Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
20 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ บทนำ...002



สิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
ครั้งหนึ่ง ที่พระเชตวัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ให้ตั้งใจฟังแล้วได้ตรัสข้อความเหล่านี้ว่า :-

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดง ปฏิจจสมุปบาท แก่พวกเธอทั้งหลาย, พวกเธอทั้งหลายจงฟัง ปฏิจจสมุปบาท นั้น, จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์, เราจักกล่าวบัดนี้”.

ครั้นภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ทูลสนองรับพระพุทธดำรัสแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้ว่า :-

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อะไรเล่า ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! :
เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย.
เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป;
เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา;
เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา;
เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน;
เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ;
เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ;
เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย, ชรามรณ ะ โสกะปริเวทะทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร;
เพราะมีความดับ แห่งสังขาร จึงมีความดับ แห่งวิญญาณ;
เพราะมีความดับ แห่งวิญญาณ จึงมีความดับ แห่งนามรูป;
เพราะมีความดับ แห่งนามรูป จึงมีความดับ แห่งสฬายตนะ;
เพราะมีความดับ แห่งสฬายตนะ จึงมีความดับ แห่งผัสสะ;
เพราะมีความดับ แห่งผัสสะ จึงมีความดับ แห่งเวทนา;
เพราะมีความดับ แห่งเวทนา จึงมีความดับ แห่งตัณหา;
เพราะมีความดับ แห่งตัณหา จึงมีความดับ แห่งอุปาทาน;
เพราะมีความดับ แห่งอุปาทาน จึงมีความดับ แห่งภพ;
เพราะมีความดับ แห่งภพ จึงมีความดับ แห่งชาติ;
เพราะมีความดับ แห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”, ดังนี้.

เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นพระพุทธองค์
พระสารีบุตรได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า :-
“ก็แล คำ นี้ เป็นคำ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท, ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม; ผู้ใดเห็นธรรม, ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท’. (โย ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ปสฺสติ, โสธมฺมํ ปสฺสติ; โย ธมฺมํปสฺสติ, โส ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ปสฺสติ)……”..๑

อย่าเลย วักกลิ! ประโยชน์อะไร ด้วยการเห็นกายเน่านี้. ดูก่อนวักกลิ! ผู้ใดเห็นธรรม, ผู้นั้นเห็นเรา; ผู้ใดเห็นเรา, ผู้นั้นเห็นธรรม. ดูก่อนวักกลิ! เพราะว่า เมื่อเห็นธรรมอยู่ ก็คือเห็นเรา; เมื่อเห็นเราอยู่ ก็คือเห็นธรรม...…๒

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลังๆ แต่ถ้าเธอนั้นมากไปด้วยอภิชฌา มีกามราคะกล้า มีจิตพยาบาทประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไปแกว่งมา ไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้ ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลจากเรา แม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้น โดยแท้.

เพราะเหตุไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เพราะว่าภิกษุนั้น ไม่เห็นธรรม : เมื่อไม่เห็นธรรมก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา (ธมฺมํ หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ น ปสฺสติ : ธมฺมํ อปสฺสนฺโต มํ น ปสฺสติ)...[แล้วได้ตรัสไว้ โดยนัยตรงกันข้ามจากภิกษุนี้คือตรัสเป็นปฏิปักขนัย โดยนัยว่า แม้จะอยู่ห่างกันร้อยโยชน์ ถ้ามีธรรม เห็นธรรม ก็ชื่อว่า เห็นพระองค์ (ธมฺมํ หิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ ปสฺสติ: ธมฺมํ ปสฺสนฺโต มํ ปสฺสติ)]....๓


ปฏิจจสมุปบาท คืออริยญายธรรม (สิ่งที่ควรรู้อันประเสริฐ)๔
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อริยญายธรรม เป็นสิ่งที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดี ด้วยปัญญา เป็นอย่างไรเล่า?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกในกรณีนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า “ด้วยอาการอย่างนี้ : เมื่อสิ่งนี้มี, สิ่งนี้ย่อมมี; เพราะความเกิดขึ้นของสิ่งนี้, สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี, สิ่งนี้ย่อมไม่มี; เพราะความดับไปของสิ่งนี้, สิ่งนี้จึงดับไป, สิ่งนี้จึงดับไป : ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-

เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย;
เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป;
เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา;
เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา;
เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน;
เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ;
เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ;
เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ... ... (ต่อไปได้ตรัสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารไปจนจบ)”.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยญายธรรมนี้แล เป็นสิ่งที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดี ด้วยปัญญา.


คนเราจิตยุ่ง เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
ดูก่อนอานนท์! เพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ตามลำดับ เพราะไม่แทงตลอดซึ่งธรรมคือปฏิจจสมุปบาทนี้, (จิตของ) หมู่สัตว์นี้ จึงเป็นเหมือนกลุ่มด้ายยุ่ง ยุ่งเหยิงเหมือนความยุ่งของกลุ่มด้ายที่หนาแน่นไปด้วยปม พันกันยุ่งเหมือนเชิงหญ้ามุญชะ และหญ้าปัพพชะ อย่างนี้; ย่อมไม่ล่วงพันซึ่งสังสาระ ที่เป็นอบาย ทุคติ วินิบาต ไปได้.


ปฏิจจสมุปบาท เป็นชื่อแห่งทางสายกลาง
ดูก่อนกัจจานะ! คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า “สิ่งทั้งปวง มีอยู่”ดังนี้ : นี้เป็นส่วนสุด๓ (มิใช่ทางสายกลาง) ที่หนึ่ง; คำ กล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า “สิ่งทั้งปวง ไม่มีอยู่” ดังนี้ : นี้เป็นส่วนสุด (มิใช่ทางสายกลาง) ที่สองดูก่อนกัจจานะ! ตถาคต ย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสองนั้นคือตถาคตย่อมแสดงดังนี้ว่า :-

“เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย;
เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป;
เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา;
เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา;
เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน;
เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ;
เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ;
เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณ ะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส-อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ... ... (แล้วทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารไปจนจบ)”


ทรงแนะนำอย่างยิ่งให้ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท
(เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสาธยายปฏิจจสมุปบาท อยู่ลำพังพระองค์เดียว, ภิกษุรูปหนึ่งได้แอบเข้ามาฟัง, ทรงเหลือบไปพบเข้า แล้วได้ตรัสว่า :-

ดูก่อนภิกษุ! เธอได้ยินธรรมปริยายนี้แล้วหรือ?
“ได้ยินแล้ว พระเจ้าข้า!”
ดูก่อนภิกษุ! เธอจงรับเอา (อุคฺคณฺหาหิ) ธรรมปริยายนี้ไป.
ดูก่อนภิกษุ! เธอจงเล่าเรียน (ปริยาปุณาหิ) ธรรมปริยายนี้.
ดูก่อนภิกษุ! เธอจงทรงไว้ (ธาเรหิ) ซึ่งธรรมปริยายนี้.
ดูก่อนภิกษุ! ธรรมปริยายนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์.


คนเราไม่ปรินิพพานในทิฏฐธรรมเพราะไม่สามารถตัดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท
ท้าวสักกะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในทิฏฐธรรม? และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในทิฏฐธรรม (คือทันเวลา, ทันควัน, ไม่ต้องรอเวลาข้างหน้า) พระเจ้าข้า?”

ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! รูปทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุมีอยู่, เป็นรูปที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด; ถ้าหากว่า ภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญเมาหมกอยู่ ซึ่งรูปนั้น แล้วไซร้, เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่กะรูปนั้น, วิญญาณนั้นอันตัณหาในอารมณ์คือรูปอาศัยแล้ว ย่อมมีแก่เธอนั้น;

วิญญาณนั้น คืออุปาทาน. ๑ ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีอุปาทาน ย่อมไม่ปรินิพพาน (ในกรณีแห่งเสียงที่จะพึงรู้สึกด้วยโสตะ, กลิ่นที่จะพึงรู้สึกด้วยฆานะ, รสที่จะพึงรู้สึกด้วยชิวหา, สัมผัสทางผิวหนังที่จะพึงรู้สึกด้วยกาย (ผิวกายทั่วไป); ก็มีข้อความอย่างเดียวกันกับข้อความในกรณีแห่งรูปที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุ ดังที่กล่าวแล้วข้างบน ทุกตัวอักษะ; ต่างกันเพียงชื่อแห่งอายตนะแต่ละอายตนะเท่านั้น; ในที่นี้จะยกข้อความอันกล่าวถึงธัมมารมณ์เป็นข้อสุดท้าย มากล่าวไว้อีกครั้งดังต่อไปนี้ :-

ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! ธัมมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้สึก
ด้วยมโน มีอยู่, เป็นธัมมารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารักเป็นที่เข้าไปอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด; ถ้าหากว่า ภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งธัมมารมณ์นั้น แล้วไซร้, เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ กะธัมมารมณ์นั้น, วิญญาณนั้นอันตัณหาในอารมณ์คือธัมมารมณ์ อาศัยแล้ว ย่อมมีแก่เธอนั้น; วิญญาณนั้นคืออุปาทาน.

ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีอุปาทาน ย่อมไม่ปรินิพพาน.ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! นี้แลเป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัย ที่ทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในทิฏฐธรรม

(ฝ่ายปฏิปักขนัย)

ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! รูปทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุมีอยู่, เป็นรูปที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด; ถ้าหากว่า ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งรูปนั้น แล้วไซร้, เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ กะรูปนั้น, วิญญาณนั้นอันตัณหาในอารมณ์คือรูปอาศัย แล้ว ย่อม ไม่มีแก่เธอนั้น ; วิญญาณ ที่จะเป็นอุปาทานย่อมไม่มี ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน

(ในกรณีแห่งเสียงที่จะพึงรู้ด้วยโสตะ, กลิ่นที่จะพึงรู้สึกด้วยฆานะ, รสที่จะพึงรู้สึกด้วยชิวหา, สัมผัสทางผิวหนังที่จะพึงรู้สึกด้วยกาย (ผิวกายทั่วไป); ก็มีข้อความอย่างเดียวกันกับข้อความในกรณีแห่งรูปที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุ ดังที่กล่าวแล้วข้างบน ทุกตัวอักษร; ต่างกันแต่เพียงชื่อแห่งอายตนะแต่ละอายตนะเท่านั้น; ในที่นี้จะยกข้อความอันกล่าวถึงธัมมารมณ์เป็นข้อสุดท้าย มากกล่าวไว้อีกครั้ง ดังต่อไปนี้ :-)

ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! ธัมมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้สึกด้วยมโน มีอยู่, เป็นธัมมารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารักเป็นที่เข้าไปอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด; ถ้าหากว่า ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งธัมมารมณ์นั้น แล้วไซร้, เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ กะธัมมารมณ์นั้น, วิญญาณนั้นอันตัณหาในอารมณ์คือธัมมารมณ์อาศัยแล้ว ย่อมไม่มีแก่เธอนั้น; วิญญาณที่จะเป็นอุปาทาน ย่อมไม่มี. ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน.

ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย! นี้แลเป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในทิฏฐธรรม, ดังนี้ แล.

บทนำ จบ


Create Date : 20 พฤษภาคม 2554
Last Update : 20 พฤษภาคม 2554 21:51:23 น. 0 comments
Counter : 1632 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.