Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
23 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 

'ภาษาไทยไม่มีวันวิบัติ' ครูรุ่นเก๋ากับเสียงเพลงกล่อมภาษา



'ภาษาไทยไม่มีวันวิบัติ' ครูรุ่นเก๋ากับเสียงเพลงกล่อมภาษา




"ทำอะไรก็ได้ ที่เราพึงพอใจ และเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ให้มันได้จุดประกายความคิด เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ทำให้เราเป็นต้นแบบในการพัฒนา ต่อยอดนำไปสู่ความรู้ใหม่"...

"ศักดิ์ แวววิริยะ" อาจารย์ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ผู้ที่ตลอดชีวิตของการเป็นอาจารย์ ได้สร้างคน รวมทั้งผลงานด้านภาษาไทย ที่สามารถเข้าถึงทุกคนมาตลอดร่วม 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2516 จนได้รับรางวัลมากมาย เช่นครูภาษาไทยดีเด่น มูลนิธิสมาน คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ 2543 รับพระราชทานเข็มทอง จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลครูภาษาไทยประกายเพชร จากมูลนิธิเพชรภาษา 2539 ซึ่งเป็นรางวัลหลักที่ได้รับ นอกจากนั้นก็จะเป็นรางวัลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการสอนภาษาไทยล้วนๆ




อาจารย์ศักดิ์ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น ของการมาเป็นผู้สร้างคนใช้ภาษาไทย ว่าสมัยเรียนที่โรงเรียนศรีบุณยานนท์ ที่จังหวัดนนทบุรี ทุกเช้าโรงเรียนจะเปิดขับเสภา บทพากย์โขน ให้นักเรียนฟังก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ พอฟังก็เลยชอบ ก็เลยอ่านออกเสียงตาม จึงทำให้เราชอบขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว พอได้เรียนมาก็เลยรู้ว่าเป็นทางของเรา

"แรกเริ่มตอนเรียนมัธยมศึกษา ชอบเล่นกีฬา อยู่ห้องนักกีฬา ส่วนการเรียนในห้องก็เข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง ผลการเรียนจึงไม่ค่อยดี ไปสอบอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องเลือกวิชาภาษาไทย เวลาเรียนก็อาจจะไม่เก่งระดับหัวกะทิ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เราชอบ เราแค่ใส่ความพยายามลงไปก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ ตอนที่เรียนชั้นมัธยม ก็อาจมีพื้นฐานมาบ้าง เช่น ชอบเขียน ได้เขียนเรียงความ เขียนกลอน ก็ทำคะแนนได้ดี พอหลังจากเรียนจบเอกภาษาไทย ก็เลยได้มาเป็นครูสอนภาษาไทย แต่สมัยก่อน ก็ไม่ได้สอนภาษาไทยเพียงอย่างเดียว ถ้าวิชาไหนครูขาด ก็ต้องไปช่วยสอน บางครั้งก็มีสอนภาษาอังกฤษบ้าง พละก็สอน ครูสมัยก่อนสามารถสอนได้หมด แต่เวลาผ่านมา ทำให้เราจับทางได้ว่าชอบอะไร"



จากที่สอนมากว่า 40 ปี อาจารย์ศักดิ์เล่าถึงช่วงการสอน ซึ่งมีอยู่ 2 ช่วง คือช่วงที่สอนอยู่โรงเรียนบางใหญ่ เป็นโรงเรียนเด็กยังไม่มีความพร้อมมากนัก สมัยนั้นเด็กที่เข้าไปเรียนที่นั่น คือเด็กที่สอบเข้าไม่ได้ และฐานะของเด็กนักเรียน และของครูเองก็ไม่พร้อม ไม่เหมือนกับที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ซึ่งเป็นเด็กที่ค่อนข้างพร้อมหมดทุกอย่าง

"ทั้งสองที่ก็จะมีความแตกต่างกัน ที่โรงเรียนบางใหญ่ ครูจำเป็นต้องหาวิธีการสอน ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กอยากเรียนภาษาไทย ให้เด็กมีใจให้กับภาษาไทย เป็นการสอนนักเรียนที่ไม่มีความพร้อม เพื่อให้เด็กมีพื้นฐาน แต่ที่สวนกุหลาบนนท์ จะเป็นลักษณะที่มีความพร้อมมาแล้ว บางทีสะกิดความคิดนิดเดียว ก็สามารถแสดงผลงานออกมาอย่างดี เด็กมีคุณภาพ พ่อแม่ฝึกสอนมาดี ครูแค่มาต่อยอด และฝึกประสบการณ์ให้เด็กเท่านั้น แต่โรงเรียนบางใหญ่ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อม อีกทั้งการสอนภาษาไทยที่เน้นเชิงวิชาการ เราจึงพยายามหาวิธีทำให้เด็กเหล่านี้สนใจภาษาไทยมากขึ้น โดยการนำสื่อการเรียนการสอนที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพลงประกอบการเรียนการสอน จึงถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนครั้งแรกที่โรงเรียนบางใหญ่"



อาจารย์ศักดิ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำเพลงประกอบการสอนภาษาไทยว่า เริ่มทดลองทำแต่ยังสอนอยู่โรงเรียนบางใหญ่ ซึ่งมองว่านักเรียนที่โรงเรียนไม่มีความพร้อม อีกทั้งเด็กที่เรียนอ่อน จะให้มาสนใจวิชาการก็ยากเกินไป เลยต้องหาสื่อต่างๆ โดยเฉพาะเพลง มาลองใช้ในการเรียนการสอน พอเด็กชอบ จึงเริ่มจริงจังมากขึ้น แปลงเพลงของคนอื่นบ้าง จนตอนหลังได้มีโอกาสเจอนักแต่งเพลง ได้รับคำแนะนำว่าให้เข้าอบรม และลองแต่งเพลงเอง จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เริ่มทำเพลงประกอบการสอนมาตลอด

"พอมีการประกวดแต่งเพลง ก็ลองส่งผลงานเพลงเข้าประกวดดู เช่น การประกวดของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เค้าจัดโครงการเพลงเสียงใสใจสะอาด พอได้ข้อมูลมา ก็รีบแต่งเพลง เอาเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ ปรับทำนองใหม่ เสร็จแล้วส่งเพลงเข้าประกวด และได้รับรางวัลกลับมา หรืองานประกวดของกรมศิลปากร ก็จะมีประกวดทุกปี ค่ายเพลงต่างๆ จะส่งเพลงเข้าประกวดเพื่อเอารางวัลไปเป็นหลักประกันคุณภาพ แต่ของเราเป็นเพลงประกอบการเรียนการสอน ซึ่งไม่มีคู่แข่ง และเพลงสำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทย เหมือนเป็นทางของเรา ก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ได้รางวัล แต่น่าเสียดายที่การประกวดเพลงส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของกรมศิลปากร ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว"



ถึงแม้ว่าจะมีสื่อประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความสนใจในเรื่องของภาษาไทยแล้ว แต่เนื้อหาสำคัญของการเรียนภาษาไทยยังมีอยู่ อาจารย์ศักดิ์ มองว่าการสอนภาษาไทย คือต้องทำอย่างไรให้เด็กมีใจให้เรา นอกจากใช้กิจกรรมในการสอน เพื่อให้เด็กแสดงออกแล้ว บางครั้งก็ใช้วิธีเรียนปนเล่น แต่ไม่ได้เล่นจนมาก อาจเอาเกมเข้ามาให้เด็กลองเล่นลองทำ ดูลักษณะนิสัยใจคอของเขา เพราะเชื่อว่าเกมเป็นสื่ออย่างหนึ่ง ที่ใช้ในการเรียนการสอนที่น่าสนใจ และแสดงตัวตนได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของวิชาภาษาไทยคือทักษะ ต้องอ่านออกเขียนได้ เพราะถ้าเด็กอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง เด็กก็จะตีความไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง ถ้าเขียนไม่ได้ ก็เหมือนไม่ได้อะไร

อาจารย์ศักดิ์ มองถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในประเทศไทยว่า เกิดจากค่านิยมของดารา นักร้อง สมัยใหม่ เพราะเห็นว่าเวลานักร้องร้องเพลง จะออกสำเนียงเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องรุ่นไหน ไม่ว่าจะเป็นยุค 80 – 90 จนถึงยุคปัจจุบัน จนถึงเด็กรุ่นหลังๆ เกิดการเลียนแบบ อีกประการหนึ่งคือนักการเมือง เพราะเวลาที่มีการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาต่างๆ เวลานักการเมืองปราศรัยในรัฐสภา ก็จะออกเสียงอักขระไม่ดี ออกเสียงควบกล้ำไม่ได้ เมื่อเด็กได้ฟัง เด็กก็เลยจำ และบางทีก็กลายเป็นเรื่องล้อเลียนคำ หรือประโยคต่างๆ ซึ่งคำพูดเหล่านี้เอง ก็มาจากนักการเมืองด้วย”



เรื่องการใช้ภาษาไทยของเด็กนั้น อาจารย์ศักดิ์มองว่า สมัยก่อนการใช้ภาษาไทยของเด็ก ดีกว่าสมัยปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันเด็กที่สนใจภาษาไทยจริงๆ น้อยลงมาก เพราะการให้ความสำคัญกับภาษาสากล และการเน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แต่บางส่วนก็ยังมีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กห้องเรียนดี การพูดจาต่างๆ จะได้รับการฝึกตั้งแต่โรงเรียนประถม พอมาเรียนมัธยม วิชาการเรียน งานที่นักเรียนทำ มันเยอะมากจนไม่มีเวลาและโอกาสได้ฝึก

สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่อาจมองว่าทำให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นนั้น อาจารย์ศักดิ์มองว่า ไม่ค่อยมีผลอะไรมาก เพราะคนไทยยังต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่จะถูกบ้างผิดบ้าง ก็เป็นเรื่องการสื่อสารที่เราเข้าใจ แต่ส่วนที่จะกระทบนั้น จะอยู่ในส่วนของธุรกิจ เพราะจะต้องติดต่อ เจรจาทางธุรกิจ ซึ่งถ้าไม่มีความรู้ทางภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางก็จะลำบากหน่อย แต่ความจริงแล้ว ลาว พม่า เวียดนาม ก็ยังใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารทั้งหมด และแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ยังคงเอกลักษณ์ภาษาของเขาอยู่ได้ บางครั้งเราไปอิงกับต่างชาติมากจนเกินไป

ส่วนทิศทางการใช้ภาษาไทยในอนาคตของคนไทยนั้น อาจารย์ศักดิ์ ได้ยกคำพูดของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สาขาภาษาไทย ประจำสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ว่าภาษาคือการเปลี่ยนแปลง มันมีการเปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการ เปลี่ยนไปเรื่อย ทุกวันนี้ก็ยังเปลี่ยนอยู่ ภาษาไทยยังไม่วิกฤติ แต่ก็ควรจะปรับ ซึ่งยากมาก ถ้าให้ครูภาษาไทยรับอย่างเดียวคงไม่ไหว ราชบัณฑิตยสถานอย่างเดียวก็ไม่ได้ ทุกส่วนต้องร่วมกัน หากไม่มาพูดคุย หาทางออก ภาษาไทยก็จะเป็นแค่ภาษาที่ใช้สื่อสาร โดยไม่มีแบบแผนเท่านั้น

"ภาษาไทยจะไม่ถึงขั้นวิบัติหรอก ที่เคยบอกว่าภาษาวิบัติ เพราะใช้อย่างโน้น ใช้อย่างนั้น แต่สังเกตสิว่ามันอยู่ไม่นาน มันเกิดขึ้นมาอยู่ได้สักพักหนึ่ง แล้วก็หายไป เช่นภาษาแชต มันก็หลากหลาย แต่มันก็อยู่ได้ไม่นานนัก แค่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นฐานจะยังเหมือนเดิม แต่การใช้จะปรับเปลี่ยนไปตามรูปการและโอกาสของวิถีการใช้"

ท้ายสุดอาจารย์ศักดิ์ ฝากถึงคนไทยที่ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันทั้งหลายว่า อยากให้ใส่ใจเรื่องการใช้ภาษาให้มากๆ ให้ความสำคัญ ใช้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ถูกก็จะเป็นต้นแบบอย่างหนึ่งสำหรับคนรุ่นต่อไปที่จะนำไปใช้ได้ ภาษาเป็นเรื่องทักษะการฝึก จะเขียนหนังสือให้ดี ก็ต้องฝึกเขียนบ่อยๆ อยากเขียนกลอนได้ ก็ต้องฝึกแต่งทุกวัน อยากเขียนบทความได้ก็ต้องฝึกเขียน ส่วนผู้บริหาร ไม่ใช่ว่าส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ จนภาษาไทยไม่ได้มีการพูดถึง เหมือนกับลดความสำคัญลง ความจริงทั้งสองภาษาสามารถบูรณาการคู่กันไปได้.


credit : thairathnews




 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2555
0 comments
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2555 10:16:08 น.
Counter : 1459 Pageviews.


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.