happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 มีนาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๘๗




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










"นิทรรศการ เฟื้อ หริพิทักษ์ : ชีวิตและผลงานคัดลอกจิตรกรรมไทยประเพณี


นิทรรศการพิเศษ ระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม - ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗

จุดเริ่มต้นทางศิลปะ


เฟื้อ หริพิทักษ์ เริ่มศึกษาศิลปะครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่โรงเรียนเพาะช่าง ศึกษาจนถึงชั้นปีที่ห้าแต่ไม่สำเร็จการศึกษาเนื่องจากแนวความคิดการสอนศิลปะในเพาะช่างขัดแย้งกับความต้องการทำงานศิลปะของท่าน พ.ศ ๒๔๗๙ ท่านได้มาศึกษาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร)






แรงบันดาลใจจากอินเดีย


เดิมที อาจารย์เฟื้อ ตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลี แต่เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียก่อน ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ประกอบกับเมื่อครั้งศึกษากับศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้มีโอกาศศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศอินเดีย ทำให้เกิดความใฝ่ฝันว่าจะต้องเดินทางไปประเทศอินเดียให้ได้ ท่านจึงเลือกเดินทางไปศึกษาต่อ ที่ประเทศอินเดียแทน ด้วยทุนของภรรยา คือ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ณ มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ณ ที่นั้นเอง ที่อาจารย์เฟื้อได้แนวทางการศึกษาอนุรักษ์และคัดลอกภาพจิตรกรรมประเพณีโบราณ และเมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร






ศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี


เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ อาจารย์เฟื้อ ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถานที่กรุงโรม โดยทุนของรัฐบาลอิตาลี เป็นเวลาสองปี ด้วยเหตุที่ท่านมีนิสัยรักในอิสรภาพ ไม่ชอบอยู่ในกรอบของสถานศึกษา ท่านจึงไม่มีประกาศนียบัตรทางศิลปะใดๆติดตัวไปเลย มีเพียงจดหมายรับรองของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ที่ได้ย่องย่องชมเชยอาจารย์เฟื้อไว้ว่า “เป็นหนึ่งในศิลปินสยามที่ดีที่สุดในขณะนั้น”






ผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย


ช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลีนั้น เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้ทดลองเทคนิคจิตรกรรมใหม่ๆ อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีชอล์ค ดินสอสี หมึก เกรียงปาดสี ท่านยังได้ทดลองสร้างผลงานแนวนามธรรมและคิวบิสซึ่ม ผลงานของท่านในช่วงนี้ มีความแปลกใหม่สำหรับจิตรกรไทยในขณะนั้น หลังจากกลับจากอิตาลี ผลงานภาพวาดของท่าน ได้รับรางวัลเหรียญทองงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นครั้งที่ ๓ หลังจากเคยได้รับรางวัลเดียวกันมาก่อน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๔๙๓ จึงได้รับยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ประเภทจิตรกรรม ภายหลังท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย






อาจารย์เฟื้อ กับงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง


ความสนใจในศิลปะไทยของอาจารย์เฟื้อ เริ่มตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อท่านได้เดินทางไปเขียนภาพที่ จังหวัดเชียงใหม่ และ ลำพูน ในครั้งนั้น นอกจากงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมแล้ว ท่านยังได้รับมอบหมายจาก ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ให้ทำการสเก็ตภาพศิลปวัตถุ เพื่อนำมาใช้สอนนักศึกษาด้วย กล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ท่านได้ทำการศึกษาศิลปะของไทยอย่างเป็นระบบ ต่อมาเมื่อท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอินเดีย ที่นั่น ได้มีการปฏิรูปศิลปะโดยที่โน้มน้าวจิตใจชาวอินเดีย มิให้ละทิ้งลักษณะประจำชาติ และใช้วิธีการส่งคนที่มีความรู้ความสามารถไปคัดลอกภาพเขียนที่มีคุณค่าตามแหล่งต่างๆ ของประเทศมาติดตั้งไว้ให้ศึกษากันอย่างใกล้ชิด ทำให้ท่านคิดได้ว่า นักศึกษาศิลปะของประเทศไทยศึกษาศิลปะของชาติต่างๆมากมาย แต่ไม่เคยรู้จักของดีในประเทศตนเลย ควรที่จะได้ทำการศึกษาค้นคว้าศิลปะไทยอย่างจริงจัง เพื่อที่จะหาแนวทางสำหรับสร้างสรรค์งานจิตรกรรมขึ้นมาใหม่






ผลงานด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยที่สำคัญของอาจารย์เฟื้อ ได้แก่ การบูรณะปฏิสังขรณ์หอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม ผลงานการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังจากโบราณสถานหลายๆแห่งของอาจารย์เฟื้อส่วนหนึ่ง ซึ่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เก็บรักษาไว้ ได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงในคุณงามความดีของท่านในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย



























ภาพและข้อมูลจากเวบ
กระทู้พันทิป
contestwar.com
เฟซบุคพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ














"ภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญวัดรวก บางบำหรุ”


นิทรรศการพิเศษ ระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม - ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗



ภาพจิตรกรรมชุดนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ในคลังศิลปวัตถุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ปีที่เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานห่งชาติ หอศิลป โดยภาพจิตรกรรมทั้งหมดเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี ด้วยเทคนิคโบราณ คือ สีฝุ่นบนแผ่นไม้ ในทะเบียน ระบุรายละเอียดของศิลปวัตถุชุดนี้ว่า “ภาพจิตรกรรมบนไม้วัดรวกบางบำหรุ” และระบุที่มาว่า “ย้ายมาจากศาลาการเปรียญวัดรวก บางบำหรุ กรุงเทพฯ” มีจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ บาน โดยไม่ได้เรียงลำดับและระบุเรื่องราวที่เขียนบนแผ่นไม้เอาไว้อย่างชัดเจน และไม่เคยนำมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน เมื่อสืบประวัติถึงศาลาการเปรียญหลังนี้ ก็พบว่า มีการรื้อถอนและสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ทดแทน แต่ไม่ทราบปีที่รื้อและสร้าง ทั้งนี้น่าจะถูกรื้อก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยดูจากปีที่รับแผ่นไม้นี้มาเก็บรักษาไว้เป็นเกณฑ์






ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป เห็นว่า ผลงานจิตรกรรมชุดนี้ มีความสวยงามและน่าสนใจหลายประการ สมควรแก่การนำมาศึกษาและเผยแพร่ เนื่องจากไม่ได้มีการจัดแสดงสู่สาธารณชนให้ได้พบเห็นมากว่า ๓๐ ปีแล้ว อีกทั้งเรื่องราวบนแผ่นไม้ หากได้นำมาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ก็จะเป็นการเติมเต็มประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของผลงานชุดนี้มากยิ่งขึ้น






จากการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้น จิตรกรรมทั้ง ๓๔ บาน มี ๒บานที่สามารถต่อเข้ากันได้เป็นแผ่นเดียวกัน เรื่องราวที่เขียนบนแผ่นไม้ จำแนกได้ตามเรื่องดังนี้


๑. พุทธประวัติ ๑๔ บาน
๒. ทศชาติชาดก ๕ บาน
๓. ปัญญาสชาดก ตอนสุภมิตตชาดก ๒ บาน
๔. เรื่องพระพุทธบาท ๕ สถาน ๑ บาน
๕. เรื่องตำนานตะขาบ ๑ บาน
๖ ลวดลายดอกพุดตาน ๑๐ บาน






โดยเบื้องต้นสันนิษฐานจากรูปทรงของแผ่นไม้ และการวางองค์ประกอบภาพที่เรียงกันไปตามแนวยาว ประกอบกับคำบอกเล่าว่า ศาลาการเปรียญหลังนี้ มีลักษณะเป็นศาลาโถง จึงสันนิษฐานว่าใช้ประดับบริเวณคอสองของศาลาการเปรียญหลังนี้






การกำหนดอายุ เมื่อเปรียบเทียบลายเส้นฝีมือการวาดของจิตรกรรมสองเรื่องหลัก คือพุทธประวัติและทศชาติชาดก จะพบว่าทั้งสองเรื่องนี้มีฝีมือและลายเส้นที่ต่างกัน โดย จิตรกรรมพุทธประวัติ จะมีฝีแปรงที่หนากว่า สีจัดกว่า ส่วนทศชาติชาดก จะมีลายเส้นที่อ่อนช้อย บางเบา และละเอียดกว่า แต่ก็เชื่อว่า ทั้งสองตอน น่าจะวาดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันโดยช่างฝีมือคนละท่าน เมื่อดูจากการวาดภาพอาคารบ้านเรือน ที่มีลักษณะของอาคารแบบตะวันตก ผสมผสานอยู่กับอาคารแบบไทยประเพณี รวมทั้งภาพทิวทัศน์ภูเขาที่ดูเหมือนจริง แสดงถึงการนำเอาอิทธิพลศิลปะตะวันตก เข้ามาผสมผสานเป็นรูปแบบที่นิยมวาดขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงสันนิษฐานว่า ภาพชุดนี้น่าจะวาดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๖๗ –๒๔๑๑)



















ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุคพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ














"นิทรรศการภาพวาดจิตรกรรมจีน "สไตล์จีน" (Chinese Style)


ขอเชิญร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนิทรรศการภาพวาดจิตรกรรมจีน จากสถาบันจิตรกรรมแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน "Chinese Style" (สไตล์จีน) ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ ห้องอเนกประสงค์ และเข้าฟังการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การวิเคราะห์และการแบ่งกลุ่มตามลักษณะภาพวาดจีนร่วมสมัย” โดย Mr. Zhang Jiangzhou, Deputy Director General of the China National Academy of Painting. เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. และนิทรรศการจะจัดแสดงระหว่างวันที่ วันที่ ๗ กพ. - ๓๐ มีค. ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป


กำหนดการพิธีเปิด วันจันทร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

๑๓.๓๐ น. ลงทะเบียน ณ ห้องอเนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

๑๔.๐๐ น. การบรรยายพิเศษเรื่อง “การวิเคราะห์และการแบ่งกลุ่มตามลักษณะภาพวาดจีนร่วมสมัย” โดย Mr. Zhang Jiangzhou, Deputy Director General of the China National Academy of Painting.

๑๕.๐๐ น. พิธีเปิดนิทรรศการ























ภาพและข้อมูลจากเวบ
portfolios.net














จาก “เปลือกหอยแมลงภู่ไร้ค่า” สู่ “สีเกล็ดมุก และดินจุฬา”


หลายคนที่ผ่านไปเห็นนิทรรศการขนาดย่อม ณ ห้องรูปไข่ ชั้น ๑ ของอาคารจัตุรัสจามจุรี(จามจุรีสแควร์) ณ ขณะนี้ อาจจะนึกสงสัยอยู่บ้างว่า ภาพวาด,เครื่องประดับ และงานศิลปหัตถกรรมอื่น ๆ ที่ติดผนังและจัดวางให้ชม ซึ่งเป็นทั้งผลงานของศิลปิน นักศึกษาและนักเรียน ต้องการสื่อสารอะไรกับผู้ผ่านเข้าไปชม


มันคือส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะที่เกิดจากการนำ “สีเกล็ดมุก หรือ สีกว็อช(Gouache)” และ “ดินจุฬา(Chula Clay) หรือ ดินปั้นเกล็ดมุก” ซึ่งต่างมีส่วนผสมของเกล็ดประกายมุก สกัดจากเปลือกหอยแมลงภู่ มาให้ทุกคนทดลองสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน






ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ๔ นักวิจัยได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์,อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์,ดร.โฉมฉาย บุญญนันต์ และดร.อินทิรา พรมพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฎศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)


หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หนึ่งในทีมวิจัยของ “หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในพัฒนาเกล็ดประกายมุกที่ได้แปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่






และต่อมา ๔ นักวิจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้นำเกล็ดประกายมุกที่สลัดได้ มาบูรณาการใช้เป็นส่วนผสมในอุปการณ์สำหรับทำงานศิลปะ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์และ อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์ ทำวิจัยในส่วน “สีเกล็ดมุก” ขณะที่ ดร.โฉมฉาย บุญญนันต์ และดร.อินทิรา พรมพันธุ์ ทำวิจัยในส่วน “ดินจุฬา” ทำให้เปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมากที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นจำนวนมากกว่า ๕ หมื่นตัน ในแต่ละปี กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นมาทันที


“ในแต่ละปีบ้านเราทั่วประเทศบริโภคหอยแมลงภู่ประมาณปีละแสนตัน รวมทั้งส่งออก แล้วเวลากินเสร็จปุ๊บ เปลือกถูกจะทิ้ง และเป็นปัญหาเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และถ้าเปลือกมีเศษเนื้อติดอยู่ด้วยจะทำให้เน่า ส่วนใหญ่จึงทำการกำจัดโดยการฝังกลบ






เมื่อเราเห็นถึงลักษณะพิเศษของเปลือกหอยแมลงภู่ ถ้าดูเวลามันสะท้อนแสง มันมีประกายคล้ายมุกจริง เราจึงหาวิธีการสกัดออกมาให้ได้ เพื่อให้มันออกมาเป็นแผ่นเดี่ยว ๆ เพราะว่าตอนที่มันอยู่เป็นแผ่นซ้อน ๆ กัน ในเปลือก มันอยู่กันแน่นเกินไป


เราทำวิจัยเรื่องนี้มาสองปี ก่อนนี้ผมทำวิจัยเรื่องหอยมุกมาก่อน ทำให้รู้ว่าเปลือกหอยทุกชนิดในโลกมันคือแคลเซียมคาบอเนต แต่ว่าเปลือกหอยมุก เปลือกหอยแมลงภู่ เปลือกหอยนมสาว เปลือกหอยเป๋าฮื้อ ตัวมุกในเปลือกของมันมีโครงสร้างพิเศษไม่เหมือนหอยอื่นๆทั่วไป คือมันเป็นเกล็ด ๆ เป็นแผ่นเรียบ ๆ มันสะท้อนแสงได้ดี มันก็เลยสามารถทำเป็นประกายวับ ๆ ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องหาวิธีการแยกมันออกมาใช้งาน






ถามว่าทำไมต้องเปลือกหอยแมลงภู่ หอยอื่นทำได้ไหม ทำได้ แต่มันหายาก แต่หอยแมลงภู่มีการบริโภคทุกวันแต่ถ้าวันหนึ่งมีการเลี้ยงหอยชนิดอื่น ๆ ดังที่ยกตัวอย่างมาเยอะ บริโภคกันเยอะ และเศษเหลือทิ้งเยอะก็สามารถเอามาสกัดเป็นเกล็ดประกายมุกได้เช่นกัน” รศ.ดร.สนอง กล่าว


ที่ผ่านมาเราคงเคยพบเห็นประกายมุกเป็นส่วนผสมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้หลายอย่าง แม้กระทั่งยาทาเล็บ, อายแชโดว์ หรือแม้แต่สีที่ใช้ในการเขียนภาพ ทว่าประกายมุกเหล่านั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์ หนึ่งในผู้ทำวิจัยเรื่อง “สีเกล็ดมุก” จากเปลือกหอยแมลงภู่ กล่าวว่า ต้องนำเข้า มีราคาแพง และสกัดจากแร่ไมก้า ซึ่งเป็นแร่หินเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้





รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์



“ถ้าเอาไปใช้ในระดับโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว ขณะที่สีเกล็ดมุกของเรา แม้ว่าประกายที่ได้จะไม่เหมือนที่เคยนำเข้าเสียทีเดียว แต่จุดเด่นของงานวิจัยนี้จะช่วยปลุกสำนึกในการรักษ์โลกในขณะที่ใช้(สีเกล็ดมุก)ระบายภาพหรือใช้ดิน(จุฬา)ปั้นชิ้นงาน”


รศ.ดร.สนอง เสริมด้วยว่า “ถ้าเราหันมาใช้ประกายมุกทีได้จากการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ จะเป็นการลดต้นทุนอย่างนึง และถ้าเราสามามารถผลิตสีเกล็ดมุกและดินจุฬาได้อย่างเป็นระบบ จะทำให้ต้นทุนของการผลิตถูกลง ถูกกว่าดินญี่ปุ่นน้ำเข้า แล้วชาวประมงที่เคยเอาเปลือกหอยไปทิ้งก็สามารถนำกลับมาแปรรูปและสร้างมูลค่าจากเปลือกหอยได้ทั้งหมด”





รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์



อย่างไรก็ตาม อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์ อีกหนึ่งผู้ทำวิจัย “สีเกล็ดมุก” กล่าวว่า ขณะนี้สียังอยู่ในช่วงพัฒนา และทดลองใช้งาน ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวว่า จะถูกนำใช้แทน ประกายมุกแบบที่ศิลปินเคยใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์


“ศิลปินบอกว่าเวลาใช้กับสีน้ำ เทกเจอร์ของเกล็กมุกมันไปรบกวนฟีลลิ่งของความเป็นสีน้ำ ที่ต้องการความใส เราต้องเชื่อศิลปินแหล่ะว่ามันไม่ได้ พอเราลองให้ลองใช้กับสีโปสเตอร์ที่ต้องระบายหนา ปรากฏว่ามันกลบความประกายของเกล็ดมุกไปเลย แต่ถ้าผสมในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วเนี่ย มันจึงจะทำให้เห็นเป็นประกายมุกขึ้นมา ถ้ามองโดยไม่โดนแสงจะเหมือนทรายละเอียด





อ.ภุชงค์ โรจน์แสงรัตน์



ดังนั้นระหว่างนี้ เราจึงไม่สามารถที่จะเรียกประเภทมันว่า สีน้ำ สีโปสเตอร์ หรือสีเมทัลลิก(สีผสมเกล็ดเงิน)ก็ไม่ได้อีก เพราะว่าความ ความประกายมันอาจจะไม่เท่าสีเมทัลลิก ก็เลยขอเรียกเป็นสีเกล็ดมุกแทน เป็นสีอีกรูปแบบใหม่แล้วกัน ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองกับประชาชนทั่วไปว่า ใช้เขาจะรู้สึกยังไง สนใจขนาดไหน”


ด้าน รศ.สมโภชน์ ทองแดง ส่วนหนึ่งของศิลปินที่ทดลองใช้สีเกล็ดมุกกล่าวว่า สีจะอยู่ในช่วงของการพัฒนาและขณะที่ตนเองทดลองใช้สีก็มีทั้งความรู้สึกที่พอใจและไม่พอใจ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดีมากๆที่มีการแปรรูปของที่ไม่มีประโยชน์มาทำให้มีประโยชน์ขึ้นมา





ดร.โฉมฉาย บุญญนันต์ และดร.อินทิรา พรมพันธุ์



“จากที่ผมใช้ ส่วนหนึ่งพอใจ และอีกส่วนต้องใช้เวลาในการพัฒนา การระบายภาพสีน้ำจากสีที่ผสมสีเกล็ดมุกมันต้องเขียนหนา แต่พอหนาความเป็นสีน้ำก็หายไป แต่พอเขียนบางแบบสีน้ำ ประกายมุกมันก็ไม่ออก แต่ต้องขอบคุณอาจารย์สนองที่ทดลองอะไรใหม่ๆชอบค้นหา และมันก็เป็นเรื่องดีที่เอามาบูรณาการกับศิลปะ เพราะการทำงานร่วมกันมีความสำคัญมาก เอาของมันมีประโยชน์มาทำให้มี มันดีอยู่แล้ว แต่จะมากน้อยแค่ไหนต้องรอดูในอนาคต”





รศ.สมโภชน์ ทองแดง



นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมเกล็ดมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่ หรือ ART GO GREEN วันนี้ - ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ห้องรูปไข่ ชั้น ๑ ของอาคารจัตุรัสจามจุรี(จามจุรีสแควร์)



ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th














"การบรรยายและสาธิตการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ”


เจแปนฟาวน์เดชั่น ร่วมกับห้างสรรพสินค้าอิเซตัน อุดมการ์เด้น และบริษัท กล้วยไม้ไทย จำกัด จัดการบรรยายและสาธิตการจัดดอกไม้แบบญีปุ่น หรืออิเคบานะ รวมทั้งการนำฝึกปฏิบัติโดยอาจารย์มิจิโกะ นาคายามะ นักจัดดอกไม้อิเคบานะมืออาชีพจากปีนัง ประเทศมาเลเซีย


ผู้มีประสบการณ์บรรยายและสาธิตการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์มากมาย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ


อาจารย์นาคายามะจะบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอิเคบานะโดยยึดเนื้อหาจากหนังสือที่เธอเขียนเอง ชื่อ “๕oo ปีอิเคบานะ” ส่วนการฝึกปฏิบัติจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้จักนำวัตถุดิบใกล้ตัว และที่สามารถหาได้ในชีวิตประจำวันมาใช้ในการจัดดอกไม้





อาจารย์มิจิโกะ นาคายามะ วิทยากรจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ



กำหนดการ

วันศุกร์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๗เวลา ๑๔.oo-๑๖.๓o น.

๑๔.oo-๑๕.๓o การบรรยาย

๑๕.๓o-๑๕.๔o พัก ๑o นาที

๑๕.๔o-๑๖.๓o การสาธิต และฝึกปฏิบัติจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ


สถานที่ : โกจิโซ สเปซ ชั้น ๖ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ถนนราชดำริ


**หมายเหตุ รับไม่จำกัดจำนวน สำหรับผู้ต้องการเข้าฟังการบรรยายและชมการสาธิต
รับจำนวนจำกัด เพียง ๑๕ ท่านเท่านั้น สำหรับผู้ต้องการฝึกปฏิบัติ โดยมีเงื่อนไขต้องเข้าฟังการบรรยายด้วย จึงจะมีสิทธิ์สำรองที่นั่งการฝึกปฏิบัติได้


สำรองที่นั่งการฝึกปฏิบัติได้ที่คุณดวงใจ มีกังวาล โทร : o๒-๒๖o-๘๕๖o-๔ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕๗ เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๙.oo-๑๗.oo น. จนกว่าที่นั่งจะเต็ม



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














"นิทรรศการ 9 Print วิทยานินพนธ์ภาพพิมพ์”


นิทรรศการวิทยานิพนธ์ศิลปะภาพพิมพ์โดยนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พิธีเปิดนิทรรศการ ในวันพฤหัสบดีที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓o น.โดย ศาสตราจารย์ พิษณุ ศุภนิมิตร และ รองศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีณ หอศิลป์กรุงไทย (อาคารสาขาเยาวราช)


นิทรรศการจะจัดแสดงระหว่างวันที่ ๖ - ๒o มีนาคม ๒๕๕๗


นิทรรศการนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เพื่อนำเสนอผลงานที่ผ่านการเคี่ยวกรำ ทั้งความคิด รูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะตัวผ่านกระบวนการภาพพิมพ์ ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์นั้นได้ถูกพัฒนาไปอย่างมาก ก่อให้เกิดความหลากหลายในการแสดงออกในผลงาน


นิทรรศการครั้งนี้จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ของศิลปะภาพพิมพ์ และก่อให้เกิดความเข้าใจในงานภาพพิมพ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะพบว่าศิลปะภาพพิมพ์นั้นมิได้ยุ่งยากและเข้าใจยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังสามารถแสดงออกได้อย่างหลากหลายไม่จำกัด


ศิลปินที่จัดแสดงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ประกอบด้วย


ธนวัฒน์ พรหมสุข
สาริตา สุวรรณแก้วมณี
ปราชญ์ คณานุรักษ์
กนิษฐา กรทวีธรรม
วนีย์วรรณ กิตติบดีสกุล
นภาพร มบขุนทด
ชาลิศา วงศ์มงคล
อิสระ สิงห์โตแก้ว



























ภาพและข้อมูลจากเวบ
edtguide.com














นิทรรศการ 'เดอะ คอฟฟี อาร์ต'


แบล็คแคนยอน จับมือศิลปินระดับสากล และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนว” แอบสแตรกอาร์ต” โดยผสานระหว่าง “สี” กับ “เมล็ดกาแฟ” จนเกิดผลงานศิลป์อินเทรนด์ ซึ่งต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ เติมเต็มพลังชีวิตให้สดใส พร้อมจัดแสดงนิทรรศการ “แบล็คแคนยอน : เดอะ คอฟฟี่ อาร์ต” เพื่อเปิดให้ผู้รักงานศิลปะ บุคคลทั่วไป ได้เข้าชม ณ ร้านแบล็คแคนยอน สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


นางกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารตราสินค้า บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แบล็คแคนยอน ได้ร่วมกับ มร.จิมมี่ เอ็นจิเนีย ศิลปินลูกครึ่ง “ปากีสถาน-อเมริกัน” ที่มีชื่อเสียงระดับสากล ผู้สร้างสรรค์ศิลปะแนว “แอบสแตรกอาร์ต” โดยใช้ชื่อผลงานชุดนี้ว่า Black Canyon : The CoffeeArt (แบล็คแคนยอน : เดอะ คอฟฟี่ อาร์ต) มีทั้งหมด จำนวน ๑๔ ภาพ และ อาจารย์จักรกฤษณ์ การะเกต อาจารย์พิเศษภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมสนับสนุนการจัดนิทรรศการครั้งนี้


“ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างแบล็คแคนยอน และ มร.จิมมี่ เอ็นจิเนีย เกิดขึ้นจากความปรารถนาให้ชีวิตของมนุษย์มีความสุข และต้องการให้ทุกคนมีพลังงาน มีแรงบันดาลใจ ซึ่งในบางครั้งของช่วงเวลา เราอาจรู้สึกถดถอย การสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองอยู่เสมอ ๆ ก็เสมือนการเติมพลังงาน เพื่อเติมพลังชีวิตให้มีพลังที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า การนำเมล็ดกาแฟ มาผสมผสานกับสี เพื่อสร้างชิ้นงานศิลปะ นับว่าสามารถกลมกลืนเข้ากันได้เป็นอย่างดี เป็นอีกมิติหนึ่งของงานศิลปะแนวแอบสแตรกอาร์ต ซึ่ง “กาแฟ” นับเป็นเครื่องดื่มที่ผู้คนทั่วโลกหลงใหลในกลิ่น รส และนิยมดื่มอย่างแพร่หลายทั่วโลก เมื่อนำมาผสานอยู่ในชิ้นงานศิลปะ เชื่อว่านอกจากความงามของงานศิลปะแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่า “ชีวิต” ของมนุษย์จะขาดสีสันไม่ได้ และต้องเป็นสีสันที่จะช่วยให้ชีวิตสดชื่นและมีชีวิตชีวา” นางกรรณิการ์ กล่าว


ทั้งนี้ ผลงานศิลปะชุด “BLACK CANYON: The Coffee Art” (แบล็คแคนยอน : เดอะคอฟฟี่อาร์ต) กำลังจัดแสดงเพื่อให้ชม ณ ร้านแบล็คแคนยอนสาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ระหว่างนี้จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หลังจากนั้น แบล็คแคนยอนจะนำไปใช้ในกิจกรรมการตลาด และนำไปตกแต่งภายในร้านแบล็คแคนยอน สาขาต่าง ๆ ต่อไป



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com














"Under Construction”


“เขตปกครองพิเศษ : under construction” เป็นนิทรรศการเดี่ยวอีกครั้งของ ขวัญชัย ลิไชยกุล ผ่านไปเกือบสองปีกับการเตรียมผลงานชุดใหม่ จากผลงานวาดเส้นด้วยพู่กันนำเสนอภาพเมืองในมุมมองแบบ bird’s eye view






พัฒนาการในผลงานของขวัญชัยเริ่มต้นจากการคลี่คลายวิธีเล่าเรื่องแบบจิตรกรรมฝาผนังไทย โดยเฉพาะการเน้นให้เห็นมุมมองต่อการทำความเข้าใจโลกและลำดับเวลาเชิง ๒ มิติ จนปัจจุบันผลงานของขวัญชัยพัฒนาขึ้นจนสามารถขยายความให้เห็นภาพตัวแทนของสังคมปัจจุบัน






ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอนัยยะของพื้นที่ทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา การดำรงชีวิต ฯลฯ โดยเฉพาะการจัดการพื้นที่เชิงวิพากษ์ ผลงานหลาย ๆ ชิ้นของเขาแสดงให้เห็นสัดส่วนของพื้นที่ธรรมชาติ การเมือง และการดำรงชีวิตของมนุษย์ผ่านการวาดเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการด้นสด (improvisation) ทิวทัศน์ที่แม้จะถูกจินตนาการขึ้น แต่ก็เผยให้เห็นโลกอันอลหม่านที่อ้างอิงจากหลักความจริง ผลงานของขวัญชัยไม่เพียงเป็นการนำเสนอแนวคิดการเมืองของพื้นที่ แต่ยังจัดวางให้ผู้ชมได้ตระหนักเห็นภาพกว้างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกใบนี้อีกด้วย

พิธีเปิดนิทรรศการ ในวันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.oo น.





แผนที่นำทองแกลเลอรี่



นิทรรศการ : เขตปกครองพิเศษ : Under Construction
ศิลปิน : ขวัญชัย ลิไชยกุล Kwanchai Lichaikul
วันที่ : ๑๕ มีนาคม –๑๒ เมษายน ๒๕๕๗
สถานที่ : นำทอง แกลเลอรี่ : ๗๒/๓ ซอย อารีย์ ๕ (ฝั่งเหนือ) พหลโยธิน ๗, ถนนพหลโยธิน, พญาไท, กรุงเทพฯ ( BTS : อารีย์ ทางออกหมายเลข ๓)
รายละเอียดเพิ่มเติมโทร : o๒-๖๑๗-๒๖๙๔
อีเมล : numthonggallery@gmail.com
เว็บไซต์ : //www.gallerynumthong.com



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














"จากขุนเขาจรดแนวปะการัง”


จากประสบการณ์อันยาวนานกว่า ๑๘ ปีที่ผ่านมา “ก้อง บารมี เต็มบุญเกียรติ” ช่างภาพสัตว์ป่าและใต้น้ำชื่อดังของเมืองไทย ได้รวบรวมบทบันทึกจากธรรมชาติของเมืองไทยทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล ผ่านมุมมองทางศิลปะภาพถ่าย จนกลายมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกของเขา ภายใต้ชื่อ “จากขุนเขาจรดแนวปะการัง”


ในโอกาสนี้ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งได้ให้การสนับสนุนช่างภาพมือโปร รวมทั้งบารมี เต็มบุญเกียรติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และ บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ โดยมีนายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ช่างภาพและนักเดินทาง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในวันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการจะจัดแสดงระหว่างวันที่ ๔ – ๓o มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา ๑o.oo-๒๑.oo น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณลานโค้ง ชั้น ๓ – ๕


นิทรรศการ : “จากขุนเขาจรดแนวปะการัง”
ศิลปิน : บารมี เต็มบุญเกียรติ
วันที่ : ๔ – ๓o มีนาคม
สถานที่ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณลานโค้ง ชั้น ๓ – ๕
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : o๘๑-๖๘๔-๕๑๘๘, o๘๔-๖๙๔-๔๙๙๔



















ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














นิทรรศการภาพถ่าย "หลงสวรรค์"

หลงสวรรค์

(Lost inParadise)

นิทรรศการภาพถ่ายโดย

เล็ก เกียรติศิริขจร

๑ มีนาคม – ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗

[เปิดนิทรรศการ เสาร์ที่ ๑ มี.ค. เวลา ๑๘.๓o – ๒๑.oo น.]



เรื่องราวของคนงานต่างจังหวัดที่จำต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อเข้าทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเทพ – เมืองสวรรค์ โดยหวังว่าจะมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเก่า แต่จะมีสักกี่คนที่เดินทางไปถึงความฝันนั้น เรื่องราวที่แสนจะธรรมดาและคุ้นชินเช่นนี้ท้าทายให้ เล็ก เกียรติศิริขจร ศิลปินภาพถ่ายมือรางวัลหยิบมาถ่ายทอดใหม่ได้อย่างน่าสนใจในผลงานชุดล่าสุดที่ชื่อว่า ‘หลงสวรรค์’ (Lost inParadise)






ความโดดเด่นของภาพชุดนี้อยู่ที่การเลือกถ่ายภาพสถานที่อันรกร้างด้วยมุมกล้องกว้าง เช่นโครงทาวน์เฮ้าส์, เสาตอหม้อโครงการรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ หรือทางด่วน ที่อยู่ในสภาพสร้างไม่เสร็จ ปล่อยร้าง จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โดยมีคนงานต่างจังหวัดคนเดียวหรือสองคนที่อาศัยในละแวกนั้น (ในภาพมีขนาดเล็กทั้งไม่เห็นใบหน้าที่ชัดเจน) ยืนหรือนั่งมองสิ่งก่อสร้างนั้นอยู่อย่างนิ่งเงียบ และด้วยการเลือกเวลาถ่ายภาพโพล้เพล้ยามเย็น ยิ่งทำให้ผลงานชุดนี้ดูเศร้าสร้อย เศร้าเพราะสวรรค์ของคนกรุงนั้นก็สร้างไม่เสร็จ ขณะที่ความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าของแรงงานต่างจังหวัดก็มาไม่ถึง ทั้งที่ต้องเอาวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่ตนจากมาเข้าแลก






พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะและอารยธรรมชนเผ่าอันมีชื่อของปารีส The Musée du quai Branly ได้ให้ทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์งานชุด ‘หลงสวรรค์’ และได้เลือกภาพจำนวน ๑๓ ชิ้นจากทั้งหมด ๒๒ ชิ้นเอาไว้ในการสะสมของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย


เล็ก เกียรติศิริขจร จบจิตรกรรมจาก ม.ศิลปากร และเคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของธนาคารกสิกรไทยเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ก่อนจะหันมาศึกษาต่อด้านภาพถ่ายที่ The Arts Institute atBournemouth อังกฤษ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
fineart-magazine.com














นิทรรศการ “1 ทศวรรษการประกวดภาพถ่ายนานาชาติ หัวข้อ ถิ่นกำเนิด”


ปี ๒๕๕๗ นี้เป็นปีครบรอบ ๑ ทศวรรษ “การประกวดภาพถ่ายนานาชาติ เนื่องในงานวันนริศ” ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ จัดขึ้นพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์งานศิลปะทางด้านการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของศิลปะแขนงหนึ่งในปัจจุบันที่เติบโตไปตามกระแสโลกแห่งเทคโนโลยี ตลอดจนยกระดับวงการถ่ายภาพของไทยเพื่อพัฒนาให้เป็นระดับสากล


“ถิ่นกำเนิด” คือหัวข้อการประกวดภาพถ่ายในปีนี้ และมีช่างภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน ๔๒๓ คน ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น ๑,๕๘๕ ผลงาน


คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน ประกอบด้วย ศิลปิน และช่างภาพ ได้แก่ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง,ศาสตราจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ,รองศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง, นิติกร กรัยวิเชียร, ธวัชชัย สมคง, นภดล โชตะสิริ, ดาว วาสิกศิริ, กนก สุริยสัตย์ และราฟ ทูเท็น ได้ร่วมกันตัดสินให้ผลงานชื่อ When Finished the Daylight ของ Mr. Kyaw Kyaw Winn ช่างภาพชาวพม่า ซึ่งเคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดเมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมเป็นปีที่ ๒ พร้อมด้วยเงินรางวัล ๘o,ooo บาท


Mr. Kyaw Kyaw Winn กล่าวถึงผลงานภาพถ่ายชื่อ When Finished the Daylight ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในครั้งนี้ว่า


“นี่คือสถานที่ของฉัน ฉันอาศัยอยู่ในจักรวาล อยู่บนโลก อยู่ในเมืองเล็กๆ ฉันอาศัยอยู่ในห้องของฉัน และนี่คือที่ของฉัน หน้าต่างยังเป็นที่ของฉัน ที่ทำให้ฉันมองเห็นโลกภายนอก สามารถสัมผัสและเข้าใจโลกได้ เมื่อสิ้นแสงแห่งวัน ฉันต้องเก็บข้าวของเข้าข้างในและปิดหน้าต่าง หลังจากนั้น ฉันจึงอยู่ในห้องของฉันอีกครั้ง ด้วยความสุข และนี่คือที่ที่ดีที่สุดของฉันในจักรวาล”






Mr. Kyaw Kyaw Winn ปัจจุบันอายุ ๓๖ ปี เป็นนักถ่ายภาพชาวพม่าที่น่าจับตามองในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมเขาเริ่มสนใจในเรื่องของการถ่ายภาพและเริ่มต้นการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกตั้งแต่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา


ความหลงใหลในการถ่ายภาพเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เขาได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรการถ่ายภาพเบื้องต้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และหลังจากนั้นอีก ๑๔ ปี ต่อมา Kyaw Kyaw Winn กลายมาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลประกวดภาพถ่าย รวมทั้งเป็นผู้สอนในหลักสูตรการถ่ายภาพของสมาคมถ่ายภาพสหภาพเมียนมาร์ (Myanmar Photographic Society)


ที่ผ่านมาเขาเคยได้รับรางวัลจากการถ่ายภาพมาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๕oo รางวัล จากการประกวดทั้งใน และต่างประเทศ รางวัลสูงสุดที่เขาเคยได้รับ อาทิ รางวัลชนะเลิศ จากการประกวดการถ่ายภาพที่จัดขึ้นโดย พิพิธภัณฑ์ Smithsonian ประเทศสหรัฐอเมริกา, รางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทองจากการประกวดที่ประเทศจีน,ไทย,เกาหลี และไซปรัส


นอกจากนี้ Kyaw Kyaw Winn ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและศิลปินรุ่นใหม่แห่งเครือข่ายเอเชียตะวันออก (Japan - East Asia Network of Exchange for Students and Youths - JENESYS Program) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นระยะเวลานาน ๓ เดือน ร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลก


ผลงานภาพถ่ายที่ได้รางวัลและถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงทั้งสิ้น จำนวน ๘๔ ผลงาน จะถูกนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการ “๑ ทศวรรษการประกวดภาพถ่ายนานาชาติ หัวข้อ ถิ่นกำเนิด” เนื่องในงานวันนริศ ประจำปี ๒๕๕๗


ระหว่างวันที่ ๒๕ เมษายน - ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ สอบถาม โทร. o๒-๘๔๙-๗๕๓๘, o๒-๘๔๙-๗๕๖๔



ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 07 มีนาคม 2557
Last Update : 9 มีนาคม 2557 12:18:43 น. 0 comments
Counter : 6305 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.