แบบสอบวัดเพื่อการตัดสินใจด้านอาชีพ
แบบสอบวัดเพื่อการตัดสินใจด้านอาชีพ
 
            การวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ พบว่า ความสามารถในการเรียนรู้ และทักษะทางอาชีพของบุคคลจะสัมพันธ์กับความถนัดและความสนใจของบุคคลนั้น   คุณลักษณะของบุคคลจะสัมพันธ์กับความสำเร็จในการทำงาน    นักจิตวิทยาจึงต้องการที่จะสร้างแบบสอบวัดเพื่อทำนายลักษณะของความถนัด ความสนใจที่มีต่อการตัดสินใจเลือกอาชีพหรือการประสบความสำเร็จในอาชีพ   
การสร้างแบบสอบวัดคุณลักษณะที่มีในตัวแต่ละคนเพื่อทำนายความสำเร็จในการทำงานในอนาคตจึงเป็นความคิดพื้นฐานในการสร้างแบบสอบวัดเพื่อการตัดสินใจด้านอาชีพ  และแบบสอบวัดนี้ยังมีประโยชน์  สามารถใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน  ศึกษาต่อ และให้คำปรึกษาการตัดสินใจเลือกอาชีพได้ด้วย
 
            ในการแนะแนวเพื่อให้คำปรึกษาด้านอาชีพ จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบหรือแบบสำรวจที่เราจะเรียกรวมว่าแบบสอบวัด เพื่อให้ได้ข้อมูลว่า ผู้รับคำปรึกษามีความถนัด  ความสนใจ พัฒนาการและวุฒิภาวะทางอาชีพเช่นไร จึงจะช่วยให้การตัดสินใจด้านอาชีพถูกต้องเที่ยงตรงมากขึ้น
 
            การเลือกใช้แบบสอบวัดเพื่อการตัดสินใจด้านอาชีพจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะเลือกใช้แบบสอบวัดประเภทใด ใช้ทฤษฎีหลักการของคนใดคนหนึ่งหรือจะผสมผสานหลายแนวความคิด เพื่อดูความสอดคล้องที่ได้จากแบบสอบวัดต่าง ๆ แล้วจึงให้คำปรึกษา  โดยผู้รับคำปรึกษาควรผ่านกระบวนการตัดสินใจด้านอาชีพด้วย  ผลจากแบบสอบวัดเป็นเพียงข้อมูลประกอบการตัดสินใจ  ทั้งนี้ต้องคำนึงว่าควรใช้แบบสอบวัดอย่างระมัดระวัง  และผู้ให้คำปรึกษาต้องชี้แจงถึงข้อจำกัดบางประการของแบบสอบวัดแต่ละฉบับ  และต้องคำนึงถึงค่าความเชื่อมั่น ความเที่ยงตรงและประโยชน์ที่จะได้จากแบบสอบวัดแต่ละฉบับด้วย
 
            ภายหลังจากที่ผู้รับคำปรึกษาทำแบบสอบวัดประเภทต่าง ๆ แล้ว ผู้ให้คำปรึกษา
ควรนำผลของแบบสอบวัดมาพิจารณาเปรียบเทียบแบบแผนของกลุ่มอาชีพที่ได้และคะแนน (Profile) จากแบบสอบวัดแต่ละฉบับมาเปรียบเทียบเพื่อหาความสอดคล้องหรือความแตก
ต่างของคะแนน  เช่น พิจารณากลุ่มอาชีพที่ได้จากคะแนนแต่ละฉบับว่ามีลักษณะหน้าที่
การทำงานที่ต้องใช้ความสามารถ ความสนใจเหมือนกันหรือไม่  วิเคราะห์ว่ากลุ่มของอาชีพที่ได้เป็นเพียงโอกาสที่เป็นไปได้ที่เราจะเลือกเท่านั้น  ควรคำนึงถึงทุกปัจจัยว่า อาชีพใดเหมาะสมกับตนมากที่สุดและมีความเป็นจริงมากที่สุด  เช่น โอกาสการได้งานทำในอนาคต เงื่อนไขการทำงาน การจ้างงาน การฝึกงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการที่จะได้รับ เป็นต้น และงานนั้นเหมาะสมกับคุณลักษณะ ของตนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
            การตัดสินใจเลือกอาชีพขั้นสุดท้ายควรเป็นการตัดสินใจของผู้รับคำปรึกษา  แม้ว่าจะต้องผ่านขั้นตอนของการรับคำปรึกษาจากผู้ให้คำปรึกษา ผู้ปกครอง พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อน   ผู้รับคำปรึกษาต้องคิดว่างานที่จะเลือกนี้ ตนจะประสบความสำเร็จและพึงพอใจที่จะทำงานนั้นมากที่สุด  และเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด   ไม่ใช่ถามว่างานใดดีที่สุด
 
การวัดความสนใจในอาชีพ
           อี เค สตรอง (E.K. Strong) ได้สร้างแบบสอบวัดความสนใจในอาชีพ ชื่อว่า Strong Vocational Interest Blank เรียกย่อว่า SVIB เพื่อวัดว่าบุคคลที่ทำงานในอาชีพที่แตกต่างกันชอบหรือไม่ชอบอะไร  โดยสตรองมีความเชื่อว่า ความพอใจสัมพันธ์กับความสามารถ  การที่บุคคลจะทำกิจกรรมใดหมายความว่าเขามีความสามารถในการทำกิจกรรมนั้น  ถ้าเขาประสบความสำเร็จในกิจกรรมใดเขาก็จะชอบกิจกรรมนั้นด้วย สตรองเรียกความชอบนี้ว่าความสนใจ  หลักการของแบบทดสอบ คือ คนที่ทำงานอาชีพต่างกันจะมีความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ทัศนคติ ลักษณะทางบุคลิกภาพแตกต่างกัน 
 
ต่อมาสตรองได้พัฒนาแบบทดสอบวัดความสนใจในอาชีพสำหรับการตัดสินใจเลือกเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  ชื่อแบบทดสอบ  The Strong Campbell Interest Inventory (SCII) ประกอบ
ด้วยข้อคำถาม 325 ข้อ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 7 กลุ่ม คือ อาชีพ วิชาที่เรียนในโรงเรียน กิจกรรม
ความบันเทิง ชนิดของคน ให้ผู้ตอบว่าชอบหรือไม่ชอบ
 
            จอห์น แอล ฮอลแลนด์   (John L. Holland) ได้เสนอทฤษฎีการเลือกอาชีพว่า พฤติกรรมเป็นฟังก์ชั่นของความสนใจทางด้านบุคลิกภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคม การเลือกอาชีพเกิดจากแรงจูงใจ ความรู้ในอาชีพ การรับรู้และการเข้าใจตนเอง ความสามารถของตน การที่บุคคลจะอยู่ในสภาพแวดล้อมทางอาชีพใดขึ้นอยู่กับความสนใจและบุคลิกภาพ ฮอลแลนด์ได้พัฒนาแบบสำรวจชื่อ Vocational Preference Inventory เพื่อวัดความสนใจในอาชีพ และแบบสำรวจชื่อ Self Directed Search เพื่อค้นหาอาชีพที่เหมาะสมกับตนด้วยตนเอง  
 
หลักการของแบบสำรวจนี้ คือ การเลือกอาชีพเป็นการแสดงออกทางบุคลิกภาพ ลักษณะทางอาชีพจะสัมพันธ์กับลักษณะทางจิตสังคมที่สำคัญของบุคคลนั้น  ความพอใจในอาชีพ
ความคงที่และความสำเร็จขึ้นอยู่กับความสอดคล้องระหว่างบุคลิกภาพและสิ่งแวดล้อมของคนนั้น  ลักษณะของแบบสำรวจแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ การประเมินกิจกรรม ความสามารถ อาชีพที่ชอบ และการประมาณค่าตนเอง
 
            ผลจากแบบสำรวจความสนใจในอาชีพของสตรองและฮอลแลนด์จะสอดคล้องกัน คือ แบ่งคนเป็น 6 ประเภท ได้แก่
            Realistic                       ความสนใจงานนอกบ้าน งานเทคนิค
            Investigative     ความสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ งานสืบค้นหาข้อเท็จจริง
            Artistic              ความสนใจงานละคร การแสดงออก
            Social              ความสนใจการช่วยเหลือผู้คน งานที่ได้อยู่กับผู้คน
Enterprising ความสนใจงานชักจูง การเมือง การมีอำนาจ
            Conventional   ความสนใจงานองค์การ งานเสมียน
 
            วิธีการวัดความสนใจ
            การวัดความสนใจในอาชีพอาจทำได้ 4 แบบ คือ (Walsh & Betz.  1985: 232)
1. การวัดโดยการถามตรง ๆ ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบทำกิจกรรมใด ชอบหรือไม่ชอบ
อาชีพใด 
2.  การวัดความสนใจจากการสังเกตพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน เช่น การมีส่วนร่วมในกิจกรรม สถานการณ์หรืออาชีพ สังเกตว่าเขาใช้เวลาทำอะไรบ้าง เช่น บางคนอาจบอกว่าสนใจวิชาเลขคณิต แต่ไม่เคยใช้เวลาในการนับหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับตัวเลข แต่ชอบใช้เวลาสะสมก้อนหิน แสดงว่าเขาสนใจวิชาธรณีวิทยามากกว่าเลขคณิต หลักการของวิธีนี้ คือ บุคคลมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่เขาชอบหรือสนองความพอใจของเขา
            3.  การวัดความสนใจโดยใช้แบบทดสอบประเมินความสนใจที่สัมพันธ์กับความรู้ในหัวข้อที่กำหนด หลักการของวิธีนี้ คือ บุคคลจะมีความสนใจก็ต่อเมื่อเขามีความรู้ในเรื่องนั้น เช่น ใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์มาตรฐาน คนที่เรียนรู้สาขาวิชาใดมากจะสนใจวิชานั้น เช่น ถ้าเขาเรียนวิชาฟิสิกส์ได้ดีและทำคะแนนได้ดีกว่าวิชาประวัติศาสตร์ ย่อมแสดงว่าเขาสนใจวิชาฟิสิกส์มากกว่าวิชาประวัติศาสตร์
            4. การวัดความสนใจโดยให้บุคคลรายงานว่าชอบหรือไม่ชอบทำกิจกรรมใดบ้าง แล้วให้เหตุผลที่ชอบทำกิจกรรมนั้น แล้ววิเคราะห์ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ต้องทำงานร่วมกับคน สิ่งของ ข้อมูล หรือผลผลิต เช่น ชอบคุยกับเพื่อน ความสนใจนี้สัมพันธ์กับกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหรือต้องอยู่กับคน
 
การวัดวุฒิภาวะทางอาชีพ
            วุฒิภาวะทางอาชีพ หมายถึง ความคงเส้นคงวา (Consistency) ของการเลือกอาชีพและเลือกได้ตรงกับความเป็นจริง บุคคลจะเลือกอาชีพหนึ่งคงที่ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งหรืออาจตลอดไป และสามารถเลือกอาชีพได้เหมาะสมกับลักษณะต่าง ๆ ของบุคคลนั้น
 
            ไคร้ทซ์  (Crites)  ได้สร้างแบบสำรวจวัดพัฒนาการทางอาชีพ ชื่อ The Vocational Development Inventory (VDI)   และต่อมาได้ปรับปรุงเป็นแบบสำรวจวัดวุฒิภาวะทางอาชีพ ชื่อ The Career Maturity Inventory (CMI) โดยมีแนวคิดว่า การที่บุคคลตัดสินใจเลือกอาชีพจะต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจและการเลือกอาชีพ ซึ่งประกอบด้วยความสามารถในการเลือกอาชีพและทัศนคติต่อการเลือกอาชีพ   ดังนั้นความสามารถในการเลือกอาชีพและทัศนคติต่อการเลือกอาชีพจึงเป็นตัวชี้บอกคุณภาพหรือวุฒิภาวะของกระบวนการในการตัดสินใจเลือก
 
            ลักษณะของแบบสำรวจวัดวุฒิภาวะทางอาชีพ ชื่อ The Career Maturity Inventory (CMI) ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ  1)  ความสามารถในการรู้จักตนเอง สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมในการประมาณค่าความสามารถของตน  2)  ความรู้ในเรื่องอาชีพ  ข้อมูลอาชีพ ลักษณะหน้าที่การทำงานและแนวโน้มของอาชีพต่าง ๆ โอกาสการจ้างงานในอนาคต  3)  การเลือกอาชีพที่มีความเป็นจริงมากที่สุด และตรงกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ลักษณะบุคลิกภาพของตน   4)  การวางแผนเพื่อให้ได้อาชีพที่ต้องการ   ต้องเรียงลำดับงานที่ต้องทำเป็นขั้นตอน และกำหนดแผนการได้ชัดเจน  5)  ความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจด้านอาชีพ
 
            การวัดพัฒนาการทางอาชีพของซูเปอร์ (The Career Development Inventory -CDI)
วัดความสามารถและทัศนคติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 1) การวางแผนอาชีพ ชนิดของงานที่ต้องทำ
2) การสำรวจอาชีพ ประมาณค่าแหล่งข้อมูลอาชีพต่าง ๆ ที่เป็นไปได้   3) การตัดสินใจกับปัญหาที่ต้องวางแผน 4) ข้อมูลการทำงาน ความรู้ในอาชีพเฉพาะอย่าง 5) ความรู้ในกลุ่มอาชีพที่ชอบ จัดกลุ่มความสามารถ หน้าที่ ความสนใจ ค่านิยม และลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพ
การวัดความถนัดทางอาชีพ
            ลักษณะของแบบทดสอบความถนัดทางอาชีพ เนื้อหาเน้นส่วนประกอบของงานมากกว่าการสอบทางวิชาการ ต้องเน้นความสามารถที่มองเห็นได้ เช่น การทำงานกับชิ้นส่วนเล็ก ๆ จำเป็นต้องมองเห็นวัตถุกับแผนผังการทำงาน  ลักษณะงานที่ซับซ้อนจะต้องมีหลาย ๆ งานจึงจะบ่งบอกลักษณะของอาชีพได้ 
 
            เบนเนทท์  (Bennett)  ได้สร้างแบบทดสอบความแตกต่างความถนัด ชื่อ  The Different Aptitude Test (DAT)  สำหรับนักเรียนเกรด 8-12 เพื่อใช้ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพ ประกอบด้วยแบบทดสอบย่อย 8 ฉบับ คือ เหตุผลทางภาษา ความสามารถทางตัวเลข เหตุผลทางนามธรรม ความรวดเร็วแม่นยำในการทำงานเสมียน เหตุผลทางจักรกล มิติสัมพันธ์ การสะกดคำ การใช้ภาษา   ตัวอย่างการวัดเหตุผลทางจักรกล คือ วัดความสามารถของบุคคลที่เข้าใจหลักการทางกายภาพที่แสดงในสภาวะปฏิบัติการ   คะแนนของแบบทดสอบทำนายความสำเร็จของโปรแกรมการฝึกงานต่างชนิดกัน เช่น งานจักรกล  การควบคุมเครื่องจักร เจ้าหน้าที่ คนงาน ผู้ตรวจสอบ คนตรวจเครื่องมือ คนทำเครื่องมือ
           
            การวัดความถนัดทางจักรกลของฮาร์เซล (Harsel)  ได้วิเคราะห์ว่า ความถนัดทางจักรกลประกอบด้วย ความสามารถทางภาษา คำพูด ความสามารถในการรับรู้รูปทรงทั้งมวลของวัตถุ สติปัญญารับรู้รูปทรงทางเรขาคณิต รับรู้การเคลื่อนที่ของวัตถุอย่างถูกต้อง รับรู้ความสัมพันธ์ของภาษา คำพูด ตัวประกอบด้านความเร่ง ความคล่องแคล่วในการใช้มือ นิ้ว การให้เหตุผลอย่างมีตรรกะ
 
            ลักษณะของแบบทดสอบวัดความถนัดด้านมิติสัมพันธ์ ใน Minnesota Paper Form Board   จะให้รูปทรงทางเรขาคณิต แล้วผู้ตอบเลือกส่วนประกอบชิ้นส่วนมาต่อกัน เป็นการวัดความสามารถในการเข้าใจความสัมพันธ์ของวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ไปในมิติต่าง ๆ
 
            แบบทดสอบความถนัดด้านเสมียนของ Minnesota Clerical Test (The Psychological Corporation) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การตรวจตัวเลข การตรวจชื่อในเวลา 7 นาที เช่น
 8 7 6 9 4   x    8 7 6 9 4
5 4 6 8 9 2 6  x  5 4 6 9 8 2 6
            การตรวจสอบให้ทำเครื่องหมาย   P ระหว่างตัวที่เหมือนกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้   แบบทดสอบนี้จะวัดความเร็วและความถูกต้องในการรับรู้  ประเมินความสามารถในการรับรู้ของบุคคล ความสามารถในการสังเกตรายละเอียดได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว  รูปแบบของแบบทดสอบเปรียบเทียบชื่อ จำนวนตัวเลข เพื่อแสดงว่าเหมือนหรือแตกต่างกัน  วัดความเร็ว  ทักษะที่ต้องใช้ความถูกต้อง 100 % ในเวลาที่จำกัด จึงจะสามารถแยกความแตกต่างด้านเสมียนของบุคคลได้
 
            แบบทดสอบความถนัดชื่อ The General Aptitude Test Battery (GATB) ของ The United States Employment Service (USES) ใช้ในการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ แบบทดสอบนี้วัดองค์ประกอบ 9 ด้าน คือ 1) ความสามารถทางสติปัญญาทั่วไป คำศัพท์ เลขคณิต เหตุผล 
2)  ความถนัดทางภาษา คำศัพท์   3)  ความสามารถด้านตัวเลข การคำนวณ เหตุผล  4)  มิติสัมพันธ์  5)  การรับรูปแบบ  การจับคู่  6)  งานเสมียน  การเปรียบเทียบ  7)  การทำงานเครื่องจักรกล  8)  ความคล่องในการใช้มือ การวางและการหมุน  9)  ความคล่องในการใช้นิ้ว
การรวบรวมและการเคลื่อนย้าย
 
           สรุป
            แบบสอบวัดเพื่อการตัดสินใจเลือกอาชีพส่วนมากจะครอบคลุมถึงความสนใจ ความถนัด วุฒิภาวะ ทัศนคติ ความสามารถ   แต่แบบสอบวัดแต่ละฉบับจะไม่ครอบคลุมทุกลักษณะ  ดังนั้นจึงต้องทำแบบสอบวัดหลาย ๆ ฉบับเพื่อที่จะได้ครอบคลุมทุกลักษณะที่ต้องการเพื่อจะทำให้เราสามารถตัดสินใจเลือกอาชีพได้อย่างสมเหตุสมผล และผู้ให้คำปรึกษาสามารถวัดคุณลักษณะต่าง ๆ ของผู้รับคำปรึกษาได้ครบทุกด้าน 
 
            ปัญหาเรื่องแบบสอบวัดเพื่อการตัดสินใจเลือกอาชีพในประเทศไทย  เราขาดแบบทดสอบมาตรฐาน   ดังนั้นสิ่งที่เราน่าจะทำได้ คือการเรียนรู้ลักษณะของแบบสอบวัดแต่ละประเภท แล้วทำในลักษณะของแบบสำรวจ  เพื่อให้ได้ข้อมูลของผู้รับคำปรึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ข้อควรระวัง คือ สังคมไทยกับสังคมอเมริกันจะมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  การแปลค่าจากแบบทดสอบจึงอาจแตกต่างกันได้  หรือกล่าวว่าแบบสอบวัดเหล่านี้อาจมีค่าความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่นลดน้อยลงเมื่อนำมาใช้กับคนไทย  แต่อย่างไรก็ตามแบบสอบวัดเหล่านี้จะยังคงมีประโยชน์ในการให้แนวทางที่ช่วยให้ข้อมูลแก่เด็กว่าเขาควรเลือกอาชีพอะไร  ไม่ใช้เป็นคำตอบที่แน่นอนตายตัวว่าต้องเลือกอาชีพจากแบบทดสอบเท่านั้น  ดังนั้น ผลของแบบสอบวัดจึงเป็นเพียงข้อมูลที่ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้ศึกษาอาชีพนั้นอย่างละเอียดมากขึ้น   และช่วยเป็นข้อมูลในการให้คำปรึกษาเพื่อการตัดสินใจเลือกอาชีพต่อไป
 
Reference
Walsh, W. Bruce & Betz, Nancy E., E.,  Test & Assessment.  New  Jersy: Prentice Hall, 
1985.
 



Create Date : 15 กรกฎาคม 2564
Last Update : 15 กรกฎาคม 2564 7:48:50 น.
Counter : 1760 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Drpk.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]

บทความทั้งหมด