Group Blog
All Blog
### ต้องหยุดความอยาก ###
















“ต้องหยุดความอยาก”

การจะหยุดความอยากได้ ก็ต้องรู้ว่า

สิ่งที่อยากได้นั้น ไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงที่ถาวร

 นอกจากไม่ให้ความสุขแล้วยังให้ความทุกข์ด้วย

ลองพิจารณาดู ทุกวันนี้เราทุกข์กับอะไร

ทุกข์กับสิ่งที่เรามีไม่ใช่เหรอ สิ่งที่เราไม่มีเราไม่ทุกข์

 คนที่มีสามีมีภรรยา ก็จะทุกข์กับสามีทุกข์กับภรรยา

คนที่มีลูกก็จะทุกข์กับลูก มีทรัพย์ก็จะทุกข์กับทรัพย์

 มียศก็จะทุกข์กับยศ มีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็จะทุกข์กับความเสื่อมของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ของตาหูจมูกลิ้นกาย ที่ต้องรักษาให้ดีเพื่ออะไร

 ก็เพื่อจะได้ใช้ตาดูรูป รักษาหูเพื่อจะได้ยินเสียง

 ที่จะทำให้เราสุข แต่รักษาอย่างไรไม่ช้าก็เร็ว

ก็ต้องเสื่อมหมดไป ตาหูจมูกลิ้นกายไม่เที่ยง

ต้องเสื่อมหมดไป รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่ได้เสพสัมผัสก็ไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป

 ดูภาพยนตร์เสร็จแล้วก็หมดไป

 ถ้าอยากจะดูอีกก็ต้องกลับไปดูอีก

ถ้าอยากจะฟังก็ต้องกลับไปฟังอีก

พอฟังเสร็จก็หายไปหมด ต้องฟังอยู่เรื่อยๆ ดูอยู่เรื่อยๆ

 ดื่มอยู่เรื่อยๆ รับประทานอยู่เรื่อยๆ ถึงจะมีความสุข

นี่คือความทุกข์ของการมีสิ่งต่างๆ มีลาภก็ต้องทุกข์กับลาภ

 มียศก็ต้องทุกข์กับยศ มีสรรเสริญก็ต้องทุกข์กับการนินทา

เวลาได้ยินเสียงสรรเสริญก็มีความสุข

พอได้ยินเสียงนินทาก็จะเกิดความทุกข์

 มีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส

พอตาหูจมูกลิ้นกายไม่อยู่ในสภาพ

ที่จะเสพรูปเสียงกลิ่นรสได้ก็จะทุกข์

เช่นเวลาร่างกายไม่สบาย

ไม่สามารถไปดูไปฟังไปดื่มไปรับประทานได้

ตอนนั้นก็มีแต่ความทุกข์ใจ

ถ้าไม่ยุ่งเกี่ยวกับลาภยศสรรเสริญ

กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะไม่ทุกข์

ถ้าไม่มีสามีภรรยา ก็จะไม่ทุกข์กับสามีภรรยา

 ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์กับลูก

 ไม่มีร่างกายก็ไม่ทุกข์กับร่างกาย

 มีร่างกายก็ทุกข์กับร่างกาย

ทุกข์กับการดูแลรักษาร่างกาย

หาอาหารหาน้ำหาอากาศ

 มาหล่อเลี้ยงร่างกาย ทุกข์กับความแก่

ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์กับความตายของร่างกาย

 พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า

 ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดเท่านั้น

ถ้าไม่เกิดก็จะไม่ทุกข์กับลาภยศสรรเสริญ

กับตาหูจมูกลิ้นกาย จะไม่เกิดได้ก็ต้องมีสิ่งที่ดีกว่า

ที่ทำลายความอยากได้ ก็คือความสงบนี้เอง

 ถ้าเข้าถึงความสงบแล้ว จะหยุดความอยากได้

เพราะความสุขที่ได้จากความสงบ

 เหนือกว่าความสุขที่ได้จากความอยาก

ถ้าได้ความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว

 เวลาได้ร้อยล้านพันล้านก็จะไม่ตื่นเต้นดีใจแต่อย่างใด

เป็นนายกฯเป็นประธานาธิบดี ก็ไม่ตื่นเต้นดีใจ

 ไปเที่ยวรอบโลก ๓๖๐ ครั้ง ก็ไม่ตื่นเต้นดีใจ

อยู่บ้านสบายกว่า ไม่ต้องวุ่นวาย

กับการทำหนังสือเดินทาง ทำวีซ่า ตรวจโรค

 ฉีดยาป้องกันโรคภัยต่างๆ จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก

วุ่นวายไปหมด ถ้าไม่มีความสงบความสุขภายในใจ

 จะถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

 เพราะคิดว่าจะได้ความสุข ได้หลุดพ้น

จากความเบื่อหน่าย เวลาอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ

 จะเบื่อหงุดหงิดรำคาญใจ พอจะได้เดินทางไปเที่ยว

ตามสถานที่ต่างๆ ใจก็ปรุงแต่งว่าต้องสนุกต้องสุข

 ดีกว่าอยู่บ้าน อยู่กับความเบื่อหน่าย

ก็เลยยอมสู้กับความยากลำบาก

ในการทำหนังสือเดินทาง ทำวีซ่า ตรวจโรค ฉีดยา

จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก

แล้วก็ต้องเสี่ยงภัยกับการนั่งเครื่องบิน

 ไม่รู้ว่าจะลงมาแบบไหน จะไม่คิดถึงภัย

 คิดถึงความทุกข์ยากลำบาก

 เพราะอยากจะหนีจากความเบื่อหน่าย

 ที่มีอำนาจมากกว่าการไปเสี่ยงภัย

ไปวุ่นวายกับการทำอะไรต่างๆ

ถ้ามีความสงบแล้วอยู่เฉยๆจะไม่เบื่อหน่าย

 เพราะความสงบจะระงับความเบื่อหน่าย

ระงับทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด

 มีแต่ความสุขความส

บายความเย็น ความเป็นอุเบกขา

ไม่ยินดีไม่ยินร้าย อยู่กับเหตุการณ์ต่างๆได้

อยู่เฉยๆก็อยู่ได้ ถ้าต้องทำอะไรก็ทำได้

 ถ้ามีเหตุให้ทำก็ทำไป แต่จะไม่หาเหตุมาทำ

เพื่อหนีความเบื่อหน่าย

เพราะไม่มีความเบื่อหน่ายที่จะต้องหนี

 นี้แหละเป็นความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่จะทำให้หยุดความอยากต่างๆได้

จึงต้องสร้างความสุขใจกัน ด้วยการปล่อยวางความสุข

ที่ไม่ใช่ความสุขใจ ต้องปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ

ปล่อยวางความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ด้วยการทำทาน สละลาภยศสรรเสริญ

 สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

อย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงปฏิบัติ ทรงสละราชสมบัติ

 สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ออกบวช

สละความอยากที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

 สละความอยากฆ่าผู้อื่น อยากลักทรัพย์

 อยากประพฤติผิดประเวณี อยากโกหกหลอกลวง

อยากเสพสุรายาเมาและอบายมุขทั้งหลาย

 ต้องสละต้องรักษาศีลให้ได้ แล้วก็มาสละความคิด

ที่คิดอยู่ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์กับใจ ทำให้ใจฟุ้งซ่าน

ทำให้หิวทำให้อยาก ด้วยการเพ่งอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 จะได้ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าใช้พุทโธเป็นอารมณ์

 ก็บริกรรมพุทโธๆไป

ถ้าใช้ร่างกายเป็นอารมณ์ ก็เฝ้าดู

การเคลื่อนไหวของร่างกายไปทั้งวัน

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทุกอิริยาบถ ทุกขณะ

พอตื่นขึ้นมาลืมตา ก็ดูว่าร่างกายทำอะไร

ลุกขึ้นมายืน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังเดินไปเข้าห้องน้ำ

 กำลังจะล้างหน้า อาบน้ำ ทำกิจต่างๆ

แต่งเนื้อแต่งตัว ทำอาหาร รับประทานอาหาร

 เดินทางไปทำงาน ไปทำภารกิจต่างๆ

ให้ใจเฝ้าดูร่างกายอย่างเดียว ไม่ให้ไปคิดถึงคนนั้นคนนี้

 เรื่องนั้นเรื่องนี้ ยกเว้นเฉพาะเรื่องที่จำเป็น

จะต้องคิดจริงๆเท่านั้น

เช่นต้องคิดว่าวันนี้ต้องไปทำอะไรบ้าง

 พอรู้แล้วว่าต้องทำอะไร ก็ไปทำ

 เวลาทำก็เฝ้าดูการกระทำของร่างกายไป

ถ้านั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร

ก็หลับตาแล้วดูลมหายใจเข้าออกไป

อย่าคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้ามองไปทางซ้ายมองไปทางขวา

 ก็จะมีอารมณ์กับสิ่งที่เห็น เอามาคิดมาปรุงแต่ง

 ทำให้ไม่สบายอกไม่สบายใจ

เกิดความโลภเกิดความอยาก

 เช่นนั่งรถเห็นป้ายโฆษณาสินค้าก็อยากได้

 เห็นคนขับรถไม่มีมารยาทก็อารมณ์เสีย

 อย่าไปดูสิ่งเหล่านี้ มาดูลมหายใจเข้าออกดีกว่า

เวลาเดินทางไปทำงาน ถ้าไม่ต้องขับรถ นั่งเฉยๆ

ก็นั่งหลับตาดูลมหายใจไป

จะไปถึงที่ทำงานอย่างรวดเร็ว จะไม่รู้สึกว่าช้าเลย

 ถึงแม้รถจะติดเป็นชั่วโมงก็รู้สึกว่า

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

 เพราะใจไม่มีความอยากจะให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง

 ใจเฉยๆ ถึงเมื่อไหร่ก็ถึงเมื่อนั้น

ถ้าใจไม่มีความอยากให้ไปถึงตามเวลาที่ต้องการ

 ไปถึงช้าหรือไปถึงเร็วก็จะไม่เป็นปัญหา

นั่งหลับตาเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกจนไปถึงที่ทำงาน

 พอลงจากรถก็เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายต่อไป

 กำลังเดินไปเปิดประตู พบใครถ้าจำเป็นต้องทักทาย

 ก็แผ่เมตตา สวัสดี ยิ้มแย้มแจ่มใส

สบายดีเหรอ ก็ว่ากันไป พอไม่ให้เสียมารยาท

 เสร็จแล้วก็เดินต่อไปจนถึงที่ทำงาน

 เวลาทำงานใจก็อยู่กับการทำงาน

ถ้าต้องคิดเรื่องงานเรื่องการ ก็เฝ้าดูความคิด

ให้คิดอยู่กับเรื่องงานเรื่องการอย่างเดียว

ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องอื่น

พอเสร็จแล้ว มีเวลาว่างก็นั่งดูลมต่อ

นี่คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

สามารถเจริญได้ตลอดเวลา

ถ้าเป็นนักภาวนา ถ้าเจริญสติเป็น

จะไม่ไปเสียเวลากับการคุยกับคนนั้นคุยกับคนนี้

วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้

แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ใจก็จะไม่นิ่งไม่สงบ

 จะว้าวุ่นขุ่นมัว แต่ถ้าใจมีสติจดจ่อเฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา

 ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใจจะเย็น ใจจะว่าง ใจจะสบาย

นี่คือการใช้ร่างกายเป็นอารมณ์ผูกใจ

 เป็นอารมณ์เพื่อเจริญสติ เรียกว่ากายคตาสติ

ถ้าถนัดกับการบริกรรมพุทโธ

ก็บริกรรมพุทโธไปทั้งวันเลย ไม่ว่ากำลังทำอะไร

ก็บริกรรมพุทโธไป ถ้าไม่จำเป็นจะต้องคิดเรื่องงานเรื่องการ

 หรือเรื่องที่จำเป็นจะต้องคิด ก็บริกรรมพุทโธไป

อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย คิดเพ้อเจ้อ

 อยากจะเป็นอย่างนั้นอยากจะเป็นอย่างนี้

อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อย่าไปคิด

 อยู่กับพุทโธดีกว่า บริกรรมพุทโธๆไป

เวลานั่งสมาธิจะสงบอย่างรวดเร็ว ๕ นาที ๑๐ นาทีใจก็รวมได้

 รวมแล้วก็จะมีความสุข เบาอกเบาใจ

 มีความว่าง มีความเย็น มีความอิ่ม มีความพอ เป็นอุเบกขา

 สักแต่ว่ารู้ แต่ไม่มีความคิดปรุงแต่งให้รับรู้

 ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะให้รับรู้ ถ้ามีก็ไม่สนใจ

ความสงบนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ

 ๑. สงบแบบรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะหายไป

ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เหลือแต่ตัวรู้ผู้รู้ สักแต่ว่ารู้อยู่ตัวเดียว

 ๒. รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะยังมีอยู่แต่ใจไม่สนใจ

เสียงก็ได้ยิน เวทนาทางร่างกายก็รับรู้

ว่าเจ็บตรงนั้นบ้างปวดตรงนี้ แต่จะไม่รำคาญ ไม่วุ่นวาย

 ไม่มีอารมณ์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยวางได้

 ต่างฝ่ายต่างอยู่ เขาก็อยู่ของเขา เราก็อยู่ของเรา

เสียงจะมีก็ปล่อยเขามีไป

ร่างกายจะเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้

ก็ปล่อยเขาเจ็บไป ใจจะเป็นอุเบกขา จะรับรู้เฉยๆ

ไม่คิดปรุงแต่ง อยากจะให้ความเจ็บหายไป

อยากจะให้เสียงหายไป จะไม่มี

พอไม่มีความอยากก็จะไม่มีความทุกข์

ใจก็จะอยู่อย่างสงบ

 ถ้ามีความอยากขึ้นมาก็จะทนนั่งอยู่ไม่ได้

 เช่นอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป

 ก็จะเกิดความเจ็บขึ้นมาภายในใจ

ที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกาย

ก็จะนั่งต่อไปไม่ได้ หรืออยากจะให้เสียงหายไป

ไม่อยากจะฟัง ก็จะทนนั่งอยู่ไม่ได้ จะต้องลุกเดินหนีไป

ให้ห่างไกลจากเสียงนั้น

ถ้ามีความอยากเมื่อไหร่ต่อให้มีสมาธิ

ก็สามารถทำลายสมาธิความสงบได้

ถ้ามีสมาธิแล้วอยากจะรักษาความสงบของใจ

ก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจ

ว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้ไม่ได้ให้ความสุข อย่าไปอยาก

 เช่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นต้องดื่ม

 อยากจะลิ้มรสต่างๆ ก็ต้องบอกว่าอย่าดื่มดีกว่า

ดื่มแล้วก็จะติด ต้องดื่มอีก

 เวลาอยากดื่มแล้วไม่ได้ดื่ม ก็จะหงุดหงิดใจ ไม่สบายใจ

 ถ้าไม่ดื่มได้ ใจก็จะสงบ เป็นอุเบกขา

หมายถึงเวลาที่มีสมาธิแล้ว พอเกิดความอยากขึ้นมา

 มันก็จะกลบอุเบกขาที่มีอยู่ ถ้าหยุดตัณหาได้

 อุเบกขาก็จะกลับคืนมา นี่คือวิธีรักษาอุเบกขา

 รักษาความสงบของใจ หลังจากที่ออกจากสมาธิ

ต้องคอยเตือนใจว่าอย่าทำตามความอยาก

ความอยากจะทำลายความสงบ ทำลายอุเบกขา

 สิ่งที่ได้จากการทำตามความอยาก

 ก็สู้ความสุขที่ได้จากความสงบ ความเป็นอุเบกขาไม่ได้

 ดังนั้นเวลาออกมาแล้ว อยากจะเสพรูปเสียงกลิ่นรส

ก็ต้องบอกใจว่าอย่าไปเสพ อย่าไปดู อย่าไปฟัง

อย่าไปดื่ม อย่าไปรับประทาน ถ้าจะดื่มจะรับประทาน

ก็ต้องดื่มต้องรับประทานด้วยเหตุผล

 ก็คือถึงเวลาต้องรับประทานค่อยรับประทาน

ถึงเวลาดื่มค่อยดื่ม แต่อย่าดื่มด้วยความอยากดื่ม

 อย่ารับประทานด้วยความอยากรับประทาน

ต้องสกัดความอยากทุกรูปแบบ

 จะได้รักษาความสงบของใจได้

ต่อไปความอยากก็จะหมดกำลังไปเรื่อยๆ

จนในที่สุดก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจ

ใจก็จะอยู่อย่างสบาย ไม่ต้องใช้ปัญญาแล้ว

เพราะความอยากหมดไปแล้ว

 ปัญญามีไว้เพื่อสกัดความอยาก ปัญญาจะสอนใจว่า

 ความอยากคือต้นเหตุของความไม่สบายใจ

สิ่งที่อยากได้ก็ไม่สามารถให้ความสุขที่ถาวรได้

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้นั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 มีเกิดมีดับ เวลาได้มาใหม่ๆก็สุข พอเสื่อมไปดับไป

หรือเปลี่ยนไปก็จะไม่สุข

 เช่นเวลาคนที่ให้ความสุขกับเราเปลี่ยนไป

เคยดีแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นไม่ดี

 เราจะได้รับความสุขจากเขาหรือเปล่า

นี่ก็คือการใช้ปัญญาหลังจากที่ออกจากสมาธิ

เพื่อจะได้รักษาความสุข ที่เกิดจากความสงบให้อยู่อย่างถาวร

พอไม่มีความอยากมาทำลายความสงบแล้ว

 ก็ไม่ต้องใช้ปัญญาอีกต่อไป

 เพราะนิโรธคือความดับของความทุกข์

ได้ดับอย่างถาวรแล้ว เพราะไม่มีความอยาก

มาลบล้างความสงบของใจ

เพราะมีปัญญาคอยควบคุมความอยากอยู่ตลอดเวลา

 นี่แหละคือการปล่อยวาง เพื่อจะได้ความสุขที่แท้จริง

 ที่มีอยู่ในใจ ต้องปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ

ปล่อยวางความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ปล่อยวางการทำร้ายผู้อื่นเบียดเบียนผู้อื่น

 ปล่อยวางความคิดปรุงแต่งต่างๆ ปล่อยวางความอยาก

 พอปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมดแล้ว

ใจก็จะสงบอย่างถาวร นี่คือความรู้

ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว

 เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้

 แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา

ถ้าปฏิบัติตามได้ก็จะได้รับผล คือความสุขที่ถาวร

ที่เรียกว่านิพพานัง ปรมังสุขัง

นิพพานังคืออะไร ก็คือการไม่มีความอยากนั่นเอง

 ใจที่ไม่มีความอยากก็คือใจที่เป็นนิพพาน

 พอไม่มีความอยาก ก็จะเป็นปรมังสุขัง เป็นบรมสุข

 เป็นความสุขที่ถาวร ไม่มีวันหมดไป

 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

 จะไม่มากระทบกระเทือนกับใจเลย

 เพราะใจได้ปล่อยวางทุกอย่างแล้ว

ได้ปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ ปล่อยวางความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยวางความคิดปรุงแต่ง

 ปล่อยวางความอยากต่างๆ ปล่อยวางร่างกาย

 ปล่อยวางเวทนาความรู้สึก คือความสุข ความทุกข์

 ความไม่สุขไม่ทุกข์ของร่างกาย ปล่อยวางได้หมด

ไม่ทุกข์อีกต่อไป ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 เวทนาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

ลาภยศสรรเสริญจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 ตาหูจมูกลิ้นกายจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป

 ถ้าจะรักษาก็รักษาไปตามเหตุตามผล

 รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ต้องปล่อย

ให้เป็นไปตามความเป็นจริง แต่ใจจะไม่วุ่นวาย

กินไม่ได้นอนไม่หลับ กับการดูแลรักษาสิ่งต่างๆ

เพราะไม่สามารถจะรักษาได้

ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จะต้องแปรเปลี่ยนไปหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจริญสักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมหมดไป

 ศาลาหลังนี้สักวันหนึ่งก็ต้องเสื่อมหมดไป

 เหมือนกับกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย

 ที่สวยงามและยิ่งใหญ่ พอถึงเวลาก็ต้องเสื่อมหมดไป

ร่างกายของพวกเราก็เช่นเดียวกัน

 ไม่นานก็จะเสื่อมหมดไป

 กลายเป็นเศษกระดูกเศษขี้เถ้า

ที่สัปเหร่อจะเก็บให้ญาติพี่น้อง

หลังจากที่ได้ทำฌาปนกิจแล้ว

 นี่คือความจริงที่ต้องมองกัน เพื่อจะได้ปล่อยวาง

 จะได้ตัดไม่ยึดไม่ติด ไม่หลงไปคิดว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา

 ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา

ของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของดินน้ำลมไฟ

ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากธาตุ ๔ มารวมกันเป็นสัตว์เป็นบุคคล

 เป็นต้นไม้เป็นวัตถุต่างๆ เป็นข้าวของต่างๆ

รวมกันได้สักระยะหนึ่งก็ต้องแยกจากกันไป

เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน ไม่มีเจ้าของ

 เป็นดินน้ำลมไฟ อย่าไปยึดอย่าไปติด

 อย่าไปอยากได้อยากมี เพราะจะทำให้ทุกข์ใจ

 เวลาอยากได้อะไร ใจก็จะกระวนกระวาย

 ได้มาแล้วก็กระวนกระวาย กลัวว่าจะจากไป

 เวลาจากไปก็เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์

เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเอง ด้วยความอยากของเรา

 ด้วยความหลงของเรา ไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้นั้น

เป็นทุกข์ ไม่รู้วิธีดับความทุกข์

แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอยู่ที่การทำทาน รักษาศีล

สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ทำไมไม่ทำกัน

ถ้าทำแล้วรับรองได้ว่า จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในใจ

 เพราะพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ทำมาแล้ว

 ใจของท่านจึงไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย

เพราะได้เจริญทานศีลภาวนาอย่างเต็มที่

 พวกเราก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน

 ถ้าเจริญทานศีลภาวนาอย่างเต็มที่

จึงขอฝากเรื่องของการเจริญทานศีลภาวนา

 เรื่องของการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ด้วยปัญญา

 ว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 ที่จะอยู่กับเราไปตลอด มีสิ่งเดียวที่จะอยู่กับเราไปตลอด

 ก็คือความสงบของใจ ที่เกิดจากการหยุดความคิด

หยุดความอยากต่างๆ ให้พวกเรานำเอาไปพิจารณาและปฏิบัติกัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.................................

กัณฑ์ที่ ๔๕๕ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“ต้องหยุดความอยาก”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 พฤษภาคม 2559
Last Update : 16 พฤษภาคม 2559 12:56:41 น.
Counter : 829 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ