happy memories
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
26 กรกฏาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๒o




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










"คอนเสิร์ต 'สู่จิตเกษม' คีตกรรมบูชา ๑o๑ ปีพระสังฆราช”


แม้จะสิ้นพระชนม์ไปเกือบ ๑ ปี พระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงอยู่ในดวงจิตของคนไทยทุกคน เราอาจจะไม่ได้ใกล้ชิดหรือทราบประวัติของพระองค์อย่างลึกซึ้ง แต่ภาพเหล่านั้นจะชัดเจนขึ้นอีกครั้งในงานอนุสรณียบูชา ๑o๑ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คอนเสิร์ตจีวันแบนด์ "สู่จิตเกษม" จัดโดยกลุ่มศิลปินเปิดจิตจีวันแบนด์ ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี และกัลยาณมิตร จะมีขึ้นในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ โรงละครสนามเสือป่า สำนักพระราชวัง กรุงเทพมหานคร เพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์


โดยถ่ายทอดในรูปแบบคีตกรรม มหรสพทางวิญญาณ ผ่านการแสดงดนตรี กวีศาสตร์ และศิลป์อันงดงาม บอกเล่าและสะท้อนเรื่องราวพระประวัติ พระกรณียกิจ คำสอน วัตรปฏิบัติของพระองค์ท่าน อีกทั้งยังเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญกองทัพศิลปิน นำโดย ภัทราวดี มีชูธน, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, มีสุข แจ้งมีสุข, อัยย์ วีรานุกุล, เพชรี พรหมช่วย, อิสริยา คูประเสริฐ, รัศมี ทองสิริไพรศรี และธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง นอกจากนี้ยังมีการแสดงเขียนทรายพระประวัติ โดยก้องเกียรติ กองจันดี, เพลงพิณแก้ว โดยวีระพงษ์ ทวีศักดิ์, ศิลปะแห่งกายกรรมบนผืนผ้า โดยราชนิกร แก้วดี รวมถึงจีวันจูเนียร์


หากกล่าวถึงวัตรปฏิบัติของพระองค์นั้น ทรงเป็นต้นแบบทั้งด้านความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ชาวไทยควรเรียนรู้และเอาเป็นแบบอย่างในการเป็นมนุษย์ที่ดี มีธรรมในจิตใจ ตลอดจนให้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน


อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เผยถึงประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ใกล้ชิดกับพระสังฆราชว่า เคยพึ่งใบบุญท่านอาศัยอยู่ที่วัดบวรฯ เมื่อสมัยเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เนื่องจากผมเป็นชาวกาญจนบุรี จังหวัดเดียวกับบ้านเกิดของท่าน การอยู่รับใช้ใกล้ชิด ทำให้ได้เห็นการปฏิบัติตนอันดีงาน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อโยมมารดา ท่านเคยเล่าถึงที่มาที่ไปของผ้าอาสนะว่า


"เมื่อสมัยโยมมารดายังมีชีวิตอยู่ ท่านได้เย็บผ้าอาสนะจากเศษผ้าชิ้น­เล็กชิ้นน้อยนำไปถวาย เวลาที่พระสังฆราชคิดถึงโยมมารดาก็จะกราบ­ผ้าอาสนะผืนนี้ สะท้อนเห็นสายใยความ­รักระหว่างแม่กับลูก และความกตัญญูกตเวทีที่พระองค์มีให้โยมมารดา ซึ่งผ้าอาสนะผืนนั้นได้กลายเป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้คิดถึงพระคุณของบิดามารดา” ศิลปินเล่าเรื่องราว ซึ่งต่อมานำไปแต่งเป็นบทกวีชื่อ “กราบอาสนะพระสังฆราช” ที่เป็นการแสดงส่วนหนึ่งในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้


ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) บรรยายธรรม ซึ่งได้กล่าวว่า คอนเสิร์ตและดนตรีอาจถูกจะมองเป็นทางโลกีย์ แต่หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ คำว่าคอนเสิร์ตเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๖๖o หมายความถึงการรวมใจทำให้สิ่งเดียวกัน ทว่าปัจจุบันนำมาใช้ในภาษาทางคีตาดนตรี ดังนั้นการแสดงคอนเสิร์ตที่ถูกต้องคือการแสดงสิ่งสร้างสรรค์ เช่นครั้งนี้ที่ทุกคนจะได้เห็นคำสอนของพระสังฆราชผ่าน บทกวี และเห็นวิถีของพระองค์ผ่านบทเพลง


“การร้อยเรียงคำสอนของท่านออกมาในรูปแบบที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายนั้น เป็นการเพิ่มปัญญาและเตือนสติคน ปัจจุบันคนได้ยินคำว่าวัดหรือธรรมะจะเมินหน้าหนี แต่ธรรมะทำให้เรารู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต บางคนอยากมีเงินทอง อำนาจ มีสิทธิ์ได้เลือกสิ่งต่างๆ แต่นั่นคือความต้องการที่แท้จริงแล้วหรือ พระพุทธเจ้าสอนให้หลุดจากความต้องการและการเลือกที่จะนำมาซึ่งอิสรภาพ”


หลังจากกล่าวให้เห็นถึงหนทางแห่งความสุข ท่านได้ทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าคำสอนของท่านนั้นต่างดังก้องอยู่ภายในใจของทุกคน ท่านได้แสดงออกให้เห็นทั้งด้านกาย วาจา ใจ ความเป็นญาณสังวรคือต้นแบบ คือตัวอย่างของการไปสู่จิตเกษม ความสำเร็จสูงสุดของมนุษย์ นั่นคือการมีความสุข ท่านสอนให้เราเดินทางหาความสุขด้วยความรู้และปัญญาของเรา


เชิญร่วมชมคอนเสิร์ตที่มีคุณค่าและความหมาย เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ทางจิตใจ ผ่านเสียงดนตรีสะท้อนพระธรรมคำสอนขององค์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บัตรราคา ๑,ooo บาท/ ๘oo บาท จองได้ที่ Thaiticketmajor o-๒๒๖๒-๓๕๔๖ หรือ thaiticketmajor.com และติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ o๘-๗๕๙๕-๕๖๑๗, o๘-๖๕๖๓-๓๓๓๕, o๙-๔๙๙๖-๖๒๕๕ รายได้จากการจำหน่ายบัตรหลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้แก่ “กองทุนเจริญธรรม” เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมส่วนพระองค์ในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
เฟซบุควัดป่าโนนกุดหล่ม จังหวัดศรีสะเกษ













สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการ 'ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา'


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ “ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา” เฉลิมพระเกียรติในวาระ ๑๕o ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ โดยมี คณะกรรมการราชินีมูลนิธิ, คณะกรรมการจัดงานฉลองฯ, คณะกรรมการบริหารโรงเรียน, สมาคมนักเรียนเก่าราชินี ในพระบรมราชินูปถัมภ์, สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินี, ชมรมนักเรียนเก่าราชินี และผู้แทนโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เฝ้าฯรับเสด็จ ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗


จากนั้นเสด็จฯไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าฯ ถวายพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งภายในงาน ขวัญแก้ว แช่มโสภา ประธานสภานักเรียน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร พร้อมด้วย ม.ล.ประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ผู้จัดการโรงเรียนราชินี และประธานคณะกรรมการจัดงานฉลองฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ระลึก และ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ รองประธานราชินีมูลนิธิ แทนประธานราชินีมูลนิธิกราบบังคมทูลถวายรายงาน ก่อนจะเสด็จฯ ทรงปลดเข็มขัดเปิดงานนิทรรศการ “ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา” และทอดพระเนตรนิทรรศการเป็นลำดับต่อไป


นิทรรศการ “ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานฉลอง ๑๕o ปี วันพระราชสมภพ และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก พ.ศ. ๒๕๕๖ ในฐานะทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กและสตรี การศึกษา ด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสังคม และมนุษยศาสตร์ โดยในนิทรรศการ แสดงถึงพระราชประวัติและพระอัจฉริยภาพในการที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และนำไปสู่การแบ่งเบาพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อย่างอเนกประการ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com














๙ ปีสู่ 'ปีกสวย พันสี ที่ภูพิงค์'


คนไทยหรือกระทั่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้ว่าพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่แปรพระราชฐานของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีทัศนียภาพงดงาม อุดมไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ แต่จำนวนไม่น้อยที่จะเข้าใจว่า ณ ที่แห่งนี้มีระบบนิเวศสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ของเหล่านกและแมลงหายาก ด้วยเหตุนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงจับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำหนังสือรวบรวมภาพนก ผีเสื้อและแมลงปีกสวยนานาชนิด ที่พบในภูพิงคราชนิเวศน์บันทึกความสมดุลของธรรมชาติและความสวยงาม ที่ชาวไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ ในชื่อ "ปีกสวย พันสี...ที่ภูพิงค์" โดยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน


ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือเปิดเผยถึงที่มาว่า เป็นที่ทราบดีว่าพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงทำเพื่อคนไทย ทรงห่วงใยคนไทย โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคเหนือที่ทรงกังวลว่า คนไทยจะขาดแหล่งน้ำจืด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยประทับทอดพระเนตรเห็นการบุกรุกทำลายป่า จึงทรงสอนชาวบ้านให้เข้าใจระบบนิเวศ ช่วงหนึ่งเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นนกและผีเสื้อ ทรงดีพระทัยอย่างมาก เพราะนั่นสะท้อนว่าระบบนิเวศยังดีอยู่


อำนาจ เดชะ ผู้อำนวยการพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เล่าถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ว่า ใช้เวลา ๙ ปีในการรวบรวมข้อมูลและ ๒ ปีในการดำเนินการจัดทำ เมื่อปี ๒๕๔๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดทอดพระเนตรแปลงกุหลาบที่พระตำหนักภูพิงค์ ขนาดนั้นได้มีฝูงนกพญาไฟมาเกาะต้นกุหลาบจนเต็มไปหมด ปกตินกชนิดนี้จะหากินบนยอดไม้แต่วันนั้นลงมาเต็มไปหมด เหมือนอยากรับเสด็จฯ ทรงรับสั่งว่า "นั่นนกอะไร ไม่คิดว่าภูพิงค์จะมีของดีเยอะ" นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ติดต่อช่างภาพมาช่วยถ่ายภาพใส่อัลบั้มเพื่อถวายทอดพระเนตร ทรงมีความสุขมาก หลังจากนั้นก็มีการถ่ายภาพไว้ทุกปี จนเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติ






ในขณะที่ พิศาล น้ำค้าง ช่างภาพฝีมือดีเล่าถึงการทำงานอันยากลำบากกว่าจะได้ภาพนกและแมลงสวย ๆ ว่า ระหว่างถ่ายภาพนก ผีเสื้อ ระยะเลนส์ต้องสลับไปมา ต้องแบกอุปกรณ์ราว ๑o กิโลเมตรเดินตามนกไปเรื่อย ๆ แล้วพอเจอนกและผีเสื้อก็ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ไม่ว่าพื้นเฉอะแฉะแค่ไหนก็ต้องลงไปนอน เพื่อหามุมที่ดีที่สุด เป็นแบบนี้ตลอด ๙ ปีและใช่ว่าขึ้นไปบนดอยทุกครั้งจะได้ภาพทุกครั้ง


"ใช้วิธีเจออะไรก็ถ่ายเพราะอาจจะไม่เจออีกแล้ว ในบรรดาภาพทั้งหมดมีภาพผีเสื้อจันทรา น่าประทับใจมากที่สุด เพศผู้ที่ว่าหายากแล้ว เพศเมียหายากยิ่งกว่า จึงถือเป็นภาพแรกในประเทศที่ถ่ายได้ เราศึกษาก่อนไปถ่ายทุกครั้ง ๑o กว่าปีมาแล้วที่เพศเมียไม่มีใครเจอ หรืออย่างภาพผีเสื้อ ๓ ตัวกำลังออกจากดักแด้ โอกาสที่จะถ่ายได้ยากมาก พระตำหนักภูพิงค์ถือว่ามีระบบนิเวศที่ดีมาก ทำให้มีนกและแมลงอาศัยอยู่เยอะ ด้วยพระบารมีของในหลวงทำให้ดอยแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ มีแปลงดอกไม้ผุดขึ้นจึงเรียกว่าที่นี้เป็นแหล่งบุฟเฟ่ต์ของเหล่านกและแมลงก็คงไม่ผิดนัก" ช่างภาพมากประสบการณ์กล่าว


ปิดท้ายที่ คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ รับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือเสริมว่า นอกจากทีมงานที่ว่ามาแล้วยังมีในส่วนของนักแปลอย่าง อ.รจนา นาควัชระ และนักแต่งบทกวีประกอบภาพ พล.อ.นพ.วทัญญู เวชานนท์ ส่วนตัวอักษรชื่อหนังสือเป็นลายมือสวย ๆ ของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ในเล่มนี้มีภาพสวย ๆ กว่า ๓oo ภาพไม่เน้นรายละเอียดทางวิชาการ เริ่มต้นด้วยบรรยากาศตอนรุ่งอรุณแล้วจบตอนพระอาทิตย์ตกดิน พระเอกของเรื่องคือนกพญาไฟ ตัวผู้มีสีแดง ตัวเมียมีสีเหลือง ส่วนภาพปกเป็นรูปนกแว่นตาขาว ประกอบกับความสวยงามของพระตำหนักภูพิงค์ เชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนอยากไปเที่ยวชม ทั้งนี้หนังสือมีจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. o-๒๒๑๘-๙๘๙๓-๕



๙ ปีสู่ 'ปีกสวย พันสี ที่ภูพิงค์'





ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














ขอเชิญร่วมงานเปิดนิทรรศการ “โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย”


เนื่องด้วย บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด มีกำหนดจะเปิด นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ชุด “โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย” ขึ้น ในวันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓o น. ณ บริเวณ ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี โดยได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ


ภายในงานจะจัดให้มี การแสดงรำถวายพระพร โดยมี วรนุช ภิรมย์ภักดี ดาราชื่อดังร่วมแสดง รวมถึงการสาธิตและจัดแสดงถนิมพิมพาภรณ์, สาธิตการทำศิราภรณ์และหัวโขน, สาธิตการแต่งหน้าและแต่งกายโขนละครตามแนวพระราชนิยม, การแสดงภาพถ่ายโขนพระราชทานจากช่างภาพมืออาชีพ, การจัดแสดงฉากและอุปกรณ์ประกอบการแสดง เป็นต้น นิทรรศการฯ ครั้งสำคัญนี้ ชาวไทยและต่างชาติจะได้สัมผัสถึงภูมิปัญญาไทย และความงดงามของศาสตร์และศิลป์อันทรงคุณค่าอย่างใกล้ชิด และสมบูรณ์แบบที่สุด ระหว่างวันที่ ๓o ก.ค. ถึง ๑๗ ส.ค.๒๕๕๗ เวลา ๑o.oo-๒๒.oo น. ณ ดิ อีเว้นต์ฮอลล์ ชั้น ๓ ห้างเซ็นทรัลชิดลม และบริเวณ ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เปิดให้ชมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ


กำหนดการพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
ชุด “โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย”
ณ บริเวณชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี
วันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓o น.



๑๘.๓o น. ลงทะเบียนผู้มีเกียรติ/ สื่อมวลชน

๑๙.oo น. คุณศรัยฉัตร กุญชรฯ จีระแพทย์ พิธีกรชื่อดังกล่าวต้อนรับ พร้อมเรียนเชิญ
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ขึ้นกล่าว พร้อมเชิญชมการแสดงเปิดนิทรรศการ

๑๙.๑๕ น การแสดงรำถวายพระพร ปิดท้ายฟิน่าเล่ โดยดาราชื่อดัง นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี

๑๙.๓o น. พิธีกรเรียนเชิญ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, คณยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการอำนวยการ การแสดงโขนพระราชทาน, คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ( มหาชน) และผู้มีเกียรติ ถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน

๑๙.๔๕ น. พิธีกรเรียนเชิญ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ให้เกียรตินำชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ

๑๙.๕o น. พิธีกรเชิญผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน ชมนิทรรศการ ณ บริเวณ ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และดิ อีเว้นต์ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างเซ็นทรัลชิดลม ตามอัธยาศัย



ข้อมูลจาก
นพดล ทองคำ (หน่อง)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
โทร. o๒-๗๙๓-๗๔๑๙
มือถือ o๘o-๕๙๕-๕๔๗๙













นิทรรศการ 'โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย'


เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา เซ็นทรัล และ ธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ชุด “โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย” เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทย โดยได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, ดร.อนุชา ทีรคานนท์ กรรมการอำนวยการ การแสดงโขนพระราชทาน, ยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บุษกร พุทธินันทน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายปฏิบัติการธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), อาจารย์เกิดศิริ นกน้อย และอาจารย์สุรัตน์จงดา คณะกรรมการอำนวยการ การแสดงโขนพระราชทาน ร่วมงานแถลงข่าว ณ บริเวณชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่






ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เผยว่า โขนพระราชทาน หรือโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นโดยพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยให้ดำรงอยู่สืบไป






“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปรารภว่า ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่าง ๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น”






ในนิทรรศการ ทางมูลนิธิได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาด้านเนื้อหา ภาพถ่าย การคัดสรรและสิ่งประกอบสำคัญของการแสดงโขน ไม่ว่าจะเป็น พัสตราภรณ์ หรือ เครื่องแต่งกายโขน ละคร ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ประเภทหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาคู่กับศิลปะการแสดง โดยมีการปักประดับตกแต่งลวดลายด้วยวัสดุมีค่าประกอบดิ้นเงินดิ้นทอง เลื่อมเงิน เลื่อมทอง ไหมสี ไหมทอง ทองแล่ง เงินแล่ง, ถนิมพิมพาภรณ์ หรือเครื่องประดับ เป็นงานประณีตศิลป์เพื่อการสร้างเครื่องประดับตกแต่งการแต่งกายโขน ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือโลหะ งานฝังอัญมณี งานกะไหล่ทอง, ศิราภรณ์หรือเครื่องประดับศีรษะ เป็นงานศิลปะที่รวมงานประติมากรรมและจิตรกรรมเข้าด้วยกัน โดยความงดงามของศิราภรณ์ขึ้นอยู่กับการออกแบบ การปั้นหน้าโขนให้ถูกสัดส่วน การให้สี การเขียนลวดลายที่ถูกต้อง หรือแม้แต่การสร้างฉาก มาจัดแสดงให้คนไทยได้ดู เพื่อให้ได้เห็นฝีมือของช่างไทยที่ไม่ได้ด้อยกว่าใครเลย อีกทั้งยังอยากให้เกิดความหวงแหน และร่วมกันสืบสานศิลปะแขนงนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป






ด้าน ดร.อนุชา ทีรคานนท์ กรรมการอำนวยการ การแสดงโขนพระราชทาน เผยว่า นิทรรศการครั้งนี้เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโขนพระราชทาน โดยนำเสนอเบื้องหลังของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นกำเนิดโขน นาฏกรรมคู่แผ่นดิน สาธิตการปักสดึงกรึงไหมและพัสตราภรณ์ สาธิตและจัดแสดงถนิมพิมพาภรณ์ สาธิตการทำศิราภรณ์และกว่าจะมาเป็น “โขนพระราชทาน” หัวโขน การจำลองสถานที่สร้างงานฉาก สาธิตการแต่งหน้าโขนละครตามแนวพระราชนิยม






นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายโขนพระราชทานตั้งแต่ ชุดพรหมาศ ชุดนางลอย ชุดศึกมัยราพณ์ ชุดจองถนน และชุดโมกขศักดิ์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์และภาพเชิงศิลปะที่สมบูรณ์และหาชมได้ยาก จากช่างภาพมืออาชีพที่ได้ร่วมงานกับเหล่าศิลปินโขนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด อาทิ อมาตย์ นิมิตภาคย์, ณัฐ ประกอบสันติสุข, ศักดิ์ชัย กาย และปีเตอร์ ทรีไซด์ รวมไปถึงการออกแบบฉากสำคัญ เช่น ฉากวิมานพระพรหม ที่สร้างสรรค์โดยการรวบรวมศิลปะทั้งด้าน สถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างวิจิตรอลังการ






สำหรับนิทรรศการ “โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย” จัดให้เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ ๓o กรกฎาคม ถึง วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ บริเวณ ดิ อีเว้นท์ฮอลล์ ชั้น ๓ ห้างเซ็นทรัลชิดลม จะจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของศิลปะการแสดงโขนในประเทศไทย และประวัติของการจัดแสดงโขนพระราชทาน ซึ่งเป็นที่กล่าวขานและชื่นชอบของผู้ชมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการจัดแสดงพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ ศิราภรณ์ตลอดจนนำการจัดแสดงฉาก และอุปกรณ์ประกอบการแสดง มาให้ชมอย่างครบถ้วน






ส่วนบริเวณชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ จะมีการจัดแสดงและสาธิตการทำถนิมพิมพาภรณ์ การแต่งหน้าโขนละครตามแนวพระราชนิยม นิทรรศการภาพถ่ายการแสดงโขนพระราชทาน พร้อมการนำราชรถและการจำลองฉากอันวิจิตรงดงามมาให้ทุกคนได้ชื่นชมกันอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการแสดงรำเบิกโรงชุดต่าง ๆ และการแสดงโขนพระราชทาน อาทิ รำประเลง รำถวายพระพร รำกิ่งไม้เงินทอง การแสดงโขนพระราชทาน ตอนจองถนน ชุดระบำปลา ตอนมัยราพณ์ ชุดหนุมานรบมัจฉานุ ตอนนางลอยชุดขบวนวอสีวิกากาญจน์ ซึ่งจะจัดแสดงทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา ๑๗.oo น. ตลอดช่วงของการจัดนิทรรศการ



ภาพและข้อมูลจาก
บล็อกคุณสายหมอกและก้อนเมฆ
naewna.com




เคยชวนเพื่อนบล็อกไปงานแถลงข่าวนิทรรศการ "โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย"
มีหลายท่านไปร่วมงามแล้วอัพบล็อกไว้ คลิกเข้าไปชมบรรยากาศงานได้ตามลิงค์ข้างล่างเลยค่ะ



คุณสายหมอกและก้อนเมฆอัพบล็อกไว้ ๔ ตอน

งานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการ "โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย" (๑)
งานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการ "โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย" (๒)
งานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการ "โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย" (๓)
งานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการ "โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย" (๔)


บล็อกและกระทู้คุณอุ้มสี

ภาคภูมิใจในความเป็นไทยได้ไปร่วมงานนิทรรศการ โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย
ดีใจมากที่ได้ไปชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ชุด โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย


บล็อกคุณอาคุงกล่อง

โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย


บล็อกคุณดา ดา

ขอเชิญชมอลังการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
"โขนพระราชทาน ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินไทย"















"เฟ้นหาเม็ดงามวงการโขน เด็กรุ่นใหม่...อวดลีลานาฏศิลป์ไทย”


ศิลปะการแสดงโขนนับเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทยที่มีมาแต่โบราณ และถือว่าเป็นแม่บทของนาฏกรรมไทยที่มีระเบียบแบบแผนของการแสดงที่ได้รักษากันไว้สืบมา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี 





คณะกรรมการในการตัดสินร่วมถ่ายภาพกับเยาวชนที่เข้าร่วมการคัดเลือกนักแสดง

   

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่ โดยมีนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยนาฏศิลป์และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่พร้อมใจมาร่วมแสดงโขนครั้งประวัติศาสตร์ ในชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” เพื่อเป็นการให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ เผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงให้คงอยู่ต่อไป





คณะกรรมการในการตัดสินร่วมถ่ายภาพกับเยาวชนที่เข้าร่วมการคัดเลือกนักแสดง


ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขน ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” กล่าวว่า การคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยให้ความสนใจตื่นตัวต่อการแสดงโขนมากขึ้นทุกปี และเนื่องจากเป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมุ่งหวังไว้ว่าต้องการกระตุ้นให้ประชาชนนึกถึงวัฒนธรรมของชาติ และช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมอันสวยงามนี้ต่อไป





คณะกรรมการและผู้ชนะการคัดเลือกทั้ง-๒๕-คน

   

ในปีนี้มีคนสนใจเข้าร่วมสมัครถึงเกือบ ๘oo คน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สมัครในปีก่อน นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดี และการตัดสินของคณะกรรมการในครั้งนี้ก็ถือว่ายากขึ้น เนื่องจากเยาวชนที่มาคัดเลือกมีความสามารถมากขึ้นทุก ๆ ปี แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยการตัดสินที่บริสุทธิ์ยุติธรรม นอกจากนี้การคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ของโขนนั้น แม้ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ยังได้ประโยชน์อย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะว่าคณะกรรมการที่เป็นถึงปรมาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์และโขนจะมีการอธิบายและให้ความรู้แก่ผู้เข้าคัดเลือกถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุงหรือแก้ไข ทำให้ผู้ที่สมัครร่วมคัดเลือกได้นำข้อติชมเหล่านั้นไปแก้ไขและพัฒนาตัวเอง





ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์-ทีขะระ-ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

   

โดยการคัดเลือกนักแสดงโขนหน้าใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับการคัดเลือกศิลปินดารามาประดับวงการบันเทิง ในเรื่องนี้ พิศมัย วิไลศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ และคณะกรรมการคัดเลือกนักแสดงโขน อธิบายว่า สำหรับนาฏศิลป์อย่างโขนนั้น การที่คนจะเข้ามาคัดเลือกนั้นจะต้องมีพื้นฐานความรู้ทางด้านนาฏศิลป์ มีความสามารถในการตีบท มีกระบวนท่าในการร่ายรำที่ถูกต้อง มีความสามารถจากการแสดงที่โดดเด่น สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลานาน เรียนกันมาเป็นปี ๆ ฝึกบ่อย ๆ ใช้ความมานะ อดทน จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งต่างจากการเป็นดารา รึซุป'ตาร์ที่อาศัยเล่นละครเรื่องเดียวแล้วดัง ใช้หน้าตาเป็นด่านแรกในการเลือก ส่วนฝีมือการแสดงค่อยมาพัฒนาตามหลัง และศาสตร์ที่ใช้ในการแสดงก็มีความแตกต่างกัน นักแสดงโขนต้องใช้การร่ายรำ ส่วนนักแสดงหนังละครต้องใช้การแสดงสีหน้าและอารมณ์





ผู้เข้าคัดเลือกกำลังรำในท่าของตัวละครพระโขน

   

"ดีใจที่เด็กสมัยใหม่ เด็กในรุ่นนี้ยังรักศิลปะของชาติไทย อนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไปไหน โดยทุกคนต้องช่วยกันเผยแพร่มรดกอันดีงามของไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่รับเอาวัฒนธรรมจากต่างประเทศมาอย่างเดียว เพราะศิลปะไทย ๆ มีความสวยงามอ่อนช้อยไม่แพ้ใคร" ศิลปินแห่งชาติกล่าว





พิสมัย วิไลศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๓ หนึ่งในคณะกรรมการ

   

สำหรับการคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในครั้งนี้ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกตัวละครทั้ง ๕ ได้แก่ พระ (โขน), พระ (ละคร), นาง, ยักษ์ และลิง โดยแบ่งเป็นตัวละครละ 5 คน ซึ่งหลังจากนี้จะได้ทำการเตรียมตัวและฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมแสดงโขน ในระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน-๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย.  





ผู้ชนะเลิศการคัดเลือกแต่ละตัวละครของโขน


อวดท่วงท่า นาฏศิลป์ไทย

   

อาย-ชัชลัยพร องอาจ นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อายุ ๒๒ ปี ผู้ผ่านการคัดเลือกตัวละครนาง บอกว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเรา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าโขนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีความสวยงาม และก็เป็นวัฒนธรรมไทยที่งดงามมาก ซึ่งจากการคัดเลือกปีนี้ยากมาก เพราะใช้การรำแม่บทสลับคำ จากที่เคยแต่รำแม่บทธรรมดาคือเรียงร้อยไปตามคำของบทกลอน แต่สลับคำนี้หยิบวรรคไหนตอนไหนมาให้รำก็ได้ คือเราต้องมีเทคนิคและไหวพริบในการรำ ต้องจำชื่อของท่าให้ได้ค่ะ





ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี และ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ

   

ออย-เกิดศิริ นาคกร นักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อายุ ๒๑ ปี ผู้ผ่านการคัดเลือกตัวละครนาง บอกว่า เป็นปีแรกที่เข้าร่วมคัดเลือกนักแสดงค่ะ ซึ่งหนูอยากเป็นส่วนหนึ่งของโขนของสมเด็จพระบรมราชินีนาถมานานแล้ว ซึ่งพอลองมาคัดเลือกหนูรู้สึกกดดันตัวเองมากกว่า ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกครั้งนี้ค่ะ สิ่งที่เป็นห่วงในอนาคตก็คือการรับเอาวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาอาจทำให้ศิลปะไทยจางไป แต่หนูสัญญาว่าพวกเราจะเป็นทหารของวัฒนธรรมและจะเป็นผู้ดูแลวัฒนธรรมสวยงามต่อไป





ศิลปินแห่งชาติร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก
อ.ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว-อ.รัจนา พวงประยงค์

   

กุ้ง-ทิพารินทร์ เลิศฤทธิ์วิมาแมน นักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อายุ ๒๓ ปี ผู้ผ่านการคัดเลือกตัวละครพระ บอกว่า การมาเข้าร่วมครั้งนี้ได้ประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ มากมาย และรู้สึกภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดสืบสานทางด้านนาฏศิลป์ผ่านการแสดงโขนให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ชมกัน เพราะคนรุ่นหลังไม่ค่อยสนใจในวัฒนธรรมเท่าที่ควร และตั้งใจว่าเมื่อเราเป็นคุณครูก็จะอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทยให้อยู่คู่กับประเทศไทยให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ





อ.จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติปี ๒๕๕๒ กรรมการตัวละครยักษ์

   

อะเล็กซ์-ปรีชา แก้วสิทธิ์ นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี อายุ ๒๑ ปี ผู้สมัครคัดเลือกตัวละครลิง บอกว่า ใฝ่ฝันว่าอยากจะมีส่วนร่วมในการแสดงโขนครั้งนี้จึงสมัครเข้ามา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ แล้ว โดย ๒ ครั้งแรกได้มีโอกาสร่วมเล่น ซึ่งรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่มาร่วมคัดเลือก และการที่ได้มาทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นการร่วมสืบสาน อนุรักษ์ศิลปะอันดีงามของไทยไว้ให้คงอยู่ต่อไปด้วยครับ





อ.ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๑ กรรมการตัวละครลิง

   

เจ๋ง-ชานนท์ ทัสสะ นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อายุ ๒๕ ปี ผู้สมัครคัดเลือกตัวละครยักษ์ บอกว่า โขนพระราชทานถือเป็นรายการใหญ่ในวงการนาฏศิลป์ที่ทุกคนจะต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อมีโอกาสได้มาแสดงในงานนี้ ถือเป็นงานระดับประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว จึงเป็นความภูมิใจอย่างสูงหากได้เข้าร่วมแสดงครับ ซึ่งครั้งนี้ผมเองก็ใช้เวลาฝึกซ้อมเป็นเดือน และการได้เข้ามาคัดเลือกสิ่งที่ได้ก็คือประสบการณ์ที่มีค่า รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนวิชาจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มากมายที่มาร่วมการออดิชั่น ในอนาคตก็อยากจะใช้วิชาความรู้ที่เราเรียนมาเป็นสิบปี สอนและเผยแพร่แก่เด็กรุ่นใหม่ที่ห่างไกลจากนาฏศิลป์ของไทยครับ.





อ.เรวดี สายาคม-อ.รัจนา พวงประยงค์-อ.กรรณิการ์ วีโรทัย-อ.รัตติยะ วิกสิตพงศ์





นายวงษ์สมัตถ์ เล้าประเสริฐ จากวิทยาลัยนาฏศิลป





นายชาตรี ทองแฉล้ม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์





นางสาวเกิดศิริ นาคกร จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์



ภาพและข้อมูลจากเวบ
prsociety.net
thaipost.net














'ในสวนฝัน' แด่อัคราภิรักษ์ศิลปิน


เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส ได้จัดการแสดงทางวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยศิลปินแห่งชาติ เรื่อง “ในสวนฝัน” ผสานใจภักดิ์ แด่อัคราภิรักษศิลปิน ขึ้น เพื่อให้ศิลปินแห่งชาติทุกสาขาได้ร่วมถ่ายทอดผลงานอันหลอมรวมองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ ทั้งด้านวรรณศิลป์ ด้านทัศนศิลป์ และด้านศิลปะการแสดง เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


ละครเรื่อง “ในสวนฝัน” เป็นละครเวทีที่ร้อยเรียงบทประพันธ์ต่างๆ ของศิลปินแห่งชาติ เชื่อมโยงสอดผสานเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการถ่ายทอดความงดงามจากวรรณกรรมและบทเพลงของศิลปินแห่งชาติ โดยนำเสนอผ่านรูปแบบของการแสดงจากวรรณกรรม จิตรกรรม เพลง ละครเวที ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติ ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย นำแสดงโดยศิลปิน-นักแสดงชื่อดังมากมาย มีกำหนดการแสดง วันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม รอบ ๑๙.oo น. วันอาทิตย์ที่ ๓ สิงหาคม รอบ ๑๔.oo น. และ ๑๙.oo น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา ๒,ooo / ๑,๕ooo / ๑,ooo / ๘oo และ ๕oo บาท จำหน่ายบัตรที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. o-๒๒๖๒-๓๔๕๖























ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th














บ้านคำปุน สืบทอดภูมิปัญญา 'ผ้าทอเมืองอุบลฯ'


ผ้าทอเมืองอุบลราชธานีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ได้แก่ ผ้าเยียรบับลาว ผ้าซิ่นทิวมุก ผ้าซิ่นไหมก่อม ผ้าหัวซิน ตีนซิ่นตีนตวย ผ้ากาบบัว ผ้าซิ่นหมี่ไหม ผ้ามัดหมี่ทอสอดแทรกเส้นเงินทอง กำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญหายครั้งใหญ่จากการขาดช่างทอผ้าที่มีทักษะความสามารถ และกระบวนการในการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจสืบทอดการทอผ้าแบบดั้งเดิม ไม่ต่างจากงานช่างฝีมืออีกหลายประเภทที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน เสี่ยงต่อการสูญหายเช่นเดียวกัน






ปีนี้มีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและเสนอ ผ้าทอเมืองอุบลราชธานี ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยจะต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๒ วาระ ก่อนประกาศความเห็นว่าเหมาะสมต่อการขึ้นทะเบียนหรือไม่ในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ผลการพิจารณาจะยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลุ่มคนที่รักผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ลืมต้นกำเนิด มีการสืบทอดภูมิปัญญาตลอดเวลา






ที่น่าชื่นชม มีชัย แต้สุริยา แห่งบ้านคำปุน จ.อุบลราชธานี ฟื้นฟูผ้าเยียรบับลาวที่เจ้านายเมืองอุบลฯ ผลิตส่งให้ราชสำนักสยาม และลายตีนซิ่นที่นำลายกรวยเชิงมาประยุกต์แบบเมืองอุบลฯ สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะผ้าราชสำนักไทยและศิลปะผ้าทอเมืองอุบลฯ กลับคืนมาอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ คิดค้นผ้ากาบบัว ผ้าเอกลักษณ์ จ.อุบลฯ ซึ่งต่อมานิยมทอกันแพร่หลายในจังหวัดอื่น ๆ จนถึงปัจจุบัน สร้างรายได้ให้ชุมชนที่นำไปประกอบอาชีพ หรือแม้แต่ผ้าที่ใช้ในภาพยนตร์อันยิ่งใหญ่ของไทย อย่างสุริโยทัย และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เป็นฝีมือออกแบบของเขา และให้ช่างทอบ้านคำปุนร่วมถักทอเพื่อนักแสดงชื่อดัง






บ้านคำปุน ตั้งอยู่ ต.ในเมือง อ.วารินชำราบ ถือเป็นแหล่งผลิตงานหัตถศิลป์ผ้าทอมือและแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าทอเมืองอุบลฯ ที่สำคัญ เป็นทั้งบ้านและโรงงานทอผ้า มีเรือนทอ ๔ หลัง ห้องพระของบ้านจะปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงผ้าโบราณ หากมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมทอผ้า โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่นี่เก็บสะสมผ้าทอของบรรพบุรุษ ผ้าเก่าสำหรับฝ่ายชายและฝ่ายหญิงของเมืองอุบลฯ นอกจากนี้ยังมีผ้าสร้างสรรค์ใหม่






จากการลงพื้นที่และสัมผัสการทอผ้าอันประณีตเมืองอุบลฯ ที่บ้านคำปุน มีชัย แต้สุริยา ต้อนรับอย่างดีและให้ข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าทอเมืองอุบลฯ อย่างภาคภูมิใจว่า มรดกที่ได้รับมีผ้าปูมของทวดหนึ่งผืนกับคอนอักที่ยายใช้ทอ งานอนุรักษ์ชิ้นแรกได้สืบทอดผ้าปูม เป็นผ้าทอแบบมัดหมี่สำหรับนุ่งโจงผู้ชาย ออกแบบเอง "มัดหมี่เมื่อท้อง ทอเสร็จเมื่อลูกอยู่ ป.๑" ลองคิดดูผ้าทอมือใช้เวลาเท่าไหร่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัสชมผ้าปูมผืนนี้สร้างความภาคภูมิใจมาก ส่วนผ้าซิ่นทิวมุกในสมัยรัชกาลที่ ๕ สูญหายไป ๑oo กว่าปี ตนก็ฟื้นฟูกลับมา รวมถึงผ้าซิ่นหมี่ข้อ ผ้าซิ่นลายล่อง ผ้าหางกระรอก กระบวนการในการผลิตมีความแตกต่างจากผ้าทอจังหวัดอื่น มีภูมิปัญญาในการเตรียมเส้นใยให้มีคุณภาพดี แต่ละขั้นตอนกำหนดคุณสมบัติสำคัญของผืนผ้าไปตลอดชีวิต หากผ้าทอเมืองอุบลฯ ได้ขึ้นทะเบียนรายการมรดกภูมิปัญญาจะทำให้มีมาตรการคุ้มครองเต็มที่ นี่คือภูมิปัญญาของไทยและของโลก





อัก เป็นเครื่องมือ โบราณสำหรับทอผ้า



ในฐานะที่บ้านคำปุนเป็นที่เดียวในเขตเมืองอุบลฯ ที่ทอผ้า มีชัยกล่าวเป็นหน้าที่ในการฟื้นฟูผ้าของเจ้านายเมืองอุบลฯ คือ ผ้าเยียร บับลาว หรือผ้ายก สมัยก่อนการทอผ้ายกทอในคุ้มเจ้านาย ไม่ได้แบ่งแยกชนชั้น แต่เกิดจากความประณีตและความสามารถทอผ้าชั้นสูงของช่างทอ ผ้าจึงแสดงสถานภาพทางสังคม เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายลดบทบาทลง ที่เคยทอผ้าก็ลดลง ครอบครัวช่างทอผ้าที่ทอให้เจ้านายก็ลดลง นอกจากนี้ยังคิดค้นผ้ากาบบัวนำผ้าตัวอย่างแจกจ่าย






ตามชุมชนที่ทอผ้า พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์จากโรงทอคำปุนสู่โรงทอใน จ.อุบลฯ คนอุบลฯ ที่เคยทิ้งหูก ทิ้งกี่ทอผ้าไปอยู่กับความเจริญตามแบบสังคมเมือง ได้กลับบ้านทอผ้ากาบบัวมีรายได้ หวังว่าต่อไปพวกเขาจะปรับปรุงพัฒนาฝีมือ ทำผ้าขิดและผ้าเยียรบับลาวได้






"เราไม่หวงภูมิปัญญา ยินดีถ่ายทอดองค์ความรู้ ชุมชนที่อื่นอย่างปักธงชัย ขอนแก่น กระทั่งภาคใต้ นำผ้ากาบบัวไปทอ สืบทอดแบบนี้จะอยู่รอด เป็นการเริ่มฝึกช่างทำงานผ้าที่เรียบง่าย แต่งดงาม ต่อไปเติมทักษะฝีมืองานติดบัว จกดาว และพัฒนาถึงงานช่างชั้นสูงผ้าเยียรบับ ได้เผยแพร่ให้สังคมรู้จักและเห็นคุณค่าผ้าทออุบลฯ ส่วนช่างทออุบลฯ มีหน้าที่รักษาความประณีต งดงามไว้" มีชัยกล่าวต้องเร่งสร้างช่างฝีมือ






นอกจากสืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอเมืองอุบลฯ มีชัยได้ศึกษา พัฒนาและต่อยอดผ้าอีสานเกิดนวัตกรรมศิลปะผ้าทอชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุน ได้แก่ หมี่ลายพิเศษ บ้านคำปุนคิดค้นคนแรก และอยู่ในรายการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาปี ๒๕๕๗ ด้วย ถือเป็นผ้าทอเพื่อชีวิต






"บ้านคำปุนดำเนินกิจการผ้ามา ๓o ปีแล้ว มีงานผ้ามัดหมี่ผสมดิ้นเงินดิ้นทอง ผมได้ไปต่างประเทศ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เห็นงานผ้าของขุนนางจีนก็พลุ่งพล่านอยากนำมาสร้างสรรค์ร่วมกับมัดหมี่อีสาน เกิดเป็นผ้ามัดหมี่สอดแทรกเส้นเงินทอง มีแห่งเดียวในโลกที่บ้านคำปุน แล้วยังคิดค้นผ้าซิ่นทิวมุก ผ้าลายล่อง สอดด้วยโลหะทั้งเส้นพุ่งเส้นยืน ผมอยากสร้างสรรค์ หากซ้ำรอยเดิมจะหมดโอกาสการทำงานผ้าใหม่ ๆ ทิ้งไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลัง แต่เรื่องลวดลายก็หนีไม่พ้นลายโบราณ เรียนรู้ไม่มีวันจบ ลายข้อ ลายดอก ลายวง ลายทอคั่น เราทำได้เพียงจัดองค์ประกอบใหม่" มีชัยย้ำภารกิจบ้านคำ ปุนทั้งอนุรักษ์และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ รวมถึงประ กอบกิจการให้โรงงานอยู่รอด โดยมีผ้ากาบบัวเป็นผ้าทอเพื่อเศรษฐกิจ เพราะกำหนดระยะเวลาทอได้ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงโรงงานและช่างทอบ้านคำปุน.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
ryt9.com
เฟซบุค suchainews
บล็อกคุณ sleeping prince




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 26 กรกฎาคม 2557
Last Update : 26 กรกฎาคม 2557 16:32:57 น. 0 comments
Counter : 4340 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.