Group Blog
All Blog
### วิธีวัดกำลังของตัณหากับกำลังของธรรม ###












“วิธีวัดกำลังของตัณหากับกำลังของธรรม”

วิธีทดสอบกำลังของเรา กับกำลังของตัณหาก็มีอยู่ง่ายๆคือ

 เวลาที่เราว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งเฉยๆ

สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย

ไม่ลุกจากเก้าอี้จนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้

จะเป็น ๖ ชั่วโมง หรือ ๘ ชั่วโมงก็ได้

มีน้ำดื่มไว้ในกรณีที่หิวน้ำ

 รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อน

จะได้ไม่มีปัญหากับการรับประทานอาหาร

 รับประทานมื้อเดียว แล้วก็นั่งที่เก้าอี้ ต่อสู้กับความอยาก

ที่อยากจะลุกจากเก้าอี้ ถ้าจะลุกก็เพื่อเข้าห้องน้ำ

ห้ามเถลไถลไปที่อื่น เสร็จกิจแล้วก็กลับมานั่งต่อ

 ถ้านั่งแล้วปวดเมื่อยอยากจะลุก ก็ยืนที่ข้างเก้าอี้

ให้มีเพียง ๒ อิริยาบถ คือนั่งกับยืน สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

 ดูว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอาชนะความอยากได้หรือไม่

 น่าจะเอาชนะได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย

เพียงแต่นั่งเฉยๆหรือยืนเฉยๆเท่านั้นเอง

ไม่ทำตามความอยากสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมงดู

 ห้ามนั่งหลับ ถ้าหลับก็ถือว่าแพ้ ลองทำดู

 ถ้าอยากจะดูว่ากำลังของเรา

กับของกิเลสตัณหา ใครจะมีมากกว่ากัน

นี่เป็นวิธีง่ายๆที่จะตรวจดูว่าเรามีกำลังมากน้อย

 นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งแบบสบายๆ

 ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา นั่งบนเก้าอี้นวมก็ได้

 นั่งห้อยเท้าก็ได้ แต่ไม่ให้ดูอะไร ไม่ให้ฟังอะไร

 ไม่ให้อ่านอะไร แม้แต่ธรรมะ ก็ไม่ให้ดูไม่ให้ฟัง

ต้องการให้เอาใจมาสู้กับกิเลสตัณหา

 ดูว่าจะใช้สติสมาธิปัญญา ควบคุมกิเลสตัณหาได้หรือไม่

 เวลาเกิดความอยากลุก ก็ควบคุมด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

ด้วยการสวดมนต์ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย

พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาพระอริยสัจ ๔

ว่าทุกข์เกิดจากความอยากลุก

ทุกข์จะดับไปหายไปถ้าไม่อยากลุก

ใช้สติสมาธิปัญญาต่อสู้กับกิเลสตัณหาดู

 นี่คือวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ขังตัวเองไว้ในห้องที่เงียบ

 แล้วก็นั่งสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

ถ้าทำได้จะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก

จะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความอยาก

นั่งเฉยๆทำไมใจจึงทุกข์ ทำไมนั่งไม่เป็นสุข เพราะใจไม่สงบ

 ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ที่จะดับความอยาก

ที่ทำให้ใจทุกข์ ทำให้ใจเครียด

นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องกำหนดเวลา กำหนดสถานที่

 กำหนดเงื่อนไข ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามสถานที่สงบสงัด

 สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่คลุกคลีกัน

 ไม่คุยกัน อยู่ตามลำพัง ควบคุมการบริโภคอาหาร

 รับประทานพอประมาณ รับประทานมื้อเดียวก็พอ

เจริญสติอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย

จะทำให้เกิดความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด

 จนไม่สามารถนั่งเฉยๆได้

แต่ถ้าสามารถควบคุมความคิดได้ ใจจะสงบ จะเป็นอุเบกขา

 จะนั่งเฉยๆได้ จะมีความสุขกับการนั่งเฉยๆ

 พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสุข ที่ดีกว่าความสุข

ที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่ต้องไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เวลาออกจากสมาธิ ถ้ากิเลสตัณหาอยากจะไปเสพ

 ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ว่าอย่าไปทำตามกิเลสตัณหา

เพราะจะพาไปสู่ความทุกข์ เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์มาก

จะสุขตอนที่ได้เสพ แต่สุขเดี๋ยวเดียว

 เวลาไม่ได้เสพจะทุกข์ทรมานใจ

 เช่นเวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

ทุกข์เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส

ถ้าใจจะสงบเป็นอุเบกขาแล้ว

 เวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง จะไม่ทุกข์เลย

ถ้าได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิ กิเลสก็จะออกมา

มาชวนให้ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ชวนไปเปิดตู้เย็นหาเครื่องดื่ม หาขนมรับประทาน

ก็ต้องใช้ปัญญาว่า ถ้าต้องการดื่มเพื่อร่างกายก็ดื่มน้ำเปล่า

 ถ้าต้องการรับประทานอาหารขนมนมเนย

 ก็ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ไม่ใช่เวลารับประทาน

 ต้องมีมาตรการควบคุม กีดกันไม่ให้กิเลสตัณหา

มาหลอกมาล่อ ว่าร่างกายต้องการอาหาร

จริงอยู่ที่เราต้องให้อาหารกับร่างกาย แต่ควรให้ตามเวลา

 ถ้าวันนี้รับประทานอาหารไปแล้ว ก็ถือว่าหมดสิทธิ์

ถ้าจะรับประทานอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องเป็นพรุ่งนี้

วันนี้ไม่เอาแล้วของขบเคี้ยวทั้งหลาย จะเอาแต่น้ำดื่มเท่านั้น

 เพราะร่างกายต้องการน้ำ แต่ไม่ดื่มน้ำที่มีรสต่างๆ

 เพราะเป็นการเสพรส เป็นกามตัณหาความอยากในรส

 ต้องดื่มน้ำเปล่าๆ ไม่มีรสชาติกลิ่นสีมาเกี่ยวข้อง

ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรสมีสีมีกลิ่น

แสดงว่าไม่ได้ดื่มเพื่อร่างกายเพียงอย่างเดียว

 แต่ดื่มเพื่อกามตัณหาด้วย

 คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก

 เพราะการปฏิบัติก็เพื่อที่จะตัดกามตัณหา

ตัดภวตัณหา ตัดวิภวตัณหา จึงต้องระมัดระวัง

พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็ต้องหยุด ถ้าอยากไปโน่นมานี่ก็ต้องหยุด

เพราะเป็นภวตัณหา เช่นอยากไปหาเพื่อน อยากไปทำบุญ

 การอยากไปทำบุญในตอนที่ปฏิบัติ ก็เป็นโทษต่อการปฏิบัติ

 เพราะทำให้จิตออกข้างนอก

 นักภาวนา ผู้ปฏิบัติ ผู้ปลีกวิเวกจึงต้องระวังไม่ให้กิเลสหลอก

ให้ออกไปทำบุญทอดผ้าป่าทอดกฐิน ฉลองโบสถ์

 ฉลองเจดีย์ ฉลองวันเกิดครูบาอาจารย์

การกระทำเหล่านี้สำหรับนักบุญ

ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมได้เลื่อนขั้นขึ้นมาแล้ว

 เป็นนักบุญมาแล้ว พอแล้ว ตอนนี้มาเป็นนักบวช

 มารักษาศีล มาสังวรอินทรีย์ มาปลีกวิเวก

มาต่อสู้กับกิเลสตัณหา เวลากิเลสตัณหาหลอกก็ต้องรู้ทัน

เช่นหลอกให้ไปงานศพไปงานวันเกิดของครูบาอาจารย์

 ไปงานบุญงานกุศลต่างๆ สำหรับนักบวชต้องถือว่า

ไม่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะจะขัดขวางการชาร์จกำลังใจ

 การสร้างกำลังใจ ที่จะใช้ในการฆ่าฟันกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจ การไปทำบุญกลับเป็นการสร้างกำลัง

ของกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้น ต้องคิดอย่างนี้

 ออกไปแล้วก็ไปเห็นรูปเสียงกลิ่นรส ไปพบคนนั้นคนนี้

ก็ได้พูดได้คุยกัน ก็จะไม่ได้เจริญสติ

 พอเขาเอาเครื่องดื่มมาให้ดื่มก็ต้องดื่ม ด้วยความเกรงใจ

 และด้วยความอยากที่ซ่อนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว

แต่ก็อ้างความเกรงใจ แต่ความจริง ถ้าไม่อยากแล้ว

ต่อให้เขายัดเข้าไปในปากก็จะยัดไม่เข้า เพราะไม่อยาก

 แต่ความอยากจะฉวยโอกาสอ้างความเกรงใจ

 นี่คือเล่ห์กลของกิเลสตัณหา ที่แสนละเอียด

 ที่จะหลอกล่อให้ออกจากการสร้างกำลังใจ

สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา

ต้องถามตัวเองว่าตอนนี้อยู่ในสถานภาพใด

 เป็นนักบุญหรือเป็นนักบวช

 ถ้าเป็นนักบุญก็ต้องยอมรับผลของนักบุญว่าได้แค่สวรรค์

ถ้าเป็นนักบวชก็ต้องรักษาสถานภาพของนักบวชไว้

 เหมือนคนที่แต่งงานกับคนที่เป็นโสด มีสถานภาพต่างกัน

 จะทำตัวให้เหมือนกันไม่ได้

คนโสดจะไปเที่ยวกับใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ทำได้

แต่คนที่มีคู่ครองแล้วต้องไปกับคู่ครองเท่านั้น

พุทธศาสนิกชนก็มีหลายสถานภาพด้วยกัน

 ถ้าเป็นนักบุญก็ไปเลย ใครมาชวนทำบุญที่ไหน ไปเลย

ไปอินเดียไปเลย ใช้เงินให้หมด

 พอหมดแล้วจะได้ไม่ต้องไปไหน

 จะได้เป็นนักบวช พอเป็นนักบวชแล้ว จะไม่ไปไหนแล้ว

 จะเข้าป่าไปปลีกวิเวก จะไม่สังคมกับใคร ไม่ติดต่อกับใคร

 จะดึงใจให้เข้าข้างใน ด้วยการเจริญสติ

เดินจงกรมนั่งสมาธิ ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 ไม่ว่าจะทำภารกิจใด ที่จำเป็นจะต้องทำ

 ก็จะเจริญสติควบคู่ไปด้วย ปัดกวาดก็พุทโธไปด้วย

 หรือเฝ้าดูการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว

ไม่ให้จิตไปอดีตไปอนาคต ไม่ให้คิดถึงใคร

ให้จิตอยู่กับการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว

 เวลาขบฉันก็อยู่กับการขบฉันเพียงอย่างเดียว

เวลาซักจีวรก็อยู่กับการซักจีวร เวลาอาบน้ำก็อยู่กับการอาบน้ำ

 พอเสร็จกิจก็เข้าทางจงกรมหรือนั่งสมาธิทันที สลับกันไป

จนถึงเวลาพักผ่อนหลับนอน ก็พักผ่อนหลับนอน

 พอตื่นขึ้นมาลุกขึ้นมาก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ

จนกว่าจะถึงเวลาไปทำภารกิจต่างๆ

 เช่นไปทำอาหาร ไปรับประทานอาหาร

 ถ้าเป็นพระก็ออกบิณฑบาต กลับมาฉันก็ฉันด้วยสติ

 ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา

อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสร้างกำลังใจ

รักษาสถานภาพของนักบวช

ใครมาชวนให้ไปทำบุญที่ไหนก็ต้องปฏิเสธ

 ทำมาพอแล้ว ไม่มีเงินจะทำอีกแล้ว

นี่คือการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดผล ต้องมีมาตรการ

 ต้องรู้จักสถานภาพของตน ว่าตอนนี้เป็นนักบุญหรือนักบวช

 ไม่อย่างนั้นกิเลสจะหลอกให้หลง แทนที่จะปฏิบัติ

จะหลอกให้ไปทำบุญ จะไม่เจริญก้าวหน้า

จะติดอยู่ที่การทำบุญ ไม่ยอมรักษาศีล ๘ ไม่ยอมปลีกวิเวก

ไม่ยอมภาวนา ไม่ยอมออกบวช

ถ้าไม่ออกบวช จะไม่สามารถสร้างกำลังใจ ให้มีกำลังเต็มร้อย

 ที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ การทำบุญกำลังไม่พอ

ที่จะปราบกิเลสให้หมดไปจากใจได้

 แต่การทำบุญก็เอื้อต่อการปฏิบัติ

 ถ้าทำบุญจนเงินทองหมด ก็จะไม่มีเงินทองรับใช้กิเลส

 ก็ต้องเข้าวัด บังคับใจให้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

 ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาตินี้

ก็ต้องรีบทำให้มากที่สุด

เพราะไม่รู้ว่ามีเวลาเหลืออยู่มากน้อย

 ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะอยู่หรือไป อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

 ให้คิดอย่างนี้ จะได้ไม่ประมาทนอนใจ

อย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนพระอานนท์ว่า

 ต้องระลึกถึงความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

 ให้รู้ว่าตายได้ทุกเวลานาที ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย

 หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย คิดอย่างนี้

จะได้ไม่ประมาทนอนใจ จะได้รีบทำกิจที่ควรทำ

คือสร้างกำลังใจให้มีมากกว่ากิเลสตัณหา

ถ้ามีก็จะฆ่ากิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจได้

 พอหมดแล้ว ก็หมดภารกิจ ไม่มีภารกิจอื่นที่ต้องทำอีกต่อไป

 จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเสร็จกิจแล้ว

 ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว

ถ้าทำไม่เสร็จ ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่

 มาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ มาปฏิบัติใหม่

 มาคราวหน้าอาจจะไม่มีพระพุทธศาสนา

มาคอยนำทาง มาคอยสอน ก็จะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไรกัน

เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในชาตินี้ ถ้ามันไม่ฝังอยู่ในใจ

 ถ้ายังไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความจำ

พอกลับมาใหม่ก็จะลืมๆ เพราะความจำหายไปได้

แต่ความจริงไม่หาย

ดังที่มีคนถามพระอรหันต์ว่า พระอรหันต์ลืมได้หรือไม่

 ท่านก็ตอบว่าลืมได้ ลืมชื่อคนนั้นลืมชื่อคนนี้

 ลืมสิ่งนั้นลืมสิ่งนี้ เช่นกินยาไปแล้ว

บางทีก็ลืมไปแล้วว่ากินหรือยัง ลืมวันเดือนปีได้

 มีอะไรที่พระอรหันต์ไม่ลืม มี ท่านไม่ลืมความจริง

คือพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา

ผู้มีพระอริยสัจ ๔ อยู่ในใจแล้ว

 จะมีพระพุทธศาสนาอยู่กับตนเสมอ

จะรู้ว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ

นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญให้มาก

ไม่ว่าจะเกิดในภพใด จะพบพระพุทธศาสนาหรือไม่

จะมีพระพุทธศาสนาที่อยู่ในใจ คอยกระตุ้น

ให้เจริญมรรคตลอดเวลา

มรรคคืออะไร ก็คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญานี่เอง

 ไม่มีวันลืม พระอริยะทุกองค์ อย่าว่าแต่พระอรหันต์

 พระโสดาบันก็ไม่ลืม

 พระโสดาบันจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

 เพราะท่านไม่หลงไม่ลืมทาง ไม่ลืมพระอริยสัจ ๔

มีแผนที่ติดตัว มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่กับใจ

 ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเอง

 รู้ว่าพระอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

รู้ว่าพระอริยสงฆ์สาวกคือผู้เห็นอริยสัจ ๔

 ผู้มีอริยสัจ ๔ อยู่ในใจ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

ท่านไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

ไม่มีวันลืมพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดชาติใด

 จะมีพระพุทธศาสนานำทางเสมอ ท่านสามารถปฏิบัติเองได้

 ไม่ต้องอาศัยพระพุทธศาสนาภายนอกใจนำทาง

นี่คือเรื่องของความจริงกับความจำ

ธรรมะที่ได้ศึกษาในเบื้องต้นจะเป็นความจำก่อน

 ถ้าไม่เอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะเลือนรางไป

ได้มาฟังเทศน์กันหลายครั้งแล้ว

 พอกลับไปไม่กี่วันก็หายไปหมด

 จำไม่ได้เลยว่าพูดอะไรบ้าง ก็ต้องกลับมาฟังใหม่

ฟังแล้วกลับไปก็เหมือนเดิม

อาทิตย์ที่แล้วได้ฟังอะไรไปบ้าง จำได้หรือเปล่า

 นี่ก็กลับมาฟังใหม่อีก ก็ฟังเรื่องเก่าอีก

 เรื่องกิเลสตัณหา เรื่องสติปัญญา ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 ก็ยังไม่เข้าไปในใจ ฟังแล้วก็ลืม

ถ้าไม่เอามาคิดอยู่เรื่อยๆก็จะลืม

ถ้าเอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะไม่ลืม

 เหมือนกับท่องสูตรคูณ หรือพิมพ์ดีดสัมผัส

ถ้าพิมพ์อยู่เรื่อยๆก็จะจำได้ แต่ถ้าหยุดพิมพ์ไปสักพักหนึ่ง

 เวลาจะพิมพ์ใหม่ จะไม่มั่นใจว่าจะพิมพ์ได้หรือไม่

ถ้าไม่ทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะลืมได้

จึงต้องนำเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังให้ฝังอยู่ในใจ

 ให้เป็นความจริง ด้วยการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๔๕๗ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“เติมกำลังใจ”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 19 พฤษภาคม 2559
Last Update : 19 พฤษภาคม 2559 15:03:19 น.
Counter : 678 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ