All Blog
660128 เอาชนะความเศร้า
660128 เอาชนะความเศร้า
ดร.พรรณี  เกษกมล
            โดยธรรมชาติคนเราย่อมทุกข์มากกว่าสุข   ถ้าเราสะสมความทุกข์ไว้กับตัว  ไม่มีการผ่อนคลาย ปล่อยวาง หรือระบายออก  ความทุกข์นี้จะกลายเป็นความเศร้า  ทำให้เราตกอยู่ในภาวะเศร้าซึม   โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันหรือสังคมในเมือง  ต่างคนต่างอยู่  ไม่มีใครมานั่งฟังคนอื่นปรับทุกข์  เศรษฐกิจย่ำแย่  ผู้คนจะเกิดภาวะเศร้าซึม    บางคนไม่รู้ตัว  รู้แต่ว่าจิตใจห่อเหี่ยว อ่อนแอ ท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ  ถ้าไม่รู้ตัวปล่อยให้อาการเศร้าซึมเพิ่มมากขึ้น อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้    การเพิ่มกำลังใจให้ตนเองหรือรู้จักเอาชนะความเศร้าจะช่วยให้เรามีกำลังใจ  และมีจิตใจที่เข้มแข็ง  พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ
 
            ทำไมจึงเศร้า
            เมื่อไหร่ที่เราคิดเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวว่าไม่ดี เลวร้าย    เราเป็นคนโชคร้าย  ตั้งแต่เกิดมามีแต่ความยากลำบาก  มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองในทางไม่ดี ไม่มีเหตุผล  คิดว่าตนเป็นคนไม่มีอนาคต  โลกโหดร้ายต่อเรามากเกินไปแล้ว  อนาคตมืดมน  สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดูจะเลวร้ายไปเสียทุกเรื่อง  ความคิดเช่นนี้จะทำลายตัวเราและจิตใจของเรา  เพราะเราจะมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเลวร้ายและแปลความหมายทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางไม่ดี  คิดว่าทุกอย่างรอบตัวเราล้วนแต่เป็นภาระและอุปสรรค
           
            รู้ได้อย่างไรว่าเศร้า
            การตรวจสอบว่าตนมีภาวะเศร้าซึมหรือไม่  ให้พิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้านต่อไปนี้  และพิจารณาว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด 
            แบบแผนพฤติกรรม    อยากร้องตะโกนโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด  ไม่อยากอยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง   ไม่ใส่ใจเสื้อผ้าที่สวมใส่   ไม่ใส่ใจว่าห้องนอนสะอาดเพียงพอหรือไม่   ไม่เจริญอาหาร  ไม่อยากมีสัมพันธ์ทางเพศกับคู่สมรส  รู้สึกอึดอัดคับข้องใจโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด 
            อารมณ์หรือความรู้สึก  อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก (จากต่ำสุดไปหาตื่นเต้นสุดขีด)  รู้สึกแย่มาก ๆ    รู้สึกโกรธหรือรำคาญง่าย   รู้สึกกลัว  รู้สึกเหมือนกับว่าทุกอย่างต้องใช้ความพยายามมากเหลือเกิน 
            แบบแผนการคิด  หาสมาธิยากในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด   เปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็วจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง  มีความคิดในทางไม่ดีในเรื่องต่อไปนี้ :  ฉันคิดว่าฉันน่าจะดูดีกว่านี้   ฉันไม่สามารถทำอะไรที่ถูกต้องได้   ไม่มีใครชอบฉัน  ฉันเกลียดสิ่งที่ฉันเป็นอยู่   ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงได้   ไม่มีใครรู้สึกอะไรถ้าฉันตาย  ฉันเกลียดชีวิตฉัน  ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโง่
            อาการทางกาย  มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  รู้สึกไม่ค่อยดีหรือไม่ค่อยสบายตัว  ร่างกายหนักอึ้ง   สีหน้าเรียบเฉย
            วิธีเอาชนะความเศร้า
            วิธีที่คุ้นเคยมากที่สุด  คือ การหาธรรมะยึดเป็นหลักประจำใจ   การอ่านหนังสือธรรมะก่อนนอน การทำสมาธิ การไปวัดทำบุญทำทาน  การเรียนรู้หลักโลกธรรม  รู้ว่าเมื่อมีลาภย่อมเสื่อมลาภได้  มียศย่อมเสื่อมยศ  มีสุขก็ย่อมมีทุกข์คละเคล้ากัน  ทุกอย่างในโลกมีขึ้นมีลง  เหมือนน้ำขึ้นน้ำลง  มีดวงดีก็ต้องมีดวงตก  ผลัดกันไป  ถ้าคิดได้เช่นนี้เรียกว่ารู้เท่าทัน  ย่อมคิดได้ว่าไม่มีทุกข์ตลอดกาล   คนเราเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์   เราก็จะมีกำลังใจต่อสู้ให้ผ่านทุกข์ครั้งนี้ไปได้
            การเอาชนะความเศร้า ต้องพยายามให้ใจของเราปรับเปลี่ยนแนวความคิด   ให้คิดแต่เรื่องที่จะทำให้เรามีความสุข  มีกำลังใจที่จะต่อสู้  สมัยนี้หนังสือประเภทเสริมสร้างกำลังใจ  วิธีเอาชนะทุกข์   ก้าวไปข้างหน้า  มีมากมาย  ลองหามาอ่านบ้าง  จะได้รู้วิธีสร้างเป้าหมายใหม่ให้กับตนเอง  ทำให้เรามีความคิดที่จะทำโน่นทำนี่   ให้มีความคิดที่ดีที่จะต่อสู้ชีวิตและนำชีวิตไปสู่ความก้าวหน้ารุ่งเรือง
            สิ่งที่จะต้องทำ คือ ให้ความรู้สึกว่าตนคือผู้แพ้  ทำไมโลกจึงโหดร้ายกับเราหมดสิ้นไปจากใจให้ได้  ความรู้สึกว่าตนสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าต้องลดน้อยลง  ต้องเร่งสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง  เลิกนิสัยการพึ่งพาผู้อื่น  อาจใช้วิธีการต่าง ๆ  เช่น การพูดคุยกับคนที่มีนิสัยใจคอที่ดีงามหรือที่เราเรียกว่ากัลยาณมิตร  การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น  เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำ  เช่น ไปวัด ไปเที่ยวทัวร์  เปิดโอกาสในการพบปะพูดคุยกับคนแปลกหน้า  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นหรือเล่าสารทุกข์สุกดิบ  จะได้รู้ว่าใคร ๆ ก็ทุกข์เหมือนกัน
            การหัดคิดแต่สิ่งที่เป็นปัจจุบัน  ที่นี่และเดี๋ยวนี้  ไม่คิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว  ไม่นึกถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  ฝึกการคิดแบบมีเหตุผล  เลิกความเชื่อที่งมงายไร้สาระ  เช่น  ความคิดที่ไร้เหตุผล คือ ฉันจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อทุกคนรักฉัน   คนที่ดีพร้อมทุกอย่างเท่านั้นจึงจะเป็นคนที่มีคุณค่า  แท้ที่จริงคนทุกคนเหมือนกันหมดมีทั้งดีเลวปะปนกัน   ไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราต้องทำดีที่สุด  พลาดไม่ได้  
            การฝึกแก้ไขพฤติกรรมที่มีปัญหา  เช่น นอนไม่หลับ  เพราะเครียด คิดมาก หัดการทำสมาธิเพื่อการหลับนอน ทำใจให้สบาย วางมือบนท้องเพื่อดูลมหายใจเข้าออก ผ่อนคลายลมหายใจเข้าออกให้สบาย แล้วกำหนดจิตว่าหลับ-สบาย พร้อมกับลมหายใจเข้าออกยาว ๆ  ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกให้ผ่อนคลายตนเองลง  ให้รู้สึกว่าร่างกายสบาย  แล้วก็จะหลับสบาย
            การฝึกให้สมาชิกในครอบครัวสร้างเสริมบรรยากาศในการพูดคุยแต่ในทางที่ดี  ไม่ทะเลาะวิวาทกัน  ให้ทุกคนในครอบครัวสามารถทำหน้าที่ของตนได้โดยมีขอบเขตที่เหมาะสม  มีการติดต่อสื่อสารต่อกันในทางที่ดีขึ้น  เพื่อรักษาระบบและหน้าที่โดยรวมของครอบครัว  อันจะทำให้ครอบครัวมีความสุขขึ้น
            ทักษะที่ต้องหัด คือ  หัดสร้างเป้าหมายให้กับชีวิต  ทำตัวเองให้เป็นคนมีความทะเยอทยาน อยากได้ใคร่ดีบ้าง  จะได้รู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหมาย  อาจทำสิ่งที่มีคุณค่าแก่ตนเอง สังคม  หัดคิดวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าตรงกับสิ่งที่เชื่อหรือไม่   หัดทำอะไรก็ได้ที่ไม่เคยทำแต่คิดว่าถ้าทำแล้วเราจะมีความสุข  คิดเสมอว่าฉันต้องการมีความสุข  แล้ววางแผนการที่จะทำให้มีความสุข  ฝึกคิดว่าสิ่งที่เรารู้สึกกับสิ่งที่เป็นจริงมันใช่สิ่งเดียวกันหรือไม่  แยกให้ออก  บางทีอาจเกิดจากเราคิดมากเกินไปหรือเปล่า  และต้องหัดสร้างทักษะในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น  เพื่อที่จะได้เล่าเรื่อง พูดคุย  จะได้เปลี่ยนอารมณ์และความคิดของเรา
            ท้ายนี้คนที่กำลังเศร้า ก็ลองเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง  อย่าลืมว่าเราคือคนเก่งที่สามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคได้   ถ้าเรามีปัญญาและใช้ปัญญาเราสามารถผ่านพ้นมรสุมของชีวิตได้อย่างสวยงาม  ความเศร้าเป็นเพียงอารมณ์จรที่ผ่านเข้ามาเพื่อทดสอบความเก่งเท่านั้น    ถ้าเราคิดว่าเราทำได้เราก็จะทำได้  แต่ถ้าเราพลาดและปล่อยให้ผู้คนย่ำยีจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันควรจะถึงเวลาที่เราจะลุกมาสู้และถึงเวลาที่เราจะเป็นผู้ชนะแล้ว
******************
ดร. พรรณี  เกษกมล   #พรรณีเกษกมล
 



Create Date : 28 มกราคม 2566
Last Update : 28 มกราคม 2566 8:34:19 น.
Counter : 435 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments