bloggang.com mainmenu search








(บน) ข้าวในปลีกล้วย (ล่าง) เยลลี่ห่อหมก


(ซ้าย) ข้าวตังหมี่ (ขวา) ข้าวบายศรีปากชาม




เมื่อเอ่ยถึง อาหารชาววังŽ เมนูที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุดเมนูหนึ่ง ต้องยกให้ น้ำพริกลงเรือŽ ตำรับอาหารอันลือชื่อ

แต่หากจะกล่าวถึง อาหารชาววังŽ ยังคงมีอีกหลากหลายตำรับนักที่คนไทยยังไม่รู้จักและไม่เคยได้ลิ้มรส


สำนักศิลปะและวัฒนธรรม แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำโดย ผศ.ดร.ศันสนีย์ จะสุวรรณ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม และทีมงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมทีมงานได้ร่วมกันศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูตำรับอาหารชาววังสวนสุนันทาสู่วัฒนธรรมร่วมสมัย ตำรับพระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเป็นผู้ดูแลห้องเครื่องต้นในการปรุงอาหารถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบรมราชสวามี ตราบสิ้นรัชกาล



พระวิมาดาเธอฯ เป็นพระมเหสีที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปรานเสน่หายิ่งนัก อีกทั้งมีพระปรีชาสามารถด้านการปรุงอาหาร จึงทรงได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นเอตทัคคะทางด้านการทำอาหารŽ ผศ.ดร.ศันสนีย์เล่าถึงพระองค์เจ้าของตำรับ


"งานวิจัยดังกล่าวค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ รวมทั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาววัง อาทิ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์, อ.กอบแก้ว นาคพินิจ, ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร โดยตำรับอาหารที่หยิบยกขึ้นมาทำงานวิจัย มีทั้งหมด 6 เมนู ได้แก่ ข้าวตังหมี่ ข้าวบายศรีปากชาม เยลลี่ห่อหมก ข้าวในปลีกล้วย ปลาร้าในกะลา และข้าวงบ ข้าวปิ้งทั้ง 6 ตำรับในประวัติศาสตร์ มีการบันทึกไว้ทั้งสิ้นŽ" ผศ.ดร.ศันสนีย์กล่าว


กระนั้นการวิจัยก็มิใช่ว่าเปิดตำราแล้วทำตามได้เลย เพราะบางเมนูบันทึกไว้เพียงชื่อ บางเมนูบันทึกชื่อและวัตถุดิบต่างๆ แต่ไม่ได้บันทึกปริมาณว่าต้องใช้เท่าไหร่ รวมทั้งอีกหลายเมนูบอกเพียงหน้าตาของอาหารว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรเท่านั้น


การทำงานจึงต้องผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จากทีมงานวิจัย เมื่อสรุปออกมาแล้วว่า อาหารจะออกมารูปแบบใด ใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง คณะผู้วิจัยจึงลงมือประกอบอาหาร แล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญรับประทาน



เราต้องทำอาหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดจะบอกว่า อาหารที่ทำออกมานั้น มีหน้าตาและรสชาติเป็นอาหารชาววังอย่างแท้จริง หรือใกล้เคียงกับอาหารในสมัยนั้นมากที่สุดŽ ผศ.ดร.ศันสนีย์เล่าถึงความยากลำบากในการทำวิจัยเรื่องนี้



สำหรับประวัติของอาหารทั้ง 6 ตำรับ ผศ.ดร.ศันสนีย์อธิบายว่า งานห้องเครื่องต้นนั้นเป็นงานที่หนักสำหรับพระองค์ นอกจากประกอบอาหารถวายพระบรมราชสวามีแล้ว ยังทรงเป็นผู้ปรุงอาหารเลี้ยงองครักษ์เวร มหาดเล็ก กรมวังเวร ทหารรักษาวังเวร และแขกพิเศษ ซึ่งต้องหุงข้าวในปริมาณมาก เมื่อมีข้าวเหลือจากการรับประทานก็โปรดให้นำมาล้างน้ำให้สะอาดและตากให้แห้งเพื่อเก็บไว้ดัดแปลงเป็นอาหารชนิดอื่นๆ ถัดไป จึงเป็นที่มาของ ข้าวตังหมี่

Ž

ข้าวตังหมี่ เป็นข้าวตังปรุงรสที่นำเอาข้าวตากแห้งมาทำให้สุกและผสมกับเครื่องปรุงที่มีอยู่ในครัวที่มีอยู่ในเวลานั้น เช่น กุ้งแห้ง ถั่วลิสง เต้าหู้ ผักชี และอื่นๆ เป็นของทานเล่นของคนสมัยนั้นŽ



อาหารอีกชนิดหนึ่งที่แสดงถึงความมัธยัสถ์ของพระวิมาดาเธอฯ คือ ข้าวบายศรีปากชามŽ เป็นการนำเครื่องปรุงที่มีอยู่ในครัวมาดัดแปลงเป็นอาหารชนิดใหม่



ข้าวบายศรีปากชามก็คือ ข้าวคลุกน้ำพริกมะขามเปียก แต่ทำให้สวยงามขึ้น ประดิดประดอยให้สวยงามŽ


จากแนวคิดนี้เองก็เกิดเป็นข้าวปรุงสำเร็จอีกหลากหลายชนิด เช่น ข้าวในปลีกล้วยŽ ซึ่งเป็นข้าวคลุกน้ำพริกอีกชนิดหนึ่ง



ที่นี่เมนูหลักคือน้ำพริก น้ำพริกจะมีหลากหลายชนิดมาก ประมาณ 40-50 ชนิด เช่น น้ำพริกมะเขือเทศดิบ น้ำพริกเต้าเจี้ยว น้ำพริกลูกหนำเลี้ยบ เมื่อมีน้ำ



พริกสารพัดชนิด ก็ทรงนำมาทำข้าวคลุกน้ำพริก แต่เมื่อทำออกมาหน้าตาก็เหมือนกันทุกวัน จึงทรงสร้างสรรค์อาหารให้ดูน่ารับประทานขึ้น



อย่าง ข้าวในปลีกล้วย ทรงนำข้าวใส่ไปในหัวปลีเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กาบในถึงกาบนอกสุด จากนั้นจึงนำมาห่อให้เป็นหัวปลีเหมือนเดิม แล้วห่อใบตองทับอีกที เพื่อนำไปเผา เผาเสร็จแกะใบตองออก เอากาบแดงๆ ของหัวปลีออก จนเหลือหัวปลีสีขาวที่ทานได้ แล้วก็นำมาหั่นเป็นแว่นๆ มีลักษณะคล้ายกับซูชิŽ



ส่วน เยลลี่ห่อหมกŽ ผศ.ดร.ศันสนีย์เล่าว่า เป็นเมนูอาหารที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 5



เยลลี่ห่อหมก เป็นอาหารไทยในตำรับพระวิมาดาเธอฯ อีกตำรับหนึ่งที่ทรงปรุงขึ้นเพื่อเลี้ยงแขกชาวต่างชาติ โดยทำเป็นห่อหมกปลาใส่พิมพ์ปลาตัวใหญ่ ใช้เยลลี่ราดแล้วแช่เย็น เป็นที่ประทับใจแขกชาวต่างชาติเป็นอย่างมากŽ



สำหรับ ข้าวงบ-ข้าวปิ้งŽ เกิดจากที่รัชกาลที่ 5 โปรดการเสด็จประพาสต้นรวมถึงการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังสถานที่ต่างๆ ในการเสด็จฯแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีอาหารนำไปรับประทานระหว่างทางได้อย่างสะดวกและไม่เสียง่าย



ข้าวปิ้งมีลักษณะคล้ายกับข้าวคลุกน้ำพริกลงเรือ เพียงแต่ใช้ไข่ไก่ดิบผสมลงไปเพื่อให้ข้าวเกาะกันแล้วนำไปปิ้งให้สามารถเก็บไว้ได้นาน



ข้าวงบเป็นลักษณะของการนำข้าวมาปรุงรสแล้วนำมาปิ้งเช่นเดียวกับข้าวปิ้ง โดยเติมเนื้อสัตว์หลากหลายชนิด เช่น กุ้ง ปลา ไก่ เนื้อ เป็ด เช่น ข้าวงบกุ้ง ข้าวงบปลาŽ



ตำรับสุดท้าย ปลาร้าในกะลาŽ ผศ.ดร.ศันสนีย์เล่าว่า ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯยังวังมหาสวัสดิ์ โดยเสด็จฯไปสวนวัดชัยพฤกษ์ ในการนั้นภาชนะทั้งหมดที่ใส่อาหารเพื่อรับรองเสด็จฯทำมาจากมะพร้าว เช่น ใช้ทางมะพร้าวมาสานสำหรับใส่ของแห้ง กับข้าวทั้งหลายใส่อยู่ในลูกมะพร้าว จึงเป็นข้อสันนิษฐานของที่มาของ ปลาร้าในกะลาŽ



ปลาร้าในกะลาเป็นปลาร้าทรงเครื่องที่มีกลิ่นหอมกว่าปกติ เพราะมีเนื้อมะพร้าวที่ติดกะลา เวลานำไปตั้งไฟจะหอมมากขึ้นŽ



ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในตำรับอาหารของพระวิมาดาเธอฯ ยังคงมีอีกหลายตำรับให้สืบค้นต่อ อาทิ ซุปปอดโอโฟ เมนูทรงโปรดในรัชกาลที่ 5 ข้าวในกะหล่ำปลี เป็นต้น



"อาหารชาววัง เป็นอาหารที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารชาวบ้าน แต่วัตถุดิบจะสดใหม่ มีคุณภาพ มีกรรมวิธีในการปรุงที่ประณีต ซับซ้อนมีความวิจิตร มีรสชาตินุ่มนวล กลมกล่อมมีการจัดตกแต่งอย่างสวยงาม จากการศึกษาวิจัย อาหารชาววังมีอะไรที่น่าทึ่งเยอะมาก การศึกษาครั้งนี้เพื่อสืบสานอาหารไทยโบราณ และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับประชาชนทั่วไป ที่อยากได้ตำรับเหล่านี้ไปเป็นเมนูเด่นในการประกอบอาชีพ ทางคณะวิจัยยินดีเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นŽ " ผศ.ดร.ศันสนีย์ทิ้งท้าย



อาหารชาววัง ตำรับพระวิมาดาเธอฯ อีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรรักษาสืบต่อไป




ข้อมูลโดย มติชน











Create Date :19 กรกฎาคม 2556 Last Update :19 กรกฎาคม 2556 19:33:27 น. Counter : 3466 Pageviews. Comments :1