Group Blog
All Blog
### ทาน ศีล ภาวนา ###









“ทาน ศีล ภาวนา”

ถ้าเราได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่เป็นคำสอนที่เหมือนครั้งในสมัยพระพุทธกาล

ไม่มีความแตกต่างกันเลย

ในสมัยพระพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็ทรงสอน

ให้เราทำทาน รักษาศีล ให้ภาวนา

 ในสมัยนี้คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้บันทึกเอาไว้

 ก็สอนเช่นเดียวกัน สอนให้เราทำทาน รักษาศีล ภาวนา

 ถ้าเราทำทาน รักษาศีล ภาวนา เราก็จะได้รับผล

เช่นเดียวกับที่ผู้ที่ทำทาน รักษาศีล ภาวนา

ได้รับผลในสมัยพุทธกาล ได้บรรลุมรรคนิพพานกัน

ก็เกิดจากการทำทาน รักษาศีล ภาวนานี่เอง

แต่การที่จะทำให้เกิดผลนี้เกิดได้อย่างไร

 เพราะการทำทาน รักษาศีล ภาวนานี้

ก็มีหลายระดับด้วยกัน

 ทำมากหรือทำน้อย ทำอย่างต่อเนื่องหรือทำไม่ต่อเนื่อง

 อันนี้ก็จะมีผลต่อผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าทำมากทำเต็มร้อย

ทำอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

ผลย่อมปรากฏขึ้นอย่างง่ายดายและรวดเร็ว

 ถ้าทำน้อยทำไม่มากทำไม่ต่อเนื่อง ผลก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

เพราะเหตุยังไม่พอที่จะทำให้ผลนั้นเกิดขึ้นมานั่นเอง

 ดังนั้นอย่าไปโทษว่าไม่มีพระพุทธเจ้า

 แล้วไม่ได้อยู่ในสมัยพระพุทธกาลแล้ว

การปฏิบัติในยุคนี้ไม่ได้ผล ที่ไม่ได้ผลขอให้เราดูที่เหตุ

คือ การปฏิบัติของเราว่าเราปฏิบัติอย่างไร

เราปฏิบัติเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติหรือไม่

 เราได้ปฏิบัติเหมือนกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้ปฏิบัติกันหรือไม่ เราได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกันหรือไม่

คือปฏิบัติกันเต็มร้อย ปฏิบัติกันตลอดเวลา

 ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไม่หย่อน

อันนี้ต่างหากคือเหตุ ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา

 ขอให้เราดูการปฏิบัติของเรา ปฏิบัติถูกหรือไม่ถูก

 ถ้าไม่แน่ใจก็ต้องศึกษาค้นคว้า ให้รอบคอบ

ให้รู้อย่างแน่นอนก่อน หรือถ้าไม่มั่นใจ

ก็ไปศึกษากับพระอรหันตสาวกเลย

ถ้าได้อยู่กับท่าน เวลาที่ท่านเห็นเราปฏิบัติไม่ถูก

 ท่านก็จะเตือนเราจะบอกเราว่ากำลังออกนอกลู่นอกทาง

กำลังไม่ได้อยู่ในทาง ที่ควรจะไป

อันนี้ก็จะดี เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติตามลำพัง

ถึงแม้ว่าเราจะมีพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้นำทาง

แต่ถ้าเราไม่คอยสังเกตดูการกระทำของเรา

การปฏิบัติของเรากับการสอนของพระพุทธเจ้า

 ว่าเป็นเหมือนกันหรือไม่

ถ้าเราไม่คอยเปรียบเทียบคอยดูอยู่

เราก็อาจจะหลงทางได้

 เพราะเราอาจจะคิดว่าเรากำลัง ปฏิบัติถูกก็ได้

ทั้งๆที่กำลังปฏิบัติผิด

 แต่ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์

 ผู้ที่คอยเฝ้าดูเราอยู่ตลอดเวลา

เวลาที่เรากระทำอะไรไม่ถูก ท่านก็จะเตือนจะบอกเราทันที

ถ้าเรามีโอกาสได้ศึกษากับพระอรหันตสาวกนี้

คิดว่าดีกว่าศึกษาจากพระไตรปิฎก

ศึกษาจากหนังสือที่ได้จดจารึก

บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้

เพราะว่าคำสอนนี้ไม่สามารถมาเตือนเราได้

 เวลาที่เราเดินออกนอกลู่นอกทาง

นอกจากเราคอยเปรียบเทียบอยู่เรื่อยๆว่า

การปฏิบัติของเรานี้ อยู่ในแนวทางตามคำสอน

ที่ทรงสอนหรือไม่

ดังนั้นการที่เราได้มีครูบาอาจารย์

ผู้ที่ได้หลุดพ้นแล้วนี้มาเป็นผู้สั่งสอนพวกเรา

 เราก็จะได้รับประโยชน์มากกว่า

 ที่เราจะได้รับจากการศึกษาจากหนังสือหนังหา

 อันนี้เป็นการเปรียบเทียบให้ฟัง

แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์

เราก็ต้องอาศัยหนังสือที่สอน

อย่างถูกต้องแล้วนี้มาปฏิบัติ

แล้วเราก็ต้องคอยสังเกตคอยพิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

ตอนนี้เราปฏิบัติอยู่ในแนวทางหรือไม่

เรากำลังก้าวหน้าไปหรือไม่

ถ้าเราปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้าติดอยู่ที่เดิม

เราก็จะได้ไปค้นคว้าดูว่าเรากำลังทำอะไรไม่ถูก

เพื่อที่เราจะได้มาแก้ไข แล้วทำให้ถูก

เพื่อเราจะได้ก้าวหน้า ขึ้นไปต่อไป

เพราะการปฏิบัตินี้ในแต่ละขั้น

ก็จะมีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน

ขั้นทำทานก็เป็นขั้นหนึ่ง

ขั้นรักษาศีลก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง

ขั้นภาวนาก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง

ที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง

ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็อาจจะติดอยู่กับขั้นใดขั้นหนึ่ง

 เพราะว่าการปฏิบัตินี้ต้องมีการคืบหน้า

มีการเจริญก้าวหน้า

เหมือนกับขั้นบันไดที่เราจะต้องก้าวขึ้นไป

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้พวกเราปฏิบัตินี้

ก็เป็นเหมือนบันได ๓ ขั้น

ขั้นที่ ๑ ก็คือขั้นทาน

ขั้นที่ ๒ ก็คือการรักษาศีล

ขั้นที่ ๓ ก็คือการภาวนา

 มีขั้นตอนของแต่ละขั้นที่เราจะต้องไต่เต้าขึ้นไป

ข้ามขั้นตอนไม่ได้ ถ้าข้ามขั้นตอนแล้วจะไม่เป็นผล

จะไม่เกิดผลดี ดังนั้นเราต้องทำตามขั้นตอน

ขั้นตอนแรกก็คือทาน ทานก็คือ

ให้เราสละทรัพย์ เงินทองต่างๆ

 ที่เราใช้ในการหาความสุขใช้การดับความทุกข์ต่างๆ

 ซึ่งไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้อง เวลาเราไม่สบายใจ

เราก็เอาเงินไปซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปเที่ยวตามสถาบันเทิง

สถานท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อดับความทุกข์ใจ

ซึ่งก็ดับได้เพียงชั่วคราว

ขณะที่เราไปเที่ยวไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ความทุกข์ใจ ที่มีอยู่ก็จะหายไปชั่วคราว

แต่พอกลับมาจากการไปเที่ยว

 เราก็จะกลับมาเจอความทุกข์ใจที่รอเราอยู่เหมือนเดิม

 ดังนั้นการใช้เงินทองเพื่อซื้อความสุข

หรือดับความทุกข์จึงไม่ใช่เป็นทาง

สู่การดับความทุกข์ที่แท้จริง

 จึงจำเป็นที่จะต้องยุติการใช้เงินทองซื้อความสุข

หรือดับความทุกข์ ด้วยการนำเอาไปทำทาน

 เอาไปให้ผู้อื่น ผู้ที่เขาตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน

ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น

วิธีนี้แหละเป็นวิธีที่จะใช้เงินดับความทุกข์ใจ อย่างถูกต้อง

 ใช้เงินดับความทุกข์ใจด้วยการทำทาน

เพราะเวลาเราทำทานแล้วใจของเราจะมีความสุข

 และจะทำให้เรานี้ยุติการใช้เงิน

เพื่อไปทำตามความอยากต่างๆ

 เมื่อเราไม่ทำตามความอยากต่างๆ

ความอยาก ที่สร้างความทุกข์

ความไม่สบายใจให้แก่เรามันก็จะหายไป

แต่ถ้าเราเอาเงินไปใช้ทำตามความอยากต่างๆ

 เพื่อให้เรามีความสุขชั่วคราว

ความอยากมันไม่ได้หมดไป

 เวลาเงินทองหมดไปแล้วมีความอยากจะใช้เงิน

 แต่ไม่มีใช้ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ก็จะทำให้ต้องไปหาเงินทองมาเพื่อที่จะได้ใช้เงินอีก

ก็จะติดอยู่ กับการหาเงินใช้เงินเพื่อดับความทุกข์

เพื่อซื้อความสุขที่เป็นความสุขชั่วคราว

ที่เป็นการดับความทุกข์ชั่วคราว

ก็จะติดอยู่กับการหาเงินใช้เงินไปไม่มีวันสิ้นสุด

เราจึงต้องยุติวิธีการใช้เงินทอง

เพื่อดับความทุกข์หาความสุขแบบนี้

เราต้องใช้เงินทองนี้ไปกับการทำทาน

เพราะเวลาเราทำทานแล้ว เราจะหยุดความอยากต่างๆ

ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินใช้ทองได้

ต่อไปเราก็ไม่ต้องใช้เงิน ใช้ทองไปซื้อความสุขต่างๆ

เราเอาไปทำทาน อันนี้แหละเป็นการซื้อความสุขที่ถูกต้อง

 เป็นความสุขที่ไม่มีทุกข์ ตามมา

เพราะว่าเวลาที่เราไม่มีเงินที่จะทำบุญทำทาน

เราจะไม่เดือดร้อน เราจะไม่ทุกข์

ไม่เหมือนกับเวลา ที่เราไม่มีเงินทองที่จะไปซื้อของ

ตามความอยากหรือไปทำอะไรตามความอยาก

 เวลาไม่มีเงินทอง เราจะเดือดร้อน

 มันจะทำให้เราต้องไปหาเงินทองมาทำอีก

 ทำแล้วก็หมดไป หมดแล้วก็ต้องไปหาอีก

มันก็ติดอยู่กับ กับของการหาเงินใช้เงินเพื่อซื้อความสุข

เพื่อดับความทุกข์ชั่วคราวนี้เท่านั้น

แต่ถ้าเราเอาเงินทองเหล่านี้ มาทำทาน

เราก็จะหยุดความอยากเพื่อใช้เงินทองซื้อความสุข

ดับความทุกข์ได้ แล้วเราก็จะได้ความสุข

ที่เกิดจากการทำทานที่ไม่มีความทุกข์ตามมา

เพราะเวลาที่เราไม่มีเงินทองจะทำทาน

เราก็จะไม่ทำเท่านั้น เราไม่เดือดร้อน

 เมื่อไม่มีเราก็ไม่ทำ เวลาไม่ได้ทำทาน เราก็จะไม่ทุกข์

ไม่เหมือนกับเวลาที่อยากจะซื้อของ ด้วยความอยาก

 เวลาไม่มีเงินซื้อก็จะทุกข์ขึ้นมา

นี่คือเรื่องของการทำทาน

ทำทานเพื่อให้เราจะได้ยุติ

การไปหาเงินหาทองมาซื้อความสุข

 มาดับความทุกข์ ชั่วคราวกัน

เมื่อเราทำทานได้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะรักษาศีลได้

ที่จะยุติการกระทำบาปต่างๆได้

เพราะเราไม่มีความกดดันที่จะต้องไปหาเงินหาทองมา

เพื่อซื้อความสุขดับความทุกข์ชั่วคราว

เราไม่มีเงินทอง เราก็ไม่ต้องใช้มัน

เงินทองนี้เราใช้ก็นิดเดียวเท่านั้นเอง

ก็คือเงินทองเพื่อมาใช้กับร่างกายของเรา

คือซื้ออาหาร ซื้อเครื่องนุ่งห่ม ซื้อยารักษาโรค

 ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเย็น

 เราทุกคนสามารถหาปัจจัย ๔

ได้ โดยวิธีที่ไม่ต้องทำบาปกัน

 ที่เราทำบาปกันเพราะว่าเราต้องการหาเงินมาใช้

ตอบสนองตัณหาความอยาก

มากกว่าที่มีความต้องการใช้เงินทอง

แบบไม่มีขอบไม่มีเขต

 มีเท่าไรใช้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ พอไม่มีพอใช้ก็ต้องไปหา

 โดยวิธีทุจริตก็เลยไม่สามารถก้าวขึ้นสู้ธรรมขั้นที่ ๒ ได้

 บันไดขั้นที่ ๒ ได้ ก็คือการรักษาศีล

 แต่ถ้าเราหมั่นทำทาน อยู่เรื่อยๆ

ยุติการใช้เงินทองซื้อสิ่งต่างๆตามความอยาก

 เราก็จะไม่มีความอยากมาคอยกดดัน

ให้เราไปหาเงินทอง มามากมาย หาเท่าที่จำเป็น

หาเพื่อมาเลี้ยงดูร่างกายก็พอ

ก็จะทำให้เรานี้ไม่ต้องไปทำบาป เราก็จะรักษาศีล ๕ ได้

 ขั้นที่ ๑ ของศีลก็คือการรักษาศีล ๕ ก่อน

 แล้วพอเรารักษาศีล ๕ ได้แล้ว

เราก็จะมีกำลังที่จะเพิ่มการรักศีล จากศีล ๕ ไปสู่ศีล ๘

เพราะถ้าเราต้องการที่จะก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นที่ ๓

 คือการภาวนา เราต้องยุติกิจกรรมทางร่างกาย

ยุติการหาความสุขทางร่างกาย

 เช่นยุติการร่วมหลับนอนกับคู่ครองของเรา

ยุติการหาอาหารหลังจากเที่ยงวัน ไปแล้ว

 ยุติการไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่างๆ

 ยุติการเสริมความงามของร่างกาย

ยุติการหลับนอนมากเกิน ความจำเป็นของร่างกาย

ร่างกายนี้ต้องการพักผ่อนหลับนอนคืนละ ๔- ๕ ชั่วโมงก็พอ

 ถ้าไปนอนบนฟูกหนาๆ มันสบาย

พอร่างกายได้พักผ่อนพอแล้วตื่นขึ้นมา

ใจก็จะไม่อยากลุกเพราะมันสบาย ก็จะนอนต่อ

หาความสุข จากการหลับนอนบนฟูกหนาๆ

ก็จะทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาปฏิบัติธรรมขั้นที่ ๓

ก็คือการภาวนานั่นเอง

นี่คือขั้นตอนของการปฏิบัติ รักษาศีล ๕ ได้แล้ว

ก็ต้องขยับขึ้นไปสู่การรักษาศีล ๘

 ในเบื้องต้นพระพุทธเจ้าก็ทรง สอนให้ทดลองดูก่อน

 อาทิตย์ละ ๑ ครั้งวันพระ วันพระนี้ให้รักษาศีล ๘

ถ้ารักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติแล้ว ถ้ายังรักษาศีล ๕ ไม่ได้

ก็ให้รักษาศีล ๕ ในวันพระไปก่อน

พอรักษาศีล ๕ ในวันพระได้

ก็ให้ขยายเพิ่มเป็น ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันไป

เช่นเดียวกับการรักษาศีล ๘ พอรักษาศีล ๘ ในวันพระได้

ในวันพระก็จะมีเวลาที่จะภาวนาได้

มีเวลาที่จะมานั่งสมาธิมาเดินจงกรม

มาเจริญสติเพื่อทำใจให้สงบได้

 เพราะการภาวนานี้ต้องใช้เวลามาก

 ไม่ใช่นั่งแค่วันละครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่งนี้แล้วจะพอ

 อันนั้นก็เป็นเพียงชิมอาหารเท่านั้นเอง

ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ถ้าอยากจะรับประทานอาหาร

อยากจะได้รับความสุขที่เกิดจากความสงบนี้

 จะต้องปฏิบัติทั้งวัน ปฏิบัติตั้งตื่นจนถึงเวลาหลับ

 เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเรามีเวลาว่างจากภารกิจการงาน

 แล้วก็ว่างจากการไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 เราก็ต้องใช้ศีล ๘ นี้เป็นตัวบังคับให้เรามีเวลาว่าง

 เพราะถ้าเราไม่ถือศีล ๘

 เราก็จะเอาเวลาไปหาความสุขทางร่างกายได้

 เราก็จะเอาเวลาไปร่วมหลับนอน กับคู่ครองของเรา

 เอาเวลาไปหาอาหารรับประทานได้ตลอดเวลา

อยากจะรับประทานอาหารเวลาไหน ก็ไปรับประทานได้

อยากจะไปดูมหรสพบันเทิงที่ไหนก็ไปได้

อยากจะแต่งเนื้อแต่งตัวเสริมสวยความงาม ของร่างกาย

ก็สามารถทำได้ อยากจะหลับนอนกี่ชั่วโมงก็หลับนอนได้

นี่คือการเสียเวลาไปกับการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 จะทำให้เราไม่มีเวลามาหาความสุขมาดับความทุกข์

 จากการบำเพ็ญจิตตภาวนา

สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

 เราจึงต้องเริ่มต้นรักษาศีล ๘ กันในวันพระกัน

ถ้าเรารักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติแล้ว

 เราก็ทดลองเอาวันพระ ๑ วัน

 วันพระสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องตรงกับ

วันขึ้น /แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็ได้

 เพราะว่าสมัยนี้เราใช้ปฏิทินทางสุริยคติ

เราหยุดทำงานในเสาร์วันอาทิตย์กัน ซึ่งไม่ตรงกับวันพระ

ถ้าเราไปยึดวันพระตามจันทรคติ

พอวันพระตรงกับวันทำงาน

เราก็จะไม่สามารถ ที่จะรักษาศีล ๘

หรือบำเพ็ญจิตตภาวนาได้

 เพราะเราจะไม่มีเวลา เราจะต้องไปทำงานทำการกัน

 ดังนั้นเราจะต้องเอาวันที่เราหยุดทำงานนั้น

มาเป็นวันพระของเรา

ถ้าเราหยุดทำงานวันเสาร์ เราก็เอาวันนั้น เป็นวันพระ

ถ้าเราหยุดวันอาทิตย์เราก็เอาวันนั้นเป็นวันพระ

 หรือถ้าหยุด ๒ วันเราจะทำวันพระทั้ง ๒ วันเลยได้ ก็ยิ่งดี

ได้ ๒ ต่อได้ ๒ เด้ง หยุด ๒ วันก็มีวันพระ ๒ วัน

เลย ถือศีล ๘ ทั้ง ๒ วันแล้วก็ไม่ไปไหน

 หาที่สงบที่ไหนสักแห่ง ที่บ้านก็ได้ถ้าสงบ

ไม่มีอะไรมารบกวนใจหรือไปที่วัดที่สงบก็ได้

 วัดก็ต้องเลือก สมัยนี้วัดบางวัดนี้ไม่สงบ

ไม่สามารถเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาได้

ก็ไม่ควรไป ควรไปหาวัดที่มีสถานที่สงบ

ที่เอื้อต่อการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

นี่คือเรื่องของการรักษาศีล

 จากศีล ๕ เราก็ต้องรักษาศีล ๘

 รักษาศีล ๘ ได้ เราก็จะมีเวลาภาวนา

การภาวนาก็มี ๒ ขั้นตอน

ขั้นแรกก็เรียกว่าสมถภาวนาทำใจให้สงบ

ขั้นที่ ๒ เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา ทำใจให้ฉลาด

 การที่จะทำใจให้ฉลาดได้ใจต้องสงบก่อน

 เพราะใจไม่สงบนี้ใจจะมีอารมณ์ครอบงำ

มีความหลงครอบงำทำให้ไม่สามารถสอนใจให้ฉลาดได้

 เพราะมีความหลงคอยต่อต้าน ไม่ให้ยอม

ไม่ให้เห็นความจริง

 พวกที่บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจึงจำเป็น

จะต้องผ่านสมถภาวนาก่อน

 ต้องทำใจให้สงบ ทำใจให้ใสก่อน

เมื่อใจสงบใจใสแล้วก็จะเห็นความจริงได้อย่างชัดเจน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙

“ผู้นำทาง”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 มิถุนายน 2559
Last Update : 24 มิถุนายน 2559 9:08:09 น.
Counter : 664 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ