Group Blog
All Blog
<<< "ไตรลักษณ์" >>>








“ไตรลักษณ์”

พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู ผู้รู้โลก

 ทรงรู้ถึงสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ต้องสัมผัส

 ต้องเจอกัน และทรงรู้จักวิธีปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้

ที่เรียกว่าโลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ซึ่งมีทั้งเจริญและเสื่อมควบคู่กันไป เป็น ๔ คู่ด้วยกัน

 ได้แก่การเจริญลาภ เจริญยศ สรรเสริญ สุข

เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นของคู่กัน

โลกธรรม ๘ นี้มีทั้งได้มีทั้งเสีย บางทีก็ได้เงินได้ทองมา

 บางทีก็ต้องเสียเงินเสียทองไป บางทีก็ได้รับเลื่อนชั้น

เลื่อนตำแหน่ง บางทีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

 บางทีก็ได้รับการชมเชย บางทีก็ได้รับการตำหนิติเตียน

บางทีก็มีความสุข บางทีก็มีความทุกข์

นี่คือส่วนประกอบของชีวิตของพวกเรา

ถ้ารู้ทัน รู้ว่ามีได้ก็ต้องมีเสีย มีเกิดก็ต้องมีดับ

 ก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ เวลาที่ได้อะไรมา

ก็จะได้ไม่หลงระเริงกับสิ่งที่ได้มา

 ต้องทำความเข้าใจเสมอว่า

ถึงแม้จะไม่มีสิ่งที่ได้มาในวันนี้

 ก็ยังอยู่ได้ มีความสุขได้

ถ้าไม่ไปหลงยึดติดกับสิ่งที่ได้มา

แต่ถ้าไม่ได้คิดไว้ก่อน เวลาได้อะไรมาก็ดีอกดีใจ

 มีความสุขกับสิ่งที่ได้มาจนติดนิสัยไป

 เหมือนกับติดยาเสพติดหรือติดสิ่งอื่นๆ

 เช่นบุหรี่สุรายาเมา เราก็ไม่ได้เกิดมากับสิ่งเหล่านี้

 เมื่อก่อนไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่เคยกินเหล้า ก็อยู่ได้

 แต่พอเริ่มสูบบุหรี่แล้ว เริ่มเสพสุราแล้ว

 ก็ติดเป็นนิสัย พอวันใดไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ได้เสพสุรา

 ก็จะไม่สบายใจ เป็นความทุกข์ขึ้นมา

 ถ้าจะสูบบุหรี่ เสพสุรา ต้องมีความแน่ใจว่า วันไหนไม่มี

 ก็ต้องอยู่ได้ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าอยากจะเสพ

โดยไม่เกิดความทุกข์ ก็ต้องฝึกด้วยการเสพบ้าง

 ไม่เสพบ้าง สูบบุหรี่สัก ๓ วันแล้วก็หยุดไป ๓ วัน

 แล้วค่อยกลับมาสูบใหม่ ฝึกทั้ง ๒ ด้าน

 ฝึกกับการมีและฝึกกับการไม่มี

 เพื่อจิตใจจะได้รู้จักวิธีปรับตัว

ให้รับกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

 นี่คือการปฏิบัติธรรม

 ให้รู้ทันกับสิ่งเหล่านี้ แล้วสามารถปล่อยวางได้

เพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราจำเป็นต้องมี

 เช่นเงินทอง ทุกคนต้องมีไว้ใช้

 เพียงแต่ต้องระมัดระวัง

 ไม่ให้ติดจนเดือดร้อน เวลาไม่มีเงินไม่มีทอง

 จริงอยู่ที่ต้องมีเงินทองไว้

สำหรับซื้ออาหารและปัจจัย ๔

 แต่ก็อย่าไปซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น

 เงินทองจะได้ไม่ขาดมือ

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาโลกธรรม ๘

 เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเผชิญ ต้องสัมผัสกัน

 ถ้ามีปัญญารู้เท่าทันว่า มันไม่แน่นอนนะ

สิ่งต่างๆที่เราสัมผัสวันนี้

วันพรุ่งนี้อาจจะไม่ได้สัมผัสก็ได้

 วันนี้มีความสุข พรุ่งนี้ก็มีความทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้

คือให้หาสิ่งที่ดีกว่านี้ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเราแล้ว

 คือความสุขภายในที่เกิดจากการทำบุญทำทาน

 รักษาศีล และภาวนา เพราะเมื่อได้ทำแล้ว

 จะทำให้จิตใจสงบตัวลง เพราะได้รับการชำระ

 กิเลสตัณหาต่างๆจะถูกกำจัดไปทีละเล็กทีละน้อย

 ทุกวันนี้ที่เราต้องออกไปเกี่ยวข้องกับโลกธรรม ๘

ก็เพราะอำนาจของกิเลสตัณหานี้เอง

 เมื่อกิเลสตัณหาสร้างความหิว

สร้างความต้องการขึ้นมา

 ก็ต้องออกไปหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

 แต่ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาผลักดันให้ออกไป

 ก็ไม่ต้องไปไหน อยู่เฉยๆ

 อยู่ในความสงบก็มีความสุขแล้ว

 เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 เป็นความสุขที่ชนะความสุขอื่นๆทั้งหมด

 รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ก็อยู่ที่รสแห่งความสงบนี้เอง

 ถ้าทำจิตใจให้สงบได้แล้ว

 ต่อไปก็จะไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัย

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเป็นเครื่องอยู่อีกต่อไป

ดังครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่พวกเรากราบไหว้กัน

 ท่านไม่ได้มีความจำเป็นกับลาภยศสรรเสริญสุขเลย

 ได้ลาภมามากน้อยก็เอาไปทำประโยชน์ใ

ห้กับโลกอีกต่อหนึ่ง เพราะท่านพร้อมที่จะให้อยู่เสมอ

 จิตใจของท่านไม่ได้ยึดติดกับอะไร เรื่องปัจจัย ๔

 ก็ได้รับการดูแลอย่างดีจากศรัทธาญาติโยมอยู่แล้ว

 บิณฑบาตก็มีอาหารรับประทานทุกวัน

จีวรก็มีคนถวายอยู่ประจำ กุฏิศาลาที่พักก็มีอยู่พร้อม

 ท่านมีครบทั้ง ๒ ส่วน

 คือ มีสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

ได้แก่ปัจจัย ๔ แล้วก็มีความสุขความอิ่มใจ

 ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

จากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

ที่จะพาไปสู่ความสุขที่แท้จริง

ให้สามารถอยู่เหนือโลกธรรมทั้ง ๘ ได้

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำอะไรกับจิตใจได้

 ใครจะถวายเงินเป็นล้านเป็นแสน ก็จะไม่รู้สึกดีอกดีใจ

 ใครจะแต่งตั้งให้เป็นอะไร ก็เฉยๆ

เพราะจิตไม่หิวกับเรื่องเหล่านี้แล้ว

 เหมือนกับเวลารับประทานอาหารอิ่มเต็มที่แล้ว

ใครจะเอาอาหารวิเศษขนาดไหนมาให้กินอีก ก็กินไม่ลง

ถ้าจิตใจได้รับการขัดเกลา ได้รับการชำระ

ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาอย่างต่อเนื่องแล้ว

 จิตใจจะมีความสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา

 ไม่เพียงแต่เวลานั่งทำสมาธิเท่านั้น

 ถ้าได้ทำวิปัสสนาจนสามารถชำระความโลภ โกรธหลง

ให้ออกจิตจากใจได้แล้ว แม้ในขณะที่เดินเหิน

ขณะที่คุย ขณะที่ทำอะไรต่างๆ จิตก็ยังสงบอยู่

 จิตไม่ได้มีอารมณ์กับอะไร

ซึ่งต่างกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ

 ความสงบของจิตจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ถ้าได้เข้าถึงขั้นปัญญา ถ้าอยู่ในขั้นสมาธิ

ก็จะสงบเฉพาะในขณะที่นั่งสมาธิ

นั่งหลับตาแล้วบริกรรมพุทโธๆๆทำจิตให้รวมลง

 เมื่อรวมลงแล้ว จิตก็สงบ

 แต่พอถอนออกมาจากสมาธิแล้ว

กิเลสก็จะออกมากับสมาธิ

ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่

 แต่ถ้าได้เจริญวิปัสสนา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

เช่นโลกธรรมทั้ง ๘ ให้เห็นว่า

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จิตก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด อะไรจะเกิดก็เกิด

 อะไรจะดับก็ดับ เมื่อเป็นอนิจจัง

 ก็ต้องเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปหวัง คนเราเวลาผิดหวัง

 มีความเสียใจ ก็เป็นความทุกข์ อนัตตา

ก็หมายถึงไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรานั่นเอง

ไม่สามารถบังคับให้อยู่กับเราไปตลอด

เช่นสามีของเราจะต้องอยู่กับเราไปตลอด

สมบัติของเราจะต้องอยู่กับเราไปตลอด

เรื่องเหล่านี้เราบังคับไม่ได้ วันดีคืนดี ก็จากไปได้

 จึงเรียกว่าอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา

จึงควรใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

ว่าเป็นอนัตตาอยู่เสมอ

ตั้งแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ที่เราเห็น ที่เราได้ยิน ที่เราได้เสพสัมผัสว่า

มาแล้วก็ไป เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 เวลาเห็นภาพก็มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ

จะไปบังคับก็ไม่ได้

จะให้เห็นแต่ภาพที่ชอบอย่างเดียวก็ไม่ได้

 เพราะในโลกนี้มีภาพอยู่หลายชนิดด้วยกัน

มีคนหลากหลายชนิดด้วยกัน เวลาเห็นคนหนึ่งก็ดีใจ

 พอเห็นอีกคนหนึ่งก็เสียใจ ไม่ชอบอกชอบใจ

 ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ใจก็จะแกว่งไปแกว่งมา

ถ้ามีปัญญาก็ย่อมรู้ว่าเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้

จะห้ามไม่ให้เห็นคนนี้ก็ไม่ได้

 อยากจะให้เห็นคนนั้นอย่างเดียวก็ไม่ได้

ก็ต้องเห็นไปตามเหตุตามปัจจัย

เมื่อเข้ามาในรัศมีของสายตา ก็ต้องเห็น

 ถ้าไม่อยากเห็นก็ต้องหลับตา

 แต่หลับตาแล้วก็ยังอยู่ในใจ

เพราะไปยึดไปติด จึงต้องตัดความยึดติดให้หมด

 ด้วยการยอมรับความจริง ถึงแม้จะไม่ชอบ

ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

 เมื่อต้องเจอก็ต้องทำใจให้เป็นปกติ

 ไม่รังเกียจ ไม่ยินดี ถ้าไปรังเกียจ หรือไปยินดี

 ก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

ยินดีก็อยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะอยากจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่ชอบ

 ถ้ารังเกียจก็อยากจะวิ่งหนี ถ้าทำเป็นเฉยๆ

 ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ก็อยู่เฉยๆได้ เป็นอุเบกขา

นี่ก็คือการพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ปล่อยวาง

 ให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา

 ฝนจะตกหรือไม่ตกก็ไม่เป็นไร

 เรานั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวเกิดฝนตกลงมา ก็ปล่อยให้ตกไป

 เรามีกิจกรรมอะไรก็ทำของเราไป

 เมื่อยังออกจากศาลานี้ไม่ได้ ก็ต้องรอให้ฝนหยุดก่อน

เมื่อหยุดแล้วค่อยไป เท่านี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

จึงต้องเข้าใจว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้าไม่ยึดไม่ติด

 ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด

 อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วไม่ได้ดังใจ

ก็จะมีความทุกข์ใจ นี่คือการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................................

จุลธรรมนำใจ ๒, กัณฑ์ที่ ๒๒๙

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 04 มกราคม 2562
Last Update : 4 มกราคม 2562 9:58:10 น.
Counter : 396 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ