สิงหาคม 2552

 
 
 
 
 
 
 
 
All Blog
เบาหวาน น้ำตาลเป็นพิษ (2)



แม้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ และคณะเจ้าหน้าที่คลินิกเบาหวาน ได้จัดบริการโดยเฉพาะ และให้คำแนะนำแก่คนไข้และญาติในการดูแลตนเอง คนไข้บางรายยังสับสนในการปฏิบัติ ทำให้เกิดปัญหาที่ไม่ได้คาดคิด
ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำสำหรับคนไข้และญาติในการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

การฉีดยาและกินยาเบาหวาน
โรคเบาหวานแบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ คนไข้ต้องได้รับยาฉีดอินซูลิน ส่วนชนิดที่ 2 เกิดจากเนื้อเยื่อของร่างกายดื้อต่อการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลิน สามารถให้ยาลดน้ำตาลชนิดกิน แต่เมื่อเป็นเบาหวานเป็นเวลานานหลายๆ ปี ตับอ่อนจะสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง บางคนเมื่ออายุมากขึ้น จึงต้องได้รับยาฉีดอินซูลินเช่นเดียวกับเบาหวานชนิดที่ 1

คนไข้ควรฉีดยาอินซูลินก่อนกินอาหาร 30-50 นาที เพื่อให้การออกฤทธิ์ของยาได้ระดับพอดีกับระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นจากอาหาร คนไข้ควรฉีดยาและกินอาหารตรงเวลาทุกวัน ไม่ควรฉีดยาแล้วเดินทาง บางรายฉีดยาแล้วขับรถไปทำงาน เกิดรถติด ไม่ได้กินอาหาร ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ คนไข้ที่ต้องฉีดยาวันละมากกว่า 2 ครั้ง ควรเตรียมอาหารเสริมระหว่างมื้อและก่อนนอนด้วย โดยแบ่งปริมาณอาหารจากมื้อหลัก 3 มื้อ เพราะมิฉะนั้นอาจได้รับอาหารในแต่ละวันมากเกินไป

ยากินสำหรับเบาหวานมีหลายประเภท กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน แพทย์จะสั่งยาให้ตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน บางคนอาจได้ยาชนิดเดียว บางคนอาจต้องได้ยาหลายชนิด

กรณีลืมกินยาและการปรับขนาดยา

ยาเบาหวานเป็นยาที่คนไข้ต้องกินอย่างต่อเนื่องทุกวัน บางครั้งลืมกินยา ลืมพกยาติดตัวเมื่อเดินทาง
หลักปฏิบัติที่ถูกต้องคือ ถ้าลืมกินยาก่อนอาหารเช้า ให้กินยาทันทีที่นึกได้ในตอนเช้านั้น

ถ้าใช้ยาวันละครั้งและลืมกินยา 1 วัน ห้ามกินยาเพิ่มเป็น 2 เท่าในวันถัดไป
ถ้าใช้ยาวันละ 2 ครั้งและลืมกินยาตอนเช้า ห้ามเพิ่มยามื้อเช้ามารวมกับยาในมื้อเย็น

กรณีที่กินอาหารมากกว่าปกติ เช่น ไปงานเลี้ยง หรือกินอาหารน้อยกว่าปกติ เช่น ถือศีล เจ็บป่วยกินอาหารไม่ได้ ถ้าสามารถเจาะเลือดตรวจน้ำตาลด้วยตนเองได้ จะช่วยเป็นแนวทางในการลดหรือเพิ่มยาได้ ซึ่งคนไข้ควรปรึกษาคุณหมอหรือเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้ป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

คนไข้หลายคนชอบปรับขนาดยาเอง ซึ่งบางครั้งทำไม่ถูกต้อง โดยไม่ปรึกษาคุณหมอ หรือไม่ได้เล่าให้คุณหมอฟัง

บางครั้งก็เกิดปัญหาที่คุณหมอนึกไม่ถึง คนไข้คนหนึ่งคุณหมอให้ยากินวันละครึ่งเม็ด คนไข้รู้สึกว่าแบ่ง ยาครึ่งเม็ดลำบาก เลยกินหมดทั้งเม็ด แต่กินวันเว้นวัน

คนไข้บางคนวันไหนดื่มสุรา ก็จะงดกินยาเพราะเชื่อว่ายากับสุราจะทำปฏิกิริยาต่อกัน แต่บางคนไม่เจตนางดยา แต่ไม่ได้กินยาเพราะเมาหลับไม่ได้สติ

ถ้าจะให้ดีคนไข้เบาหวานไม่ควรดื่มสุราปริมาณมาก ไม่ควรดื่มเมื่อท้องว่าง เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจต่ำนานถึง 8-12 ชั่วโมง คนไข้ที่ต้องฉีดยาอินซูลินหรือกินยาเบาหวานบางชนิด เช่น ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) จึงอาจเกิดอันตรายจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปเมื่อดื่มสุรา

คนไข้บางคนเรียนรู้ว่าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาลและผลเลือดไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจถูกคุณหมอและเจ้าหน้าที่ตำหนิและต้องเข้ารับการอบรมแนะนำ คนไข้เหล่านี้จึงรู้วิธีเพิ่มยาหรือลดอาหารในวันก่อนที่จะมาพบแพทย์ ซึ่งในวันอื่นๆ ไม่ได้ควบคุมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แพทย์สามารถตรวจเลือดและทราบได้ว่าคนไข้ควบคุมอาหารอย่างต่อเนื่อง หรือลดอาหารเป็นครั้งคราวเท่านั้น

ยาสมุนไพร
คนไข้เบาหวานเมื่อได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ชิด หรือพ่อค้าขายตรงอธิบายถึงสมุนไพร ยาจีน อาหารเสริม หลายคนอดไม่ได้ที่จะทดลองใช้ บางคนใช้ประจำ เพราะเชื่อว่าดี ซึ่งบางครั้งไม่สามารถยืนยันได้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

อย่างไรก็ดี หากมีการวิจัยอย่างเป็นระบบ เชื่อว่าสมุนไพรไทยบางตัวน่าจะใช้ในการรักษาเบาหวานได้ การผสมผสานองค์ความรู้ระหว่างสมุนไพรกับการแพทย์สมัยใหม่ น่าจะสร้างประโยชน์ในการดูแลรักษาคนไข้เบาหวานได้

อาหารเบาหวาน
เรื่องอาหารที่แนะนำให้คนไข้เบาหวานสามารถนำไปปฏิบัติได้ แบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่
1. หมวดแป้ง (ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง อาหารพวกแป้ง ถั่วเมล็ดแห้ง)
2. หมวดเนื้อสัตว์
3. หมวดไขมัน ซึ่งแบ่งเป็นไขมันอิ่มตัว (ไขมันสัตว์ เนย กะทิ ครีม) ไขมันไม่อิ่มตัว (น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด)
4. หมวดน้ำนม
5. หมวดผัก
6. หมวดผลไม้

หลักในการจัดสัดส่วนอาหารในแต่ละวัน ได้แก่ แป้ง 6-11 ส่วนต่อวัน (ปริมาณ 1 ส่วน เท่ากับข้าว 1 ทัพพี หรือขนมปัง 1 แผ่น หรือข้าวโพด 1 ฝัก) เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน มื้อละ 4-5 ช้อน พยายามหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว เลือกกินไขมันไม่อิ่มตัวปริมาณพอประมาณ น้ำนม หรือโยเกิร์ต วันละ 1-2 ถ้วยตวง ผัก 3-5 ส่วนต่อวัน (ผักดิบ 1 ส่วน ประมาณ 1 ถ้วยตวง ผักสุก 1 ส่วน ประมาณ 1/2 ถ้วยตวง) และผลไม้ มื้อละ 2-3 ส่วน ควรเลือกผลไม้ที่รสไม่หวานและมีใยอาหารมาก เช่น ชมพู่ ฝรั่ง ส้ม มะละกอสุก

สำหรับคนไข้เบาหวานที่อ้วนมาก ควรลดน้ำหนักตัวลง เพราะความอ้วนมีผลให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง และยังมีผลทำให้ความดันเลือดสูงด้วย จะต้องลดความอ้วนด้วยการลดปริมาณอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัว ร่วมกับการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น

แม้การควบคุมอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่บางครั้งก็ยากในการปฏิบัติ เพราะคนไข้ที่กินอาหารร่วมกับครอบครัว บางครั้งก็ยากต่อการจัดสัดส่วนอาหารที่เหมาะสม คนไข้ที่ทำงานและกินอาหารนอกบ้าน คนไข้ที่เข้าสังคมบ่อยๆ ที่สำคัญคือการควบคุมตนเองในการเลือกกินอาหารที่ไม่ตามใจปากมากเกินไป

แม้จะเป็นโรคเรื้อรังที่เหมือนจะรักษาไม่หายขาด แต่จากพัฒนาการด้านบริการของคุณหมอ และคณะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่บริการอย่างเป็นเครือข่ายครบวงจร ความเข้าใจที่ถูกต้องของคนไข้ในเรื่องการใช้ยา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย มีผลให้คนไข้เบาหวานไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ติดตามมาเป็นลูกโซ่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติได้

ผู้เขียน: นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์


ขอบคุณ หมอชาวบ้าน




Create Date : 26 สิงหาคม 2552
Last Update : 26 สิงหาคม 2552 5:14:41 น.
Counter : 1363 Pageviews.

1 comments
  
ขอบคุณข้อมูลดีๆ
โดย: somphoenix วันที่: 26 สิงหาคม 2552 เวลา:6:22:50 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pimpagee
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



Smile...Small...Smooth...Smart...

counter
สร้าง Playlist ของคุณได้ที่นี่
New Comments