Group Blog
All Blog
<<< "สงสารตัวเองเถิด " >>>








“สงสารตัวเองเถิด”

สงสารตัวเองเถิด อย่ามัวแต่สงสารคนอื่น

 จนลืมสงสารตัวเอง

 เพราะเราแต่ละคนก็ต้องไปด้วยกันทั้งนั้น

ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทั้งนั้น

 สงสารเขาก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้น สู้สงสารตัวเราดีกว่า

เพื่อเราจะได้รีบหาที่พึ่ง พอมีที่พึ่งแล้วจะไม่เดือดร้อน

 แยกใจออกจากกายได้แล้วจะสบาย

ทุกวันนี้มันติดกันเป็นเหมือนปาท่องโก๋

กายเป็นอย่างไรใจก็เป็นไปด้วย

 เป็นหนักกว่ากายเสียอีก

 ถ้าพิจารณาอยู่เนืองๆอย่างที่ได้ทรงตรัสสอน

 ว่าเราเกิดมาแล้ว ย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา

 มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา

 มีความตายเป็นธรรมดา

 มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

ล่วงพ้นจากความแก่ความเจ็บความตาย

จากการพลัดพรากจากกันไม่ได้แล้ว ใจจะสงบ

จะไม่ดิ้นไม่ฝืน การฝืนนี้มันผิดธรรมชาติ

ของความจริงและของใจ ถ้าฝืนธรรมชาติแล้ว

 ใจจะรับเคราะห์กรรม จะทุกข์ขึ้นมา

 ถ้าใจรับความจริงได้ ใจจะไม่ต่อต้าน ไม่ต่อสู้

 ใจจะสงบ สงบแล้วก็มีความสุข

นี่คือเหตุที่เราจะต้องพิจารณาสัจธรรม

 คือพระอริยสัจข้อที่ ๑ ทุกขสัจ การเกิดแก่เจ็บตาย

 สอนใจให้รู้ว่าเป็นความจริงที่ฝืนไม่ได้ ต่อต้านไม่ได้

 มีความจริงหลายอย่างที่พวกเรายอมรับกันได้

 ในชีวิตประจำวันของเรา เราจึงไม่ค่อยทุกข์มากนัก

 ถ้าเราต่อต้านกับทุกอย่างในโลกนี้แล้ว

เราจะทุกข์อยู่ตลอดเวลา

 เช่นเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงของวันเวลา

 พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก เรายอมรับ

เราไม่ต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงของฤดู

หนาวเป็นร้อน ร้อนเป็นฝน ฝนเป็นหนาว

 เราไม่ต่อต้านแต่อย่างใด

ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เราจึงไม่ทุกข์กัน

ถ้าเราต่อต้าน อยากจะให้หนาวไปตลอด

 เราจะเดือดร้อนทันที คนมีสตางค์จึงต้องบินไป

หาที่เย็นอยู่เรื่อยๆ อยู่ที่ร้อนไม่ได้

คนมีสตางค์จะทำอย่างนี้กัน เวลาหนาวมากๆ

 ก็บินไปที่ไม่หนาวมาก

พอร้อนมากๆ ก็บินไปที่ไม่ร้อนมาก

 ไม่ยอมรับความจริง เห็นคนรวยแล้วพวกเราอาจจะอิจฉา

 คิดว่าเขามีความสุข บินไปโน่นบินมานี่

 หนีความร้อนได้ หนีความหนาวได้

 ถ้ามองตามหลักธรรมะแล้ว เขากำลังทุกข์กำลังวุ่นวาย

 อยู่ไม่เป็นสุข รับความจริงไม่ได้

 ส่วนคนจนนี่แหละกลับสบายกว่าคนรวยในเรื่องอย่างนี้

เพราะคนจนรู้จักทำใจ ร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป

 ไม่มีเงินซื้อเครื่องปรับอากาศมาติด

 หนาวก็ผิงไฟไปหรือห่มผ้าไปตามมีตามเกิด

 ไม่มีเงินที่จะบินไปที่ไม่หนาว

 การเดินทางแต่ละครั้งมันสนุกที่ไหน

 จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมสิ่งต่างๆ

ทำหนังสือเดินทาง ทำหนังสือขออนุญาตเข้าเมือง

 ฉีดยาวัคซีน เวลาขึ้นเครื่องบินไปก็ไม่รู้ว่า

จะลงมาในรูปแบบไหน เป็นความทุกข์ทั้งนั้น

 แต่มองไม่เห็นกัน เพราะถูกอำนาจของความอยาก

 ของอวิชชาของความหลง ที่ต่อสู้ต่อต้าน

กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ

 ชีวิตจึงกลิ้งไปกลิ้งมาไม่มีโอกาส

พบกับความสงบสุขของใจ

 เพราะใจไม่มีโอกาสที่จะสงบตัวลง

 ถูกความอยากคอยปั่นหัวอยู่ตลอดเวลา

 เหมือนจิ้งหรีดที่ถูกปั่นให้ส่งเสียงร้องอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าจึงต้องสอน ให้เรากำหนดรู้สัจธรรม

ความจริงของชีวิต ก็คือทุกขสัจนี้เอง

เป็นความจริงตายตัว เป็นความจริงที่ต้องเป็น

กับทุกๆ คนที่มาเกิด เกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

ต้องพลัดพรากจากกัน ทรงสอนว่า

พิจารณาแล้วจะทำให้ใจสงบ จะทำให้ใจไม่ทุกข์

 ถ้าไม่พิจารณาจะถูกความหลงหลอกให้ต่อต้าน

 ให้หลบหลีก ให้หนี แต่หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

 เพราะมันเป็นเงาตามตัว จะหนีไปอยู่ที่ไหนในโลกนี้

 ความแก่ความเจ็บความตายก็จะตามไป

ทำให้ตนเองรวยขนาดไหน

 มีอำนาจวาสนายิ่งใหญ่ขนาดไหน

ก็ไม่สามารถหนีจากความแก่

ความเจ็บความตายไปได้ จะต้องทุกข์ตลอดเวลา

ผู้ที่พิจารณาอริยสัจข้อที่ ๑ นี้

อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง

 จนใจยอมรับกับความจริงนี้ได้แล้ว

 จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย

 จะไม่ทุกข์กับการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆเลย

 นี่คืออานิสงส์ของการศึกษาหรือการสั่งสอนใจ

ให้รู้ถึงความจริงที่มาเกี่ยวข้องกับใจ

 คือร่างกายที่ใจได้มาครอบครอง มาหลงมายึดมาติด

 ว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา

ให้รู้ว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันไม่เที่ยง

มีการเปลี่ยนแปลง มีแก่มีเจ็บมีตาย

 เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างนี้และยอมรับมันได้ ใจก็จะสงบ

 ความอยากให้มันอยู่ไปนานๆ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย

ไม่ให้ตาย ก็จะไม่สามารถทำงานได้

 ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิดตามมา

นี่คือการทำงานของมรรค การศึกษาการสั่งสอนใจ

 ในเรื่องของความเกิดแก่เจ็บตายนี้ เรียกว่ามรรค

คือให้สร้างสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง

 ให้เห็นว่าความเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ

 เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนการเปลี่ยนแปลง

ของฤดูกาลของวันเวลา เรายอมรับ

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลของวันเวลาได้

ทำไมเราจะรับกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไม่ได้

 มีคนที่รับได้ทำได้มาแล้ว เช่นพระพุทธเจ้า

และพระสาวกทั้งหลาย ท่านรับความจริงนี้ได้

 เมื่อท่านรับได้ท่านก็สบาย เหมือนกับพวกเรา

 ที่สบายกับการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

 เราไม่ต้องดิ้นรนหนีจากมัน

ไม่ต้องเดินทางเวลาที่อากาศไม่ถูกใจเรา

 เราไม่ต้องไปไหน เราก็อยู่ตรงนี้แหละ

 เราเพียงปรับใจปรับกายให้รับกับมันไป

แล้วเราจะมีความสุข เพราะความสุขนั้น

เกิดจากความสงบของใจ ใจจะสุขจะสงบได้

ก็ต่อเมื่อตัณหาความอยากต่างๆ ถูกระงับไป

 ด้วยการยอมรับความจริง

 หลังจากที่ได้ศึกษาความจริงแล้ว

 ว่าเป็นความจริงที่ตายตัว เปลี่ยนไม่ได้

 สิ่งที่เปลี่ยนได้ก็คือความอยาก

 อย่าไปอยากมันเสียอย่างเดียว ปัญหาก็จบ

 จะไม่ทุกข์ นี่คือการทำงานของอริยสัจ ๔

ที่มีอยู่ในใจของเรา และทำงานอยู่ตลอดเวลา

 ส่วนใหญ่จะทำไปในทางที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา

 ทุกครั้งที่เราคิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย

 ถ้าเราไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่ได้เจริญปัญญา

 ไม่ได้สอนใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

จะเกิดความอยากขึ้นมาทันที

คืออยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย

 อยากไม่พลัดพรากจากสิ่งต่างๆ

 พอเกิดความอยากนี้ขึ้นมาก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

เกิดความวิตกกังวลว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา

แล้วก็นำพาไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิด

 คือจะต้องรีบไปหาวิธีป้องกันร่างกายด้วยวิธีต่างๆ

 ใช้ยาบ้าง ใช้ศัลยกรรมบ้าง

ถ้าอยากจะให้สาวให้หนุ่มไปเรื่อยๆ

ถ้าผมหงอกก็ต้องย้อมอยู่เรื่อยๆ

 เพื่อให้ดำเข้มเหมือนคนหนุ่มคนสาว

ถ้าหนังยานก็ดึงให้ตึง แต่ก็ทำได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

 ไม่กี่ปีก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

จนในที่สุดก็จะไม่สามารถไปทำอะไรมันได้

 จะทุกข์กังวลอยู่ตลอดเวลา

ถ้ายอมรับความจริงได้แล้ว จะไม่ทุกข์เลย

จะสบายอกสบายใจ แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย

 ไม่วุ่นวายไปกับมัน พวกเราจึงควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 เป็นการเจริญมรรค ที่ต้องเจริญให้มาก

ให้สมบูรณ์ให้เต็มที่ ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์

คือศึกษาทุกขสัจ ศึกษาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย

พลัดพรากจากกัน ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ดังที่ทรงสอนพระอานนท์ให้พิจารณาความตาย

ทุกลมหายใจเข้าออก นี่แหละคือการเจริญมรรค

ด้วยการกำหนดรู้ทุกขสัจ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย

 หายใจออกก็ว่า ถ้าไม่หายใจเข้าก็ตาย

หายใจเข้าก็ว่า ไม่หายใจออกก็ตาย

ถ้ารู้อย่างนี้แล้วใจจะน้อมรับความจริง

 จะเกิดความสงบสุข ดับความกังวลความวุ่นวาย

กระสับกระส่าย กินไม่ได้นอนไม่หลับได้

 พอเห็นผลแล้วจะติดใจ จะพิจารณาตลอดเวลา

 จนไม่มีความอยากที่จะอยู่ไปนานกว่าความจริง

 จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง

 มันแก่ก็ให้มันแก่ไป มันเจ็บก็ให้มันเจ็บไป

มันตายก็ให้มันตายไป ผู้พิจารณาไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บ

ไม่ได้ตายไปกับร่างกายเสียอย่าง จะไปเดือดร้อนทำไม

เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว

 ผู้พิจารณากับสิ่งที่ถูกพิจารณาจะแยกออกจากกัน

 จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่กำลังถูกพิจารณากับผู้พิจารณานี้

 เป็นคนละคนกัน ผู้พิจารณาเป็นเหมือนคนดูหนัง

 ส่วนสิ่งที่ถูกพิจารณาเป็นเหมือนตัวแสดง

คนดูก็ดูไป อย่าไปได้ไปเสียกับคนแสดงเสียอย่าง

 ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร

ถ้าดูภาพยนตร์แบบไม่เข้าข้างใคร

 เราจะไม่เดือดร้อนกับเหตุการณ์

ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์

แต่ส่วนใหญ่เวลาดูภาพยนตร์

 เรามักจะเข้าข้างพระเอกนางเอก

มักจะคิดว่าเราเป็นพระเอกนางเอกกัน

พอมีอะไรเกิดขึ้นกับพระเอกนางเอก

ก็อดที่จะตื่นเต้นหวาดกลัวหวาดเสียวขึ้นมาไม่ได้

 เพราะใจไปผูกติดกับพระเอกนางเอก

ร่างกายก็เหมือนกัน เป็นเหมือนตัวแสดง

ใจเป็นเหมือนคนดู พอใจไปผูกติดกับร่างกาย

ว่าเป็นตัวเรา พอร่างกายเป็นอะไร

 ก็เกิดความหวาดกลัว วิตกกังวลขึ้นมาทันที

 ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆแล้วจะรู้ว่า เราไปหลงมันเอง

 ร่างกายเขาไม่รู้เรื่องหรอก เขาก็แสดงไป

ตามบทที่ธรรมชาติให้เขาแสดง

เขาเป็นเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง

 มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป

มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน

 ร่างกายก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน

 ต่างกันตรงที่ร่างกายมีใจคอยควบคุมดูแลสั่งการ

ให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ส่วนต้นไม้ไม่มีใจ

นอกจากคนไปเอามาเป็นสมบัติ

 ปลูกต้นไม้แล้วยึดติดว่าเป็นของตน

 เวลาปลูกบ้านมักจะปลูกต้นไม้ด้วย

 แล้วก็จะมีความผูกพันกับต้นไม้

 เวลาต้นไม้เป็นอะไรไป ใจก็วุ่นวายไปด้วย

 เพราะธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้

ใจที่มีความหลงครอบงำอยู่นี้

เวลามีอะไรแล้วจะยึดติด

 จะอยากให้ดีอยู่เสมอ อยากให้อยู่ไปนานๆ

ให้มีแต่ความเจริญ ไม่อยากให้เสื่อม

ไม่อยากให้ตายไป เป็นความอยากที่ตั้งอยู่

บนพื้นฐานของความโง่ ไม่ได้ศึกษาความจริง

ของธรรมชาติ ของสิ่งต่างๆว่าเป็นอย่างไร

ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า ทุกอย่างมีจุดเกิด

และมีจุดดับทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดมาแล้วจะไม่ดับไป

 จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง

 บางอย่างก็เกิดปั๊บแล้วก็ดับไป

 เช่นเสียงที่เราได้ยินแต่ละครั้งนี้

 ปรากฏขึ้นมาปั๊บแล้วก็หายไป มันเร็วมาก

 แต่ถ้าเป็นวัตถุนี้จะช้า บางอย่างก็เร็วบางอย่างก็ช้า

มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือมีเกิดมีดับ

เราจึงต้องศึกษาความจริงเพื่อให้รู้ทัน จะได้ปล่อยวาง

 ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง

ส่วนเราก็อยู่กับความจริงของเรา

 เราคือใคร เราก็คือคนดูนี่แหละ ดูเฉยๆ

 อย่าไปได้ไปเสียกับสิ่งที่เราดู

ถ้าไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งที่ดูแล้ว เวลาเสียก็ไม่เสียใจ

เวลาได้ก็ไม่ดีใจ จะรู้สึกเฉยๆ

 เพราะไม่ต้องมีเขาเพื่อให้เรามีความสุข

 เพราะความสุขของเราเกิดจากการปล่อยวาง

 เกิดจากความสงบของใจ ที่ปล่อยวางสิ่งต่างๆ นี้เอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

กำลังใจ ๔๔, กัณฑ์ที่ ๓๙๕

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๒ 







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภืชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 ธันวาคม 2561
Last Update : 18 ธันวาคม 2561 7:04:41 น.
Counter : 529 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ