก็มีหายแบบสองแบบ หายแบบชั่วคราวกับหายถาวร

 หายชั่วคราวเดี๋ยวก็กลับมาเป็นใหม่อีก

เป็นไข้หวัดคราวนี้แล้วเดี๋ยวเดือนหน้า

สองเดือนหน้าก็มาเป็นใหม่ หายชั่วคราว

 ถ้าหายถาวรก็คือตาย ตายแล้วรับรองได้ว่า

ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บต่อไป

มันเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง

 มันเป็นอย่างนี้ความจริงของร่างกาย

ถ้าเรายอมรับความจริงได้

 เราก็ไม่ต้องมีความอยากไปต้านมัน

 อยากไม่ให้มันไม่เจ็บ อยากไม่ให้มันไม่ตาย

 อยากไปก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร นี่คือปัญญา

ที่จะพิจารณาร่างกาย พิจารณาเวทนา

แล้วต่อไปก็จะปล่อยวางร่างกายได้ ปล่อยวางเวทนาได้

 มันจะตายก็ปล่อยมันตายไป มันจะเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บไป

 แต่ใจไม่ทุกข์กับมัน

อันนี้ก็บรรลุธรรมขั้นแรกได้แล้ว “โสดาบัน”

ปล่อย ละสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิก็การไปเห็นว่า

ร่างกายเป็นตัวเรา ของเรา เวทนาเป็นตัวเราของเรา

แต่ความจริงมันไม่ใช่ ร่างกายมันเป็นดินน้ำลมไฟ

มันไม่ได้เป็นของเรา เราเป็นเพียงแต่

ผู้มาครอบครองมันไว้ชั่วคราวมันไม่ใช่เป็นเรา

 เราไม่ได้เป็นมัน เวทนาก็เหมือนกัน เราสั่งมันได้หรือเปล่า

สั่งร่างกายได้หรือเปล่า มันก็ไม่ใช่เป็นของเรา

 ถ้าเป็นของเรา เราต้องสั่งมันได้

เราก็ต้องปล่อย มันแก่ก็ปล่อยมันแก่ไป

มันเจ็บก็เจ็บไป ตายก็ตายไป ถ้ามีปัญญามีอุเบกขา

มันก็จะทำใจให้วางเฉยได้

เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเป็นวิธีที่จะไม่ทุกข์

 ถ้าไม่วางเฉย ถ้าไปอยากมันจะทุกข์ขึ้นมา

การปฏิบัตินี้เป้าหมายก็เพื่อดับความทุกข์ใจ

ไม่ได้ทำอะไรให้ใจวิเศษหรอก ใจก็เหมือนเดิม

เพียงแต่ว่าทำให้มันฉลาด ทำให้มันไม่หลง

เพื่อมันจะได้ไม่ทุกข์เท่านั้นเอง

ใจของพวกเรากับใจของพระพุทธเจ้านี้ มีเหมือนกัน

เป็นตัวรู้เหมือนกัน ตัวคิดเหมือนกัน

แต่ต่างกันตรงที่ว่าหลงกับไม่หลงเท่านั้นเอง

 ใจของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นี้ท่านไม่หลง

 ท่านก็เลยไม่ผลิตความอยากขึ้นมา

เพื่อมาสร้างความทุกข์ให้กับใจ

แต่ใจของพวกเรายังมีความหลงอยู่

แล้วก็คอยผลิตความอยากขึ้นมาเรื่อยๆ

แล้วก็สร้างความทุกข์ให้กับพวกเรามาเรื่อยๆ

เราจึงต้องใช้ปัญญาของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าใช้ไตรลักษณ์

ใช้อสุภะมาละตัณหาความอยาก

 ถ้าเห็นไตรลักษณ์เห็นอสุภะมันก็จะไม่อยาก

พอไม่อยากมันก็หายทุกข์มันก็หลุดพ้นจากความทุกข์

นี่คือปัญญา หลังจากได้สมาธิแล้วออกมา

 ตอนขณะที่จิตนิ่งสงบนี้ไม่ต้องพิจารณา

เป็นเวลาสร้างอุเบกขา ยิ่งอยู่ได้นานเท่าไร

กำลังอุเบกขา ยิ่งมีมากเหมือนเเช่น้ำในตู้เย็น

แช่นานๆ ออกมามันจะได้เย็นนานๆ

จะได้มีเวลาพิจารณาธรรมได้นานๆ

ต้องพิจารณาเรื่อยๆ บ่อยๆ จนกระทั่งมันฝังอยู่ในใจ

จำได้จำว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์

จำว่าร่างกายนี้ เป็นอสุภะได้

พอตัณหาเกิดปั๊บมันก็จะขึ้นมาสู้กันเลย

 เหมือนกับเราท่องสูตรคูณนี้จำได้ สองคูณสองเท่าไร

แปดคูณแปดเท่าไร พอเวลาจะมาทำข้อสอบใช้การคูณนี้

มีข้อสอบถามมาว่าสิบสองคูณสิบสองเท่าไรปั๊บมันก็ออกมาเลย

 แต่ถ้าไม่ได้ท่องไว้ก่อนมันก็ต้องมานับสิบสอง

 ถึงสิบสองครั้งนี้ก็ไม่ทันกาล

อันนี้ก็เหมือนกันที่เราพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ

 อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เรื่อยๆ

เพื่อให้เราไม่ลืม พอเกิดความทุกข์จะได้รู้เลยว่า

เกิดความอยากแล้วนะ มันอยากอะไรตอนนี้

อ๋อ มันเจ็บใช่ไหม มันอยากจะหายเจ็บใช่ไหม

แล้วมันหายหรือเปล่า หายด้วยความอยาก

มันกลับทำให้ความทุกข์มากขึ้น

ความเจ็บทางร่างกายมันไม่ได้ใหญ่โตอะไร

 ที่ใหญ่โตที่ทนไม่ได้คือความเจ็บทางใจ

คือความทุกข์ใจที่เกิดจากความอยาก

พอมีปัญญามีอุเบกขามันก็หยุดเฉยๆ อยู่เฉยๆดีกว่า

ทนเอาเหมือนตอนที่เราทนกับลมพัดนี้

 เสียงลมพัดนี้ก็ปล่อยมันพัดไป

 ถ้าเราอยากให้มันหายนี้เราจะทุกข์ขึ้นมาทันที

เราจะเห็นชัดเลยว่า ความทุกข์นี้มันรุนแรง

กว่าความเจ็บทางร่างกาย

 ความเจ็บจากแสงสีเสียงมันไม่รุนแรง

เท่ากับความเจ็บจากความอยาก นี่คือปัญญา

 จะคิดทางนี้ได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน

 จิตถ้าไม่มีสมาธิมันจะไปเลย พอเกิดอารมณ์ปั๊บมันไปเลย

 มันจะไม่ต่อต้านความอยาก อยากซื้ออะไรก็ซื้อเลย

 อยากดูอะไรก็ดูเลย อยากจะกินอะไรก็กินเลย

 เพราะเวลาไม่ได้ทำนี้มันเครียดมันหงุดหงิด

อยากจะสูบบุหรี่นี่ควักออกมาเลย ถ้าไม่ได้สูบนี้มันเครียดแล้ว

 แต่ถ้ามีอุเบกขา ถึงแม้ความอยากโล่ขึ้นมา

ถึงแม้ยังไม่ตายก็ยังใช้เหตุผล คุยกับมันได้ว่า

 “สูบไปทำไม สูบไปก็มีแต่สุขภาพจะแย่ลง

 สูบแล้วก็ต้องสูบอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ

สู้อย่าไปสูบมันดีกว่า โยนทิ้งไปเลย

กลับไปในอุเบกขาดีกว่าทำใจให้สงบดีกว่า”

มันก็หยุดความอยากได้

ต่อไปความอยากมันก็จะหมดกำลังไป

 ทุกครั้งที่เราฝืนมันกำลังของมันจะลดลงไปทีละครึ่งๆ

เดี๋ยวเดียวไม่กี่ครั้งมันก็หายไป

 คนเลิกบุหรี่ เลิกเหล้าได้ไม่เดือดร้อนแล้วใช่ไหม

 เห็นเหล้าเห็นบุหรี่ก็เฉยๆ เพราะไม่มีความอยาก

เพราะฝืนมันได้ เวลาอยากก็ไม่ทำมัน

 นี่คือเรื่องปัญญากับสมาธิ

ก่อนที่จะมาทำสมาธิและปัญญาได้ก็ต้องมีศีลก่อน

 เพราะถ้าเราไม่มีศีล ใจเราก็จะไปวุ่นวาย กับการกระทำ

ที่ทำให้ใจวุ่นวาย ศีล ๕ ก็ป้องกันได้ระดับหนึ่ง

 ถ้าเรารักษาศีล ๕ เราก็จะไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์

 ประพฤติผิดประเวณีก็จะไม่มีปัญหาต่างๆ

ที่เกิดจากการกระทำเหล่านี้ตามมา

แล้วถ้าเรารักษาศีล ๘ ก็จะลดการกระทำกิจกรรม

ที่เป็นโทษให้น้อยลงไปอีก

 เช่นไปร่วมหลับนอนกับผู้อื่นนี้ก็เหมือนกับไปติดสุรา

 ไปเที่ยวไปดูมหรสพบันเทิงอะไรต่างๆ

แต่งเนื้อแต่งตัวกินอาหารค่ำ

มันก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริม ความเจริญทางจิตใจ

ไม่ได้ทำให้ความสุขทางจิตใจเกิดขึ้น

แต่จะเกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ

กับการที่จะต้อง มาคอยตอบสนองความอยาก

ที่จะกระทำกิจกรรมเหล่านี้ก็จะไม่มีเวลามาเดินจงกรมนั่งสมาธิ

ทำใจให้สงบ ก็ต้องรักษาศีล ๘ คนที่จะภาวนา

คนที่จะเจริญปัญญานี้ต้องถือศีล ๘ ศีล ๕ ไม่พอ

ศีล ๕ ยังกินข้าวเย็นได้ ยังเที่ยวได้

 ยังนอนหลับกับแฟนได้มันก็ไม่มีเวลามาเดินจงกรมนั่งสมาธิ

ก็มัวแต่ไปกินข้าวเย็นดูหนังฟังเพลง แล้วก็หลับนอนกับแฟน

 ก็หมดเวลาไปแล้วจะไม่มีเวลามาเดินจงกรม นั่งสมาธิ

เจริญพุทโธๆเจริญสติ เพื่อให้จิตสงบ

จิตจะสงบได้ต้องเจริญสติก่อน ต้องมีสติก่อน

ต้องดึงใจให้อยู่ในปัจจุบันไม่ปล่อยให้ใจ ไหลไปตามกระแส

ของความคิดต่างๆ ให้ใช้อะไรผูกไว้ ให้ใช้พุทโธๆผูกไว้

 ใจเป็นเหมือนเรือ จะให้เรือจอดอยู่นิ่งๆ

ไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำทำอย่างไรก็ต้องทอดสมอ

 ไม่เช่นนั้นก็ผูกไว้กับท่า ถ้าไม่ได้ผูกไว้กับท่าไม่ได้ทอดสมอ

เรือมันก็ต้องไหลไปตามกระแสน้ำ

 ใจของเราก็มีกระแสน้ำไหลอยู่ คือกระแสของความคิด

คิดอยู่ตั้งแต่ตื่น คิดอยู่ตลอดเวลาอย่าว่าแต่ตื่นเลยหลับก็คิด

 เวลาหลับคิดก็เป็นความฝัน มันก็คิดไปเรื่อยๆ

 คิดไปแล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง

 อยากบ้าง ไม่อยากบ้าง เบื่อบ้าง ไม่มีความสุข

 แต่ถ้าทำใจให้นิ่งเฉยๆ ไม่คิดได้ ใจก็เย็นสบาย เป็นอุเบกขา

 นั่งเฉยๆก็รวมเป็นอัปปนาสมาธิได้ ต้องมีสติหยุดใจให้ได้

 หยุดความคิดให้ได้ อย่าให้ใจไหลไปกับกระแสของความคิด

ให้ใจตั้งอยู่ในปัจจุบัน สักแต่ว่ารู้

ก็ต้องใช้พุทโธหรือใช้การจดจ่อการเฝ้าดู

การกระทำของร่างกาย  ร่างกายทำอะไรอยู่

 ก็ให้อยู่กับการกระทำของร่างกายเพียงอย่างเดียว

 กำลังเดินก็เดินอย่างเดียวไม่ไปคิดถึง เรื่องนั้นเรื่องนี้

กำลังกินก็กินอย่างเดียว

กำลังอาบน้ำก็อยู่กับการอาบน้ำเพียงอย่างเดียว

ทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำ ไม่ให้ไปอยู่กับเรื่องอื่น

 จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องไม่มีกิจกรรมต่างๆ

 ถ้ายังไปทำมาหากินอยู่มันก็ต้องคิดแล้ว

วันนี้จะหาเงินเพิ่มเท่าไรดีไปหาลูกค้าเพิ่มที่ไหนดี

มันก็ไม่มีเวลาที่จะมาดึงจิตให้อยู่เฉยๆ อยู่กับพุทโธได้

คนที่จะเจริญสมาธิปัญญาได้จึงต้องเป็นนักบวชเสียส่วนใหญ่

 หรือคนที่เป็นเหมือนนักบวชคือไม่มีงานแล้ว

คนที่ทำงานมารวยแล้วอยู่เฉยๆได้แล้ว อยู่บ้านเฉยๆ

กินดอกเบี้ยได้แล้วพอแล้วไม่ต้องหาเงิน

เอาดอกมาจ่ายค่าอาหารค่าที่อยู่อาศัยค่าน้ำค่าไฟ

อยู่บ้านคนเดียวไม่ยุ่งกับใคร

เดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ในบ้านก็ได้

 ถ้าเป็นฆราวาส แต่ถ้ามันไม่สะดวกสู้ไปบวชดีกว่า

ไปบวชแล้วจะมีที่ปฏิบัติที่ดีกว่ามีป่า มีเขาให้ปฏิบัติ

ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องอยู่ที่บ้าน

มาอยู่ตามป่าตามเขาก็อยู่ไม่ได้

 นี่ก็เรื่องของศีลของนักบวช ศีล ๘ ขึ้นไป

ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๑๐ ก็ของสามเณร

ศีล ๒๒๗ ก็ของภิกษุ ศีล ๓๑๑ ก็เป็นของภิกษุณี

ถ้าเราเป็นผู้หญิงอยากจะเป็นภิกษุณี ก็ไปเปิดดูซิว่า

 ภิกษุณีมีศีลกี่ข้อ อยากจะเป็นภิกษุณีก็รักษาศีล ๓๑๑ ข้อนี้

ก็เป็นภิกษุณีแล้วไม่ต้องมานุ่งเหลือง ห่มเหลืองก็ได้

ไม่ต้องให้มีคนมาบวชก็ได้

 การเป็นภิกษุณีไม่ได้อยู่ที่การโกนหัวแล้วห่มผ้าเหลือง

 อยู่ที่ว่ารักษาศีลของภิกษุหรือภิกษุณีได้หรือเปล่า

สมัยนี้พวกผู้หญิงอยากจะบวชเป็นภิกษุณี

ก็มาวิ่งเต้นมาประท้วงเรียกร้องสิทธิการที่จะบวชเป็นภิกษุณี

 ไม่มีใครเขาห้ามอยากจะเป็นภิกษุณีก็ไปถือศีล ๓๑๑ ข้อ

ไปถือศีลของภิกษุณีก็เป็นภิกษุณีแล้ว

 เหมือนโยมอยากจะเป็นอุบากสกอุบาสิกา

ก็ไปถือศีล ๘ ก็เป็นแล้ว

 ไม่เห็นจะต้องมีใครมารับรองใช่ไหม

เวลาพระพุทธเจ้าบวชมีใครรับรองพระพุทธเจ้าหรือเปล่า

 เอาสันทิฏฐิโกเป็นตัวรับรองสิ

เอาความจริงเป็นตัวรับรอง

ถ้าเรามีศีล ๘ เราก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาแล้ว

 ถ้าเรารักษาศีล ๒๒๗ ข้อได้เราก็เป็นภิกษุได้แล้ว

ถึงแม้จะไม่ได้บวชก็ไม่มีปัญหาอะไร

เราไม่ได้บวชเพื่อเอาหน้าเอาตาอะไร

เพื่อให้คนกราบไหว้ เราบวชเพื่อจะเอาศีล ๒๒๗ ข้อนี้

มาฆ่ากิเลสเอามาเป็นฐานของการภาวนาของการปฏิบัติ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

สนทนาธรรมบนเขา

 วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 พฤษภาคม 2559
Last Update : 8 พฤษภาคม 2559 12:04:16 น.
Counter : 636 Pageviews.

0 comment
### ปัญญาคือความเห็นว่าความอยากทำให้ทุกข์ ###











“ปัญญาคือการเห็นว่าความอยากทำให้ทุกข์”

การที่เห็นว่าความอยากเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์

นี้เรียกว่า “ปัญญา” แล้วพอเราเห็นว่า

 เหมือนกับเราเห็นว่า ที่เราปวดศีรษะ

ก็เพราะว่าเราเอาฆ้อนมาทุบศีรษะเราอยู่เรื่อยๆ

 แต่เราไม่มองเราไม่เห็น เราไม่รู้ว่า

อาการปวดศีรษะของเรา

เกิดจากการที่เราชอบเอาฆ้อนมาทุบศีรษะเรา

 พอเรามาวิเคราะห์ทีหลังว่า

 โอ๊ย...ที่ปวดศีรษะก็เพราะว่าเราเอาฆ้อนมาทุบมันเอง

 แล้วก็หยุดทุบมันเสียเดี๋ยวก็หายปวด ฉันใด

ความอยากนี้ ก็เหมือนกับการเอาฆ้อนมาทุบใจของเรา

ทำให้ใจเราทุกข์ ความทุกข์ใจของเรา

เกิดจากความอยากของเราเอง แต่เรามองไม่เห็น

เราไม่มีปัญญา แล้วเราก็ไม่มีอุเบกขา

ไม่มีกำลังที่จะหยุดความอยาก

ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะสอน

จะบอกพวกเรากี่ร้อยกี่พันครั้งว่า

ความทุกข์ของพวกเรานี้เกิดจากความอยาก

 เราก็ไม่เชื่อ เราก็ยังไปทำตามความอยากกันอยู่

แล้วก็มาบ่นว่าทุกข์กัน

นี่คือเรื่องของการที่เราขาดสมาธิ ขาดปัญญา

มีปัญญาของพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้

 เพราะใจไม่มีอุเบกขาไม่มีกำลังพอที่จะหยุดตัณหา

หยุดความอยากได้ หยุดความรัก หยุดความชัง

 หยุดความกลัว หยุดความหลงไม่ได้

 ผู้ที่จะหยุดได้ก็คือสมาธิ

เพียงแต่ว่าสมาธินี้หยุดได้ชั่วครั้งชั่วคราว

 เวลาเข้าไปในสมาธิ มันก็จะหายไปหมด

 ความรักความชังความกลัวความหลง

 เวลาออกจากสมาธิมา มันก็จะค่อยๆฟื้นขึ้นมา

 แต่มันจะค่อยๆ กำลังมันจะไม่มาก

 ถ้าออกมานานๆ มันก็จะกลับมาแรงเหมือนเดิม

แต่ถ้าเราคอยฉีดยาสลบ ให้มันอยู่เรื่อยๆ

เหมือนกับเวลาที่หมอทำการผ่าตัดนี้

เขาจะคอยดมยาอยู่เรื่อยๆ

พอรู้ว่าคนไข้เริ่มมีอาการรับรู้แล้ว

 ก็ต้องเติมยาแล้ว ไม่งั้นเดี๋ยวจะเจ็บ ฉันใด

ผู้ภาวนาก็จะรู้เองว่า

ตอนนี้อุเบกขาเริ่มหายไปหรือยัง

พอหายก็ถึงเวลาที่จะต้องฉีดยาสลบ

ดมยาสลบเพิ่มขึ้นแล้ว

ต้องกลับเข้าไปในสมาธิแล้ว

พอได้อุเบกขาแล้วค่อยออกมาใหม่

แล้วมาต่อสู้กับตัณหาต่อสู้กับความทุกข์ใหม่

ต่อไปมันก็จะชนะ

นี่คือเรื่องของรสแห่งธรรม

พอเราดับตัณหาต่างๆ ได้หมดแล้ว

ใจก็จะสงบตลอดเวลา

 นี่เรียกว่า ปรมัง สุขัง บรมสุข คือรสแห่งธรรม

 บรมสุขก็คือรสแห่งธรรม

มีความสุขอันไหนที่เราเรียกบรมสุขกันบ้าง

 ต่อให้ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ มันยังไม่เป็นบรมสุข

มันกลับเป็นบรมทุกข์เสียมากกว่า

เพราะจะต้องมาทุกข์ กับการดูแลรักษาเงินทองที่ได้มา

 กลัวหาย กลัวคนมาขอ กลัวคนมาขโมย

 กลัวคนมาหลอกมาฉ่อมาโกง

แทนที่จะมีความสุขกับสมบัติที่ได้มา

นี่คือรสแห่งธรรม

รสแห่งธรรมนี้จะไม่มีความทุกข์ตามมา

 จะไม่กลัวใครมาขโมยไป

เพราะความสุขใจนี้ไม่มีใครที่จะสามารถที่จะขโมยไปได้

ไม่มีใครแย่งไปได้ ไม่มีใครมาหลอกเอาไปได้

 แล้วก็ไม่มีวันหมดไปจากจิตจากใจ

เหมือนกับความสุขทางโลกที่มีมากน้อยเพียงไร

 มันก็ต้องเสื่อมหมดไปในที่สุด

 เวลาที่ร่างกายแก่ เจ็บ ตาย ความสุขต่างๆ

ที่ได้จากลาภยศ สรรเสริญ

จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันก็จะหายไปหมด

 เหลือแต่บรมทุกข์

เวลาแก่จึงไม่มีใครอยากจะแก่กันเวลาเจ็บเวลาตาย

 จึงไม่มีใครอยาก จะเจ็บอยากจะตายกัน

 เพราะกลัว กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย

แต่ถ้ามีสมาธิมีความสงบ มีปัญญามันจะไม่กลัว

 มันจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดา

 เพราะร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรามันไม่ใช่ของเรา

 เราไม่ได้เป็นร่างกาย เราเป็นใจ

 แต่เราไปทุกข์เพราะความหลง

 เพราะความกลัว ทำให้เกิดความอยาก

ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย

แต่เกิดจากความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

เพราะความหลงไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเรา

 มันก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา

ถ้ามีปัญญาแล้วมันจะแยกแยะ

มันจะพิจารณาเห็นอย่างชัดเจน

ว่าร่างกายนี้มันเป็นเพียงอาการ ๓๒

เช่นผม ขน เล็บ ฟัน เวลาเราตัดผมทิ้งไปโกนผมทิ้งไป

เราหายไปกับผมหรือเปล่า ถ้ามันเป็นเรา

เราเป็นมันมันก็ต้องไปด้วยกัน ทำไมเรายังอยู่

 แต่ผมมันไปแล้ว เวลาเราถอนฟันนี้ฟันมันหายไปแล้ว

 เรายังอยู่หรือเปล่า ถ้าตาเราบอด เราควักตาทิ้งไปนี้

เรายังอยู่หรือเปล่า หรือเราไปกับตา

เวลาเราตัดเล็บ เล็บหายไปแล้วเราหายไปกับมันหรือเปล่า

 เวลาเราต้องตัดแขนตัดขาแล้วเรายังหายไปหรือเปล่า

 หรือเรายังอยู่ เวลาเราเปลี่ยนหัวใจใหม่

 เอาหัวใจของคนอื่นมาใส่ สมมติต่อไป

เขาเอาหัวใจลิงมาใส่ในร่างกายเราได้

ต่อไปเราจะกลายเป็นลิงไปหรือเปล่า

 เวลาที่เอาหัวใจลิงมาใส่ หรือต่อไปถ้าเขาเอาตับหมู

มาใส่แทนตับคนได้

เวลาเขาเอาตับหมูมาใส่แทนตับของเรานี้

 เราจะเป็นหมูหรือเรายังเป็นคนอยู่ มันเป็นคนละคนกัน

เราไม่ได้เป็นอาการ ๓๒ เหล่านี้

ต้องพิจารณาให้เห็นซิ มันเป็นของจริง

มันเป็นของชัดอยู่แล้ว

 เราไปตู่เอาเฉยๆว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราเป็นของเรา

 พอไปตู่อย่างนี้ มันก็เลยทุกข์ละซิ

เวลามันเป็นอะไรขึ้นมา มันก็เลยกลัวไม่อยากให้มันแก่

 ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันตาย

 มันก็ทุกข์ขึ้นมาเท่านั้นเอง ถึงต้องพิจารณาร่างกาย

อาการ ๓๒ ให้เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

 แล้วเราจะได้ไม่ต้องไปทุกข์กับมันเวลามันเป็นอะไรไป

ลองตัดแขน ตัดขาออกไป ตัดอะไรออกไปทีละชิ้นดู

 เอาผมออกไป เอาขนออกไป เอาเล็บออกไป

เรายังอยู่หรือเปล่า เราก็ยังเป็นคน

ที่เป็นคนที่แยกมันออกไปทีละชิ้น ทีละอัน

อันนี้ต้องพิจารณาร่างกายแบบนี้

ถึงจะละโมหะความหลงได้ที่ไปเห็นว่า

ร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเรา

 พิจารณาไปจนถึงวเลามันตายเลย

เวลามันตายแล้วมันกลายเป็นดินน้ำลมไฟไป

 เราไปเป็นดินน้ำลมไฟหรือเปล่า

 เราก็ยังเป็นเราอยู่อย่างนี้

เราก็ยังเป็นผู้คิดผู้รู้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เพราะเราไม่ได้เป็นมันนั่นเอง

แล้วเราจะไปกลัวมันทำไม

มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตายมันจะเป็นปัญหาอะไร

ถ้าใจเราเป็นอุเบกขาแล้วเราจะไม่เดือดร้อน

เราก็จะเฉยๆ เท่านั้นเอง ทำไงได้ มันไม่ใช่เรา

เหมือนร่างกายของคนอื่น

เวลาร่างกายของคนอื่นเขาตายไปเราทำอะไร

เราไปเต้นเเร้งเต้นกาหรือไปทำอะไรได้หรือเปล่า

ทำให้เขาไม่ตายได้หรือเปล่า

แต่เราไม่ไปทุกข์กับเขา เพราะเราไม่ได้ไปหลง

คิดว่าเขาเป็นเรานั่นเอง เราไม่ได้คิดว่า

ร่างกายเขานั่นเป็นร่างกายของเรา

ดังนั้นเวลาเป็นอะไรเราจะไม่ทุกข์

ถ้าเรารู้ว่ามันไม่ได้เป็นของเรา

แต่พออะไรมาเป็นของเรา

 แม้แต่ไม่ใช่ร่างกายยังทุกข์ได้เลย

นาฬิกา แว่นตาหายไปก็ทุกข์แล้ว

รถหายไปก็ทุกข์แล้ว

 แฟนหายไปก็ทุกข์แล้ว พออะไรมันเป็นของเรา

 เราก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

สัพเพ ธัมมา อนัตตา

สรรพสิ่งทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย

 สรรพบุคคลทั้งหลายไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

 ไม่มีอะไรเป็นของเราในโลกนี้

มีใจดวงเดียวเท่านั้นที่เป็นของเรา

 เราควรที่จะมาดูแลรักษาใจของเราดีกว่า

ด้วยการมีความยินดีในรสแห่งธรรม

 เพราะว่ารสแห่งธรรมจะทำให้ใจของเรานี้

มีแต่ความสุขเพียงอย่างเดียว

 เมื่อเรามีความยินดีในรสแห่งธรรม

เราก็จะมาปฏิบัติธรรมกัน

 เราก็จะมาปลีกวิเวกมาสำรวมอินทรีย์กัน

 มาไม่คลุกคลีกันมาอยู่กันตามลำพัง

ถึงแม้จะเหงาอยากจะคุยกันก็ห้ามใจไว้ไม่ให้ไปคุยกัน

 แล้วก็เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

รับประทานอาหารพอประมาณ

เพื่อไม่ให้ง่วงเหงาหาวนอนเพื่อไม่ให้เกียจคร้าน

แล้วก็พยายามปฏิบัติเจริญสติจนกว่าจะได้สมาธิ

 จนกว่าจะมีความชำนาญในการเข้าออกสมาธิ

แล้วค่อยมาเจริญปัญญา สอนใจให้เห็นว่า

ทุกอย่างไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา

ทุกสิ่งทุกอย่างเราไปห้ามเขาไม่ได้ สั่งเขาไม่ได้

เขาจะแก่ เขาจะเจ็บ เขาจะตายเราไปห้ามเขาไม่ได้

แต่เราไม่ต้องเดือดร้อนเพราะเขาไม่ใช่เรา

 ไม่ใช่ตัวเราปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา

เราอยู่ที่อุเบกขาดีกว่า ควบคุมใจให้สงบ

ให้สักแต่ว่ารู้ไป แล้วเราก็จะไม่ทุกข์ไปกับการเสื่อม

กับการดับของสรรพสิ่งทั้งหลาย

ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 เช่นร่างกายของพวกเรา

วันหนึ่งมันจะต้องตายอย่างแน่นอน

วันหนึ่งมันจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างแน่นอน

แต่ถ้าเรามีปัญญาที่เห็นว่า

เป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้ว

เรามีอุเบกขาที่ทำให้ใจเราสักแต่ว่ารู้ได้

ไม่เกิดตัณหาความอยาก

ระงับตัณหาความอยากต่างๆได้

 เราก็จะไม่ทุกข์กับการเสื่อมกับการดับ

ของสภาวธรรมทั้งปวง

 เราก็จะมีแต่รสแห่งธรรมอยู่ในใจ

 คือรสของความสงบที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง

หล่อเลี้ยงจิตใจไปตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด

 ที่เรียกว่าบรมสุข ปรมัง สุขัง

นี่คือรสแห่งธรรมที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรามีการปฏิบัติธรรม

ถ้าเรามีความยินดีในรสแห่งธรรม

เช่นวันหยุด ๕ วันแทนที่จะไปยินดีกับรูป เสียง กลิ่น รส

 เราก็มายินดีกับรสแห่งธรรม มาปลีกวิเวก

มาเจริญสติมานั่งสมาธิ มาเดินจงกรม มาเจริญปัญญา

 แล้วก็สัมผัสกับรสแห่งธรรมไปตามลำดับ

 ถ้ายังไม่ได้เต็ม ๑๐๐ ก็ควรจะทำต่อไป

ถ้ามีภารกิจก็เว้นวรรคไว้ก่อน

พอมีเวลาว่างก็กลับมาทำต่อ

 หรือถ้าให้ดีก็หยุดภารกิจต่างๆ ทั้งหลายไปดีกว่า

 เพราะทำไปก็เท่านั้น เป็นของปลอม

เหมือนกับได้แบงค์เก๊มา ได้เงินเดือนแล้ว

เขาจ่ายแบงค์เก๊มาแล้ว ยังอยากได้อีกหรอ

เอาไปซื้อความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวงไม่ได้

มันก็ซื้อความสุขแบบลุ่มๆ ดอนๆ

ซื้อความทุกข์เสียด้วยซ้ำไป ซื้อภพชาตินี้

แบงค์เก๊ที่ให้มานี้เอาไปซื้อภพชาติกันไม่ได้

เอาไปตัดภพตัดชาติ เอาไปซื้อความสุขปลอม

 ความสุขประเดี๋ยวประด๋าว ความสุขแบบควันไฟ

เรียกว่าความสุขปลอม เงินก็เงินปลอม เงินจริงก็ไม่เอา

 เงินจริงก็ต้องเอาจากพระพุทธเจ้านี่เงินจริง

 เอามาแล้วจะซื้อความสุขที่แท้จริงให้กับเรา

ซื้อรสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง

ดังนั้นก็ขอให้พวกเราพยายามขวนขวาย

ตะเกียกตะกาย ยินดีกับรสแห่งธรรมแล้วปฏิบัติ

เพื่อให้ได้รสแห่งธรรมนั้น อย่างขมักเขม่น

อย่างเต็มที่รับรองได้ว่า ต้องได้อย่างแน่นอน

เพราะผู้ที่ได้มาเขาก็ปฏิบัติกันอย่างนี้ทั้งนั้น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

....................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙

“สำรวมอินทรีย์เพื่อรสแห่งธรรม”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 พฤษภาคม 2559
Last Update : 7 พฤษภาคม 2559 11:20:16 น.
Counter : 672 Pageviews.

0 comment
### สติ ###














“สติ”

การเจริญสตินี้ก็ทรงแสดงอุบายของการเจริญสติ

 มีอยู่ ๔๐วิธีด้วยกันที่เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐

กรรมฐาน ๔๐ นี้ เป็นเครื่องเจริญสติ

เป็นอุบายของการเจริญสติ

 ในกลุ่มของอนุสติก็มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน

เช่นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อานาปานสติ

 มรณานุสติ เทวนุสติ กายคตาสติเป็นต้น

นี่คือสิ่งที่เราจะสามารถใช้สร้างสติขึ้นมาได้

สติไม่ใช่พุทธานุสติ สติไม่ใช่พุทโธ

แต่ต้องใช้พุทโธสร้างสติขึ้นมา

 พอมีสติแล้วต่อไปก็ไม่ต้องใช้พุทโธ

ถ้ามีสติแล้วสามารถหยุดความคิดปรุงเเต่งได้

สามารถหยุดให้ใจ ตั้งอยู่ในความสงบได้

สามารถสั่งให้ใจไม่ไหลไปกับกระแสของอารมณ์ต่างๆ ได้

 เรียกว่ามีสติ ถ้าใจยังไหลไปกับความคิดความปรุงเเต่งต่างๆ

 ยังไหลไปกับอารมณ์ไหลไปกับความอยากต่างๆ

ต้องหาอุบายสร้างสติขึ้นมาหาอุบายดึงใจ

ไม่ให้ไหลไปกับกระแสของอารมณ์ต่างๆ

ก็ต้องใช้กรรมฐาน ๔๐ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าใช้พุทธานุสติก็ระลึกถึงพุทโธๆ ไปภายในใจตลอดเวลา

อย่าปล่อยให้ใจ ไหลไปกับความคิดต่างๆ

ถ้าใช้มรณานุสติก็ให้ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ

ระลึกถึงความตายของเรา ของผู้อื่นของทุกๆคน

ของทุกสัตว์ทุกบุคคลของทุกสิ่ง

แม้แต่สิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิตมันก็ยังตายได้

ก็คือมันบุบสลายหายไป ของต่างๆ

ไม่ช้าก็เร็วมันก็จะต้องบุบสลายเสื่อมหมดไป

ให้คิดถึงความตายอยู่เรื่อยๆ เรียกว่ามรณานุสติ

 ถ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้าบริกรรมพุทโธก็เรียกว่าพุทธานุสติ

ถ้าสวดมนต์ก็จะเรียกว่า เป็นธัมมานุสติก็ได้

เพราะบทสวดมนต์นี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

เช่นการท่องสติปัฏฐานสูตร การท่องสติปัฏฐานสูตรนี้

ก็ถือว่าเป็นการเจริญธัมมานุสติได้

ท่องไปแล้วก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจถึงหลักการ

ของการปฏิบัติที่ทรงสอนไว้ในสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ นี้มีการสอนเรื่องการเจริญสติ

 สอนเรื่องการเจริญสมาธิ สอนเรื่องการเจริญปัญญา

มีทั้ง ๓ ส่วน เช่นส่วนเเรกทรงสอนให้ไปหาที่สงบ

ไปนั่งตามโคนไม้แล้วก็ตั้งสติตั้งจิตให้ดูลมหายใจเข้าออก

เรียกว่า อานาปานสติ ให้ใช้ลมหายใจเข้าออก

เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้ใจคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

ให้รู้อยู่กับลมหายใจ แต่ไม่ต้องไปควบคุมบังคับลม

ปล่อยให้ลมหายใจหายไปตามปกติ

 ลมจะหายใจสั้นหรือหายใจยาว ก็ให้รับรู้ไว้เฉยๆ

 ไม่ต้องไปทำให้มันสั้นหรือมันยาว

ลมมันจะละเอียดหรือหยาบก็ให้รู้เฉยๆ

ว่ามันละเอียด หรือมันหยาบ

 ให้รู้ว่าตอนนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก

หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก หายใจออกแล้ว ก็หายใจเข้า

ให้ดูเฝ้าดูลมหายใจเพื่อที่จะได้ไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ นั่นเอง

 ถ้าจดจ่ออยู่กับการดูลมหายใจ เข้าออกได้อย่างต่อเนื่อง

 ใจก็จะรวมเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิขึ้นมาได้

สัมผัสกับความสงบ สัมผัสกับความสุข ที่เกิดจากความสงบ

 ที่เป็นความสุขเหนือกว่าความสุขทั้งปวง

แล้วก็จะได้สัมผัสกับใจที่เป็นกลาง

ใจที่ปราศจากอคติทั้ง ๔ คือรัก ชัง กลัว หลง

นี่คือสิ่งที่เราต้องการจากการนั่งสมาธิ

ต้องการใจที่บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากความรัก ความชัง

 ความหลัว ความหลง แต่กำลังของสตินี้

จะได้อุเบกขาเป็นชั่วระยะไม่นานมันจะต้องเสื่อมไป

แต่ก็ต้องอาศัยการเจริญบ่อยๆ เพื่อให้มันอยู่ได้นานๆ

 เหมือนกับที่เราเอาน้ำเข้าไปเเช่ในตู้เย็น

เราต้องแช่อยู่บ่อยๆ แช่อยู่นานๆ

ถ้าจะเอาออกมาใช้ก็เอามาใช้เดี๋ยวเดียว

เอามาดื่มแล้วเราก็เอากลับเข้าตู้เย็นใหม่

 เพื่อจะให้น้ำมันเย็นอย่างต่อเนื่อง ฉันใด

อุเบกขาที่เราต้องการก็เป็นอย่างนั้นเราต้องใช้สติเป็นตัวรักษา

 เช่นถ้าเราได้อุเบกขาจากการนั่งสมาธิ

เวลาออกมาก็ควรที่จะประคับประคองด้วยสติต่อไป

จนกว่าที่เราจะสามารถที่เจริญทางปัญญาได้

คือเบื้องต้นนี้เราต้องการสร้างสมาธิให้เข้มข้นก่อน

ให้ชำนาญก่อนให้สามารถเข้าสมาธิได้ทุกเวลาที่เราต้องการ

 เวลาที่เรารู้ว่าใจเราขาดอุเบกขา เราก็จะได้เข้าสมาธิ

เพื่อไปเติมมัน เหมือนกับเวลาที่เรารู้ว่าน้ำเย็น

ที่เราเอาออกมาดื่มนี้มันไม่เย็นแล้ว

เราก็ต้องเอากลับเข้าไปแช่เย็นใหม่

ฉะนั้นในขั้นของสมาธินี้ เราควรที่จะฝึกเข้าสมาธิบ่อยๆ

 และให้อยู่ในสมาธินานๆ จนเกิดความชำนิชำนาญ

เวลาต้องการเข้าสมาธิเมื่อไหร่ ก็เข้าได้ทันที

ถ้าเราได้ความชำนาญแล้ว เราต้องออกทางปัญญา

ต่อไปหลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว ก็ต้องใช้ปัญญา

ปัญญาก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ ลักษณะของการทำการบ้าน

ของการเตรียมตัว รับกับข้าศึกศัตรูคือตัณหาความอยาก

 ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้ซ้อมไว้ก่อน

เช่นเวลาร่างกายเจ็บปวดตามร่างกายต่างๆ

มันจะเกิดตัณหาความอยาก ให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป

เราจะมีอุเบกขามีปัญญาที่จะมาสอนใจ

ให้ปล่อยวางความเจ็บปวดนั้นได้หรือไม่

เราจะละตัณหาความอยาก

ที่อยากให้ความเจ็บปวดของร่างกายนั้นหายไปได้หรือไม่

ปัญญาก็จะสอนว่า เราไปสั่งมันไม่ได้

ความเจ็บปวดของร่างกายมันเป็นอนัตตา

มันไม่ใช่เป็นของเรา เราจะสั่งเวลามันเจ็บปั๊บ

บอกให้หายปั๊บนี้มันไม่หาย เรามีปัญญาที่จะสอนใจ

ให้อยู่เฉยๆได้หรือไม่ อย่าไปอยากให้มันหายได้หรือไม่

ถ้าเรามีอุเบกขาพอ แล้วถ้าเราเห็นโทษของความอยาก

ให้ความเจ็บนั้นหายไปว่ามันจะสร้างความทุกข์

ทรมานใจให้เกิดขึ้น เราก็จะไม่อยาก

เพราะไม่อยากมันดีกว่าอยาก อยากแล้วทุกข์

แต่ถ้าไม่อยากแล้วไม่ทุกข์ แต่จะทำได้หรือไม่

ก็ขึ้นอยู่ที่เรามีอุเบกขาหรือไม่

ถ้าเรายังมีความชังกับความเจ็บอยู่เราก็จะฝืนความอยากไม่ได้

พอมีความชังขึ้นมามันก็จะอยากให้สิ่งที่เราชังนั้นหายไป

ดังนั้นเราต้องซ้อมทั้ง ๒ อย่าง ต้องสร้างอุเบกขาขึ้นมา

แล้วพิจารณาสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายเช่นความเจ็บ ความตาย

 เวลาต้องเจอความเจ็บ เวลาต้องเจอความตายนี้

ถ้าไม่มีปัญญามันจะเกิดตัณหาความอยากไม่ตาย

 ความอยากไม่เจ็บ เราก็ต้องใช้ปัญญามาสอนใจ

ว่าความอยากไม่เจ็บอยากไม่ตายนี้เป็นตัวอันตราย

 เป็นตัวที่ทำให้ใจทุกข์ ไม่ใช่ความเจ็บหรือความตายของร่างกาย

 ความเจ็บความตายของร่างกาย มันไม่ทำให้ใจทุกข์

ตัวที่ทำให้ใจทุกข์ก็คือความอยากไม่เจ็บ ความอยากไม่ตาย

ปัญญาจะสอนอย่างนี้ แล้วก็สอนด้วยว่าห้ามมันไม่ได้

ห้ามไม่ให้ร่างกายไม่เจ็บไม่ได้

ห้ามให้ความเจ็บหรือสั่งให้ความเจ็บมันหายไป ไม่ได้

ห้ามไม่ให้ร่างกายไม่ตายไม่ได้ มันเป็นอนัตตา

 เราเห็นอนัตตาหรือไม่ เราเห็นอนิจจังหรือไม่

 ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนความเสื่อมความดับของสิ่งต่างๆ

นี่คือปัญญาที่จะสอนใจให้รู้ว่าร่างกายนี้มันต้องเจ็บมันต้องตาย

จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็อยู่ที่ว่าอยากหรือไม่อยาก

อยากหรือไม่อยากก็อยู่ที่ใจว่ามีรักมีชังหรือไม่

ถ้ามีความรักชีวิตรักตัวกลัวตายมันก็จะเกิดความอยาก

 ไม่ตายขึ้นมา มันก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา

แล้วมันก็ตายเหมือนกันคนที่ไม่มีความรักตัวกลัวตายก็ตาย

 คนที่มีความรักตัวกลัวตายก็ตาย

แต่คนที่ไม่มีความรักตัวกลัวตายจะไม่ทุกข์กับความตาย

แต่คนที่มีความรักตัว กลัวตายจะต้องทุกข์กับความตาย

อันนี้ก็เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา

เวลาที่ออกมาจากสมาธิแล้ว ถ้ายังไม่เจอความเจ็บ

 ยังไม่เจอความตาย ก็ให้จินตนาการไปก่อน ซ้อมไปก่อน

 ทำการบ้านไปก่อน คิดถึงความเจ็บคิดถึงความตายไปก่อน

 แล้วก็ดูซิว่าเราจะทำใจให้เป็นกลางได้ไหม

ไม่รักไม่ชังกับความเจ็บความตายได้หรือไม่

ปล่อยวางมันได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นการซ้อมไว้ก่อน

เตรียมตัวไปก่อน คิดไปก่อน

ขั้นต่อไปเมื่อเราคิดว่าเราพร้อม

หรือว่ามีเหตุการณ์ มาบังคับให้เราทำข้อสอบ

เราก็ต้องทำข้อสอบ อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา

 ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าเป็นมะเร็ง จะได้เจอทั้ง ๒ ข้อ

ข้อเจ็บกับข้อตาย ตอนนั้นจะพร้อมหรือไม่พร้อม

ก็ต้องทำข้อสอบไว้ ถ้าทำได้ก็จะไม่ทุกข์กับมัน

 ถ้าทำไม่ได้ก็จะเครียดจะทุกข์กินไม่ได้นอนไม่หลับ

อยากจะให้มันหาย อยากจะให้มันไม่ตาย

ถ้าเกิดความอยากอย่างนี้ขึ้นมามันก็จะทุกข์ทรมานใจ

แต่ถ้ามันเห็นด้วยปัญญาว่า ห้ามมันไม่ได้สั่งมันไม่ได้

เรื่องของความเจ็บ เรื่องของความตาย

ถึงเวลาที่มันจะเจ็บถึงเวลาที่มันจะตาย

 มันก็ต้องเจ็บมันก็ต้องตาย

ใจเรายังไปรักไปชังกับมันอยู่หรือเปล่า

ใจเรายังมีอคติกลัวมันหรือเปล่า

 กลัวความเจ็บ กลัวความตายหรือเปล่า

อันนี้คือเรื่องของสมาธิและปัญญา

 ถ้าใจมีสมาธิใจมีอุเบกขาปราศจากความรักความชัง

 ความกลัวความหลง ใจก็จะไม่หวั่นไหว

กับความแก่กับความเจ็บกับความตาย

ยิ่งเห็นด้วยปัญญาว่า ถ้าไปอยากไม่แก่

 อยากไม่เจ็บจะทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์นี้เกิดจาก

ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ

 พอเห็นโทษของความเจ็บแล้วต่อไปก็จะละความอยากต่างๆ

เวลาใจทุกข์กับเรื่องอะไรนี้ใจนี้ จะหันเข้ามาดูว่า

ตอนนี้กำลังอยากกับอะไร แล้วก็มาละความอยาก

 แทนที่จะไปแก้สิ่งที่ทำให้เราทุกข์

เช่นบุคคลนั้นบุคคลนี้หรือร่างกายของเรา

ร่างกายจะเจ็บ ร่างกายจะตาย แทนที่จะวิ่งหาหมอหาหยูกหายา

 กลับไม่สนใจกลับเข้ามาระงับตัณหาความอยากก่อน

 ระงับความทุกข์ใจ ที่เกิดจากตัณหาความอยาก

เมื่อระงับได้แล้วจะไปรักษาหรือไม่รักษาก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 ถ้ายังรักษาได้ ก็รักษามันไป ถ้ารักษาไม่ได้ก็อย่าไปรักษา

ให้มันเสียเวลา เสียเงินเสียทองไปเปล่าๆ

นี่คือเรื่องของปัญญา หลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

 หลังจากที่เราชำนาญการเข้าสมาธิแล้ว

 เราสามารถเข้าสมาธิได้ ทุกเวลาที่เราต้องการ

เวลาที่ใจเราร้อนใจเราทุกข์แล้วเรายังไม่รู้จักใช้ปัญญา

 เราก็ใช้สมาธิระงับก่อนได้ เข้าไปในสมาธิทำใจให้สงบ

แล้ว ความทุกข์ความร้อนใจก็จะหายไป

พอหายแล้วเราค่อยออกมาวิเคราะห์ถึงความทุกข์ที่เกิด

ว่าเกิดจากอะไร แล้วจะแก้อย่างไรก็วิเคราะห์ไป

ก็จะเห็นว่าความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก

แล้วก็มาหยุดความอยาก ถ้าใจมีกำลังอุเบกขาพอ

ก็จะหยุดความอยากได้ ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 พอเวลาเกิดความทุกข์ใจ ก็จะใช้ปัญญา

หาสาเหตุของความทุกข์ใจคือความอยาก

ว่าตอนนี้กำลังอยาก อยู่กับเรื่องอะไร

อยากอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

 ก็จะเห็นโทษของความอยากที่อยากไปยุ่งกับเขาเอง

ก็ถอนออกมาถอยออกมา ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา

เขาจะอยู่เขาจะตายเขาจะดีเขาจะชั่ว เขาจะทำอะไรให้กับเรา

 หรือไม่ทำอะไรให้กับเราก็ไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องของเราก็คือเราอย่าไปอยากได้อะไร จากเขาก็แล้วกัน

 ถ้าเราไม่ต้องการไม่อยากได้อะไรจากเขา เราก็ไม่ทุกข์กับเขา

 เราก็จะอยู่ได้อย่างสบาย หลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยปัญญา

 เพราะเราพิจารณาว่า เขาเป็นอนัตตา เขาไม่ใช่เป็นของเรา

 เราไปสั่งให้เขา เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้

ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่เราสั่งใจของเรา

 ให้หยุดตัณหาความอยากได้

เรากำลังสร้างความทุกข์ให้กับใจของเรา

ด้วยความอยากของเราเอง

คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะมาดับความทุกข์ใจ ของเราได้

นอกจากเราต้องหยุดความอยากของเราเอง

 ถ้าเราหยุดความอยากของเราเองได้แล้ว เราก็จะหายทุกข์.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙

“สำรวมอินทรีย์เพื่อรสแห่งธรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 พฤษภาคม 2559
Last Update : 6 พฤษภาคม 2559 12:17:05 น.
Counter : 799 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ