Group Blog
 
<<
มีนาคม 2558
 
24 มีนาคม 2558
 
All Blogs
 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ .. ลักษณะแห่งนิพพานธาตุสองชนิด

ภิกษุ ท.!
นิพพานธาตุมี ๒ อย่าง, สองอย่างเหล่าไหนเล่า?

สองอย่างคือ ..
..สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
..และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

ก. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ภิกษุ ท.!
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ..
..เป็นพระอรหันต์
..ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
..อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
..ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
..ปลงภาระลงได้แล้ว
..ได้บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว
..มีกิเลสอันเป็นเครื่องผูกติดให้อยู่กับภพสิ้นไปรอบแล้ว
..หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ.

อินทรีย์ห้าของเธอยังตั้งอยู่ เพราะเป็นอินทรีย์ที่ยังไม่ถูกกำจัด เธอย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นที่ชอบใจบ้าง ไม่เป็นที่ชอบใจบ้าง ให้รู้สึกสุขและทุกข์บ้าง. ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของเธอ อันใด,.

ภิกษุ ท.!
อันนั้นแหละ เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

ข. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ภิกษุ ท.!
ก็ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท.!
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ..
..เป็นพระอรหันต์
..ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
..อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
..ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
..ปลงภาระลงได้แล้ว
..ได้บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว
..มีกิเลสอันเป็นเครื่องผูกติดอยู่กับภพสิ้นไปรอบแล้ว
..หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ.

ภิกษุ ท.!
เวทนาทั้งหลายทั้งปวงของเธอ อันเธอไม่เพลิดเพลินแล้ว จักดับเย็นในโลกนี้เอง.

ภิกษุ ท.!
อย่างนี้แล เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

นิพพานธาตุ อันพระผู้มีพระภาค ..
..ผู้มีจักษุ
..ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว
..ผู้คงที่
ได้ประกาศไว้แล้ว มีอยู่ ๒ อย่าง เหล่านี้คือ ..

1 นิพพานธาตุอย่างหนึ่ง (มี) เพราะความสิ้นไปแห่งภวเนตติ เป็นไปในทิฎฐธรรมนี้ (อิธทิฎฺฐธมฺมิกา) ยังมีอุปาทิเหลือ,

2 และนิพพานธาตุ (อีกอย่างหนึ่ง) ไม่มีอุปาทิเหลือ เป็นไปในกาลเบื้องหน้า (สมฺปรายิกา) เป็นที่ดับแห่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง.

บุคคลเหล่าใดรู้ทั่วถึงแล้วซึ่งนิพพานธาตุสองอย่างนั่นอัน ..
..เป็นอสังขตบท
..เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นพิเศษแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งภวเนตติ;
..บุคคลเหล่านั้น ยินดีแล้ว ในความสิ้นไป (แห่งทุกข์) เพราะการถึงทับซึ่งธรรมอันเป็นสาระ ..เป็นผู้คงที่ ละแล้วซึ่งภพทั้งปวง,
ดังนี้.

เนื้อความแม้นี้ เป็นเนื้อความอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้, ดังนี้.
(ถ้อยคำในพากย์บาลี มีดังต่อไปนี้ :-)
เทฺว อิมา จกฺขุมตา ปกาสิตา
นิพฺพานธาตู อนิสฺสิเตน ตาทินา
เอกา หิ ธาตุ อิธ ทิฏฺฐธมฺมิกา
สอุปาทิเสสา ภวเนตฺติสงฺขยา
อนุปาทิเสสา ปน สมฺปรายิกา
ยมฺหิ นิรุชฺฌนฺติ ภวานิ สพฺพโส.
เย เอตทญฺญาย ปทํ อสงฺขตํ
วิมุตฺตจิตฺตา ภวเนตฺติสงฺขยา

เต ธมฺมสาราธิคมกฺขเย รตา
ปหํสุ เต สพฺพภวานิ ตาทิโนติ.
อยมฺปิ อตฺโถ วุตฺโต ภควตา อิติ เม สุตนฺติ.
.
.
.
อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๕๘-๒๕๙/๒๒๒.



(นิพพานธาตุทั้งสองอย่างนี้ เป็นนิพพานธาตุสำหรับพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ทั้งสองชนิด

หากแต่ผู้บรรลุนิพพานธาตุชนิดสอุปาทิเสสะนั้น ระบบแห่งความรู้สึกทางอินทรีย์ห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของท่าน ยังไม่ถูกกำจัดโดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจนิพพานธาตุนั้น ความเคยชินในความรู้สึกต่ออารมณ์สำหรับจะรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ยังเหลืออยู่ จึงเรียกว่า"สอุปาทิเสสะ" - มีอุปาทิเหลืออยู่ นั่นคือดังข้อความข้อ ก.;

ส่วนพระอรหันต์จำพวกหลังนั้นความเคยชินในความรู้สึกต่ออารมณ์ของอินทรีย์ทั้งห้า ถูกนิพพานธาตุอย่างที่สองกำจัดแล้วสิ้นเชิงเวทนาของท่านจึงเย็นสนิท ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จึงเรียกว่า "อนุปาทิเสสะ" - ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่ ดังข้อความที่กล่าวแล้วในข้อ ข.

หาใช้ต้องทำลายขันธ์ถึงมรณภาพไปไม่ เพราะบาลีมีอยู่อย่างชัดเจนว่า เวทนาเหล่านั้นดับเย็น (คือไม่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์) ในอัตภาพนี้หรือในโลกนี้เอง.

การที่มีผู้เข้าใจไปว่า นิพพานธาตุอย่างแรกเป็นของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และนิพพานธาตุอย่างหลังเป็นของพระอรหันต์ผู้ถึงแก่มรณภาพแล้วดังนี้นั้น คงจะเนื่องจากความเข้าใจผิดต่อคำ บาลีสองคำ

ในคาถาผนวกท้ายสูตรนั่นเอง คือคำว่า สมฺปรายิกา ซึ่งแปลกันว่า โลกหน้า หรือต่อตายแล้ว ซึ่งที่แท้แปลว่า ในเวลาถัด ๆ ไปก็ได้,

ส่วนคำ ว่า ทิฏฐธมฺมิกา มีความหมายว่า ทันทีทันใดที่เหตุการณ์นั้น ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่จำ เป็นจะต้องระบุว่าในชาตินี้ ภพนี้เสมอไป.

ผู้รวบรวมมีความเห็นว่า นิพพานธาตุทั้งสองอย่างนี้ มีสำหรับพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันเพียงแต่ว่า พวกแรกนั้น อินทรีย์ยังรู้สึกต่อสุขและทุกข์ แม้จะไม่มีความยึดถือในเวทนานั้น,

ส่วนพวกหลังนั้นไม่มีความรู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์ จึงกล่าวว่าเวทนาเป็นของเย็น ในอัตภาพนี้ หรือในโลกนี้. ข้อนี้จะยุกติเป็นอย่างไร ผู้ศึกษาจงพิจารณาดูเองเถิด).




 

Create Date : 24 มีนาคม 2558
0 comments
Last Update : 24 มีนาคม 2558 22:08:34 น.
Counter : 742 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.