Group Blog
All Blog
### พิจารณาขันธ์ ๕ ###











“พิจารณาขันธ์ ๕”

การพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็แบบเดียวกัน พิจารณารูปเช่น

ร่างกายของเรานี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง

 เป็นอนัตตาเหมือนกัน ไม่มีตัวไม่มีตนในร่างกายนี้

ควบคุมบังคับไม่ได้ ไม่ให้แก่ก็ไม่ได้

ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ ไม่ให้ตายก็ไม่ได้

เมื่อถึงเวลาก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา

 เมื่อเข้าใจแล้วก็ยอมรับความจริงว่าจะต้องเป็นไป

ก็ไม่เป็นไร เพราะใจผู้พิจารณากับร่างกาย

 ก็เป็นคนละส่วนกัน ร่างกายก็ไม่รู้ว่า

ตัวเองแก่ ตัวเองเจ็บ ตัวเองตาย

ส่วนใจที่รู้ว่าร่างกายแก่ เจ็บ ตาย

ก็ไม่ได้แก่ เจ็บ ตาย ตามร่างกายไปด้วย

เพราะความหลงทำให้ขาดปัญญา

 จึงคิดว่าร่างกายเป็นใจ ใจเป็นร่างกาย

 เวลาร่างกายเป็นอะไร ใจก็จะเป็นไปด้วย

จึงเกิดการตกใจ เวลาหมอบอกว่าเป็นโรคมะเร็ง

จะต้องตายภายใน ๖ เดือน ทั้งที่ยังไม่ตายเลย

แต่ใจได้ตายไปแล้ว ทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 เพราะไม่เคยแยกแยะกายกับใจให้ออกจากกัน

 ให้เห็นว่าเป็นคนละส่วนกันนั่นเอง

ก็เลยคิดว่าใจกับกายเป็นอันเดียวกัน

พอร่างกายจะเป็นอะไรขึ้นมา

 ก็เกิดความตกอกตกใจขึ้นมาทันที

ไม่มีใครไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เมื่อถึงเวลา

 ตายแล้วใจก็ไปต่อ เพราะความหลง ความมืดบอด

 ที่ทำให้ใจไม่รู้ว่าไม่ได้เป็นกาย เพราะไม่ได้แยกแยะ

ไม่ได้เจริญวิปัสสนา

 ถ้าเจริญวิปัสสนาและมีสมาธิเป็นผู้สนับสนุนแล้ว

 จะเข้าใจว่ากายกับใจเป็นคนละส่วนกัน

กายเป็นส่วนที่ประกอบจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

 อาหารก็มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ

ข้าวปลูกในดินก็ต้องมีน้ำ มีลม มีอากาศ

มีแดด มีความร้อน ต้นข้าวจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้

 พืชพันธุ์ต่างๆ ผลไม้ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน

 ส่วนสัตว์ต่างๆก็ต้องกินหญ้ากินข้าวถึงจะโตขึ้นได้

ต้นหญ้าก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ

สิ่งต่างๆทั้งหลายก็มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น

แล้วก็กลายเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน

หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ

 เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายนี้ตายไป ก็กลับคืนสู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

 นี่คือการเจริญวิปัสสนา พิจารณาด้วยปัญญา

 ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา

 ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

ถ้าพิจารณาจนจิตปล่อยวางแล้วก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า

 กายกับใจได้แยกออกจากกัน

กายไม่อยู่ในความรู้สึกของใจ

 รู้ว่าเป็นวัตถุอันหนึ่งที่ต่างจากใจ

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะไม่สะทกสะท้าน

กับความเป็นความตายของร่างกาย

เพราะใจไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย

 เพียงแต่คอยรักษาใจไม่ให้กิเลสมาหลอกเท่านั้นเอง

ไม่ให้กลับไปเป็นมิตรกับกาย

เมื่อถึงเวลาจะต้องเป็นไปตามสภาพของเขา

ก็ปล่อยให้เป็นไป ใจก็อยู่ในความสงบ

 เหมือนเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

 ก็ทรงเข้าฌาน ทำจิตใจให้สงบ ปล่อยวางร่างกาย

ให้เป็นไปตามเรื่องของเขา

เหมือนกับปล่อยเทียนที่จุดไว้ให้ไหม้ไปจนหมด

 เมื่อไม่มีเทียนเหลืออยู่แล้วไฟก็ดับไปเอง

ร่างกายก็หยุดการทำงานไปเมื่อไม่มีกำลังที่จะอยู่ต่อไป

 ก็ต้องแยกออกจากกันไป ไปกันคนละทิศคนละทาง

 เพราะร่างกายก็เป็นเพียงการรวมตัวของดิน น้ำ ลม ไฟ

 เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยที่จะดึงให้ดิน น้ำ ลม ไฟอยู่รวมกัน

 ก็แตกสามัคคีกัน ก็ต้องแยกออกจากกัน

เหมือนกับพวกเราตอนนี้ที่มารวมกันอยู่ที่ศาลานี้

เพราะมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้มารวมตัวกัน

พอเหตุปัจจัยที่ทำให้มารวมตัวกันหมดไป

ก็แยกกันกลับ แยกกันไปคนละทิศ

คนละทาง บ้านใครบ้านมัน

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

เวลารวมตัวกันก็มีเหตุปัจจัยทำให้รวมตัวกัน

พอเวลาจะแยกออกจากกัน

ก็มีเหตุปัจจัยทำให้แยกออกจากกัน

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า ธรรมทั้งหลาย

มีเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นมา

เมื่อเหตุปัจจัยหมดไปธรรมทั้งหลายก็ต้องหมดไป

นี่คือเรื่องของเหตุและผล

เรื่องของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

เรื่องของร่างกายที่เรียกว่ารูปขันธ์

ส่วนนามขันธ์เป็นอาการของจิต ออกมาจากจิต

 แต่ไม่ใช่ตัวจิตเป็นเหมือนกับเงาของจิต

 มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์

ไม่สุขไม่ทุกข์ ออกมาจากจิต

สัญญาความจำได้หมายรู้ก็ออกมาจากจิต

 สังขารความคิดปรุงก็ออกมาจากจิต

วิญญาณความรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ออกมาจากจิต

เช่นขณะนี้เสียงที่เราได้ยินมาสัมผัสกับหู

แล้วเข้าไปสู่ใจโดยมีวิญญาณเป็นผู้รับรู้

 และเกิดดับตามการเกิดดับของเสียง

 เมื่อมีเสียงใหม่มาสัมผัสกับหูอีก

วิญญาณก็จะปรากฏขึ้นมาอีก

วิญญาณก็จะเกิดดับๆอยู่อย่างนี้

วิญญาณในนามขันธ์นี้

ต่างกับวิญญาณที่ออกจากร่างเวลาที่เราตายไป

ที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ คือดวงจิตที่จะไปเกิดใหม่

วิญญาณในขันธ์ ๕ หรือในนามขันธ์เป็นวิญญาณที่รับรู้

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เมื่อตาสัมผัสกับรูป ก็จะปรากฏวิญญาณออกมารับรู้

ว่ามีรูปปรากฏขึ้นมา ถ้าหลังจากเห็นรูปแล้วหลับตา

รูปก็ยังอยู่ในใจ ก็เป็นผลของสัญญาที่จำได้

เวลาเห็นรูปแล้วหลับตา ถ้ายังอยู่ในใจ

ก็เป็นเรื่องของสัญญาความจำได้หมายรู้

หรือเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นรูปอะไร

เช่นเห็นหน้าคนนี้แล้วก็รู้ว่า

 อ๋อ คนนี้เป็นนาย ก. นาย ข. เพราะจำได้

เคยรู้จักกันมาก่อน พอเห็นรูปสัญญาก็จะทำหน้าที่

บอกว่ารูปนี้คือนาย ก. นาย ข.

แต่สัญญานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จำได้แล้วก็ผ่านไป

 สังขารความคิดปรุง คิดแล้วก็ดับไป

 คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วก็ผ่านไป

 เมื่อคิดแล้วก็ทำให้เกิดเวทนาต่างๆขึ้นมา

 มีความสุขเวลาคิดเรื่องที่ถูกอกถูกใจ

 พอคิดถึงเรื่องไม่ถูกอกถูกใจก็มีความทุกข์

ก็สลับกันไปแบบนี้ เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้เหมือนกัน

เป็นอนัตตาเหมือนกัน

เช่นเวลานั่งไปนานๆก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ขึ้นมา

 ตอนที่ยังไม่ได้นั่งก็ไม่มีความเจ็บอะไร

ก็เป็นเวทนาอีกแบบหนึ่งคือไม่สุขไม่ทุกข์

แต่พอนั่งไปนานๆเข้าก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

 วิธีที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์กับเวทนาได้

 คือต้องปล่อยวางเวทนา ต้องรู้ทันเวทนา

ว่ามีการเกิดดับเป็นธรรมดา ถึงแม้จะเจ็บขนาดไหน

 ถ้าไม่รังเกียจ ไม่คิดอยากจะหนี ก็จะไม่ทุกข์

 คือทุกข์ที่เกิดจากวิภวตัณหาจะไม่ปรากฏ

เวลาไปเจอสิ่งที่เราไม่ชอบ

 เช่นเวทนาความเจ็บปวดที่เราไม่ชอบ

เราอยากจะหนีจากทุกข์ไป

 ก็จะเกิดทุกข์อีกแบบหนึ่งขึ้นมา

คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย

 แต่ทุกข์ที่เกิดจากการนั่งนานๆ

แล้วร่างกายเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้

เป็นทุกข์ในขันธ์ เป็นธรรมดา เป็นสภาวธรรม

แต่ทุกข์ที่เกิดจากตัณหา ไม่ชอบไม่ต้องการทุกข์นี้

อยากจะให้ทุกข์นี้ดับไป เรียกว่าวิภวตัณหา

 เป็นทุกข์ที่รุนแรงกว่าทุกข์ที่เกิดจากการนั่งนานๆ

 จะทำให้จิตใจทุรนทุราย

ดิ้นรนกวัดแกว่ง จนทนนั่งอยู่ไม่ได้

สังเกตดูการนั่งนานๆนี้ บางครั้งเราก็นั่งได้

 บางครั้งเราก็นั่งไม่ได้

 เช่นนั่งทำงานที่เราชอบอกชอบใจ

 นั่งเล่นไพ่ นั่งดูหนังทั้งคืน เราก็นั่งได้ ไม่มีความทุกข์ใจ

แต่ถ้านั่งทำสมาธิสัก ๕ นาที ๑๐ นาที

 ก็เกิดความอึดอัดใจขึ้นมา นั่งไม่ได้แล้ว เพราะใจไม่นิ่ง

 ใจถูกอำนาจของกิเลสตัณหาบังคับให้อยากลุกหนีไป

นี่คือทุกข์ในอริยสัจ ถ้าไม่ต้องการให้ทุกข์ในอริยสัจเกิดขึ้น

 ก็ต้องยอมรับเวทนาตามความเป็นจริงของมัน

 เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นจากการนั่งนานๆ ก็ทำใจเฉยๆ

 อย่าไปคิดถึงมัน อย่าไปหนีมัน

ถ้ายังควบคุมให้ใจอยู่เฉยๆไม่ได้ ก็บริกรรมพุทโธๆๆไป

 โดยไม่คิดถึงทุกข์ที่เกิดจากการนั่ง

 เมื่อจิตไม่มีโอกาสที่จะคิดหนี เพราะอยู่กับพุทโธๆๆ

ความอยากจะหนีก็ไม่เกิดขึ้น

เมื่อไม่มีความคิดอยากจะหนี ความทุกข์ใจก็ไม่เกิดขึ้น

 ก็นั่งต่อไปได้ เพราะความทุกข์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ใจต่างหาก

 ที่อยากจะหนีจากความทุกข์ของกายไปนั่นเอง

ถ้าใช้ความกล้าหาญ คือไม่ไปกลัวมัน

ทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้

ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องดับไปเอง

ถ้าเราสามารถดับวิภวตัณหา คือความอยากจะหนี

จากความทุกข์กายนี้ไป

หรือความอยากให้ความทุกข์กายนี้ดับไปได้

 ใจก็จะเป็นอุเบกขา นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา

 ทุกข์ที่เกิดจากวิภวตัณหาก็จะดับไป

ถึงแม้จะเจ็บบ้างปวดบ้าง ก็ไม่เหลือทน พอทนได้

พออยู่กับมันได้ นี่คือวิธีแก้ความทุกข์ที่เกิดจากตัณหา

 คือต้องยอมรับว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เป็นสิ่งที่มาแล้วไป เกิดแล้วดับ เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน

เพียงแต่รู้ทันเท่านั้นเอง

 รู้ทันแล้วก็จะไม่สร้างปัญหาให้กับเรา

อย่าไปรังเกียจทุกขเวทนา อย่าไปยินดีกับสุขเวทนา

 ให้รู้ว่าสุขเวทนานี้ เดี๋ยวก็ต้องผ่านไปเหมือนกัน

 จากสุขก็กลายเป็นไม่สุขไม่ทุกข์

จากไม่สุขไม่ทุกข์ก็กลับมาสู่ทุกขเวทนาอีก

 เป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ที่แกว่งไปตามเรื่องของมัน

 แกว่งไปสุดด้านหนึ่งแล้ว ก็แกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง

 ถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน จิตใจก็จะไม่แกว่ง

ที่มันแกว่งก็เพราะไปยุ่งกับมัน ถ้าเฉยๆ ไม่ไปยุ่งกับมัน

 ต่อไปมันก็จะไม่มายุ่งกับเรา

เพราะว่าทุกข์ส่วนใหญ่ เกิดจากความอยาก

กับความไม่อยากนั้นเอง

 เวลาอยากแล้วสมใจอยาก ก็เกิดความสุขขึ้นมา

 แต่พอไม่สมใจอยาก ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน

 ใจก็จะอยู่สบาย อยู่เฉยๆ

 จะได้มาหรือเสียไป ก็จะรู้สึกเฉยๆ

 เพราะเวลาได้มา ก็ไม่ได้ไปดีอกดีใจ

ไม่ได้เกิดตัณหาอยากจะได้ พอเสียไป

 ก็ไม่ได้เกิดวิภวตัณหา เกิดความเสียอกเสียใจ

เพราะใจไม่ได้ไปยึดไปติดกับมันอีกต่อไป

 ใจอยู่กับปัญญา อยู่กับการปล่อยวาง

ถ้ามีการปล่อยวาง ก็จะมีความสงบ มีความนิ่ง

 มีความหลุดพ้นจากความทุกข์

 นี่ก็คือวิธีปฏิบัติต่อความทุกข์

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้

เริ่มตั้งแต่การทำบุญทำทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา

ในเบื้องต้นก็ให้ทำจิตใจให้สงบก่อน

 ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เราถนัด เช่นบริกรรมพุทโธๆๆ

 หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ในอิริยาบถทั้ง ๔

 ให้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา

 พยายามหาที่สงบสงัดวิเวก อยู่คนเดียว

ถ้าอยู่หลายๆคนแล้วก็อดที่จะคุยกันไม่ได้

 พอคุยกันแล้วก็จะเผลอ สติก็จะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

 จิตก็จะไปตามความคิดปรุง

 ยิ่งคิดมากเท่าไร ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากขึ้นเท่านั้น

ก็ทำให้การทำจิตใจให้สงบไม่สะดวก ไม่ง่าย

จึงควรอยู่คนเดียว มีสติคอยควบคุมจิตใจ

ให้อยู่กับกรรมฐานที่ใช้ผูกจิตใจไว้

ถ้าจะบริกรรมพุทโธๆๆ ก็ทำไป

หรือจะมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็รู้ไป

 เช่นเวลาเดินก็ให้รู้อยู่กับการเดิน

ก้าวเท้าซ้ายเท้าขวา ก็กำหนดลงที่เท้า

เดินจงกรมก็ดูที่เท้า เท้าซ้ายเดินไป เท้าขวาเดินไป

ก็ให้รู้อยู่กับการย่างก้าว แต่ไม่ให้ไปรู้กับเรื่องอื่นๆ

 ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านไปแล้วก็ดี

ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นก็ดี ยกเว้นถ้ามีความจำเป็นที่ต้องคิด

 ก็หยุดเดินก่อน หยุดการกระทำอย่างอื่นก่อน

 แล้วคิดด้วยสติ คิดให้พอ คิดว่าต้องทำอะไร ก็คิดไป

 เมื่อคิดเรียบร้อยแล้ว ก็หยุดคิด แล้วกลับมากำหนดต่อ

 ควบคุมไม่ให้ใจไปปรุงแต่ง ให้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ

ถ้าควบคุมได้แล้วต่อไปจิตก็จะรวมลงเป็นสมาธิ

 เมื่อรวมลงแล้วก็จะเห็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง

 เหมือนกับไม่มีอะไรอยู่ในโลกนี้เลย ร่างกายก็หายไป

ความเจ็บปวดของร่างกายก็หายไปหมด

ถ้าได้ขั้นนี้แล้ว ก็จะไม่สงสัยในเรื่องปฏิบัติธรรม

 ว่าปฏิบัติไปเพื่ออะไร เพราะรู้แล้วว่า

ปฏิบัติเพื่อความสงบของจิตนี่เอง

เพียงแต่ว่าความสงบนี้จะตั้งอยู่ได้ไม่นาน

สักระยะหนึ่งก็ต้องถอนออกมา แล้วก็จะเริ่มคิดปรุง

ก็จะมีกิเลสออกมา คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เกิดมีความดีใจ

 มีความเสียใจตามมา

 ก็อย่าปล่อยให้คิดอย่างนั้นอีกต่อไป

 ต้องคิดด้วยธรรมะ

 คิดอะไรก็ต้องมีอนิจจังเข้าไปสอดแทรก

 มีอนัตตาเข้าไปสอดแทรกเสมอ

คิดถึงใครก็ต้องคิดว่าต้องตายจากกันนะ

ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะได้ไม่กังวล

เมื่อไม่กังวลก็จะไม่มีความทุกข์ นี่คือปัญญา

ถ้าพิจารณาปัญญาไปสักระยะหนึ่งแล้ว

จิตจะรู้สึกเพลีย จะเมื่อยล้า อยากจะหยุดพิจารณา

 เพราะไม่เกิดปัญญา เริ่มจะฟุ้งซ่าน ก็หยุดคิด

 หันกลับมาทำสมาธิใหม่ พักจิต ทำจิตให้นิ่ง

ให้รวมลงจนกว่าจะถอนออกมา

 แล้วค่อยกลับไปพิจารณาใหม่

พิจารณาสภาวธรรมต่างๆ พิจารณาไตรลักษณ์ใหม่

ทำอย่างนี้สลับกันไป แล้วจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

 ปัญญาก็จะแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ จิตก็จะมีกำลังมากขึ้น

 ขณะที่พักอยู่ในสมาธิก็เท่ากับการให้พลังกับจิตใจ

 เหมือนกับการชาร์จแบตเตอรี่

ถ้าใช้แบตฯไปเรื่อยๆแล้ว เดี๋ยวไฟก็อ่อนหมดไป

ใช้งานต่อไปไม่ได้ ก็ต้องหยุด เอาไปชาร์จก่อน

 เช่นโทรศัพท์มือถือ เมื่อใช้ไปๆ

 เดี๋ยวไฟในแบตเตอรี่ก็หมด

 ก็จะโทรไปหาใครไม่ได้ จะรับสายก็รับไม่ได้

เพราะไม่มีพลังงาน ก็ต้องไปชาร์จแบตเตอรี่ก่อน

ขณะที่ชาร์จก็เอาไปใช้งานไม่ได้ ต้องชาร์จให้เต็มที่ก่อน

ในขณะที่อยู่ในสมาธิก็ไม่ต้องพิจารณาปัญญา

 ปล่อยให้จิตนิ่งตามความต้องการ

จนกว่าจะอิ่มเต็มที่แล้ว ก็จะถอนออกมา

 ก็จะเริ่มคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 ก็ต้องดึงมาคิดในเรื่องของไตรลักษณ์

พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณารูป

 เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ให้เห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจิตเห็นตามความจริง

 ก็จะปล่อยวางเอง ถ้าเห็นว่าเป็นความทุกข์ จิตก็จะปล่อย

 เหมือนกับไปจับงูพิษแต่คิดว่าเป็นปลาไหล

 พอมีคนบอกว่าไม่ใช่ปลาไหล เป็นงูพิษ ก็จะปล่อยทันที

 เพราะไม่ต้องการเอาพิษเอาภัยมาอยู่ใกล้ตัว ฉันใด

เราก็ไม่ต้องการความทุกข์

ถ้ารู้ว่ามีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ ก็ต้องปล่อยไปทันที

เหมือนกับระเบิดเวลา ถ้ารู้ว่าในกล่องนี้มีระเบิดซ่อนอยู่

 ก็จะวิ่งหนีกันไปหมด ไม่มีใครอยากจะอยู่ใกล้ ฉันใด

ถ้าเห็นว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

มีระเบิดเวลาซุกซ่อนอยู่ เราก็จะไม่ไปยึดไปติด

 ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่อยากจะรวย

 เพราะเวลาทุกข์มันทุกข์มาก

 ไม่อยากจะมีตำแหน่งสูงๆ พอมีตำแหน่งสูงๆแล้ว

 ก็จะมีเรื่องปวดหัวตามมา

 อย่างมีข่าวคราวว่าเป็นรัฐมนตรีได้ไม่กี่วันก็เจอปัญหา

 ถึงกับจะต้องลาออกไป นี่ก็เป็นความทุกข์

แต่อยากได้กันเหลือเกิน ไม่เคยคิดเลยว่า

จะมีความทุกข์ตามมา เพราะไม่มีปัญญานั่นเอง

ไม่ได้พิจารณาธรรม

 ถ้าพิจารณาแล้วจะไม่อยากได้อะไรเลย

อยู่เฉยๆดีกว่า อยู่คนเดียว ไม่มีใครรู้จักยิ่งดี ยิ่งสบาย

 มีแต่ความสงบ มีแต่ความสุขอยู่ในตัว

 พอแล้วจะเอาอะไรอีก ไม่มีอะไรในโลกนี้

จะมาเพิ่มความสุขที่มีอยู่ในตัวเรานี้ได้

 เหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้ว จะเทน้ำลงไปอีก

 ก็ไม่ทำให้น้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

นี่ก็เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญ

ทานศีลภาวนาอย่างต่อเนื่อง

 ขอให้ทำไปตราบใดที่ยังมีลมหายใจ

 มีเวลาว่างจากภารกิจการงานต่างๆ

ก็ให้ทุ่มเทกับงานอย่างนี้จะดีกว่า

 ดีกว่าไปแสวงหาอะไรต่างๆในโลกนี้

ซึ่งให้ความสุขความเพลิดเพลินชั่วขณะหนึ่ง

 แล้วก็ผ่านไปจางไป เหมือนกับหมอกควัน

แต่ความสุขที่ได้รับจากการบำเพ็ญทานศีลภาวนา

เป็นเหมือนน้ำซับน้ำซึม หล่อเลี้ยงใจอยู่ตลอดเวลา

ถึงแม้จะไม่ได้ทำบุญทุกวัน จะไม่ได้ปฏิบัติธรรมทุกวัน

 ก็ยังมีส่วนที่ได้ทำไว้แล้วมาหล่อเลี้ยงจิตใจ

ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข

 ถ้าทำมากๆก็จะมีมาหล่อเลี้ยงมากขึ้นๆ

จนกลายเป็นบ่อน้ำขึ้นมา

 ทำให้มีแต่ความอิ่มเอิบอยู่ตลอดเวลา

 ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรอีก

 เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่มีความทุกข์

คนที่เราไปหาความสุขด้วย

สิ่งต่างๆวัตถุต่างๆที่เราไปหาความสุขด้วย

 ล้วนมีความทุกข์ซ่อนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าพลัดพรากจากกัน หรือเปลี่ยนแปลงไป

ก็ทำให้เราเสียใจทุกข์ใจ

คนที่ได้ปฏิบัติธรรม จนได้เจอสิ่งที่ดีที่วิเศษในใจแล้ว

ก็จะไม่หลงกับสิ่งอื่นๆในโลกนี้อีกต่อไป

เมื่อไม่หลงแล้วก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วก็จบ

เป็นสิ่งที่ดีที่งามที่ศาสนาหยิบยื่นให้กับพวกเรา

ไม่มีใครในโลกนี้จะให้ได้

นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น

 จึงต้องถือว่าเป็นบุญวาสนาของพวกเรา

ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้มาเจอพระพุทธศาสนา

ที่ชี้ทางให้ไปพบกับขุมทรัพย์อันประเสริฐ

 ไม่มีขุมทรัพย์อันใดในโลกนี้

จะประเสริฐเท่ากับมรรคผลนิพพาน

ที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆสาวกทั้งหลาย

ได้ทรงบรรลุถึง แล้วนำเอามาฝากพวกเรา

 นำมาแจกพวกเรา ก็ขอให้น้อมรับด้วยศรัทธา

วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เรา

ได้สิ่งที่ท่านหยิบยื่นให้กับเรา

ท่านไม่สามารถทำมรรคผลนิพพาน

ให้เกิดขึ้นในใจเราได้ เราต้องเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นเอง

 เราจึงต้องขวนขวายกัน

 อย่างมาทำบุญกันอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

แต่อย่าทำบุญอย่างเดียว ต้องรักษาศีลด้วย

 รักษาได้มากน้อยเท่าไรก็รักษาไป

แล้วก็ต้องภาวนาด้วย ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ

 เจริญวิปัสสนา ก็ทำไปตามกำลังของเราเท่าที่จะทำได้

เพราะบุญวาสนาของแต่ละคนต่างกัน

 มีมากน้อยต่างกัน บางคนก็เข้าถึงขั้นวิปัสสนาได้เลย

ก็จะได้ปัญญา บางคนต้องสวดมนต์ไหว้พระก่อน

บางคนก็พุทโธๆๆไปก่อน ก็แล้วแต่จะถนัด

 ถ้าทำแล้วจิตใจเย็นสบาย ปล่อยวาง ก็ใช้ได้

ถือว่าเป็นจริตของเราก็แล้วกัน

นี่ก็คืองานที่เราจะต้องทำกันจนกว่าจะสำเร็จ

ทำไปเถิดแล้วจะง่ายขึ้นไปเอง

แล้วจะรู้สึกว่ามรรคผลนิพพานอยู่ไม่ห่างไกลเลย

 เวลาเกิดความท้อแท้ก็ให้นึกถึง

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นึกถึงพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย

 ที่เป็นคนธรรมดาเหมือนเรามาก่อน

 ท่านก็ตะเกียกตะกายไปตามกำลังแห่งศรัทธา

 เชื่อในเรื่องของความดีทั้งหลาย ว่าเป็นเหตุ

ที่จะพาให้ไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง

ก็จะหยุดความท้อได้ อย่าเลิกปฏิบัติ

 ถ้าวันนี้ไม่อยากนั่งก็หยุดพักสักวันสองวัน

 พอมีกำลังจิตกำลังใจ ก็กลับมาเริ่มใหม่

ผลัดกันรุกผลัดกันรับ บางทีกิเลสมาแรงเราก็รู้สึกท้อ

แต่พอกิเลสเบาลง เราก็เป็นฝ่ายรุกบ้าง สลับกันไป

 พยายามเข้าหาครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเห็นจริง

ฟังเทศน์ฟังธรรมของท่านอยู่เรื่อยๆ

ก็จะได้กำลังจิตกำลังใจ

 ถ้าได้สหธรรมิกที่ชอบปฏิบัติธรรม ก็จะช่วยดึงเราไป

 ยกเว้นเวลาที่อยู่ในขั้นที่จะต้องปฏิบัติตามลำพัง

 แต่ก็ยังอยู่ห่างจากหมู่คณะไม่ได้

ถึงเวลาก็ไปมาหาสู่กัน ไปสนทนาธรรมกัน

 ไปปรึกษาหารือกัน จนกว่างานจะสำเร็จลุล่วงไป

ถ้าเสร็จแล้วจะอยู่ที่ไหนกับใคร หรือไม่อยู่กับใคร

 ก็ไม่มีปัญหาอะไร.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๒๒๙ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

(จุลธรรมนำใจ ๒)

“ความผิดหวัง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 กรกฎาคม 2559
Last Update : 15 กรกฎาคม 2559 9:17:37 น.
Counter : 811 Pageviews.

0 comment
### โอกาสที่ดี ###










“โอกาสที่ดี”

ถาม : เคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดถึงว่า

จะได้ธรรมะจากหลวงตามาก หรือแก้ปัญหาธรรมนี่

 ส่วนใหญ่ในเวลาที่ได้โอกาสไปนวดท่าน

พระอาจารย์ : ถ้าได้ปฏิบัติท่าน เช่นพระอุปัฏฐาก

 ก็จะมีโอกาสเยอะ เพราะเวลาอยู่ใกล้ตัวท่าน

ก็เหมือนกับขึ้นเวทีต่อยมวย

คู่ต่อสู้ก็จะคอยต่อยเราอยู่เสมอ ใช่ไหม

เราก็ต้องคอยตั้งรับอยู่เสมอ

 ก็ทำให้เรามีสติสตังมีปัญญาไว้คอยรับ

แต่ถ้าไม่ได้เข้าไปปฏิบัติใกล้ชิดกับท่าน

ก็เป็นเหมือนคนดู นั่งดูเฉยๆเท่านั้นเอง

 ก็จะไม่ได้ท่านคอยช่วยกระตุ้นธรรมะให้กับเรา

ยกเว้นถ้าเราเป็นคนที่สามารถปฏิบัติของเราเองได้

 ก็ไม่ต้องอาศัยท่านให้คอยกระตุ้น

แต่ถ้าได้ไปรับใช้ใกล้ชิดก็เป็นโอกาสที่ดี

เหมือนกับพระอานนท์ที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด

ก็จะได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ

แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยกันทุกคน

 เพราะท่านก็องค์เดียว แล้วท่านก็มีลูกศิษย์ตั้งเยอะแยะ

 ก็แล้วแต่ว่าท่านจะพิจารณาใคร

แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดอย่างนั้น

คนอื่นที่ไม่ได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า

 หรือกับครูบาอาจารย์ เขาก็บรรลุธรรมได้

บางคนที่มีปัญญา มีบารมีพอ

 เพียงแต่ฟังธรรมะเพียงคำสองคำ ก็บรรลุได้

ช่นคนที่ไปขอฟังเทศน์

ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงบิณฑบาตอยู่

พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาสอนธรรมะ

 แต่เขาก็ขอให้ทรงแสดงธรรมะโปรดเขาด้วยเถิด

 พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสั้นๆว่า

จงพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างว่าว่างเปล่า

 ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ไม่มีอะไรเป็นสาระ

เขาก็รับคำสอนนั้นไปพิจารณา

 รู้สึกว่าเขาอยากจะบวชเลย

 จึงไปเตรียมเครื่องบริขาร ในระหว่างที่เดินไปนั้น

ก็ถูกวัวกระทิงขวิดตาย

พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งว่า

 หลังจากฌาปนกิจแล้วให้สร้างเจดีย์

 สร้างสถูปไว้บรรจุอัฐิของเขาต่อไป

ก็แสดงว่าเขาได้บรรลุธรรมแล้ว

เพราะเหตุปัจจัย คือบุญบารมีของแต่ละคน

ที่ได้บำเพ็ญมา ไม่เท่ากัน

บางคนอยู่กับพระพุทธเจ้ามาตลอด แต่ไม่ได้บรรลุธรรม

 กลายเป็นกบฏไปก็มี เช่นพระเทวทัตเป็นต้น

พระเทวทัตนี่หลงตัวเอง พอได้สมาธิ ได้อิทธิฤทธิ์แล้ว

ก็ไม่เจริญทางวิปัสสนาต่อไป

ปล่อยให้กิเลสเอาอิทธิฤทธิ์มาใช้เป็นเครื่องมือ

ทำให้เกิดความหลงว่าตนเองวิเศษ ตนเองเก่ง

 อยากจะทำหน้าที่ศาสดาแทนพระพุทธเจ้าต่อไป

 เมื่อได้รับการปฏิเสธก็เกิดความเสียใจ

เกิดความโกรธขึ้นมา ก็เลยไปทำกรรมที่ไม่ดี

 คือพยายามฆ่าพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้งด้วยกัน

 แต่ก็ไม่สำเร็จ จนในที่สุดก็ถูกธรณีสูบ

 แต่เนื่องจากว่าได้สะสมบุญบารมีมามากอยู่

 พระพุทธเจ้าก็ทรงทำนายว่า

หลังจากที่ได้ไปใช้กรรมในนรกแล้ว

 เมื่อพ้นมาแล้วก็จะได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไป

ถึงแม้บุญที่ได้ทำไว้ยังไม่มีโอกาสปรากฏผลขึ้นมาในชาตินี้

 ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน

การที่ได้บวชกับพระพุทธเจ้า ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรม

 ก็เป็นผลของบุญบารมี เพียงแต่ถูกกรรมมาบังไว้

จึงต้องใช้กรรมให้หมดไปเสียก่อน

เมื่อหมดแล้วบุญก็จะส่งผลให้ไปสู่ที่ชอบต่อไป

บุญกรรมจึงมีจริง เพียงแต่ว่า

อะไรจะมาก่อนมาหลังเท่านั้นเอง จึงอย่าท้อแท้

อย่าคิดว่าทำบุญแทบเป็นแทบตาย กลับไม่ได้อะไรเลย

 เพราะบุญที่ทำยังน้อยไปหรือยังไม่มากพอ

ยังไม่ถึงเวลาที่จะส่งผลออกมา

พอดีเป็นจังหวะของกรรมเก่าที่ได้ทำไว้

ได้แสดงผลออกมา จึงเหมือนกับว่า

ทำบุญแต่กลับมีแต่เคราะห์กรรมอยู่เรื่อยๆ

ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลของกรรมเก่าที่ได้ทำไว้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๒๒๙ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ความผิดหวัง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 กรกฎาคม 2559
Last Update : 14 กรกฎาคม 2559 9:04:54 น.
Counter : 551 Pageviews.

0 comment
### ภูมิต้านทานความผิดหวัง ###









“ภูมิต้านทานความผิดหวัง”

เวลารู้ว่าใครจะมาหา ก็จะเป็นภาระขึ้นมาในใจ

เพราะต้องมีความรับผิดชอบ จะไปไหนมาไหน ก็ไปไม่ได้

ไปแล้วก็จะรู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจ

 ถ้าไม่รู้เรื่องเลย ก็ไม่ต้องกังวล

 แต่ปกติก็ไม่ได้ไปไหนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ

 หรือกะทันหัน ก็จะไม่ได้ไปไหน

 แต่ก็ไม่เป็นไร ก็มาตามบุญตามกรรมก็แล้วกัน

 ถ้าเจอก็เจอ ถ้าไม่เจอก็ไม่เจอ

คราวนี้มากันมากขึ้น ก็ได้ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง

ถ้ามาแล้วเจอก็ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม

ได้ทำบุญตามที่อยากจะทำ แต่ถ้ามาแล้วไม่เจอ

ก็จะได้พบกับความผิดหวัง ได้พบกับอริยสัจ คือความทุกข์

 พอผิดหวังก็จะรู้สึกเสียใจ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

ถ้านำไปพิจารณา ใช้ความทุกข์ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา

 พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า

โลกนี้เป็นโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ถ้าเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ก็จะไม่เสียใจ

 เกิดปัญญาขึ้นมา เป็นเครื่องมือที่จะใช้เผชิญ

กับความทุกข์อื่นๆที่เหมือนๆกัน ที่เกิดจากความไม่แน่นอน

ความจริงถ้าได้เจออะไรที่สมหวัง กลับไม่ดี

 เพราะไม่ทำให้เกิดปัญญา แต่ทำให้เกิดความหลงมากขึ้น

 เพราะอยากจะได้อะไร ก็ได้ตามความอยาก

 เลยไม่เห็นโทษของความอยาก

เพราะความอยากนี่แล เป็นต้นเหตุของความทุกข์

เวลาอยากอะไรขึ้นมา ก็อยู่เฉยๆไม่ได้แล้ว

แต่เราไม่รู้กัน เพราะไม่ชอบอยู่เฉยๆอยู่แล้ว

 เราชอบไปไหนมาไหนกัน

 เวลามีความอยากจะทำบุญ เราก็ไปกัน

 เป็นความอยากที่ดี อยากไปสร้างบุญสร้างกุศล

ความอยากนี้มีทั้งดีและไม่ดี

ในเบื้องต้นเราอาจจะยังไม่เข้าใจ

เวลาไปเจอความผิดหวัง ถ้าเอามาพิจารณาดูว่า

เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็จะเห็นว่าเกิดจากความอยากของเรา

ถ้าไม่ได้อยากให้พบกันในวันนี้ ก็จะไม่ผิดหวัง

ถ้าไม่ได้พบกัน ต่อไปเวลามีความอยาก

ก็จะไม่ยึดติดกับความอยากนั้น

ต้องเผื่อไว้ว่าอาจจะไม่ได้ดังใจก็ได้

อย่างนี้ก็จะเกิดความฉลาดขึ้นมา

 ไม่ได้ไปหวังว่า เวลาอยากจะได้อะไรแล้ว

 จะต้องได้เสมอไป ถ้าไม่ได้แล้วจะเป็นจะตาย

 แต่กลับคิดว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ก็ไม่ตาย

 เพราะตอนที่ไม่มีความอยากนี้ เราก็อยู่ได้

เมื่อมีความอยากนี้แล้ว ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็ยังอยู่ต่อไปได้

ถ้าเป็นความอยากในทางที่ดี

เช่นอยากจะไปปฏิบัติธรรม อยากจะไปแสวงหาความรู้

 แล้วไม่ได้ดั่งใจหวัง ก็จะทำให้มีความมุมานะมากขึ้น

 ถ้าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเราจริงๆ ก็ต้องไม่ท้อแท้

 อย่างเวลาไปกราบครูบาอาจารย์

อยากจะอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน

 บางทีท่านยังไม่รับเราครั้งแรกที่ไปขอท่าน

 ท่านจะบอกไม่ว่าง หรืออยู่ไม่ได้ เราก็ต้องทำใจ

ถ้ายังมุ่งมั่นเชื่อมั่นว่า

ท่านสามารถให้สิ่งที่ดีที่งามแก่เราได้

วัดของท่านเป็นสถานที่ ที่เราสามารถสร้างความดีงาม

ให้เกิดขึ้นได้ ก็ต้องกลับไปอีก กลับไปเรื่อยๆ

 จนกว่าท่านจะอนุญาตให้เราอยู่

 เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นการทดสอบจิตใจของเรา

 ทดสอบความตั้งใจ ว่ามีความตั้งใจจริงหรือไม่

เพราะวัดใดหรือองค์กรใด ถ้ามีคนที่ไม่มีความตั้งใจ

เข้าไปร่วมสังฆกรรมด้วยแล้ว ก็จะไม่ค่อยดี จะมีความวุ่นวาย

ถ้าเป็นคนที่มีความตั้งใจ ก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 ทุกอย่างก็ง่ายสะดวกไปหมด

 หนักนิดเบาหน่อย ก็ไม่ถือสากัน

ถ้าเป็นคนที่ไม่ตั้งใจไปอยู่ ถูกบังคับให้ไป

ก็จะเป็นคนสร้างปัญหาขึ้นมา อะไรนิด อะไรหน่อย ก็จะบ่น

 จะไม่พอใจไปหมด เพราะไม่มีความตั้งใจที่อยากจะอยู่จริงๆ

 เวลาไปขอครูบาอาจารย์ อยู่ศึกษาเล่าเรียนกับท่าน

 โดยเฉพาะพระเณร จิตใจต้องมีความหนักแน่น

 ต้องกล้าเผชิญกับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น

 ถ้าท่านไม่ให้อยู่ วันหลังก็กลับไปใหม่

ถ้าอยู่แล้วถูกท่านขับไล่ไสส่ง ถ้าใจเด็ดก็อยู่ไปเรื่อยๆ

 ทำเป็นหูทวนลม ดูซิว่าท่านจะว่าอย่างไร

ถ้าพิจารณาดูแล้วว่า การอยู่ของเรา

ไม่ได้ไปสร้างความเสียหายให้กับใคร

ยังประพฤติดี มุ่งมั่นในการรับฟังโอวาทของท่าน

 อาจจะพลั้งเผลอทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง

ก็สำนึกผิดแล้ว พยายามไม่ทำผิดซ้ำอีก

ก็ลองอยู่ต่อไปจนกว่าจะถูกลากออกไปจากวัด

ถ้าท่านพูดเฉยๆ ยังไม่ลากเราออกไปจากวัด ก็อยู่ต่อไป

เพราะเท่าที่เคยได้ยินมานั้น รู้สึกจะอยู่ในพระไตรปิฎก

ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

ถ้าเราไปแสวงหาครูบาอาจารย์

หรือพบครูบาอาจารย์ที่เรา มีความเคารพ

มีความเชื่อในตัวท่าน และอยากอยู่กับท่าน

ถึงแม้ท่านจะไล่เรายังไง ก็ไม่ต้องไปสนใจ

ให้อยู่กับท่านต่อไป เพราะบางทีการไล่ของท่าน

ก็เป็นอุบายอย่างหนึ่ง ทดสอบดูจิตใจของเรา

ว่ามีความหนักแน่นหรือไม่

 เพราะการสอนให้เราต่อสู้กับกิเลสนั้น

บางครั้งบางคราวต้องใช้วิธีที่หนักกับเราพอสมควร

ถ้าไม่มีความหนักแน่น ก็จะไม่ได้รับประโยชน์

 พอโดนลูกระเบิดสักลูกก็เผ่นกันหมด

 เวลาท่านแสดงกิริยาอาการขึงขังตึงตัง

 เป็นการทดสอบจิตใจ เป็นการช่วยขุดคุ้ยกิเลส

ที่ยังมีอยู่ในจิตใจ ที่ยังไม่ได้โผล่ออกมา

หากไม่มีเหตุการณ์ที่มากระทบอย่างรุนแรง

ลองสังเกตดูเวลาเหตุการณ์เป็นปกติ

 มีความสุขความสบายกัน กิเลสจะไม่ออกมาเพ่นพ่าน

 แต่ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ที่วิกฤติคับขัน

 กิเลสจึงจะออกมาแผลงฤทธิ์

จะเห็นธาตุแท้ในยามที่ตกทุกข์ได้ยาก

 เวลามีความสุขจะไม่ค่อยเห็นธาตุแท้กัน

 เพราะเวลามีความสุข กิเลสก็สุขไปด้วย พอใจไปด้วย

 แต่เวลาลำบากยากเข็ญ

 ต่างคนต่างจะเอาตัวรอดกัน ตัวใครตัวมัน

นี่พูดถึงเรื่องที่เราไม่ค่อยชอบกันแต่ต้องเจอ

 ที่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าได้แต่ส่วนที่ดีไป

 ก็จะหลงติดอยู่ จะไม่เห็นส่วนที่ไม่ดีที่ซ่อนเร้นอยู่

ถ้าเกิดขึ้นมาก็อาจจะรับไม่ได้

 คนเราเวลาได้อะไรมา ส่วนใหญ่จะชอบจะดีใจกันทุกคน

 แต่พอต้องเสียไป ทำใจไม่ได้ ก็เลยลำบาก

บางคนถึงกับต้องทำร้ายชีวิตตนเอง

หรือทำร้ายชีวิตของผู้อื่นด้วย เวลาที่สูญเสียอะไรไป

 สิ่งที่ไม่เคยคิดเผื่อไว้ก่อน เช่นคนรักไม่รักเรา

 ไปมีอะไรกับคนอื่น ก็จะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ

กับเหตุการณ์อย่างนี้ จะถูกอำนาจของกิเลสครอบงำ

ทำให้ลุแก่โทสะ แล้วก็ไปทำปาณาติบาต

หรือทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรม

เพราะไม่เคยประสบกับความผิดหวัง

 ประสบกับความทุกข์มาก่อนนั่นเอง

 แต่ถ้าเคยได้เจอความทุกข์มาอยู่เรื่อยๆ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก

 เจอแต่ความทุกข์ เจอแต่ความผิดหวังอยู่เรื่อยๆ

ก็จะไม่ค่อยหวังกับอะไรเท่าไหร่ จะยินดีตามมีตามเกิด

 แต่ถ้าอยู่กับพ่อแม่ที่รักเรา เอาอกเอาใจเรา

ต้องการอะไร ก็รีบประเคนให้เลย หามาให้เลย

ก็จะติดเป็นนิสัยไป เวลาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

 เกิดต้องการอะไร แล้วไม่ได้ดังใจ

 หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเสียใจ

เกิดความผิดหวังขึ้นมา ก็จะทำใจไม่ได้

ไม่รู้วิธีทำใจว่าทำอย่างไร

เพราะคิดว่าโลกนี้มีแต่ความสมหวัง

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวังไว้

เป็นไปตามที่วางแผนไว้

 แต่ความจริงแล้วมันไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้

ดังนั้นการประสบกับความผิดหวัง

ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นการทดสอบจิตใจ

 เป็นการเสริมสร้างปัญญา ทำให้มีภูมิต้านทานความผิดหวัง

เช่นตอนนี้กำลังห่วงใยเรื่องโรคไข้หวัดนก

 ถ้าระบาดเข้าสู่คน ก็จะแพร่ไปอย่างรวดเร็ว

 ก็พยายามคิดหาวัคซีนไว้ป้องกัน

 เพราะถ้ามีวัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกาย

 ก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา

เวลาเกิดโรคระบาด ร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกัน

แต่เวลาฉีดวัคซีนร่างกายจะมีไข้อยู่วัน สองวัน

เพราะมีเชื้อโรคเข้าไปอยู่ในร่างกาย

เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

 การเจอความผิดหวังบ้างในชีวิต

ก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนให้กับใจ

ทำให้รู้ว่าจะไม่เป็นไปตามความหวังเสมอไป

 คราวต่อไปก็จะไม่หวัง

ถ้าหวังก็ไม่ยึดติดกับความหวังนั้น

 เพราะคนเรายังต้องตั้งเป้าวางแผนไว้

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จะไปไหนมาไหน

ก็ต้องติดต่อกันไว้ล่วงหน้าก่อน

 แต่เมื่อถึงวันนั้น เหตุการณ์อาจจะไม่เอื้อ

ให้เป็นไปตามที่ต้องการ

อย่างช่วงนี้มีพายุดีเปรสชั่นเข้ามา ทำให้ถนนขาด

 ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ที่ต้องการไป

 ก็ต้องยกเลิกเป้าหมายที่ได้วางไว้ไป

นี่คือสิ่งที่ควรมีไว้ในจิตใจ คืออนิจจสัญญา

 ความรู้เกี่ยวกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งต่างๆในโลกนี้

พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู ผู้รู้โลก

ทรงรู้ถึงสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้

ต้องสัมผัส ต้องเจอกัน

 และทรงรู้จักวิธีปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้

ที่เรียกว่าโลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ซึ่งมีทั้งเจริญและเสื่อมควบคู่กันไป เป็น ๔ คู่ด้วยกัน

 ได้แก่การเจริญลาภ เจริญยศ สรรเสริญ สุข

 เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นของคู่กัน

โลกธรรม ๘ นี้มีทั้งได้มีทั้งเสีย

 บางทีก็ได้เงินได้ทองมา บางทีก็ต้องเสียเงินเสียทองไป

บางทีก็ได้รับเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง

บางทีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

บางทีก็ได้รับการชมเชย บางทีก็ได้รับการตำหนิติเตียน

บางทีก็มีความสุข บางทีก็มีความทุกข์

นี่คือส่วนประกอบของชีวิตของพวกเรา

 ถ้ารู้ทัน รู้ว่ามีได้ก็ต้องมีเสีย มีเกิดก็ต้องมีดับ

 ก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้

เวลาที่ได้อะไรมาก็จะได้ไม่หลงระเริงกับสิ่งที่ได้มา

ต้องทำความเข้าใจเสมอว่า

 ถึงแม้จะไม่มีสิ่งที่ได้มาในวันนี้ ก็ยังอยู่ได้

 มีความสุขได้ ถ้าไม่ไปหลงยึดติดกับสิ่งที่ได้มา

แต่ถ้าไม่ได้คิดไว้ก่อน เวลาได้อะไรมาก็ดีอกดีใจ

 มีความสุขกับสิ่งที่ได้มาจนติดนิสัยไป

 เหมือนกับติดยาเสพติดหรือติดสิ่งอื่นๆ

 เช่นบุหรี่สุรายาเมา เราก็ไม่ได้เกิดมากับสิ่งเหล่านี้

 เมื่อก่อนไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่เคยกินเหล้า ก็อยู่ได้

แต่พอเริ่มสูบบุหรี่แล้ว เริ่มเสพสุราแล้ว ก็ติดเป็นนิสัย

พอวันใดไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ได้เสพสุรา ก็จะไม่สบายใจ

 เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าจะสูบบุหรี่ เสพสุรา

ต้องมีความแน่ใจว่า วันไหนไม่มี

ก็ต้องอยู่ได้ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น

ถ้าอยากจะเสพโดยไม่เกิดความทุกข์

 ก็ต้องฝึกด้วยการเสพบ้าง ไม่เสพบ้าง

 สูบบุหรี่สัก ๓ วันแล้วก็หยุดไป ๓ วัน

แล้วค่อยกลับมาสูบใหม่ ฝึกทั้ง ๒ ด้าน

ฝึกกับการมีและฝึกกับการไม่มี

เพื่อจิตใจจะได้รู้จักวิธีปรับตัว

ให้รับกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

 นี่คือการปฏิบัติธรรม

 ให้รู้ทันกับสิ่งเหล่านี้ แล้วสามารถปล่อยวางได้

 เพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราจำเป็นต้องมี เช่นเงินทอง

 ทุกคนต้องมีไว้ใช้ เพียงแต่ต้องระมัดระวัง

 ไม่ให้ติดจนเดือดร้อน เวลาไม่มีเงินไม่มีทอง

 จริงอยู่ที่ต้องมีเงินทองไว้สำหรับซื้ออาหาร และปัจจัย ๔

แต่ก็อย่าไปซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น เงินทองจะได้ไม่ขาดมือ

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาโลกธรรม ๘

เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเผชิญ ต้องสัมผัสกัน

 ถ้ามีปัญญารู้เท่าทันว่า มันไม่แน่นอนนะ

 สิ่งต่างๆที่เราสัมผัสวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะไม่ได้สัมผัสก็ได้

 วันนี้มีความสุข พรุ่งนี้ก็มีความทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้

 คือให้หาสิ่งที่ดีกว่านี้ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเราแล้ว

คือความสุขภายในที่เกิดจากการทำบุญทำทาน

 รักษาศีล และภาวนา

 เพราะเมื่อได้ทำแล้ว จะทำให้จิตใจสงบตัวลง

 เพราะได้รับการชำระ กิเลสตัณหาต่างๆจะถูกกำจัด

ไปทีละเล็ก ทีละน้อย

ทุกวันนี้ที่เราต้องออกไปเกี่ยวข้องกับโลกธรรม ๘

 ก็เพราะอำนาจของกิเลสตัณหานี้เอง

 เมื่อกิเลสตัณหาสร้างความหิว

 สร้างความต้องการขึ้นมา

 ก็ต้องออกไปหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

แต่ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาผลักดันให้ออกไป

ก็ไม่ต้องไปไหน

อยู่เฉยๆ อยู่ในความสงบก็มีความสุขแล้ว

 เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 เป็นความสุขที่ชนะความสุขอื่นๆทั้งหมด

รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ก็อยู่ที่รสแห่งความสงบนี้เอง

 ถ้าทำจิตใจให้สงบได้แล้ว

ต่อไปก็จะไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

เป็นเครื่องอยู่อีกต่อไป

ดังครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่พวกเรากราบไหว้กัน

ท่านไม่ได้มีความจำเป็นกับลาภยศสรรเสริญสุขเลย

ได้ลาภมามากน้อยก็เอาไปทำประโยชน์

ให้กับโลกอีกต่อหนึ่ง

 เพราะท่านพร้อมที่จะให้อยู่เสมอ

จิตใจของท่านไม่ได้ยึดติดกับอะไร

เรื่องปัจจัย ๔ ก็ได้รับการดูแลอย่างดี

จากศรัทธาญาติโยมอยู่แล้ว

บิณฑบาตก็มีอาหารรับประทานทุกวัน

 จีวรก็มีคนถวายอยู่ประจำ กุฏิศาลาที่พักก็มีอยู่พร้อม

 ท่านมีครบทั้ง ๒ ส่วน คือ มีสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

ได้แก่ปัจจัย ๔ แล้วก็มีความสุขความอิ่มใจ

ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

จากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

 ที่จะพาไปสู่ความสุขที่แท้จริง

 ให้สามารถอยู่เหนือโลกธรรมทั้ง ๘ ได้

 ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำอะไรกับจิตใจได้

 ใครจะถวายเงินเป็นล้านเป็นแสน ก็จะไม่รู้สึกดีอกดีใจ

ใครจะแต่งตั้งให้เป็นอะไร ก็เฉยๆ

เพราะจิตไม่หิวกับเรื่องเหล่านี้แล้ว

เหมือนกับเวลารับประทานอาหาร อิ่มเต็มที่แล้ว

 ใครจะเอาอาหารวิเศษขนาดไหนมาให้กินอีก ก็กินไม่ลง

ถ้าจิตใจได้รับการขัดเกลา ได้รับการชำระ

ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาอย่างต่อเนื่องแล้ว

 จิตใจจะมีความสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา

 ไม่เพียงแต่เวลานั่งทำสมาธิเท่านั้น

ถ้าได้ทำวิปัสสนาจนสามารถ

ชำระความโลภ โกรธหลงให้ออกจิตจากใจได้แล้ว

แม้ในขณะที่เดินเหิน ขณะที่คุย ขณะที่ทำอะไรต่างๆ

จิตก็ยังสงบอยู่ จิตไม่ได้มีอารมณ์กับอะไร

ซึ่งต่างกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ

ความสงบของจิตจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ถ้าได้เข้าถึงขั้นปัญญา

ถ้าอยู่ในขั้นสมาธิ ก็จะสงบเฉพาะในขณะที่นั่งสมาธิ

 นั่งหลับตาแล้วบริกรรมพุทโธๆๆทำจิตให้รวมลง

เมื่อรวมลงแล้ว จิตก็สงบ

 แต่พอถอนออกมาจากสมาธิแล้ว

กิเลสก็จะออกมากับสมาธิ

ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่

แต่ถ้าได้เจริญวิปัสสนา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

เช่นโลกธรรมทั้ง ๘ ให้เห็นว่า

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 จิตก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด

อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะดับก็ดับ

 เมื่อเป็นอนิจจัง ก็ต้องเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปหวัง

 คนเราเวลาผิดหวัง มีความเสียใจ ก็เป็นความทุกข์

อนัตตาก็หมายถึง

ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรานั่นเอง

ไม่สามารถบังคับให้อยู่กับเราไปตลอด

 เช่นสามีของเราจะต้องอยู่กับเราไปตลอด

 สมบัติของเราจะต้องอยู่กับเราไปตลอด

เรื่องเหล่านี้เราบังคับไม่ได้ วันดีคืนดี ก็จากไปได้

จึงเรียกว่าอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา

จึงควรใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

ว่าเป็นอนัตตาอยู่เสมอ

ตั้งแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ที่เราเห็น ที่เราได้ยิน ที่เราได้เสพสัมผัสว่า มาแล้วก็ไป

 เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 เวลาเห็นภาพก็มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ

 จะไปบังคับก็ไม่ได้

จะให้เห็นแต่ภาพที่ชอบอย่างเดียวก็ไม่ได้

 เพราะในโลกนี้มีภาพอยู่หลายชนิดด้วยกัน

มีคนหลากหลายชนิดด้วยกัน

เวลาเห็นคนหนึ่งก็ดีใจ พอเห็นอีกคนหนึ่งก็เสียใจ

 ไม่ชอบอกชอบใจ ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้

 ใจก็จะแกว่งไปแกว่งมา ถ้ามีปัญญาก็ย่อมรู้ว่า

เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ จะห้ามไม่ให้เห็นคนนี้ก็ไม่ได้

 อยากจะให้เห็นคนนั้นอย่างเดียวก็ไม่ได้

 ก็ต้องเห็นไปตามเหตุตามปัจจัย

 เมื่อเข้ามาในรัศมีของสายตา ก็ต้องเห็น

ถ้าไม่อยากเห็นก็ต้องหลับตา

 แต่หลับตาแล้วก็ยังอยู่ในใจ เพราะไปยึดไปติด

จึงต้องตัดความยึดติดให้หมด

ด้วยการยอมรับความจริง

ถึงแม้จะไม่ชอบด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

 เมื่อต้องเจอก็ต้องทำใจให้เป็นปกติ

ไม่รังเกียจ ไม่ยินดี

 ถ้าไปรังเกียจ หรือไปยินดี

ก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

 ยินดีก็อยู่เฉยๆไม่ได้

เพราะอยากจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่ชอบ

 ถ้ารังเกียจก็อยากจะวิ่งหนี

ถ้าทำเป็นเฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

 ก็อยู่เฉยๆได้ เป็นอุเบกขา

 นี่ก็คือการพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ปล่อยวาง

 ให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา

ฝนจะตกหรือไม่ตกก็ไม่เป็นไร

เรานั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวเกิดฝนตกลงมา ก็ปล่อยให้ตกไป

เรามีกิจกรรมอะไรก็ทำของเราไป

เมื่อยังออกจากศาลานี้ไม่ได้ ก็ต้องรอให้ฝนหยุดก่อน

เมื่อหยุดแล้วค่อยไป เท่านี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

 จึงต้องเข้าใจว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้

ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็จะไม่ทุกข์

ถ้าไปยึดไปติด อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 แล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะมีความทุกข์ใจ

นี่คือการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

 ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................................

กัณฑ์ที่ ๒๒๙ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ความผิดหวัง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 กรกฎาคม 2559
Last Update : 14 กรกฎาคม 2559 8:44:04 น.
Counter : 811 Pageviews.

1 comment
### คิดแบบสร้างสรรค์ คิดด้วยปัญญาเพื่อดับความฟุ้งซ่าน ###








“คิดแบบสร้างสรรค์ คิดด้วยปัญญา

เพื่อดับความฟุ้งซ่าน”

ถาม : เรื่องนิวรณ์ ๕ ถึงตอนที่ง่วงเหงาหาวนอน

แล้วมีข้ออื่นอีกไหมคะ

พระอาจาร์ : อีก ๒ ข้อใช่ไหม

ข้อหนึ่งก็คือความฟุ้งซ่าน

อย่างเวลาเราไปทำงาน แล้วมีเรื่องราวต่างๆ

เข้ามากระทบจิตใจ เวลานั่งมันก็จะไม่สงบ

บางทีก็ต้องแก้ด้วยปัญญา

 ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆเอามันไม่อยู่

ก็ต้องพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่คั่งค้างอยู่ในใจ

ด้วยหลักธรรมะ เช่นพิจารณาว่า

 เรื่องราวต่างๆจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม

เดี๋ยวก็ผ่านไป

ชีวิตเราก็ผ่านเรื่องราวต่างๆมามากมายแล้ว

 ตอนนี้มันหายไปไหนหมด

พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง เดี๋ยวก็ผ่านไป

ไม่ต้องไปกังวล อะไรจะเกิดเราก็ห้ามไม่ได้

 เช่นเราจะต้องถูกไล่ออกจากงาน ก็ให้ออกไป

 ดีเสียอีกอาจจะได้งานใหม่ที่ดีกว่านี้ก็ได้

 มองไปในทางบวกสิ ให้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

 นี่คือการคิดแบบสร้างสรรค์ คิดด้วยปัญญา

 คิดอย่างนี้จิตก็จะสงบ หายฟุ้งซ่าน

 หรือบางทีเราไปยึดไปติด

กับสิ่งนั้นบุคคลนั้นมากเกินไป

 กลัวจะสูญเสียสิ่งนั้นบุคคลนั้นไป

ก็เลยทำให้ฟุ้งซ่านไปใหญ่เลย

นั่งสมาธิก็นั่งไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่า

ถึงเวลาที่เขาจะไป ก็ให้เขาไป

 คนเราต้องจากกันอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่ง

 จริงไหมเมื่อถึงเวลา

 ส่วนไหนที่เป็นของเรา ก็ต้องอยู่กับเรา

ส่วนไหนไม่ใช่ของเรา ก็ต้องจากไป

คิดอย่างนี้ใจก็จะสงบลง

 ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นี่เป็นอุบายแก้ความฟุ้งซ่านของจิต

 ความจริงเขาอาจจะอยู่กับเราไปตลอดก็ได้

หรือเราอาจจะตายไปก่อนเขาก็ได้

 ไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้

ความรักความอยากของเราทำให้จิตเราฟุ้งซ่าน

ถ้าสามารถทำใจให้รับกับสภาพต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

 ก็จะไม่ฟุ้งซ่าน

 เหมือนกับการอยู่ในโลกนี้

จะห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้หรอก

ฝนจะตกก็ต้องตก เมื่อยังไม่ตกก็ไม่ต้องกังวล

 เวลาจะตกก็ตกไป เราก็รับได้ แล้วก็ผ่านไป

 ไม่มีอะไรที่เรารับไม่ได้หรอก

ถ้าทำจิตให้นิ่งเป็นอุเบกขาได้

จะได้จะเสียอะไร ก็จะต้องผ่านไปทั้งนั้นแหละ

 มาแล้วก็ผ่านไป คิดอย่างนี้ก็จะทำให้หายฟุ้งซ่าน

 ท่านสอนให้ใช้ปัญญา พิจารณาจุดที่เป็นปัญหา

 ที่ทำให้จิตไม่สงบ

 เป็นการใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปในตัว

ใช้ปัญญาระงับความฟุ้งซ่าน เพื่อให้จิตสงบลง

ความโกรธก็เป็นนิวรณ์อีกชนิดหนึ่ง

 เวลานั่งภาวนาความโกรธก็อาจจะเกิดขึ้นได้

นั่งแล้วไม่สงบก็โมโหตัวเอง

 โมโหไปทำไม ยิ่งทำให้เลวร้ายไปกว่าเดิม

ก็ต้องยอมรับความจริง

 ตอนนี้ทำได้แค่นี้ก็เอาแค่นี้ไปก่อน

 ไม่ได้นั่งหนเดียวแล้วบรรลุถึงพระนิพพานเลย

 ยังต้องนั่งไปอีกนาน ต้องปฏิบัติไปอีกนาน

วันนี้ได้น้อยหน่อยก็อย่าไปโกรธ

เหมือนกับเวลาไปตกปลา บางวันก็ได้เยอะ

 บางวันก็ได้น้อย ก็เอาตามมีตามเกิด

วันนี้นั่งไม่สงบก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ยังได้นั่ง ก็ยังดี

 ไม่ได้สมาธิไม่ได้ความสงบอย่างน้อยก็ได้วิริยะ

 ความอุตสาหะ ความพากเพียร

ได้ขันติความอดทนอดกลั้น

ได้สัจจะความเอาจริงเอาจัง ไม่เหลาะแหละ

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติ ก็ปฏิบัติไป

ทำหน้าที่ของเราไป เพราะถ้ามามัวเหลาะแหละ

 วันไหนอารมณ์ไม่ดี ก็ไม่ทำ เดี๋ยวก็ยิ่งเละเทะไปใหญ่

 จะไปไม่ถึงไหน ต้องมีความเข้มงวดกวดขัน

กับการปฏิบัติ ควรกำหนดเวลาไว้เลย

ว่าวันหนึ่งอาทิตย์หนึ่งหรือเดือนหนึ่ง

จะต้องปฏิบัติมากน้อยเพียงไร ก็ต้องทำไป

ทำบุญทำทานมากน้อยเพียงไร ก็ทำไป

ศีลที่ต้องรักษา ก็รักษาไป

ถ้ามีความเข้มงวดกวดขัน ก็จะทำให้ขยับไปได้เรื่อยๆ

 ช้าบ้างเร็วบ้าง ก็เหมือนกับการขับรถ

ไปเจอถนนโล่งก็ไปเร็ว เจอรถติดก็ช้าหน่อย

ก็ขยับไปทีละนิด ขยับไปทีละหน่อย

ก็เป็นไปตามสภาพ แต่อย่าไปโมโหโทโส

 ถ้ารีบร้อนอยากจะได้อะไรเร็วๆ

เมื่อไม่ได้ดังใจก็เกิดโทสะขึ้นมา

เกิดความโกรธขึ้นมา

 เวลานั่งแล้วเกิดคนโน้นคนนี้มารบกวน

คนนั้นทำโน่นทำนี่ตกเสียงดัง

 ก็ไปโกรธ ไปโมโหเขา

 ก็ต้องแผ่เมตตาให้อภัยเขา

 เขาไม่รู้เรื่องของเราหรอก

 เขาไม่รู้ว่าเราต้องการความสงบ

 เขาก็ใช้ชีวิตของเขาไปตามปกติ

เราต้องทำใจให้กว้างๆไว้ อย่าไปโกรธใคร

 อย่าไปหวังอะไรมาก อย่าไปหวังผลมาก

ให้สร้างเหตุไว้ก็แล้วกัน

ผลจะได้มากน้อย ก็ขึ้นกับเหตุ

 บางวันก็ได้มาก บางวันก็ได้น้อย

 แต่รับรองได้ว่าถ้าทำไปอย่างต่อเนื่อง

 ไม่หยุดไม่ถอย สักวันหนึ่งก็ต้องถึงจนได้

จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

กัณฑ์ที่ ๒๒๘ วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๑)

“ไม่มีอะไรเป็นของเรา”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 กรกฎาคม 2559
Last Update : 12 กรกฎาคม 2559 6:56:17 น.
Counter : 761 Pageviews.

0 comment
### กำจัดตัณหาทั้ง ๓ ###









“กำจัดตัณหาทั้ง ๓”

ภวตัณหาคือความอยากมีอยากเป็น

โดยธรรมชาติของคนเรา เมื่อเกิดมาแล้ว

 สิ่งแรกที่อยากจะมี ก็คือความพร้อมในปัจจัย ๔

ไม่อยากจะอดอยากขาดแคลน

 เมื่อมีความพร้อมในปัจจัย ๔ แล้ว ขั้นต่อไป

ก็อยากจะมีมากๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล

อยากมีทรัพย์มากๆ อยากจะรวยนั่นเอง

ตอนต้นก็ขอให้พอมีพอกิน เมื่อมีพอแล้ว

 ขั้นต่อไปก็อยากจะร่ำอยากจะรวย เมื่อรวยแล้ว

ก็อยากจะมีเกียรติ อยากจะให้คนยกย่องนับถือ

 เมื่อมีเกียรติแล้วก็อยากจะมีอายุยืนยาวนาน

อยากจะอยู่ถึง ๘๐ - ๙๐ – ๑๐๐ – ๑,๐๐๐ ปี

เมื่อตายไปก็อยากจะไปสวรรค์ นี่คือภวตัณหา แบบคร่าวๆ

 ที่ทุกวันนี้ที่เขาวิ่งเต้นกัน อยากจะเป็นส.ว. เป็นส.ส.

เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนรวยนั้น

ล้วนเป็นภวตัณหาทั้งนั้น ถ้าไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่

 อยากจะเป็นอย่างอื่น ก็เรียกว่าภวตัณหา

นี่พูดถึงทั่วๆไปนะ บางทีอาจจะสับสน

 แล้วคนที่อยากจะเป็นพระอรหันต์เป็นกิเลสหรือไม่

 อย่างนี้ไม่เป็นตัณหา เพราะการอยากจะเป็นคนดี

เป็นพระที่ดี เป็นพระอริยบุคคล

 เป็นเหมือนกับคนไข้ที่อยากจะหายจากโรค

 เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้เกิดจากความลุ่มหลง

แต่ถ้าพอมีพอกินแล้วยังอยากจะรวยอีก

 อย่างนี้แสดงว่าลุ่มหลง เพราะอยากมีเกินกว่าจำเป็น

เกินเหตุเกินผล แล้วก็ไม่ได้ทำให้

มีความสุขมากขึ้นไปกว่าเดิม

มีพอมีพอกินก็มีความสุขเท่าๆกับคนที่มีมากกว่า

เป็นร้อย เท่าพันเท่า

 เพราะคนเราก็มีเพียงปากเดียวท้องเดียว

กินได้เท่านั้น จะมีเกินเป็นร้อยเท่าพันเท่า

ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

แต่คนที่อยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นพระอริยะ

 อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นความจำเป็น

 เพราะทำให้ความทุกข์เบาบางลงไป เรียกว่ามรรค

 ทางที่พาให้ไปสู่การหลุดพ้น

 ไม่ได้พาไปสู่ความทุกข์

แต่ความอยากอย่างอื่น พาไปสู่ความทุกข์

อยากจะเป็นเศรษฐี ก็ทำให้ต้องดิ้นรนมากขึ้น

 ขณะนี้มีพอกินพอใช้ แต่อยากจะรวย

ก็ต้องไปแสวงหาเงินหาทองมาเพิ่ม

ถ้าไม่ระมัดระวัง ก็จะต้องสูญเสียความดี

คือศีลธรรมไป เมื่อต้องไปทำความทุจริต

อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ร่ำรวย

ทำให้ได้อย่างเสียอย่าง

ได้สิ่งที่ไม่มีค่าและสูญเสียสิ่งที่มีค่าไป

 เสียศีลธรรมไป แต่ได้ก้อนอิฐก้อนกรวด

คือเงินทองมาแทนที่ ทั้งๆที่ไม่ได้มาก็อยู่ได้

 แต่เมื่อได้มาแล้วก็เสียสิ่งที่ดีไป จิตใจก็ต่ำลง

 มีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น

ส่วนวิภวตัณหาก็หมายถึง

 ความไม่อยากเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 เช่นไม่อยากจะยากจน

ขณะนี้ไม่จนแต่ก็กลัวก่อนแล้ว

 กลัวว่า พรุ่งนี้จะจน

 พอกลัวปั๊ปก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว

 แต่ถ้าไม่กลัว ก็จะไม่ทุกข์

ขณะนี้ถึงแม้จะพอมีพอกิน

 แต่ก็หัดอยู่แบบยากจนไว้บ้าง เช่นอดข้าวเย็นบ้าง

 อยู่แบบง่ายๆ นอนกับพื้น

อย่างไปอยู่วัดก็เป็นการฝึกอยู่แบบยากจน

 อยู่กินตามมีตามเกิด เวลาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด

 เขาจัดอาหารอะไรมาให้กิน ก็กินไป

เขาจัดที่นั่งที่นอนให้ตรงไหน ก็อยู่ไป

 มีเวลาว่างก็ช่วยกันทำงาน รับใช้สังคม

ช่วยกันล้างส้วม กวาดลานวัด

ช่วยกันทำอะไรต่างๆเหล่านี้

ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่อยากเป็นใหญ่เป็นโต

จะไม่ชอบทำกัน แต่เรามาฝึกสวนทางกับกิเลส

 กิเลสชอบขึ้นสูงเป็นเศรษฐี เป็นคนใหญ่โต

 แต่เราจะมาฝึกเป็นคนยากคนจน คนต่ำคนต้อย

 ทำตัวให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว

 ใครจะเอาไปเช็ดไปทำอะไรก็ได้

ให้ล้างส้วมก็ล้างได้ ให้ล้างแก้วก็ล้างได้

ล้างกระโถนก็ล้างได้ ให้ทำอะไรได้ทั้งนั้น

ถ้าไม่ผิดศีลผิดธรรม

ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

นี่คือการฝึกต่อสู้กับวิภวตัณหา

ที่มาฝึกอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ

ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องกลัวความจนไง

สมมุติว่าพรุ่งนี้เกิดหมดเนื้อหมดตัวขึ้นมา

 ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะไปอยู่วัดได้

 บวชเป็นพระเป็นแม่ชีก็ได้ เพราะไม่กลัวความจน

 เช่นเดียวกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ก็ต้องฝึก ยอมรับให้ได้

เวลาที่พระไปอยู่ในป่า ส่วนหนึ่งก็ต้องการ

ไปต่อสู้กับความกลัวตายนี้แหละ ไปปลงสังขาร

 ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัยจะไม่รู้สึกหวาดกลัว

จะปลงจะปล่อยไม่ได้

 แต่ถ้าไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆน่าหวาดกลัว

 มีสิงสาราสัตว์หรืออะไรก็ตาม

ที่คิดว่าจะมาทำร้ายชีวิตของเราได้

ใจจะต้องกระสับกระส่ายกินไม่ได้นอนไม่หลับ

 ถ้าไม่แก้ไข จะทนอยู่ในสภาพอย่างนั้นไม่ได้

 แต่ถ้าภาวนาเป็น ถ้าถนัดทางสมาธิ ก็ทำสมาธิไป

 จนกว่าความกลัวจะหายไป

 เวลาจิตสงบลงปั๊บความกลัว ก็หายไปหมดเลย

 จะรู้เลยว่าความกลัวเกิดจากกิเลส

เกิดจากวิภวตัณหาที่มีอยู่ในใจ

แต่ความเป็นความตายนี้ กลับเป็นธรรมดา

 ยังไงๆเมื่อถึงเวลาก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น

 เมื่อยังไม่ถึงเวลา ทำยังไงๆก็ไม่ตาย

จึงไม่ต้องไปกลัว

 เพราะกลัวแล้วจะทุกข์ทรมานมาก

เมื่อไม่กลัวก็จะไม่ทุกข์ไม่ทรมาน

 ก็สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่เปลี่ยวก็อยู่ได้

 ที่มีคนเยอะก็อยู่ได้

เพราะจิตใจได้ปล่อยวางแล้ว

 รู้ว่าการไปหลงไปยึดไปติดกับชีวิตนี้เอง

ที่เป็นเหตุของความกลัว

ถ้าทำจิตใจให้สงบปั๊บความกลัวก็จะหายไป

ถ้าทำด้วยสมาธิก็จะหายไปในขณะที่จิตสงบ

แต่พอออกจากสมาธิแล้ว

ความกลัวก็ยังกลับมาได้อยู่

เพราะยังไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา

ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ ให้เห็นว่า

เป็นการรวมตัวของดิน น้ำ ลม ไฟ

เช่นร่างกายนี้ก็มาจาก

อาหารที่เรารับประทานเข้าไป

 แล้วก็กลายเป็นผม ขน เล็บ ฟัน

 หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ

แล้วสักวันหนึ่งก็ต้องแก่ ต้องตายดับสลายไป

ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม

 ร่างกายของปุถุชนธรรมดา

สามัญอย่างพวกเราทั้งหลาย

จนถึงร่างกายของพระพุทธเจ้า

พระอรหันต์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน

เรียกว่ารูปขันธ์ที่ไม่มีความแตกต่างกัน

ระหว่างพระอริยบุคคลกับปุถุชน

 เหมือนกันเพราะกินอาหารแบบเดียวกัน

 กินข้าวเหมือนกัน ดื่มน้ำ หายใจเข้าไปแบบเดียวกัน

 ร่างกายของเรากับร่างกายของพระอริยบุคคล

จึงไม่ต่างกัน ต่างกันที่จิตใจเท่านั้น

ใจของพระอรหันต์ ได้ภาวนากำจัดตัณหาทั้ง ๓

 คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 จนทำให้ใจของท่านนิ่งได้ตลอดเวลา

 ไม่แกว่งไปแกว่งมา

 ถ้าเป็นลูกตุ้มนาฬิกาก็นิ่งอยู่เฉยๆตรงกลาง

 ไม่แกว่งไปมา ไม่ว่าจะโดนอะไร

มากระทบรุนแรง ขนาดไหน

ในทางบวกหรือในทางลบ

จะไม่หลงไปกับสิ่งที่มากระทบ

ใครจะให้ลาภให้เงินให้ทองมากน้อยเพียงไร

ก็ไม่ได้ยินดี แต่กลายเป็นภาระหน้าที่

ที่จะเอาเงินที่ได้มา ไปทำประโยชน์อีกทอดหนึ่ง

 แต่ตัวเองไม่ได้อะไรเลย

 เพราะไม่มีความจำเป็นกับเงินกับทอง

เวลาสูญเสียไปทั้งหมดก็ไม่เดือดร้อน

เพราะไม่ได้คิดว่าสูญเสียอะไรไป

เพราะไม่ได้ยึดไม่ได้ติด

ไม่ได้ถือว่าเป็นของตนเลย

 มีธรรมะเท่านั้นที่เป็นสมบัติ

 และก็ไม่มีอะไรจะเอาธรรมะไปจากใจได้

ถ้าเป็นอย่างอื่น ถ้าไปยึดไปติดว่า

เป็นสมบัติของตนแล้ว

สักวันหนึ่งเมื่อเกิดสูญเสียไป

 ก็จะต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ

เพราะความหลงนั่นเอง หลงไปยึดไปติด

ยึดตั้งแต่ร่างกายนี้ออกไป

เกิดมาปั๊บก็ได้ร่างกายนี้มาเป็นสมบัติ

 ก็ยึดว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา

 เมื่อโตขึ้นมีกำลังวังชามีปัญญา

ก็หาสมบัติต่างๆมาเพิ่ม หาข้าวหาของ

หาบุคคลมาเป็นสมบัติของตน

หาสามีหาภรรยา แล้วก็ได้ของแถมมา

คือลูกหลานตามมาอีก

 ถือว่าเป็นสมบัติของตนทั้งนั้น

 แล้วสักวันหนึ่งสมบัติเหล่านี้ก็ต้องร่วงโรยไป

เหมือนกับใบไม้ที่อยู่บนต้นไม้

ตอนต้นก็ไม่มีอะไร ก็ค่อยๆเจริญเติบโตงอกงาม

 มีกิ่งก้านมีใบออกมา ตอนต้นก็เขียว

 ต่อไปก็เหลือง แล้วก็ร่วงโรยไป

 ทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

เวลาจิตมาเกิดก็มาแต่ตัว

กับบุญกับกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีต

ที่ยังต้องมาเกิดก็เพราะ

ยังไม่ได้ชำระตัณหาทั้ง ๓

 ให้หมดไปจากจิตจากใจ จึงต้องมาเกิดอีก

 เมื่อมาเกิดแล้วความหลงก็ทำให้ครอบครองสิ่งต่างๆ

 ไว้เป็นสมบัติของตน บ้านช่อง ที่ดิน รถยนต์

อะไรต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นของเราทั้งนั้น

 แต่ความหลงจะยึดว่าเป็นของเรา

 พอยึดแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา

 เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดความเสียใจ

เกิดความทุกข์

 สมบัติของคนอื่นเราไม่เดือดร้อนใช่ไหม

บ้านของชาวบ้านถูกไฟไหม้อย่างไร

เราก็ไม่เดือดร้อน

 รถของคนอื่นจะพังยับเยินอย่างไร

เราก็ไม่ได้เดือดร้อน

แต่รถของเราใครเอาตะปูไปขีดเส้นสักหน่อย

เราก็โวยวาย เจ็บช้ำใจขึ้นมา

 เพราะไปผูกไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา

ด้วยอวิชชาความหลง ขาดปัญญาสอนให้รู้ว่า

 สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรานะ เป็นของให้ยืมมาใช้

เพื่อดำรงชีพไปวันๆหนึ่ง

แต่ก็น่าเห็นใจเพราะถ้าไม่ได้ศึกษา

 ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ร้อยทั้งร้อย

ก็จะต้องยึดกันทั้งนั้น

เป็นสันดานของกิเลสที่ฝังอยู่กับใจ

ได้อะไรมาแล้วต้องหวงทันที

พอเสียไปก็เสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้

กินไม่ได้นอนไม่หลับ

เราจึงต้องอาศัยศาสนามาช่วยแก้

ให้เกิดปัญญาให้เห็นว่า

ไม่มีอะไรเป็นของเราเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

 แม้กระทั่งสังขารร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา

 สักวันหนึ่งก็ต้องกลับคืนสู่เจ้าของเดิม

 คือดิน น้ำ ลม ไฟ

ในที่สุดร่างกายก็ต้องแยกกลับไป

 สู่ดิน สู่น้ำ สู่ลม สู่ไฟ

 แต่เวลานี้เราสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ ๒ ทาง

ประโยชน์ทางโลก กับประโยชน์ทางธรรม

ถ้าโชคดีได้เจอศาสนาก็เอามาใช้ในทางธรรม

ก็จะทำให้จิตหลุดพ้น

 ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ถ้าไม่เจอศาสนาอย่างมาก

ก็ใช้ประโยชน์ทางโลกเท่านั้น

เช่นเอามาหาความสุขแบบทางโลก

 ความสุขที่ได้จากการมีสมบัติข้าวของเงินทอง

 แล้วก็มีความทุกข์ตามมา เวลาที่สูญเสียไป

 ตายไปก็จะเวียนกลับมาเกิดอีก

 เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 จนกว่าจะเกิดปัญญาได้ยินได้ฟังจากผู้อื่นก็ดี

 หรือเกิดขึ้นจากการพิจารณาของตนเองก็ดี

ส่วนมากต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ฉลาดกว่า

 พวกเราถือว่าโชคดีได้มาเจอพระพุทธศาสนา

 ได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้

 ก็ช่วยจุดประเด็นให้ได้คิดได้พิจารณา

 ส่วนบางคนอาจจะเกิดความเบื่อโลก

 แล้วก็คิดพิจารณาไปจนเกิดปัญญาขึ้นมาเองก็ได้

 จนทำให้ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อไป

 เพราะการคิดพิจารณาแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง

โดยไม่มีใครสอน เพราะไม่มีใครสอนได้

อย่างพระพุทธเจ้า

ที่ต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์

 ก็ไม่มีใครสอนได้

สอนได้อย่างมากก็ขั้นสมาธิเท่านั้น

ทำจิตให้สงบ ก็จะมีความสุข ปราศจากความทุกข์

 ในขณะที่อยู่ในสมาธิ แต่พอออกมาจากสมาธิ

 จิตก็เริ่มคิดเริ่มปรุง เกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้

จนกลายเป็นความทุกข์ตามมา

 พระพุทธเจ้าจึงต้องศึกษาหาวิธี

 เพื่อที่จะเอาชนะความทุกข์ให้ได้

ตอนต้นก็คิดว่าร่างกายเป็นตัวปัญหา

 ก็เลยปล่อยวางร่างกาย

ด้วยการ ไม่รับประทานอาหาร ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูก

เพราะความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย

 แต่อยู่ที่จิตต่างหาก ที่ไปยึดติดกับกาย

ว่าเป็นตนเป็นของตน

 จึงต้องงัดตัวจิตให้ออกจากร่างกายให้ได้

 ด้วยการปล่อยให้ร่างกาย

 เป็นไปตามธรรมชาติของเขา

 ดูแลเขาไป เมื่อถึงเวลาที่เขาจะเป็นอะไรไป

ก็ให้เป็นไป คือเตรียมตัวเตรียมใจ

 ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วว่า

จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 แต่ขณะที่ยังไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตาย

ก็ไม่ต้องไปทำอะไร เอามาใช้ทำประโยชน์ได้

ถ้ายังไม่พ้นทุกข์ก็อาศัยร่างกายนี้มาปฏิบัติธรรม

ถ้ารู้ว่าต้องตายก็จะเกิดความกล้าหาญขึ้นมา

บวชเป็นพระ บวชเป็นชี

ก็สามารถไปอยู่ในป่าในเขาได้ เพราะไม่กลัวตาย

เพราะรู้ว่ายังไงสักวันหนึ่งก็ต้องตาย

 ก่อนที่จะตายก็เอาร่างกายมาทำคุณทำประโยชน์

 ให้กับจิตใจ ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 คนเราถ้าเห็นความตายแล้ว

 ก็สามารถเอาความตายมาสอนใจได้

จะทำให้เป็นคนกล้าหาญ กล้าที่จะสละสมบัติ

 กล้าที่จะสละยศถาบรรดาศักดิ์

 กล้าที่จะสละอะไรต่างๆ แล้วก็ออกบวช

แสวงหาความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

 ที่เกิดจากตัณหาทั้ง ๓

นี่คือเรื่องราวของชาวพุทธเรา

ซึ่งถือว่าโชคดีที่เกิดมาไม่ต้องมาคิดกันเอง

 ไม่ต้องมาคลำหาทาง

เพราะมีพระพุทธเจ้าคอยชี้คอยบอก

ถ้าเราหลงอยู่ในป่าก็ไม่ลำบาก

เพราะมีผู้รู้ทางพาออกมาจากป่าได้

 พระพุทธเจ้าก็เคยหลงอยู่ในป่า

แต่ทรงหาทางออกได้แล้ว

 จึงได้สร้างทางออกจากกองทุกข์ไว้ให้พวกเรา

 คือทาน ศีล ภาวนานี่แหละ

ที่เป็นทางออกทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น

 เมื่อได้เจอแล้ว ก็ควรยึดไว้อย่างเหนียวแน่น

 พยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ ทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ

อย่าไปเสียดายเงินทองที่เหลือใช้

เวลาตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี

 เงินทองมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้เก็บ

 ไม่ได้มีไว้ให้เรารับใช้เขา คือไม่ต้องไปเฝ้าไปดูแล

ให้เขารับใช้เราด้วยการเอาไปทำประโยชน์

ทำบุญทำทาน เพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น

ในเงินในทองนั่นเอง ถ้าไม่ทำ ก็จะห่วงใย เสียดาย

 เวลาหายไปก็จะนำความทุกข์มาให้กับเรา

ถ้าเอาไปทำบุญทำทาน

 ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ช่วยให้สังคมอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เราก็มีความสุข

ไม่ต้องมีภาระกับเงินทองก้อนนั้นอีกต่อไป

 แล้วก็จะคลายความโลภ

เพราะไม่รู้จะหาเงินหาทองมาอีกทำไม

 เวลาหามาได้เกินความจำเป็น

ก็ต้องเอาไปแจกจ่ายอยู่ดี ก็ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น

ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองมาเพิ่ม

เพราะมีเพียงพอแล้ว ก็จะมีเวลาภาวนามากขึ้น

ตอนต้นก็ภาวนาที่บ้านก่อน

 เพราะยังเป็นฆราวาสอยู่

 แต่เมื่อได้ผลจากการภาวนา

 เห็นความสุขจากการภาวนาว่าเหนือความสุขอื่นๆ

 เหนือกว่าความสุขที่ได้จากเงินทอง

จากตำแหน่งต่างๆ จึงอยากภาวนาให้มากขึ้นไปอีก

ก็จะตัดภารกิจต่างๆให้เบาบางลงไป

ทำแต่งานที่จำเป็นเท่านั้น

ทำพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

มีปัจจัย ๔ พออยู่ได้ก็พอแล้ว

 เอาเวลาที่เหลือมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ

 อ่านหนังสือธรรมะ ไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์

 ไปปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆจะดีกว่า

ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะตัดไปได้เรื่อยๆ

 ต่อไปก็จะอยากออกบวชเอง

จะไม่มีความสุขกับการครองเรือนอีกต่อไป

 เพราะอยู่ในบ้านมีแต่ความวุ่นวาย

 มีเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เรื่องไร้สาระทั้งนั้น

เรื่องของกิเลสตัณหา

คนนั้นอยากได้อย่างนี้ คนนี้อยากได้อย่างนั้น

ถ้าไม่ได้ก็โกรธแค้นโกรธเคือง

ก็เลยตัดใจว่าใครอยากจะได้อะไร ก็ให้ไปหมดเลย

 เราไม่เอาอะไร เอาตัวเราคนเดียวพอ

สิ่งเดียวที่อยากจะได้ก็คือเวลา

 ขอให้มีเวลาเป็นตัวของเราเอง

ที่จะบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา

ถ้าให้ทานหมดไปแล้วก็หมดปัญหา

เรื่องของการให้ทานก็หมดไป

เพราะไม่มีอะไรจะให้แล้ว

 บวชเป็นพระก็มีสมบัติอยู่เพียง ๘ ชิ้นเท่านั้น

ที่เรียกว่าบริขาร ๘

เหลืองานที่ต้องทำอยู่ ๒ อย่างคือศีลกับภาวนา

หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลก็คือพระวินัย ๒๒๗ ข้อ ก็รักษาไป

พระวินัยมีไว้เพื่อที่จะตะล่อมกิเลส

เป็นเหมือนรั้วกันไม่ให้กิเลสเตลิดออกไปไกล

 เวลากิเลสไปไกลแล้วจะดึงตัวกลับเข้ามายาก

ถ้าอยู่ในคอกเล็กๆแล้วจะจับง่าย

ทำให้สงบง่าย ศีลจึงเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ

 ถ้ามีศีลแล้วเวลาจะทำจิตใจให้สงบ

จะง่ายกว่าคนที่ไม่มีศีล

เมื่อมีสมาธิแล้วก็จะทำให้เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์

เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 จะทำให้มีกำลังตัดได้ ปล่อยได้ วางได้

ถ้าไม่มีสมาธิถึงแม้จะรู้ว่าร่างกายจะต้องตายจากไป

แต่ก็ยังอดกลัวไม่ได้ ยังตัดไม่ได้

เพราะไม่มีฐานของจิต ก็คือความสงบนั่นเอง

 แต่ถ้ามีฐานแล้ว รู้ว่าไม่เป็นไร

 เวลาร่างกายจะตายไป รู้ว่าเมื่อทำจิตใจให้สงบ

 จิตก็จะไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย

ร่างกายเป็นอะไรไปก็ไม่เกี่ยวข้องกับจิต

เหมือนกับเวลาที่เราหลับไป

 ร่างกายตายไป เราก็ไม่รู้เรื่อง

 ไม่มีเวลาที่จะมาตกใจกลัว

อย่างมากก็ตอนที่ใกล้ๆจะตาย

 แล้วตื่นขึ้นมาจากความหลับ

 แค่วินาที ๒ วินาทีแล้วก็ผ่านไป

เราจึงต้องบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา

เป็นทางเดียวเท่านั้น

ที่จะพาเราไปสู่การหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้

ทาน ศีล ภาวนา มีไว้เพื่อชำระตัณหาทั้ง ๓

คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 ถ้าชำระได้หมดสิ้น จิตก็สะอาดบริสุทธิ์

จิตก็หลุดพ้น จิตก็ไม่มีตัว

ที่จะคอยไปสร้างภพสร้างชาติอีกต่อไป

 ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

ผู้ที่สร้างภพสร้างชาตินี้เราได้เจอตัวมันแล้ว

และได้ทำลายมันหมดสิ้นไปแล้ว

มันไม่สามารถมาสร้างภพสร้างชาติ

ให้กับเราได้อีกต่อไปแล้ว

ก็คือความอยากทั้ง ๓ ประการนี้

พวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

และได้พบพระพุทธศาสนา

จึงเป็นผู้มีโชค ๒ ชั้นด้วยกัน

เพราะการได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ของง่าย

เวลามนุษย์จะมีลูกก็ได้ทีละคนเท่านั้น

โดยวิธีปกติ ปีหนึ่งก็ได้แค่คนเดียว

 มนุษย์คู่หนึ่งมีลูกอย่างมาก

ก็แค่ ๒ - ๓ คนเป็นอย่างมาก

 ไม่เหมือนกับเดรัจฉานที่ออกมาเป็นครอก

 ทีละ ๙ ตัว ๑๐ ตัว ถ้าเป็นปลาก็จะออกมาเป็นฝูง

 การเกิดเป็นเดรัจฉานจึงมีโอกาส

มากกว่าการเกิดเป็นมนุษย์

นอกจากนั้นยังต้องมีศีลด้วย

 ถึงจะเกิดเป็นมนุษย์ได้

ถ้าไม่มีศีลก็ไม่มีทางที่จะได้เกิด

 แสดงว่าพวกเราในอดีตได้บำเพ็ญศีลกันมา

ได้ทำบุญทำทานมา จึงทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์

เราจึงไม่ควรใช้บุญเก่าไปโดยเปล่าประโยชน์

 ควรจะสร้างบุญใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นไป

 เพื่อจะได้พัฒนาจากมนุษย์ปุถุชนธรรมดา

ไปเป็นเทพ เป็นพรหม

 เป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับต่อไป

ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

 เป็นทางเดียวเท่านั้น ทำได้มากน้อยเพียงไร

ก็ขอให้ทำไป อย่าไปเสียดายชีวิต

 อย่าไปเสียดายอะไรทั้งสิ้น

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

ธรรมเท่านั้นที่จะพาให้เราไปสู่สุคติ

ไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล

จึงขอฝากเรื่องการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

ให้ท่านทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติต่อไป

จนกว่าชีวิตจะหาไม่

 แล้วจะไม่ผิดหวังในการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์

ได้พบพระพุทธศาสนา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๒๒๘ วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๑)

“ไม่มีอะไรเป็นของเรา”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 กรกฎาคม 2559
Last Update : 12 กรกฎาคม 2559 6:15:25 น.
Counter : 727 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ