bloggang.com mainmenu search













ถ้าจะเอ่ยถึง อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด หลายคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นจังหวัดท้ายสุดของภาคตะวันออก เป็นพื้นที่สุดชายแดนบูรพา ติดกับประเทศกัมพูชาเพื่อนบ้านของเรา ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่แคบขนานไปกับชายทะเลและประเทศกัมพูชา ในขณะที่พื้นที่ฝั่งหนึ่งติดกับทะเลและอีกฟากฝั่งหนึ่งติดกับเทือกเขาบรรทัด ทำให้มีพื้นที่ราบน้อย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบเนินสูงตามชายเขาลาดลงมา ด้วยเหตุนี้ ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังมีการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม มีการปลูกพืช ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน เป็นต้น


จากความได้เปรียบของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินทรายมากกว่า ทำให้สภาพพื้นที่ของอำเภอคลองใหญ่แห้งเร็วกว่าเขตจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการทำทุเรียนก่อนฤดู ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ คุณสุริยา กล่อมสังข์ เล็งเห็นความได้เปรียบนี้ และหันมามุมานะทำทุเรียนก่อนฤดูจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมาหลายปี


หมอนทอง พืชทองของอนาคตไม้ผลไทย


ทุเรียนหมอนทอง เป็นไม้ผลเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของผลไม้ไทย ภาคตะวันออกเป็นแหล่งที่มีการผลิตทุเรียนหมอนทองที่สำคัญที่สุดของประเทศ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง เกษตรกรมีความขยันใฝ่รู้ และยอมรับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ จัดว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้นำ ผลผลิตทุเรียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำ ราคาจำหน่ายในฤดูเฉลี่ย 20-25 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีความต้องการของตลาดต่างประเทศมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้ผลผลิตที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด


นอกจากนี้ การทำทุเรียนก่อนฤดูที่มีการผลิตกันเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกเกือบทั้งหมด พันธุ์ทุเรียนที่นิยมทำก่อนฤดูกันมากคือ หมอนทอง ซึ่งเป็นทุเรียนที่ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่รู้จักและชื่นชอบ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้ จึงเป็นเหตุเป็นผลให้ทุเรียนหมอนทองเป็นพืชทองของผลไม้ไทยอีกชนิดหนึ่ง


คุณสุริยา กล่อมสังข์ เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวนของจังหวัดตราด ปี 2555 ด้วยความโดดเด่นของการเป็นนักคิด นักจัดการทุเรียนก่อนฤดู และมีความเสียสละ จึงทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างของจังหวัดตราด


ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ที่ 1 ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีการปลูกทุเรียนหมอนทองทั้งสิ้นจำนวน 800 ต้น อายุทุเรียนเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี ให้ผลผลิต 80-90 ตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 115 กิโลกรัม/ต้น ต้นทุนการผลิตประมาณ 1,000,000 บาท/ปี/800 ต้น โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน ประมาณ 6,000,000 บาท จะเห็นได้ว่าเป็นข้อมูลที่น่าลงทุนเป็นอย่างยิ่ง แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์มา ณ ระยะเวลาหนึ่ง มีปริมาณผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ราคาขายโดยเฉลี่ย 55-60 บาท/กิโลกรัม จากการทำทุเรียนก่อนฤดูที่ผ่านมา คุณสุริยา มีหัวใจหลักหรือแนวทางในการทำงาน ใหญ่ๆ ดังนี้


1. รู้และเข้าใจพืช
2. การจัดการพืช
3. การตลาดและการจำหน่าย


“ที่สวนจะทำทุเรียนก่อนฤดูทุกปี ไม่มีว่างเว้น ข้อเสียส่วนใหญ่ของการทำทุเรียนนอกฤดูคือ โรคโคนเน่า (Phytophthora spp.) ซึ่งเป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก หรือแทบไม่คุ้มกับการรักษา ซึ่งที่สวนเจอกับปัญหานี้ประจำ ทุเรียนจะค่อยๆ ทยอยตาย แต่สำหรับผม การทำทุเรียนก่อนฤดูเป็นการทำเพื่อธุรกิจการค้าเป็นหลัก หากมีทุเรียนตายก็ปลูกใหม่ ผมมีการวางแผนการปลูกชดเชยต่อเนื่องตลอด หลังจากปลูกประมาณ 3-4 ปี ก็เริ่มทำสารใหม่ได้อีก นับว่าคุ้มค่ามากกว่า”



ขั้นตอนและวิธีการทำทุเรียนนอกฤดู ตามแบบของคุณสุริยา


กระตุ้นราก หลังเก็บเกี่ยว (ต้นเมษายน) ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน (ประมาณปลายเดือนเมษายน) โดยใช้กรดฮิวมิก + อะมิโนแอซิด อัตรา 100 ซีซี/ต้น ผสมน้ำรดอัตรา 70-100 มิลลิลิตร/ต้น ทิ้งไว้ 1 เดือน ใบอ่อนเริ่มแตก (ชุดที่ 1)

ใบอ่อนเริ่มคลี่ (เดือนพฤษภาคม) บำรุงต้น ใบ และราก ใส่ปุ๋ย 15-15-15 และปุ๋ยมูลค้างคาวสลับกับปุ๋ยกระดูกป่น อัตรา 0.5 : 0.5 กิโลกรัม โรยรอบโคน อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น


ใบอ่อนแตกเต็มที่ หลังจากใส่ปุ๋ย 15 วัน ใช้สาหร่ายไซโตคินิน เพื่อทำลายการพักตัวและกระตุ้นให้แตกใบอ่อนพร้อมกันชุดเดียว (ชุดที่ 2) ร่วมกับปุ๋ยเกล็ดทางด่วน สูตร 13-0-46 หรือ 13-5-30 (โพแทสเซียมไนเตรต) อัตรา 300 กรัม/ต้น เพื่อบำรุงต้นและใบ


ทำสาร หลังจากแตกใบอ่อนชุดที่ 2 และสภาพอากาศแล้ง (ต้องแล้งก่อนทำสาร 1 ชั่วโมง) ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล 15% อัตรา 2 ลิตร/น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นพอเปียก (หลังจากทำสารประมาณ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง ทุเรียนเริ่มออกดอก)


บ่มใบ/เร่งการสะสมอาหารและเร่งให้ใบเขียวเข้มเร็วขึ้น หลังจากทำสาร 7 วัน ใส่ปุ๋ยเกล็ด 6-12-36 อัตรา 300 กรัม ร่วมกับปุ๋ยแมกนีเซียม (เดี่ยวๆ) อัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นในวันที่ฟ้าโปร่งและฝนแล้ง ฉีดพ่นติดต่อกันประมาณ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7-10 วัน (รวมเวลาประมาณ 1 เดือน)

ทุเรียนเริ่มออกดอกให้เห็นระยะไข่ปลา ช่วงนี้เป็นหัวใจสำคัญ ปล่อยให้กระทบแล้งประมาณ 3-4 วัน จนเห็นดอกทุเรียนพ้นจากระยะไข่ปลาเป็นลักษณะแหลมๆ ให้กระตุ้นน้ำหรือขึ้นน้ำ เพื่อกระตุ้นให้การไหลเวียนของจิบเบอเรลลินและออกซิน เพื่อให้มีการออกดอกตามมา โดยให้ที่รากแก้ว จุดที่ให้น้ำห่างโคนต้นทุเรียนประมาณ 50 เซนติเมตร ให้เพียงแค่พออยู่ได้ และต้องไม่มากเกินไป หลังจากขึ้นน้ำทุเรียนจะทยอยออกดอกเป็นระยะไข่ปลามากขึ้น


ใช้โบรอนทำลายการพักตัว โดยใช้โบรอนเดี่ยว (โบรอนโกลด์) 100 ซีซี + อะมิโนแอซิด (อมินอล) 200 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นโดยให้เน้นที่ใต้ท้องกิ่งที่อยู่ในระยะไข่ปลา จำนวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3-5 วัน


ดอกระยะตาปู ใช้จิบเบอเรลลินชนิดเม็ด อัตรา 2 เม็ด/น้ำ 200 ลิตร เพื่อยืดขั้วดอก/ผล ฉีดพ่นที่กลุ่มดอกทุเรียน จำนวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3-5 วัน


ดอกระยะเหยียดตีนหนู ฉีดพ่นด้วยแคลเซียมและโบรอน (แคล 40 + โบรอนเดี่ยว) อัตรา 100 + 100 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร เพื่อให้ดอกสมบูรณ์และยาวขึ้น ฉีดพ่นที่กลุ่มดอก จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5 วัน (จนกระทั่งดอกบาน)
ก่อนดอกบาน ให้แต่งดอกทุเรียน โดยให้เลือกดอกที่เป็นรุ่นเดียว/ต้นไว้

ระยะไข่ปลา-ดอกบาน ใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน (ไข่ปลา-ตาปู 10 วัน, ตาปู-เหยียดตีนหนู 7 วัน, เหยียดตีนหนู-มะเขือพวงเล็ก 15 วัน, มะเขือพวงเล็ก-หัวกำไล 10 วัน,หัวกำไล-ดอกบาน 7-10 วัน)


การช่วยผสมเกสรดอกทุเรียน ใช้แปรงขนกระต่าย ปัดกลับไปกลับมาที่ดอก ระยะดอกบานในช่วงเวลา 19.00-21.00 น. ทำติดต่อกัน 3 คืน

การแต่งผล แต่งผลทุเรียน จำนวน 4 ครั้ง คือ


1. ผลขนาดลูกหมาก (อายุผลหลังดอกบาน 3 สัปดาห์)
2. ผลขนาดผลส้ม (อายุผลหลังดอกบาน 5 สัปดาห์)
3. ผลขนาดกระป๋องนมข้น
4. ผลอายุหลังดอกบาน 2 เดือน (น้ำหนักผลประมาณ 1 กิโลกรัม/ผล) โดยคัดเอาเฉพาะผลรูปทรงสวย และตามปริมาณการติดผลของต้น (ถ้าไว้ผลมาก ทุเรียนจะสลัดผลที่ดีๆ ทิ้ง)


การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวทุเรียนที่ระยะความแก่ 80-90% (ประมาณ 93-95 วัน หลังดอกบาน) เจาะดูเนื้อทุเรียนเหลืองและเรียบเนียน


การตลาดและจำหน่าย ส่งออก 100%


เทคนิคการแก้ปัญหาทุเรียนแตกใบอ่อนระยะติดผล


คุณสุริยา กล่าวว่า หากทุเรียนอยู่ในระยะติดผลแล้วมีการแตกใบอ่อนพร้อมกันทั้งต้น ทำให้มีการแย่งอาหารกันระหว่างใบและผล ซึ่งผลที่ได้รับตามมาคือ ผลทุเรียนจะเสียหายเรื่องคุณภาพและมีการสลัดผลทิ้ง แต่ถ้าหากมีการแตกใบอ่อนแบบทยอยแตก จะส่งผลดีต่อคุณภาพทุเรียน ดังนั้น วิธีการแก้ไขคือ จะทำอย่างไร ให้ทุเรียนค่อยๆ ทยอยแตกใบอ่อน ที่สวนจะใช้เทคนิคโดยการให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-7+2 (เพื่อลดการควบคุมความอวบอ้วนของหนามทุเรียน และถ้าสังเกตเห็นหนามทุเรียนบวมและโตเร็ว ให้เปลี่ยนเป็นสูตร 8-24-24 แทน) และปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 0.5 : 1 กิโลกรัม ใส่หลังดอกบานจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ประมาณ 15-20 วัน/ครั้ง


การจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนเป็นโรคโคนเน่า


คุณสุริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเป็นโรคโคนเน่าของทุเรียน จะเกิดเฉพาะต้น ไม่ได้เกิดกันทั้งแปลง สาเหตุของปัญหาเกิดจากการดูแลไม่ทั่วถึงของเจ้าของสวนเอง เช่น การระบายน้ำไม่ดี มีการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลติดต่อกัน ต้นทุเรียนงามเกินไป เป็นต้น


แนวทางที่สวนปฏิบัติอยู่ คือ


1. ระยะสั้น ถ้าหากมีการเป็นโรคเกิน 50% จะโค่นต้นทิ้ง เพราะไม่คุ้มค่าการรักษา
2. ระยะยาว มีรายงานทางวิชาการระบุว่าต้นตอทุเรียนที่ทนทานต่อโรคโคนเน่ามากที่สุดคือ ทุเรียนนก และพวงมณี รองลงมา ที่สวนคุณสุริยาได้ปลูกทุเรียนเพิ่มเติมใหม่จากแปลงเดิม โดยใช้ต้นตอเป็นพันธุ์ทุเรียนนกทั้งหมด


การขยายผลและการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำทุเรียนก่อนฤดู


คุณพิศิษ กัณฑิโกวิท เกษตรอำเภอคลองใหญ่ ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของอำเภอคลองใหญ่เป็นพื้นที่ที่ได้เปรียบของการทำทุเรียนก่อนฤดู ประกอบกับปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนในอำเภอเริ่มมากขึ้น แนวทางการเตรียมการระยะยาวคือ การสร้างและรวมกันเป็นกลุ่มผลิตทุเรียนก่อนฤดูอำเภอคลองใหญ่ เพื่อช่วยกันตั้งแต่การจัดการผลิต ตลอดจนการบริหารจัดการทางการตลาด เพื่อให้กลุ่มเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองให้มากยิ่งขึ้น โดยให้คุณสุริยา ที่เต็มใจและพร้อมที่จะเป็นแกนหลักการวางแผนการผลิตทุเรียนก่อนฤดู โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอคลองใหญ่และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด เป็นพี่เลี้ยงเพื่อขับเคลื่อนในการดำเนินการดังกล่าว



บทสรุป


คุณวิชิตร ช่วยพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวถึงการผลิตและการตลาดทุเรียนของภาคตะวันออกว่า ไม่มีปัญหารุนแรงมาหลายปีแล้ว เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีและการขนส่งมีบทบาทช่วยให้เรามีการส่งออกทุเรียนได้มากขึ้น ภาคตะวันออกแต่ละปีมีผลผลิตทุเรียนออกมามากกว่า 300,000 ตัน แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผมได้เข้ามาดูแล ปัญหาที่เราพบจากทุเรียนมีเพียงอย่างเดียวก็คือ ทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับอนาคตและทิศทางการตลาดของทุเรียนบ้านเรา การตัดทุเรียนอ่อนเกิดจากการที่ทั้งเกษตรกรและพ่อค้า ไม่มีจิตสำนึก


ตระหนักถึงผลเสียหายในระยะยาว เป็นการทำลายตลาดและราคาทุเรียน ดังนั้น สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ ทุเรียนอ่อนแม้ว่าจะขายได้ราคา แต่ในวันข้างหน้า เราเจอตลาดคู่แข่งทางการค้า ปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำจะกลับมาเหมือนผลไม้หรือสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่เราเห็นเป็นประจำทุกๆ ปี
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จังหวัดระยอง โทร. (038) 611-578 สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด (039) 511-008 สำนักงานเกษตรอำเภอคลองใหญ่ (039) 581-355 หรือ (081) 762-7687 คุณสุริยา กล่อมสังข์ (081) 865-5924



ข้อมูลโดย มติชน









Create Date :09 มิถุนายน 2556 Last Update :9 มิถุนายน 2556 12:36:25 น. Counter : 3764 Pageviews. Comments :3