bloggang.com mainmenu search






ขนมปังของแบรนด์ “คักแฮง” ชิ้นละ 20 บาท


กันตินันท์ และศุภรดา ศรีสุริยประภา


ใส่ไส้มาปริมาณมาก


ขาย 20 บาท ชิ้นใหญ่อัดไส้เต็มๆ








ทำเป็นระบบ "ครัวเปิด"




กล่องสวยงาม ดึงดูดลูกค้า


เปิดสอนสำหรับผู้มาร่วมเป็นแฟรนไชส์


แป้งสด ก่อนนำเข้าเตาอบ


แป้งสด สำหรับส่งให้สาขาแฟรนไชส์




หน้าร้าน “คักแฮง”




"กันตินันท์ และศุภรดา ศรีสุริยประภา" คู่รักอดีตมนุษย์เงินเดือน เลือกเส้นทางใหม่ให้แก่ชีวิต ด้วยการหันมายึดอาชีพทำขนมปังขาย เลือกที่จะสร้างความโดดเด่นให้แก่ขนมปังของตัวเอง ด้วยแป้งสูตรพิเศษเฉพาะตัว เมื่อกัดไปแล้วสัมผัสได้ถึงความนุ่มเนียม และกลิ่นหอมกรุ่น ข้างในอัดไส้เยอะจนแทบทะลัก อบสดใหม่วันต่อวัน ในราคาซื้อง่ายขายคล่องชิ้นละ 20 บาท ในชื่อแบรนด์ว่า “คักแฮง” (Kuck Hang)



ท้าพิสูจน์แป้งนุ่มเนียนหอมละมุน




กันตินันท์ บอกเล่าว่า เหตุที่เลือกจะทำอาชีพขายขนมปังนั้น เพราะภรรยา (ศุภรดา) ชื่นชอบทำเมนูประเภทนี้อยู่แล้ว ประกอบกับมองว่า ตลาดขนมปังเป็นตลาดกว้าง คนจำนวนมากนิยมกินในชีวิตประจำวัน ทั้งเป็นอาหารว่างและอาหารหลัก อย่างไรก็ตาม ในตลาดก็มีผู้ผลิตอยู่หลายรายเช่นกัน ดังนั้น พยายามจะสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมุ่งเน้นมาให้ความสำคัญเรื่อง “แป้ง” ด้วยการหาสูตรเฉพาะตัว หลังลองผิดลองถูกอยู่นาน จนได้แป้งเกรดพรีเมียมที่อบออกมาแล้ว เนื้อจะนุ่มเนียนอย่างยิ่ง และมีกลิ่นหอมในตัวเอง



“สูตรแป้งที่พวกเราคิดขึ้น มาจากการศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมถึง ขอคำแนะนำเรื่องเทคโนโยลีการผลิตจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่วนวัตถุดิบใช้เกรดเอ นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส แล้วนำมาปรับเป็นสูตรของเราเอง จนได้แป้งเกรดพรีเมียม ที่ผมกล้าท้าให้ลองว่า เนื้อแป้งนุ่ม และหอมกว่าขนมปังทั่วไปที่ทุกคนเคยกินมา” กันตินันท์ ระบุ



สำหรับ “ไส้” มีให้เลือกหลากหลายกว่า 30 ชนิด เช่น ฝอยทอง มะพร้าว วุ้นลูกตาล ไส้กรอกชีสแฮม ทูน่าปูอัด วานิลลา สังขยาใบเตย หมูหยองพริกเผา ไก่ผักผงกะหรี่ เป็นต้น อัดใส่มาแบบเต็มๆ จนแทบล้นทะลัก เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าต่อเงินที่จ่ายไป ในราคาชิ้นละ 20 บาท



“ผมวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้กว้างตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทำงาน จนถึงผู้ใหญ่ โดยเฉพาะแม่บ้านที่มักจะซื้อไปฝากให้สมาชิกทุกๆ คนของครอบครัว เราจึงมีไส้ให้เลือกหลากหลาย เหมาะกับความชอบของลูกค้าแต่ละราย โดยใส่ในขนมปังชิ้นใหญ่ ใส่ไส้ปริมาณมาก เพื่อให้ลูกค้าเมื่อซื้อไปกินแล้ว รู้สึกพึงพอใจทั้งเรื่องของรสชาติ และปริมาณที่อิ่มจุใจ” เจ้าของธุรกิจ กล่าวเสริม



นอกจากนั้น ยังเสริมจุดขายจากบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามดูดี มีการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำว่า “คักแฮง” (Kuck Hang) ซึ่งในภาษาอีสานมีความหมายความเป็นเลิศ ขณะเดียวกัน หน้าร้านที่เปิดบริเวณ ถ.อุลีสาน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ตกแต่งอย่างสวยงามโดดเด่น ทำลักษณะเป็น “ครัวเปิด” โชว์การผลิตให้เห็นความสะอาด ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น และสร้างสีสันดึดดูดลูกค้า



กันตินันท์ เผยว่า ใช้เงินลงทุนในธุรกิจนี้กว่า 7 หลัก ตั้งแต่ค่าแต่งร้าน เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบต่างๆ โดยเริ่มเปิดขายตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ร้านตั้งในทำเลย่านตัวเมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งจากรสชาติขนมปังที่อร่อยโดนใจลูกค้า ทำให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นร้านดังประจำท้องถิ่น ขายดีขนาดลูกค้าแน่นร้านแทบตลอดทั้งวัน และทุกวัน



ขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์



หลังจากประสบความสำเร็จในการขายหน้าร้านอย่างสูง แผนต่อยอดธุรกิจ กันตินันท์ บอกได้มุ่งขยายธุรกิจจากขายปลีกหน้าร้าน มาสู่การขายส่งวัตถุดิบ “แป้งสด” โดยอาศัยระบาย “แฟรนไชส์” เป็นเครื่องมือในการกระจายแป้งสด โดยได้ลงทุนอีกนับล้านบาท สร้างโรงงาน และสั่งซื้อเครื่องจักรที่ผลิตแป้งขนมปังได้ในปริมาณมากๆ และได้มาตรฐานถูกต้องสม่ำเสมอ ดำเนินธุรกิจภายใต้ห้างหุ้นส่วนศุภนันท์ ฟู้ดส์



สำหรับระบบแฟรนไชส์ที่วางไว้นั้น เจ้าของธุรกิจ แจกแจงให้ฟังว่า จะให้ระบบมอบสิทธิ์ให้แก่ผู้มาร่วมธุรกิจ เป็น “มาสเตอร์แฟรนไชส์” สามารถเปิดหน้าร้านขายด้วยตัวเอง และหาผู้มาร่วมธุรกิจเป็นเครือข่ายแฟรนไชส์ ลูก โดยเฉลี่ยมาสเตอร์แฟรนไชส์ 1 รายจะดูแลแฟรนไชส์ลูกประมาณ 6 ราย




ทั้งนี้ การหาผู้เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ จะคัดเลือกจากผู้มีความพร้อมจริงๆ ตั้งแต่เรื่องเงินทุน และความพร้อมความตั้งใจในการทำธุรกิจ ทำเลเปิดร้าน ฯลฯ โดยการให้สิทธิ์แบ่งตามความหนาแน่นของลูกค้าในพื้นที่ เฉลี่ย 1 รายต่อ 1 จังหวัดเท่านั้น ยกเว้นจังหวัดใหญ่ๆ อย่างในกรุงเทพฯ จะให้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์แบ่งเป็นโซน



กันตินันท์ เผยต่อว่า มาสเตอร์แฟรนไชส์จะต้องรับซื้อแป้งสดมาจากแฟรนไชส์ซอร์ ซึ่งจะบรรจุเป็นถุงขนาดใหญ่ น้ำหนัก 4 กิโลกรัมต่อถุง จากนั้น นำแป้งสดมาปั้นเป็นก้อนๆ แล้วทำไส้ ตามวัตถุดิบและสูตรของแฟรนไซส์ซอร์ หลังจากนั้น เมื่อทำแป้งสดใส่ไส้เรียบร้อยแล้ว นอกจากจะอบขายหน้าร้านของตัวเอง หากกรณีมีเครือข่ายแฟรนไชส์ลูก ก็มีหน้าที่ส่งแป้งสดบรรจุไส้ไปยังแฟรนไชส์ลูกในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ ส่วนแฟรนไชส์ลูกมีหน้าที่แค่นำแป้งสดที่รับมาไปอบขายปลีกที่หน้าร้าน



ด้านเงินลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์นั้น อยู่ที่ประมาณ 42X,XXX บาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 50,000 บาท ค่าวัตถุดิบ 60,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าตกแต่งร้าน ค่าอุปกรณ์ และเครื่องจักร ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามทำเล และพื้นที่ร้าน ส่วนแฟรนไชส์ลูกนั้น เงินลงทุน ประมาณ 200,000 บาท



กันตินันท์ เผยด้วยว่า สำหรับมาสเตอร์แฟรนไชส์ จะได้ผลกำไร ประมาณ 50% จากยอดขาย (ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่า ค่าพนักงาน เป็นต้น) ส่วนแฟรนไชส์ลูก จะได้ผลกำไร ประมาณ 30-40% จากยอดขาย (ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่า ค่าพนักงาน เป็นต้น) ซึ่งจากอัตราดังกล่าว จะทำให้มีอัตราคืนทุนอยู่ที่ 3-6 เดือน



ในปัจจุบัน มีผู้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์แล้ว 6 รายใน 6 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน ส่วนในกรุงเทพฯ ขณะนี้ได้ผู้ร่วมลงทุนแล้ว เตรียมจะเปิดในย่านถนนรามอินทราเร็วๆ นี้



สำหรับการควบคุมมาตรฐานแฟรนไชส์ให้ขนมปัง “คักแฮง” มีรสชาติและมาตรฐานเดียวกันทุกแห่งนั้น เจ้าของธุรกิจ ระบุว่า หลังจากตัดสินใจจะทำธุรกิจร่วมกันแล้ว ต้องมาเข้ารับการอบรมวิธีทำและวิธีบริหารร้านประมาณ 3-4 วัน รวมถึง กำหนดเงื่อนไขสำคัญต้องรับวัตถุดิบแป้งสดบรรจุถุงสำเร็จรูปจากแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้น ส่วนเรื่องไส้ต่างๆ นั้น กำหนดให้ต้องซื้อจากแหล่งและชนิดที่กำหนดให้เท่านั้น นอกจากนั้น จะต้องร่วมทำสัญญาที่ร่างขึ้นโดยมืออาชีพ มีเกณฑ์ปฏิบัติที่ควบคุมชัดเจน หากไม่ทำตาม จะยกเว้นการทำธุรกิจร่วมกัน และขอยึดธุรกิจคืน



ในตอนท้าย กันตินันท์ เผยว่า เป้าหมายธุรกิจต้องการเป็นผู้ผลิตแป้งสดเพื่อกระจายส่งให้ทั้งแฟรนไชส์ของตัวเอง รวมถึง ร้านเบเกอรี่ทั่วประเทศ โดยจะพัฒนาสูตรแป้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อความหลากหลาย และตอบความต้องการของตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ



สนใจอยากชิมขนมปังแป้งนุ่มไส้เยอะ หรืออยากร่วมธุรกิจแฟรนไชส์ ลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ //www.kuckhang.in.th , //www.facebook.com/KuckHang หรือติดต่อที่ 08-1834-9011




ข้อมูลโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์









Create Date :27 สิงหาคม 2556 Last Update :27 สิงหาคม 2556 14:46:34 น. Counter : 14211 Pageviews. Comments :3