กันยายน 2552

 
 
17
26
 
 
29 กันยายน 2552
All Blog
มหันตภัยเงียบ



มาลาเรียและวัณโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปหนึ่งล้านและสองล้านคนต่อปี มาเจอ Nicotiana tabacum แล้วต้องหลบไปเลย เพราะ ค.ศ. 2003 มีคนที่เสียชีวิตจากสิ่งนี้ถึง 4.9 ล้านคน อยากรู้ไหมครับว่ามันคืออะไร ผมจะเล่าให้ฟัง.
ค.ศ. 1492 Christopher Columbus (1451-1506) นักสำรวจชาวอิตาลีเดินเรือจากสเปนเพื่อไปทวีปเอเชีย ระหว่างทางเขาค้นพบแผ่นดินใหม่ (ปัจจุบันคืออเมริกา) เขาบันทึกว่าเห็นชาวพื้นเมืองที่นั่นนิยมนำใบต้นยาสูบตากแห้งมาเผาและสูดควันเพื่อผ่อนคลายอารมณ์. ต่อมาค.ศ. 1535 ชากส์ การ์ติเยร์ล่องเรือมาสำรวจอเมริกา เขาทดลองสูดควันดูบ้างพบว่ารู้สึกปลอดโปร่งดี จึงนำกลับไปเผยแพร่ที่ยุโรป.

Jean Nicot de Villemain (1530-1600) เอกอัคราชทูตชาวฝรั่งเศสประจำตุรกี เย็นวันหนึ่งเขาไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านเพื่อนซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์จึงได้รู้จักต้นยาสูบ เขานำมันกลับไปทดลองพบว่าใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้. ค.ศ. 1560 เขาทราบว่า Catherine de Medici (1519-1589) พระราชีนีแห่งฝรั่งเศสมีอาการปวดศีรษะจากไมเกรน เขาจึงนำใบยาสูบไปถวายการรักษาปรากฏว่าได้ผลดี คนจึงเชื่อกันว่ามันเป็นสมุนไพรและตั้งชื่อสกุลของพืชนี้ว่า Nicotiana ตามชื่อของ Nicot.

เกือบ 300 ร้อยปีต่อมา ค.ศ. 1859 M. Bouisson แพทย์ชาวฝรั่งเศสก็สังเกตว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในช่องปากล้วนแต่สูบบุหรี่จัด. ต่อมาค.ศ. 1936 Alton Ochsner แพทย์ชาวอเมริกันก็สังเกตว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีประวัติสูบบุหรี่ทั้งสิ้น ผู้คนจึงเริ่มสงสัยในประโยชน์ของบุหรี่.

จน ค.ศ. 1950 William Richard Shaboe Doll (1912-) แพทย์ชาวอังกฤษและ Austin Bradford Hill นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษก็ทำการศึกษาและได้ข้อสรุปทางสถิติว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดจริงๆ. Hill ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินในปีค.ศ.1961 ส่วน Doll ได้รับการแต่งตั้งในปีค.ศ. 1969 นอกจาก นี้ Doll ยังได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ในปีค.ศ. 1992 อีกด้วย.

จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีผู้สูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก (ประมาณ 300 ล้านคน) นายแพทย์ Chen Minzhang รัฐมนตรีสาธารณสุขของจีนจึงรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในทุกรูปแบบอย่างจริงจังจนลดจำนวน ผู้สูบลงได้ ทำให้เขาได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาสาธารณสุขในปีค.ศ. 1992.
ปัจจุบันทราบแล้วว่าควันบุหรี่มีสารพิษและสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิดและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคที่คุกคามชีวิตประชากรโลกอย่างน้อย 25 โรค โดยสารพิษที่สำคัญคือนิโคติน (nicotine) นักวิทยาศาสตร์จึงสนใจว่ามันทำให้มนุษย์ติดได้อย่าง ไร. จากการศึกษาพบว่านิโคตินจะเข้าสู่กระแสเลือดและไปยังสมองเร็วมากใช้เวลาแค่ 6 วินาทีเท่านั้นเอง (เร็วกว่าการฉีดเฮโรอีนเข้าหลอดเลือดเสียอีก) จากนั้นมันจะไปจับกับตัวรับนิโคตินทำให้เกิดการหลั่งสารโดปามีน (dopamine) เป็นผลให้ผู้สูบมีอารมณ์เป็น สุขซึ่งเป็นกลไกเดียวกับเฮโรอีน, โคเคนและยาบ้า เมื่อเลิกสูบบุหรี่อย่างเฉียบพลันจะทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดเรียกว่าอาการถอนนิโคติน หากทนไม่ได้ก็จะกลับไปสูบบุหรี่อีก นอกจากนี้ยังทราบอีกว่าคนเรากำจัดนิโคตินโดยใช้เอนไซม์ CYP2A6.

การรักษาผู้ที่ติดบุหรี่อย่างแรกที่ออกมาคือ การให้นิโคตินทดแทนในขนาดต่ำแค่พอลดอาการถอนนิโคติน เมื่อผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้แล้วก็ให้หยุดยา. ต่อมาค.ศ. 1997 ก็ค้นพบว่า buproprion มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้โดปามีนกลับเข้าสู่ปลายประสาท ทำให้ลดอาการถอนนิโคตินได้เช่นกัน.

ค.ศ. 1998 Edward Seller และ Rachel Tyndale สองนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันพบว่า ยีนส์ที่สร้างเอนไซม์ CYP2A6 มีอยู่ 2 แบบคือแบบที่สร้างเอนไซม์ได้ปกติ (N) กับแบบที่สร้างเอนไซม์ไม่ได้ (n) จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของเมนเดล คนเราจึงมีได้ทั้ง NN ซึ่งสร้างเอนไซม์ได้ปกติกับ Nn และ nn ซึ่งสร้างเอนไซม์ได้น้อยลง จากการศึกษาพบว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่ไม่ติดเป็นกลุ่มที่มียีนส์ Nn และ nn ส่วนผู้ที่ติดบุหรี่เป็นกลุ่มที่มียีนส์ NN พวกเขาอธิบายว่าผู้ที่มียีนส์ NN ซึ่งสร้างเอนไซม์ได้ปกติจะกำจัดนิโคตินได้เร็วจึงทำให้มีโอกาสติด เมื่อทดลองให้ยา methoxsalen ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้ง CYP2A6 ก็พบว่าลดจำนวนการสูบบุหรี่ได้จริงๆ.

ต่อมาทราบเพิ่มเติมว่านิโคตินผ่านเข้าสู่สมองได้ง่ายเพราะขนาดเล็ก แต่ถ้ามันจับกับสารภูมิคุ้มกัน IgG ที่จำเพาะจะทำให้ขนาดใหญ่ขึ้นและผ่านเข้าสู่สมองได้ยาก. ค.ศ. 2000 Paul R. Pentel และคณะก็ทดลองฉีด IgG ในหนูทดลองพบว่าลดนิโคตินที่เข้าสู่สมองได้จริง เขาเรียกมันว่าวัคซีนนิโคตินซึ่งปัจจุบันทดลองผ่าน phase I ไปเรียบร้อยแล้ว.

จากการเติบโตของอุตสาหกรรมบุหรี่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกทั้งหมด 192 ประเทศจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับอนุสัญญาว่า ด้วยการควบคุมยาสูบ หลายคนถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์เพราะมันเป็นกฎหมายเพื่อสุขภาพระดับโลกฉบับแรก แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะแทนที่จะออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายแต่กลับทำได้แค่ควบคุมเท่านั้น.
มาดูประเทศไทยกันบ้าง รัฐบาลมีนโยบายต่างๆ กระตุ้นให้ประชาชนหันมาสร้างสุขภาพ แต่เห็นแล้วว่า ไม่ได้ผล (งบประมาณโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงขึ้นทุกปี) หากท่านทุ่มเทกับเรื่องนี้จริงๆ ผมขอบังอาจเสนอให้ออกกฎหมายห้ามผลิต/จำหน่ายบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในราชอาณาจักรไทย เชื่อว่าภายใน 4 ปีคนไทยจะมีสุขภาพดีขึ้นแน่นอนและท่านจะเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขคนแรกของไทยที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล.

"ถ้าคุณอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวันนี้ คุณต้องค้นหาอดีตของมัน"

Pearl Buck กล่าวไว้ว่า "ถ้าคุณอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวันนี้ คุณต้องค้นหาอดีตของมัน" ประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น มีเยอะ บางอย่างก็ไม่ตรงกัน ความพยายามรวบรวมจากหลายแหล่ง เพื่อหาข้อสรุปช่วยให้เราเข้าใกล้ "หนึ่งเดียว" นั้นมากขึ้น

ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : burawat@gmail.com

ขอบคุณ หมอชาวบ้าน



Create Date : 29 กันยายน 2552
Last Update : 29 กันยายน 2552 5:54:04 น.
Counter : 1412 Pageviews.

3 comments
  
ไม่อยากตายด้วยโรค ทรมานไป
ไหลตายดีกว่า
โดย: p_tham วันที่: 29 กันยายน 2552 เวลา:6:31:06 น.
  
เป็นบทความที่ดีมากครับ
โดย: wildbirds วันที่: 29 กันยายน 2552 เวลา:10:36:27 น.
  
ขอบคุงมั่ก ๆ เลยคร่า
โดย: peeshin วันที่: 29 กันยายน 2552 เวลา:14:58:10 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pimpagee
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



Smile...Small...Smooth...Smart...

counter
สร้าง Playlist ของคุณได้ที่นี่
New Comments