Group Blog All Blog
|
การเข้าใจเอกลักษณ์เฉพาะตน
การเข้าใจเอกลักษณ์เฉพาะตน
To understand the unique identity วิธีหนึ่งที่ใช้เพื่อให้เข้าใจตนเอง ที่มีความเฉพาะเจาะจงไปในแต่ละคน ที่ไม่มีทางเหมือนกันทุกเรื่องเลย นี่เองจึงกล่าวว่า ทุกคนมีความแตกต่างกัน Individual difference เรื่องนี้รู้กันไปทั่วแล้วว่าทุกคนต่างกัน แต่จะเข้าใจความเป็นตัวตนที่ต่างจากคนอื่นได้อย่างไร นี่สิ คือปัญหา ถ้าไม่ใช้แบบทดสอบที่มีทั้งมาตรฐาน แบบสำรวจที่ถามง่าย ๆ ได้ผลคร่าว ๆ เช่นกัน ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การเข้ากลุ่มเพื่อพูดคุยกันอย่างมีเป้าหมายที่นักจิตวิทยาใช้ เรียก group dynamic ตัวอย่างคำถามง่าย ๆ ที่อาจใช้ในการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในบรรยากาศที่สบาย ๆ ไม่ได้จริงจังนัก แต่ในคำตอบนี้จะแฝงไว้ด้วยการรู้จักความแตกต่างกันไปของแต่ละคน เช่น สิ่งที่เลือก คำอธิบายที่ให้ แน่นอนอาจมีบางสิ่งที่คล้ายกัน แต่คงไม่เหมือนกันชนิดที่ลอกกันมาเหมือนเป๊ะ ๆ เป็นแน่ คำถามแรก ชอบ ดอกไม้อะไร แต่ละคนจะเลือกได้ตามใจชอบ มีดอกไม้ในโลกนี้ตั้งมากมาย เอ๊ะ เป็นไปได้ไหม ที่จะชอบเดียวกัน เป็นไปได้ แต่ไม่เป็นปัญหาหรอก เมื่อเลือกได้แล้ว ให้แต่ละคนอธิบายซิว่า ทำไมจึงชอบ สำคัญตรงนี้นี่แหละ ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้อธิบาย คำอธิบายควรลพเอียดมากพอ และมีหลายคำตอบ ทุกคำตอบจะแสดงความเป็นตัวตนของผู้เล่า เช่น ฉันชอบดอกกุหลาบ เน้น สีแดงเข้มนะ เพราะแสดงถึงความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญมั่นคง รักใครรักจริง ปกติดอกกุหลาบสีแดงเข้มจะมีกลิ่นหอม นอกจากสวยเด่นเป็นสง่าแล้ว ยังมีกลิ่นหอม ทำให้ผู้คนที่ได้เห้นและได้กลิ่นจะประทับใจ ลองแปลความจากคำตอบนี้สิ ใช้คำสำคัญที่อธิบายนี่ มาเป็นตัวทำนาย เช่น เด็ดเดี่ยว กล้าหาญมั่นคง รักใครรักจริง สวยเด่นเป็นสง่า น่าประทับใจ สรุปว่า เธอผู้นี้น่าจะเป็นหญิงที่ทั้งเก่ง และแกร่ง แต่มีความเด็ดเดี่ยวให้น่าประทับใจ การรู้จักตัวตน คือ หาคำสำคัญที่อธิบายในสิ่งที่ชอบ ดังนั้น การเปิดโอกาสให้พูด ไม่มีคนขัดคอ ในบรรยากาศที่สบาย ๆ ได้พูดในสิ่งที่อยากพูด จะช่วยเปิดเผยตัวตนได้มากขึ้น คำถามต่อมา ชอบสัตว์อะไร เช่นเดิม คำสำคัญในคำตอบจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา เช่น ฉันชอบช้าง เพราะเป็นเจ้าป่า ที่สุขุมเยือกเย็น แต่ละย่างก้าวจะเดินอย่างอาจหาญ ไม่หงอย ไม่จ๋อยต่อสัตว์รอบข้าง เป็นสัตว์ใหญ่ที่ช่วยเหลือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่รังแก ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่น แต่พร้อมพิทักษ์ปกป้องตัวเอง พวกพ้อง และสัตว์อื่นในป่า ให้อย่างสงบร่มเย็น คำสำคัญที่อธิบายตัวตนได้ คือ เป็นเจ้าป่า สุขุมเยือกเย็น อาจหาญ ไม่หงอย ไม่จ๋อย ช่วยเหลือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่รังแก ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่น ปกป้องตัวเอง พวกพ้อง สงบร่มเย็น สรุปได้ว่า เขาชอบความเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ แต่เป็นหัวหน้าที่พร้อมจะปกป้องลูกน้องทุกคน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น คำถามว่า ชอบ และคำอธิบายจะช่วยให้รู้จักและเข้าใจตนเองดีขึ้น การเข้ากลุ่มพูดคุยอย่างสนุกสนาน ไม่มีคำตำหนิถึงสิ่งที่เขากำลังอธิบาย การตั้งกฎห้ามเพื่อนในกลุ่มทำกริยาท่าทางหรือใช้คำพูดดูหมิ่นดูแคลน เพื่อให้เขากล้าที่จะพูดอย่างจริงใจ สิ่งที่ควรฝึกคือการแปลความสิ่งที่พูดกับสิ่งที่มีและเป็นไปในตัวของแต่ละคน แล้วเราจะเข้าใจซึ่งกันและกันดีขึ้น 640319 คนชอบคิดเองทำเอง เละสิครับ
640319 คนชอบคิดเองทำเอง เละสิครับ
ไม่ได้เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์หรอก แต่เป็นคนไม่ชอบทำตามกฎเกณฑ์ ทำขนมทำอาหาร ไม่เคยตวงตามสูตร มั่วอยู่เรื่อย เลยไม่อร่อยสักที อาหารไทย ขนมไทย แม่ครัวเก่ง ๆ ไม่ต้องตวง วัด ชั่งน้ำหนัก เทน้ำปลาพรวด ๆ ตักน้ำตาลตามใจ เขาถึงเรียกเสน่ห์ปลายจวัก อาหารอร่อยตามรสมือ นี่สำหรับแม่ครัวหัวป่าก์ เก่งกาจมือฉมัง สำหรับเราฝีมือไม่ได้เรื่อง แต่ชอบทำตามใจฉันเช่นกัน ดูยูทูปทำขนมของ Mine ลูกสะใภ้ตุรกี ชอบตรงที่คิดคล้ายกัน แต่ทำตามแล้วไม่ได้เรื่องเหมือนเดิม ขนมกุ้ยช่าย ทำ 3 ครั้งแล้ว ครั้งแรกบอกผสมแป้งตามสูตร แล้วเติมน้ำร้อน นวด ๆ จนเข้าที่ ทำไม่สำเร็จ เอาแป้งรวมกับกุ้ยช่ายนึ่ง แล้วทอด ผ่านไป 1 มื้อ ครั้งที่ 2 เขาบอกเอาแป้งที่ผสมแล้ว ใส่น้ำกวนในหม้อเลย เละตุ้มเป๊ะ ครั้งนี้รอบที่ 3 ดูเป็นรูปขนมขึ้นมา แต่ส่วนผสมแป้งยังไม่อร่อย มั่วอีกตามเคย เขาบอกแป้งข้าวเหนียว แป้งมัน แป้งข้าวเจ้า เราผู้ชอบทำของแปลก คิดเอง เอาแป้งผสมกัน แล้วเติมน้ำเย็น คนให้เข้ากันดี ใส่ไมโครเวฟ พอสุกนิด ๆ เอามานวด ๆ เข้าท่ามากเลย ง่ายดีด้วย สนุกสมใจที่คิดแล้วทำเองได้ผล แต่ส่วนผสมแป้งยังไม่ดี คราวหน้าต้องตั้งใจจดสูตรสักหน่อย ฝีมือดีขึ้นนะ มองเห็นเป็นขนมกุ้ยช่ายได้นิดนึงแล้ว ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นแม่ค้าสักหน่อย แค่อยากทำอะไรสนุก ๆ ตามใจ แต่ขอบอก คนเก่งเขาผ่านการทดลองมาแล้วหลายครั้งจนอร่อย คนไม่ได้เรื่อง แผลง ๆ อยู่เรื่อย ควรจะคิดว่า เรียนรู้ ดูเขา ทำตาม ให้ชำนาญก่อน จึงค่อยคิดสูตรใหม่ตามใจฉัน อยากบอกแค่นี้แหละ อย่าอวดเก่ง ในเรื่องที่ตนไม่รู้จริงเลย เสียของเปล่า ๆ ปลี้ ๆ อัตมโนทัศน์ที่สร้างขึ้นมา
อัตมโนทัศน์ที่สร้างขึ้นมา
Self - concept created. เชื่อไหมว่าคนบนโลกใบนี้ มีหลายล้านคน ไม่มีใครเหมือนกันทุกด้านเลย แม้แต่ฝาแฝดแท้ บางทีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน แต่นิสัยใจคออาจต่างกัน ทางพุทธบอก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมคือการกระทำทั้งในอดีตชาติ และชาตินี้ที่กระทำต่างกันในต่างวาระ ความเป็นตัวตนของแต่ละคน จึงแตกต่างกัน อาจต่างกันมากหรือต่างกันน้อย ขึ้นอยู่กับใครทำอะไร เวลาใด มากน้อยเพียงใด เมื่อเจอคนที่คล้ายกันจะคุยถูกคอ เรียกว่าเจอคนรู้ใจ เจอคนคิดต่าง ทำต่าง คงปวดเฮด มีนหัว ไม่มากก็น้อย เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า self คือตัวตน แล้ว selfish ล่ะ คือ sell +fish คนขายปลา หรือคือ self +ish คนที่ทำอะไรเพื่อตนเอง คนเห็นแก่ตัวนั่นเอง ตัวตนนี้หมายรวมถึงร่างกายและจิตใจ เป็นจิตที่รู้คิดของสมอง เกิดจากกระบวนการคิดและได้รับผลจากสารเคมี/ฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมต่าง ๆ ในร่างกายให้มีผลต่อความคิด อารมณ์ และความรู้สึกได้ สิ่งที่ทำบ่อย ๆ กลายเป็นประสบการณ์ที่คุ้นชิน อาจทำได้โดยอัตโนมัติ เราเลยรับรู้ว่านี่คือ อัตมโนทัศน์ การมองภาพของตัวตนในสายตาของตนนั่นเอง (self-concept) ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและบริบท ใจกลางของตัวตนจะอยู่บนความคิดและความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ฉันเป็นผู้กระทำ (self as I do) ถ้าตัวตนนี้คงที่เป็นระยะเวลานาน จนกลายเป็นภาพประจำ เรียกว่าเอกลักษณ์แห่งตน (self-identity) หรืออัตลักษณ์ประจำตน ที่เขาบอกกันว่า มันคือ uniqueness แปลว่า มีเพียงหนึ่งและหนึ่งเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้ คือตัวของเรานั่นเอง ทางกายจะมีประโยชน์ในการแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ น้ำเสียง ภาพจากดวงตา ทางใจ แสดงออกทางการกระทำ ความคิด ความรู้สึก ออกมาในรูปภาพเฉพาะตน ที่ใครอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ บางคนเป็นอัจฉริยะ สร้างผลงานอันลือลั่นโลกได้เลย ตัวตนที่เกิดจากประสบการณ์นั้น มีผลมาจากสิ่งแวดล้อมและบริบททางสังคมในขณะนั้น ๆ ด้วย แต่กาลก่อน ดึกดำบรรพ์พอควร มนุษย์เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า เทวดา ที่จะดลบันดาลทุกสิ่งบนโลกได้ ไม่มีมนุษย์คนใดอาจหาญต่อกรด้วย แม้เมื่อมีคนบางกลุ่มอ้างตัวว่าคือเทพเจ้าที่จุติมายังโลก เพื่อปกครองมนุษย์ เหล่าคนเดินดินที่เกรงกลัวต่อเทพเจ้า ต้องก้มหัวศิโรราบ ยอมเป็นทาสอย่างง่ายดาย ความเป็นตัวตนจึงเป็นไปตามคำบัญชาของผู้มีอำนาจที่อ้างว่าตนคือตัวแทนเทพเจ้า หาได้กล้าแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนไม่ ไม่เช่นนั้นอาจดดนข้อหากบฏ โดนฆ่าตายอย่างน่าทุเรศ ต่อมาในยุคกลาง เริ่มมีความเชื่อว่า ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์พูนสุขแท้จริง หน้าที่ของพวกเราคือ แสวงหาสิ่งที่จะมาเติมเต็มชีวิต ถ้าแม้นในโลกนี้ยังทำไม่ได้ ขอเผื่อไว้ชาติหน้าจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แล้วมาถึงยุควิทยาศาสตร์ครองเมือง ทุกสิ่งต้องพิสูจน์และทดลองจนค้นหาความจริงได้ หลังจากนั้น เชื่อว่า ทุกสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากความสัมพันธ์ จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ควรใช้ความคิดตัดสินสิ่งดีชั่ว แยกแยะถูกผิด ความเป็นตัวตนแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงแตกต่างกัน แม้แต่ในยุคปัจจุบัน คนที่เกิดมาต่างที่ ต่างเวลา ยังคิดนึกต่างกัน ความคิดเกี่ยวกับตัวตนของตนจึงต่างกัน จะค้นหาว่าตัวตนของตนแท้จริงเป็นเช่นไร คงต้องสำรวจด้วยตนเองแล้วว่า ได้ผ่านอะไรมาบ้างในชีวิต ที่ทำให้เกิดความคิด ความเชื่อ ศรัทธาเป็นเช่นนี้ ถ้าต้องการปรับเปลี่ยนตัวเอง ควรทำเช่นไร ขอให้ค้นหาตัวเองให้เจอนะ ทุกคนพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า
ทุกคนพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า
Everyone is ready to move forward. นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยมได้เสนอแนวคิดใหม่ที่ช่วยยืนยันว่า เราสามารถพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละคน เมื่อเป็นกลุ่มมนุษยนิยม จึงตั้งหลักเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ไว้ ดังนี้ 1 มนุษย์มีชีวิตจิตใจเป็นของตนเอง ต้องการความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงอย่าไปยัดเยียดว่าเขาควรได้และควรทำอะไร 2 แต่ละคนควรจะมีโอกาสที่จะได้รู้จัก เข้าใจตนเอง และต้องการบรรลุศักยภาพสูงสุดของตน (self-actualization) การเสริมสร้างให้เขาได้คิดวิเคราะห์ รู้จักตนเองได้มากพอที่จะนำจุดดีมาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเอง 3 เมื่อทุกคนต่างมุ่งสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบให้แก่ตน การให้การยอมรับอาจจะสำคัญกว่าการใช้ข้อบังคับและระเบียบวินัย จุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนจึงอยู่ที่การยอมรับตนเองและผู้อื่นให้ได้ก่อน 4 บุคคลที่พร้อมต่อการปรับปรุงตนเองควรจะได้มีสิทธิเลือกการกระทำ เลือกประสบการณ์ กำหนดความต้องการ และตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตนเอง (self-mastery) เป็นการออกแบบชีวิตที่เหมาะสมตามทิศทางของเขาด้วยตัวของเขาเอง 5 วิธีการแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริง สำคัญกว่าตัวความรู้หรือตัวข้อเท็จจริง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตัวของความรู้หรือตัวข้อเท็จจริงจะไม่ใช่สิ่งตายตัว ดังนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของบุคคลมากที่สุด คือ กรรมวิธีในการเสาะแสวงหาความรู้ ไม่ใช่เน้นที่ตัวความรู้เพียงอย่างเดียว ถ้าตั้งใจ รับรองไปได้สวย
ถ้าตั้งใจ รับรองไปได้สวย
If approved, intended to be beautiful นักจิตวิทยาที่ชื่ออัลเบิร์ต แบนดูร่า คิดค้นทฤษฎีความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy Theory) เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม การเปลี่ยนพฤติกรรม จะเกิดจากปัจจัย 3 ตัวร่วมกัน 1. ปัจจัยส่วนบุคคล (Personal factor = p) 2. เงื่อนไขเชิงพฤติกรรม (Behavior condition = B) 3. เงื่อนไขเชิงสภาพแวดล้อม (Environment condition = E) ถ้าบุคคลมีความเชื่อว่าตนเองสามารถอย่างไร จะแสดงออกถึงความสามารถนั้นออกมา คนที่เชื่อตนเองว่ามีความสามารถ จะอดทนอุตสาหะ ไม่ท้อถอยและจะประสบความสำร็จ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเชื่อว่าทำได้ เขาจะทำได้จริง คนที่เชื่อมั่นในตนจะเกิดจาก เขารู้ระดับความสามารถที่มีอยู่จากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ โดยผ่านการเรียนรู้ การได้เห็น การมีแรงจูงใจ การเร่งเร้าทางอารมณ์จนเกิดแรงปรารถนาอย่างแรงกล้า ความคาดหวังว่าจะทำได้สำเร็จจริง เมื่อทำสิ่งที่ง่ายได้แล้ว จะเพิ่มระดับความยากไปทีละขั้น ความมั่นใจในตนจะเพิ่มตามไปด้วย เมื่องานชิ้นแรกทำได้ จะเพิ่มความมั่นใจในงานชิ้นต่อไป |
สมาชิกหมายเลข 4665919
![]() ![]() ![]() ![]() ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
Friends Blog Link |