Group Blog
All Blog
### ความสำคัญของครูบาอาจารย์ ###















“ความสำคัญของครูบาอาจารย์”

ในการศึกษาในการปฏิบัติธรรม

สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและขาดไม่ได้ ก็คือครูบาอาจารย์

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม

จะไม่สามารถบรรลุผลบรรลุธรรมได้

 เพราะเป็นทางที่ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติยังไม่เคยไปมาก่อน

 เหมือนกับการเดินทางไปสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน

 ถ้าไม่มีผู้บอกทางหรือไม่มีแผนที่บอกทาง

 ผู้เดินทางจะไม่สามารถเดินไปถึงจุดหมายปลายทาง

ที่ปรารถนาได้ ฉันใด

การศึกษาการปฏิบัติธรรม ก็เป็นเหมือนกับการเดินทาง

จำเป็นจะต้องมีผู้บอกทางหรือผู้นำทาง

หรือมีแผนที่บอกทาง ถึงจะสามารถบรรลุธรรมขั้นต่างๆได้

 ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า

ผู้ที่ได้ตรัสรู้ ทางที่จะนำไปสู่มรรคผล นิพพาน

 รองจากพระพุทธเจ้าก็คือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ท่านก็เป็นผู้ที่ได้ศึกษา และได้ปฏิบัติจนถึงธรรมขั้นต่างๆแล้ว

 รองจากพระอรหันตสาวกก็คือพระอนาคามี

 รองจากพระอนาคามี คือพระสกิทาคามี

รองจากพระสกิทาคามีก็คือพระโสดาบัน

นี่คืออาจารย์ขั้นต่างๆ ที่ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติควรจะมีไว้

เป็นผู้สอนผู้สั่งผู้นำทาง

 ถ้าไม่สามารถหาพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก

หรือพระอริยสงฆ์สาวกขั้นใดขั้นหนึ่งได้

ก็ให้ใช้คำสอนของท่านที่ได้ถูกบันทึกไว้สื่อต่างๆ

 เช่นในหนังสือ ในแผ่นซีดี ในแผ่นวีดีโอเป็นต้น

คำสอนของท่านเหล่านี้ก็ยังสามารถเป็นผู้นำทาง

ให้ผู้ปฏิบัติได้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้

 เป็นเหมือนแผนที่ถ้าไม่มีคนนำทางก็ขอให้มีแผนที่

ก็ยังสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ได้

อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้

ก่อนที่จะเสด็จจากพวกเราไปว่า

 ธรรมวินัยที่เราตรัสไว้ชอบแล้วนี่แล

 จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป

จะเป็นอาจารย์ของพวกเธอต่อไป

หลังจากที่เราตายจากพวกเธอไปแล้ว

 พวกเธอจะไม่ได้อยู่ปราศจากศาสดา

 จะมีศาสดามีครูมีอาจารย์คอยสั่งคอยสอนอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าเราไม่สามารถหาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้

เราก็ยังมีคำสอนของพระอรหันตสาวกรูปต่างๆ

 เป็นผู้สอนเราได้อยู่ คำสอนของท่านเหล่านี้

สามารถที่จะเป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเราได้

แต่สู้ตัวของท่านเองไม่ได้ เพราะว่าคำสอนนั้น

ไม่สามารถที่จะมาสั่งให้พวกเราทำโน่นทำนี่ได้

 ถ้าเราไม่เปิดฟังไม่เปิดอ่าน ก็เหมือนกับว่าไม่มีครูไม่มีอาจารย์

 ถึงแม้ว่าจะมีครูอาจารย์อยู่ในคำสอน

 แต่ก็ไม่เหมือนครูอาจารย์ที่มีรูปร่างหน้าตา

 เวลาไปอยู่กับท่านนี้ ท่านจะคอยกระตุ้นคอยเตือน

 คอยดึง คอยลากเรา แต่หนังสือธรรมะนี้ไม่สามารถทำได้

เราต้องเป็นคนที่ต้องฉุดลากตัวเราเองด้วยการพยายามศึกษา

 ฟังเทศน์ฟังธรรมฟังคำสอนอยู่เรื่อยๆ

ดังในมงคลสูตรที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า

การฟังธรรมตามกาลตามเวลาเป็นมงคลอย่างยิ่ง

การฟังธรรมก็เท่ากับการฟัง การบอกทางเดินนั่งเอง

ว่าเราจะต้องเดินไปในทิศทางไหน เราต้องทำอะไร

ถ้าเราฟังธรรมเราจะได้เอามาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของเรา

ว่าเรากำลังปฏิบัติตามที่ท่านสอนหรือไม่

หรือเราปฏิบัติสวนทางกับที่ท่านสอน

 ถ้าเราเดินสวนทางเราจะได้แก้ไขเสีย

 แทนที่จะนั่งสมาธิภาวนา เรากลับไปนั่งกินกาแฟ

 ไปนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือกัน เปิดมือถือคุยกับคนนั้นคนนี้

 ส่งข้อความหาคนนั้นคนนี้ อย่างนี้พอเราได้ยินได้ฟัง

 ท่านก็บอกว่า “การกระทำอย่างนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูก

ทางที่ถูกนั้นเราต้องดึงใจให้เข้าข้างใจด้วยสติ”

 เช่นการบริกรรมพุทโธๆ ดึงใจให้เข้าข้างใน

อย่าปล่อยใจให้ออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เพราะจะทำให้ใจไม่สงบจะไม่ให้ใจมีความสุข

จะทำให้ใจมีแต่ความหิวโหยมีแต่ความอยาก

 มีแต่ความต้องการ มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวายใจ

แต่ถ้าดึงใจให้เข้าสู่ข้างในได้ ให้เข้าสู่ความสงบได้

ใจจะมีความอิ่มมีความพอมีความสุขอย่างยิ่ง

การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้จะทำให้เราได้รู้ว่า

เรากำลังเดินทางที่ถูกที่ควรหรือไม่

และควรที่จะต้องทำอะไรบ้าง

ถ้าเราทำถูกแล้วตอนนี้เราถึงจุดไหนแล้ว เราถึงขั้นไหนแล้ว

 เราควรจะทำอะไรต่อจากขั้นที่เรามาถึงแล้ว

เพราะการปฏิบัติธรรมนี้ก็มีหลายขั้นหลายตอนด้วยกัน

 เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นทำทานขึ้นไปสู่ขั้นรักษาศีล

ขั้นรักษาศีลก็มีหลายขั้น ขั้นศีล ๕ ขั้นศีล ๘

ขั้นศีล ๑๐ ขั้นศีล ๒๒๗ หรือ ๓๑๑ ข้อ

แล้วก็เข้าไปสู่ขั้นสมาธิขั้นต่างๆ

 แล้วขึ้นสู่ชั้นปัญญาขั้นต่างๆมีหลายขั้นด้วยกัน

การปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

เราจึงต้องมีผู้คอยสั่งคอยสอน ถ้าเราไม่มีผู้สั่งผู้สอน

เราก็จะไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอะไร

 และการมีครูบาอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่นี้ก็จะดีกว่า

การมีหนังสือของท่าน เพราะหนังสือของท่าน เราอ่านแล้ว

เราอาจจะแปลความหมายผิดก็ได้

หรือไม่เข้าใจความหมายของคำสอนของท่าน

เราก็จะไม่สามารถที่จะไปสอบถามได้ว่าหมายความว่าอย่างไร

 เพราะเวลาบางทีคนพูดนี้พูดแล้วเขาใจว่าตนเองพูดอะไร

 แต่คนฟังหรือคนอ่าน อ่านแล้วก็อาจจะไม่เข้าใจได้

ถ้ามีอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน

ก็ยังสามารถสอบถามได้

แต่ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องลองผิดลองถูกดู ทำแบบนี้ใช่ไหม

 ไม่ใช่ลองทำแบบนี้ดูว่าผู้ปฏิบัติก็จำเป็น

จะต้องรู้จักทดสอบไม่ใช่ปฏิบัติแบบเอามาทั้งดุ้น อย่างนี้

บางทีปฏิบัติไปแล้วไม่ได้ผลก็ต้องพิจารณาดูว่า

เราแปลคำสอนผิดไปหรือเปล่า

เช่นผู้ที่ปฏิบัติมักจะไม่เข้าใจกันระหว่างสมาธิกับปัญญา

ว่าเวลาใด และเวลาใดให้ทำปัญญา

เรามักจะได้ยินว่าเราต้องทำสมาธิทำใจให้สงบก่อน

พอใจสงบแล้วเราถึงจะไปเจริญปัญญาได้

แต่เราก็จะเข้าใจผิดก็ได้ว่า พอจิตสงบนิ่งแล้ว

เราก็จะพิจารณาทางปัญญาต่อไปเลย อย่างนี้ก็ไม่ใช่

ทางที่ถูกนั้นคือเวลาเจริญสมาธิเพื่อให้ใจสงบ

พอใจสงบแล้วไม่ให้ทำอะไร ให้ใจสงบนิ่งๆ อยู่ไปนานๆ

 เหมือนกับคนที่นอนหลับอย่าไปปลุกขึ้นมาทำงาน

พอเขานอนหลับได้แป๊บเดียว ยังไม่ทันอิ่ม

หลับได้ไม่กี่นาทีก็ปลุกให้ลุกขึ้นไปทำงาน

 เขาก็จะไม่มีแรงที่จะไปทำงานเพราะนอนยังไม่พอ

เวลาที่คนนอนพักผ่อนหลับนอนนี้

เราไม่ควรไปปลุกเขาขึ้นมาทำงาน

 ควรปล่อยให้เขานอนพักผ่อนให้นานที่สุด

จนกว่าเขาจะอิ่มพอกับการหลับนอนพักผ่อนแล้วลุกขึ้นมา

 พอเขาตื่นขึ้นมาแล้วทีนี้ เขาก็พร้อมที่จะไปทำงานต่างๆได้ ฉันใด

การทำใจให้สงบก็เหมือนกันกับการพักผ่อนของใจ

 เป็นการเติมพลังให้กับใจ เติมอุเบกขาให้กับใจ

 เวลานั่งสมาธิ พอจิตรวมเข้าสู่ความสงบเป็นอัปปนาสมาธิ

สักแต่ว่ารู้ มีอุเบกขามีความสุขที่เกิดจากความสงบ

 เวลานั้นไม่ใช่เป็นเวลาที่ดึงจิตออกมาพิจารณาธรรมขั้นต่างๆ

เวลานั้นเป็นเวลานั้นเป็นเวลาที่ให้จิตพักผ่อนให้เต็มที่

ให้อยู่ในสมาธิให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

หรือว่าถ้าเป็นขั้นฝึกใหม่ๆ จิตสงบเพียงเดี๋ยวเดียว

 พอสงบแล้วก็ถอนออกมา ถ้าเรายังมีสมาธิไม่มากพอ

 มีอุเบกขาไม่มากพอ ในขั้นแรกๆ

ของการฝึกสมาธินี้ควรที่จะกลับเข้าไปในสมาธิให้มากที่สุด

 ให้บ่อยให้ที่สุดก่อน ยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องการเจริญปัญญา

 เพราะว่าจิตยังไม่พร้อมที่จะไปพิจารณาทางปัญญา

 ควรฝึกสมาธิให้ชำนาญก่อน

ให้สามารถอยู่ในความสงบได้นานเป็นชั่วโมงขึ้นไปก่อน

จนสามารถที่จะเข้าได้ทุกเวลาอย่างง่ายดาย

นั่งหลับตา ๕ นาทีจิตก็เข้าสู่ความสงบได้

ถ้าสามารถมีความชำนาญในการเข้าสมาธิได้

อย่างคล่องแคล่วว่องไวและรวดเร็วและตั้งอยู่ในสมาธิได้

 เป็นเวลายาวนาน หลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

 เวลานั้นก็เป็นเวลาที่เราควรที่จะเจริญปัญญาได้แล้ว

 เพราะถ้าเราไม่เจริญปัญญา เรามัวแต่ควบคุมใจให้สงบต่อไป

 เราก็จะเรียกว่าติดสมาธิ จะทำแต่สมาธิเพียงอย่างเดียว

ไม่ยอมเจริญปัญญา

การเจริญปัญญานี้ต้องรอให้จิตพักออกจากสมาธิก่อน

 ขณะจิตนิ่งสงบสักแต่ว่ารู้เป็นอุเบกขานี้

ไม่ใช่เวลาที่จะพิจารณาทางปัญญา

ต้องรอให้จิตถอนออกมา การถอนออกมาหมายถึงอย่างไร

ก็ถอนออกมารับรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ

มารับรู้เรื่องราวต่างๆ มารับรู้เรื่องความคิดปรุงเเต่ง

 พอมีความคิดปรุงเเต่งแล้วต้องเอาความคิดปรุงเเต่งนี้

ที่จะคิดไปในทางกิเลสตัณหา ให้มาคิดในทางปัญญา

 ถ้าไม่มีสติ เวลาออกจากสมาธิมานี้

ความคิดปรุงเเต่งส่วนใหญ่จะคิดไปในทางตัณหา

ผู้ที่อยู่ในขั้นสมาธิ เวลาออกจากสมาธิ

จึงต้องบริกรรมพุทโธต่อ หรือเจริญสติต่อด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

 จะบริกรรมพุทโธ หรือจะเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

ของการกระทำของร่างกาย อย่างนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติ

เพื่อรักษาสมาธิที่ได้ แต่ยังไม่ได้มีการเจริญปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙

“ความสำคัญของครูบาอาจารย์”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 มีนาคม 2559
Last Update : 24 มีนาคม 2559 11:20:53 น.
Counter : 722 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ