Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
12 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
วันวารที่ผ่านเลย...เผ่าทอง ทองเจือ



ใกล้จะถึงวันเด็กแห่งชาติอีกวาระ หนึ่งแล้วครับ นึกถึงวันเด็กแล้วก็อดนึกย้อนไปถึงวันวารที่ผ่านมาแต่ครั้งอดีต อันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุดของชีวิตไม่ได้เลย ช่วงเวลาแห่งการเป็นเด็กนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่อิสรเสรีมากเหลือเกิน
บางท่านอาจแย้งว่าไม่จริง ช่วงที่เป็นเด็กนั้นเป็นเด็กต้องถูกผู้ใหญ่สั่งให้ทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา ไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้ แต่ลองเอามาเปรียบเทียบกับชีวิตในปัจจุบันที่เราเจริญเติบโตขึ้นมาเป็น ผู้ใหญ่แล้วสิครับ แม้ว่าเราจะไม่มีใครมาคอยจู้จี้จุกจิกกับชีวิตของเราอย่างแต่ก่อน แต่ด้วยภาระหน้าที่การงาน ภาระการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อดำรงชีวิตในปัจจุบัน ก็บีบบังคับและสร้างเงื่อนไขให้กับชีวิตของเราอย่างมากมายแสนสาหัสยิ่งกว่า โดนผู้ใหญ่บังคับเสียด้วยซ้ำ

ชีวิตผมตอนเป็นเด็กนั้น ประชากรไทยทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 23 ล้านคนเท่านั้น บ้านเมืองยังโล่งว่าง ไม่แออัดยัดเยียดมากมายเช่นปัจจุบัน
รถสามล้อถีบยังมีวิ่งเกลื่อนกรุง ค่าโดยสาร 1-3 บาท แล้วแต่ระยะใกล้-ไกล ค่ารถแท็กซี่จากแถวอโศกถิ่นดั้งเดิมของผม ไปยังสุดถนนสาทรต่อกับบางรัก ประมาณ 7 บาทเท่านั้นจริงๆ รถยนต์บนถนนก็ไม่ขวักไขว่หนาแน่นเหมือนปัจจุบันนี้ เวลาไปโรงเรียนตอนเด็กๆนั้น ก็ต้องถือว่าโชคดีมาก เพราะบ้านผมอยู่หลังโรงเรียน เพียงแค่วิ่งข้ามสะพานไม้แคบๆ ยาวซัก 40-50 เมตรก็ถึงแล้ว

โรงเรียนที่ผมเรียนคือโรงเรียน ประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ปัจจุบันก็เรียกสั้นๆแค่ สาธิตประสานมิตร
ตอนนั้นเป็นโรงเรียนเล็กๆแต่สอนแนวใหม่ ญาติผู้ใหญ่ต่างก็วิจารณ์หลักสูตรการเรียนการสอนกันอย่างมากมาย ด้วยเหตุว่าเป็นการปฏิวัติการเรียนแบบโบราณอย่างมากมาย ระบบการสอนให้เด็กกล้าแสดงออก และต้องมีความคิดเป็นของตนเองในทุกๆเรื่องโดยไม่เน้นการท่องจำเลย ผมจำได้ว่าเวลากลับบ้านจะถูกพี่เลี้ยง "ติว" และกวดขันให้ทำการบ้านและอ่าน หนังสือที่ครูอาจารย์สั่งทุกวัน ถ้าการบ้านไม่เสร็จก็อย่างหวังเลยว่าจะได้ไปวิ่งเล่น ส่วนเรื่องดูโทรทัศน์นั้น ต้องเรียนว่าตอนที่ผมเกิดยังไม่มีโทรทัศน์หรือทีวีเลยครับ มีแต่วิทยุ และที่ต้องฟังอยู่ทุกวี่ทุกวันก็คืองิ้วทางวิทยุที่คนฟังต้องเปิดเสียงเต็ม ที่หรือสมัยนั้นนิยมใช้คำว่า เสียงดังแปดหลอด ก็ไม่ค่อยเข้าใจนักหรอกครับว่าเจ้าแปดหลอดมันคืออะไร นอกจากงิ้วแล้วก็ยังมีละครวิทยุของคณะละครหลายคณะที่นำเอานวนิยายดังๆมาเป็น บทละครวิทยุที่มีผู้พากย์เสียงตัวละครแบบสะใจเหลือเกิน วันไหนมีตัวอิจฉาปะทะคารมกับนางเอก หรือตอนแม่ผัวตบกับลูกสะใภ้แล้ว ต้องถือว่าขาดไม่ได้เลยทีเดียว สาวใช้ทุกบ้านจะหยุดปฏิบัติงานแล้วนั่งใจจดใจจ่อรอฟังวิทยุ เรียกว่าเครื่องใครเครื่องมันเลยทีเดียว จนผมเริ่มโตจำความได้จึงเริ่มมีโทรทัศน์ และนับจากนั้นชีวิตผมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

โทรทัศน์ที่เริ่มมีครั้งแรกยังเป็นภาพขาว-ดำ แม่จะมอบให้พี่เลี้ยงของผมเป็นผู้ดูแลในการเปิด-ปิด
หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว เล่นและอาบน้ำสะอาดแล้ว ใส่ชุดอยู่บ้านเป็นเสื้อกุยเฮง คอกลม ผ่าอกติดกระดุม แขนเกือบสามส่วน ใส่กางเกงแพรหรือกางเกงผ้าฝ้ายขาว แบบมีสายอีลัสติกรัดที่เอวเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกินข้าวเย็นเสร็จครบถ้วนจึงจะเปิดโทรทัศน์ จากนั้นบ่าวไพร่และเด็กๆบริวารของผมก็จะมานั่งดูโทรทัศน์กันทั่วทุกตัวคน ผมจะต่อรองกับพี่เลี้ยงให้ดูข่าวในราชสำนักจบเสียก่อนได้แล้วจึงเข้านอน จำได้ว่าตอนนั้นรักในหลวงและสมเด็จฯมาก เพราะท่านช่วยให้เราอยู่ดึกขึ้นอีกนิดแต่เมื่อโตขึ้นแล้วจึงรู้สึกรักมาก ยิ่งขึ้นจากผลของการทรงงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและแผ่นดิน เวลาข่าวในหลวงออก แม่จะเดินมาตรวจว่าผมและบริวารนั่งกันเรียบร้อยหรือไม่ แม่จะกวดขันให้นั่งเรียบร้อยเสมอ ต่อหน้าโทรทัศน์ แม่บอกว่าถึงในหลวงไม่เห็นแต่เราก็รู้อยู่แก่ใจ

ช่วงเวลาเลิกเรียนเมื่อกลับถึงบ้านแล้วนั้น ผมต้องทำการบ้านให้เสร็จเสียก่อน จากนั้นจึงจะไปวิ่งเล่นได้ ที่บ้านเป็นบ้านแบบโบราณ ทั้งบ้านและวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นจึงเลี้ยงผู้คนไว้มากมายหลายต่อหลายครอบครัว สมัยนั้นเราเรียกว่าบ่าวไพร่โดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการแบ่งชนชั้นหรือกดขี่ แต่อย่างไร เป็นแค่คำเรียกเฉยๆ บ่าวไพร่ที่บ้านมีราวๆ20-30คน ทุกคนมีเรือนของตัวเอง มีครัวของตัวเองแยกออกไปเป็นสัดส่วน มีลูกครอบครัวละหลายคน ลูกๆของบ่าวไพร่เหล่านั้นเป็นเพื่อนเล่นของผม เวลากลับจากโรงเรียนก็จะมีของว่างจานโตจากแม่ครัววางรอ”คุณหนูแพน”เพียงคน เดียว แต่ที่ทำซะใหญ่โตเพราะคุณหนูแพนเธอมีบริวารที่กำลังกินกำลังนอนมากมายหลายคน แม่ของผมจะเข้มงวดเรื่องกินกับผมมาก ว่ากินอะไรก็ต้องแบ่ง ต้องเผื่อแผ่คนอื่น โดยเฉพาะกับบริวารของตัวเอง ห้ามหวงกินเด็ดขาด ดังนั้นของว่างที่บ้านผมจึงมีไม่ขาดและมีในปริมาณมากมาย จนบ้านอื่นๆจะบอกว่าแม่ครัวบ้านผม”มือเติบ” ทำอาหารมากมายล้นเหลือ แต่เท่าที่จำได้ก็ไม่เคยเห็นเหลือเลย

หากวันไหนตรงกับวันที่จะต้อง”หั่นสบู่”อันเป็นศัพท์ที่คนใช้เรียกกันสั้นๆ เนื่องจากตอนที่ผมยังเด็กอยู่นั้นยังไม่มีผงซักฟอก น้ำยาล้างจานใดใดทั้งสิ้น ที่บ้านและคิดว่าทุกบ้านจะต้องซื้อสบู่แท่งมาใช้ ที่บ้านผมซื้อสบู่แท่งสีเหลืองๆ แล้วนำมาหั่นแฉลบเป็นแว่นบางๆ ตวงด้วยช้อนสังกะสีแบบคร่าวๆแล้วห่อใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ฉีกหน้าหนึ่ง แบ่งเป็นแปดชิ้น แล้วพับห่ออย่างดี ใสเก็บไว้ในขวดโหล สำหรับใช้ซักเสื้อผ้า ส่วนสบู่แท่งสีน้ำเงินลายริ้วพรายน้ำขาวนั้น เมื่อหั่นแฉลบและห่อพับเก็บเรียบร้อยแล้ว จะเอาไว้ใช้ล้างจานชาม หม้อไหต่างๆ วันไหนที่แม่ผมสั่งห่อสบู่แปลว่าวันนั้นอดเล่น ผมและเพื่อนเล่นทั้งหลายต้องมานั่งพับเพียบเรียบร้อยหรือหมอบหั่นสบู่ที่มี มากมาย ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆกว่าจะเสร็จ ถ้าเป็นเด็กปัจจุบันคงบ่นกะปอดกระแปด แต่ผมและเพื่อนก็ไม่ได้บ่น ทั้งยังจำได้ดีด้วยว่าไม่มีใครบ่นเลย เพราะทุกคนรู้ดีว่านี่คือหน้าที่ของเด็กๆในบ้านนี้ทุกคน และผมคิดว่าที่ผมยังนั่งพับเพียบหมอบคลานได้ดีจนทุกวันนี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากวัยเด็กทั้งสิ้น.

ค่าขนมไปโรงเรียนสาธิตประสานมิตรของผมตอนนั้นคือวันละ1บาท ถือว่าเป็นมาตรฐานแล้ว
เพราะสามารถซื้อกระเพาะปลาหรือก๋วยเตี๋ยวได้ในราคาชามละ50สตางค์ แล้วยังมีเหลือไปซื้อไอติมได้อีก1สลึงและซื้อน้ำแดง-น้ำเขียวอีก1สลึงเช่น กัน ค่าของเงินบาท-เงินสลึงสมัยนั้นสูงมาก ถึงขนาดมีกลอนที่ครูบังคับให้ท่องคือ ... "...มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน..." เวลานี้เห็นค่าขนมเด็กนักเรียนไปโรงเรียนวันละเป็นร้อยๆแล้วก็รู้สึกตกใจ แอบคิดว่ามันกินอะไรของมัน(วะ)


เวลาอยู่ที่โรงเรียน ผมจะถูกสอนให้เคารพในอาวุโส ต้องทักทายไหว้กราบครูบาอาจารย์ทุกครั้งที่เดินสวนกัน
จำได้ดีว่าเราต้องหยุดยืนนิ่งเวลาสวนกับครู เวลาสวนกับครูที่บันไดก็ต้องหยุดให้ท่านเดินไปก่อน ต้องเดินค้อมตัวหรือคลานเข่าเวลาผ่านหน้าครูที่นั่งอยู่ หรือยกมือขึ้นไหว้พร้อมกับการกล่าวขอบคุณดังชัดเจนทุกครั้งที่ได้รับเมตตา จากท่านผู้ใหญ่และทุกๆวันศุกร์จะต้องไปเก็บดอกบานไม่รู้โรยและดอกขี้ไก่ซึ่ง ปัจจุบันนิยมเรียกดอกผกากรองนำมาจัดทำพานพุ่ม โดยเอาขี้เลื่อยและทรายมาพรมน้ำพอชื้นๆแล้วจึงปักดอกไม้ต่างๆลงไป เพื่อนำไปใช้ถวายพระที่โต๊ะหมู่เล็กๆของโรงเรียนและสวดมนต์ประจำวันสุด สัปดาห์หลังเลิกเรียน จากนั้นก็จะจบลงที่การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วกลับบ้านได้ จำได้ดีว่าตอนสวดมนต์จะต้องถอดรองเท้าและนั่งพับเพียบกับพื้น ซึ่งก็จะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเท้าที่อบเหงื่อ ตรลบอบอวลไปทั้งห้องสวดมนต์เลย.

ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ผมก็จะได้ไปเที่ยวเขาดิน เพื่อดูและให้อาหารสัตว์
นอกจากนั้นก็จะได้ไปเที่ยววัด วัดที่ไปเป็นประจำคือ วัดเบญจมบพิตร โดยที่พ่อแม่และพี่เลี้ยงจะต้องอ่านคำบรรยายที่ทางวัดเขียนตั้งประกอบประจำ พระพุทธรูปแต่ละองค์ไว้ให้ครบถ้วนทุกองค์เสียก่อน จึงจะยอมกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้น่าที่จะเป็นปัจจัยหล่อหลอมให้ผมมีอุปนิสัยและความชอบดั่งเช่น ในปัจจุบันนี้ การเดินห้างสรรพสินค้าในสมัยที่ผมเป็นเด็กนั้น ยังไม่ใช่สถานที่ที่เด็กๆจะไปเดินเล่นแต่อย่างไร คงมีแต่ผู้ใหญ่ที่ไปจับจ่ายซื้อของเท่านั้น เมื่อมีห้างญี่ปุ่นชื่อไทยไดมารูมาเปิดตรงบริเวณที่ปัจจุบันนี้คือเซ็น ทรัลเวิร์ลเป็นครั้งแรกและมีบันไดเลื่อนแห่งแรกของประเทศไทย ก็จะมีผู้คนแห่กันไปดูและทดลองขึ้นบรรไดเลื่อนกันอย่างมากมาย บางครั้งกลับมาจากห้างก็จะเป็นหวัดที่เก๋ไก๋มากเพราะไปโดนเครื่องปรับอากาศ จากห้างเข้า เรียกว่าหวัดที่เอาไปคุยข่มกันได้


การแต่งกายตอนผมเป็นเด็กก็มีแต่กางเกงขาสั้นเป็นหลัก
ไม่เคยใส่กางเกงขายาวเลยจนเมื่ออายุครบ12ปี พ่อถึงได้เรียกช่างตัดเสื้อกางเกงที่เป็นจีนเซี้ยงไฮ้มาวัดตัวตัดที่บ้าน ตอนนั้น”เห่อ”กางเกงขายาวตัวใหม่มาก ใส่ไม่ถอดไม่ซักเลย เสื้อของเด็กๆตอนนั้นก็เป็นเสื้อปกคอฮาวายเป็นหลัก เสื้อยืดยังไม่แพร่หลาย ถ้ามีใส่ก็ต้องเป็นลูกเศรษฐีเพราะต้องไปซื้อมาจากฮ่องกงหรือญี่ปุ่น ส่วนรองเท้าก็ใช้ของบาจากันเป็นหลัก แต่ผมเก๋กว่าคนอื่นที่ได้ใส่รองเท้าหนังสีดำไปโรงเรียนมาตั้งแต่เล็ก เพราะพ่อทำงานสายการบิน ต้องเดินทางบ่อยจึงวัดเท้าผมใส่กระดาษโดยให้เท้าเปล่าเหยียบแล้วเอาดินสอวาด เส้นโดยรอบ เวลาที่จะได้แต่งตัวสวยคือเวลาที่จะไปส่งคนที่ดอนเมืองกับเวลาที่ไปดูการ แสดงที่โรงละครแห่งชาติ จะใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นขาวกับกางเกงขาสั้นขาว ผูกเน็คไทสีแดงเลือดหมู ใส่ถุงเท้าขาวและรองเท้าหนังดำ แม่จะเข้มงวดมากกว่าเวลาไปโรงละครแห่งชาติ แม่บอกว่าเป็นสถานที่ที่มีเกียรติ มีองค์เทพและครูบาอาจารย์ทางศิลปะวิทยาการต่างๆสถิตย์อยู่ดังนั้นผมจึงติด เป็นนิสัยมาจนทุกวันนี้ที่ต้องแต่งตัวเรียบร้อยเป็นพิเศษเวลาไปโรงละคร ต่างๆ.

การสื่อสารสมัยเมื่อ50-60ปีที่แล้วนั้นยังมีแต่โทรศัพท์แบบแท่น ต้องยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหูเพื่อฟังและอีกด้านหนึ่งให้ตรงกับปากเพื่อพูด ใช้นิ้วมือหมุนเลขที่หน้าปัด เบอร์โทรศัพท์ตอนนั้นก็เพียง5หลัก เบอร์ที่บ้านของผมนั้นยังจำขึ้นใจมาจนทุกวันนี้คือ57815 ส่วนถ้าจะส่งข่าวคราวทางไกลกันก็ต้องใช้โทรเลข ซึ่งบางครั้งก็เคาะผิดหรือแปลผิดจนเกิดความสับสนอยู่บ่อยๆ 


เฮ้อ...นั่งบ่นนั่งเล่าเรื่องราวสมัยเด็กมาตั้งนานแล้ว รู้สึกว่าทำไมโลกมันจึงเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากเหลือเกิน
รู้สึกสงสารเด็กๆในปัจจุบันนี้มากจริงๆที่ต้องดิ้นรนต่อสู้มากเหลือเกิน ชีวิตมีแต่การแข่งขัน ผิดกับสมัยผมอย่างมากที่ทุกอย่างเรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป ในวาระที่กำลังจะถึงวันเด็กครั้งนี้ ผมอยากให้เด็กไทยทุกคนมีความสุขมากๆ แต่อยากให้เป็นความสุขที่ไม่กระทบกระเทือนผู้อื่น ไม่ใช่ความสุขที่มาจากความเดือดร้อนของคนอื่นด้วยเช่นกันครับ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าความสุขที่แท้จริง
***
เผ่าทอง ทองเจือ
//www.facebook.com/เผ่าทอง ทองเจือ

credit : thairath


Create Date : 12 มกราคม 2555
Last Update : 12 มกราคม 2555 19:58:15 น. 0 comments
Counter : 1785 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.