เปิดประสบการณ์ครอบครัวมนุษย์เงินเดือนซื้อบ้าน "เงินสด"



หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มองเรื่องการสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา เช่น เงินเดือนน้อย ค่าครองชีพสูง ไม่มีมรดกตกทอดจากต้นตระกูล หรือบางคนก็อ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารระดับสูงที่มีเงินเดือนเรือนแสนจะได้เก็บเงินผ่อนบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง วันนี้ ทีมงาน Life & Family มีอีกหนึ่งแรงบันดาลใจดี ๆ จากสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มาแบ่งปัน โดยครอบครัวนี้สามารถเก็บเงินซื้อบ้านหลังแรกของตัวเองได้ด้วย "เงินสด" และตอนนี้พวกเขากำลังเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอีก 20 ปีข้างหน้า พวกเขาทำได้อย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ

       ผู้ที่จะมาบอกเล่ากับเราในวันนี้คือ คุณสุพิชฌาย์ (ขอสงวนนามสกุล) ภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านการเงินของครอบครัวที่เราได้กล่าวถึง ปัจจุบัน เธอและสามีกำลังวางแผนเก็บเงินเพื่อซื้อที่ดินที่อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านเพื่อรองรับการขยายตัวของครอบครัว และแน่นอนว่า แผนในครั้งนี้ก็เป็นการซื้อด้วยเงินสดด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น เธอและสามียังมองไกลไปถึงการออมเพื่อวัยเกษียณแล้ว ซึ่งเธอเชื่อว่า การออมจะช่วยให้ครอบครัวของเธอสามารถเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปมากเพียงใดก็ตาม

       โดยคุณสุพิชญาย์ก็ได้เล่าย้อนถึงอดีตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เธอและสามีได้คบหาดูใจกัน และวางแผนอนาคตร่วมกันว่า ส่วนตัวและสามีเป็นพนักงานบริษัทธรรมดา ๆ ไม่แตกต่างจากมนุษย์เงินเดือนคนอื่น โดยงานของเธอนั้นเป็นงานเลขานุการ เงินเดือนหมื่นกว่าบาท สามีเป็นวิศวกร เงินเดือนประมาณสองหมื่น รวมกันสองคนก็สามหมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง

       แต่เมื่อคบหากันไประยะหนึ่ง คุณสุพิชฌาย์ถึงได้ทราบว่า ผู้ที่เธอกำลังคบหาดูใจอยู่นั้นแม้จะมีรายได้มากกว่าเธอเท่าหนึ่ง แต่ไม่มีการเก็บออมเงินเอาไว้เลย อีกทั้งเขายังมีหนี้บัตรเครดิตพ่วงมาอีกต่างหาก ส่วนตัวเธอนั้นกลับมีเงินเก็บมากกว่าเขาเสียอีก เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอและแฟนจึงได้พูดคุยกัน และวางแผนเรื่องการเก็บออมเงินเพื่ออนาคต โดยเธอเล่าว่า ได้ใช้สูตรเก็บ 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ 30 เปอร์เซ็นต์

       ใช้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์!

       อาจเป็นตัวเลขที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนไม่เชื่อหู แต่คนสองคนที่คบหาดูใจกันอยู่นั้นเก็บเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนด้วยตัวเลขนี้ โดยคุณสุพิชฌาย์เผยว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้อาจดูไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอต่อ "ความต้องการพื้นฐานในชีวิต" แล้ว

       "ในช่วงแรก ๆ สามีก็ปรับตัวลำบาก ก็เลยคุยกัน บอกให้เขามองถึงเป้าหมายหลักของเรา ส่วนตัวเองใช้เงิน 30 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหา เพราะอาศัยอยู่กับคุณแม่ กินอยู่กับที่บ้าน มีซื้อของใช้เข้าบ้านบ้าง พาแม่ไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ้าง แต่ถ้าให้เป็นตัวเงินคุณแม่จะไม่รับ แม่บอกให้เก็บไว้ ส่วนสามีเขาเช่าหอพักอยู่คนเดียว สามพันบาท ก็เลยคุยกันว่าหาห้องพักใหม่ไหม หรูน้อยหน่อย แล้วก็หาแบบที่ติดถนนใหญ่ จะได้ไม่ต้องเสียค่ารถเข้าซอย เดือนหนึ่งประหยัดได้เป็นพัน หรือสามีเคยจ้างซักรีดเสื้อผ้าก็หัดทำเอง เคยเข้าร้านอาหารก็งด หันมาทำกับข้าวกินเอง"

       "เงินที่เก็บร่วมกันก็จะทำบัญชีให้ชัดเจน ถ้าสงสัยตรวจสอบได้ พอสิ้นปีก็จะแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายให้เขาดูว่าปีนี้เราเก็บได้เท่าไร รวมโบนัสแล้วยอดเป็นเท่าไร ปีหน้าเงินเดือนจะขึ้นอีกเท่าไร จะต้องเก็บกันอีกกี่ปีถึงจะสำเร็จ พอแฟนเห็นความชัดเจนก็เริ่มติดใจ เริ่มประหยัดด้วยตัวเอง และเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของการซื้อบ้านด้วยเงินสด"

       อย่างไรก็ดี คุณสุพิชฌาย์เล่าว่าในช่วงนั้นก็มีคำตัดพ้อจากสามีด้วยเช่นกัน ว่าเพื่อน ๆ หลายคนเริ่มซื้อบ้าน ผ่อนบ้านกันแล้ว

       "ตอนที่เก็บเงินซื้อบ้านด้วยกัน เขาก็มาบ่นตัดพ้อเหมือนกันว่าเพื่อนร่วมงานเก็บเงินซื้อบ้านได้แล้วนะ เราก็บอกใจเย็น ๆ สิ เพื่อนเขาผ่อนไม่ใช่เหรอ พอตอนหลังเราซื้อบ้านได้ เขายิ้มเลย เพราะเราไม่ต้องผ่อน 30 ปีเหมือนคนอื่น"

       ใจเย็น เคล็ดลับออมเงิน

       สำหรับเคล็ดลับในการออมเงินของครอบครัวนี้ก็คือ เมื่อออมเงินได้ถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มมองการลงทุนแบบอื่น มองเงินฝากแบบอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า "จะเริ่มศึกษากองทุนรวม ลงทุนทองคำแท่ง แล้วก็รอให้เงินทำงาน จากนั้นจะเอาผลตอบแทนที่ได้มาไปลงทุนต่อ ไม่ถอนมาใช้ ส่วนตัวเป็นคนใจเย็น รอได้ บัตรเครดิตก็ไม่ทำ อยากได้อะไรเก็บเงินซื้อให้ครบจำนวน หลาย ๆ ครั้งพบว่าเงินสดมีพลังมากกว่าบัตรเครดิตเสียอีก ถ้าซื้อสด เราจะได้ส่วนลดมากกว่า"

       คุณสุพิชฌาย์เล่าว่า สำหรับยอดเงินที่ตั้งไว้เพื่อการซื้อบ้านนั้น เธอและสามีสามารถเก็บได้มากพอตั้งแต่ประมาณปีที่ 3 - 4 ของการเก็บเงินแล้ว (ประมาณล้านกว่าบาท) แต่การหาบ้านที่ถูกใจนั้นต้องใช้เวลา และต้องหาข้อมูลอย่างมาก จึงทำให้การตัดสินใจซื้อล่าช้าออกไป
"ตอนดูบ้าน ดูไว้หลายแบบ ทั้งหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทั้งไปฟังสัมมนา ไปดูบ้านขายทอดตลาดก็ไป บ้านใหม่ บ้านมือสองก็ดูหมด แต่ทีนี้ บ้านใหม่ที่ไปดู เงินล้านกว่าบาทมันพอซื้อได้แค่ทาวน์เฮาส์ และคุณแม่สอนมาตั้งแต่เด็กว่า ซื้อบ้านอย่าเข้าซอยลึก เพราะเสียค่าเดินทาง และเราเป็นผู้หญิงมันไม่ปลอดภัย เลยเน้นดูบ้านที่สะดวกต่อการเดินทางดีกว่า แล้วก็ไปเจอบ้านเดี่ยวชั้นเดียวอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่อาศัยอยู่มากนัก สภาพบ้านมันดูเก่าเพราะขาดคนดูแล เลยซื้อได้ราคาถูกพอสมควร จากนั้นก็ปรับปรุงใหม่"

       โดยคุณสุพิชฌาย์เล่าว่าเงินล้านกว่าบาทที่เตรียมไว้นั้น พอทั้งซื้อบ้าน ปรับปรุงบ้าน รวมถึงซื้อเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลัง!

       "สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านเวลามีงานเซลล์ก็ซื้อเก็บไว้ หรือเจอชิ้นที่ถูกก็ซื้อไว้ เราดูทั้งเฟอร์นิเจอร์มือสอง และแบบ clearance ค่ะ"

       วินัยทางการเงิน มาจากมหาวิทยาลัย"แม่"

       สำหรับวินัยทางการเงินที่เข้มแข็งเช่นนี้ คุณสุพิชฌาย์เปิดเผยว่า เธอได้ซึมซับมาจากครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีเสมอมา

       "ครอบครัวเรามีพี่น้องหลายคน มีพี่ชายทำงานเป็นหลัก พี่ชายจะแบ่งเงินให้แม่ในแต่ละเดือน แล้วแม่จะจัดสรรให้ลูกแต่ละคน แม่จะดูว่าอะไรจำเป็นไม่จำเป็น และทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตอนนั้นเราเป็นเด็กก็ไม่สนใจ แต่แม่ก็ทำให้เห็นตลอดเป็นสิบ ๆ ปี แม่จะพูดเสมอว่า เงินออมห้ามถอนออกมาใช้ รายได้แต่ละเดือนต้องใช้ให้พอ และต้องเหลือเก็บ ถ้ามีรายได้เพิ่ม อย่านึกว่าเป็นเงินได้เพิ่ม ให้นึกว่าเป็นเงินออมเพิ่ม"

       "เราเป็นลูกคนเล็กแต่แม่ไม่เคยเลี้ยงตามใจ และความที่เป็นคนเล็กเลยเหมือนเราเป็นลูกคนเดียว เพราะพี่ ๆ คนอื่นแต่งงานออกเรือนไปหมดแล้ว เลยซึมซับระเบียบวินัยของแม่มาเยอะ ถ้าไม่ได้การเลี้ยงดูของแม่ให้อดทน เราก็ไม่มีภูมิคุ้มกันมากขนาดนี้"
"ตั้งแต่วันที่เราสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ด้วยเงินตัวเอง แม่มีความสุข และภูมิใจมาก วันที่ซื้อบ้าน ทำบ้านเสร็จ แม่ยิ้มไม่หยุด จากคำสอนของแม่ ครอบครัวเราไม่มีใครมีหนี้ล้นพ้นตัว เราอยู่ได้แม้เศรษฐกิจไม่ดี หรือข้าวของแพง ที่สำคัญ ครอบครัวของเราต้องอย่าโทษใคร ขอให้เราดูแลตัวของเราเอง ถ้าหารายได้เพิ่มไม่ได้ให้ลดรายจ่ายให้มากที่สุด จากจุดเล็ก ๆ ของครอบครว ถ้าเราทำได้ เราก็เป็นที่พึ่งของตัวเองได้ค่ะ"

       ส่วนเทคนิคในการออมเงินที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน คุณสุพิชฌาย์เผยว่า บางทีมันก็ไม่ยาก ขอแค่อย่าผัดวันประกันพรุ่งก็พอ

       "ส่วนการวางแผนเงินออม อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ต้องคิดแล้วทำทันที อย่าคิดว่าเดือนนี้ค่าใช้จ่ายเยอะ ผัดเป็นเดือนหน้าแล้วกัน แล้วก็ให้ศึกษาการลงทุนประเภทต่าง ๆ ไว้ สิ่งที่สำคัญที่สุดทีขาดไม่ได้คือ ให้ทุกคนทำบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่าย แล้วจะรู้ว่าเราใช้เงินในทางไหนบ้าง แล้วจะรู้ว่าทุกคนก็ออมเงินได้"

       "ทุกวันนี้ ยังห่อข้าวให้แฟนไปกินที่ทำงานอยู่เลย จะไปรับประทานนอกบ้านก็ต่อเมื่อเป็นโอกาสพิเศษจริง ๆ ร้านอาหารตามห้างก็ไม่เข้าเลย ทำเหมือนที่แม่เคยทำน่ะค่ะ"

       "การบริหารครอบครัว สำคัญตรงที่เราต้องไม่โทษการเมือง  แต่ให้หันกลบมาดูตัวเองให้มาก ใช้เท่าที่จำเป็น บางคนใช้เงินซอของเกินไป ซื้อบ้านซื้อรถเพื่อหน้าตา ที่บ้านซื้อเท่าที่จำเป็น และโชคดีที่ได้สามีดี เขาค่อนข้างให้อิสระทางความคิดกับเรา ให้สิทธิ์เราเต็มร้อย เราเคยคุยกันแล้วว่าที่ทำอยู่นี้ไม่ตึง ไม่อึดอัดแต่อย่างใด เขายังบอกด้วยว่า เขามีพร้อมมากกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ที่สำคัญ เขาไม่ยึดติดว่าเขาเป็นผู้ชายแล้วจะต้องบริหารเงิน เขาบอกว่าใครถนัดด้านไหนก็ทำด้านนั้นดีกว่า ครอบครัวเราก็มีการจัดสรรเงิน มีงานอดิเรก มีไปพักผ่อน ไปเที่ยวเหมือนคนอื่น ๆ ทุกครอบครัวค่ะ"

       แม้ว่าสถาบันครอบครัวจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม และมีโอกาสถูกกระแสที่ใหญ่กว่า โหดร้ายกว่าซัดจนเซไปทางนู้นทีทางนี้ทีได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าหากครอบครัวมีความเข้มแข็งมากพอ และมีความเข้าอกเข้าใจกันมากพอแล้ว เป็นไปได้ว่า ความโหดร้ายรุนแรงจากโลกภายนอกก็ไม่อาจเข้ามาบีบคั้น หรือกดดันให้หน่วยเล็กที่สุดหน่วยนี้ต้องยอมศิโรราบได้แต่อย่างใด ครอบครัวตัวอย่างของเราในวันนี้คงเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ดีค่ะ


ที่มา://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000077396




Create Date : 25 มิถุนายน 2555
Last Update : 25 มิถุนายน 2555 9:01:08 น.
Counter : 3243 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bobobull
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Fight.. Fight !!
มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
4
5
6
10
14
18
19
21
22
23
24
26
28
29
30
 
All Blog