Group Blog
All Blog
### การไม่เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ###













“การไม่เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

การฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์มาก

 เพราะเป็นการศึกษาหาความรู้ สติปัญญาความฉลาด

ถ้าได้ฟังเทศน์อยู่เรื่อยๆ ก็จะมีปัญญา มีความฉลาด

ทำให้รู้ทันอวิชชาความไม่รู้ ที่คอยหลอกล่อจิตใจ

 ให้ไปในทางที่ไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่ดี ไม่งาม

ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต

ระหว่างคนที่ไม่มีปัญญากับคนที่มีปัญญานั้น

มีความแตกต่างกันมาก คนที่มีปัญญาจะอยู่อย่างสุข

 อย่างสบาย ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องราวมาสร้างความทุกข์

สร้างความวุ่นวายใจ แต่คนที่ไม่มีปัญญา คนที่ไม่ฉลาด

มีแต่ความลุ่มหลง จะถูกความทุกข์ต่างๆ

ครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา

การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ของพุทธศาสนิกชน

เพราะเมื่อมีการศึกษามีความรู้ก็จะมีความเห็นที่ถูกต้อง

 สัมมาทิฐิ ที่จะลบล้างมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด

ดีเป็นชั่ว ชั่วเป็นดีได้ ถ้ามีความหลงแล้วก็คือไม่มีปัญญา

ก็จะมีมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ

 ที่ติดกับเรามาตลอด แต่เราไม่รู้กัน

นานๆจะมีคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้า

มาศึกษาและแก้ปัญหา ที่มีอยู่ในใจของมนุษย์

จนเห็นอย่างแจ้งชัดว่า ปัญหาทั้งหมดของมนุษย์นั้น

ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวมนุษย์เอง

 อยู่ที่ความโง่เขลาเบาปัญญา อยู่ที่โมหะความหลง

อยู่ที่อวิชชาความไม่รู้ความเป็นจริงของชีวิต

ไม่รู้ว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร

นี้คือปัญหาของมนุษย์ทุกๆคน ความหลงเป็นตัวผลักดัน

ให้ไปเกิดไปแก่ไปเจ็บไปตาย ไปเวียนว่ายตายเกิด

ไม่รู้จักจบจักสิ้น นี้คือเป็นปัญหาของสัตว์โลกทั้งหลาย

 ที่เกิดกันก็เพราะความหลงพาให้มาเกิด

เมื่อเกิดแล้วก็ต้องต่อสู้ กับความทุกข์ต่างๆ

ความทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย

ความตาย การพลัดพรากจากกัน

ที่มีอยู่ในทุกภพทุกชาติ พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาแหลมคม

 ได้สะสมปัญญาบารมีมาอย่างต่อเนื่อง

หลายกัปหลายกัลป์ จนสามารถ

มองเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของพวกเราว่าอยู่ที่ความหลง

 หลงทาง แทนที่จะไปทางสวัสดีมีชัย

มีความร่มเย็นเป็นสุข กลับเดินไปทางที่มีแต่ศัตรูข้าศึก

 มีแต่ปัญหา มีแต่ความทุกข์ต่างๆ รุมเร้าอยู่ตลอดเวลา

เพราะไม่รู้นั่นเอง

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงสรุปได้ว่า

 ปัญหาของมนุษย์นั้นอยู่ที่ไม่รู้ว่า การไม่เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

การไม่เกิดเป็นการดับปัญหาต่างๆได้หมด

 เพราะเมื่อไม่เกิดแล้วก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ไม่พลัดพรากจากสิ่งต่างๆ

ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ

 ที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

 ปัญหาต่างๆของพวกเราจะถูกกำจัดได้ หมดสิ้นไป

ถ้าเราไม่กลับมาเกิดอีก ถ้าเราตายไปแล้วไม่กลับมาเกิดอีก

 เราก็ไม่มีปัญหากับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ไม่ต้องมาร้องห่มร้องไห้เวลาคนรักจากเราไป

ไม่ต้องมาเสียใจเวลาสิ่งที่เรารักสูญหายไป

ไม่ต้องมาวุ่นวายใจเมื่อต้องเจอ

ในสิ่งที่เราไม่ปรารถนาไม่ชอบกัน

 สิ่งเหล่านี้อยู่กับการเกิดทั้งสิ้น มีความเกิดเป็นต้นเหตุ

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

 และทรงรู้ด้วยว่าอะไรเป็นเหตุ ที่พาให้พวกเรามาเกิดกัน

 ก็คือความอยากต่างๆนั่นเอง ได้แก่

๑. “กามตัณหา” ความอยากในกาม

 ๒. ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น

๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

ลองสังเกตดูว่าในตัวของเรามีตัณหาทั้ง ๓ ชนิดนี้หรือไม่

 ถ้ายังอยากดู อยากฟัง อยากลิ้มรส

 อยากรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากจะไปเที่ยวที่นั่นที่นี้อยู่

ก็แสดงว่ายังมีกามตัณหาความอยากในกาม

 กามนี้ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

เรียกว่ากามคุณ ๕ ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย

เพราะใจของเรายังมีความอยากกับสิ่งเหล่านี้อยู่

เราจึงต้องไปแสวงหากันแทบทุกวันเลย

พอตื่นขึ้นมาก็แต่งเนื้อแต่งตัวออกจากบ้านกันไปแล้ว

ไปทำงานเพื่อจะได้มีเงินมาซื้อสิ่งต่างๆ

 ที่ใจอยากจะได้ อยากจะดู อยากจะฟัง

ที่ทำให้ใจอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

 เมื่ออยู่นิ่งเฉยไม่ได้ก็จะไม่มีความสุข

 ไม่มีความสบาย ต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไร

ความอยากก็ไม่ได้หมดกับสิ่งที่ได้มา

เราได้ไปเที่ยว ได้ไปกิน ได้ไปดื่มมาเมื่อคืนนี้

เดี๋ยวคืนนี้เราก็ยังอยากจะออกไปอีก

 เพราะความอยากนี้ไม่ได้หมดไปกับสิ่งที่เราได้มา

 นี้คือความอยากในกาม ลองถามตัวเราเอง

 ลองพิจารณาดูว่ายังมีอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่

นี้แหละคือตัวปัญหา ถ้าต้องการจะตัดความทุกข์

 ก็ต้องพยายามระงับดับความอยากนี้ให้ได้

 นี้คือความอยากชนิดหนึ่ง

ความอยากอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “ภวตัณหา”

ความอยากมีอยากเป็น เรายังมีความอยากนี้หรือไม่

 ยังอยากจะได้สิ่งนั้น อยากจะได้สิ่งนี้หรือไม่

อยากจะได้รถคันใหม่ อยากจะได้บ้านใหม่

อยากจะได้สามีใหม่ อยากจะได้ภรรยาใหม่

อยากจะได้ลูก อยากจะได้หลานหรือไม่

ความอยากนี้จะผลักดันให้จิตอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

 ต้องไปแสวงหาอยู่เรื่อยๆ เมื่อได้มาแล้วก็จะไม่อิ่มไม่พอ

 ก็จะมีความอยากอย่างอื่นขึ้นมาแทนที่

ได้สิ่งนี้แล้วก็เบื่อสิ่งนี้

ก็อยากจะได้สิ่งใหม่มาทดแทนอยู่เรื่อยๆ

 ปัญหาต่างๆ จึงตามมา

 เพราะไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ความอยาก

 แทนที่จะต่อสู้ระงับดับความอยาก

กลับทำตัวเป็นทาสของความอยาก

 ส่งเสริมให้ความอยากมีกำลังมากขึ้น

เมื่อมีกำลังมากขึ้นก็จะสร้างปัญหาให้มากขึ้น

 สมัยที่เป็นเด็กๆ ก็มีความอยากแบบเด็กๆ

 ปัญหาก็น้อย อย่างเด็กๆก็อยากจะเล่นเท่านั้นเอง

 แต่พอโตขึ้นมาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ความอยากก็ใหญ่ขึ้น

 ทำให้มีปัญหามากขึ้นตามมา เช่นอยากใช้เงินใช้ทอง

 ก็ใช้กันแบบไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ใช้จนไม่พอใช้

 เมื่อไม่พอใช้ก็ไปกู้หนี้ยืมสิน แล้วก็ไม่มีปัญญาไปใช้

 ในที่สุดก็มีปัญหาตามมา ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางไป

หรือหนีหัวซุกหัวซุน หนีเจ้าหนี้ ไม่ให้มาทวงหนี้

นี้คือปัญหาที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตัวของเราเองโดยไม่รู้สึกตัว

คิดว่ากำลังสร้างความสุขให้กับเรา แต่หารู้ไม่ว่า

เป็นความสุขที่บังความทุกข์เป็นความสุขที่มาก่อน

 คือความสุขที่ได้จากการใช้เงินใช้ทอง

 แต่เมื่อเงินทองหมด ไม่พอใช้

ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้ต่อ

เพราะเมื่อเคยใช้เงินแล้วก็หยุดไม่ได้ มันติดเป็นนิสัย

 เมื่อไปกู้หนี้ยืมสินมาก็ไม่มีปัญญาใช้คืน

ก็ต้องมีปัญหาตามมา มีเรื่องมีราวตามมา

 ต้องหลบหนี ถ้าหนีไม่พ้นก็ถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางไป

 นี้คือปัญหาที่เกิดจากความอยากมีอยากเป็น

 ทำให้ไม่มีความสุขกัน อยู่เฉยๆไม่ได้ อยู่ไม่เป็นสุข

 ทั้งๆที่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพก็มีพอเพียงอยู่แล้ว

 คือปัจจัย ๔ ข้าวก็มีกิน เสื้อผ้าก็มีใส่ ยาก็มีรักษาโรค

 บ้านก็มีอยู่ แต่ไม่พอ มีแค่นี้ไม่พอ

 ต้องมีปัจจัย ๕ ปัจจัย ๖ ปัจจัย ๗ ปัจจัย ๘

ต้องมีรถยนต์ มีโทรศัพท์มือถือ มีโทรทัศน์ มีวิทยุ

 มีตู้เย็น มีเครื่องปรับอากาศ มีอะไรร้อยแปดพันประการ

แล้วเป็นอย่างไรชีวิตของเรา มันดีขึ้นกว่าเดิมไหม

หรือเหมือนเดิม หรือแย่กว่าเดิม

 แย่ตรงที่จิตที่กลายเป็นจิตใจที่อ่อนแอ

ไม่สามารถอยู่แบบเรียบง่ายได้

ต้องอยู่แบบคนพิการอยู่ ต้องมีสิ่งต่างๆคอยสนับสนุน

 อยู่แบบไม่มีแอร์ก็อยู่ไมได้ ไม่มีรถก็อยู่ไม่ได้

 ไม่มีตู้เย็นก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็อยู่ไม่ได้

 เพราะความอยากผลักดันให้ไปหามานั่นเอง

ผลักดันให้อยากมีอยากเป็น อยู่คนเดียวก็อยู่ไม่ได้

ต้องมีสามี ต้องมีภรรยา ต้องมีเพื่อน มีอะไรต่างๆ

อยู่แบบธรรมดาเป็นราษฎรเต็มขั้นก็อยู่ไม่ได้

ต้องมีตำแหน่ง มียศมีเกียรติ อยากจะเป็นส.ส.

 อยากจะเป็นนายกฯ อยากจะเป็นรัฐมนตรี

อยากจะเป็นหัวหน้า อยากจะเป็นผู้จัดการ

อยากจะเป็นอธิบดี เหล่านี้เรียกว่าความอยาก

มีอยากเป็นทั้งนั้น เป็นตัวสร้างปัญหาให้กับใจ

ที่เป็นเหมือนกับทาส คอยรับใช้ความอยาก

คนที่เป็นทาสกับคนที่ไม่เป็นทาสต่างกันไหม

 เวลาเจ้านายเรียกเจ้านายสั่ง ก็ต้องไปทำตามคำสั่ง

จะบอกว่าผมขอนอนเฉยๆ ผมกำลังพักผ่อน อย่างนี้ทำไม่ได้

 พอเจ้านายสั่งแล้วก็ต้องทำตามคำสั่งทันที

 แต่คนที่ไม่เป็นทาสเป็นอย่างไร เขาสบาย มีอิสระ

 ไม่มีใครมาสั่ง อยู่ได้อย่างสบาย นี้คือสิ่งที่เราไม่คิดกัน

เพราะความอยากเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ไม่มีสติปัญญา

 คิดไม่เป็น มีแต่จะต้องทำตามคำสั่งของความอยากเท่านั้น

 ถ้าไม่ได้ทำแล้วมันทรมานใจ

 เวลาอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ คิดดูซิว่าเป็นอย่างไร

 พอไม่ได้ก็เสียใจ ขณะที่พยายามหามา

ก็มีความวุ่นวายใจอีกแบบหนึ่ง

 พอไม่ได้ก็เกิดความเสียใจอีกแบบหนึ่ง

ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งนั้น

แต่ถ้าไม่อยากเลยนี้เป็นอย่างไร

 แสนจะสบาย นั่งอยู่เฉยๆก็สบาย

 ไม่ต้องไปดิ้นรนกับอะไรทั้งสิ้น

ความอยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ “วิภวตัณหา”

 ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น อยากไม่มีหนี้

อยากไม่มีปัญหาต่างๆ อยากไม่มีความทุกข์

 อยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่จน ไม่ติดคุกติดตะราง

 เรียกว่าวิภวตัณหา ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

เพราะคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 ต้องพลัดพรากจากกัน เมื่อเกิดมีความอยากไม่เป็นขึ้นมา

 ก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา

เวลาคิดถึงความแก่เป็นอย่างไรบ้าง ดีใจไหม

 คิดว่าต่อไปเราจะแก่นะ ดีใจไหมที่ต่อไปจะแก่

แต่ถ้าอยากจะแก่พอได้แก่ ก็จะดีใจใช่ไหม

เหมือนกับอยากจะได้สามี อยากจะได้ภรรยา

พอได้มาก็ดีอกดีใจ แต่ถ้าไม่อยากจะมีสามีมีภรรยา

 แล้วเกิดไปทำอะไรผิดพลาดต้องมีสามีภรรยาขึ้นมา

 ก็จะไม่สบายใจ นี้คือความอยาก

ที่สร้างความทุกข์ต่างๆให้กับเรา

 เป็นตัวผลักดันจิตใจ ทำให้อยู่เฉยๆไม่ได้

 หลังจากที่ร่างกายนี้แตกดับไปแล้ว

ความอยากก็จะผลักให้จิตใจไปภพใหม่ภูมิใหม่ชาติใหม่

ไปเกิดอีก เพื่อจะได้ทำตามความอยากอีกนั่นเอง

ร่างกายนี้ก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง ที่เราใช้อยู่ทุกวัน

 เราต้องออกจากบ้านไปทำโน้นทำนี้ ไปที่นั่นไปที่นี้

เราก็ต้องใช้รถยนต์ พอรถยนต์พังไป

 แต่เรายังต้องออกไปนอกบ้าน อยู่เฉยๆไม่ได้

ก็ต้องไปหารถยนต์คันใหม่ ถ้ามีเงินก็ซื้อรถใหม่มา

 ถ้าไม่มีก็ขึ้นรถเมล์ขึ้นรถแท็กซี่

 แต่จะให้หยุดไปไหนมาไหนนี้หยุดไม่ได้

เพราะติดเป็นนิสัยแล้ว

 เคยสังเกตกันไหมว่าวันๆหนึ่ง เคยอยู่บ้านเฉยๆได้บ้างไหม

 เช่น วันหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์

เคยบอกกับตัวเองว่าวันนี้จะไม่ไปไหน ไม่ทำอะไร

 นอกจากเวลาไม่สบายเท่านั้นแหละที่ไม่ไป

ถ้าสบายดี เดี๋ยวต้องหาเรื่องไปจนได้

 เพราะมีความอยากฝังอยู่ในใจ

 เป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่คอยผลักดันให้รถวิ่ง

นี้คือปัญหาของพวกเราที่เราไม่รู้กัน

 มีคนอย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกเท่านั้น

 ที่รู้เรื่องราวเหล่านี้ดี เพราะได้ศึกษาจนเห็นแล้วว่า

ปัญหาคือความอยาก และก็รู้จักวิธีที่ดับความอยากนี้ได้

เป็นสิ่งที่ดับได้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่สุดวิสัย

ถ้าตั้งใจจะดับแล้ว ต้องดับได้

เช่นสูบบุหรี่ ถ้ารู้ว่าบุหรี่เป็นโทษ ทำให้ตายก่อนเวลาอันควร

 ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ก็เลิกสูบเสีย

 ตอนที่เลิกใหม่ๆก็ทรมานใจบ้าง แต่ไม่นานเดี๋ยวก็หายไป

 เป็นเหมือนการรักษาแผล ก็เจ็บบ้าง ใส่ยาไปเรื่อยๆ

 ทนไปสักหน่อย เดี๋ยวแผลหาย ความเจ็บก็หายไป

เหมือนกับเวลามีหนามตำอยู่ที่เท้า ก็ต้องบ่งออก

 ก็ต้องเจ็บบ้าง เวลาที่เข็มทิ่มแทงเข้าไป

แต่ถ้าไม่เอาออก เวลาเดินไปไหนมาไหน

 ก็จะเจ็บอยู่ตลอดเวลา จะไม่มีทางหายได้

จนกว่าจะเอาหนามออกมา

ถ้ายอมเจ็บตัวบ่งหนามสักหน่อย

 พอออกมาแล้วความเจ็บก็หายไป

พอแผลหายก็ไม่มีความเจ็บหลงเหลืออยู่เลย

ความอยากต่างๆ ก็เป็นเหมือนเสี้ยนหนาม

ที่ฝังอยู่ในจิตในใจ

 ที่เราต้องพยายามบ่งออกมาให้ได้

 อย่าปล่อยให้ฝังอยู่อย่างนั้น

 เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา การทำตามความอยาก

ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป

 แต่กลับทำให้เสี้ยนหนามคือความอยาก

 ฝังลึกเข้าไปในจิตในใจมากขึ้น

ทำให้เวลาที่จะต้องบ่งต้องถอนออกมา

ยิ่งทรมานยิ่งเจ็บมากยิ่งขึ้น เราจึงไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง

 ในการละความอยากต่างๆ เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ไปนานๆ

 ทำตามความอยากไปเรื่อยๆ ก็จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 เวลาที่จะถอนจะละ ก็จะทรมานจิตใจมากยิ่งขึ้นไป

ถ้าเราต้องการพบกับความสุขที่แท้จริง

 ก็ต้องละความอยากต่างๆ ด้วยปัญญาเป็นหลัก

 เพราะไม่มีอะไรจะถอดถอนกิเลส

 ถอดถอนตัณหาความอยากต่างๆได้

นอกจากปัญญาเท่านั้น สมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนปัญญา

 ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ ทานเป็นเครื่องสนับสนุนศีล

ถ้ายังไม่มีศีลก็ต้องทำบุญทำทานไปก่อน

 เมื่อทำบุญทำทานแล้วก็จะมีศีล

เมื่อมีศีลก็จะสามารถปฏิบัติให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้

เมื่อมีสมาธิแล้วก็จะสามารถใช้ปัญญา

ถอดถอนความอยากได้

เช่นเรารู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นโทษ

ถ้าไม่มีสมาธิเราจะเลิกมันไม่ได้ จะสู้มันไม่ไหว

ไม่มีกำลัง แต่ถ้ามีสมาธิแล้วใจจะมีกำลัง

 จะสามารถละความอยากสูบบุหรี่ได้

ความอยากทั้งหมด จะเป็นกามตัณหาก็ดี

ภวตัณหาก็ดี วิภวตัณหาก็ดี จะต้องดับด้วยปัญญา

 จะต้องถอดถอนด้วยปัญญา

โดยมีสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน

มีศีลเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ

มีทานเป็นเครื่องสนับสนุนศีล มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ

 เป็นเครื่องสนับสนุนทานอีกที

การที่เราจะรู้ว่าการทำบุญทำทานจะพาไปสู่การเจริญศีล

 การเจริญสมาธิ การเจริญปัญญา

 เพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ ด้วยการละตัณหา

ความอยากทั้งหลายให้หมดไปจากจิตจากใจ

 ก็เกิดขึ้นจากการมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ

ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ

 ฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ

 เราจะได้เข้าใจว่าทำไมต้องมาทำบุญทำทาน

ทำไมต้องรักษาศีล ทำไมต้องเจริญสมาธิ

ทำไมต้องเจริญปัญญา พิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งต่างๆ

 เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้ ล้วนเป็นโทษทั้งนั้น

 ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เป็นเหมือนยาพิษ อยู่คนเดียว

ไม่มีปัญหาอะไร พออยู่กับอีกคนหนึ่งก็มีปัญหาตามมา

 มีสามี มีภรรยา ก็มีปัญหามีความทุกข์ตามมา

ทุกข์เพราะความห่วงใย ทุกข์เพราะความกังวล

ทุกข์เพราะทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุกข์เพราะจากกัน

นี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา

 กับทุกสิ่งทุกอย่างที่ไปแสวงหามา เพราะไม่ใช้ปัญญากัน

 ทำตามความอยากกัน คิดว่ามีสามี มีภรรยา

จะมีความสุข ก็ไปหามาโดยไม่คิดว่าจะได้ทั้งความสุข

และความทุกข์ปนกันมา เป็นเหมือนกับเหรียญที่มีอยู่ ๒ ด้าน

 มีหัวมีก้อย ฉันใดทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากได้มาครอบครอง

 ก็เป็นเหมือนกับเหรียญที่มี ๒ ด้าน มีทั้งคุณมีทั้งโทษ

 มีทั้งทุกข์มีทั้งสุข แต่ไม่เห็นกัน เห็นเพียงด้านเดียว

 เห็นด้านความสุข แต่ไม่เห็นด้านความทุกข์ที่ตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ที่จะตามมาอย่างยาวนาน

 คือการเวียนว่ายตายเกิด ที่เกิดจากความอยากต่างๆ

 เราไม่เห็นกัน ก็เลยต้องมาเวียนว่ายตายเกิด

อย่างที่เป็นอยู่กันทุกวันนี้ ภพชาติต่างๆที่เราเคยผ่านมาแล้ว

 นับไม่ถ้วน นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้

 มากมายก่ายกอง และจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่ถอดถอนความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากจิตจากใจ

 มันก็จะฉุดลากพาเราไปแบบลุ่มๆดอนๆ

สุขบ้างทุกข์บ้าง เวลาสุขก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่เวลาทุกข์นี้ทรมานมาก ดีไม่ดีอาจจะทนอยู่ไม่ได้

 เวลาที่มีความทุกข์มากๆ

ถึงกับทำร้ายชีวิตของตนเองไปก็มี

 เพราะคิดว่าเมื่อทำลายชีวิตแล้ว

ความทุกข์ก็จะถูกทำลายไปด้วย

แต่ความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกายแต่อยู่ที่ใจ

 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายไม่ได้ ทำลายร่างกายก็ไม่ได้

ทำลายความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ

เพราะความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ เกิดจากความอยากต่างๆ

 ถ้าอยากจะทำลายความทุกข์ก็ต้องทำลายความอยาก

 ต้องลดความอยาก ละความอยากทั้ง ๓ ประการ

คือ ความอยากในกาม กามตัณหา

ความอยากมีอยากเป็น ภวตัณหา

ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

วิภวตัณหา นี้คือเป้าหมายของชีวิตที่แท้จริง

 เป็นศัตรูที่แท้จริง ที่เราจะต้องทำลายให้ได้

ขอให้ใช้เหตุผลเวลาต้องการอะไร

ให้ถามว่ามีความจำเป็นไหม ถ้าไม่มีแล้วจะอยู่ได้ไหม

ถ้าคำตอบคืออยู่ได้ ก็แสดงว่าไม่จำเป็น

 แต่ถ้าไม่มีแล้วอยู่ไม่ได้ก็ถือว่าจำเป็น

 สิ่งที่หามาด้วยความจำเป็นไม่ถือว่าเป็นความอยาก

 เช่นลมหายใจมีความจำเป็นไหม

 ถ้าไม่มีลมหายใจจะอยู่ได้หรือไม่ อยู่ไม่ได้

อย่างนี้มีความจำเป็น ต้องมีลมหายใจ

แต่รถยนต์มีความจำเป็นไหม ถ้าไม่มีรถยนต์อยู่ได้หรือไม่

ถ้าอยู่ได้และถ้าไม่มีปัญญาไม่มีเงินทองที่จะไปซื้อมา

ไปดิ้นรนหามันมาทำไม ให้เหนื่อยยากไปเปล่าๆ

ความสุขที่ได้จากรถไม่คุ้มกับความทุกข์ที่ตามมา

 ทุกข์ที่จะต้องคอยผ่อนหนี้ ทุกข์ที่จะต้องคอยซ่อมแซม

ทุกข์ที่จะต้องคอยเติมน้ำมัน มีแต่ความทุกข์

มีแต่ปัญหาต่างๆตามมา เราไม่คิดกัน

ถ้าหยุดคิดกันสักหน่อยก็จะตัดปัญหาต่างๆได้

ตัดความอยากต่างๆได้ เราสามารถทำได้ทุกคน เ

มื่อตัดความอยากได้มากน้อยเพียงไร

ความทุกข์ก็จะหมดไปมากน้อยเพียงนั้น

ถ้าตัดความอยากได้หมดเลย

ก็จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ในจิตในใจเลย

 นี้คือสิ่งที่เราควรพุ่งเป้าไป คือการตัดความอยาก

ละความอยากทั้ง ๓ ให้หมดไปจากจิตจากใจ

 เพราะไม่มีอะไรเป็นโทษมากกว่าความอยากทั้ง ๓ นี้

เราจึงต้องศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมให้เกิดความเข้าใจ

 ให้รู้อย่างแจ้งชัดเจนว่า ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ความหลง

 ที่ไม่รู้ว่าความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์

ทุกวันนี้ที่เราทุกข์กันก็ทุกข์เพราะความอยาก

 เราจึงต้องเข้าฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ

 เพื่อจะได้คอยเตือนสติ

 คอยสอนเราไม่ให้ไปอยากกับอะไรในโลกนี้

 เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง

เป็นความทุกข์มากกว่าความสุข

ไม่มีกลับสบายกว่า กลับมีความสุขมากกว่า

เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด กับคนที่ไม่ติดยาเสพติดนี้

ใครจะมีความทุกข์มากกว่ากัน

คนที่ไม่เสพนั้นแหละมีความทุกข์น้อยกว่าคนที่เสพ

 ฉันใดคนที่ไม่มีอะไรเลย

 มีความทุกข์น้อยกว่าคนที่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้

คนที่ไม่มีสามีไม่มีภรรยาเป็นคนที่สบายกว่า

 ทุกข์น้อยกว่าคนที่มีสามีมีภรรยา

แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็จะมองไม่เห็น

จะคิดว่ามีสามี มีภรรยา แสนจะสุขกัน นี้คือความหลง

 เราจึงต้องเข้าวัดมาศึกษา มาฟังเทศน์ฟังธรรม

อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มาทำกันอย่างสม่ำเสมอ

 มากันอย่างต่อเนื่อง ควรทำต่อไปเรื่อยๆ

แล้วปัญญาจะเจริญงอกงาม ทำให้เห็นผิดเป็นผิด

 เห็นทุกข์เป็นทุกข์ เห็นสุขเป็นสุข

 ไม่ได้เห็นตรงกันข้ามอย่างที่พวกเราเห็นกันทุกวันนี้

เรายังเห็นทุกข์เป็นสุขอยู่ จึงวิ่งไปหาความทุกข์อยู่

ไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่รู้จักเบื่อ

 พอทุกข์ขึ้นมาก็ร้องห่มร้องไห้ โทษคนนั้นโทษคนนี้

แต่ไม่เคยโทษตัวเองเลย

 ไม่โทษความหลงความโง่เขลาของตน

ที่วิ่งไปหาความทุกข์ต่างๆ เราก็มีตัวอย่างที่ดีแล้ว

 เช่นพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย

ท่านได้ดำเนินชีวิตสู่ความสุขอย่างแท้จริง

 ให้พวกเราดูกัน เราก็ไม่ยึดเอามาเป็นแบบเป็นฉบับ

 กลับไปยึดแบบของคนโง่ ที่ต้องมีสมบัติข้าวของเงินทอง

มีอะไรต่อมิอะไรมากมายก่ายกอง

 แล้วก็มาร้องห่มร้องไห้ มาทุกข์มาวุ่นวายใจ

 ไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะไม่มีปัญญา คิดไม่เป็น

ถ้ายึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแบบเป็นฉบับแล้ว

 รับรองได้ว่าชีวิตของเรา จะเดินไปสู่ความสุข

ไกลจากความทุกข์อย่างแน่นอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

กัณฑ์ที่ ๒๖๓ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

(กำลังใจ ๒๓)

“การไม่เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”









ขอขอบคุณ fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 มิถุนายน 2559
Last Update : 12 มิถุนายน 2559 15:21:49 น.
Counter : 655 Pageviews.

0 comment
### การระลึกถึงความตาย ###










การระลึกถึงความตาย

ว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน

ยังทำให้เราตระหนักว่าคนที่เราพบปะเกี่ยวข้องนั้น

 อาจจะจากไปเมื่อไรก็ได้

 การพบปะกับเขาอาจเป็นการพบปะกันครั้งสุดท้าย

เมื่อใดก็ตามที่คิดได้เช่นนี้ เราจะตระหนักว่า

เวลาที่อยู่กับเขาขณะนั้นเป็นเวลาที่สำคัญมาก

 เราจะให้ความสำคัญกับเขามากขึ้น

ใส่ใจกับความรู้สึกของเขายิ่งกว่าเดิม

แทนที่จะพูดหรือทำกับเขาตามความเคยชิน

 ก็จะนุ่มนวลหรืออ่อนโยนกับเขามากขึ้น

ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราไม่ค่อยมีเวลาให้แก่กัน

 ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของกัน

 เพราะคิดว่าเรามีโอกาสที่จะได้พบกันอีก

 การคิดว่ายังมีเวลาอยู่ด้วยกันอีกนาน

ทำให้เราไม่ใส่ใจความรู้สึกของกันและกันเท่าที่ควร

จึงทำให้มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่าย

และเมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็คิดว่า

ไม่ต้องรีบปรับความเข้าใจกันก็ได้

 เพราะมีเวลาอีกมากที่จะคืนดีกัน

 การคิดเช่นนี้จัดว่าเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง

 แต่หากเราตระหนักว่าความตาย

อาจพรากจากเราไปเมื่อไรก็ได้ เราจะเปลี่ยนท่าที

และใส่ใจกันมากขึ้น.

พระไพศาล วิสาโล







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 มิถุนายน 2559
Last Update : 9 มิถุนายน 2559 10:56:17 น.
Counter : 640 Pageviews.

0 comment
### พรหมวิหารธรรม ###










“พรหมวิหารธรรม”

พวกเราทั้งหลายที่ได้เกิดเป็นมนุษย์

เรียกว่าเป็นสัตว์สังคม

 ไม่สามารถที่จะอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย ตามลำพังได้

 ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม

ตั้งแต่สังคมเล็กไปสู่สังคมใหญ่

 คือ เริ่มต้นจากสังคมครอบครัว ระหว่างสามี ภรรยา

 แล้วก็ลูกที่จะตามออกมา

เรียกว่าอยู่แบบสังคมครอบครัว

 หลายๆ ครอบครัวเข้าก็กลายเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน

 เป็นเมือง เป็นประเทศ ขึ้นมา

และการที่สังคมนั้นๆ

 จะอยู่กันได้ อย่างร่มเย็น เป็นสุข

 จิตใจของคนในสังคมนั้น จะต้องมีคุณธรรม

คือ มีธรรมะคุ้มครองปกครองจิตใจ

จึงทำให้สังคมมนุษย์นั้น

อยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

 ไม่เบียดเบียนกัน คุณธรรมที่จะปกครองจิตใจ

 ของคนในสังคมให้อยู่กันได้

 ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น

 เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ วิหาร

แปลว่า ที่อยู่ พรหม คือ พระพรหม หรือผู้ที่ประเสริฐ

พรหมวิหาร จึงแปลว่า ที่อยู่ของพระพรหม

หรือที่อยู่ของผู้ประเสริฐ พระพรหมท่านเป็นผู้ประเสริฐ

 ท่านมีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

 อยู่ในจิตใจของท่าน

ถ้าปรารถนาที่จะมีพระพรหมอยู่ในจิตใจ

 เราก็ต้องน้อมเอา พรหมวิหาร ๔ เข้ามาสู่จิตใจของเรา

พรหมวิหาร ๔ ประกอบด้วย

 ๑. เมตตา ๒. กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา

คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

 เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์

ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน สังคมตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป

ถ้าขาดพรหมวิหาร ๔ แล้ว

บ้านเมืองก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา

 เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง

เกิดการเบียดเบียนกันและกันขึ้นมา

 ถ้ามีพรหมวิหาร ๔

มนุษย์เราจะอยู่กันได้ด้วยความผาสุก

 เพราะพรหมวิหาร ๔ นั้น

 สอนให้เราไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

 ให้เราอยู่กัน แบบฉันมิตร ฉันเพื่อน ฉันพี่ ฉันน้อง

พวกเราทุกคนนั้นเปรียบเสมือน

เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้ เป็นพี่ เป็นน้องกัน

 ไม่จำเป็นที่จะต้องเบียดเบียนกัน

ไม่จำเป็นที่ต้องเอาความทุกข์มาให้กันและกัน

 ถ้าเราปรารถนาที่จะอยู่ในสังคม ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

 ก็ขอให้เราเจริญพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

เมตตาหมายถึง ความเป็นมิตร มีไมตรีจิตต่อกันและกัน

 มองกันเหมือนเพื่อน ไม่มองกันแบบศัตรู

ถือเป็นพี่ เป็นน้องกัน ดังในบทเมตตาภาวนา

ที่ท่านแสดงว่า “สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ”

ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย

เวรคือความไม่อาฆาตพยาบาท เคียดแค้น ต่อกันและกัน

จริงอยู่ คนเราอยู่ในสังคมด้วยกันนั้น มันก็เหมือนลิ้นกับฟัน

 อยู่ด้วยกันมันก็เป็นเรื่องปกติ

 ที่ลิ้นกับฟันจะต้องมีการกระทบกันบ้าง

 คนเราก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง

มีการผิดใจกันบ้าง บาดหมางใจกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา

 แต่เราก็สามารถที่จะควบคุมเรื่องเหล่านี้

 ไม่ให้มันลุกลามเป็นพิษ เป็นภัย ขึ้นมาได้

ถ้าเรามีเมตตา คือ รู้จักให้อภัย

 อเวรา ก็หมายถึง การให้อภัย แก่กันและกัน

 เวร ย่อมระงับ ด้วยการไม่จองเวร

ถ้าไปจองเวรกัน ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กัน

 จากเรื่องเล็ก ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่

และในที่สุดฆ่ากันตาย

จากการที่ไม่รู้จักให้อภัยต่อกันและกัน

เวลาเรามีความโกรธ พระพุทธองค์ทรงสอน

 ให้เราให้อภัยต่อผู้ที่สร้างความโกรธให้กับเรา

 ให้เอาชนะความโกรธ อย่าไปชนะผู้อื่น

ชนะตน นั้นประเสริฐ เพราะเมื่อชนะตน

 ชนะความโกรธได้แล้ว ใจจะเย็น ใจจะสงบ

เมื่อใจเย็น ใจสงบ

 เราก็จะไม่ไปสร้างความทุกข์ ให้แก่ผู้อื่น

 ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี

 แต่ถ้าเราไม่สามารถระงับความโกรธได้

 เราก็จะออกไปด่า ออกไปว่า ออกไปทำร้ายผู้อื่น

 เพราะความโกรธความเคียดแค้นของเรา

เมื่อไปทำเขาแล้ว เขาก็เกิดความโกรธ

ความเคียดแค้นขึ้นมาด้วยเหมือนกัน

เพราะเขาก็เป็นปุถุชน

คนธรรมดาสามัญ เหมือนอย่างเรา

 เมื่อตอบโต้กันไป ตอบโต้กันมา

 มันก็เกิดความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ

ในที่สุดก็ถึงกับฆ่ากันตายเลยทีเดียว

 นี่คือผลของการที่ไม่ให้อภัยกัน

อเวราโหนตุ จึงขอให้เราให้อภัยต่อกันและกัน

ถ้าให้อภัยกันแล้วทุกอย่างก็จะสงบ ทุกอย่างก็ยุติ

ใครเขาจะด่าเรา ใครเขาจะทำอะไรเรา

เอาข้าว เอาของ เอาเงิน เอาทองของเราไป

 เราไม่โกรธเคือง ให้คิดว่าใช้หนี้ไป

 ชาติก่อนเราเคยไปทำอะไรเขาไว้

ไปฉกชิงข้าวของของเขามา

ไปสร้างความทุกข์ใจให้กับเขา ชาตินี้ เขาก็มาเอาคืน

ถ้าเราไม่ไปโต้ไปตอบเดี๋ยวมันก็จบ

แต่ถ้าเราไปตอบโต้ มันก็จะต่อกันไปเรื่อยๆ

จากภพนี้ก็จะไปสู่ภพหน้าไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

เมตตาหมายถึงการไม่เบียดเบียนกัน

 “สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ”

การเบียดเบียนกันคือ การสร้างความทุกข์ให้แก่กัน

 ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี เช่น การฆ่ากัน

การเอาสมบัติของผู้อื่นไป การประพฤติผิดประเวณี

ล่วงเกินสามี ภรรยา บุตร ธิดา ของผู้อื่นเขา

 การโกหกหลอก ลวงผู้อื่น ท่านทรงสอนให้ละเว้น

ถ้าไม่ละเว้น มันก็จะทำให้ไม่สามารถอยู่กันได้

ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข สังคมก็จะวุ่นวาย

สังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่า

ขาดความเมตตาต่อกันและกัน

 มีการเบียดเบียนกันอยู่เป็นประจำ

เวลาเปิดหนังสือพิมพ์ขึ้นมา จะมีข่าวปล้นกัน

 จี้กัน ฆ่ากัน ข่มขืนกัน อยู่ตลอดเวลา

 เพราะว่าคนเราไม่ค่อยเข้าวัดกัน

ไม่นำเอาธรรมะเข้าสู่จิตใจ

ไม่มีพรหมวิหารธรรมอยู่ในจิตใจ

คือไม่มีความเมตตานั้นเอง

 เมื่อไม่มีความเมตตาแล้ว ก็มีแต่ความโกรธแค้น

 โกรธเคือง ต่อกันและกัน คอยแต่จะเบียดเบียนกัน

และสร้างความทุกข์ให้แก่กันและกัน

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเรา

 มีเมตตาต่อกันและกัน เพื่อความสุข

ความสงบร่มเย็นในสังคมนั้นเอง

กรุณาคือความสงสาร เวลาเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก

 ถ้าเรามีเงินทอง มีฐานะดี มีกำลังพอที่จะช่วยเหลือได้

 ก็ควรจะช่วยเหลือกัน คนเราเวลาล้มลงไปนี่

บางทีมันก็ลุกขึ้นเองไม่ได้

 ต้องอาศัย คนอื่นช่วยกันพยุงขึ้นมา

ชีวิตของคนเรานั้น ก็เหมือนๆกัน

เพราะเราอยู่ในโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 อาจจะมีวันหนึ่งที่เราพลาดไป

ชีวิตของเราอาจจะตกอับก็ได้

หรืออาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ

ประสบปัญหาต่างๆ นานา

เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดยื่นมือมาช่วยเหลือเรา

มันก็จะทำให้ความทุกข์

ซึ่งหนักหนาสาหัสนั้นเบาบางลง

 ทำให้เราเกิดความรู้สึกสบายใจขึ้น มีความสุขขึ้น

 ถ้าเราเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากแล้ว ขอให้เราอย่าอยู่เฉย

 อย่าไปมองว่า ตัวใคร! ตัวมัน!

จริงอยู่ พระพุทธองค์ทรงสอน

 อัตตาหิ อัตตโน นาโถ

ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้น

 หมายถึงในกรณีที่สามารถพึ่งตัวเองได้

 ถ้าสามารถทำมาหากิน เลี้ยงปาก เลี้ยงท้องได้

 เราก็ไม่ควรไปขอผู้อื่นเขา แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย

 พิกลพิการขึ้นมา ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้

 ก็เป็นหน้าที่ของพวกเรานี่แหละที่จะต้องช่วยเหลือกัน

 ที่ไหนมีความกรุณา ที่นั้นย่อมมีความสุข

 ที่ไหนขาดความกรุณา

ที่นั้นย่อมมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก

 จึงขอให้เราใช้หลัก อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ให้ถูกต้อง

ไม่ได้หมายความว่า ตัวใครตัวมัน

ให้พึ่งตัวเองเมื่อยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

แต่ถ้าไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้

เช่น บิดามารดา ยามท่านแก่ ท่านชรา

ท่านไม่สามารถเลี้ยงดูตัวท่านเองได้

พวกเราเป็นลูกก็จะต้องทำหน้าที่ดูแลท่าน

 เป็นความกรุณา และเป็นความกตัญญูกตเวทีด้วย

นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ผู้ใดทำสิ่งเหล่านี้

ผู้นั้นย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี เป็นผู้ประเสริฐ

 มีความสุขใจเพราะจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลนั้นเอง

มุทิตาหมายถึงความยินดีในความสุข

ในความดีของผู้อื่น เวลาเห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี

มีความเจริญรุ่งเรือง เช่นได้เงินเดือนขึ้น ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น

 มีความสุข ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ อย่างนี้เป็นต้น

ให้แสดงความยินดีกับเขา ไม่ควรอิจฉาริษยาเขา

ขอให้ถือว่า เป็นบุญของเขา เ

ขาได้ทำความดีไว้ เมื่อถึงเวลา ความดีก็ส่งผลขึ้นมา

 ถ้าไม่มีมุทิตาจิตแล้ว จิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน

 มีความอิจฉาริษยา เห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี

เรากลับเป็นทุกข์เป็นร้อนไป เพราะขาดมุทิตาจิตนั้นเอง

อุเบกขาคือการปล่อยวาง วางเฉย

 ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เมตตา กรุณา และมุทิตาได้

ก็ต้องใช้อุเบกขา เช่นมีคนที่เรารักเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย

 แล้วไม่มีทางที่จะรักษาได้

อย่างนี้เราต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา

 คืออย่าไปโศกเศร้าเสียใจกับความทุกข์ของเขา

 ถ้าช่วยเหลือได้ ก็ช่วยเหลือกันไป

แต่ถ้าช่วยไม่ได้ ก็ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา

 ขอให้ถือว่าเป็นวิบากกรรมของเขา

 พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า

สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน

เป็นผู้ที่รับผลของกรรม จะทำกรรมอันใดไว้

 ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

 คนเราในอดีตชาติ หรือในอดีตที่ผ่านมานั้น

 อาจจะไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามไว้

 และเมื่อถึงเวลาที่ผลของกรรมนี้ปรากฏผลขึ้นมาแล้ว

ไม่มีใครช่วยเหลือได้ ใครทำกรรมอะไรไว้

 ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไป

ถ้าไม่ปรารถนา ที่จะประสบกับเคราะห์กรรม

 ก็ขอให้ละเว้นจากการกระทำความชั่วทั้งหลายเสีย

ให้ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ทำแต่สิ่งที่ดี ที่งาม

 เมื่อทำแต่สิ่งที่ดี ที่งามแล้ว

 เคราะห์กรรมต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา

แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเรา หรือกับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดก็ตาม

 เราก็ต้องเจริญอุเบกขา อย่าไปโศกเศร้าเสียใจกับเขา

 อย่าไปทุกข์กับเขา เพราะความโศกเศร้าเสียใจของเรา

 จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับนั้น

 มันไม่สามารถจะแก้ปัญหาของเขาได้

มีแต่ จะทำให้เราทุกข์ไปเปล่าๆเท่านั้นเอง

การใช้เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

จึงควรใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะ

ให้เหมาะกับกาล กับเวลา กับโอกาส

เหมือนกับการขับรถยนต์

 เวลาขับรถต้องใช้เกียร์หลายเกียร์ด้วยกัน

 คือต้องใช้ทั้งเกียร์เดินหน้า ใช้ทั้งเกียร์ถอยหลัง

ทั้งเกียร์สูง ทั้งเกียร์ต่ำ

เช่นเวลาออกรถถ้าใช้เกียร์สูง รถก็ออกวิ่งไม่ได้

 ต้องใช้เกียร์ต่ำรถถึงจะออกวิ่งไปได้

 แล้วค่อยขยับเป็นเกียร์สูงต่อไป

ชีวิตเราก็เหมือนกัน บางครั้งก็ต้องใช้เมตตา

 บางครั้งก็ต้องใช้กรุณา บางครั้งก็ต้องใช้มุทิตา

บางครั้งบางคราวก็ต้องใช้เบรกคืออุเบกขา

 ถ้าเราไม่รู้จักวิธีใช้ให้ถูกต้องแล้ว

 เราจะมีแต่ความสับสน วุ่นวายใจ มีความไม่สบายใจ

 แต่ถ้ารู้จักใช้พรหมวิหาร ๔ ได้อย่างถูกต้อง

 ถูกกาลเทศะแล้ว เราจะมีแต่ความสุขใจ

มีแต่ความสบายใจ

เวลาเจริญพรหมวิหาร ๔ อย่าไปพะวงถึงผู้อื่น

ว่า ทำไมเขาไม่มีเมตตา ถ้าเขาไม่มีเมตตากับเรา

 เราก็จะไม่ให้ความเมตตากับเขา

 อันนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูก

ผู้ที่เจริญพรหมวิหาร ๔ นั้น ไม่ได้หวังผลจากผู้อื่น

 แต่หวังผลที่จะเกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง

 เพราะผู้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

 จิตใจย่อมมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

 ไม่ทุกข์ร้อน ไปกับเรื่องราวของบุคคลที่อยู่รอบตัว

อย่าไปตั้งข้อแม้ว่า

ถ้าผู้อื่นไม่มีเมตตา เราก็จะไม่มีเมตตาด้วย

 แล้วถ้าเขาไม่กินข้าว

 เราก็จะไม่กินข้าวตามไปด้วยหรือเปล่า

 ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็อดตายพอดี

คนอื่นไม่กินข้าวมันก็เรื่องของเขา

 เรากินของเราไปก็แล้วกัน กินแล้วเราก็อิ่ม

 การเจริญพรหมวิหาร ๔ ก็เช่นกัน

 เป็นการให้อาหารกับจิตใจ ถ้ามีพรหมวิหาร ๔ แล้ว

 จิตใจจะมีแต่ความสงบสุข มีแต่ความร่มเย็น

 ทำให้สังคมนั้นร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

กัณฑ์ที่ ๑๙ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

(กำลังใจ ๒)

“พรหมวิหารธรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 มิถุนายน 2559
Last Update : 9 มิถุนายน 2559 10:45:56 น.
Counter : 624 Pageviews.

0 comment
### สุดยอดของกิเลสก็คืออวิชชา หรือโมหะความหลง ###










“สุดยอดของกิเลสก็คืออวิชชา

 หรือโมหะความหลง”

ถาม : ไม่มีสติกับใจลอยนี่เหมือนกันไหม

พระอาจารย์ : เหมือนกัน

 ลอยมากๆก็กลายเป็นคนไร้สติไป

 เรื่องกิเลสไม่ได้เกี่ยวกับสติ

 กิเลสมีอยู่ในจิตของปุถุชนทุกคน

 จิตของปุถุชนกับจิตของพระพุทธเจ้าต่างกัน

ตรงที่มีกิเลสหรือไม่มีกิเลส

เป้าหมายของปุถุชนก็อยู่ที่การชำระจิตให้สะอาด

 ไม่ให้มีกิเลสหลงเหลืออยู่

ให้เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์

อวิชชาเป็นเจ้านายใหญ่ของกิเลส

 สุดยอดของกิเลสก็คืออวิชชา หรือโมหะความหลง

 คือไม่เห็นไตรลักษณ์นี่เอง ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ในสภาวธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่เห็นก็หลงยึดติด

 อยากจะอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปนานๆ

อยากจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่กับตนไปนานๆ

 แสดงว่าไม่เห็นความจริง ถ้าคนเห็นความจริง จะรู้ว่า

จะต้องจากกันไป แล้วจะอยากไปทำไม

จะเห็นความทุกข์ที่ตามมาด้วย

ถ้าอยากแล้วใจจะวุ่นวายกระสับกระส่ายขึ้นมาทันที

 อยากให้คนนั้นคนนี้อยู่ไปนานๆ ใจก็กระสับกระส่ายแล้ว

นี่ก็คือความทุกข์ แล้วก็จะเห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

 ไม่เป็นสิ่งที่จะควบคุมบังคับให้เป็นไปตาม ความต้องการได้

 เป็นเหมือนต้นไม้ใบหญ้า เหมือนแดดลม

 มาแล้วก็ไปตามเรื่องของเขา

 แต่เราชอบไปคว้าเอาเข้ามาว่าเป็นของเรา

ให้อยู่กับเราไปนานๆ จึงเกิดปัญหาต่างๆตามมา

ต้องคอยดูแลรักษา ต้องหาวิธีต่างๆรักษาให้อยู่กับเรา

แต่ในที่สุดก็ต้องหมดไป

เราพยายามดูแลรักษาร่างกายแทบเป็นแทบตาย

 แต่เดี๋ยวก็ต้องหมดไป

ทำได้แค่ให้อยู่ได้นานหรือไม่นาน เท่านั้นเอง

 อย่างนี้พอจะทำได้ พอจะดูแลได้

ถ้าไม่กินเหล้าเมายา ไม่สำมะเลเทเมา

รับประทานอาหารพอประมาณ

 หลับนอนพักผ่อนพอประมาณ

ออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ ก็จะอยู่ได้นาน

 ถ้าใช้แบบสมบุกสมบันก็จะอยู่ได้ไม่นาน

เหมือนกับรถยนต์ถ้าใช้แบบทะนุถนอม

ก็มีอายุยาวกว่า ใช้แบบสมบุกสมบัน

ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน

อย่างหลวงตาท่านนั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่เรื่อยๆ

ก็ไม่ค่อยได้ใช้มากเท่าไหร่ จึงมีอายุยืนยาวนาน

ถ้าเอาไปเที่ยวกินเหล้าเมายาดูหนังฟังเพลง

 อดหลับอดนอน เพราะติดหนังติดละคร

พอตื่นแล้วก็ต้องไปทำงานต่อ

ร่างกายก็ไม่มีเวลาพักผ่อนเท่าที่ควร

ใช้ร่างกายหาเงินแล้วก็ต้องใช้มันไปเที่ยวต่ออีก

 จึงไม่ได้พักผ่อนอย่างพอเพียง ก็จะมีอายุสั้น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๓๗๗ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑

 (จุลธรรม ๑๒)

“ตัวรู้กับสติ”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 มิถุนายน 2559
Last Update : 8 มิถุนายน 2559 10:29:47 น.
Counter : 804 Pageviews.

1 comment
### ปล่อยวาง ###











“ปล่อยวาง”

การทำบุญที่แท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นกับเวลา

ไม่ได้ขึ้นกับสถานที่เป็นหลัก

หลักใหญ่แล้ว อยู่ที่จิตใจของเรา ว่าปล่อยวางหรือเปล่า

 หรือยังยึดมั่น ถือมั่นอยู่ ถ้าจิตใจปล่อยวางได้แล้ว

 จิตใจจะมีแต่ความสบายใจ แต่ถ้าจิตใจยังยึดมั่น ถือมั่น

 ว่าสิ่งนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้น จะต้องเป็นอย่างนั้น

เมื่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปตามที่เราปรารถนา

 จิตใจก็จะมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความไม่สบายใจ

แต่ถ้าปล่อยวางได้ เช่น วันนี้เราเอาข้าวของ

 เอาอาหาร มาถวายพระ เราก็ปล่อยวาง

คือ ข้าวของที่เอามาทำบุญนั้น เรายกให้คนอื่นเขาไปแล้ว

 เขาจะเอาไปทำอะไรก็เรื่องของเขา

 เรามีของเหลือกิน เหลือใช้แล้ว ก็แบ่งปันให้คนอื่นไป

 เก็บไว้ก็มีแต่ความหวงแหน มีแต่ความเสียดาย

 มีแต่ความทุกข์ เวลาโดนขโมยลักของไปก็จะเสียใจ

 แต่ถ้าได้ยกให้คนอื่นเขาไปแล้ว ก็จะเกิดความสบายใจ

 ของเรานี้ไม่มีความหมายอะไร มันอยู่ที่ใจเราต่างหาก

 ถ้าพร้อมที่จะสละแล้ว

ใครจะเอาไปทำอย่างไร เราก็ไม่ทุกข์ใจ

แต่ถ้าเรายังไม่ปล่อย ยังยึดติดอยู่ ว่าเป็นของของเรา

 พอมีคนอื่นหยิบเอาไปเสียก่อน เราก็จะเสียใจมาก

พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น

เรื่องของความทุกข์ในจิตใจของพวกเรา

 จึงสั่งสอนพวกเรา ไม่ให้ยึดติดกับอะไร

เพราะว่าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้นั้น

 แท้ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เป็นของของเรา

มันเป็นของที่มีอยู่กับโลกนี้ มาแต่ดั้งเดิม

 เราเพียงแต่มาอาศัยโลกนี้อยู่

พึ่งพาอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปวันหนึ่งๆเท่านั้นเอง

 ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งของเหล่านี้

และบุคคลต่างๆทั้งหมด จะต้องแยกกันไปในวันหนึ่ง

เมื่อถึงเวลา ไม่ว่าจะเป็นสามีของเราก็ดี ภรรยาของเราก็ดี

 บิดามารดาของเราก็ดี ลูกหลานของเราก็ดี

 เพื่อนสนิทมิตรสหายของเราก็ดี

ต้องมีอันพลัดพรากจากกันไป เป็นธรรมดา

 เพราะมันเป็นธรรมชาติของโลกนี้ที่จะต้องเป็นอย่างนี้

หลังจากที่พวกเรา ได้ตายไปในภพก่อน ชาติก่อนแล้ว

 ดวงวิญญาณของพวกเรา ก็มาเกิดในชาตินี้

มายึดครองร่างกายอันนี้ แล้วก็อาศัยร่างกายอันนี้

 ไปยึด ไปครองสิ่งต่างๆในโลกนี้ แล้วก็ทุกข์ไปกับสิ่งเหล่านี้

 เพราะอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความอยากของเรา

 แต่ก็ไม่เป็นไปตามอย่างที่เราปรารถนากัน

 เพราะว่าโลกนี้เป็นโลกของอนิจจัง

 อนิจจัง คือความไม่จีรัง ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืนนั้นเอง

อยู่กับเรา ชั่วประเดี๋ยว ประด๋าว สักระยะหนึ่ง

 แล้วก็จากไป เช่น วันนี้ญาติโยมได้มาทำบุญที่วัดนี้

มาพบพระภิกษุ สามเณร ที่จำพรรษาอยู่ในวัดนี้

เดี๋ยวอีกสักครู่หนึ่ง ท่านทั้งหลายก็ต้องแยกย้ายกันไป

 นี่คือลักษณะของโลกนี้

พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอน

ไม่ให้พวกเราไปยึดติดกับอะไร เพราะถ้าไปยึดติดปั๊บ

 พอไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา ตามที่ต้องการ

ก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ ท่านจึงทรงสอนให้ปล่อยวาง

ทำอะไรก็ให้ปล่อยวาง เวลามีทรัพย์สมบัติ ข้าวของ เงินทอง

มากน้อยแค่ไหนก็ตาม จะรักษาเก็บไว้อย่างไรก็ได้

แต่ใจต้องพร้อมที่จะจากกันไป

 เพราะไม่รู้ว่าจะตายจากกันเมื่อไรนั่นเอง

วิธีหนึ่งที่จะตรวจสอบว่า ใจเรายังมีความยึดมั่น

ถือมั่นกับข้าวของ เงินทองหรือเปล่า

 ก็คือการทำบุญให้ทานนั้นเอง

ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะทำบุญทำทานได้อย่างสบายใจ

 แล้วก็มีความสุขใจ แต่ถ้ายังยึดติดอยู่กับเงินทอง

 ข้าวของแล้วละก้อ เวลาจะทำบุญ ให้ทานผู้อื่น

จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบาก

ถ้าเป็นเช่นนี้ ต้องพยายามเอาชนะใจให้ได้

ต้องพยายามฝืนใจ พยายามต่อสู้กับความตระหนี่

 ความยึดมั่น ถือมั่น ความหวงแหนทั้งหลาย

ต้องบอกตัวเราว่าอย่าไปยึด อย่าไปติด

 เกิดมีการพลัดพรากจากกัน ก่อนที่เราจะทำใจได้

ก็จะเกิดความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

นี่คือเรื่องของการดูแลจิตใจของเราไม่ให้ทุกข์

 ด้วยการปล่อยวาง ความยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งต่างๆในโลกนี้

พยายามสอนใจว่า เราเกิดมาในโลกนี้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

 ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมดไป เราก็ต้องจากไป

 จะไปดี หรือไปไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรา

 ถ้าจิตใจมีแต่การปล่อยวาง จิตใจก็จะไปดี

จะไปด้วยความสุข แต่ถ้าจิตใจ มีแต่ความยึดมั่น ถือมั่น

 เวลาจากโลกนี้ไป จะมีแต่ความทรมานใจอย่างยิ่ง

มีแต่ความหวาดกลัว เกิดความทุกข์

เกิดความไม่อยากจะไปนั้นเอง

ถ้าเราไม่ยึดไม่ติดแล้ว เมื่อถึงเวลา ก็พร้อมที่จะไป

ก็ไปได้อย่างสบายใจ ไปอย่างไม่ทุกข์ใจ

จิตที่ไปด้วยความสบายใจ ก็จะไปสู่สุคติ

จิตที่ไปด้วยความทุกข์ทรมานใจ ก็จะไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย

 เพราะความยึดมั่น ถือมั่น เป็นเหตุนั้นเอง

ดังนั้นถ้าอยากจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

 และตายจากโลกนี้ไปด้วยความสงบสุขละก้อ

จงพยายามฝึกหัดการปล่อยวาง อย่าไปยึด

 อย่าไปติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ พยายามทำความเข้าใจว่า

 สิ่งต่างๆที่รวมกันอยู่ เป็นตัวเรานั้น

เป็นของที่เขาให้ยืมเอามาใช้ ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น

สักวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลา เจ้าของจะมาเอาคืนไป

เจ้าของนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือธรรมชาตินี้เอง

 คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง

ท่านจึงทรงแสดงไว้ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา

สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

 สัพเพ ธัมมา อนัตตา หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่

เป็นอยู่ แม้กระทั่งร่างกายของเรา ก็ไม่ได้เป็นของเรา

 อนัตตา แปลว่าไม่ใช่ของของเรา เป็นของโลกนี้

 ทุกๆอย่างเป็นของยืมมาใช้

เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องปล่อยคืนสิ่งเหล่านั้นไป

จึงขอให้พวกเราทุกๆคน จงสร้างบุญ สร้างกุศล

ด้วยการพยายามสอนตัวเราอยู่เรื่อยๆ

 ให้ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ว่าสักวันหนึ่งเราก็จะต้องตาย

และจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ อาจจะตายพรุ่งนี้ก็ได้

หรืออาจจะเป็นเย็นนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นเที่ยงนี้ก็ได้

 หรืออาจจะเป็นอีกสิบปี ยี่สิบปีก็ได้

 ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้

ถ้าไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจเอาไว้ก่อนแล้ว

 เวลาเหตุการณ์เกิดขึ้น จะเกิดการตกอก ตกใจ เ

กิดความกลัวขึ้นมา แต่ถ้าได้สอนใจอยู่เสมอว่า

 เราต้องไปสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว เตือนสติอยู่เรื่อยๆ

ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ จนสามารถปล่อยวางได้

ไม่ยึด ไม่ติด เราก็จะมีความสุข มีความสบายใจ

สิ่งของทั้งหลายในโลกนี้ เป็นของที่เราเอาติดตัวไปไม่ได้

 เวลาตายไปไม่มีใครเอาข้าวของเงินทองใส่โลงไปด้วย

มีแต่เอาไปเผาทิ้ง เอาอะไรไปไม่ได้

 เอาไปได้แต่ความสุขหรือความทุกข์

 ที่เกิดจากบุญและบาปเท่านั้นเอง

ถ้ามีบุญ มีธรรมะที่ทำให้ปล่อยวางได้ก็ไปสบายไปสู่สุคติ

 ไปสู่สวรรค์ ไปเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยะบุคคล

ถ้าไปด้วยความยึดมั่น ถือมั่น ก็จะไปด้วยความทุกข์

 แสดงว่าจะต้องไปสู่ทุกคติ ไปสู่อบาย

 ไปสู่ความเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไปสู่นรก

ถ้าปรารถนาที่จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความสบายใจ

 ด้วยความร่มเย็น เป็นสุข ไม่มีความทุกข์

ก็ขอให้สร้างธรรมะขึ้นมา

 ถ้าได้สอนตัวเราเองตลอดเวลาแล้ว ใจจะปล่อย ใจจะวาง

 และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากโลกนี้ไป

หรือจะต้องพลัดพรากจากใครก็ตาม

จากสิ่งของทั้งหลายก็ตาม เราจะไม่มีความทุกข์ใจ

เช่นเวลาเรากลับไปบ้าน พบว่าขโมยได้ขึ้นบ้านเรา

ขโมยข้าวของไปหมด ถ้าได้ปล่อย ได้ปลงไว้ก่อนแล้ว

ได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว เราก็จะพูดว่า เออ! จะไปก็ไป

 ของทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 เราจะไม่ตกใจ ไม่เสียใจ ไม่ร้องห่มร้องไห้

เพราะของเหล่านี้หายไปแล้ว ทำไมจะต้องเสีย ๒ ต่อ

คือ เสียของแล้ว ยังต้องมาเสียใจด้วยทำไม

 ของมันก็หายไปแล้ว ยังไงๆมันก็ไปแล้ว

 เราอย่าไปเสียใจ เรารักษาใจได้ด้วยธรรมะ

จึงขอให้พวกเราพยายามน้อมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามา

 ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง

ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา

 ถ้ามีความรู้ทั้ง ๒ อย่างนี้ ติดตัวติดใจเราแล้ว

 เราจะไม่ยึด ไม่ติด เมื่อไม่ยึด ไม่ติดแล้ว

 เราจะมีแต่ความสบายใจ

 ขอฝากธรรมะนี้ ให้กับญาติโยมนำไป

สั่งสอนอบรมใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ทุกลมหายใจเข้าออกถ้าสามารถทำได้

แล้วญาติโยมจะมีธรรมะเป็นเครื่องปกป้องคุ้มครองรักษา

 ไม่ให้จิตใจมีความทุกข์ ไม่ให้จิตใจไปสู่ที่ต่ำ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๑๓ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๓ (กำลังใจ ๒)

“ปล่อยวาง”








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 มิถุนายน 2559
Last Update : 8 มิถุนายน 2559 10:11:07 น.
Counter : 841 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ