“นครพนม” … ดินแดนแห่งศรัทธาและอารยธรรมที่เรืองรอง
“นครพนม” … ดินแดนแห่งศรัทธาและอารยธรรมที่เรืองรอง
พระธาตุพนมปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอีกทั้งเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและลาว

หากลองกวาดตามองไปในแผนที่แสดงอาณาบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน นอกจากเมืองสำคัญอย่างเชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ หนองคาย ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวแล้ว "นครพนม" เมืองเล็กๆ ที่สงบงามริมน้ำโขงแห่งนี้ ก็น่าจะเป็นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งนักเดินทางไม่น่าจะมองข้าม ด้วยคำขวัญ “พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง” ซึ่งแสดงถึงคำตอบดังกล่าวได้ดี
       นครพนมเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในอดีตมีชื่อว่า “มรุกขนคร” สมัยพญาสุมิตรธรรม (พ.ศ.500) ปรากฏว่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งในสมัยนี้มีผู้บันทึกว่าได้เกิดการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก ตัวเมืองนครพนมยังมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง และเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองนคร” กาลเวลาผ่านไปจนพ.ศ. 2333 เมื่อสิ้นผู้ครองเมือง เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามใหม่ว่า “นครพนม”
       ที่มาของชื่อสันนิษฐานกันว่า “นคร” มาจากการที่เคยเป็นเมืองลูกหลวง ส่วน “พนม” ก็มาจากพระธาตุพนมที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ขณะที่ความเชื่ออีกสายหนึ่งก็เห็นว่าเดิมที “มรุกขนคร” อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือประเทศลาว) ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า “พนม” ที่หมายถึงภูเขามาใช้ ในทฤษฎีนี้ “นครพนม” จึงหมายถึง “เมืองแห่งภูเขา” นั่นเอง
       หากมาถึงนครพนมแล้ว ไม่ไปนมัสการ “พระธาตุพนม” ก็คงเหมือนกับมาไม่ถึงนครพนม พระธาตุพนมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า พระธาตุพนมสร้างอยู่ที่ภูกำพร้า มีท้าวพญาทั้งห้าเป็นประธานในการก่อสร้าง เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ของพระพุทธเจ้าประดิษฐานไว้ข้างใน นอกจากนี้ฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุยังบรรจุของมีค่าอีกนับหมื่นชิ้น ซึ่งล้วนแสดงถึงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวนครพนมได้เป็นอย่างดี 

ว่ากันว่า ถ้าใครได้มากราบพระธาตุพนมเพียง 1 ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว ยิ่งถ้าใครมาครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” ซึ่งเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสูงสุดทีเดียว แต่นอกจากพระธาตุพนม เมืองนครพนมยังมีพระธาตุที่สำคัญ ๆ อีกหลายแห่งให้สักการะมากมาย ด้วยจังหวัดนี้ได้ชื่ออีกอย่างว่า “นครแห่งพระธาตุ”
       พระธาตุที่น่าไปนมัสการอีกแห่งคือ “พระธาตุมหาชัย” อยู่ที่วัดพระธาตุมหาชัย อำเภอปลาบาก ภายในพระอุโบสถของวัด มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติที่สลักจาก ไม้สะเดาหวานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีภาพเขียนบนฝาผนังอุโบสถ ซึ่งถือได้ว่ามีลวดลายศิลปกรรมที่งดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ใครมาวัดนี้เรียกได้ว่านอกจากจะอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มตาอีกด้วย
       คำกล่าวที่ว่านครพนมเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผู้คนมากนั้นไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง ร่องรอยที่สะท้อนให้เห็นก็เช่น สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ที่แพร่เข้ามาในช่วง พ.ศ.2440-2460 บน “ถนนสุนทรวิจิตร” เราสามารถพบตึกรามบ้านช่องที่สวยงามสะดุดตาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจวนผู้ว่าฯ หลังเก่า , อาคารโรงเรียนสุนทรวิจิตร , บ้านพักอัยการ, บ้านพักสรรพสามิตร ตลอดจนบ้านพักอาศัยริมถนนหลายหลัง

นอกจากนี้ยังมี “วัดนักบุญอันนา หนองแสง” ซึ่งเคยเป็นอดีตศูนย์กลางของชาวคริสต์ริมฝั่งโขง หรือมิสซังลาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2422 เป็นอาคารใหญ่ทรงตะวันตก มีหอคอยคู่ยอดแหมอยู่ด้านหน้า วัสดุที่ใช้ก่อสร้างนำมาจากไซ่ง่อน อาคารนี้เคยถูกระเบิดทำลายไปในช่วงกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โบสถ์หลังใหม่ที่เห็นนี้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. 2515 โดยคงรูปแบบโบสถ์เก่าเอาไว้ วัดแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของนครพนมที่ในอดีตเคยเป็นเมืองนานาชาติที่มีคนหลากหลายอาศัยอยู่
       ถ้าใครยังอยากสัมผัสบรรยากาศของประวัติศาสตร์ต่ออีก คงต้องไปที่ “บ้านนาจอก” ซึ่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ บ้านนาจอกเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ “โฮจิมินห์” (ลุงโฮ) เคยเข้ามาใช้เป็นฐานในการรวมกำลังกอบกู้เอกราชเวียดนามในอดีต หากไปถึงแล้วสนใจสามารถถามหาคุณกรกนก หรือคุณลุงเตียว พวกเขาพร้อมจะเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง อย่างจุใจ
       นครพนมยังเป็นที่รู้กันว่ามี “ชาวผู้ไท” อาศัยอยู่โดยเฉพาะ ที่อำเภอ “เรณูนคร” ชาวผู้ไทที่นี่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี อาทิ การแต่งกาย การต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การฟ้อนรำผู้ไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะ วัฒนธรรมที่งดงามและหาดูได้ยากยิ่ง 

แม้ว่านครพนมจะมีแง่งามทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย ทว่าก็ยังมีธรรมชาติที่สวยงามควบคู่กันไปด้วย เช่น “อุทยานแห่งชาติภูลังกา” ซึ่งเป็นภูเขาวางตัวซ้อนกันไปตามแนวแม่น้ำโขง มีน้ำตกตาดโพธิ์ น้ำตกตาดขาม อยู่ท่ามกลางป่าที่ร่มรื่น แต่หากใครชื่นชอบทิวทัศน์จากที่สูงคงต้องเดินขึ้น ภูลังกา เป็นเวลาสัก 2-3 ชั่วโมงจะสามารถมองเห็นแม่น้ำโขงและฝั่งลาวอย่างชัดเจน ซึ่งในยามเช้าภูลังกายังเป็นจุดชมดวงอาทิตย์ขึ้นริมฝั่งโขงที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งด้วย
       แม้ว่าความงามของสายน้ำโขงฤดูฝนยังจะสะกดสายตาผู้มาเยือนได้ดี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งสายน้ำนี้ก็งดงามไม่แพ้กัน เพราะน้ำจะลดลงจนมีหาดทรายเกิดขึ้น ชาวนครพนมเรียกหาดนี้ว่า “หาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์” ซึ่งหาดนี้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของอันซีนไทยแลนด์ ภาพที่เห็นคือสันดอนทรายน้ำจืดยื่นออกไปกลางลำโขง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเยือนหาดทรายนี้คือ เดือนธันวาคม – เมษายน ซึ่งน้ำจะลดลงจนได้ระดับแนะนำว่าหากลองรอช่วงพระอาทิตย์ขึ้นเหนือลำน้ำโขงที่บริเวณหาดแห่งนี้ คุณจะได้พบภาพที่สวยงามยิ่ง
       ประเพณีของนครพนมที่ขึ้นชื่อมากในช่วงเทศกาลออกพรรษา คงต้องยกให้ “ประเพณีไหลเรือไฟ” ที่ จะมีการประดับประดาตกแต่งเรือด้วยไฟเป็นรูปต่างๆ แล้วปล่อยไหลไปตามลำน้ำโขง ซึ่งเบื้องหลังความสว่างไสวนั้นประกอบไปด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง และ ขี้ไต้ ความสว่างไสวของแสงไฟที่ลุกโชติช่วงนั้นได้สร้างความประทับใจและตราตรึงผู้มาเยือนได้ไม่น้อยทีเดียวในทุกปี
       ก่อนกลับบ้านในส่วนของฝากติดไม้ติดมือ ควรที่จะมองหาผ้าพื้นเมืองเช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าขลิบ ไหมลาว ผ้าขิต ผ้ามัดหมี่ เพราะการซื้อของ เหล่านี้ถือว่าเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของนครพนมเอง
       หนาวนี้ลองไปสัมผัสนครพนม ดินแดนแห่งประเพณีและความหลากหลายของวัฒนธรรม ซึ่งรอให้นักเดินทางอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไปค้นหา เชื่อว่าโลกทัศน์เกี่ยวกับดินแดนริมฝั่งโขงจะเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้จบเลยทีเดียว





ที่มา://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9470000072553






Create Date : 08 ตุลาคม 2557
Last Update : 8 ตุลาคม 2557 21:23:59 น.
Counter : 3403 Pageviews.

2 comments
  
เสียดายครับออกพรรษาไม่ได้ไปเที่ยวประเพณีไหลเรือไฟเลย
โดย: ChakoiKinrin วันที่: 8 ตุลาคม 2557 เวลา:22:05:34 น.
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 9 ตุลาคม 2557 เวลา:3:21:26 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

bobobull
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Fight.. Fight !!
ตุลาคม 2557

 
 
 
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog