เมื่อครูทุกคนต้องเป็นครูแนะแนว
จิตวิทยาแนะแนวกับพรรณี
เมื่อผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายเด่นเฉพาะตน ผู้เกี่ยวข้องย่อมต้องน้อมรับคำสั่ง และพยายามทำให้นโยบายกลายเป็นข้อบังคับเชิงปฏิบัติให้ได้
สมัยหนึ่งช่วงที่จะปรับหลักสูตรเหมือนตอนนี้แหละ น่าจะเป็น 2544 นโยบายที่จะลดคาบกิจกรรมแนะแนว รวมทั้งลดครูแนะแนวลง จึงประกาศว่า ครูทุกคนเป็นครูแนะแนว
ครูแนะแนวหลายคนคงหนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วเราจะมีที่ยืนในโรงเรียนไหมเนี่ย เนื่องจากหลักสูตร 2521 ประกาศชัดเจนว่า ทุกโรงเรียนต้องมีครูแนะแนวและให้จัดกิจกรรมแนะแนว 1 คาบต่อสัปดาห์ บางคนจบมาทางแนะแนวโดยตรงระดับปริญญาตรี
คำถามต่อมาแล้วครูทุกคนเป็นครูแนะแนวได้จริงหรือ ไม่จำเป็นต้องมีครูแนะแนวใช่หรือไม่ กิจกรรมแนะแนว 1 คาบต่อสัปดาห์จำเป็นต้องมีหรือไม่ ครูแนะแนวมีโอกาสส่งผลงานทางวิชาการหรือไม่ อะไร ๆ ทำนองนี้ ครูแนะแนวคงสะดุ้งกันบ้างล่ะจริงไหม
ครูแนะแนวต้องรอบรู้เรื่องจิตวิทยา การแนะแนว การให้คำปรึกษา การปรับพฤติกรรม คงไม่ใช่แค่สอนให้เด็กเลือกคณะเข้ามหาวิทยาลัย และไม่ใช่เข้าไปทำอะไรก็ได้ในคาบกิจกรรมแนะแนว และไม่ใช่แค่มีห้องส่วนตัวที่แอบเข้าไปหลับนอนได้
สมัยก่อน ไม่ต้องมีครูแนะแนว เด็กก็เป็นใหญ่เป็นโตได้ คำพูดเช่นนี้มีบ่อยครั้งเมื่อจะลบภาพบางอย่างออกไป เช่น ครูไม่ต้องเรียนสูง ครูไม่ต้องมีวิทยฐานะ
ครูทุกคนสามารถเข้าใจจิตวิทยา การแนะแนว การให้คำปรึกษา การปรับพฤติกรรมและอะไรต่อมิอะไรที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กได้อย่างถ่องแท้เพื่อช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดแล้วได้จริงหรือไม่ ถ้าได้ ไม่จำเป็นต้องมีครูแนะแนวหรอก
ในขณะที่ทุกวันนี้ ครูเองยังไม่เข้าใจหลักสูตร ไม่รู้วิธีการสอนสารพัดอย่างที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับนักเรียนของตน บริบทเฉพาะของโรงเรียน ได้แต่สอนตามหนังสือที่กระทรวงกำหนด หรือไม่จากสำนักพิมพ์เอกชน แค่นี้ครูคางเหลืองแล้ว
นอกจากนี้ ครูหลายคนชอบอาสาทำงานพิเศษที่บรรดารองผู้อำนวยการมอบหมายให้ทำ ทั้งที่นั่นคืองานโดยตรงของเขา ยังไม่หมดต้องเตรียมรับการประเมินจากต่างหน่วยงานที่มีรูปแบบการประเมินที่ต่างกันอีกด้วย
งานมากมายอย่างนี้ จะมีครูสักกี่คนที่สนใจเด็กตัวน้อย ๆ แต่หลายร้อยชีวิตให้พัฒนาเติมเต็มศักยภาพของตนและช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาจากสังคมที่ก้าวไปไกลเกินที่เด็ก ๆ จะปรับตัวได้ทัน และเข้าใจว่าโลกมายาหรือโลกเสมือนจริง ไม่ใช่โลกที่เป็นจริง
ครูทุกคนคงอยากเป็นครูแนะแนวกันจริง ๆ นะคะ