Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
9 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

"ตาลปัตรพัดรอง" สืบสานประณีตศิลป์กรุงรัตนโกสินทร์





▶▷"ตาลปัตรพัดรอง" สืบสานประณีตศิลป์กรุงรัตนโกสินทร์

นอกเหนือจากเป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งของพระสงฆ์ ตาลปัตรพัดรอง ที่ปรากฏนับเนื่องแต่อดีตยังเป็นงานประณีตศิลป์ทรงคุณค่าทั้งในด้านการออกแบบ และการปักลวดลายที่งดงาม

ตาลปัตร หากแปลตามความหมายคือ ใบตาล เป็นเครื่องบริขารอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่มีมายาวนานจวบปัจจุบัน บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ (ภาษาและวรรณ กรรม) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม บอกเล่าว่า พัดลักษณะพิเศษที่เป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์หรือยศของพระสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับพระราชทานสมณศักดิ์เพื่อเป็นสิ่งประกาศเกียรติคุณหรือบอกชั้นยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราช ทานเรียกว่า พัดยศ โดยพัดยศจะมีความต่างจากตาลปัตรธรรมดา คือจะปักด้วยดิ้น ปักลวดลายบอกถึงสมณศักดิ์และมีหลายลักษณะทั้ง ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือพัดแฉก พัดหน้านาง พัดพุดตาน พัดแฉกเปลวเพลิง ฯลฯ




“เมื่อไปทำบุญที่วัดหรือนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทำบุญบ้าน งานบวชนาค ฯลฯ งานพิธีทั่วไปเหล่านี้พระจะถือตาลปัตรธรรมดา แต่เมื่อมีพัดยศพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์ อย่าง พระราชาคณะ ท่านเจ้าคุณ พระครูจะถือพัดที่มีรูปลักษณะต่างกันไป อีกทั้งในงานหลวงหรืองานพระราชพิธีพระจะใช้พัดยศ”

สำหรับ พัดรอง ที่กล่าวถึงนั้นพัดดังกล่าวคือ ตาลปัตรที่พระราชาคณะ ท่านเจ้าคุณ พระครู ฯลฯ ถือแทนพัดยศในงานหลวง หรืองานพระราชพิธีโดย พัดรองนี้มีขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระองค์ทรงโปรดฯ ให้จัดทำขึ้นเป็นทรงหน้านาง โครงเป็นไม้ไผ่แล้วหุ้มด้วยผ้าสีหรือผ้าพื้นมีด้ามตัดคีบตรงกลาง พัดรองครั้งนั้นไม่มีการปักบอกชื่องานว่าเป็นงานใดหรือบอกสิ่งใดเป็นพิเศษแต่เป็นผ้าพื้นหรือผ้าลายที่ไม่มีการปักลาย ส่วนพัดรองที่ปักลวดลายบอกงานเป็นครั้งแรกมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่เรียกว่า “พัดรอง” นั้นมีความหมายคือ รองจากพัดยศ ส่วนที่พระถือโดยทั่วไปจะเรียกว่าตาลปัตรและถ้าใช้ในงานหลวงจะเรียกว่า พัดรองหรือตาลปัตรพัดรอง




ตาลปัตรพัดรอง หากสังเกตลวดลายสัญลักษณ์ที่นำมาใช้ไม่เพียงถ่ายทอดให้เห็นถึงงานพระราชพิธีครั้งนั้น แต่ยังปรากฏให้เห็นถึงความละเอียดประณีตในการออกแบบ การปักลาย ซึ่งที่ผ่านมามีช่างหลวงหลายท่านออกแบบไว้ โดยผลงานฝีพระหัตถ์ ตาลปัตรและพัดรองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างสรรค์ไว้นับเป็นแบบอย่างของงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมเป็นครูให้แก่ช่างไทยยุคต่อมา




ส่วนการสร้างพัดรองตามสมัยนิยมเกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2426 แต่พัดรองครั้งนั้นใช้ปักดิ้นเป็นพื้น ทั้งนี้เพราะไทยมีความชำนาญการปักดิ้นมายาวนาน การปักไหมยังด้อยกว่าเพื่อนบ้านจึงนิยมส่งไปปักไหมที่เมืองจีน แต่ต่อมาช่างไทยได้หัดปักกันขึ้นเอง โดยการปักไหมของไทยยุคแรกนิยมหนุนให้นูนสูงขึ้นมาก ๆ โดยพัดที่ปักสำหรับงานฉลองพระราชลัญจกรและสมโภชรัชกาลที่ 5 เสวยราชย์หมื่นวัน เมื่อ พ.ศ. 2438 เป็นสมัยที่ช่างปักหนุนลายกันมากสุด ทั้งนี้เนื่องจากมีการปักประกวดกันในงาน



ปัจจุบันตาลปัตรพัดรองยังคงปรากฏให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ เป็นงานประณีตศิลป์อีกแขนงที่ถ่ายทอดถึงฝีมือช่างผู้ออกแบบ โดยนักอักษรศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเพิ่มอีกว่า การออกแบบนั้นสุดแท้แต่ช่างผู้ที่ได้รับมอบหมายงานเป็นผู้ออกแบบ แต่รูปทรงโดยมากเป็นพัดหน้า ส่วนสิ่งที่ศึกษาได้จากตาลปัตรพัดรองเป็นเรื่องขนบของพระสงฆ์ไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานราชหรืองานหลวงต้องมีตาลปัตรซึ่งเป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งของพระสงฆ์ โดยจะวางตั้งบังหน้าขณะสวดในงานต่าง ๆ เป็นขนบหนึ่งของพระที่มิได้เพิ่งมีขึ้นหากแต่มีสืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งยังแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งนอก จากทรงพระราชทานเพื่อการแต่งตั้งยศแล้วยังพระราช ทานตามพระราชอัธยาศัยในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อีกทั้งยังถ่ายทอดถึงแง่มุมทางศิลปะแต่ละยุค บ่งบอกถึงรายละเอียดของงานเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทรงคุณค่างดงามนับเนื่องถึงปัจจุบัน.

........................................

ตัวอย่างตาลปัตรพัดรองงานพระราชพิธีกรุงรัตนโกสินทร์


พัดไอยราพต / พัดเฉลิมพระสุพรรณบัตร

พัดไอยราพต
พัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2416 พื้นแพรปักไหมสีรูปพระเกี้ยว ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเหนือรูปอาร์มตราไอยราพต




พัดพระราชลัญจกรสำหรับพระองค์ / พัดพระครุฑพ่าห์

พัดเฉลิมพระสุพรรณบัตร พัดรองงานพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัตร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 6 พระองค์และพระอัครชายา 2 พระองค์พุทธศักราช 2431 ปักดิ้นและไหมสีเป็นรูปพระเกี้ยว 8 องค์ ด้านหลังพัดปักพระนามเจ้านายที่ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัตร

พัดพระราชลัญจกรสำหรับพระองค์ พัดรองงานพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบหมื่นวันในรัชกาลที่ 5 พุทธศักราช 2438 ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปักดิ้นและไหมสีรูปพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พัดตราประจำแผ่นดิน / พัดนารายณ์เกษียรสมุทร

พัดพระครุฑพ่าห์ พัดรองงานพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบหมื่นวันในรัชกาลที่ 5 พุทธศักราช 2438 ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปักดิ้นและไหมสีรูปพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์

พัดตราประจำแผ่นดิน พัดรองงานพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบหมื่นวันในรัชกาลที่ 5 พุทธศักราช 2438 พื้นแพรปักดิ้นและไหมรูปพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน

พัดนารายณ์เกษียรสมุทร พัดรองงานพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบหมื่นวันในรัชกาลที่ 5 พุทธศักราช 2438 พื้นแพรปักดิ้นและไหมรูปตราประจำกรมยุทธนาธิการ


พัดบรมราชาภิเษก / พัดรัตนกรัณฑ์

พัดบรมราชาภิเษก พัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมง กุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2453 ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปักไหมสีรูป “วชิราวุธ” อันเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ประดิษฐานในซุ้มเหนือเศียรช้างเอราวัณ

พัดรัตนกรัณฑ์ งานฉลองพระชันษาครบ 60 ปีของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายวลีภิรมย์พุทธศักราช 2466 ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พื้นตาดระกำไหมปักดิ้นเลื่อม อักษรพระนามย่อ สลภ

พัดสามศร พัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468 ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปักไหมสีรูป “สามศร” อันเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์


พัดสามศร / พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 7

พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 7 พัดรองสำหรับพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อพุทธ ศักราช 2471 อักษรพระปรมาภิไธย ปักริมดิ้นเลื่อมทองกลางถมไหม

พัดสมโภชพระนคร พัดรองงานพระราชพิธีสมโภชพระนครครบ 150 ปี พุทธศักราช 2475 พื้นกำมะหยี่ กลางพัดปักดิ้นรูปจักรีล้อมด้วยอักษรพระปรมาภิไธยย่อ 7 รัชกาล ขอบมีอักษรบอกงานล้อมรอบ

พัด “มวก” พัดรองงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พุทธศักราช 2515 พื้นสักหลาดปักดิ้นรูปจุลมงกุฎขนนก อักษรพระนามย่อ มวก ประดับพลอยล้อมรอบด้วยสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอม เกล้า มีแถบริบบิ้นสีชมพูปักอักษรบอกงาน.


พัดสมโภชพระนคร / พัด “มวก”

credit : dailynews




 

Create Date : 09 มีนาคม 2555
0 comments
Last Update : 9 มีนาคม 2555 18:07:26 น.
Counter : 12320 Pageviews.


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.