happy memories
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2557
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
16 สิงหาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๓๑




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto

>








“นวลตอง ประสานทอง” สิ่งมหัศจรรย์ของ “ครูโต”


ขณะที่ปัจจุบันยังคงทำงานภาพประกอบให้กับนิตยสารพลอยแกมเพชร ,รายการซุปเปอร์จิ๋ว ,หนังสือพ็อคเกจบุ๊ค และเป็นอาจารย์สอนการทำภาพประกอบ ล่าสุดในปีที่ ๑o ปี บนเส้นทางของอาชีพนักทำภาพประกอบของ นวลตอง ประสานทอง เธอมีผลงานมาจัดแสดงเดี่ยวให้ชมเป็นครั้ง ๔ ณ เกษร เอเทรียม แกลลอรี่ (GAYSORN ATRIUM GALLERY) ชั้น L ศูนย์การค้าเกษร และครั้งนี้นวลตองได้จินตนาการให้หญิงสาวจำนวน ๒o คน ในภาพวาดของเธอคล้ายโผล่หน้าออกมาทักทายผู้ชมผ่านหน้าต่างแต่ละบาน ของอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในยุค ๑๙๒o






“นวลไม่อยากให้คนที่มาดูงาน ไม่ได้รู้สึกแค่ว่ากำลังดูภาพที่ติดอยู่บนผนัง นวลก็เลยคิดตรีมอพาร์ทเมาต์ ขึ้นมา เหมือนให้คนกำลังได้ดูงานของเราผ่านหน้าต่าง ๒o บาน และสร้างบรรยากาศให้มันเข้ากับสถานที่ ไม่อยากให้คนรู้สึกว่างานของเรามันมาโผล่อยู่ตรงนี้ ในช่วงเวลานี้เท่านั้น”


อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เธอกำลังอินอยู่กับการสร้างบ้านและตกแต่งบ้านของตัวเอง ด้วย


“นวลเพิ่งสร้างบ้านเสร็จก็เลยอินกับเรื่องของบ้าน หรือที่อยู่อาศัย และเริ่มที่จะวาดภาพอย่างมุมของหน้าต่างลงไปในงาน ซึ่งแรงบันดาลใจในการวาดของนวล ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ส่วนตัวด้วย เมื่อก่อนนวลอาจจะดึงเอาสิ่งที่คิดอยู่ในใจแสดงออกผ่านมาภาพวาดไม่ได้ แต่ ณ จุดนี้เราเริ่มมีประสบการณ์ เมื่ออยากวาดสิ่งไหนออกมา มันเริ่มจะวาดออกมาได้แล้ว เพราะนวลไม่ได้เรียนจบศิลปะมา แต่นวลเรียนจบด้านบัญชี จากที่จุฬาฯ”






นวลตองได้เปิดใจเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวาดภาพประกอบของเธออีกครั้งว่า มีที่มาจากความชอบวาดภาพผู้หญิง โดยเฉพาะการวาดตาม ภาพวาดผู้หญิง ซึ่งเป็นผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี ๒๕๔๓) จากนั้นก็ได้รับแรงเชียร์จาก แป้ง - ภัทรีดา ประสานทอง พี่สาวของเธอซึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบชื่อดังอีกคน


“นวลชอบวาดภาพผู้หญิง วาดตามผลงาานของอาจารย์จักรพันธุ์มาตั้งแต่เด็ก พี่แป้งเค้าทราบ


พอโตขึ้นมาได้ไปเรียนวาดภาพกับครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ครูโตก็แนะว่า ถ้าชอบวาดภาพผู้หญิงก็วาดไป ไม่ต้องเปลี่ยน นวลก็เลยวาดแต่ภาพผู้หญิง จนมีผลงานของตัวเองเก็บเอาไว้ส่วนหนึ่ง พอพี่แป้งเค้าเริ่มทำงานวาดภาพประกอบ เค้าก็ถามว่า เธอชอบวาดภาพผู้หญิง ไหนๆเราก็ไปสำนักพิมพ์ด้วยกันอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองเอาผลงานไปเสนอ พี่ บก. (บรรณาธิการ) ตามสำนักพิมพ์ จุดเริ่มต้นของนวล มันเก็เลยหมือน เอ้า...ไหนลองทำงานนี้ดูซิ เป็นงานต่องาน กระทั่งคนเริ่มจดจำผลงานของนวลได้”






ผลงานภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพวาดผู้หญิงในแบบที่ “ครูโต” ครูของเธอนิยามว่า


“เป็นผู้หญิงที่แต่งตัวสวย ๆ มีเสน่ห์ในตัวเอง เหมือนเราได้เห็นดอกไม้สวย ๆ ได้ยินเพลงเพราะ ๆ ได้ทานอาหารอร่อย อะไรแบบนั้น ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน ดูปั๊บแล้วรู้สึกสวยงาม อยากขยับเข้าไปดูใกล้ ๆ”


ขณะที่เจ้าของผลงานเองก็ได้บอกว่า แม้ปัจจุบันจะไม่ใช่การวาดภาพตามผลงานของจักรพันธุ์เหมือนตอนเด็ก ๆ แต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามในการวาดภาพหรือทำงานภาพประะกอบของเธอทุกครั้ง ก็ยังมีบางสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจเริ่มต้น ถูกนำมาปรับใช้กับการทำงานในแต่ละครั้ง






“นวลรู้สึกว่าใบหน้าของผู้หญิงในภาพวาดของอาจารย์จักรพันธุ์ นอกจากจะมีความชดช้อยยัง มีแรงดึงดูดบางอย่าง ซึ่งนวลมักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมภาพวาดของผู้หญิงคนนึงถึงได้มีแรงดึงดูดขนาดนี้ ดังนั้นในการวาดภาพในแต่ละครั้ง ภาพผู้หญิงของนวลจะต้องมีจุดดึงดูดอะไรสักอย่างหนึ่งในภาพ เพื่อที่จะให้ดึงสายตาของผู้ชมให้มองเข้าไปไปในภาพ ถ้ายังไม่มี นวลจะคิดว่ามันยังไม่เสร็จ และจะทำจนกระทั่งรู้สึกว่า ภาพวาดของเรามันมีอะไรที่ดึงให้คนอยากดู อยากรู้ ถึงจะจบการทำงาน ซึ่งในส่วนนี้ ต้องใช้เซ้นส์ล้วนๆเลยค่ะ”






ซึ่งในปัจจุบันสื่อที่นวลตองเลือกใช้สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานภาพประกอบแต่ละครั้ง ก็ไม่ใช่แค่การวาดภาพด้วยสีอะคริลิคลงบนผ้าใบเท่านั้น บางโอกาสก็เลือกวาดด้วยสีน้ำ รวมถึงใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์สร้างสรรค์เป็นภาพวาดในแบบดิจิตอล


“นวลจะพิจารณาจากสื่อ ที่จะนำผลงานงานของเราไปใช้หรือตีพิมพ์มากกว่า และตอนนี้นวลเป็นอาจารย์สอนวิชาการทำภาพประกอบอยู่ที่จุฬาฯด้วย มันก็เลยหมือนเราสอนนักเรียนไป เราก็ต้องลงมือทำงานของเราเองเพื่อเป็นการตรวจสอบไปด้วยว่า สื่อที่นำมาทำใช้ได้หรือเปล่า มันเวิร์คไม๊” แต่ผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดนี้ เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิค “ภาพวาดสีอะคริลิคบนผ้ากระสอบอินเดีย”





ครูโต - ม.ล.จิราธร จิรประวัติ



“มันอยู่ที่ความชอบในแต่ละช่วงเวลาของเราด้วย ช่วงนี้นวลเห็นลายสานที่มันปรากฎอยู่บนผ้ากระสอบอินเดีย นวลได้รับแรงบันดาลใจและคิดว่ามันน่าสนุก ถ้าจะลองวาดภาพลงไป นวลก็เลยเลือกใช้สื่อนี้ และอีกอย่างนวลชอบที่ไปเดินซื้อของทำงาน Craft(งานฝีมือ) ที่เจริญรัถ เพราะส่วนตัวนวลชอบทำงานฝีมือ เช่น ทำตุ้มหูเอง หรือถ้าซื้อมาก็นำมาเปลี่ยนแปลง ให้มันเหลือเท่าที่อยากใส่ ชอบทำทุกอย่างเองหมด เหมือนเป็นคนชอบศึกษาด้วยตัวเอง ดังนั้นเวลาที่ไปเจออะไรใหม่ ๆ ก็เลยอยากนำมาทดลองใช้ทดลองทำงาน”





แป้ง - ภัทรีดา ประสานทอง



แต่เธอก็ยอมรับว่าตลอด ๑o ปีที่ผ่านมาของชีวิตการเป็นคนทำงานภาพประกอบของตนเอง ไม่ได้มีแต่ช่วงเวลาแห่งความสนุก และความสุข บางเวลาก็แอบมีความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจโผล่มาในความรู้สึก จนทำให้ต้องหยุดทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเอง


“ช่วงที่นวลดาวน์ ๆ ไม่มั่นใจว่ามาทางนี้ถูกหรือเปล่า พี่แป้งจะเป็นคนที่ให้กำลังใจว่า ฉันเชื่อว่าเธอทำได้ ทำต่อเถอะขณะเดียวกันช่วงที่พี่แป้งเค้าเป็นฝ่ายดาวน์ นวลก็จะเป็นคนคอยบอกว่านวลรู้ว่าพี่แป้งทำได้ มันก็เลยเหมือนมีแรงสองแรงคอยช่วยกัน คอยผลัดกันบอกว่า เฮ้ย...มันไปต่อได้ เชื่อเถอะ ซึ่งมันดีตรงนี้ค่ะ”






ในความเห็นของนวลตอง เธอบอกว่าปัจจุบันยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ฝันอยากจะมีอาชีพเป็นนักทำภาพประกอบ ซึ่งเธอได้แนะว่า สิ่งที่แต่ละคนควรมีคือ เอกลักษณ์ หรือจุดขายที่นำเสนอผ่านงาน รวมถึงการแสวงหาโอกาสเพื่อให้ผลงานถูกเผยแพร่ออกไป


“ทุกคนต้องมีโมเม้นท์ของตนเอง ไม่ใช่แค่ว่าอยากเป็น อยากได้เงิน มันไม่ได้ และการจะได้ทำอะไรบางอย่าง มันอาจเป็นเรื่องของโอกาส หรือจังหวะเวลาด้วย นวลยอมรับว่าที่นวลมีวันนี้ได้ก็เพราะจังหวะ ถ้าเมื่อก่อนมงานภาพประกอบประเภทดิจิตอลบูม งานของนวลซึ่งใช้วิธีการวาดด้วยมือก็อาจไม่ได้รับความสนใจ แต่เผอิญว่าช่วงนั้น ยังไม่ค่อยมีงานประเภทดิจิตอลมากมายอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่วาดด้วยมือมากกว่า”






ก่อนเปลี่ยนอิริยาบถไปทักทายแขกและเพื่อนฝูงที่มาร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง นวลตองบอกสั้นๆ ว่า สิ่งที่เธอปรารถนาจากการแสดงงานครั้งนี้ของตัวเองมากที่สุดคือ อยากให้ผู้ชมงานได้รับความสุข ซึ่งมันจะแปรเปลี่ยนเป็นกำลังใจทำให้เธออยากทำงานต่อไป


“อยากให้ได้ความสุขค่ะ พูดจริงๆว่าเป็นการทำนิทรรศการ ที่เหมือนเป็นการคืนความสุขให้ผู้ชมจริงๆ เพราะมันเหนื่อยมากกับการเนรมิตรทุกอย่างขึ้นมา แต่มันมีความรู้สึกในขณะที่ลงมือทำงานและเตรียมงานตลอดว่า อยากให้คนที่มาดูงานแล้วรู้สึกว่า น่ารักจังเลย ชอบจังเลย อยากดูอีก เนี่ยค่ะ มันชื่นใจอย่างนี้”






ซึ่งเธอน่าจะชื่นใจอยู่ไม่น้อย หากได้ทราบว่า มีครูของเธอคนหนึ่งล่ะ ที่รู้สึกมีความสุขและยินดีกับการแสดงงานครั้งนี้ของเธอมาก ๆ จากจุดเริ่มต้นที่เธอและพี่สาวมาเรียนวาดภาพเพียงเพื่อการผ่อนคลายหรือเป็นงานอดิเรก ทว่าเวลาผ่านไปได้พัฒนาสู่การเป็นมืออาชีพอีกคนหนึ่งทางด้านนี้....ด้านการทำภาพประกอบ






“นวลเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของครูโต จบบัญชี จุฬาฯ มา ไม่เคยเรียนวาดรูป แล้วมาเรียนกับครูทั้งนวลและแป้ง กระทั่งวันนี้ทั้งสองคนกลายมาเป็นนักทำภาพประกอบอาชีพ เหมือนกันกับครู ซึ่งครูดีใจ เพราะก็ไม่ใช่ว่าคนที่เรียนวาดรูปมาจะมาทำหรือเป็นแบบนวลได้ทุกคน รวมถึงการได้มีโอกาสจัดแสดงผลงานเหมือนเช่นครั้งนี้ด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร แต่นวลทำได้และมีโอกาสได้ทำมัน ซึ่งครูยินดีกับนวลด้วยมาก ๆ”


นิทรรศการ A•PART•MENT โดย นวลตอง ประสานทอง จัดแสดงวันที่ ๑๔ สิงหาคม - ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑o.oo - ๒o.oo น. ณ เกษร เอเทรียม แกลลอรี่ (GAYSORN ATRIUM GALLERY) ชั้น L ศูนย์การค้าเกษร (ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม)







ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th














The Blossom of Happiness


Art N# Meal ร่วมกับ The Painter’s Table ขอนำเสนอนิทรรศการศิลปะ “The Blossom of Happiness”/” การผลิบานของความสุข” โดยศิลปิน เอนก จงทวีธรรม อาจารย์พิเศษ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิตที่รังสรรค์ผลงานศิลปะภาพสีน้ำและอะคริลิค โดยศิลปินนำเสนอแนวคิดที่บอกเล่าเรื่องราวความสุขจากภายในที่ค่อย ๆ ผลิบานและเบ่งบานขึ้นอย่างสงบและเรียบง่ายภายใต้จิตใต้สำนึก โดยแนวคิดของเอนกได้ตัดความสับสนวุ่นวายของวิถีชีวิตประจำวันออกจากชิ้นงาน ผลงานของเอนกจึงเป็นลักษณะกึ่งความฝันกึ่งแฟนตาซี ที่ได้เปิดช่องว่างแห่งจินตนาการให้ได้ฝันตามไปหรือมีพื้นที่ให้จินตนาการร่วมกันไปได้ด้วย หากใครที่ห่างไกลและหลงลืมความสุขจากภายในไปเนิ่นนานแล้ว อาจจะได้เริ่มขุดค้นเจอเมล็ดพันธุ์ความสุขของตนเองจากนิทรรศการครั้งนี้


ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะ การผลิบานของความสุข ในวันอังคารที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๙.oo น. ณ ร้าน Art N# Meal และร้าน The Painter’s Table บริเวณชั้น ๒ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)


นิทรรศการ : “การผลิบานของความสุข” (The Blossom of Happiness)
ศิลปิน : เอนก จงทวีธรรม (อาจารย์เซียมซี)
วันที่ : ๑๙ สิงหาคม – ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗
สถานที่ : ร้านArt N# Meal และร้าน The Painter’s Table บริเวณชั้น ๒ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสำนักงานหอศิลปกรุงเทพฯ : o๒-๒๑๔-๖๖๓o































ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














"ทองปาน" พบ "ทองหยอด" อวดผลงาน 2 ศิลปินไทย ผู้เคยไป “ เวนิส เบียนนาเล่”


ใครที่ไม่มีโอกาสไปไปชมผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อครั้งถูกคัดเลือกให้เป็น๒ ศิลปินไทยที่ไปจัดแสดงผลงานใน “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ ๕๕” เมื่อปี ๒๕๕๖ ไม่ต้องเสียใจ เพราะล่าสุด สยามเซ็นเตอร์ ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม นำผลงาน Installation Art ของทั้งคู่ มาจัดแสดงให้ชมใน นิทรรศการ Poperomia / Golden Teardrop





สองศิลปินถ่ายภาพร่วมกับ เขมชาติ เทพไชย
ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประธานเปิดนิทรรศการ
พร้อมด้วย ศิริเพ็ญ อินทุภูติ รองกรรรมการผู้จัดการสายโฆษณา
และประชาสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในวันเปิดนิทรรศการ



Poperomia (พ๊อพเพอร์โรเมีย) โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผลงานงานชิ้นนี้ศิลปินสะท้อนถึงวัฒนธรรมกระแสนิยมที่ส่งผลต่อรากเหง้าของความเป็นสังคมเกษตรกรรมในบริบทดั้งเดิม โดยใช้ผลงานวิดีโอจัดวางและประติมากรรมต่าง ๆ ทำหน้าที่แสดงบทบาทล้อเลียนเชิงสัญลักษณ์ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมงาน พร้อมด้วยการจัดฉาย วิดีโอเรื่อง “ทองปาน” ภาพยนตร์กึ่งสารคดี ที่สร้างในปี ๒๕๑๙ เกี่ยวกับชาวนาอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผามอง เพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง






เจ้าของผลงาน แสดงความเห็นว่า “ความเป็นไทย” อาจมีข้อสรุปหลากหลาย ตนจึงเลือกสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีอยู่จริงมานำเสนอผ่านรูปแบบของภาชนะที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อรับใช้วิถีการดำเนินชีวิตในสังคมเกษตรกรรมเรื่องราวของศาสนา ความเชื่อ และค่านิยม ตนจึงเลือกใช้ดินมาสร้างงาน โดยแฝงนัยยะว่าวัสดุนี้ไม่ได้แค่เกิดจากปัจจัย ทั้ง๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เป็นปัจจัยที่ ๕ ทำให้วัสดุนี้ต่างจากสิ่งอื่น


ดังนั้นในงานจึงเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถมีส่วนร่วมในการพันอิฐด้วยไหมพรม และเลือกไปวางในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ เป็นการจำลองภาพของสังคมหนึ่งที่มีการรวมตัวและทำบางสิ่งให้เกิดขึ้น เหมือนเราคือผู้กำหนดทิศทาง แต่ท้ายสุดเราอาจเป็นเพียงอิฐหนึ่งก้อนที่หลงทางอยู่ในกระดานใหญ่ ไม่ได้ถูกไปรวมกับผู้อื่น






“ทุกวันนี้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม มีการเกิดขึ้นของระบบอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การสับสนกับตัวตน การเห่อตามกระแส แต่ดูถูกหรือมองข้ามสิ่งที่ปัจจุบันมี การส่งเสริมอย่างไร้รากฐาน การมองเห็นแค่ผิวแต่ไม่สนใจแก่น กระแสได้เข้ามาซึมซับในสิ่งที่ตัวเองเป็นซึ่งอาจต้องตั้งคำถามทุกวันว่า ตัวตนของตัวเองคืออะไร ดังนั้นควรหาคำตอบว่าสิ่งที่เป็นฐานของการกำเนิดแต่ละสังคมคืออะไร แล้วเอาความถนัดที่ตนเองมีมาพัฒนาสร้างการเปลี่ยนแปลง และการที่งานศิลปะได้อยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่สถานที่จำเพาะแบบหอศิลป์เท่านั้น ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้สัมผัสและเข้าชมผลงานได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นตัวเชื่อมถึงการรับรู้และทำให้เกิดการอยากเรียนรู้ด้านศิลปะต่อไปในอนาคต” วศินบุรีกล่าว






ด้าน อริญชย์ รุ่งแจ้ง กล่าวถึงผลงานชื่อ Golden Teardrop (โกลเด้น เทียร์ดร็อป) ของเขาว่า เริ่มทำงานชุดนี้ ตอนอยู่ที่นิวยอร์ก โดยมีแนวคิดมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพรมแดนในทางภูมิศาสตร์ ผ่านประวัติศาสตร์การเดินเรือการค้าในแบบ Old Globalization Platform (โอลด์ โกลบอลไลเซชั่น แพลทฟอร์ม) ผสมกับการหาข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์ คือการทำไร่อ้อยน้ำตาลในแถบอเมริกาใต้ และขนมทองหยอดของไทยที่เดินทางมาจากโปรตุเกสเมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา






เมื่อทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เชิญให้เข้าร่วมแสดงงานที่เวนิสภายใต้หัวข้อ “ครัวไทย” จึงนำพื้นฐานความคิดนี้มาต่อยอด เพราะมีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และการตีความเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อริญชย์ กล่าวด้วยว่า งานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอผลงานผ่านประติมากรรมในรูปแชนเดอเลียร์ ประกอบด้วยเม็ดทรงกลมคล้ายทองหยอดทำจากทองเหลืองกว่า ๖,ooo เม็ด






ควบคู่กับการจัดวางวิดีโอ บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวชาวญี่ปุ่นในยุคโบราณ การเดินทางของนักผจญภัยชาวกรีกที่มาตั้งรกรากที่ประเทศสยาม และเบื้องหลังของการทำ “ทองหยอด” หรือที่เรียกว่า “โอโวส โมเลส” (Ovos Moles) ขนมหวานที่คิดค้นโดยแม่ชีชาวโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ. ๑๕oo ผสมผสานประวัติศาสตร์ความเป็นมาของน้ำตาล สินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนโลก เนื่องจากได้มีการยกสถานะของน้ำตาลให้มีความสำคัญเพิ่มขึ้น เกิดการค้าขายน้ำตาลในยุโรปจนกลายเป็นที่รู้จักในเวนิส ส่งผลถึงการย้ายถิ่นฐานของแรงงานอย่างรวดเร็ว รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติจากโลกใหม่ที่ประเคนให้กับวิถีชีวิตหรูหราของคนในโลกยุคเก่า






“ในผลงาน Golden Teardrop คือการนำเสนอภาพของความไม่สมประกอบของประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เป็นความพยายามเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด เหมือนเอาประวัติศาสตร์มากองไว้บนโต๊ะ แล้วขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะเก็บ หรือปะติดปะต่ออะไรก็ตามที่มันอยู่บนโต๊ะ สำหรับผมไม่ใช่เรื่องของการปรุงประวัติศาสตร์ขึ้นมา เช่น การใช้สิ่งที่มีมาก่อนเพื่อที่จะให้มันเป็นทิศทางกำหนดสิ่งที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน แล้วค่อยมาเชื่อมต่อเข้ากับอนาคต ฝ่ายที่เชื่อความจริงคนละชุดก็ตีกัน นั่นคือ ความลักลั่นไม่ลงรอย หากเอาประวัติศาสตร์มาต่อยอดเพื่อให้เห็นอนาคตแล้วมันไม่มีทิศทาง ด้วยความที่ว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มันเคยมีอำนาจมาก ๆ ถูกแทรกแซงเกลื่อนทับด้วยข้อมูลที่มันล้น จึงเกิดความประดักประเดิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ทำให้เราไม่สามารถวาดแผนที่ทางประวัติศาสตร์ได้ ดังนั้นในผลงานจะสะกิดคนดูให้ตระหนักถึงตำแหน่งของความฉงนสนเท่ห์ต่อภาพ สิ่งที่เป็นปริศนา และ ความกระอักกระอ่วนในใจ” อริญชย์กล่าว







ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














เอเชียโทเปีย ทอล์ค ๒๕๕๗


Performance Art หรือ ศิลปะแสดงสด เป็นที่รู้จักและยอมรับว่าเป็นการทำงานสื่อสารการแสดงออกทางศิลปะในช่วงทศวรรษ ๗o ในเวลานั้นศิลปะแนว conceptual art ได้รับการยอมรับว่าเป็นการทำงานศิลปะเชิงความคิดมากกว่าจะทำเพื่อเป็นสินค้า ถือเป็นความรุ่งเรืองและทรงประสิทธิภาพในการทำงานแสดงหรือการปฏิบัติงานของแนวความคิดนี้ ‘ศิลปะแสดงสด’ ในช่วงเวลานั้นกลายเป็นงานที่จับต้องได้มากที่สุด ทั้งได้รับการสนับสนุนให้แสดงในพื้นที่แสดงงานศิลปะหลักอย่างพิพิพธภัณท์ แกลเลอรี่ มีการสนับสนุนให้มีวิชาเรียนและปรากฏอยู่ในบทวิจารณ์ศิลปะ


ในแถบเอเชียศิลปะแสดงสดได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การทำงานของศิลปินศิลปะแสดงสดในเอเชียรุ่นแรก มุ่งเน้นในเชิงการทำงานศิลปะเพื่อการสะท้อนสังคมและตั้งคำถามเชิงรุกอย่างหนักหน่วงกับสิ่งที่เกิดขึ้นของแต่ละสังคมประเทศ


ประเทศไทยเองจุดกำเนิดของศิลปะแสดงสด ก็มาจากศิลปินนักเคลื่อนไหวและกลุ่มศิลปินที่มีความคิดขบถต่อศิลปะในจารีตเป็นหลัก และได้เติบโตต่อเนื่องจนมาเป็น “เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย” ที่ถูกจัดขึ้นมาแล้วหลายครั้งทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และล่าสุดเเพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นมาของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของศิลปะแสดงสดทั้งในไทยและต่างประเทศแก่นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำ “หนังสือศิลปะแสดงสดในไทย และเอเชียตะวันออกเชียงใต้”


ศิลปินผู้ทำงานด้านศิลปะแสดงสด ร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหาคร จัดกิจกรรม “เอเชียโทเปีย ทอล์ค ๒๕๕๗” ซึ่งจะมีขึ้น 4 ครั้งด้วยกัน ระหว่างเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ห้อง Friends of bacc ชั้น ๖ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหาคร


ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.oo - ๑๖.oo น. หัวข้อ “ศิลปะแสดงสดในประเทศไทยศึกษาพัฒนาการและ ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ กับศิลปินในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์” โดยวิทยากร จุมพล อภิสุข และ นพวรรณ สิริเวชกุล


ครั้งที่ ๒ วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.oo - ๑๖.oo น. หัวข้อ “ศิลปะแสดงสดในกระแสสังคมใหม่” โดยวิทยากร แรนดี้ เกรดฮิลล์ ศิลปินชาวแคนาดา และนพวรรณ สิริเวชกุล


ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.oo - ๑๖.oo น. หัวข้อ “การเคลื่อนไหวของศิลปะแสดงสดในทศวรรษ 80” โดยวิทยากร จุมพล อภิสุข และนพวรรณ สิริเวชกุล


ครั้งที่ ๔ วันที่ ๓o ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.oo - ๑๕.oo น. หัวข้อ “ประวัติศิลปะแสดงสดในอิสราเอล, โปแลนด์ศิลปะแสดงสดแบบ contextual art” โดยวิทยากร ทาร์มา ราบานน์ และวาเดอมาร์ ตาต้าซุกส์


ดังนั้นจึงขอเชิญผู้ที่สนใจใน Performance Art หรือ ศิลปะแสดงสด ไปร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในครั้งแรกนี้ เป็นการบรรยายโดย จุมพล อภิสุข ศิลปินชาวไทยผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง “เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย”


จุมพล อภิสุข เริ่มเรียนศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ต่อด้วยมหาวิทยาลัยศิลปากร และ เดอะมิวเซียมสคูลออฟ ไฟด์ อาร์ต เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เขายังได้มีโอกาสเรียนศิลปะกับศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง ในระหว่างปี ๑๙๖๘ - ๑๙๗o


จุมพล เป็นผู้ก่อตั้ง “ศูนย์ศิลปะบ้านตึก” จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ปี ๑๙๙๓ อันถือเป็นชุมชนศิลปะแรกที่เปิดพื้นที่ให้กับ การทำงานศิลปะแสดงสดในไทย


จุมพลจึงนับเป็นศิลปินอาวุโสของวงการศิลปะแสดงสดของไทย ที่บุกเบิกและยังคงทำงานศิลปะแสดงสดมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ณ หอศิลป์พีระศรี เรื่อยมาจนถึงกำเนิด “เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย” อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานการทำงาน ศิลปะแสดงสดในประเทศไทยอีกด้วย


ปัจจุบัน จุมพล อภิสุข เป็นผู้อำนวยการเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติ เอเชียโทเปีย และศิลปินศิลปะแสดงสดที่มีผลงานรับเชิญไปแสดงและเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับศิลปะแสดงสด ในหลายประเทศทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า ๓o ปี



ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th














“บทสนทนาในจิตใจฉัน” (Dialogue in my mind)


นิทรรศการ : “บทสนทนาในจิตใจฉัน” (Dialogue in my mind)
ศิลปิน : สมชาย วัชระสมบัติ (Somchai Wacharasombat)
ลักษณะงาน : จิตรกรรมและวาดเส้น
ระยะเวลาที่จัดแสดง : ๓ – ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๗
พิธีเปิดนิทรรศการ : ๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.oo น.
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๒
ติดต่อศิลปิน : o๘๙-๑๕๕-๓๕๔๕


แนวความคิด

ผมเห็นสัตว์ประหลาดในทุกที่
มองลงไปในแม่น้ำเห็นสัตว์ประหลาดไหลลงมาจากท่อน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำ
มองไปที่ถนนผมเห็นสัตว์ประหลาดวิ่งเต็มไปหมดตามท้องถนน
มองไปบนท้องฟ้าผมเห็นสัตว์ประหลาดอยู่บนยอดตึกใหญ่ๆในเมืองหลวง
มองไปรอบตัวผมเห็นสัตว์ประหลาดในรูปแบบต่าง ๆ มีทั้งแบบมีชุดเครื่องแบบ
ทั้งแบบที่ดูน่ายกย่อง แบบที่ดูน่าสะอิดสะเอียน แบบที่ดูน่ากลัว แบบที่ดูปกติ
สิ่งเหล่านี้เหมือนสัตว์ประหลาดรอบตัวผม หรือบางทีผมต่างหากที่เป็นสัตว์ประหลาด
แต่ผู้คนและสิ่งอื่นรอบตัวผมเป็นปกติ


I see monsters everywhere
Looking into the river, I see the monsters slipping out from a sewer into the river.
Looking on the road,I see the monsters are running around.
Looking up into the sky , I see the monsters at the top of the capital buildings.
Looking around, I see the monsters in various identities, in uniform who worth praising or those with disgusting look, or some are awesome and in normal shapes.
These surroundings look like the monsters for me or maybe, I myself, am the monster, but the others around me are normal.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
chamchuriartgallery.blogspot.com














เคลือบผลึกสูตรบูรณาการ


ศิลปินเซรามิกแต่ละคนล้วนมีสูตรในการทำน้ำเคลือบเป็นของตนเอง ในขณะที่วิศวกรสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมพยายามค้นหาสูตรน้ำเคลือบที่ใช้ต้นทุนต่ำ วัตถุดิบน้อย สำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม


เมื่อศิลปินต้องมาทำงานร่วมกับวิศวกร มุมมองการทำงานที่แตกต่างของแต่ละคนจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ขัดแย้ง หรือ ลงเอยอย่างไร..ไม่ใช่บทเริ่มต้นของซีรีย์เกาหลี หากเป็นผลงานวิจัยที่มีชื่อว่า เซรามิกจากวิศวกรรมวัสดุผสานสุนทรียะ


ผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงที่มาของการจับคู่นักวิจัยต่างคณะที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาทำงานร่วมกัน ตามแนวคิดของการนำเอาศาสตร์และศิลป์มาบูรณาการ เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือ ต้องจับต้องได้ นำไปใช้ได้






เซรามิกจากวิศวกรรมวัสดุผสานสุนทรียะ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จในการนำองค์ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มาผสานกับการทำงานของศิลปินเซรามิกจนก่อให้เกิดผลงานเครื่องเคลือบดินเผาในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น


ผศ.ดร.นิติ ยงวณิชย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานวิจัยที่มุ่งเน้นในเรื่องของการทำเคลือบผลึกเป็นสำคัญ อธิบายว่า การทำเคลือบผลึกเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการทำงานเครื่องเคลือบดินเผา ที่ทำให้ได้ลวดลายที่เกิดจากการตกผลึกของสารที่ใช้ในการเคลือบ


โดยสูตรของสารเคลือบ การออกแบบภาชนะที่นำมาเคลือบ ตลอดจนกระบวนการที่ใช้ในการเผา จะส่งผลต่อการเกิดลวดลายที่เกิดจากผลึกบนชิ้นงานแต่ละชิ้น ทำให้ชิ้นงานที่ออกมานั้นมีลวดลายที่มีเพียงชิ้นเดียวในการทำแต่ละครั้ง


"ลวดลายที่ปรากฏขึ้น ความจริงแล้วเป็นผลึกรูปร่างเป็นแท่งขนาด ๑o ไมครอน ยาวๆเรียงชิดกัน เป็นผลึก ๆ ร้อย ๆ พัน ๆ แท่งที่มาเรียงตัวกัน ก่อให้เกิดมิติ มีความเหลือบ" ดร.นิติ ชี้ให้เห็นถึงลวดลายที่เกิดขึ้นจากเคลือบผลึกในงานวิจัยครั้งนี้






"แรก ๆ ไม่ค่อยได้คิดเรื่องศิลปะเท่าไหร่ จนมีโอกาสไปคุมแลบที่สาขาวิชาการเซรามิก ประกอบกับได้อ่านหนังสือหลายเล่มทำให้สนใจเรื่องเคลือบผลึก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต พอมาเคลือบผลึกในหนังสือเขียนโดย ผศ.ศุภกา ปาลเปรม ภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ ทำให้สนใจมากขึ้น"


ดร.นิติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การทำงานวิจัยร่วมกับ ผศ.ศุภกา ปาลเปรม ในเวลาต่อมา


"ส่วนตัวทำใจไว้ก่อนว่าวิศวกรกับศิลปินคงทำงานร่วมกันไม่ง่าย ต่างคนมีความคิดคนละแบบ ผมโชคดีที่อ.ศุภกาอาวุโสกว่าเยอะ เลยอาศัย






ความความอ่อนน้อมนำทาง ระหว่างการทำงานใช้หลักประนีประนอม เช่น ผมศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ ผมไม่แคร์เลยว่าจะเผานาน ใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ แต่อาจารย์จะขีดจำกัดอยู่ เช่น เนื้อดินที่ใช้ทนอุณหภูมิได้เท่านี้ เวลาเผาไม่ควรนานไป ท้ายสุดการอาจารย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เอื้อต่อเคลือบนี้ เพราะว่าเคลือบนี้เป็นเคลือบที่ลำบาก เผายาก อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีการใช้ในเชิงพาณิชย์มากนัก


สูตรเคลือบที่ใช้ปรับเปลี่ยนมาจากสูตรเคลือบที่อยู่ในหนังสือต่าง ๆ อยู่แล้ว สมัยโบราณสูตรเคลือบเหมือนเป็นสูตรลับของแต่ละโรงงาน ครอบครัว เหตุผลที่เลือกสูตรนี้มาใช้เพราะมีจำนวนของวัตถุดิบที่นำมาใช้น้อยสุด ๕ ชนิด คือ สารประกอบออกไซด์ ๕ ชนิด สูตรอื่นมีเป็น ๑o ครับ เหตุที่เลือกน้อยเพราะว่าเราจะศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ ถ้ามีเยอะตัวแปรจะเยอะมากขึ้น ดังนั้นสูตรนี้น้อยสุด มาศึกษาตัวแปรวัตถุดิบเพื่อดูว่าแต่ละตัวส่งผลอย่างไร"






ในขณะที่ ผศ.ศุภกา บอกว่า "ปกติน้ำเคลือบที่ทำอยู่จะทำเอง แต่จะเป็นคนละลักษณะ เป็นเคลือบทั่วไปที่เราชอบ เคลือบผลึกเป็นอะไรที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เคลือบผลึกที่ใช้ลักษณะที่ออกมาจะไม่เหมือนของอาจารย์นิติ ที่ทำมาให้ เลยคิดว่าอยากลองเหมือนกัน


เคลือบผลึกของอาจารย์นิติต่างจากเคลือบที่เคยเห็น คือ สามารถเกิด ดอก ดวง ดังตัวอย่างที่นำมาให้ชม ถ้าเป็นเคลือบทั่วไปจะไม่มีลักษณะอย่างนี้ ขึ้นอยู่กับสูตรที่ใช้เป็นส่วนผสมว่าจะต้องมีตัวที่ทำให้เกิดดอกเหล่านี้ขึ้น ผลออกมาจะแตกต่างจากเคลือบที่เราใช้ ที่ปล่อยให้เย็นตัวได้เลย แต่เคลือบผลึกเผาถึงอุณหภูมิที่เคลือบสุกตัวแล้ว ปล่อยให้เย็นตัวลงทิ้งไว้นาน ๖ -๘ ช.ม.จะเกิดดอก เป็นอะไรที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่ที่ไม่ทำกันเพราะว่ายุ่งยาก"






ในส่วนนี้ดร.นิติ มองว่าเป็นโจทย์ที่ต้องนำไปแก้จะพัฒนาต่อ "ปัญหาเผาแล้วน้ำเคลือบจะกองลงมาด้านล่าง อาจารย์ศุภการช่วยด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ส่วนนี้ผมจะไปปรับสูตร เช่นเดียวกับเรื่องสีที่มีแค่ ๓ โทน ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้รูปแบบของผลิตภัณฑ์จะมีมากขึ้น ในเชิงพาณิชย์ถ้ามีความหลากหลายน่าจะเป็นผลดีมากขึ้น เพิ่มมูลค่า


หลักปรัชญาในงานวิจัยของผมทุกอย่างเลย คือ ต้นทุนต่ำ กระบวนการง่ายที่สุด จริง ๆ มีการเผาหลายขั้นตอน พยายามจำกัดให้เผาให้ง่าย ในเชิงพาณิชย์เตาที่โรงานใช้ไม่ซับซ้อน สำหรับการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ได้ผลเกินคาดครับ คณะวิศวะฯ เราไม่มีความสามารถพอที่จะทำผลิตภัณฑ์ได้ขนาดนี้ นักศึกษาได้เห็นว่าที่คิดไปมีการใช้ได้จริง ทั้งยังได้พบปัญหาที่เราไม่เห็นขณะที่เราอยู่ที่คณะวิศวะฯ แล้วผลออกมาเกิดมิติใหม่ในการทำวิจัย ถ้าเราทำอยู่ที่คณะอาจอยู่ในแลบ ไม่ได้เห็นเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์จริง"






ผศ.ศุภกา กล่าวถึงทิ้งท้ายว่า "ปกติสอนทำเคลือบอยู่แล้ว ทุกครั้งที่สอนให้นักศึกษาคิดสูตรเองด้วย แต่คงจะไม่ได้เป็นสูตรใหญ่ขนาดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นของแต่ละบุคคล ถามว่าจะได้ดอกที่ใหญ่อย่างนี้มั้ย คงจะไม่ เคลือบผลึกสูตรนี้สามารถทอดลอง ควบคุมขนาดของดอกได้ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่างานศิลปะกับวิทยาศาสตร์ต้องไปด้วยกัน"


ผลงานเซรามิกจากวิศวกรรมวัสดุผสานสุนทรียะ สามารถดำเนินการผลิตเป็นสินค้าโดยผู้ประกอบเครื่องเคลืบดินเผาที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยทางสถาบันวิจัยและพัฒนากำลังดำเนินการประสานงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นสินค้าต่อไป







ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์














From Chaos to Comprehension


นิทรรศการแสดงผลงานเครื่องประดับศิลป์ร่วมสมัยของศิลปิน ๗ คน จากประเทศไทย เดนมาร์ก อังกฤษ และ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จบการศึกษาจาก Birmingham City University ในประเทศอังกฤษ ได้แก่ Panjapol Kulpapangkorn (ปัญจพล กุลปภังกร), Nanna Grønborg, Fliss Quick, Hannah Fewtrell- Bolton, Natalie Smith, Xiao Liu และ Farrah Al-Dujaili โดยมี Nanna Grønborg ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมผลงานของศิลปินแต่ละคนมาจัดแสดงให้ชม


ผลงานที่นำมาแสดงในนิทรรศการนี้เป็นผลลัพท์จากการดิ้นรนต่อสู้ในกระบวนการการสร้างงาน โดยมีจุดเริ่มขึ้นจากความสับสนของ ศิลปินที่ตามมาด้วยกระบวนการทำความเข้าใจ และ การเริ่มต้นตั้งคำถามใหม่ขึ้นอีกครั้ง


ศิลปินทุกคนในนิทรรศการนี้มีความเชื่อ ที่เหมือนกันว่าการเรียนรู้นั้นเป็นส่วนสำคัญ และ เป็นพื้นฐานของการสร้างงานในอนาคต โดยมีอีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยง พวกเขาเหล่าเข้าด้วยกันนั้นคือการต่อสู้ ดิ้นรน และ พยายามที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาที่จะตอบโจทย์ความคิดของแต่ละคน ซึ่งจะมองเห็นได้ว่าผลงาน และ แนวความคิดของศิลปินแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และ แสดงออกถึงความนึกคิด และ มุมมองในเรื่องของเครื่องประดับในบริบทของสังคม และ ประสบการณ์ส่วนตัวที่แตกต่างกันของศิลปินแต่ละคน


นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๑ สิงหาคม - ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ อัตตา แกลเลอรี่ (ATTA Gallery) ถ.เจริญกรุง ๓๖ และจะมีงานเปิดนิทรรศการพร้อมการพบปะศิลปิน ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓o – ๒o.oo น.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุค arteyeview




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 16 สิงหาคม 2557
Last Update : 16 สิงหาคม 2557 21:02:23 น. 0 comments
Counter : 2686 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.