พฤศจิกายน 2551

 
 
 
 
 
 
1
9
 
 
All Blog
ระยะเวลาในการใช้ยานั้นสำคัญไฉน



Article: ภญ.อัมพร จันทรอาภรณ์กุล




“หยุดใช้ยาได้เมื่อไหร่”
“หายแล้วหยุดกินได้มั้ย”
“ใช้ยาเฉพาะเวลามีอาการได้มั้ย”



คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่มีคนถามมากเป็นอันดับต้นๆ รองจากคำถามที่ว่า “ยานี้รักษาโรคอะไร” ซึ่งคำตอบนั้นขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรค รวมทั้งรูปแบบการออกฤทธิ์ของยาที่ใช้รักษา การพิจารณาชนิดของยาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน ยาตัวเดียวกันบางกรณีให้กับผู้ป่วยรายหนึ่งเฉพาะเวลามีอาการ พออาการหายไปหรือดีขึ้นก็สามารถหยุดยาได้ แต่อาจต้องใช้กับผู้ป่วยอีกรายอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตก็เป็นได้









การใช้ยาตามระยะเวลาที่เหมาะสม นั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง หรือการได้รับยาที่มีประสิทธิภาพดี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจะขอยกตัวอย่างสัก 2 กรณี


กรณีที่ 1 ผู้ป่วยโรคคออักเสบ มาด้วยอาการเจ็บคอมาก กลืนเจ็บ ไอมีเสมหะสีเขียว ได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อตัวหนึ่ง เป็นระยะเวลา 10 วัน แต่หยุดรับประทานยาตั้งแต่วันที่ 5 เพราะหายเจ็บคอแล้ว สาเหตุที่ไม่รับประทานยาจนหมดเนื่องจากกลัวว่ารับประทานมากๆ จะมีผลเสีย เพราะระหว่างที่รับประทานยาตัวนี้มีอาการถ่ายเหลวมากขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็มีอาการเจ็บคอขึ้นมาอีกครั้งซึ่งครั้งนี้เจ็บมากกว่าเดิม และกลับมาพบแพทย์ แพทย์จึงได้สั่งยาให้ใหม่อีก 14 วัน การที่มีอาการขึ้นมาอีกเนื่องจากการรับประทานยา 5 วันครั้งก่อนไม่ได้กำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคไปทั้งหมดแต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นอาการจึงดีขึ้น และแย่ลงหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ เพราะโรคกำเริบขึ้น


กรณีที่ 2 ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลตามปกติ ได้แจ้งกับเภสัชกรว่าได้หยุดรับประทานยาลดความดันไปประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์ เนื่องจากคิดว่าคราวก่อนมาพบแพทย์แล้วแพทย์แจ้งว่าวันนั้นความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติดีแล้ว จึงคิดว่าน่าจะหยุดรับประทานยาได้ ทำให้ความดันโลหิตในวันที่มาพบแพทย์สูงมาก แพทย์ได้เปลี่ยนยาและเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะเขาไม่ได้แจ้งแพทย์ว่าขาดยาก่อนมาตรวจ 2 สัปดาห์ กรณีนี้หากผู้นี้ไม่ได้แจ้งเภสัชกรว่าไม่ได้รับประทานยา แล้วกลับไปพร้อมกับรับประทานยาตัวใหม่ที่แพทย์ให้ ก็อาจทำให้ความดันโลหิตของเขาต่ำลงมากกว่าปกติจนเกิดผลเสียต่อร่างกายก็เป็นได้ หรือหากคิดอีกมุมหนึ่งหากผู้นี้หยุดรักษาไปเลยจะเกิดอะไรขึ้น คนที่มีความดันโลหิตสูงมากเนื่องจากขาดการควบคุม อาจก่อให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ไตวาย หัวใจโต ตามมาภายหลังอีกมากมาย


ทีนี้คงพอเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นนะคะว่าระยะเวลาในการรักษามีความสำคัญเพียงไร การใจร้อนฝืนคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรนอกจากจะทำให้เสียเงินเสียทองมากขึ้น บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว


จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการพิจารณาชนิดของยาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าระยะเวลาในการรักษาควรเป็นเท่าไหร่ ต้องดูชนิดของโรค ความรุนแรงของโรค และการออกฤทธิ์ของยาที่ใช้รักษาร่วมด้วย อย่างไรก็ตามเราสามารถแบ่งกลุ่มยาตามระยะเวลาในการรักษาง่ายๆ ได้ดังนี้



1. ยาที่ใช้เฉพาะเวลามีอาการ เพื่อบรรเทาอาการ
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้เมื่อมีอาการ เมื่อหายแล้วหรืออาการดีขึ้นสามารถหยุดใช้ยาได้ โดยที่ไม่มีผลเสียใดๆ ทางกลับกันหากใช้ต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดผลเสีย


ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาบรรเทาอาการปวด ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาพ่นรักษาโรคหืดบางตัว ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดอาการอักเสบของข้อ กระดูก หรือกล้ามเนื้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับ เป็นต้น


2. ยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องใช้ตามระยะเวลาที่กำหนด ระยะเวลาอาจเริ่มตั้งแต่เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ไปจนถึงเป็นปี ยากลุ่มนี้ระยะเวลานับว่ามีความสำคัญและเป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการขจัดเชื้อโรค หรือการควบคุมโรค ดังนั้นเมื่อได้รับยากลุ่มนี้เภสัชกรจะแนะนำว่า “ควรใช้ยาติดต่อกันทุกวันจนยาหมด” หรือ “ใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา....ตามที่แพทย์สั่ง”


ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาแก้อักเสบ (ยารักษาคออักเสบ ปอดอักเสบ วัณโรค หรือแผลฝีหนอง) ยาฆ่าเชื้อรา ยารักษาแผลในทางเดินอาหาร ยารักษาข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิด ยากันชัก ยารักษาอาการทางจิตเวช และยารักษาโรคเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์บางชนิด เป็นต้น


3. ยาต้องใช้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ยาที่ต้องใช้ต่อเนื่องตลอดชีวิต มักเป็นยาที่ต้องใช้กับโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ ไม่สามารถหยุดยาได้ แม้ว่าจะไม่มีอาการใดแล้วก็ตาม เนื่องจากจะทำให้โรคกำเริบขึ้น หรือประสิทธิภาพในควบคุมโรคลดลง ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนจากโรคนั้นๆ เพิ่มขึ้น โรคเรื้อรังต่างๆ ที่ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด และโรคหัวใจบางชนิด เป็นต้น



อย่างไรก็ตามกรณีศึกษา และการแบ่งกลุ่มดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้น คงยังมิสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากในความเป็นจริงยาตัวเดียวกัน ผู้ใช้ยาบางรายอาจต้องใช้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตแต่บางรายอาจใช้เป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น



วัตถุประสงค์หลักของบทความนี้เพียงอยากจะเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของระยะเวลาในการใช้ยาเท่านั้น ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุดอันจะเกิดกับตัวท่าน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาในการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ไม่ควรใช้วิธีคาดเดาเอาเอง

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




Create Date : 11 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2551 6:34:33 น.
Counter : 2502 Pageviews.

3 comments
  
มีประโยชน์จังเลยค่ะ
ตอนไม่สบาย หรือปวดศรีษะก็จะทานยาแก้ปวดจนรู้สึกดีขึ้นค่ะ แต่บางครั้งปวดถี่ๆก็ทานบ่อยกลัวจะดื้่อยาเหมือนกันน่ะค่ะ..
..ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้เรื่องการใช้ยาท่ีนำมาฝากกันนะคะ..
โดย: tiktoth วันที่: 11 พฤศจิกายน 2551 เวลา:9:02:11 น.
  
โดย: สาวพิษณุโลก** วันที่: 11 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:22:34 น.
  
ดีจัง
โดย: มส IP: 124.121.85.99 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา:9:56:43 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pimpagee
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



Smile...Small...Smooth...Smart...

counter
สร้าง Playlist ของคุณได้ที่นี่
New Comments