เป็นที่ทราบกันดีว่า การอ่านหนังสือและคุยกับลูกตั้งแต่ตั้งครรภ์ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกได้ แต่หนังสือมีส่วนช่วยกระตุ้น และสร้างวงจรในสมองเด็กอย่างไรนั้น คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจนึกภาพไม่ออก วันนี้ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และนายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มีคำอธิบาย พร้อมกับคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันครับ
เกี่ยวกับประโยชน์ของการอ่านกับสมองลูกนั้น พญ.จันทร์เพ็ญ บอกว่า สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างวงจรในสมองของลูกตั้งแต่เริ่มต้น ได้แก่ วงจรเสียงพ่อแม่ วงจรความรู้สึกภายในที่มีต่อพ่อแม่ วงจรกลิ่นร่างกายของพ่อและแม่ที่ส่งผ่านมาทางแม่ และวงจรสัมผัสแห่งความรักที่ได้รับผ่านการสัมผัสหน้าท้องของแม่
ดังนั้น ความรู้สึกจากการสัมผัสหน้าท้องของแม่นี้เอง จะช่วยส่งผ่านหน้าท้องและร่างกายของแม่ไปยังมดลูก น้ำคร่ำ แล้วไหลวนไปทั่วผิวหนัง ทั่วร่างกายของลูก ลูกจะคุ้นเคยกับสัมผัสนั้นตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ จนถึงกำหนดคลอดเลยทีเดียว
"การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เด็กจะมีความจำเกี่ยวกับคำ แม้ว่าเด็กจะไม่ได้ยิน แต่เด็กจะคุ้นชินกับคำ และประโยคที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยิ่งถ้าพ่อแม่มีการต่อยอดหลังลูกคลอดออกมา เด็กก็จะยิ่งมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเผย
เห็นได้ว่า ทุกเสียงที่คุณพ่อและคุณแม่อ่านเป็นคำ ๆ ให้ลูกฟังจะกระตุ้นให้สมองของลูกบันทึกและสร้างวงจรของคำศัพท์ต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ และยิ่งถ้าอ่าน และใช้คำจากหนังสือสอนลูกในวัยก่อน 3 ขวบมากเท่าไร เด็กจะมีชุดของคำเป็นหมื่น ๆ คำ ซึ่งคำมีผลต่อสติปัญญามาก เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ผ่านภาษา แต่ปัญหาที่เป็นห่วงก็คือ เด็กไทยมีชุดของคำไม่ค่อยมาก
อย่างไรก็ดี หลาย ๆ ท่านคงมีคำถามตามมาว่า แล้วควรอ่านหนังสือประเภทไหนและอ่านบ่อยแค่ไหน กับเรื่องนี้ พญ.จันทร์เพ็ญ ให้คำแนะนำไว้ว่า ควรเลือกหนังสือนิทานที่เราตั้งใจจะอ่านให้ลูกฟังมาสัก 3-4 เล่ม เช่น กุ๊กไก่ปวดท้อง หนังสือชุดน้องหมี สารคดีชุดหนูอยากรู้ นิทานชาดกที่มีคติสอนใจ หรือจะอ่านหนังสืออ่านเล่นของผู้ใหญ่ที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายและไม่เครียดก็ได้

นอกจากนั้นอาจจะลองหัดเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกในครรภ์ฟังก็ได้เช่นกัน ถือเป็นการซักซ้อมไว้ก่อนที่เขาจะลืมตาออกมาดูโลก คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้สึกไม่ขัดเขิน สามารถอ่านนิทาน หรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกฟังได้อย่างคล่องแคล่ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ห้ามเด็ดขาดคือ อย่าดูโทรทัศน์ระหว่างตั้งครรภ์ และระหว่างเลี้ยงลูกวัยก่อน 6 ขวบ เพื่อให้สมองของลูกพัฒนาไปตามธรรมชาติ ไม่ถูกกระตุ้นด้วยภาพและเสียงมากเกินไป อันจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น
"เทคโนโลยีไม่มีวันทดแทนหนังสือไปได้ อย่างเราอ่านนิทานเรื่องแกะกับเจ้าหมาป่าให้เด็ก 10 คนฟัง แกะ 10 ตัวจะเหมือนกันหรือไม่ แน่นอนว่าไม่เหมือน แต่ถ้าให้เด็กดูแกะจากวีดีโอก่อนเลย แกะก็มีอยู่แต่สีเดียว แบบเดียว ฐานความคิดสร้างสรรค์ หรือคิดนอกกรอบของเด็กจึงไม่มี ทำให้เด็กชอบเดินตาม มากกว่าที่จะคิดเองเป็น" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมองคนเดียวกันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ไม่เพียงเท่านี้ การสร้างภาวะอารมณ์ทางบวกต่อสิ่งรอบตัว เช่น ความอ่อนโยน ละเมียดละไมจากสัมผัสและน้ำเสียงอันอ่อนโยนที่เปี่ยมด้วยความรัก จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองด้านอารมณ์ที่อ่อนโยนของเด็ก และแรงสั่นสะเทือนของความสัมพันธ์อันอบอุ่นนี้จะเป็นสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างดีเยี่ยม โดยไม่ต้องมีกิจกรรมอะไรที่ซับซ้อนเลย และจะเป็นฐานของการสร้างความมั่นใจให้กับลูกที่จะเติบโตอย่างสวยงาม ทำให้ลูก ๆ มีความฉลาดทางอารมณ์ดีตั้งแต่แรกเกิด
อ่านถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คู่ที่ได้ทดลองพูดคุย และอ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งคลอด มักพบตรงกันว่า ลูกเป็นเด็กสงบ เลี้ยงง่าย ไม่โยเย และดวงตาบ่งบอกถึงแววของความฉลาดแต่เล็ก ๆ หรือหากท่านใดไม่เชื่อ ทีมงานขอแนะนำให้ลองพิสูจน์กับลูกของคุณเอง แล้วคุณจะพบคำตอบจากคำถามที่ว่า "เกิดอะไรในสมอง เมื่ออ่านหนังสือกับลูก" อย่างแน่นอนครับ
เรียบเรียง และอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ สมองอ่าน อ่านสมอง ของพญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ สำนักพิมพ์แฮปปี้ แฟมิลี่ บริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด

พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
ที่มา: //www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110737
Free TextEditor
หนังสือน่ะพอหาได้อยู่
แต่ลูกนี่ซิค่ะ..แก่เกินแกงซ่ะแร้ววววว...